Saturday, 5 July 2025
กระทรวงคมนาคม

‘สุริยะ’ มอบ ‘ทางหลวงชนบท’ พัฒนาถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทย รับนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยว 'เมืองรอง' ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน

(14 มิ.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้เตรียมพร้อมแผนรองรับนักท่องเที่ยวในทุกมิติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมในทุกมิติให้มีความปลอดภัยในระดับสูงสุด เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย

ซึ่งนายสุริยะ ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) พัฒนาและยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบท สำหรับการสนับสนุนการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบัน ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย (Thailand Riviera) ถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.4002 (กม. ที่ 13+100) - บ้านแหลมสันติ (ตอนที่ 2) อำเภอหลังสวน และละแม จังหวัดชุมพร เสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรแล้ว โดยจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเมืองรองอย่างเป็นรูปธรรม ให้ประชาชนสามารถเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เช่น หาดตะวันฉาย หาดละแม ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทยอย่างยั่งยืน ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง โดยมีจุดเริ่มต้น กม. ที่ 19+891 อยู่บนถนนทางหลวงชนบทสาย ชพ.4019 เชื่อมต่อกับ ทล.4002 (ช่วง กม. ที่ 13+100) ด้านขวาทาง ห่างจากปากน้ำหลังสวน 1.5 กิโลเมตร (กม.) ไปสิ้นสุด กม. ที่ 26+644 ห่างจากหาดละแม 1.5 กม. ผ่านมหาวิทยาลัยแม่โจ้ - ชุมพร บริเวณหมู่ที่ 5 บ้านแหลมสันติ ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 6.753 กม. ก่อสร้างเป็นถนนลาดยางแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีต กว้าง 7 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.5 เมตร พร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจร สิ่งอำนวยความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้เส้นทาง ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 105.440 ล้านบาท 

ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้พัฒนาเส้นทางเพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงถนนสายรองจากถนนสายหลักเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจในเมืองรอง อำนวยความสะดวกให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางได้อย่างปลอดภัยในทุกเส้นทาง

‘มาดามแป้ง-เจ ชนาธิป’ รับมอบเงินอัดฉีดจาก ‘สุริยะ’ 3 ล้านบาท หลังเปิดบ้านชนะสิงคโปร์ 3-1 พร้อมขอบคุณที่สนับสนุนช้างศึก

(17 มิ.ย.67) ‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ตัวแทนนักฟุตบอลทีมชาติไทย เข้ารับเงินอัดฉีด จาก สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 3 ล้านบาท ที่กระทรวงคมนาคม จากเกมที่ ช้างศึก เปิดบ้านชนะ สิงคโปร์ 3-1 ในศึกฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 2  

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทย นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อัดฉีด ทัพช้างศึก อยู่แล้วในทุกเกม แต้มละ 1 ล้าน แต่ในเกมเปิดบ้านพบกับ สิงคโปร์ มีความสำคัญ คือ ชี้ชะตาเข้ารอบคัดบอลโลก รอบ 3 ทำให้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมตรี อัดฉีดส่วนตัวเพิ่มเติมลูกละ 1 ล้านบาท แบ่งเป็นประตูละ 5 แสนบาท และ แอสซิสต์ละ 5 แสนบาท รวม 3 ลูก เป็นเงิน 3 ล้านบาท

‘มาดามแป้ง’ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า “ปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จนมาถึง รองนายกฯ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ โดย แป้ง ต้องขอบคุณแทนทีมงานสตาฟโค้ช และนักกีฬา ที่ทุกคนเล็งเห็นถึงความสำคัญ ความเสียสละ และ ความมุ่งมั่นเพื่อทีมชาติไทย ซึ่งแม้ว่าเรายังเสียดายที่ไม่ได้ผ่านเข้าสู่รอบ 3 ด้วยเงื่อนไขขาดอีกแค่ประตูเดียว แต่อย่างน้อยแป้งเชื่อว่า นี่เป็นนิมิตรหมายอันดีของฟุตบอลไทย ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐฯ”

ทั้งนี้โปรแกรมต่อไป ทีมชาติไทย เตรียมลงเล่นเกมอุ่นเครื่อง 2 นัด ในช่วง ฟีฟ่า เดย์ ระหว่างวันที่ 2-10 กันยายน 2567

