Saturday, 5 July 2025
กระทรวงคมนาคม

'สุรพงษ์' เคาะ!! เซ็นสัญญารับเหมาช่วงสร้างรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ต.ค.นี้ ไม่รอผล 'ผ่าน-ไม่ผ่าน' มรดกโลก ต้องก่อสร้างต่อไปตามเดิม ไม่มีการย้ายแนว

(9 ก.ย. 67) นายสุรพงษ์​ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ว่า จากงานโยธาทั้งหมด 14 สัญญา ขณะนี้ยังเหลืออีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ที่มีประเด็นสถานีอยุธยา ซึ่งแนวทางขณะนี้คือต้องเดินหน้าลงนามสัญญาก่อสร้างที่ได้ประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกไว้นานแล้ว โดยหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ ชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ตนจะนำเรื่องนี้หารือกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อตัดสินใจ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในเดือน ต.ค. 2567

ส่วนกรณีผลกระทบมรดกโลกช่วงสถานีอยุธยา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการศึกษารายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) เสร็จแล้ว และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดส่งรายงานให้ยูเนสโกตามขั้นตอนครบถ้วนแล้ว การปรับแบบและดำเนินการตามที่ยูเนสโกร้องขอเพื่อไม่ให้กระทบต่อความกังวล เช่น มีการปรับลดความสูงโครงสร้างจาก 19 เมตร เหลือ 17 เมตรแล้ว แนวเส้นทางอยุธยาสร้างบนเขตทางรถไฟ ที่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก แต่อยู่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตร และมีแม่น้ำป่าสักคั่นอยู่ เป็นบับเบิลโซน

“ไม่ว่าผลมรดกโลกจะพิจารณาออกมาอย่างไร จะผ่านหรือไม่ผ่าน โครงการรถไฟความเร็วสูงสายนี้ก็ต้องก่อสร้างต่อไปตามเดิม ไม่มีการย้ายแนว เพราะจะทำให้งบประมาณเพิ่มและต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 10 ปี จึงเป็นเหตุผลที่ต้องตัดสินใจลงนามสัญญาก่อสร้าง เพราะไม่ว่าทางมรดกโลกจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องก่อสร้าง และไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนมรดกโลก เพื่อลดความเสี่ยงไปครบทุกอย่างแล้ว เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา และที่ต้องหารือกับนายกฯ ก่อนเพราะว่าเรื่องนี้มีหน่วยงานและกระทรวงอื่นเกี่ยวข้องด้วย” นายสุรพงษ์กล่าว

สำหรับสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้อนุมัติการสั่งจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ไว้แล้ว ซึ่งในเงื่อนไขให้ก่อสร้างแนวเส้นทางก่อน เว้นสถานีไว้รอเรื่องมรดกโลก และเมื่อปรับลดขนาดสถานีลงจะทำให้ค่าก่อสร้างลดลงไปด้วย

ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. ที่มีประเด็นโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น ในส่วนของรถไฟไทย-จีน ตกลงที่ปรับสเปกลดความเร็วจาก 250 กม./ชม. เป็น 160 กม./ชม. ในช่วงดังกล่าว ส่วนการก่อสร้างตามสัญญาทางอีอีซี โดยบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) เป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเดินหน้าเร็ว ๆ นี้

ขณะที่สัญญา 3-2 (งานก่อสร้างอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง) ซึ่งเกิดอุบัติเหตุถล่มทรุดตัวระหว่างก่อสร้างนั้น งานอุโมงค์สัญญานี้มีการก่อสร้างเร็วกว่าแผน คือ ทำได้ 70% ขณะที่แผนกำหนด 50% ยังไม่น่ากังวล

นายสุรพงษ์กล่าวว่า นอกจากปัญหาทางการก่อสร้างแล้วยังพบว่างานบางสัญญาที่ล่าช้าเพราะผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง ซึ่งจะให้ รฟท. เชิญผู้รับเหมาเหล่านั้นมาพูดคุยหาทางแก้ปัญหา เช่น ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไรเพื่อให้เข้าพื้นที่ก่อสร้างให้เร็วที่สุด ขณะนี้แผนงานและเป้าหมายงานโยธาทั้ง 14 สัญญาจะต้องแล้วเสร็จต้นปี 2571

