Monday, 20 May 2024
กระทรวงคมนาคม

'สกลธี' เสียดาย!! กทม.โอนภารกิจลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ 3 เส้นคืนให้คมนาคม พร้อมวิเคราะห์ 4 ข้อ 'ถูก-ผิด' ที่อยากให้ กทม.ลองนำไปพิจารณาใหม่

(1 มี.ค.67) นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เห็นข่าวที่ผู้บริหาร กทม.จะโอนภารกิจลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ 3 เส้นทางประกอบด้วย สายสีเทา ระยะที่ 1 (วัชรพล - ทองหล่อ) สายสีเงิน (บางนา - สุวรรณภูมิ) และสายสีฟ้า (ดินแดง - สาทร) คืนกลับให้กระทรวงคมนาคมแล้วบอกตรงๆ ว่าเสียดายครับ

ทั้ง 3 เส้นทางเป็นโครงการที่อยู่ในภารกิจของ กทม. และได้ทำการศึกษามานาน แต่ยังไม่ได้ลงมือทำเพราะใช้งบประมาณเยอะพอสมควร ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทางผู้บริหาร กทม. ได้ให้ข่าวกับทางสื่อสารมวลชน ประกอบกับให้เหตุผลว่าการโอนภารกิจกลับคืนกระทรวงคมนาคมจะได้ประสานคิดค่าตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีอื่นภายใต้กระทรวงคมนาคมง่ายกว่าไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ประโยชน์จะได้เกิดกับประชาชนสูงสุด

อันนี้ผมว่ามีทั้งส่วนถูกและไม่ถูกครับ

1. เรื่องการลงทุนมีส่วนถูกคือถ้าให้ กทม. ลงทุนเพียงฝ่ายเดียวก็คงเกิดยากและกระทบกับงบประมาณในส่วนอื่นที่ต้องดูแลพี่น้องชาวกรุงเทพฯ แต่โครงการใหญ่แบบนี้โดยเฉพาะทั้ง 3 เส้นทางที่มีผู้อยู่อาศัยและศักยภาพในการใช้บริการจำนวนมากย่อมดึงดูดเอกชนให้มาร่วมทุนได้อย่างแน่นอน รวมถึงยังสามารถบริหารจัดการสินทรัพย์โดยรอบสถานีในรูปของการเช่า การโฆษณาหรือการเชื่อมต่อสถานีกับอาคารต่างๆ กลับคืนมาได้ไม่มากก็น้อย 

2. หรือถ้าหาเอกชนร่วมทุนไม่ได้จริงๆ (ซึ่งกรณีนี้ผมว่ามีโอกาส แต่ยากมาก เพราะทั้ง 3 เส้นทางมีศักยภาพในการดึงดูดเอกชนมาลงทุน) ด้วยสายสัมพันธ์ของท่านผู้ว่าฯ กับรัฐบาลน่าจะแบ่งงบประมาณ มาลงทุนในโครงการเหล่านี้ได้ไม่มากก็น้อย

3. เรื่องค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนอันนี้ถูกครับว่าไม่ควรเก็บ แต่การโอนทั้ง 3 เส้นทางไปให้กระทรวงคมนาคม สมมติว่าก่อสร้างเสร็จทั้ง 3 เส้นทาง ส่วนใหญ่ก็ต้องมาเชื่อมกับสายสีเขียว (ของ กทม.) ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของกรุงเทพฯ อยู่ดี ความซ้ำซ้อนก็ยังคงมีอยู่ ทางที่ถูกควรจะนั่งเจรจากันระหว่าง กทม. กับรัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนและใช้ตั๋วร่วมใบเดียวให้เกิดให้ได้ซักที เหมือน Octopus card ของฮ่องกง ที่ใช้ได้เกือบทุกการคมนาคมขนส่งและร้านสะดวกซื้อ