'กฤชนนท์' ลงพื้นที่สายสีแดงจัดแผน 'เพิ่มรถสาธารณะ-จุดจอดรถ' แย้ม!! นโยบายรถไฟฟ้า 20 ตลอดสาย หนุนผู้ใช้บริการพุ่งเกินคาด

(25 มิ.ย. 67) นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมและโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการผลักดัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรองนายกรัฐมนตรี โดยนำร่อง 2 โครงการ คือ 

1.โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 4 สถานี

2. โครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จำนวน 16 สถานี ซึ่งขณะนี้มีประชาชนเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีรังสิต โดยได้มีการเจรจากับประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ระบบขนส่งเสริม หรือ Feeder System ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะด้านของรถสาธารณะ และสถานที่จอดรถยนต์บริเวณสถานี ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานได้จัดทำแผนและเตรียมดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

นายกฤชนนท์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางหน่วยงาน กรมการขนส่งทางบก ได้จัดเตรียมแผนเพิ่มจำนวนการเดินรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ โดยจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกจังหวัดปทุมธานี ภายในช่วง กรกฎาคม 2567 โดยจากแผนเบื้องต้น จะให้เอกชนเดินรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะเพิ่มอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 วงกลมรังสิต / เส้นทางที่ 2 รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต / เส้นทางที่ 3 รังสิต-โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส และเส้นทางที่ 4 รังสิต คลอง 7 และเตรียมเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป 

จากปัจจุบันนี้ที่มีรถโดยสารสองแถวขนาดเล็ก สีแดง และสีเขียว จำนวน 4 เส้นทาง วิ่งให้บริการตั้งแต่เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้แก่ เส้นทาง 6188 รังสิต-จารุศร / เส้นทาง 1008 รังสิต-อำเภอหนองเสือ / เส้นทาง 1116 รังสิต-สถานีรถไฟเชียงราก และเส้นทาง 381 รังสิต-องครักษ์ 

นอกจากนี้ทางหน่วยงาน รฟท. ยังมีแผนที่จะปรับปรุงพื้นที่ เพื่อให้มีสถานที่จอดรถเพิ่มเป็น 200-300 คัน จากปัจจุบันที่สามารถจอดได้ 100 คัน พร้อมทั้งเร่งดำเนินการพัฒนาแผนการก่อสร้างเป็นอาคารจอดรถยนต์เพิ่มเติมต่อไป

‘สุริยะ’ นำชาวคมนาคมร่วมโครงการ ‘คมนาคมร้อยดวงใจ เทิดไท้องค์ราชัน’ มอบทุนการศึกษา-บริจาคโลหิต ถวาย ‘ในหลวง’ เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

(24 ก.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ข้าราชการและพนักงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมทั้ง 22 หน่วยงาน ได้พร้อมใจกันจัดทำโครงการ ‘คมนาคมร้อยดวงใจ เทิดไท้องค์ราชัน’ ถวายพระพรชัยมงคล และถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน 

โดยได้มอบธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ประกาศเจตจำนงการบรรลุเป้าหมายในการบริจาคโลหิตร่วมกันของบุคลากรกระทรวงฯ รวมทั้งสิ้น 2 ล้านซีซี ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมอบทุนการศึกษา จำนวน 172 ทุน ให้กับนักเรียนในโรงเรียนบริเวณรอบท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเพิ่มโอกาสและสร้างขวัญกำลังใจให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้าง และพัฒนาสังคม รวมถึงประเทศชาติที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ผู้บริหารและพนักงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมมีความปลาบปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่ได้มาร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่างแก่ข้าราชการทั้งปวงในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของปวงประชา ซึ่งข้าราชการและพนักงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมทุกคนจักได้น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตามให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อสนองพระราชปณิธานด้วยความจงรักภักดีสืบไป

