Monday, 20 May 2024
กระทรวงคมนาคม

‘กรมทางหลวง’ เผย โครงการขยายสายทางรอบเกาะสมุย ใกล้เสร็จแล้ว หวังยกระดับคุณภาพชีวิต-ส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.สุราษฎร์ธานี

(12 ก.ย.66) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4169 สายทางรอบเกาะสมุยให้แล้วเสร็จตลอดสายระยะทาง 50 กิโลเมตร เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตามนโยบายของรัฐบาล

กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4169 สายทางรอบเกาะสมุย ซึ่งมีระยะทางทั้งหมด 50 กิโลเมตร โดยที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ขยายเส้นทางแล้วเสร็จรวมระยะทาง 34.53 กิโลเมตร และเปิดให้บริการแก่ประชาชนไปแล้ว ยังคงเหลือ ตอน บ.หัวถนน - บ.เฉวง ซึ่งเป็นช่วงสุดท้าย โดยตอนนี้มีจุดเริ่มต้นที่ กม.14+000 ท้องที่บ้านหัวถนน ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจุดสิ้นสุดที่ กม.29+531 ท้องที่บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะทางยาวประมาณ 15.531 กิโลเมตร ลักษณ

โครงการเดิมเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร กรมทางหลวงเล็งเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของสายทาง จึงบูรณะก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้น 1 ขนาด 2 ช่องจราจร และบางช่วงเป็นขนาด 4 ช่องจราจร ไป - กลับ ผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต กว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร มีทางเท้ากว้างข้างละ 2.50 เมตร สำหรับรูปแบบการก่อสร้างแบ่งตามลักษณะภูมิประเทศและความกว้างของเขตทางหลวงโดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้เหมาะสมกับเขตทางหลวง เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูมิประเทศสลับเนินเขา ย่านชุมชนที่อยู่อาศัยหนาแน่น พร้อมกับให้มีระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง รวมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและไฟสัญญาณจราจรบนทางหลวง งบประมาณรวม 700 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าประมาณร้อยละ 89.35 คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันการดำเนินงานของโครงการ เพื่อเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงให้สมบูรณ์ตลอดสายทาง

‘สุริยะ’ เร่งผลักดันนโยบาย 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ ทุกเส้นทาง ภายใน 3 เดือน ขอนำร่อง ‘สายสีม่วง-แดง’ ก่อน ส่วนที่เหลือขอเวลา 2 ปี

(12 ก.ย.66) ที่รัฐสภา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ชี้แจงกรณีรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 2 ว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้แน่นอน ส่วนระยะเวลาที่เห็นผลเป็นรูปธรรมนั้น เนื่องจากแต่ละเส้นทางมีระบบแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการให้สัมปทานเอกชน บางเส้นทางรัฐดำเนินการเอง หรือบางเส้นทางให้ กทม.ทำ ดังนั้น การให้เก็บ 20 บาทตลอดสาย เท่ากันทุกเส้นทาง ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องใช้เวลาเจรจาและวางระบบเทคนิคการทำตั๋วร่วมเป็นระบบเดียวกัน ต้องวางระบบคอมพิวเตอร์ให้เทคนิคเหมือนกัน ทั้งนี้ เส้นทางที่รัฐจะดำเนินการได้เองคือ สายสีแดงกับสายสีม่วง จะดำเนินการทันที เพราะกระทรวงคมนาคมทำเอง ภายใน 3 เดือน ประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้า 2 เส้นทางนี้ 20 บาทตลอดสาย

"ภายใน 2 ปี ประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง 20 บาทตลอดสาย การที่ไม่สามารถเห็นผลได้ทันที เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจา และวางระบบตั๋วร่วม นโยบายนี้จะทำเพื่อคนทุกกลุ่ม นอกจากช่วยคนรายได้น้อย ยังช่วยให้คนใช้รถยนต์มาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ลดปัญหามลพิษ" นายสุริยะ กล่าว

รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการคำนวณราคาค่าโดยสารนั้น ขอยกตัวอย่าง หากอยู่รังสิตจะมากรุงเทพฯ ชั้นใน ที่สยาม ก็สามารถนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงมาลงที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ มาต่อสายสีน้ำเงินที่จตุจักร และต่อสายสีเขียวไปที่สยาม จากปัจจุบันค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 108 บาท แต่ถ้านโยบายสำเร็จ จะจ่ายค่าโดยสารแค่ 20 บาทตลอดสาย

