Tuesday, 21 May 2024
กระทรวงคมนาคม

รองนายกรัฐมนตรีพร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่เมืองช้าง ยืนยันเร่งแก้ปัญหาการคมนาคม และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่ ห้องประชุมแขวงทางหลวงสุรินทร์ อำเภอเมืองสุรินทร์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าและรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการสำคัญของหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมที่จังหวัดสุรินทร์ โดยมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในพื้นที่จ.สุรินทร์ พร้อมผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นำข้าราชการให้การต้อนรับ และร่วมประชุม พร้อมทั้งให้นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับหนังสือจากข้อร้องเรียนเสนอแนะจากผู้นำในแต่ละพื้นที่เพื่อขอสนับสนุนการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่ต่อรัฐบาลต่อไปอีกด้วย จากการประชุมมีการพูดคุยในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการคมนาคม การบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาความยากจนและเรื่องอื่นๆ ที่ยังจำเป็นต่อการพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับฟังจากภาคธุรกิจสิ่งที่ต้องการมากคือ การสร้างสนามบินในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ 

เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่มีประชากรกว่า 1,300,000 คน มี สส. 8 คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับเรื่องไปตรวจสอบถึงปัญหา อุปสรรค และความเป็นไปได้แล้ว รวมทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านและต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าและรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการสำคัญของหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมที่จังหวัดสุรินทร์ ว่า จากการประชุมมีการพูดคุยในหลายประเด็น 

ทั้งเรื่องการคมนาคม การบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาความยากจนและเรื่องอื่นๆ ที่ยังจำเป็นต่อการพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและภาคธุรกิจต้องการให้เกิดขึ้นคือ การสร้างสนามบินในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่มีประชากรกว่า 1,300,000 คน มี สส. 8 คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับเรื่องไปตรวจสอบถึงปัญหา อุปสรรค และความเป็นไปได้แล้ว ส่วนเรื่องการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และอ่างเก็บน้ำอำปึล ได้หารือกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในการจัดสรรงบประมาณให้ในปีงบประมาณถัดไป ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มาติดตามการดำเนินการในส่วนของโครงการคมนาคมในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และก็จังหวัดศรีสะเกษ 

ซึ่งก็ได้เน้นย้ำและติดตามโครงการสำคัญในการก่อสร้างถนนสายหลักเส้นทางในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์-จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ โดยดำเนินการต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน โดยได้กำชับให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาโครงการที่กำหนดอีกทั้งยังให้เพิ่มมาตรการสร้างความปลอดภัยในการใช้สัญจรให้มากที่สุด ส่วนถนนสายหลักที่ทาง ส.ส.ต้องการ 2 โครงการ ก็จะรับเรื่องและนำเสนอให้ในปีงบประมาณหน้าต่อไป

'สุริยะ' รับลูก 'นายกฯ' สั่งหน่วยงานคมนาคม โละหมด 'รถยนต์สันดาป'  ชี้!! 'หมดสัญญาเช่า' เปลี่ยนใช้ 'EV' ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

(7 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญแทนรถยนต์ที่หมดอายุนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญ และขานรับข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจรวบรวมรายละเอียด และพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) ที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สอดคล้องเป้าหมายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573 โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5

ทั้งนี้ จากการรายงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ทอท. จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งในปัจจุบัน รถส่วนกลางของ ทอท. ส่วนใหญ่เป็นรถเช่าระยะเวลา 3 ปี ดังนั้น หากหมดสัญญาเช่าแล้ว ให้ ทอท.พิจารณาเริ่มสัญญารถเช่าใหม่ เปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ประสานไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบหมายให้สรุปรายละเอียดและพิจารณารถยนต์ที่ใช้ภายในของแต่ละหน่วยงาน และจะหมดสัญญาเช่าให้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาตามความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น ในเบื้องต้นจะให้เปลี่ยนรถยนต์ที่วิ่งใช้ภายในจังหวัด หรือระยะทางไม่ไกลมากนัก หากเป็นรถยนต์ที่ใช้วิ่งข้ามจังหวัด อาจจะยังคงเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันไปก่อร เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระยะทางวิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ให้หน่วยงานทั้งหมดสรุปรายละเอียดและแผนการดำเนินงานเสนอมายังกระทรวงฯ โดยเร็วที่สุด