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดได้ร่วมกันดำเนินโครงการคมนาคมร้อยดวงใจ เทิดไท้องค์ราชัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยในวันนี้ (24 ก.ค. 67) ผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานในสังกัด รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้แทนสายการเดินเรือ ผู้ประกอบการ และประชาชนในชุมชนรอบพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 7,200 คน ได้รวมตัวกัน ณ บริเวณลานริมน้ำ อาคาร OB ท่าเรือกรุงเทพเพื่อร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างพร้อมเพรียงกัน พร้อม ๆ กับข้าราชการและพนักงานหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ ในภูมิภาคทั่วประเทศ 

ซึ่งในโอกาสนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้กับหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และส่งต่อให้ส่วนราชการที่มีหน่วยงานในส่วนภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 72 ผืน พร้อมทั้งมอบทุนการศึกษา จำนวน 172 ทุน ให้กับนักเรียน จำนวน 6 โรงเรียน บริเวณรอบท่าเรือกรุงเทพ ประกอบด้วย โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา โรงเรียนวัดคลองเตย โรงเรียนวัดสะพาน โรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์ โรงเรียนไทยประสิทธิ์ศาสตร์ และโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทยด้วย

ในโอกาสนี้ กระทรวงคมนาคมได้ร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินโครงการรวมน้ำใจบริจาคโลหิต ต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ โดยมีเป้าหมายในปี 2567 จำนวน 2 ล้านซีซี ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมา มีผู้บริหารและบุคลากรของกระทรวงฯ ได้ร่วมกันบริจาคโลหิตไปแล้วมากกว่า 1.4 ล้านซีซี ในวันนี้จึงได้มอบป้ายประกาศเจตจำนงการบริจาคโลหิตของกระทรวงคมนาคมให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติเพื่อเป็นการกำหนดเป้าหมายร่วมกันและเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2567 บุคลากรของกระทรวงคมนาคมจะรวมใจกันบริจาคโลหิตจนครบ 2 ล้านซีซี เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่จำเป็นต้องใช้โลหิตและนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วยทั่วประเทศต่อไป

‘สุรพงษ์’ คุยลั่น!! หมดยุค ‘การรถไฟฯ’ ขาดทุน-ติดลบตัวแดง เผย!! มีแผนเพิ่มรายได้ 10 เท่า จาก 2 พันล้าน เป็น 2 หมื่นล้าน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พบปะกับสมาชิกของ ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย นำโดย นายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์ฯ กล่าวถึงภารกิจสำคัญคือ การสร้างรายได้ของ รฟท. ได้ตั้งเป้าผลประกอบการหรืองบดุล จะต้องไม่มีตัวแดง หรือ EBITDA ต้องไม่ติดลบ และต้องเป็นบวก หรือมีกำไร ในปีต่อๆไป โดยให้ปรับแผนงานหารายได้เพิ่มจากธุรกิจทางตรงคือการขนส่งสินค้า เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด จาก 3% ที่มีรายได้เพียง 2,000 ล้านบาท/ปี เป็น 30% ซึ่งรายได้จะเพิ่มเป็น 22,000 ล้านบาท/ปี

“เรื่องนี้ถือเป็นการบ้านของ รฟท. ที่จะต้องไปหาวิธีทำอย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมาย ทั้งด้านการขนสินค้าและผู้โดยสาร อาจหามืออาชีพด้านการตลาดมาช่วย การวางแผนจัดสร้างเส้นทางส่วนต่อขยาย เข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความต้องการในการขนส่งสินค้ามาก ๆ เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ของ รฟท.” รมช.คมนาคม กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของค่าโดยสาร รฟท. ไม่ได้ปรับค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2538 หรือ 29 ปีแล้ว ซึ่งจะแบ่งผู้โดยสารเป็น 2 ส่วน คือ ด้านบริการเชิงสังคมสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่รัฐต้องดูแลก็ให้แยกออกมา ส่วนบริการรถไฟเชิงพาณิชย์ ชั้น 2 และชั้น 3 ที่พร้อมจะซื้อตั๋วที่ราคาสูงขึ้นได้ จะทำให้สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ว่าฯรฟท.ต้องไปทำข้อมูลแยกออกมาว่า มีปริมาณผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ และ ผู้โดยสารรถไฟท่องเที่ยว เพื่อกำหนดแผนได้ตรงกับความต้องการของตลาดผู้โดยสาร