‘สุริยะ’ เร่งเพิ่มเที่ยวบิน รับนโยบายฟรีวีซ่านักท่องเที่ยว ดันผู้โดยสารจีนเยือนไทยเพิ่ม 5 ล้านคน ช่วงไฮซีซั่นนี้

(14 ก.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงมอบนโยบายในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมว่า นโยบายเร่งด่วนที่ตนจะต้องดำเนินการ คือ การเพิ่มตารางการบิน (Slot) และการบริหารจัดการพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ

โดยขณะนี้ ได้มอบให้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ ดำเนินการตามนโยบาย ซึ่งขณะนี้ทราบว่าได้มีการจัด Slot การบินสำหรับฤดูหนาวนี้สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้มากขึ้นอย่างน้อย 15% ต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับ Slot ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวหลักอย่างตลาดจีน จะเพิ่มมากขึ้นกว่า 5 ล้านคน จากนโยบาย VISA Free สำหรับนักท่องเที่ยวจีนตลอดฤดูท่องเที่ยวที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาแนวทางปฏิบัติในการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า และประเมินผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปพร้อมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ต.ค.นี้

ขณะเดียวกันได้มอบหมายงานให้ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมดูแลรับผิดชอบแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมี 8 กรม 12 รัฐวิสาหกิจ 2 หน่วยงานอิสระ ได้แก่ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวม 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมเจ้าท่า (จท.) 2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 3.การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 4.สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และ 5.บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด

ทั้งนี้ ได้ให้นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวม 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย

1.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)
2.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.)
3.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
4.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
5.) บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด
6.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.)
7.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
8.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)

ส่วนที่เหลืออีก 9 หน่วยงานตนจะกำกับดูแล ประกอบด้วย
1.) กรมทางหลวง (ทล.)
2.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.)
3.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
4.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ทอท.’
5.)กรมท่าอากาศยาน (ทย.)
6.)สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
7.)สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
8.)สถาบันฝึกอบรมระบบราง
9.) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

ครม. แต่งตั้ง ‘พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ’ นั่งที่ปรึกษา ส่วน ‘สรวุฒิ เนื่องจำนงค์’ นั่งเลขาฯ ‘รมว.คมนาคม’

เมื่อไม่นานมานี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 มีมติเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ประกอบด้วย 1.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ 2.นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเลขานุการ และที่ปรึกษา รมช. ของนางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ นั้น จะเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาแต่งตั้งในการประชุมครั้งถัดไป เนื่องจากเสนอจัดวาระการประชุมในครั้งนี้ไม่ทัน

ขณะเดียวกัน นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาเรื่องฟรีวีซ่า โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 66-29 ก.พ. 67 ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการท่าอากาศยานต่าง ๆ โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) และท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) นั้น ได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรองรับ และอำนวยความสะดวกทุกด้าน ให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังประเทศไทย โดยให้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และร่วมกันทำงาน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ไม่เกิดปัญหาคิวผู้โดยสารหนาแน่นรอตรวจหนังสือเดินทาง

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ไม่รู้สึกกังวลใด ๆ มั่นใจว่าทุกหน่วยงานจะรับมือ และดูแลอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวได้อย่างดี ซึ่งก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบล่วงหน้าแล้ว จึงคาดว่าทุกหน่วยงานจะเตรียมความพร้อมได้อย่างดี อย่างไรก็ตามในวันที่ 15-16 ก.ย. นี้ ตนจะเดินทางพร้อมคณะของนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และในวันที่ 29 ก.ย. นี้ จะลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยก่อนเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปท่าอากาศยานภูเก็ตนั้น จะแวะตรวจเยี่ยมการให้บริการอย่างไม่เป็นทางการของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ด้วย