4. ถึงที่สุดถ้าเลือกโอนไปให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงคมนาคมรับขึ้นมา ก็ใช่ว่าโครงการจะเกิดได้เร็ว เนื่องจากในส่วนของทางกระทรวงคมนาคมก็มีโครงการอีกมากมายของตัวเองที่ต้องผลักดันทั่วประเทศ รวมถึงรถไฟในกรุงเทพฯ อีกหลายเส้นทางที่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมก็ยังไม่เกิด ยิ่งโครงการเรือธงของกระทรวงอยากจะทำเรื่อง Land Bridge ซึ่งใช้งบประมาณเป็นล้านๆ บาท ความเร่งด่วนของรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายในกรุงเทพฯ น่าจะไม่อยู่ในสายตาของทางกระทรวงแน่นอนครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็อยากจะหวังเห็นทีมผู้บริหาร  กทม. ชุดนี้ใช้ความพยายามสูงสุดทุกทางในการที่จะให้โครงการเกิดเสียก่อน ถ้าเดินแล้วมันไม่ได้หรือติดจริงๆ จะยกโอนให้กระทรวงคมนาคมผมว่าคนกรุงเทพฯ ก็คงไม่ติดใจครับ

เอาไว้วันหลังมีโอกาสจะมาแบ่งปันสิ่งดีๆ ที่อยากให้เกิดในกรุงเทพฯ ของเราเพื่อให้เมืองของเราอยู่สบายและมีความสุขเหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกครับ

ป.ล. อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้เกิดมากและเยอะๆ คือขนส่งสาธารณะสายรองหรือ Feeder ที่จะพาคนเข้าขนส่งขนาดใหญ่ได้สะดวกขึ้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีบ้านหรือคอนโดอยู่ในระยะเดินถึงสถานีรถไฟฟ้าได้ครับ 

‘สุริยะ’ ลั่น!! ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’ ไม่อยากโทษรัฐบาลไหน ฮึ่ม!! แต่ต้องจบปี 68 หากผู้รับเหมาทำไม่ได้เจอลดเกรด

(1 มี.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีสื่อโซเชียลมีเดียทำคลิปล้อเลียนปมสร้างถนนพระราม 2 ล่าช้า แม้กระทรวงคมนาคมจะประกาศคืนพื้นที่ให้ได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จนมีคำถามว่าจะสามารถคืนได้จริงหรือไม่ ว่า วันนี้จะเชิญผู้รับเหมาก่อนสร้างที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ถนนพระราม 2 ซึ่งตามกำหนดการต้องสร้างเสร็จภายในปี 2568 เพื่อมายืนยันให้เสร็จจริง เพราะขณะนี้มีความล่าช้าไปจากกำหนดการเดิมที่ทางกรมบัญชีกลางได้เลื่อนให้ เพราะติดเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 วันนี้คิดว่าต้องมีการพูดจากันอย่างตรงไปตรงมา และต้องขอความร่วมมือ

“สิ่งนึงที่ผมคิดว่าจะเป็นไม้ตายของกระทรวงคมนาคม คือ เราจะมีสมุดพกที่ดูว่าถ้าเขาทำไม่ได้ตามเป้าหมาย เราจะไปประสานกับกรมบัญชีกลาง ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดแล้วว่า ถ้าทำไม่ได้ต่อไปจะมีการลดระดับ จากผู้รับเหมาชั้นพิเศษลงมาเป็นผู้รับเหมาชั้นหนึ่ง ทำให้เขาไม่สามารถรับงานใหญ่ๆ ได้ และอีกอย่างอาจมีสิ่งที่รุนแรงกว่านั้น คืออาจจะไม่ให้เขาประมูลในโครงการใหม่ๆ ของกระทรวงคมนาคมเลย” นายสุริยะ ระบุ

รมว.คมนาคม กล่าวว่า วันจันทร์ที่ 4 มีนาคมนี้ ตนจะลงพื้นที่ไปตรวจสภาพข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ทั้งเรื่องการสร้างให้ตรงเวลา และเรื่องความปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้เริ่มมีการยกคานขึ้นไปในที่สูง ตรงนี้ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุมดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน

เมื่อถามว่า ระยะเวลาได้ขยายไปถึงปี 2568 เลยหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า “ถูกครับ เพราะเกิดผลกระทบมาจากช่วงโควิด-19 และย้ำว่าปี 2568 เป็นปีสุดท้ายต้องเปิดให้ได้ ส่วนที่ระบุว่าจะคืนพื้นที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ได้นั้น หมายถึงขณะนี้มีการก่อสร้างก็จะต้องไปคืนพื้นที่เพื่อให้เดินทางได้สะดวก”

เมื่อถามย้ำว่า มีโอกาสจะเสร็จเร็วกว่ากำหนดการเดิมหรือไม่ เพราะสร้างมานานแล้ว นายสุริยะ กล่าวว่า ตนคิดว่าถนนพระราม 2 เป็นถนนที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’ แต่ตนคิดว่าเป็นอดีตที่ผ่านมา และไม่อยากจะไปโทษรัฐบาลไหน แต่เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งแล้วปัญหาต่างๆ ที่กำหนดไว้ตามระยะเวลาก็จะต้องทำตามได้ ก่อนปฏิเสธว่าไม่ได้ลงพื้นที่พร้อมนายกรัฐมนตรี เพราะท่านติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ

6 เดือน 6 งานเด่น 'รมว.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' แห่งคมนาคม ครบทุกมิติ 'บก - น้ำ - อากาศ'

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินหน้าพัฒนาคมนาคมของไทย ครอบคลุมทุกมิติ ทั้ง 'บก - น้ำ - อากาศ' โดยมี 6 ผลงานเด่นที่เห็นเป็นรูปธรรมดังนี้

📌มาตรการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา นำร่อง 2 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน และต่อมาได้ขยายใช้ในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสายสีแดงและสายสีม่วงได้ด้วย ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกของรัฐบาล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนและจูงใจให้เปลี่ยนมาใช้ระบบรางในการเดินทาง

ทั้งนี้จะเร่งขยายมาตรการค่าโดยสาร 20 บาท ในรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ๆ ภายใน 2 ปี โดยขณะนี้ กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการหารือและพิจารณาร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเมินทั้งโครงข่ายทุกสาย กรณีลดค่าโดยสารเหลือไม่เกิน 20 บาท รายได้ของผู้ให้บริการจะลดลง ซึ่งจะต้องมีเงินอุดหนุนประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท/ปี

📌การเปิดใช้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินในปัจจุบัน และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้โดยสารของสนามบินเชียงใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสารระหว่างประเทศเฉลี่ย 4,800 คน/วัน จำนวน 20 เส้นทาง ปริมาณเที่ยวบิน 36 เที่ยวบิน/วัน วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม รวมถึงรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) พร้อมทั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร SAT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 โดยทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี รองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบิน/ชั่วโมงเป็น 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว และนโยบายวีซ่าฟรี ตามนโยบายรัฐบาล

📌เร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) และ สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) รวมถึงการเปิดให้ใช้ฟรี 2 เส้นทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 โดย M6 ช่วงปากช่อง - ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 77 กม. M81 ช่วงนครปฐม ฝั่งตะวันตก - กาญจนบุรี ระยะทาง 51 กม. เปิดทดลองใช้ฟรีปีใหม่ ตั้งแต่ 28 ธ.ค.66 - 3 ม.ค. 67 ซึ่งจะเปิดให้บริการใช้งานฟรีตั้งแต่ 28 ธ.ค.66 ต่อเนื่องจนกว่าด่านเก็บค่าผ่านทางจะแล้วเสร็จ ส่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง

ขณะเดียวกัน ยังได้เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ เส้นทางนครปฐม - ชุมพร และได้เปิดให้บริการช่วงสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนถึงจุดหมายได้เร็วขึ้นถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของประชาชน รวมทั้งการขนส่งสินค้า โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถอีกต่อไป

