Sunday, 2 June 2024
กระทรวงคมนาคม

'เพื่อไทย' ลั่น!! รถไฟฟ้าต้อง 20 บาททุกสาย ชี้!! นี่คือความกล้าหาญที่พรรคอื่นไม่กล้าทำ

(3 พ.ค.67) ในงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ของพรรคเพื่อไทย (พท.) งานแสดงวิสัยทัศน์ และความคืบหน้าในนโยบายต่าง ๆ พร้อมประกาศเป้าหมายการทำงานในอนาคต

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. กล่าวว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นวิสัยทัศน์ของพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่สมัย 2549 เพราะการเข้าถึงขนส่งสาธารณะเป็นสวัสดิการพื้นฐานของประชาชน วันนี้รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยทันทีที่เป็นรัฐบาล ไม่ถึงหนึ่งเดือนที่นายกรัฐมนตรีรับตำแหน่ง วันที่ 16 ตุลาคม 2566 รถไฟฟ้า 2 สาย คือสายสีแดง และสีม่วง ลดค่าบริการลงมาที่ราคา 20 บาท ได้สำเร็จ หลังจากลดค่าโดยสารลงแล้ว ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงเพิ่มขึ้น 26.62% สายสีแดงเพิ่มขึ้น 14.43%

จากนั้น กระทรวงคมนาคม กางแผนโรดแมป เพื่อดำเนินการให้รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง คิดค่าบริการตลอดเส้นทาง ‘20 บาท’ ภายในปี 2568 ผ่านร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมร่าง พ.ร.บ.รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองและอื่นๆ โดยสำนักงานขนส่งและนโยบายและแผนการจราจร (สนข.) ดำเนินการ จากราคารถไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 107 บาท หาก พ.ร.บ.ตั๋วร่วมสำเร็จ ประชาชนจะจ่ายเพียง 20 บาท ผ่านการมีกองทุนที่สะสมรายได้จากส่วนอื่น ๆ มาชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารแทนประชาชน

“ไม่มีพรรคการเมืองใดที่เสนอทำราคารถไฟฟ้าให้เหมาะสมกับรายได้ เป็นสวัสดิการของประชาชนอย่างแท้จริง รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คือความกล้าหาญของพรรคเพื่อไทยที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อพี่น้องประชาชน เป็นการจัดการระบบการเดินทาง ที่มีสัมปทานหลายเจ้าครั้งใหญ่ อะไรที่เคยติดขัด เป็นอุปสรรค จะถูกคลี่คลาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน”

นางสาวธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า ภายในปี 2568 ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสาย, พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ต้องสำเร็จ, ลดราคาค่าทางด่วนลงรถเมล์แอร์ EV ต้องสำเร็จ เป้าหมายใหญ่ คือเพิ่มการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถส่วนตัว ลดปริมาณรถบนถนน แก้ปัญหารถติด แก้ปัญหาฝุ่น ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และสามารถเปิดให้ขยายทางสัญจรทางเท้า ให้ กทม.เป็นเมืองที่เดินได้ เมืองที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่มมากขึ้น เพื่อยกระดับขนส่งสาธารณะ ให้เป็น ‘การบริการสาธารณะ’ อย่างแท้จริง

‘สุริยะ’ ยัน!! พร้อมสานต่อโครงการโคล้านตัว เล็งศึกษารายละเอียด-พูดคุยกับกองทุนหมู่บ้าน

(7 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางเข้าทำเนียบในเวลา 08.15 น. โดยขึ้นไปสักการะพระพรหมบนตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนที่จะลงมาไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่และศาลตายาย โดยระหว่างไหว้ บรรยากาศฟ้ามืดครึ้ม มีเสียงฟ้าร้องเป็นระยะ และเมื่อไหว้เสร็จ นายสุริยะได้ก้มลงกราบศาลพระภูมิและศาลตายาย ซึ่งถือเป็นคนแรกที่ก้มลงกราบ 

จากนั้น นายสุริยะให้สัมภาษณ์ว่า งานที่กำกับดูแลส่วนใหญ่ เป็นงานที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยกํากับดูแล

เมื่อถามว่า นายกฯ ได้ฝากฝังเรื่องอะไรบ้าง นายสุริยะ กล่าวว่า นายกฯ ได้สนับสนุนให้ตนมาทำงานตรงนี้ ขณะเดียวกัน ก็จะมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่ตนดูแลเพิ่มเติม ซึ่งนายกฯ ได้ให้กำลังใจ และแบ่งเวลาดูแลงานที่ตนรับผิดชอบ ให้เกิดประสิทธิภาพ และผลประโยชน์กับประชาชน