อย่างไรก็ดี ในการลงพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดนั้น จะตรวจสอบความพร้อมของท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต รวมถึงการพัฒนาสนามบินแห่งที่ 2 ของ 2 จังหวัดดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันจะลงไปดูปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ จ.ภูเก็ต รวมถึงการพัฒนาถนนต่าง ๆ ซึ่งจะประชุมหารือร่วมกับ กรมทางหลวง (ทล.) ทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในโครงการต่าง ๆ ที่กำลังจะดำเนินการในพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยจะขอให้เร่งรัดดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน อาทิ โครงการทางพิเศษ (ด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง เป็นต้น ส่วนโครงการรถไฟฟ้าใน จ.ภูเก็ต และรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดนั้น ขณะนี้ขอเร่งดำเนินการรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน

เปิดตัวเลขรัฐสูญรายได้ 136 ล้านบาทต่อปี หากหนุน 'แดง-ม่วง' 20 บาท แต่ช่วยดึงคนใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 10% รายได้หวนคืนใน 2.8 ปี

(18 ก.ย.66) รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับการประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทรถไฟฟ้ารฟท. จำกัด และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน การแบ่งค่าโดยสารกรณีเดินทางข้ามสายสีแดงกับสายสีม่วง รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารและการประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

เบื้องต้นในที่ประชุมได้มีการหารือถึงข้อกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ..., พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฯลฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการ 

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีข้อสั่งการให้รฟท.เตรียมเสนอการแบ่งค่าโดยสารกรณีเดินทางข้ามรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ภายในวันที่ 21 ก.ย.66 ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ภายในวันที่ 28 ก.ย.66 หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ภายในเดือน ต.ค.66 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ปี 67 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการแบ่งค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ มีเงื่อนไขว่า ระหว่างการเดินทาง หากประชาชนขึ้นรถไฟฟ้าสายใดเป็นสายแรก ผู้เป็นเจ้าของโครงการจะเป็นผู้เก็บค่าแรกเข้าค่าโดยสาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนสถานีของผู้โดยสารที่ใช้บริการด้วย โดยจะเก็บค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 20 บาทตลอดสาย เช่น กรณีที่ประชาชนเดินทางขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีเตาปูนเพื่อไปรถไฟสายสีแดงที่สถานีบางซื่อ จะถูกเก็บค่าแรกเข้าเพียง 16 บาท ซึ่งมีส่วนต่างอยู่ที่ 4 บาท ต่ำกว่าราคาค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ทำให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าโดยสารจากการเดินทางได้ 

ทั้งนี้จากผลศึกษานโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พบว่าจะสูญเสียรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนรวม 136 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง 80 ล้านบาทต่อปี และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 56 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นและทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 10% คาดการณ์ว่าเมื่อดำเนินนโยบายถึง 2.8 ปี จะทำให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายมีรายได้กลับมาเท่าเดิม โดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย   

นอกจากนี้การชดเชยรายได้ให้แก่รฟท.และรฟม.จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ นั้น พบว่า ปัจจุบันรฟท.มีหนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรฟท.จะต้องขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) จำนวน 80 ล้านบาทต่อปี ขณะที่รฟม.จะนำส่วนแบ่งรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาชดเชยเงินที่ขาดหายจากนโยบายดังกล่าว จำนวน 56 ล้านบาทต่อปี 

'สุริยะ' เร่งเคลียร์ถนนแม่ฮ่องสอน หลังดินสไลด์ปิดกั้นทางสัญจร สั่ง!! 'กรมทางหลวงชนบท' จัดการด่วน ล่าสุดลุล่วงภารกิจ

กรมทางหลวงชนบท รับมืออุทกภัยเร่งด่วน นำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรเข้าพื้นที่จัดการบริเวณที่มีดินสไลด์บนถนนสาย มส.3004 แยก ทล. 105 - บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรผ่านได้โดยเร็วตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันสัญจรผ่านได้เรียบร้อยแล้ว

(19 ก.ย. 66) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยแขวงทางหลวงชนบทแม่ฮ่องสอน หมวดบำรุงทางหลวงชนบทแม่สะเรียง จัดเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือเครื่องจักรเข้าพื้นที่ดำเนินการจัดการดินที่สไลด์ลงมากีดขวางทางจราจรบนถนนทางหลวงชนบทสาย มส.3004 แยก ทล.105 - บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วง กม.ที่ 48 +000 เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ทำให้เกิดดินสไลด์บริเวณสายทางดังกล่าว