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงแผนการปรับปรุงรถไฟไทยว่า ได้ดำเนินการจัดทำรถไฟท่องเที่ยวขบวนรถหรู SRT Royal Blossom ที่จะเปิดบริการเที่ยวแรกในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 นี้ นำร่องเส้นทางท่องเที่ยว กรุงเทพฯ -กาญจนบุรี เป็นรถไฟขบวนใหม่ สไตล์ญี่ปุ่น ที่การรถไฟฯ ทำการปรับปรุง หลังได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเสร็จสิ้นแล้ว 5 คัน จากจำนวนทั้งหมด 10 คัน ถูกออกแบบสำหรับใช้เดินทางท่องเที่ยวโดยเฉพาะ มีการดีไซน์ด้วยความพิถีพิถันจากฝีมือช่างคนไทย ภายในประกอบด้วยระบบสันทนาการครบครัน เพื่อให้ผู้โดยสารสัมผัสบรรยากาศวิวสองข้างทางอย่างเต็มที่ มีการติดตั้งบันไดทางขึ้น-ลงสำหรับรองรับชานชาลาสูง-ต่ำ และรถวีลแชร์ของผู้พิการตามมาตรฐาน Universal 

ขณะที่ภาพรวมการขนส่งทางราง นายสุรพงษ์ฉายภาพความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร -  นครราชสีมา) ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ภาพรวมการดำเนินการก่อสร้างในปัจจุบัน มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 33.48% ซึ่งได้กำชับให้การรถไฟฯ เร่งรัดการก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขอุปสรรคต่างๆ อาทิ ปัญหาที่ยังติดขัด 2 สัญญา จาก 14 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญา 4-1 บางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายในปี 2571 

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 356 กิโลเมตร วงเงิน 3.3 แสนล้านบาท ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและปรับแบบเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอมายังกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน ก.ย.นี้ และสามารถเปิดประมูลพร้อมเริ่มกระบวนการก่อสร้างภายในปี 2567 คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการในปี 2572 

ด้านการพัฒนารถทางคู่ ได้ดำเนินการก้าวหน้าตามลำดับ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ ซึ่งสามารถเปิดใช้งานได้แล้วหลายเส้นทาง ได้แก่ โครงการช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครงการช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ขณะที่เส้นทางรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ก็สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนเช่นกัน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเป็นการเปิดให้บริการระหว่างสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร 

จากนั้นมีแผนเปิดใช้ทางคู่เพิ่ม ระหว่างสถานีโพรงมะเดื่อ-บ้านคูบัว ระยะทาง 50 กิโลเมตร และสถานีสะพลี – ด้านเหนือสถานีชุมพร ระยะทาง 12.80 กิโลเมตร ซึ่งตามแผนจะเปิดใช้ทางคู่ตลอดเส้นทาง ช่วงนครปฐม – ชุมพร รวมระยะทาง 420 กิโลเมตร ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม 2567 

นอกจากนี้ ในปลายปี 2567 จะเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 29.70 กม. ที่การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ เพื่อช่วยลดระยะเวลาเดินทางแก่ประชาชน

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ปัจจุบันก้าวหน้าไปแล้ว ร้อยละ 9.695 และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญา 1 บ้านไผ่ - หนองพอก สัญญา 2 หนองพอก - สะพานมิตรภาพ 3 ก้าวหน้าแล้วร้อยละ 2.578 อีกทั้งยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ที่เตรียมพัฒนาเพิ่มเติมอีก 7 สายทาง ได้แก่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาก่อสร้าง ส่วนช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการรถไฟฯ ไปแล้ว อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม เสนอขอมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

'สุริยะ' ชวน 'ญี่ปุ่น' ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย พร้อมดึงร่วมพัฒนาระบบ AGT 'สายสีน้ำตาล-เทา-สีเงิน'

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ณ ห้องรับรอง กระทรวงคมนาคม โดยได้หารือถึงความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยและหน่วยงานในประเทศญี่ปุ่น พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสหารือในประเด็นการขอรับความช่วยเหลือด้านการซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดงจากญี่ปุ่น โดยให้ความสนใจกับกลุ่มบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย อีกทั้งได้เชิญชวนญี่ปุ่นพิจารณาร่วมลงทุนในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ 