“ให้ รฟท.ประชุมใหญ่งานโยธา 14 สัญญาเอามาอัปเดตแก้ปัญหาอุปสรรคให้หมด และจัดทำไทม์ไลน์งานโยธาให้แล้วเสร็จในเวลาเดียวกัน เพื่อให้วางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ แต่จากนี้ต้องทำงานเป็นทีม ซึ่งหลังโยธาเสร็จระบบจะทดสอบประมาณ 1 ปี หรืออาจจะเร่งรัดกว่านั้น เป้าหมายอยากเปิดเฟสแรกกลางปี 2571

ส่วนโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท หลังแถลงนโยบายที่รัฐสภาเสร็จจะเร่งนำเสนอเข้า ครม.ได้ ตามแผนคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในต้นปี 2568 ระหว่างเดือน ก.พ. 68 ถึง ต.ค. 2568 (ระยะเวลา 9 เดือน) เริ่มก่อสร้างโครงการฯ เดือน พ.ย. 2568 คาดแผนงานใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ย. 2574

นายสุรพงษ์กล่าวถึงแผนการเปิดและเปิดเดินรถว่า รฟท.ตั้งงบปี 68 ประมาณ 10 ล้านบาทเพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบเดินรถที่เหมาะสม ใช้ระยะเวลาศึกษา 6 เดือน คาดว่าเดือน มี.ค. 2568 จะเห็นภาพชัดเจนว่าจะเดินรถรูปแบบใดเหมาะสมที่สุด รวมถึงอัปเดตเทคโนโลยีให้เป็นปัจจุบันที่สุดด้วย เพราะรถไฟไทย-จีน ดีเลย์ จากแผนระบบและเทคโนโลยีที่เลือกไว้ก่อนหน้านี้อาจจะไม่เหมาะกับปัจจุบันแล้ว เบื้องต้นน่าจะเป็นรูปแบบ PPP เข้ามาบริหารจัดการเดินรถและซ่อมบำรุงตลอดเส้นทางตั้งแต่กรุงเทพฯ -นครราชสีมา-หนองคาย เพราะ รฟท.มีข้อจำกัดทางด้านบุคลากรรถไฟ และประสบการณ์

สำหรับมติ ครม.เมื่อปี 2560 ที่ให้กระทรวงคมนาคมศึกษา องค์กรพิเศษเพื่อเดินรถ และระบบที่เป็นข้อตกลงผูกพันจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งบางเรื่องต้องไปต่อ แต่บางเรื่องอาจต้องอัปเดตเทคโนโลยี แต่ยังเป็นมาตรฐานจีน เพราะเส้นทางนี้ต้องเชื่อมต่อสปป.ลาว และจีนเป็นโครงข่าย

'สุริยะ' สั่ง!! 'กรมเจ้าท่า' นำเรือพระราชทานเร่งช่วยเหลือเชียงราย 24 ชั่วโมง พร้อมลำเลียงอาหารและน้ำดื่มเข้าช่วยผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

(12 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำชับให้กรมเจ้าท่า นำกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยเรือท้องแบนพระราชทานและยานพาหนะต่าง ๆ ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง 

สำหรับการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยวันนี้ (12 ก.ย. 67) บริเวณบ้านน้ำลัด ตำบลริมกก  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีประชาชนติดอยู่ภายในประมาณ 100 กว่าคน มีนายภูเมศ สุขม่วง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยกรมเจ้าท่า ภาค 1 ได้นำเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่า พร้อมด้วย เรือพระราชทาน เรือเจ็ทสกี และรถยนต์ เข้าสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นจังหวัดเชียงราย ลำเลียงอาหารและน้ำดื่ม อย่างเร่งด่วน โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ในการเข้าช่วยเหลือของศูนย์ฯ ภาค 1 จำนวน 35 คน เรือพระราชทาน 2 ลำ เรือท้องแบน 1 ลำ เรือเจ็ทสกี 3 ลำ รถบรรทุกหกล้อมีเครนยก 1 คัน รถกะบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 8 คัน 

- สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 กำลังพล 2 คน รถ 1 คัน
- สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย กำลังพล 15 คน เรือเจ็ทสกี 1 ลำ รถ 3 คัน
- สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ กำลังพล 4 คน เรือเจ็ทสกี 1 ลำ รถ 1 คัน
- สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ กำลังพล 3 คน เรือท้องแบน 1 ลำ รถ 1 คัน
- สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพิษณุโลก  กำลังพล 3  เรือเจ็ทสกี 1 ลำ รถ 1 คัน
- สำนักงานและพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 คน 8 เรือพระราชทาน 2 ลำ รถ 2 คัน 

สำหรับพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง

'สุริยะ' ไฟเขียว!! ที่พักริมทางศรีราชา 121 ไร่บนมอเตอร์เวย์พัทยา ต้นแบบที่พักริมทางครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย

(23 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ‘ช่วงชลบุรี-พัทยา’ ระหว่างกรมทางหลวง และบริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง ในฐานะตัวแทนภาครัฐ กับตัวแทนภาคเอกชน ประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้แทนบริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด, บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด 

“ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานที่พักริมทางสู่ระดับสากล โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตามนโยบายคมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสและการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่มีคุณภาพให้กับประชาชน พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการเติมเต็มประสบการณ์การเดินทาง เพิ่มความสุขและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง” 

ถัดมา สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา เป็นโครงการที่พักริมทางขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณ กม. 93+500 ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรี) กับทางแยกต่างระดับหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

รูปแบบมีการแบ่งพื้นที่บริการเป็น 2 ฝั่ง ทิศทางฝั่งขาออกกรุงเทพฯ มีพื้นที่ 62 ไร่ ทิศทางฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ มีพื้นที่ 59 ไร่ ปัจจุบันมีปริมาณจราจรผ่านพื้นที่โครงการมากกว่า 100,000 คันต่อวัน

โครงการนี้นับเป็นที่พักริมทางแห่งแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการในรูปแบบ PPP โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ นำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มาบริหารจัดการ และดูแลรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกของที่พักริมทางอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับรายละเอียดสัญญาสัมปทาน PPP เป็นการลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ คือ กรมทางหลวงและภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศ ประกอบด้วย บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด

เงื่อนไขสัญญามีระยะเวลาดำเนินงาน 32 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ หรือ 2 เฟส ดังนี้

เฟสที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง ระยะเวลา 2 ปี โดยเอกชนมีหน้าที่ในการจัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างพัฒนาที่พักริมทาง และจัดให้มีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในพื้นที่โครงการตามข้อกำหนด

เฟสที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษาระยะเวลา 30 ปี เมื่อโครงการเปิดให้บริการ เอกชนมีหน้าที่บริหารจัดการ ดูแลและบำรุงรักษาที่พักริมทาง ตลอดจนอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เดินทาง โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ที่กำหนด

ด้าน ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า ในนามบริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาให้เป็นต้นแบบของที่พักริมทางระดับโลก

และเป็น Landmark แห่งใหม่ของประเทศไทย มีสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่หลากหลาย

การออกแบบโครงการยึดหลัก Universal Design ผสมผสานนวัตกรรมเข้ากับแนวคิดอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมสะอาด เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการในระยะยาว

อีกหนึ่งจุดเด่นของโครงการ คือ อาคารยกระดับคร่อมเหนือมอเตอร์เวย์ (Crossover) พื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตร เชื่อมทั้งสองฝั่งของโครงการ รองรับการใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยออกแบบให้มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อสร้างความประทับใจและดึงดูดผู้ใช้บริการให้แวะพักมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ภายหลังจากลงนามสัญญาวันนี้ กรมทางหลวงจะเร่งรัดเอกชนให้เริ่มออกแบบเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการภายในปี 2567 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วน เช่น ลานจอดรถ ห้องสุขา และพื้นที่พักผ่อนในปี 2568

ตามแผนแม่บท คาดว่าจะสามารถเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2569 นี้

‘สุริยะ’ เผย!! รถไฟเส้นทางสายเหนือเปิดให้บริการแล้ว หลังเร่งเข้าซ่อมแซมเส้นทางที่เสียหายตลอด 24 ชม.

(25 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ได้สั่งการให้การรถไฟฯ เข้าดำเนินการซ่อมแซมทางรถไฟที่ได้รับความเสียหายอย่างเร่งด่วน เพื่อกลับมาให้บริการแก่ประชาชนให้สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุดนั้น ล่าสุดทางการรถไฟฯ สามารถซ่อมแซมทางที่เสียหายได้สำเร็จ และพร้อมกลับมาเปิดเดินรถเส้นทางสายเหนือตั้งแต่สถานีลำปาง-เชียงใหม่ได้ตามปกติแล้ว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การรถไฟฯ เร่งระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเข้าดำเนินการซ่อมแซมทางรถไฟที่ได้รับความเสียหายอย่างเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง โดยทำการปักรางเหล็ก เพื่อป้องกันดินสไลด์เพิ่มเติม พร้อมนำดินและหินมาเกลี่ยอัดลงใต้พื้นทางให้เต็มจนเสมอระดับทาง จากนั้นจะใช้หน่วยรถบีบอัดหินอีกครั้ง เพื่อเสริมความมั่นคงของทางรถไฟ พร้อมกับทำการตรวจสอบสภาพทางเพื่อความปลอดภัย ก่อนกลับมาเปิดให้บริการเดินรถในเส้นทางสายเหนือได้ตามปกติอีกครั้ง