📌การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ โดยการยกมาตรฐานและปลอดภัยท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นโดยการให้บริการด้วยระบบตั๋วร่วม พร้อมทั้งออกแบบรองรับผู้ใช้บริการทุกประเภท โดยมีแผนพัฒนาท่าเรือเป็นสถานีเรือ (ระบบปิด) ทั้งหมด 29 ท่า ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงเสร็จแล้ว จำนวน 9 ท่า อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้าง จำนวน 5 ท่า และในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 15 ท่า จะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อลดความคับคั่งในการเดินทางขนส่งทางบก รวมถึงพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ในอ่าวไทยและอันดามัน สร้างรายได้ท่องเที่ยวทางน้ำ

📌เดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge) ผลักดันการพัฒนาท่าเรือชุมพรและระนอง รวมถึงรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมขนส่งระหว่าง 2 ท่าเรือ ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อพลิกโฉมพื้นที่ภาคใต้เป็นศูนย์กล่างโลจิสติกส์ระดับโลก ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) โดยล่าสุดได้ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ Landbridge ในการประชุมเอเปค ครั้งที่ 30 ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น ซึ่ง มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสนใจเป็นจำนวนมากกว่า 30 บริษัท จากเดิมที่คาดว่าจะมีประมาณ 20 บริษัท และหลังจากนี้ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามารับฟังข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง

'สรวุฒิ' รับฟัง 'ผู้พิการ' หาทางแก้ปัญหาการเดินทาง 'เครื่องบิน-รถสาธารณะ' ส่งสัญญาณสายการบินไม่สามารถปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่ว่าจะกรณีใดทั้งสิ้น

'เลขานุการ รมว.คมนาคม' รับฟังความคิดเห็นกลุ่มคนพิการ พร้อมจัดตั้งคณะทำงานร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาการเดินทางโดยเครื่องบิน-รถสาธารณะ หวังให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเดินทางสัญจรได้สะดวก

(12 มี.ค. 67) นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่สายการบินไทยเวียตเจ็ทปฏิเสธกลุ่มคนพิการขึ้นเครื่องบิน ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกหนังสือตักเตือนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้นั้น

ในวันนี้ (12 มี.ค. 67) ได้มีการประชุม และรับฟังความคิดเห็นกับกลุ่มคนพิการ นำโดย นายกฤษนะ ละไล พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น-ยาว โดยขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานกระทรวงคมนาคม จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งจะประกอบไปด้วย...

1. บุคลากรระดับสูงจากกระทรวงคมนาคมจำนวน 9 ท่าน 
2. บุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 12 ท่าน และ ตัวแทนกลุ่มผู้พิการจำนวน 5 ท่าน เพื่อร่วมบูรณาการแผนงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิผลที่ควรจะเป็นในระดับสูงสุด 

ทั้งนี้เตรียมสั่งการให้สายการบินแจ้งรายละเอียดและประชาสัมพันธ์ถึงกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ต่อผู้โดยสารที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางด้านร่างกาย ซึ่งหากกฎมีความก้ำกึ่ง สายการบินไม่สามารถปฏิเสธ ผู้โดยสารได้ไม่ว่าจะกรณีใดทั้งสิ้น แต่หากมีความเข้าข่ายและจะส่งผลกระทบระหว่างการบิน ต้องแจ้งรายละเอียดให้ชัดเจนต่อไป 

นายสรวุฒิ กล่าวต่อว่า โดยแนวทางเบื้องต้นนั้นต้องการให้ทุกสายการบิน เพิ่มช่องทางให้ใส่รายละเอียด ของกลุ่มเปราะบางทางด้านร่างกาย ในการจองตั๋วเดินทาง เพื่อให้สายการบินสามารถเตรียมการได้อย่างเหมาะสม 

ขณะที่ทาง นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากการเพิ่มแนวทางอำนวยความสะดวกในการเดินทางด้านอากาศ สำหรับกลุ่มผู้เปราะบางแล้ว ยังมองว่าการขนส่งทางบก มีความสำคัญอย่างมาก ต่อกลุ่มดังกล่าวนี้ โดยล่าสุดได้เตรียมหารือกับทางกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อหาแนวทางในการลดหย่อนภาษี รถขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีการดัดแปลงสำหรับผู้พิการ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเดินทางสัญจรได้สะดวกมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนั้นยังเตรียมเข้าปรึกษาหารือกับทางหน่วยงาน กทม. เพื่อผลักดันให้กลุ่มผู้เปราะบางมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