เมื่อถามว่า ภายหลังจากรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร นายสุริยะ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ เมื่อนายกรัฐมนตรีให้ความไว้วางใจ ก็ต้องทุ่มเทความรู้ความสามารถให้เต็มที่ ทำงานเหมือนนายกรัฐมนตรีที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ต้องทำอย่างนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการทำงาน

เมื่อถามว่า งานของกระทรวงคมนาคมก็เยอะอยู่แล้ว เมื่อมีตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มเข้ามา ก็ไม่น่ามีปัญหา ใช่หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า เมื่อเราเป็นนักบริหารที่ดี ก็สามารถบริหารจัดการไปได้ งานในกระทรวงก็มีปลัดฯ ช่วยงานอยู่ ส่วนงานของรองนายกรัฐมนตรี ก็มีเจ้าหน้าที่ทำเนียบฯ ช่วยเหลืออยู่

เมื่อถามว่า จะต้องสานต่อโครงการโคล้านตัวที่ต้องสานงานต่อจากนายสมศักดิ์หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า เรื่องนี้จะเข้าไปดูรายละเอียดว่าจะเดินหน้าอย่างไร และจะต้องมีการพูดคุยกับกองทุนหมู่บ้านอีกครั้ง 

เมื่อถามว่า จะกำกับดูแลในส่วนของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ด้วยหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ในส่วนรายละเอียด ต้องรอให้มีการสั่งการอย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องให้นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ตนจะต้องรับผิดชอบส่วนใดบ้าง ต้องรอดูรายละเอียดอีกครั้ง

'สุริยะ' เยือนจีน ฟื้นเจรจารถไฟความเร็วสูง 'ไทย-จีน' ดันเฟส 2 'นครราชสีมา-หนองคาย' ตอกเสาเข็มปีหน้า ได้ใช้ปี 73

เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมกับนายอู่ ฮ่าว เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายสุริยะ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดันความร่วมมือโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...

1. งานก่อสร้างโครงการช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา (ระยะที่ 1) โดยได้เห็นชอบแนวทางและมาตรการร่วมกันในการเร่งรัดให้การดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยแจ้งความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา โดยปัจจุบันก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 2 สัญญาจากทั้งหมด 14 สัญญา อีก 10 สัญญาอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และรอการลงนามจำนวน 2 สัญญา ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงานคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

2. ความคืบหน้าการดำเนินการของโครงการระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย) ที่ฝ่ายไทยได้ออกแบบรายละเอียด งานโยธาแล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว และเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ไปพร้อมกับการขออนุมัติโครงการ โดยในการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติ การประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เห็นชอบอนุมัติการดำเนินโครงการก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 และจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2573 

3. การเชื่อมต่อโครงการรถไฟเชื่อมต่อจากหนองคายไปยังเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่ โดยระยะห่างประมาณ 30 เมตร ประกอบด้วยทางรถไฟขนาดมาตรฐานและทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันกรมทางหลวง (ทล.) ได้ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 สำหรับการออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงาน EIA จำนวน 125 ล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขต ของงาน และราคากลาง เพื่อจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า โดย รฟท. ดำเนินการศึกษาในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อเป็นสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่รับรองการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟระหว่างทางรถไฟขนาด 1 เมตร และขนาดทางมาตรฐาน รวมถึงเป็นพื้นที่การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างทางถนนและทางราง และใช้เป็นพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้า จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ อาคาร คลังสินค้า การให้บริการคลังสินค้า รวมทั้งการให้บริการพิธีการทางศุลกากรเพื่อตรวจปล่อยสินค้า X–ray ตู้สินค้า การตรวจรังสี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังได้กำหนดให้นาทาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย, ลาว และจีน โดยในการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติการประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เห็นชอบให้เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาเสนอต่อสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571 

ทั้งนี้ การหารือ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นชอบในการปรับปรุงและดำเนินความร่วมมือให้ลึกซึ้งและประสานงานอย่างใกล้ชิดในการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อผลักดันให้โครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟดังกล่าวก้าวหน้าต่อไป

4. ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ทราบถึงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้กระทรวงคมนาคม โดย สทร. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานหลักในการอำนวยความสะดวกและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบรางจากต่างประเทศ

5. ที่ประชุมได้ให้การรับรองและเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 32 ขึ้นในประเทศไทย และร่วมกันขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้คืบหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยความร่วมมือและสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันเพื่อให้บรรลุประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งรถไฟของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน

'ดร.ตั้น' ยัน!! 'โครงการแลนด์บริดจ์' ไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นเรื่องจริง เผย!! นักลงทุนสนใจมาก แต่ต้องใช้เวลาตัดสินใจที่ไม่ใช่แค่เดือนสองเดือน

(13 พ.ค. 67) นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวโต้ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ปมโครงการแลนด์บริดจ์ โดยยืนยันไม่ต้องนอนฝัน แต่เป็นเรื่องจริง!! ระบุว่า...