1) บางซื่อ - พญาไท - มักกะสัน - หัวหมาก และบางซื่อ - ห้วยลำโพง 
2) รังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
และ 3) ศิริราช - ตลิ่งชัน - ศาลายา เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นจะเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมรถไฟของญี่ปุ่นในการพิจารณาลงทุนก่อสร้างต่อไป 

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ด้วยความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนนำทางอัตโนมัติ (AGT) มาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีทอง เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการต่อยอดเทคโนโลยีนี้ไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล, สายสีเทา และสายสีเงิน และขอขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความร่วมมือในโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะบางซื่อ ระหว่างองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (UR) กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการได้เน้นย้ำถึงความสำคัญการพัฒนาโครงการที่ผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสถานีขนส่ง (TOD) ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน"

ในส่วนของความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) กับกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ภายใต้ความตกลงระหว่างกระทรวงคมนาคมไทย - ญี่ปุ่นด้านการจัดการจราจรและเทคโนโลยีทางถนนนั้น ที่ผ่านมาได้มีการหารือและการเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ ระบบ SCADA (ระบบตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-Time) และโครงการก่อสร้างอุโมงค์และสะพาน โดยกระทรวงคมนาคมจะให้การสนับสนุนการศึกษาดูงานระหว่างกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

'คมนาคม' ยัน!! 'เรือขนตู้สารพิษ' ไม่ได้เข้าไทยแล้ว หลังรัฐบาลเข้ม!! 'ตรึงกำลัง-เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง'

(22 ส.ค.67) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวของสื่อต่างประเทศจะมีเรือบรรทุกสารพิษ จำนวน 2 ลำ ขนสารพิษประเภทฝุ่นเกิดจากกระบวนการผลิตเหล็กด้วยเตาอิเล็กทริกอาร์กเฟอร์เนซ กว่า 100 ตู้ จากประเทศแอลเบเนีย มุ่งหน้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมนั้น

ล่าสุด การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้รับการยืนยันจากตัวแทนสายเรือว่า เรือบรรทุกสารพิษดังกล่าว ได้พ้นเขตน่านน้ำไทยไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ท่าเรือแหลมฉบังร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ยังคงตรึงกำลัง และเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลักลอบการนำสารพิษเข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทาง อีกทั้ง ได้กำชับให้ กทท. ดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัย และความมั่นคงของประเทศชาติ

ด้าน นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่าเรือฯ ได้ติดตามเรื่องเรือบรรทุกสารพิษดังกล่าว และดำเนินการตามข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมอย่างเข้มงวด โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ อาทิ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร ฯลฯ อย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ได้รับการยืนยันจากตัวแทนสายเรือว่า เรือในเครือของ Maersk จะไม่มีเส้นทางการเดินเรือประจำในประเทศไทย และขณะนี้เรือลำดังกล่าวได้พ้นเขตน่านน้ำไทยไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทจึงสั่งการให้ท่าเรือแหลมฉบังยังคงเฝ้าระวังต่อเนื่องตามระเบียบการท่าเรือฯ ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับสินค้าอันตรายของท่าเรือแหลมฉบัง พ.ศ.2559 และตามมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศชาติ

'สุริยะ' แจงปมแนวคิด 'ซื้อคืนรถไฟฟ้า-ลุยจ้างเอกชนเดินรถ' หวังให้รัฐมีอิสระในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะ 20 บาทตลอดสาย

(26 ส.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลว่า แนวคิดดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาอยู่แล้ว โดยศึกษาจากต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสาร สอดคล้องนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ยึดสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่จัดทำไว้กับเอกชน ผู้ประกอบการแต่อย่างใด โดยจะยึดถือสัญญาที่ได้ทำไว้กับเอกชนเป็นหลัก แต่ยังเป็นเพียงแนวคิดที่รัฐบาลอาจจะพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการซื้อ คืนระบบการเดินรถที่เอกชนได้ลงทุนไป รวมถึงสิทธิ์ในส่วนการให้บริการเดินรถตามสัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับเอกชนกลับคืนมา ซึ่งรัฐบาลจะยังคงจ้างเอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถต่อไป อย่างไรก็ตาม จะทำให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบายในเรื่องอัตราค่าโดยสาร และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานเดิม

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยยึดภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าว และนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ส่งเข้ากองทุนฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรจิดขัดอีกด้วย

สำหรับรูปแบบการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้านั้น จะเจรจาร่วมกับเอกชนเพื่อปรับสัญญาสัมปทานจากรูปแบบ PPP Net Cost หรือเอกชนได้รับสิทธิ์ในการลงทุน ระบบเดินรถ และให้บริการเดินรถ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดเก็บรายได้ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลงในสัญญา โดยเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด และรัฐชดเชยค่าใช้จ่ายลงทุนระบบเดินรถใน ส่วนที่เอกชนได้ลงทุนไปในระบบเดินรถคืนให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาและรัฐจะจ้างเอกชนคู่สัญญารายเดิมเป็นผู้ให้บริการเดินรถจนกว่าสัญญาสัมปทานเดินจะสิ้นสุดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะไม่กระทบกับสัญญาของเอกชนอย่างแน่นอน

“ข้อเท็จจริงของแนวคิดเป็นเพียงต้องการจะสื่อให้เห็นว่า เป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดย ประชาชนจะได้รับบริการรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง สอดคล้องกับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกสีทุกเส้นทาง และเมื่อราคาค่าโดยสารถูกลง มั่นใจว่า จะมีผู้โดยสารมาใช้มากขึ้น ดังเช่น สายสีแดง และสายสีม่วงที่ได้มีการลดราคาไปแล้ว ซึ่งก็จะทำให้ส่งผลถึงสภาพการจราจรในถนนตามแนวเส้นทางนั้น ๆ ก็จะติดขัดน้อยลง โดยผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ได้เป็นการยึดสัมปทานคืนจากเอกชนแต่อย่างใด แต่เป็นการซื้อคืนระบบเดินรถและสิทธิ์การเดินรถ แล้วจ้างเดินรถ โดยเปลี่ยนสัญญาจากรูปแบบ PPP Net Cross เป็น PPP Gross Cost ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ ผมอยากสร้างความเชื่อมั่นว่า เราไม่ได้ไปยึดสัมปทาน อาจจะมีการตีความผิด เพราะถ้าพูดแบบนั้น ต่อไปใครจะกล้าเข้ามาลงทุนกับรัฐอีกในอนาคต” นายสุริยะ กล่าว

'เพื่อไทย' ชี้!! แนวคิดซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนรัฐ ยังอยู่ระหว่างการศึกษา วอน!! ไม่อยากให้มุ่งค้านทุกเรื่องที่รัฐบาลเสนอโดยไม่สนใจการศึกษาใดๆ

(29 ส.ค. 67) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีการแสดงความเห็นคัดค้านแนวคิดการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำร่องด้วยวิธีชดเชยค่าโดยสารในสายสีม่วงและสายสีแดง ผลลัพธ์ออกมาทางบวกทั้ง 2 ส่วน สามารถแบ่งเบาภาระค่าเดินทางประชาชน และส่งเสริมให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งสาธารณะ เป็นบริการสาธารณะที่สร้างความเท่าเทียมในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน

ส่วนแนวคิดการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้ากลับคืนมาที่รัฐ เพื่อให้รัฐสามารถควบคุมราคาได้เองอย่างยั่งยืน ไม่ต้องแบกรับภาระการชดเชยไปตลอด เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่อยู่ระหว่างการศึกษา  จึงต้องรอผลการศึกษาที่ชัดเจน มีข้อมูลครบถ้วนก่อนจะออกมาวิจารณ์คงจะเหมาะสมกว่า มิใช่มุ่งจะค้านทุกเรื่องที่รัฐบาลเสนอโดยไม่สนใจการศึกษาใด ๆ