‘สุริยะ’ มั่นใจ!! ‘รถไฟฟ้าม่วง-แดง’ 20 บาทตลอดสายทำได้ ปลื้ม!! ลดราคาลง คนใช้เพิ่ม 20% กำไรมากกว่าก่อนลด

(2 เม.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ว่า “ทำได้แน่นอน ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตั๋วร่วม โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม จะกำหนดให้ตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อเป็นเงินอุดหนุนในนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้”

นายสุริยะ กล่าวว่า “สำหรับผลประกอบการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดงนั้นมีประชาชนมาโดยสายเพิ่ม 20% คิดว่ามีแนวโน้มผู้ประกอบการจะมีกำไรมากกว่าช่วงที่ไม่ลดราคา”

ส่วนจะมีรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ลดราคาเป็นเฟสที่ 2 เฟสที่ 3 ต่อไปหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า “ขณะนี้ในส่วนที่กระทรวงคมนาคมทำได้ คือ รถไฟฟ้าสายที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ส่วนสายอื่นที่อยู่นอกเหนือในการดูแลของกระทรวงคมนาคมไม่สามารถลดราคาได้ ต้องไปลดทีเดียวพร้อมกันอีก 1 ปีเศษตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย”

‘ธนกร’ ขอบคุณ ‘สุริยะ’ แก้ปัญหาตั๋วเครื่องบินแพงช่วงเทศกาล เชื่อ!! หากคุมได้ทั้งปี จะช่วยหนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ

(11 เม.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและสะท้อนปัญหาราคาค่าตั๋วเครื่องบินแพงในช่วงเทศกาลไปยังนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และในคณะกรรมาธิการกิจการศาล องคร์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎรหลายครั้ง  ล่าสุด นายสุริยะได้กำชับให้นโยบายกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบิน โดยมีการตอบรับอย่างดีจาก 6 สายการบินคือ การบินไทย, ไทยแอร์เอเชีย, บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยไลอ้อนแอร์, นกแอร์ และไทยเวียตเจ็ท ได้เพิ่มเที่ยวบินในช่วงวันที่ 11-12 เมษายน และ 15-16 เมษายน รวม 104 เที่ยวบิน จำนวน 17,874 ที่นั่ง เพื่อสอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้มีวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปีนี้รวม 6 วัน และเพื่อแก้ไขปัญหาราคาบัตรโดยสารเครื่องบินแพงเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนด้วย โดยจะทำการบินไปยังสนามบินหลักให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั้ง ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย อุบลราชธานี อุดรธานี และขอนแก่น

นายธนกร กล่าวว่า ทั้งนี้ทางกพท.ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลค่าโดยสารของวันที่ 12 เมษายน 2567 ซึ่งคาดว่าประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงสงกรานต์เป็นวันแรก ใน 3 เส้นทางยอดนิยม คือกรุงเทพฯ-ภูเก็ต กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-กระบี่ 

พบว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต โดยมีค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2,611 บาทต่อเที่ยว ส่วนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ค่าโดยสารเฉลี่ยที่ 2,346 บาทต่อเที่ยว และกรุงเทพฯ-กระบี่ มีค่าโดยสารเฉลี่ยเท่ากับ 2,797 บาทต่อเที่ยว ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาค่าบัตรโดยสารในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ถือว่าราคาลดลง 3-14%  

นอกจากนี้ขอให้รมว.คมนาคมและกพท. ควบคุมกำกับดูแลเรื่องราคาบัตรโดยสารเครื่องบินในสายการบินที่เหลือ รวมถึงขยายมาตรการดังกล่าวออกไปในช่วงปกติที่ไม่ใช่เทศกาลด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีของรัฐบาลด้วย