ผมเห็นข่าวที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยระบุว่า...

“แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ฝันที่ยากจะเป็นจริง” 

บอกได้เลยว่า เป็นการยุแยงที่อาจจะทำให้ประชาชนและนักลงทุนเข้าใจผิดไปกันใหญ่

ผมในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม คิดว่าปล่อยไว้ไม่ได้ เลยต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงกันสักหน่อย เพราะหลังจากที่ผมได้สัมผัส และเห็นข้อมูลจริง ประกอบกับสอบถามมาจากผู้รู้จริง พบว่า สันนิษฐานที่นายสามารถออกมาเผยแพร่นั้น ไม่สะท้อนกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เหมือนตั้งข้อสังเกตกันลอ ๆ และจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด!!

ผมอยากอธิบายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ส่งต่อไปยังพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือที่เรารู้จักกันดีว่า 'โครงการแลนด์บริดจ์' เชื่อมต่อ 2 ท่าเรือ คือ 'ชุมพร-ระนอง' ที่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างการผลักดันโครงการฯ นั้น เพราะมองเห็นว่า หากโครงการนี้ดำเนินการสำเร็จแล้ว จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน และประเทศชาติอย่างสูงสุด

'โครงการแลนด์บริดจ์' ถือเป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อลดระยะเวลาการขนส่งตู้สินค้าทางเรือ และสร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการสายเรือ อีกทั้งผู้ประกอบสายเรือในแต่ละราย จะมีกลยุทธ์ต่าง ๆ รวมถึงศึกษาและวิเคราะห์เพิ่มเติม ก่อนตัดสินใจมาร่วมลงทุนในโครงการฯ อยู่แล้ว ทั้งในส่วนของระยะเวลา ต้นทุน และความคุ้มค่า โดยจากการคำนวณในทุกมิติอย่างครบถ้วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า สามารถช่วยลดต้นทุน และระยะเวลาในการขนส่งสินค้า หลีกเลี่ยงความแออัดของช่องแคบมะละกา ตามที่มีการคาดการณ์ที่เชื่อว่า ปริมาณการขนส่งจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และที่เขาแจ้งว่า การขนส่งสินค้าจากเรือฝั่งหนึ่งขึ้นรถบรรทุกหรือรถไฟไปอีกฝั่งหนึ่ง พอไปถึงจะต้องขนจากรถบรรทุกหรือรถไฟลงเรืออีก จะทำให้เสียเวลานานมาก อันนี้ก็เกิดจากกรอบความคิดการขนส่งแบบเดิม ๆ ที่จะต้องขน ซึ่งจากการที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี สุริยะฯ ได้เดินทางไปดูการขนถ่ายสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติที่เกิดขึ้นจริงในท่าเรือและรถไฟนั้นสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ในปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น 'โครงการแลนด์บริดจ์' ยังเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน สามารถช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล และต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เกิดเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และการค้าแห่งใหม่ของโลกด้วย

อีกหนึ่งหัวใจที่สำคัญ คือ โครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อคนไทยทุกคน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญ เปิดโอกาสให้กับพื้นที่ภาคใต้ และภาคต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งยังจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถสร้างโอกาสให้กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคด้วย

แล้วที่บอกว่า โครงการแลนด์บริดจ์ 'เนื้อหอม' ก็ต้องยอมรับว่า เนื้อหอมจริง ๆ หลังจากที่ท่านนายกฯ ท่านรองนายกฯ 'สุริยะ' ได้เดินหน้าไปโรดโชว์ และประชาสัมพันธ์โครงการให้นานาประเทศได้รู้จักโครงการฯ เพิ่มมากขึ้น พบว่า ขณะนี้มีนักลงทุนที่มีศักยภาพจากหลายประเทศ ต่างให้ความสนใจโครงการฯ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง 

และอย่างที่ท่านนายกฯ เศรษฐา ว่าโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้ นักลงทุนคงไม่ได้ตัดสินใจจะลงทุนในระยะเวลาเดือน สองเดือนครับ