ปัจจุบันได้ดำเนินการเปิดเส้นทางโดยจัดการสิ่งกีดขวาง เพื่อให้ประชาชนสัญจรผ่านได้อย่างสะดวกปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว ตลอดจนได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ตามข้อสั่งการของ 'นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม'

ทั้งนี้ ทช. จะติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง และจะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุอุทกภัยได้ที่แขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่หรือสายด่วนกรมทางหลวงชนบท 1146

‘สุริยะ’ สั่ง ‘กรมทางหลวง’ เร่งซ่อมถนน ทล.213 ทรุดตัว หลัง ปชช. ร้องเรียน ‘จราจรติดขัด - เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ’

(20 ก.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการกรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนชาวตำบลเกิ้ง จังหวัดมหาสารคาม ให้สามารถสัญจรได้อย่างสะดวกปลอดภัยโดยด่วน จากกรณีมีข้อร้องเรียนถนนสาย ทล.213 บริเวณถนนถีนานนท์ ตำบลเกิ้ง อำเภอเมืองมหาสารคาม เกิดเหตุไหล่ทางทรุดตัวและแตกร้าว เหลือช่องจราจรที่สามารถสัญจรได้เพียง 1 ช่องจราจรเท่านั้น ส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นระยะทางยาวและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมีปัญหาภายหลังจากเกิดเหตุอุทกภัย ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 แต่ในปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไข

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า แขวงทางหลวงมหาสารคามได้รายงานบริเวณจุดเกิดเหตุดังกล่าว การประปาส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการดึงท่อลอดในโครงการงานย้ายแนวท่อประปาออกจากแนวประสบภัยธรรมชาติผนังกั้นลำน้ำชีทรุดตัว บริเวณ ทล.213 ตอน มหาสารคาม - หนองขอน ระหว่าง กม. ที่ 3+642 - 3+940 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการบูรณะซ่อมแซม ทล.213 

แต่เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 บริเวณดังกล่าวได้เกิดไหล่ทางทรุดตัว ผิวจราจรบวมตัวและแตกร้าว มีน้ำและสารละลายเบนไทไนท์ (Bentonite) ที่ใช้ในการคว้านเจาะท่อลอดไหลขึ้นบนผิวจราจร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจาก ช่วงวันที่ 15 - 17 กันยายน ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่และพื้นที่ตอนบนตลอดลำน้ำไหลผ่าน ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับน้ำเดิมประมาณ 0.60 เมตร ส่งผลให้ดินโดยรอบรูเจาะที่ระดับความลึกประมาณ 5.70 เมตร เกิดการอิ่มตัว ทำให้สารละลายเบนไทไนท์ไม่สามารถแทรกตัวออกด้านข้างและด้านล่างของรูเจาะได้ จึงเกิดการไหลดันขึ้นด้านบน ดันให้ชั้นผิวทางบวมตัวขึ้นและแตกร้าว

อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถปิดการจราจร เพื่อเจาะรูระบายน้ำได้ เนื่องจาก ทล.213 เป็นเส้นทางหลักเข้าสู่จังหวัดมหาสารคาม มีการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เร่งแก้ปัญหาผลกระทบจากการดันท่อลอดของการประปาส่วนภูมิภาค โดยเร่งดำเนินการปรับปรุงชั้นโครงสร้างทางให้มีความแข็งแรงด้วยวิธีการอุดรอยแตกร้าวด้วยซีเมนต์มวลเบส รวมถึงการปรับปรุงชั้นพื้นทางโดยวิธีงานหมุนเวียนวัสดุชั้นทางเดิมมาใช้ใหม่ (Pavement In - Place Recycling) และการปรับปรุงชั้นผิวทางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต

อีกทั้งปรับช่วงเวลาสัญญาณไฟจราจรระหว่างแยกดอนยม (ทางเข้ามหาวิทยาลัยมหาสารคาม) - แยกวังยาว เพื่อให้มีความสัมพันธ์และสอดรับกันมากขึ้น พร้อมปรับช่องจราจรให้รถจักรยานยนต์ใช้ช่องทางในช่องไหล่ทาง เพื่อลดการตัดกระแสจราจรในช่องทางหลัก รวมถึงการติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำ และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทางตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมเปิดการจราจรให้ใช้เส้นทางได้ปกติภายในวันที่ 22 กันยายนนี้ หากประชาชนต้องการสอบถามสภาพเส้นทาง สภาพการจราจร หรือต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วน ทล. โทร. 1586 