ขณะที่นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประกาศงดเดินขบวนรถ ระหว่างสถานีลำปาง-เชียงใหม่เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากเหตุดินสไลด์บริเวณหน้าปากทางเข้าอุโมงค์ขุนตาน และน้ำป่าเซาะหินรองรางระหว่างสถานีแม่ตานน้อย-ขุนตาน-ทาชมภู นั้น ขณะนี้พร้อมกลับมาเปิดเดินรถได้ตามปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมดูแลการเดินทางของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ และเตรียมแผนป้องกัน ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งตรวจสอบเส้นทางรถไฟเพื่อความปลอดภัยในการเดินรถด้วย 

สำหรับผู้โดยสารที่ประสงค์จะเดินทาง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอด 24 ชั่วโมง

'สุริยะ' หารือ 'Huawei' ดึงเทคโนโลยี AI แก้ปัญหาการจราจรติดขัด พร้อมช่วยผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง

(27 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือกับคณะผู้บริหารบริษัท Huawei ณ Huawei Da Vinci Exhibition Hall สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายสุริยะ เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมร่วมหารือกับคณะผู้บริหารบริษัท Huawei ในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในประเทศไทย ที่มีความยากลำบากในการแก้ไข ทั้งนี้หากเทคโนโลยีของ Huawei สามารถช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง มีเทคโนโลยีในการทำนายภัยพิบัติและเตรียมการล่วงหน้าได้ ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการส่งเสริมไทยพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล และหาก Huawei สนใจจะเข้ามาพัฒนาระบบดังกล่าว กระทรวงคมนาคมมีความยินดีที่จะให้ทั้งสองฝ่ายจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศไทยต่อไป

Mr. Richard Liu ผู้บริหารบริษัท Huawei กล่าวว่า ภายหลังประเทศไทยประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารบริษัท Huawei ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิสัยทัศน์ดังกล่าว จึงได้มีการเดินทางเข้ามาศึกษาและเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยหลายหน่วยงาน และนำเสนอเทคโนโลยีระบบ IoT (Internet of thing) ระบบ Cloud และ AI ของ Huawei ซึ่งได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการจราจรทางบก น้ำ ราง และอากาศ ตลอดจนตรวจจับหรือคาดการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการใช้งานระบบดังกล่าวในมณฑลต่าง ๆ ของประเทศจีน โดยระบบดังกล่าวลดการใช้แรงงานคนไปได้ถึง 66% ลดต้นทุนได้ถึง 30% และลดการใช้พลังงานได้ถึง 17% 

ทั้งนี้ บริษัท Huawei ประสงค์จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวของภูมิภาค ผ่านระบบ Smart Plan ซึ่งจะลดระยะเวลาเตรียมการในการขนส่งจากหลักชั่วโมงเหลือเพียงไม่กี่นาที Intelligent Security Protection เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการขนถ่ายสินค้า Ultra remote control ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระบบต่าง ๆ ได้มากถึง 80% และระบบ Intelligent horizontal transportation

ขณะเดียวกันจะช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 10% ควบคู่ไปกับระบบอัตโนมัติ ที่สามารถทำให้การขนย้ายสินค้ามีประสิทธิภาพได้ตลอด 24 ชม. โดยดำเนินการผ่านระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนกลางที่รวบรวมข้อมูล และถ่ายทอดสถานการณ์สดจากถนน ท่าเรือสนามบิน และสถานีรถไฟ ผ่านศูนย์ Transportation Operation Coordination Center (TOCC) เพื่อเชื่อมโยงทุกช่องทางการขนส่งเข้าไว้ด้วยกัน และวิเคราะห์โดย AI เพื่อบริหารจัดการการจราจรและการขนส่งให้มีความคล่องตัว ซึ่งจะสอดคล้องนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการเสริมสร้างด้าน Connectivity ในการขนส่ง อีกทั้ง สอดรับกับความต้องการของรัฐบาลไทยในการยกระดับขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติในปัจจุบัน

'สุริยะ' เล็งเพิ่มมาตรการป้องกันไฟไหม้รถโดยสาร พร้อมสั่งระงับใบอนุญาตฯทันที – ลั่นเอาผิดขั้นสูงสุดหากผิดจริง