“ขอขอบคุณท่านสุริยะ กระทรวงคมนาคม และกพท.รวมถึงขอบคุณผู้บริหารทั้ง 6 สายการบิน ที่ไม่ปล่อยผ่านความเดือดร้อนของประชาชนที่ร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก เรื่องค่าตั๋วเครื่องบินแพง โดยเฉพาะช่วงเทศกาล จนนำมาซึ่งการควบคุมและแก้ปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ โดยเห็นว่าควรขยายมาตรการนี้ไว้ตลอดทั้งปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเรื่องการท่องเที่ยวด้วย โดยเชื่อว่าในช่วงมหาสงกรานต์วันหยุดยาวครั้งนี้ จะเห็นการเดินทางของพี่น้องประชาชนและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเติบโตตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ได้อย่างแน่นอน” นายธนกร กล่าว

'สุริยะ' สั่งหยุดก่อสร้างชั่วคราว-คืนผิวจราจร ถนนพระราม 2 พร้อมเปิดช่องทางพิเศษรองรับการเดินทางช่วงสงกรานต์

เมื่อวานนี้ (11 เม.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังจากได้ลงพื้นที่บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตรวจสภาพการจราจร และความพร้อมในการอำนวยความสะดวกปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ณ ศูนย์บริหารการจราจรระหว่างการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย - บ้านแพ้ว 

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2567 นายสุริยะ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวก และปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกด้วยว่า ในส่วนของถนนพระราม 2 นับเป็นเส้นทางทางหลวงที่มีการจราจรหนาแน่น เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักที่ประชาชนใช้ในการเดินทางไปสู่ภาคใต้ ซึ่ง กรมทางหลวง ได้ตระหนักถึงความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยได้กำหนดแผนบริหารการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างเป็นระบบ และได้บูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางของพี่น้องประชาชน ที่ใช้เส้นทางบนถนนพระราม 2 

นอกจากนี้ ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างเต็มกำลังตลอดเทศกาลสงกรานต์ 2567 อาทิ คืนพื้นผิวจราจรบนถนนพระราม 2 ที่มีการก่อสร้างทั้งหมด พร้อมให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน ขณะเดียวกัน ยังได้ประสานงานร่วมกับตำรวจทางหลวงในการเปิดช่องทางพิเศษ (REVERSIBLE LANE) ในกรณีที่การจราจรคับคั่ง เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวด้วย

“ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ผมขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุข และหวังว่าทุก ๆ ท่าน เดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และไร้อุบัติเหตุ” นายสุริยะ กล่าว

'คมนาคม' ขีดเส้น พ.ค.นี้ ลุยสร้างไฮสปีด  หาก 'ซีพี' พลาดบัตรส่งเสริม BOI

(18 เม.ย. 67) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย โดยระบุว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างก่อสร้างรวม 12 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา และยังมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2571

ส่วนอีก 2 สัญญาที่เหลือ ประกอบด้วย สัญญาที่ 4 - 1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง และสัญญาที่ 4 - 5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา โดยเฉพาะสัญญาที่ 4 - 1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนคู่สัญญาในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เพื่อรับงานก่อสร้างส่วนของพื้นที่ทับซ้อนบริเวณนี้ ซึ่งทราบว่า ร.ฟ.ท.ยังอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียด

“ทราบว่าตอนนี้การรถไฟฯ กำลังเจรจากับเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน และโครงการนี้ก็อยู่ในการดูแลของอีอีซี ซึ่งกำลังเจรจาเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โดยเงื่อนไขในนั้นจะมีการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ - ดอนเมืองด้วย และขณะนี้ทางเอกชนก็อยู่ระหว่างขอบัตรส่งเสริม BOI ครั้งสุดท้าย ซึ่งต้องได้รับภายในเดือน พ.ค.นี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็น่าจะกระทบต่อสัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินด้วย”