‘สุริยะ รมว.คมนาคม’ ยัน!! ไม่เคยสั่งยกเลิก ‘แลนด์บริดจ์’ อยู่ในขั้นตอนศึกษาแผนงานอย่าง ‘รอบด้าน-รอบคอบ’

(21 ก.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่มีสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวตนสั่งชะลอการดำเนินการโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือที่เรียกกันว่า ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ (Land Bridge) นั้น ขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวเป็นเท็จ โดยไม่เคยมีการสั่งการให้ยกเลิกการดำเนินงานโครงการตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด 

ทว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วนั้น กระทรวงคมนาคมพร้อมสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโครงการของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หากเมื่อศึกษาแล้วเสร็จ จะเดินหน้าตามกระบวนการต่อไป 

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมนั้น เป็นไปตามการมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา มอบหมายให้ดำเนินงานโครงการต่างๆ ภายใต้นโยบาย ‘คมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน’ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ดำเนินงานอย่างรอบคอบ และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นลำดับแรก เพื่อยกระดับการเดินทางและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ขณะเดียวกันการพัฒนาโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ จะมีการจัดลำดับเป้าหมายในการขับเคลื่อนตามความสำคัญ ยึดหลักผลประโยชน์ประเทศและประชาชนจะได้รับเป็นที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการ จะต้องมีการศึกษาและบูรณาการงานร่วมกันอย่างรอบคอบมากที่สุด โครงการไหนที่เป็นประโยชน์ พร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์นั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการยกเลิกโครงการฯ ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ และได้มอบหมายให้ สนข. ทำการศึกษาโครงการฯ ให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างรอบคอบ  และรัดกุม เพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนสูง โดยในขณะนี้โครงการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาและลงทุนโครงการ โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตามแผนการดำเนินงานจะมีการจัดประชุมทดสอบความสนใจและรับฟังความเห็นของภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ และทุกภาคส่วนที่มีต่อโครงการฯ เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเป็นไปในการพัฒนาโครงการฯ ต่อไป

สำหรับโครงการนี้จะให้เอกชนลงทุน 100% โดยรัฐจะลงทุนเฉพาะค่าเวนคืนเท่านั้น เนื่องจากวงเงินลงทุนมีมูลค่าสูงประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจประมาณ 2 - 3 ราย แต่เงียบไป ดังนั้น เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนมีความสนใจในโครงการมากขึ้น กระทรวงฯ จะต้องไปทำ Roadshow เพื่อรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างในประเทศ ทั้งในจีน ยุโรป อเมริกา และประเทศอื่น ๆ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดและดำเนินโครงการของกระทรวงฯ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอภาค และให้ความสำคัญกับการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและความอุดมสุขของพี่น้องประชาชน

‘พงศ์กวิน’ เคลียร์ชัด!! ‘สุริยะ’ ไม่เคยเอ่ยคำว่า ‘ยกเลิกแลนด์บริดจ์’ ชี้!! ที่ผ่านมาอยู่ในขั้นศึกษา ‘โมเดลที่เหมาะ-ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิด’

(22 ก.ย.66) นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ท่านสุริยะไม่เคยพูดเรื่องยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์

'แลนด์บริดจ์' หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) จะทำให้ประเทศไทย เป็นจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งในการขนส่งสินค้าที่สำคัญของโลก และจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ ที่มีแรงจูงใจผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน โดยการลดระยะเวลาการขนส่ง จากที่ผ่านช่องแคบมะละกาจาก 9 วัน เหลือ 5 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุน และเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อ EEC GMS จีนตอนใต้ อาเซียน และ BIMSTEC

แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินลงทุนสูง ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ และตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเฉพาะเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด

ในปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ในไทม์ไลน์ของการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งจะมีการเสนอให้ครม.เห็นชอบหลักการในเดือนตุลาคม 2566 อนุมัติ EHIA ปลายปี 2567 และเปิดประมูลในช่วงกลางปี 2568