(1 ต.ค.67) 'สุริยะ' มอบหมาย 'สุรพงษ์' จัดประชุม ขบ. ด่วน เล็งเพิ่มมาตรการป้องกัน ลั่นต้องไม่เกิดเหตุซ้ำ พร้อมสั่งระงับใบอนุญาตผู้ประกอบการทันที หากพบผิดจริงจะดำเนินการขั้นสูงสุด เตือน! รถโดยสารทุกคัน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยผู้โดยสาร 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์รถบัสชั้นเดียวไฟไหม้ บริเวณหน้าเซียร์รังสิต โดยบนรถบัสคันที่เกิดอุบัติเหตุมีนักเรียน จำนวน 39 คน และครู จำนวน 6 คน สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อเท็จจริง เบื้องต้นคาดว่าภายในวันนี้จะได้ข้อสรุปข้อมูลเบื้องต้น 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เรียกกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประชุมโดยด่วนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ รวมถึงเตรียมเพิ่มแนวทางมาตรการการป้องกันที่เข้มข้นขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำอีก และจะทำการถอดบทเรียนอย่างละเอียด เพื่อนำมาแก้ไขกระบวนการดำเนินงานอย่างถูกต้อง ซึ่งจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารในระดับสูงสุด

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อว่า สำหรับการหาข้อเท็จจริง ในขณะนี้ หากพบว่าเป็นความผิดของผู้ประกอบการขนส่ง นางสาวปาณิสรา ชินบุตร รถโดยสารคันหมายเลขทะเบียน 30-0423 สิงห์บุรี จะดำเนินการระงับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทันที และจะดำเนินตามข้อกฎหมายระดับสูงสุด ซึ่งขณะนี้ได้สั่งระงับใบอนุญาตผู้ประกอบการชั่วคราว อยู่ในช่วงของการสอบสวนถึงอุบัติเหตุเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเตือนถึงผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ต้องคำนึงถึงด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก สำหรับการตรวจสอบรถโดยสารคันดังกล่าว ขณะนี้ได้สั่งการให้วิศวกรเข้าตรวจสอบ พร้อมทั้งเช็กอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านความปลอดภัยอย่างละเอียด 

นายจิรุตม์ กล่าวต่อถึงแนวทางการเยียวยานั้น รถโดยสารชั้นเดียวคันดังกล่าวมีประกันภัยตามข้อกฎหมาย โดยภายหลังจากนี้จะดำเนินการเยียวยาผู้ประสบเหตุทันที และจะมีการติดตามสถานการณ์เพื่อดูแลสภาพจิตใจและสภาพร่างกายอย่างใกล้ชิด

‘สุริยะ’ นั่งหัวโต๊ะขีดเส้น 2 สัปดาห์หาสาเหตุอุบัติเหตุสลด หาแนวทางป้องกันอุบัติเหตุซ้ำในอนาคต เผยเบื้องต้นเยียวยากรณีเสียชีวิตขั้นต่ำ 1 ล้านบาท

(2 ต.ค. 67) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุม 109 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เกิดเพลิงไหม้ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ว่า 

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจอย่างมาก โดยน.ส.แพทองธารชินวัตร นายกรัฐมนตรี ห่วงใยและเศร้าสลดต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปกำชับการทำงาน ส่วนเดียวกับกระทรวงคมนาคมจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างไร ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการตรวจสอบ 

โดยมีตัวแทนจาก กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และจะเชิญสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นกรรมการร่วม ตรวจสอบสาเหตุและโครงสร้างรถ การปรับปรุงสำหรับรองรับผู้โดยสารและตัวถังประกอบ 