‘สุริยะ’ สั่ง!! ‘ทอท.’ เร่งลดความแออัดภายในสนามบิน พร้อมรับนักท่องเที่ยว ‘อินเดีย-ไต้หวัน’ 10 พ.ย.นี้

(8 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับผู้โดยสารชาวอินเดียและไต้หวันตามนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาลนั้น ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียและไต้หวันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 - 10 พฤษภาคม 2567 ระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวของชาวอินเดียและไต้หวัน เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในช่วงปี 2566-2567

“ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด ตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศตลอดจนถึงการเดินทางกลับออกจากประเทศไทย เบื้องต้นได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ รวมถึงหาแนวทางการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอื่น ๆ พร้อมทั้งให้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้กระบวนการทุกขั้นตอนมีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้ผู้โดยสารเกิดความแออัด หรือใช้เวลานานหลังจากลงจากเครื่องบิน”

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วม (Single Command Center) เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในทุกขั้นตอนในท่าอากาศยาน ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการให้บริการ และกวดขันการบริหารการจราจรบริเวณหน้าท่าไม่ให้เกิดความแออัดหนาแน่น และเก็บบันทึกข้อมูลการให้บริการ ภาพถ่ายกล้องวงจรปิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายตลอดการเดินทางในประเทศไทย ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมการเดินทางภายในกรุงเทพมหานคร (กทม.) การเตรียมความพร้อมการเดินทางไปต่างจังหวัดทางรถไฟและรถโดยสาร การเตรียมความพร้อมการเดินทางในต่างจังหวัด

ส่วนการเตรียมความพร้อมสำหรับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำอีกทั้งให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติตามหลักการเดียวกัน คือ การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย สะอาดสวยงาม พนักงานให้บริการด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีอัตราค่าบริการที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย พร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค กระตุ้นการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยนั้น จากข้อมูลกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาข้อมูล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนทั้งสิ้น 557,554 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 79,651 คน

โดยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด จำนวน 73,297 คน รองลงมา ได้แก่ จีน จำนวน 67,443 คน, รัสเซีย จำนวน 39,136 คน, อินเดีย จำนวน 30,547 คน และเกาหลีใต้ จำนวน 30,255 คน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 22,622,522 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 954,239 ล้านบาท

‘สุริยะ’ เยือน ‘สหรัฐฯ’ ร่วมประชุมเอเปค เตรียมโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’ ดึงต่างชาติมาร่วมลงทุน หวังดัน ‘ไทย’ เป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเชีย

(11 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเดินทางไปจัดงาน ‘Thailand Landbridge Roadshow’ วันที่ 13 พ.ย.นี้ ที่โรงแรม Ritz Carlton เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ในระหว่างเดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30

โดยนายกฯ และตน ในฐานะเจ้าภาพจัดงานจะร่วมกันให้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นานาประเทศรู้จักโครงการเพิ่มมากขึ้น อาทิ โอกาสทางธุรกิจ รูปแบบการลงทุน ศักยภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ โดยมีนักลงทุนภาคธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งสายการเดินเรือ ผู้บริหารท่าเรือ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน

โดยกลุ่มนักลงทุนให้ความสนใจประเด็นโอกาสในการลงทุนของโครงการ ทั้งนี้ ในอนาคตโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ จะเป็นช่องทางการค้าแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลักระดับภูมิภาคและจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล รวมถึงลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง อีกทั้ง จะช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า ประกอบด้วย เขตการค้า เมืองท่าและเขตอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจโครงการเป็นอย่างมาก อาทิ ฝรั่งเศส ประเทศฝั่งตะวันออกกลาง และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

‘สุริยะ’ เตรียมชง ครม. สร้างมอเตอร์เวย์ 2 สาย วงเงิน 8.7 หมื่นลบ. ช่วงรังสิต-บางปะอิน และบางขุนเทียน-บางบัวทอง คาด!! เปิดใช้ปี 71

(27 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าขณะนี้ได้เสนอโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่จำนวน 2 โครงการ ที่มีความพร้อม ไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้วเพื่อรอบรรจุวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คือโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5)  ระยะทาง 22 กม. และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทองระยะทาง 35.85 กม.

โดยจะมีการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน คาดว่าจะนำเสนอ ครม.พิจารณาได้ในเดือนม.ค. 2567 

สำหรับ โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 31,280 ล้านบาท จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ จะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว การออกแบบรายละเอียด (Detail& Design) เสร็จแล้ว รายงาน EIA ได้รับอนุมัติแล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2567 ก่อสร้างในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571

ปัจจุบันเส้นทาง ‘ดอนเมืองโทลล์เวย์’ ที่เปิดให้บริการจากดินแดง-อนุสรณ์สถาน-รังสิต ระยะทาง 25 กม. ซึ่งถนนพหลโยธินยังมีปัญหารถติด การต่อขยายเส้นทางออกไป เชื่อมไปถึง Junction บางปะอินซึ่งจะเป็นจุดตัดของทางหลวงและมอเตอร์เวย์มอเตอร์เวย์ 3 สาย จะช่วยแก้ปัญหาจราจรบนถนนพหลโยธิน

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท จะเป็นการก่อสร้างปรับปรุงเพื่อยกระดับการให้บริการวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกเต็มรูปแบบ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร บริเวณเกาะกลางของถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นที่ กม.0 ที่ต่างระดับบางขุนเทียนและสิ้นสุดที่ กม.36 ต่างระดับบางบัวทอง มีทางขึ้น 8 จุด ทางลง 6 จุดและมีทางแยกต่างระดับ 5 แห่ง (บางขุนเทียน บรมราชชนนี ศรีรัชบางใหญ่ และบางบัวทอง) มีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คิดตามระยะทาง ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและก่อสร้างปี 2567-2570 แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2571

เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 'สีม่วง-แดง' 20 บาทตลอดสาย  ดีเดย์ 30 พ.ย.นี้ เบื้องต้นใช้ผ่านระบบบัตร EMV

เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ของ รฟม. และรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะได้รับสิทธิชำระค่าโดยสารร่วม 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาทเท่านั้น เมื่อใช้บัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นี้ จะลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทดลองใช้ระบบ EMV Contactless เดินทางข้ามสาย ระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง พร้อมๆ กับประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อติดตามตรวจสอบความเรียบร้อยในการให้บริการด้านการเดินทางแก่ประชาชน โดยนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย’ เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win ของรัฐบาล ในด้าน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนในด้านการเดินทาง และการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดที่ดำเนินงานด้านระบบรางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนของ รฟม.และ รฟท. ที่เป็น 2 หน่วยงานนำร่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท มาใช้ในการให้บริการรถไฟฟ้าของภาครัฐ ตั้งแต่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ให้มีการติดตามประเมินความคุ้มค่าด้านจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมาในระบบเปรียบเทียบกับรายได้ เพื่อรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในการศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในระยะต่อๆ ไป ที่สามารถสานต่อนโยบายดังกล่าวได้ และต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐในอนาคตด้วย ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มเติมของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า ในระยะ 1 เดือนกว่าๆ ที่รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ได้เริ่มให้บริการด้วยอัตราค่าโดยสาร สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารในวันทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,274 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 6.07% และในวันหยุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,789 คน-เที่ยวต่อวัน คิดเป็น 13.33% และ รฟม.คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปใช้อัตราค่าโดยสารร่วมระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟชานเมือง สายสีแดง สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป รวมถึงการที่รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ และผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนถ่ายระบบได้โดยสะดวกที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ รฟม.พร้อมสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดทดแทน ในระยะยาวย่อมจะช่วยลดมลพิษทางอากาศและบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลงได้ โดย รฟม.มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยไม่จำกัดการดำเนินงานเฉพาะในรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเท่านั้น แต่จะศึกษาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกับ ขร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถต่อยอดนโยบายนี้ไปใช้กับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในความรับผิดชอบของ รฟม.ได้อีกด้วย

ประกอบกับ รฟม.ได้พัฒนาระบบรับการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ไว้รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT ทุกสาย กับระบบขนส่งอื่นๆ อย่างครบครันแล้ว จึงมีความมั่นใจว่า หากมีแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบใหม่ในอนาคต รฟม.จะสามารถให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