ขอยืนยันว่าทางรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย พร้อมผลักดันทุกนโยบาย ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนให้เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอนครับ

'สุริยะ' เตรียมพร้อมรับ VISA Free 'จีน-คาซัคฯ' ยืนยันทุกสนามบินมีความพร้อมรองรับผู้โดยสาร

(22 ก.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อรองรับผู้โดยสารชาวจีนและคาซัคสถานตามนโยบาย VISA Free ของรัฐบาล โดยมี นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมคมนาคม กระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้กำหนดนโยบายมาตรการ VISA Free ระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวนั้น จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้น อันจะนำไปสู่การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปี 2566 - 2567 ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับเทศกาลวันชาติของจีน คาดการณ์ว่า จะมีเที่ยวบินจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นจากมาตรการ VISA Free ของรัฐบาล จากเดิม เฉลี่ย 72 เที่ยวบิน/วัน เป็น 96 เที่ยวบิน/วัน และปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย จากเดิม 9,680 คน/วัน เป็น 18,656 คน/วัน โดยในปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 ล้านคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุดตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศตลอดจนถึงการเดินทางกลับออกจากประเทศไทย

"ผมได้สั่งการให้ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต และให้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้กระบวนการทุกขั้นตอนมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความแออัด หรือใช้เวลานานหลังจากลงจากเครื่องบิน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม (Single Command Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในทุกขั้นตอนในท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการให้บริการ และกวดขันการบริหารการจราจรบริเวณหน้าท่าอากาศยานไม่ให้เกิดความแออัดหนาแน่น และเก็บบันทึกข้อมูลการให้บริการ ภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น" รมว.คมนาคม กล่าว

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท. ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว บริหารจัดการท่าอากาศยานให้การบริการมีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ดังนี้...

(1) ผู้โดยสารขาเข้า

- ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ประสานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เตรียมประจำการเต็มช่องตรวจหนังสือเดินทาง ทั้ง 138 ช่อง ในชั่วโมงหนาแน่น และเตรียมเครื่องตรวจอัตโนมัติ 16 เครื่อง ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน

- ขั้นตอนรับกระเป๋าสัมภาระ กำกับดูแลและติดตามเวลาการจัดส่งสัมภาระให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกำชับให้ผู้ให้บริการภาคพื้นและสายการบิน จัดเตรียมอัตรากำลังและอุปกรณ์ให้เต็มขีดความสามารถและสอดคล้องกับเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น

(1.1) ผู้โดยสารขาออก

- ขั้นตอนการเช็กอิน ประสานสายการบินจัดให้มีพนักงานให้บริการเช็กอินเต็มทั้ง 302 เคาน์เตอร์ และประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้ผู้โดยสารใช้บริการเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) และใช้บริการเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) (ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาทีต่อคน) นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเติมการทำ Early Check-in

- ขั้นตอนจุดตรวจค้น จัดเจ้าหน้าที่เกลี่ยแถวผู้โดยสารให้สามารถเข้าสู่จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 3 โซน ในปริมาณใกล้เคียงกัน เพื่อให้การใช้อุปกรณ์ตรวจค้น ประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์ 25 เครื่อง ที่ได้ติดตั้งระบบ Automatic Return Tray System (ARTS) แล้ว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการตรวจค้นไม่เกิน 7 นาทีต่อคน

- ขั้นตอนการตรวจลงตรา ประสานเจ้าหน้าที่ ตม. ให้นั่งเต็ม 69 ช่องตรวจ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเร่งด่วน และเตรียมเครื่อง Auto Channel 16 เครื่อง มีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 2,199 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,149 คน ซึ่งในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. จะได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้ นายสุริยะ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางในประเทศไทย ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมการเดินทางภายในกรุงเทพมหานคร การเตรียมความพร้อมการเดินทางไปต่างจังหวัดทางรถไฟและรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมการเดินทางในต่างจังหวัด และการเตรียมความพร้อมสำหรับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามหลักการเดียวกัน คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สะอาดสวยงาม พนักงานให้บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

'กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย พร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค กระตุ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ" รมว.คมนาคม ทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top