นายชนินทร์ กล่าวว่า ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความตั้งใจในการกระจายอำนาจเรื่องการขนส่งสาธารณะไปยังท้องถิ่นต่างๆ ภายหลังการโหวตไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก ของอดีตพรรคก้าวไกลนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการให้อำนาจท้องถิ่นในเรื่องนี้เพิ่มเติมแล้วในหลายลักษณะ เช่น มีการออกกฎกระทรวง (ฉบับที่ 64 พ.ศ. 2567) ให้อำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้ดำเนินการให้บริการระบบการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะเองได้แล้ว และปัจจุบันคณะกรรมกลางฯตามพระราชบัญญัติฉบับนี้เอง ก็ได้มีการผ่องถ่ายอำนาจการกำหนดราคาค่าโดยสาร และการออกใบอนุญาตประกอบการ ให้คณะกรรมการในระดับจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการแทนแล้ว และยังมีแนวคิดที่จะทยอยเพิ่มอำนาจการกำกับดูแลอื่นๆให้คณะกรรมการในระดับจังหวัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่านกลไกของฝ่ายบริหาร 

นอกจากนี้ในงบประมาณฯปี 2568 ที่กำลังพิจารณาในสภาอยู่ กรมขนส่งทางบกเอง ก็ยังมีการตั้งโครงการเพื่อศึกษารูปแบบการอุดหนุนของรัฐที่ยั่งยืนในระบบโดยสารสาธารณะไว้ด้วย เพื่อออกแบบโมเดลการสนับสนุนของภาครัฐในการส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีศักยภาพในการมีระบบขนส่งสาธารณะของตัวเองให้ได้อย่างยั่งยืน เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าผลการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์กับท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศอย่างแน่นอน ทุกอย่างมีการดำเนินการอยู่ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย  และคงไม่ช้าเกินไปหากในเวลานั้นเราจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณากันอีกครั้ง ในแง่มุมที่ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น

“พรรคเพื่อไทยยืนยันเดินหน้านโยบาย 20 บาทตลอดสายให้สำเร็จตามแผนงานที่เคยประกาศไว้อย่างชัดเจน ทั้งที่โดนปรามาสมาตลอดว่า ทำไม่ได้จริง หรือ ไม่ควรทำ เพราะเรามั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน พร้อมกับอีกหลายนโยบายในการยกระดับขนส่งสาธารณะอื่นๆทั้งรถเมล์ และรถไฟทางไกล เพื่อให้ขนส่งสาธารณะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการบริการพี่น้องในแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป“ นายชนินทร์ กล่าว

‘สุริยะ’ แง้ม!! ‘DP World’ ประสานตั้งคณะทำงานร่วมไทย ศึกษาข้อมูล-รายละเอียดการลงทุน ‘โครงการแลนด์บริดจ์’

(2 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือโครงการแลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า กระทรวงฯ ยังคงมีเป้าหมายเดินหน้าผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในรัฐบาลนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ รวมถึงผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

โดยแผนการดำเนินงานในขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการทำหนังสือบรรจุวาระการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ. SEC เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย. 2568

อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ร.บ.SEC มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการจัดตั้งสำนักงาน SEC และเข้าสู่แผนงานอื่น ๆ โดยในส่วนการออกแบบทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และคาดว่าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา EIA แล้วเสร็จในปี 2568 สอดคล้องกับการออกแบบท่าเรือ และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และส่งให้ สผ. พิจารณาแล้วเสร็จในปี 2568

ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกเอกชน การจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2569 ก่อนที่จะคัดเลือกผู้ลงทุนแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2569 จากนั้นจะออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน ก่อนเสนอ ครม. อนุมัติโครงการภายในไตรมาส 2/2569 จากนั้นจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคา และเริ่มดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ในไตรมาส 3/2569 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2573

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางบริษัท Dubai Port World (DP World) ประสานต้องการที่จะให้ สนข.ช่วยให้ข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ของโครงการอย่างละเอียด จึงมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง สนข.และ DP World ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้มีเอกชนพร้อมลงทุน 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการเอกชนรายใด ต้องการจะตั้งคณะทำงานร่วมกับประเทศไทย ก็สามารถแสดงความประสงค์มาได้ทันที โดยยืนยันว่ากระทรวงคมนาคม และรัฐบาลไทย มีความยินดีต้อนรับนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก และไม่ได้ผูกมัด หรือกีดกันรายใดรายหนึ่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top