‘สุริยะ’ ไฟเขียว ‘ทางด่วน-มอเตอร์เวย์’ วิ่งฟรี 7 วัน อำนวยความสะดวก ปชช. ตั้งแต่ 28 ธ.ค. - 3 ม.ค.67

(28 พ.ย. 66) ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม เรื่องแนวทางการเตรียมความพร้อมการดำเนินการตามแผนอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เข้าร่วม ว่า ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะเตรียมลงพื้นที่โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 เส้นทางปากช่อง-สีคิ้ว-ขามทะเลสอ ตรวจสอบความเรียบร้อยเรื่องความปลอดภัย และเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ก่อนเปิดให้บริการในช่วงปีใหม่ 2567 รวมถึงจะมีการพิจารณาเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ 2567 แก่พี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมร่วมกันให้บริการพิเศษแก่พี่น้องประชาชน ประกอบด้วย ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-เมืองพัทยา) และมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถนนกาญจนาภิเษก ตอนบางปะอิน-บางพลี และตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 7 วัน

การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 7 วัน 

การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษอุดรรัถยา โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 24.00 น. เป็นเวลา 2 วัน

การเปิดใช้มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 จาก ปากช่อง-เลี่ยงเมืองนครราชสีมา เปิดให้บริการ 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ระยะทาง 77.493 กิโลเมตร เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อเท่านั้น และมีจุดบริการห้องน้ำ 1 จุด คือ ช่วงปากช่อง-สีคิ้ว กม. ที่ 147 ทั้งทิศทางขาเข้าและขาออก การเปิดให้ทดลองวิ่งฟรีบนมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ช่วงด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก-ด่านกาญจนบุรี ระยะทาง 50 กิโลเมตร

“ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่จะถึงนี้ผมขอให้พี่น้องคนไทยมีความสุข เดินทางด้วยความระมัดระวัง และมีความปลอดภัย โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะอำนวยความสะดวก และดูแลประชาชนในทุกมิติ ตามนโยบายคมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” นายสุริยะ กล่าว

'สุริยะ' มอบหมายทุกหน่วยงานรองรับการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ พร้อมแนะ 15 สถานที่ท่องเที่ยวให้เช็กอิน ✨🇹🇭

(7 ธ.ค.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามนโยบายคมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน จึงให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมในทุกมิติ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว สนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมแนะนำ 15 สถานที่ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยกรมทางหลวง (ทล.) และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้เตรียมความพร้อมในทุกมิติ พร้อมขานรับตามนโยบายดังกล่าว ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจและมีความทรงจำที่ดีกลับไปในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 จึงขอเชิญชวนนักเดินทางท่องเที่ยวสัมผัสเส้นทางสายธรรมชาติสูดอากาศบริสุทธิ์ในการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายบนทางหลวงหมายเลข 1009 (ทล.1009)

โดย ทล. และ ทช. ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่โดยรอบโครงสร้างพื้นฐานให้มีทัศนียภาพสวยงาม พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ปัจจุบันมีถนนและสะพานหลายเส้นทางทั่วทุกภูมิภาคและพร้อมเปิดให้บริการพี่น้องประชาชนได้มาท่องเที่ยวผ่านถนนและสะพานสวย ๆ ใน 5 ภูมิภาค โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่จะถึงนี้ มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน จึงคาดการณ์ว่าจะมีพี่น้องประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก 

โดย 15 แหล่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และจุดเด่นการท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค ได้แก่

1.ยอดดอยอินทนนท์ จุดสูงสุดแดนสยาม ตั้งอยู่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ประชาชนสามารถสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ ชมวิวธรรมชาติภูเขาและทะเลหมอก ปัจจุบันบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งสถานีเรดาร์และสถานีทำการของทหารอากาศ ประชาชนสามารถเยี่ยมและกราบพระพุทธศาสดาประชานาถ หอพระพุทธศาสดาประชานาถ นับเป็นพระพุทธรูปบูชาที่กองทัพอากาศจัดสร้างในโอกาสครบรอบ 100 ปี การทิวงคต จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ‘พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ’ จากนั้นไปสักการะพระสถูปของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เพื่อขอพรเพิ่มสิริมงคลเสริมดวงให้กับตัวเองต้อนรับปีใหม่ 2567