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนั้นจะให้มีการสาธิตแนะนำการใช้อุปกรณ์และประตูทางออกในกรณีฉุกเฉิน คล้ายกับการขึ้นเครื่องบิน และจะมีมาตราบังคับให้ผู้ประกอบการรถโดยสารอธิบายให้ผู้โดยสารรับทราบ และจะมีอุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างไร เพื่อลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุในอนาคต รวมถึงเรื่องของการติดตั้งก๊าซ กลับรถโดยสารสาธารณะให้เข้มข้นด้วยหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า ตรวจสอบทั้งหมดทุกเรื่อง 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีมาตรการควบคุมการใช้รถบัส 2 ชั้น และรถขนาดสูงซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหลายครั้งอย่างไร นายสุริยะ กล่าวว่า เหตุไฟไหม้ครั้งนี้เป็นรถบัสชั้นเดียว ที่จะต้องไปหามาตรการให้เกิดความปลอดภัยกับผู้โดยสาร ส่วนรถ 2 ชั้น มีมาตรการกำกับดูแลอยู่แล้ว เช่นกำหนดให้วิ่งในเขตเมือง โดยจำกัด ไม่ให้วิ่งระหว่างเมือง โดยมาตรการที่จะออกมาบังคับใช้จะทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องตรวจสอบอายุของรถทั่วประเทศเนื่องจากมีรายงานว่ารถคันเกิดเหตุใช้งานมากกว่า 50 ปี และมีการดัดแปลงตัวถังและเครื่องยนต์ นายสุริยะ กล่าวว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องตั้งกรรมการตรวจสอบ ทุกประเด็นทั้งสภาพรถ การบรรทุกผู้โดยสาร นอกจากนี้จะครอบคลุมถึงรถประเภทอื่นทั้งหมดรวมถึงรถตู้โดยสารด้วย

เมื่อถามว่า มีข้อสังเกตว่ารถคันดังกล่าวได้ดัดแปลงติดตั้งก๊าซ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทประกันภัย ใช้เป็นข้ออ้างไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน นายสุริยะ กล่าวว่า กรมขนส่งทางบกรายงานว่าบริษัทประกันภัย ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องจ่ายเงินในเบื้องต้นจะจ่ายให้ผู้เสียชีวิตทั้ง 23 ราย ขั้นต่ำรายละหนึ่งล้านบาท และเชื่อว่าบริษัทประกันภัยจะไม่อ้างสาเหตุมาเพื่อไม่จ่ายเงินเพราะเหตุการณ์นี้สะเทือนขวัญประชาชน

‘สุริยะ’ เล็งตั้งกองทุน 2 แสนล้าน ซื้อรถไฟฟ้าคืนทุกสาย ปูทางค่าโดยสาร 20 บาททุกสาย คาดเริ่มได้ใช้ ก.ย.2568

‘สุริยะ’ เตรียมตั้งกองทุน 2 แสนล้าน ซื้อรถไฟฟ้าคืนจากเอกชนทุกสาย ปูทางค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ยันใช้งานได้ภายในเดือน ก.ย.2568

เมื่อวันที่ (16 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 นั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังร่วมกันไปศึกษา แนวทางการดำเนินการ นโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายและการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าเพื่อเป็นการลดภาระให้กับประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อเป็นการลดมลพิษทางอากาศ

โดยที่ประชุม ครม.ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาเรื่องแหล่งเงินทุน และให้ทั้ง 2 กระทรวง คำนึงถึงเรื่องของผลประโยชน์ที่จะได้รับ และจะต้องไปศึกษาว่าจะต้องใช้วิธีการอย่างไรมีความคุ้มค่าทางการเงินอย่างไร และแหล่งเงินจะมาจากที่ใด เพื่อให้ประชาชนรับผลประโยชน์มากที่สุดโดยจะต้องรีบดำเนินการโดยเร็ว

“กระทรวงการคลังคงต้องกลับไปจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาการตั้งกองทุน 200,000 ล้านบาท ในการซื้อรถไฟฟ้าทุกสายคืน เพื่อให้สามารถกำหนดราคาค่าบริการที่ 20 บาททุกสายได้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องแหล่งเงินและวิธีการซื้อคืน ซึ่งเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่น่ามีปัญหา” นายสุริยะกล่าว

และยังยืนยันว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเกิดขึ้นจริงแน่นอน และจะสามารถเปิดให้บริการทุกเส้นทาง ประชาชนจะสามารถใช้งานได้ภายในเดือนกันยายน 2568 โดยหลังจากที่ได้เริ่มดำเนินการเก็บค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสายมาแล้ว ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง ซึ่งทั้ง 2 สายเป็นการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจจึงสามารถทำได้ทันที และผลลัพธ์ที่ได้ ทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 50% ซึ่งถือว่าเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีต้องการจะให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกสาย ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือให้สัมปทานกับเอกชน

นายสุริยะกล่าวว่า ในส่วนแนวทางของกระทรวงคมนาคมนั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการศึกษาเบื้องต้นกรณีการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

ซึ่งการที่รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง มีอัตราค่าโดยสารในราคา 20 บาทตลอดสายได้ทั้งหมดทุกสีนั้น หากกระทรวงการคลังดำเนินการตั้งกองทุนเพื่อไปซื้อรถไฟฟ้าคืนได้เรียบร้อยแล้ว ก็จะใช้วิธีการซื้อคืนได้เลย แต่หากกระทรวงการคลังยังดำเนินการไม่ทัน กระทรวงคมนาคมจะนำแนวทาง จะใช้เงินจากส่วนแบ่งรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในเส้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มาชดเชยค่าโดยสารให้ประชาชนระหว่างที่รอผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ

นายสุริยะกล่าวว่า ส่วนกรณีการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ภาพรวมทั้งหมด คงต้องไปศึกษาให้เสร็จแล้วว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากที่ไหน และให้ทั้งสองกระทรวงเร่งหารือกัน

โดยทางกระทรวงการคลังจะพิจารณาแนวทาง การจัดตั้งกองทุนต่างๆ และแหล่งเงินของกองทุน ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง (Congestion charge) ซึ่งเรื่องนี้ทาง สนข.ได้มีการศึกษา โดยความร่วมมือกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ประจำประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ซึ่งมีการสำรวจถนนที่อยู่ในใจกลาง กทม.ที่เส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้สมบูรณ์ และคาดว่าจะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง ได้ประมาณ 6 เส้นทาง ซึ่งพบว่ามีปริมาณจราจรรวมกันประมาณ 700,000 คัน/วัน สมมุติหากจัดเก็บค่าธรรมเนียมในราคาคันละ 50 บาท ตรงนี้ตนประเมินเบื้องต้นว่าจะมีรายได้เข้ากองทุนเพียงพอสำหรับการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ นายสุริยะกล่าวว่า การตั้งกองทุนจะต้องมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำเป็นจะต้องศึกษาให้ดีเพราะจะต้องมีแหล่งเงินที่จะต้องจัดเก็บรายได้ และนำเงินไปซื้อรถไฟฟ้าคืน แต่ทั้งนี้ก็ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อไปดำเนินการ เรื่องนี้พรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นด้วยซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เชื่อว่าพรรคร่วมจะไม่มีปัญหา เพราะถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงร่วมกัน

‘สุริยะ’ เผย 23 ต.ค. นี้ ฟรี!! ค่าทางด่วน 61 ด่าน ลดค่าครองชีพ-อำนวยความสะดวกให้ประชาชน

(22 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกความปลอดภัยในการเดินทางและเพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้พี่น้องประชาชน 

ตนได้มอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในวันพุธที่ 23 ตุลาคม 2567 เนื่องในโอกาสวันปิยมหาราช จำนวน 1 วัน 3 สายทาง รวม 61 ด่าน ดังนี้ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) 20 ด่าน ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) 31 ด่าน และทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน - ปากเกร็ด) 10 ด่าน

สำหรับยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ปรากฏในสัญญาสัมปทานฉบับแก้ไขใหม่ระหว่าง กทพ. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในวันหยุดและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน รวมทั้งช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอีกด้วย

ทั้งนี้ กทพ. ขอเชิญชวนผู้ใช้บริการบัตร Easy Pass ลงทะเบียนเข้าระบบสะสมแต้ม EXAT Reward ผ่านทาง EXAT Portal Application หรือ www.thaieasypass.com เพื่อรับสิทธิพิเศษมากมาย รวมถึงแลกเงินคืนเข้าบัตร Easy Pass และลงทะเบียนปรับปรุงข้อมูลด้วยตนเองผ่านทางแอปฯ และเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อยกระดับบัตร Easy Pass เป็น Easy Pass Plus สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ทางพิเศษ (EXAT Call Center) โทร. 1543 ตลอด 24 ชั่วโมง

คาดผู้โดยสารปี 67 แตะ 120 ล้าน AOT ยกระดับการให้บริการ นำระบบไบโอเมตริกมาใช้ทดแทนการเช็กอินใน 6 สนามบิน

(30 ต.ค. 67) นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทอท. สร้างประสบการณ์การให้บริการท่าอากาศยานที่ทันสมัย นำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร 

โดยพัฒนาและทดสอบระบบฯ ให้มีความพร้อมใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว รวมทั้งช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวของแต่ละจุดบริการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ซึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เปิดให้ใช้งานสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ และในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 พร้อมใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล

สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการใช้งานระบบ Biometric สามารถลงทะเบียนใช้งานเมื่อมาเช็กอินที่สนามบินโดยมี 2 วิธี ได้แก่ 

1) เช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอิน ผู้โดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สายการบินให้ลงทะเบียนใบหน้าในระบบBiometric ผ่านเครื่องตรวจบัตรโดยสาร (เครื่อง CUTE) โดยระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ 