อย่างไรก็ดี นโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีกรอบดำเนินงานว่าหากเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินไม่สามารถออกบัตรส่งเสริมการลงทุน BOI ได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ แน่นอนว่าจะทำให้การแก้ไขสัญญาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินล่าช้าออกไปอีก ในส่วนของรถไฟไทยจีนที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องอยู่ในเงื่อนไขงานก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน ก็จำเป็นต้องตัดสินใจดำเนินการเพื่อไม่ให้โครงการรถไฟไทยจีนต้องล่าช้าออกไปด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีเป้าหมายว่าหากภายในเดือน พ.ค.นี้ เอกชนยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ก็จะมอบหมายให้ ร.ฟ.ท.เริ่มดำเนินการเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการตามแผนงานของรถไฟไทยจีน โดยงานส่วนนี้ประเมินวงเงินก่อสร้างราว 9 พันล้านบาท และก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.มีกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติในก่อสร้างสร้างงานอยู่แล้วราว 4 พันล้านบาท ดังนั้นจะเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีกราว 5 พันล้านบาท เพื่อเริ่มดำเนินการทันที ไม่ให้กระทบต่อภาพรวมโครงการรถไฟไทยจีน

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า รถไฟไทยจีนตอนนี้เดินหน้างานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นอีก 2 สัญญาที่เหลืออยู่ควรต้องมีทางออกโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนเปิดให้บริการในปี 2571 โดยจากการประเมินภาพรวมในตอนนี้ยังเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผน ในเดือน พ.ค.นี้ จะเป็นกรอบเวลาสุดท้ายของการรอความชัดเจนงานก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง เพราะรัฐบาลก็มีเงินในการลงทุนก่อสร้างเองให้เป็นไปตามแผนงานอยู่แล้ว อีกทั้งโครงการนี้ก็มีความพร้อมทั้งแบบก่อสร้างสามารถเริ่มงานได้ทันที

‘สุริยะ’ สั่ง ‘กทพ.’ เร่งหารือเอกชน แก้ปัญหาค่าทางด่วนแพง เล็งลดเหลือ 50 บาทตลอดสาย คาด!! ชงเข้า ครม. ส.ค. นี้

(25 เม.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า ตามที่ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษ (ทางด่วน) ในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงการปรับปรุงระบบค่าผ่านทาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนนั้น

ล่าสุด กทพ. ได้รายงานว่า ขณะนี้ กทพ. อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ สนข. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัญญาสัมปทานบริหารทางด่วน ในการพิจารณาปรับโครงสร้างลดอัตราค่าผ่านทางฯ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้ทางด่วนให้กับประชาชน โดยได้นำผลการศึกษาการแก้ปัญหาจราจรเมื่อปี 2565 มาศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการใช้กับทางด่วนขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน - พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร (กม.) เนื่องจากมีผู้ใช้ทางเป็นจำนวนมาก

สำหรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ที่มีการปรับลดลงนั้น เริ่มต้นที่ 25 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากในปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 25 - 90 บาท กล่าวคือ จะมีการยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งจากเดิมมีค่าผ่านทาง 25 บาท ทำให้เหลือ 0 บาท ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท เหลือ 50 บาท ขณะที่ ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท เหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) จ่ายเงินทางขึ้น 25 บาท คาดว่าจะหารือและได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ในการปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าว จะทำให้รายได้ของผู้รับสัมปทานลดลง ดังนั้น จากการหารือในเบื้องต้น กทพ. มีแนวทางขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 ตุลาคม 2578 พร้อมกับการพิจารณาแบ่งสัดส่วนรายได้ โดย กทพ. จะมีรายได้ลดลง เพื่อนำไปชดเชยให้กับผู้รับสัมปทานในการลดค่าผ่านทาง จากเดิม กทพ. มีสัดส่วน 60% ผู้รับสัมปทาน 40% ขณะเดียวกัน BEM จะต้องรับภาระในการลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การปรับลดค่าผ่านทางในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