2.เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา เป็นเส้นทางเดินสบาย ๆ ลัดเลาะเข้าไปในผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์และชมความสวยงามจากพันธุ์ไม้หายาก เช่น ต้นกุหลาบพันปี สถานที่แห่งนี้มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดมาสัมผัสโอโซนบริสุทธิ์

3.กิ่วแม่ปาน จุดชมวิวทะเลหมอกสุดฮิตที่บรรดานักท่องเที่ยวต้องไม่พลาด มีลักษณะเป็นป่าธรรมชาติสลับทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ นักท่องเที่ยวสามารถชมบรรยากาศ สัมผัสทะเลหมอก และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าได้อย่างน่าประทับใจ

4.พระมหาธาตุนภเมทนีดล - นภพลภูมิสิริ ‘มหาธาตุคู่’ ซึ่งกองทัพอากาศสร้างขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นมิ่งมงคลแก่ประชาชนในแผ่นดินไทยร่มเย็นเป็นสุขชั่วนิรันดร์ บริเวณโดยรอบของพระมหาธาตุทั้งสอง ตกแต่งด้วยสวนดอกไม้เมืองหนาว และการจัดสวนดอกไม้ประดับที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่มีความสวยเด่นและสง่างาม

5.อุทยานแห่งชาติดอยผาตั้ง เป็นจุดชมทัศนียภาพไทย - สปป.ลาว อากาศเย็นสบายและชมทะเลหมอกได้ตลอดปี โดยเฉพาะเดือนธันวาคม - มกราคม จะมีดอกพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งรอรับนักท่องเที่ยว ระหว่างทางเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวจีนฮ่อ ม้ง และเย้า ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านอีกด้วย

6.กาดม้ง จุดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์จากชาวเขาเผ่าต่าง ๆ รวมทั้งผัก ผลไม้ อาหารถิ่นพื้นเมือง

7.จุดพักนักเดินทาง โดยแขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 1 สถานที่ให้บริการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ห้องน้ำ และลานกางเต็นท์ฟรี ตั้งอยู่บน ทล.1009 ที่ กม. 30+700

8.โครงการหลวงดอยอินทนนท์ นักท่องเที่ยวต้องไม่พลาดจุดนี้ ชอป ชม ชิม ผลิตภัณฑ์โครงการหลวงจบในที่เดียว

9.สถานีวิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เดินทางบน ทล.1009 ที่ กม. 30+300 เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข 1284 ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ถึงแหล่งชมวิวอุโมงค์พญาเสือโคร่งที่สวยงามและโรแมนติก ภายในพื้นที่ศูนย์วิจัยสามารถชมแปลงไม้พืชและผลเมืองหนาว

10.เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว มีไฮไลต์สำคัญ คือ น้ำตกผาดอกเสี้ยว เป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ บรรยากาศสดชื่น ชุ่มฉ่ำกับธารน้ำตกใสไหลเย็น

11.ภาคเหนือ ถนนสาย มส.4009 ทุ่งดอกบัวตอง ดอยแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจุดชมวิวและศาลาชมวิวที่นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นทุ่งดอกบัวตองได้ 360 องศา ถือเป็นหนึ่งใน Amazing Thailand ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตควรหาโอกาสไปชมให้ได้ โดยดอกบัวตองจะบานเพียงปีละครั้งเท่านั้น สำหรับการเดินทางมายังทุ่งดอกบัวตองดอยแม่อูคอ จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ใช้เส้นทางไปยังอำเภอขุนยวม ทล.108 (แม่ฮ่องสอน - ขุนยวม) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ทล.1263 ที่สามแยกขุนยวม และเข้าสู่ถนนสาย มส.4009 ตามป้ายแนะนำเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว

12.ภาคกลาง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2538 เพื่อเป็นโครงข่ายถนนรองรับการขนถ่ายลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ และภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ เพื่อไม่ให้รถบรรทุกสัญจรเข้าไปในตัวเมืองหรือทิศทางอื่น อันจะเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดโดยรอบ ซึ่งไม่เพียงแต่การกระจายการจราจรไปยังทิศทางต่าง ๆ แต่ยังเชื่อมระหว่างเขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กับอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้ประชาชนชาวพระประแดงและสมุทรปราการ สามารถเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกสบาย ประชาชนสามารถชมความสวยงามของสะพานดังกล่าวได้ อีกทั้งในช่วงเทศกาลและวันสำคัญจะมีการเปิดไฟประดับสะพานยามค่ำคืนที่ตระการตาเป็นอย่างมาก