ขอเน้นย้ำครับว่า การขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์จะต้องคนที่มีวิสัยทัศน์ ที่จะสามารถมองภาพของการขนส่งทางทะเลของโลกทั้งระบบออก จึงจะเห็นถึงโอกาสมหาศาลของประเทศไทย ไม่ใช่คนที่มองแค่ภาพของการขนส่งภายในประเทศยึดติดความคิดเดิม ๆ ตามประสบการณ์ส่วนตัวที่แคบและขาดความเข้าใจเท่านั้นที่พูดอธิบายยังไงก็ ไม่มีวันเข้าใจเพราะไม่มีความรู้พื้นฐานดีเพียงพอ ซึ่งแตกต่างจากนักลงทุนต่างประเทศที่อยู่ในแวดวง อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ของโลก ต่างก็มองเห็นถึงโอกาสมหาศาลนี้ออก และรอเพียงแค่ว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมที่จะประกาศเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนเมื่อไหร่ ก็พร้อมจะเข้ามาเสนอตัวลงทุน

ปัญหาในปัจจุบันคงจะมีเพียงแต่คนในประเทศเท่านั้นที่พยายามจะด้อยคุณค่าของโครงการลง เพื่อประโยชน์ส่วนตน

และล่าสุด คือ ตามที่ท่านรองนายกฯ สุริยะ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นการ และได้โรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ด้วยนั้น พบว่า บริษัท China Harbour Engineering ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากถึงมากที่สุด เรียกได้ว่า “ไม่ได้เงียบกริบ” อย่างที่นายสามารถเข้าใจผิดอย่างแน่นอน งานนี้! อาจจะมีคนเงิบ และรอฟังข่าวดีได้เลย 

นอกจากนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นโครงการที่ถูกหยิบยกมาหาเสียงเมื่อถึงคราวเลือกตั้งเท่านั้น แต่เป็นโครงการที่รัฐบาลได้เร่งให้เกิดเป็นรูปธรรม แถมยังเคยมีนักวิชาการออกมายืนยันอีกว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน และเมื่อโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น จึงมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ และได้รับผลประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าของช่องแคบมะละกาที่ในปัจจุบันมีแนวโน้มการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประเด็นโครงการและเกิดขึ้นหรือไม่นั้น จะขอนำกำหนดไทม์ไลน์ของโครงการฯ ที่ระบุไว้ชัดเจน มาเปิดเผยให้ดูว่า หลังจากนี้ จะมีการสรุปข้อมูลจากการเดินทางไปโรดโชว์ รวมทั้งขอเสนอแนะจากนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกต่าง ๆ มาประกอบการจัดทำร่างประกวดราคา พร้อมทั้งจะมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และจัดตั้งสำนักงาน SEC โดยคาดว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ ได้ภายในไตรมาส 2/2569 ก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกผู้ลงทุน และเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 แล้วเสร็จภายในปี 2573

สรุป!!
การดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ได้พิจารณาถึงความเหมาะสม และความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้น อย่างละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ และผมมั่นใจว่า ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ จะมีนักลงทุนต่างชาติ มาร่วมลงทุนอย่างแน่นอน เพราะเป็นโครงการสำคัญ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผลักดันให้ 'ประเทศไทย' ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งและการค้าแห่งใหม่ของโลกครับ

‘ญี่ปุ่น’ มอบเครื่องราชฯ ‘มงกุฎแสงแห่งอาทิตย์’ ให้ ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญ ส่งเสริมการคมนาคมขนส่ง ระหว่าง ‘ญี่ปุ่น-ไทย’

เมื่อไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ข่าวการมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประจำฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2567 ให้แก่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ระบุว่า ...

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับเครื่องราช ‘The Order of the Rising Sun, Gold and Silver Star’ จากผลสำเร็จ ในประเทศไทย ‘ในฐานะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมด้านคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย’

ทั้งนี้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ในฐานะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้นำในโครงการพัฒนาและความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ บนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่น-ไทย 

อีกทั้งยังมี บทบาทสำคัญในการพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น โดยเป็นหัวหอกในการประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการสนับสนุนของญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทยจะดําเนินไปอย่างราบรื่นในประเทศไทย

สำหรับเครื่องราชฯ ตระกูลมงกุฎแสงแห่งอาทิตย์ ชั้นที่ 2 เป็นเครื่องราชรองจากสูงสุดที่ให้กับคนต่างชาติ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top