"กระทรวงคมนาคม มีเรื่องใหญ่ที่อยากจะทำให้เห็นผลโดยเร็ว คือ การแก้ไขปัญหาค่าทางด่วนแพง เพราะตอนนี้ มีประชานที่ใช้ทางด่วนช่วงยาว มีระยะทางไกล ต้องจ่ายแพงถึง 100 กว่าบาท ผมเลยให้ กทพ. และ สนข. ไปหารือกับเอกชน เพื่อลดค่าทางด่วน ให้เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาท หรือ 50 บาทตลอดสาย เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้ทางด่วนให้กับประชาชน" นายสุริยะ กล่าวและว่า

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อ กทพ. หารือร่วมกับ สนข. และ BEM จนได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนับจากนี้ กทพ. จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. พิจารณาเห็นชอบแนวทางการปรับลดค่าผ่านทาง รวมทั้งการขยายสัญญาสัมปทาน, การปรับสัดส่วนรายได้ และ BEM เป็นผู้ลงทุนโครงการ Double Deck ก่อนจะเสนอไปยังคณะกรรมการ มาตรา 43 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 พิจารณาเห็นชอบรายละเอียดการแก้ไขสัญญาฯ

ทั้งนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 43 แล้วจะส่งร่างสัญญา ที่มีการปรับแก้ไขแล้วต่อไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตรวจร่างสัญญา จากนั้นจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญา และเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) เห็นชอบ ก่อนเสนอไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในเดือนสิงหาคม 2567 หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้มีนโยบายให้ส่งเสริมให้มีการใช้งานบัตร Easy Pass เพิ่มมากขึ้น โดยสั่งการให้ กทพ. เพิ่มช่องทางการจำหน่าย และการเติมเงิน Easy Pass ให้สะดวกขึ้น อาทิ การจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ขณะเดียวกัน จะมีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ Easy Pass ให้ได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็วในการเดินทาง โดยการยกไม้กั้นออก และจะมีการเพิ่มช่อง Easy pass มากขึ้น

‘สุริยะ’ ลุยต่อ!! ดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ลั่น!! ก.ย.68 เชื่อมครบทุกสี แง้ม!! กำลังคุย ‘พรบ.ตั๋วร่วม’

(29 เม.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินการนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น มั่นใจว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี หรือ ช่วงกันยายน 2568 รถไฟฟ้าทุกสี และทุกสาย จะเข้าร่วมนโยบายทั้งหมด ขณะที่รถไฟฟ้าสีอื่น ๆ ที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและเตรียมก่อสร้าง ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ หากตนยังคงดำรงอยู่ในตำแหน่งรมว.คมนาคม ขอยืนยันว่าจะผลักดันให้เข้าร่วมนโยบายทั้งหมดเช่นกัน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นโยบายดังกล่าวนอกจากเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนแล้ว ยังสามารถลดปัญหา PM 2.5 ในขณะนี้ได้อีกด้วย เนื่องจากประชาชนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวได้มีการปรับเปลี่ยนการเดินทางมาใช้รถไฟฟ้าแทน รวมถึงยังแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเส้นทาง Feeder เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พร้อมคาดว่าภายในระยะ 2-3 เดือนนี้จะเห็นความชัดเจน ซึ่งนอกเหนือจาก ขสมก. แล้ว หากเอกชนรายใดที่มีความพร้อมด้านการให้บริการขนส่ง ก็สามารถเข้าร่วมการจัดเส้นทาง Feeder ได้ ซึ่งแผนระยะสั้นจะผลักดันประมาณ 30 เส้นทาง เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง

ส่วนระยะต่อไป คาดเป็นช่วงปี 2568-2569 จะเพิ่มจำนวนเพิ่มเติม เพื่อรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีส้ม และอีก 66 เส้นทางจะดำเนินการในระยะถัดไปตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป

ด้านแผนจัดทำ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ขณะนี้มีการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาถึงหลักการด้านต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสม เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2568 จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังได้เตรียมแผนจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจากมาตรการดังกล่าว โดยเม็ดเงินจากกองทุนที่จะนำมาชดเชยนั้นจะมาจากขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เป็นต้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top