13.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะพานเทพสุดา จังหวัดกาฬสินธุ์ สะพานข้ามน้ำจืดข้ามอ่างเก็บน้ำลำปาว ประชาชนสามารถชมพระอาทิตย์ตกดินในยามเย็นบนสะพานโดยมีภูเขาเป็นฉากหลังเสริมให้ทัศนียภาพงดงาม รวมทั้งไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้ คือ รูปปั้นไดโนเสาร์ ที่ตั้งอยู่บริเวณปลายสะพานทั้งสองฟากสะพานเทพสุดา และชมวิถีชีวิตการทำประมงของชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนของการเดินทางจากตัวเมืองกาฬสินธุ์ ใช้ ทล.227 มุ่งหน้าไปอำเภอสหัสขันธ์ ประมาณ 32 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายบริเวณสี่แยกเข้าสู่ถนนสาย กส.3056 ขับตรงไปตามเส้นทางประมาณ 6.6 กิโลเมตร จนถึงสะพานเทพสุดา

14.ภาคใต้ ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดพัทลุง เป็นสะพานยกระดับที่ยาวที่สุดในประเทศไทยตามแนวทะเลน้อยกับทะเลหลวงของทะเลสาบสงขลา เชื่อมระหว่างจังหวัดพัทลุงและสงขลา รวมระยะทาง 5.450 กิโลเมตร โดยในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ดอกบัวแดงบานเหมาะกับการล่องเรือชมวิวและเป็นจุดชมนกน้ำนานาพันธุ์ สำหรับการเดินทางมายังถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ (พท.5050) สามารถเดินทางโดยเริ่มจากสี่แยกเอเชียพัทลุงวิ่งไปบน ทล.41 จนถึงสี่แยกโพธิ์ทอง อำเภอควนขนุน จากนั้นให้เลี้ยวขวาเข้า ทล.4187 ระยะทาง 17 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนสาย พท.4007 ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ

15.ภาคตะวันออก ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต หรือถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย มีแลนด์มาร์กอย่างจุดชมวิวเนินนางพญาที่สามารถมองเห็นวิวทะเลกับถนนที่คดเคี้ยวสวยงาม รวมทั้งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง โดยสามารถขับรถชมวิวทะเล หรือปั่นจักรยานจากปากน้ำประแส จังหวัดระยอง มาจรดเนินนางพญาที่มีอ่าวคุ้งกระเบนของจังหวัดจันทบุรีได้เช่นกัน การเดินทางมาถนนเฉลิมบูรพาชลทิตนั้น จากตัวเมืองจังหวัดชลบุรี ใช้ ทล.344 และ ทล.3 มุ่งหน้าไปยังจังหวัดจันทบุรี ถึงสามแยกประแสร์ เลี้ยวขวาเข้า ทล.3162 เมื่อถึงแยกคลองปูน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ขับไปตามทางเรื่อย ๆ เลยอ่าวคุ้งวิมาน ไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะถึงเนินนางพญา

นอกจากนี้ ถนนและสะพานยังเป็นเส้นทางเชื่อมต่อที่สำคัญต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจ การคมนาคมภายในประเทศ ซึ่งสามารถช่วยยกระดับความเจริญให้กับประชาชนในพื้นที่ และยังเป็นจุดเด่นในการนำนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในท้องถิ่นทั้ง 5 ภูมิภาคของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ขอส่งความห่วงใยไปถึงประชาชน ตรวจเช็กสภาพรถก่อนออกเดินทาง และระมัดระวังการใช้รถใช้ถนน ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งคัด เพื่อความสะดวกปลอดภัยในการเดินทาง และไปสู่จุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ

ด้วยความห่วงใยทางกระทรวงคมนาคม ขอให้ผู้ขับขี่พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ฝืนร่างกาย หากอาการเหนื่อยล้าให้จอดพักในจุดท่องเที่ยวหรือจุดพักรถตามสายทาง รวมทั้งตรวจสอบสภาพรถให้มีความพร้อมสำหรับเส้นทางภูเขา ที่สำคัญขอให้ใช้เกียร์ต่ำในช่วงทางลงเขา และหากพบว่าระบบเบรกมีปัญหาหรือได้กลิ่นไหม้ ขอให้จอดพักบริเวณจุดจอดรถฉุกเฉิน อาทิ กม. ที่ 40+142 หรือ 39+142 บริเวณด่านตรวจอุทยาน จุดที่ 2 จุดพักรถหมวดทางหลวงจอมทอง กม. ที่ 30+700 และบริเวณทางเข้าน้ำตกต่าง ๆ ตลอดสายทาง

ได้ฤกษ์!! 'มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน' เปิดวิ่งฟรี 80 กม.  ดีเดย์ 28 ธ.ค.นี้ อนุญาตเฉพาะรถ 4 ล้อเท่านั้น

(7 ธ.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครนครราชสีมา และความพร้อมที่จะเปิดให้บริการช่วงสีคิ้ว - นครราชสีมา ภายหลังตรวจติดตามฯ และรับฟังบรรยายสรุปข้อมูลโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครนครราชสีมา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป จะเปิดใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 หรือ มอเตอร์เวย์ M6 หรือ ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ ฟรีตลอดจนกว่าการก่อสร้าง ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเก็บค่าผ่านทางในปี 2568 พร้อมสั่งการให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง เปิดใช้ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ตอน 24 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ถึง ตอน 40 อำเภอเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา แบบไปกลับ 4 ช่องจราจร ระยะทาง 77.493 กิโลเมตร เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อเท่านั้น ตลอด 24 ชั่วโมง และให้มีจุดบริการห้องน้ำ 1 จุด ช่วง อำเภอปากช่อง - อำเภอสีคิ้ว ที่ กม.147 ทั้งขาเข้าและขาออก

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมทางหลวง กำชับสำนักงานทางหลวง และแขวงทางหลวง ที่ดูแล ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ มอเตอร์เวย์ M6 ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้เส้นทาง ปรับปรุงเส้นทางให้เกิดทัศนวิสัยในการมองเห็นชัดเจน มีการจัดตั้งศูนย์บริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวก โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ และเอกชนในพื้นที่ ติดตั้งไฟฟ้าส่องแสงสว่างตลอดเส้นทาง รวมถึงติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยเฉพาะติดตั้งป้ายระหว่างการก่อสร้าง ในช่วงที่ยังมีการก่อสร้าง ต้องมีป้ายเตือน ไฟเตือนให้เป็นไปตามระเบียบ และให้เพิ่มให้มากขึ้นในช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับความคืบหน้า ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 แผนงานความก้าวหน้าร้อยละ 92.588 ผลงานความก้าวหน้าร้อยละ 93.054 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.466 คาดว่าจะเปิดทดลองให้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ตั้งแต่ปากช่อง - ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร 

ทั้งนี้ งานโยธาจะก่อสร้างเสร็จแล้วปลายปี 2568 โดยจะทดลองวิ่งจริงและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ทั้ง 196 กิโลเมตรแบบเก็บค่าผ่านทาง ส่วนโครงการก่อสร้างกำแพงบังสายตาพร้อมวัสดุปิดคลุมแบบสมบูรณ์ 700 เมตร และกำแพงบังตารวม 1,000 เมตร ช่วง กม.140+040.000 ถึง กม.140+345.000 และช่วง กม.141+045.000 ถึง 141+740.000 ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

>> เส้นทาง ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ ทั้งโครงการ มีแนวเส้นทางดังนี้ 

แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ‘มอเตอร์เวย์โคราช-บางปะอิน’ มีระยะทางรวมประมาณ 196 กิโลเมตร โดยออกแบบให้มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และไปสิ้นสุดที่บริเวณทางเลี่ยงเมืองจังหวัดนครราชสีมาด้านตะวันตก อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ระยะทางก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 196 กม. หากเดินทางจาก กรุงเทพฯ - โคราช คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชม.