2) เช็กอินที่เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (เครื่อง CUSS) โดยหลังจากเช็กอินเสร็จแล้ว ให้ผู้โดยสารเลือกสายการบินที่เดินทาง ต่อด้วยเลือก “Enrollment” จากนั้นสแกน barcode จากบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) เสียบหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประชาชน และสแกนใบหน้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถือเป็นการเสร็จสิ้นการลงทะเบียน ซึ่งระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วถือว่าผู้โดยสารได้ให้ความยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลแล้ว เมื่อผู้โดยสารจะโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (เครื่อง CUBD) ตลอดจนผ่านจุดตรวจค้น รวมทั้งขั้นตอนขึ้นเครื่อง ไม่ต้องแสดง Passport และ Boarding Pass อีกต่อไป ทั้งนี้ เป็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูล Biometric สำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ Biometric จะช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้กับผู้โดยสารตั้งแต่การเช็กอินจนถึงการขึ้นเครื่อง โดยผู้โดยสารสามารถลงทะเบียนใบหน้าผ่านเครื่องเช็กอินและจุดบริการต่าง ๆ ทำให้ไม่จำเป็นต้องแสดงพาสปอร์ตและบัตรโดยสารในแต่ละจุดอีกต่อไป เนื่องจากระบบ Biometric สามารถรองรับและเชื่อมต่อกับระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง หรือ CUPPS (Common Use Passenger Processing System) ที่ ทอท. ได้ติดตั้งและใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ทั้ง 5 ระบบ ได้แก่ 

1) เครื่อง CUTE หรือเครื่องตรวจบัตรโดยสารซึ่งใช้งานโดยเจ้าหน้าที่สายการบิน 

2) เครื่อง CUSS หรือ เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ 

3) เครื่อง CUBD หรือเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ 

4) ระบบ PVS (Passenger Validation System) สำหรับตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร 

5) ระบบ SBG (Self-Boarding Gate) หรือระบบประตูทางออกขึ้นเครื่อง ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายอย่างสมบูรณ์

นายกีรติ ได้กล่าวถึงปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ว่า ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - กันยายน 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.01% และมีเที่ยวบินรวม 732,690 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 14.5% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 416,190 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 29.63% และเที่ยวบินภายในประเทศ 316,500 เที่ยวบิน ลดลง 0.73% โดยเฉพาะที่ ทสภ. มีผู้โดยสาร 60 ล้านคน เพิ่มขึ้น 24.04% และมีเที่ยวบิน 346,680 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 17.88% ทดม. มีผู้โดยสาร 29.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.25% และมีเที่ยวบิน 197,250 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 11.47% ทชม. มีผู้โดยสาร 8.82 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.14% และมีเที่ยวบิน 57,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.68% ทชร. มีผู้โดยสาร 1.9 ล้านคน ลดลง 1.96% และมีเที่ยวบิน 12,260 เที่ยวบิน ลดลง 3.37% ทภก. มีผู้โดยสาร 16.40 ล้านคน เพิ่มขึ้น 25.94% และมีเที่ยวบิน 98,710 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 19.97% และ ทหญ. มีผู้โดยสาร 3.03 ล้านคน ลดลง 5.14% และมีเที่ยวบิน 19,730 เที่ยวบิน ลดลง 5.84% ทั้งนี้ มีผู้โดยสารแยกตามสัญชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จากข้อมูลการจัดสรรตารางบินฤดูหนาว 2024/2025 (W2024/2025) ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีเที่ยวบินได้รับการจัดสรรเวลารวม 370,239 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากฤดูหนาวในปีที่ผ่านมา (W2023/2024 ) 22.1% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 222,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 33.1% เที่ยวบินภายในประเทศ 147,459 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.5% มีแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งระหว่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้น 23% และเส้นทางระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และฮ่องกง

สำหรับในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - กันยายน 2568) ทอท. คาดว่าจะผู้โดยสารมาใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง รวมกว่า 129.97 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 78.61 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.17% และผู้โดยสารภายในประเทศ ประมาณ 51.36 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.18% ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.32% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 453,750 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.02% และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 354,530 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.02% โดยเฉพาะที่ ทสภ. คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 64.44 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.40% และมีเที่ยวบินประมาณ 376,820 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.69% ทดม. มีผู้โดยสารประมาณ 33.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.91% และมีเที่ยวบินประมาณ 223,200 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 13.00%

ทอท. มุ่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าอากาศยานให้ทันสมัยทันต่อความต้องการของผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ทอท. ที่จะเป็นผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top