'เศรษฐา-สุริยะ' โชว์จุดแข็ง 'แลนด์บริดจ์' โน้มน้าวใจนักลงทุนญี่ปุ่น  ลด 'ต้นทุน-เวลา' ขนส่ง เล็งให้สัมปทานยาว 50 ปี คืนทุนใน 24 ปี

(18 ธ.ค. 66) ที่ห้องซากุระ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการเปิดสัมมนางานภาพรวมของโครงการแลนด์บริด์จ และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจร่วมเข้ารับฟัง โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมงาน ‘Thailand Landbridge Roadshow’ ในวันนี้ ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มขึ้น จากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค และในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก

นายกฯ ยังได้นำเสนอข้อมูลของโครงการว่าทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 40% รองลงมาเป็นทวีปยุโรปที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 38% ซึ่งการค้าขายส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก เนื่องจากขนส่งได้ในปริมาณมากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้นส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งช่องแคบมะละกาจัดได้ว่าเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลักในภูมิภาค โดยตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนร้อยละ 25 ของจำนวนตู้สินค้าที่ขนส่งทั่วโลก และการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก 

ซึ่งช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่ง และแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ทำให้ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นในท่าเรือต่างๆ ที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกามีอยู่ประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี และจำนวนเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกามีประมาณ 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ เพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า

นายกฯ กล่าวอีกว่า ไทยได้เห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ไทยจึงเชื่อว่าโครงการแลนด์บริด์จเป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญ ที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีความได้เปรียบของเส้นทางที่ประหยัดกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลาสำหรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ กับผ่านช่องแคบมะละกาแล้วนั้น พบว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง (Feeder) ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ (Feeder) ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่ แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 5 วัน

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าซึ่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งโดยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะมาถ่ายลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 3 วัน

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในกลุ่มสินค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกที่ แลนด์บริดจ์ ด้วยเรือ Feeder ไปยังประเทศผู้บริโภคต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง โดยโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วันดังนั้น เฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าว ผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของโครงการแลนด์บริดจ์ จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือต่าง ๆ ในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ และพิจารณา การเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่ หรือ Mainline จะเข้ามาเทียบท่าในโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต ทั้งนี้ ในส่วนของการขนส่งน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลาง พบว่าในปัจจุบันมีการขนส่งน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้ แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6% 

อีกทั้งในการลงทุนโครงการดังกล่าว นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร โดยผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคเกษตรกรรม และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม โดยคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

“ผมเชื่อมั่น และเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตในเศรษฐกิจร่วมกัน” นายกฯ กล่าว

ด้านนายสุริยะ กล่าวถึง 2 เหตุผลสำคัญ 1. ข้อได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของ Landbridge ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงข่ายคมนาคมในไทยได้รับการพัฒนาเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยเป็นประตูสำหรับการนำเข้าและส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

2. โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นการแก้ปัญหาความแออัดในช่องแคบมะละกา ซึ่งมีสาเหตุมาจากจำนวนเรือบรรทุกตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และเนื่องจากข้อจำกัดด้านความจุของช่องแคบ เรือจึงต้องเข้าคิวเป็นเวลานานก่อนที่จะสามารถผ่านช่องแคบ และเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง ดังนั้น โครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะทาง ลดเวลา และลดต้นทุนการขนส่ง

นายสุริยะ กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินโครงการ ได้มีการวางแผนการพัฒนาทั้งโครงการเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. 2025 ถึง ค.ศ. 2040 รูปแบบการหาผู้มาลงทุนและดำเนินการจะเป็นการประมูลแบบนานาชาติ(International Biding) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เป็นสัญญาเดียว ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่มาดำเนินการโครงการ ต้องเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการและบริหารท่าเรือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม โดยไทยจะออกกฏหมายใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการและพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะ การอำนวยความสะดวกการจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและจากการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนโครงการดังกล่าวผู้ลงทุนจะคืนทุนใน 24 ปี โดยคิดจากรายได้ของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น ยังไม่รวมผลตอบแทนผลตอบแทนที่จะมาจากด้านอื่นๆไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่นหลายรายคุ้นเคยในประเทศไทยโครงการนี้จะทำให้น่าลงทุนยิ่งขึ้น และการลดโชว์ในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางขนส่งตู้สินค้าทางทะเลของภูมิภาค และอาจเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top