Wednesday, 1 May 2024
กกต

‘พิธา’ งานเข้า!! นักร้องตบเท้าแห่ยื่น กกต. สอบ 4 ประเด็น ชี้ เกี่ยวข้องกับมิติทางการเมือง เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง

(28 เม.ย. 66) ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ พรรคพลังประชารัฐ เดินทางมายื่นหลักฐานต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบ กรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ให้สัมภาษณ์ผ่ายรายการของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ถึงการร่วมงานศพคุณพ่อ ในช่วงรัฐประหาร​ เมื่อปี​ 2549

โดยนายเรืองไกร​ กล่าวว่า วันนี้จำเป็นต้องมายื่นร้องเรียน เพราะกรณีดังกล่าว เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2561 มาตรา 73 (5) และต้องการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะเกี่ยวข้องกับมิติทางการเมืองที่หาเสียง ทั้งที่ขณะนี้ก็อยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่กลับมีคำพูดให้เกิดประเด็นทางสังคม ซึ่งเมื่อนำบทสัมภาษณ์ในรายการของสรยุทธ ไปเทียบกับรายการของนางสุริวิภา​ กุลตังวัฒนา​ หรือ ‘หนูแหม่ม​’ ที่นายพิธา​ ได้ให้สัมภาษ​ณ์เมื่อปี 2552 ซึ่งพิธาก็ได้ออกมาบอกว่าเป็นข้อเท็จจริงทั้งคู่

นายเรืองไกร​ กล่าวว่า​ จึงต้องยื่นร้องต่อ กกต. ซึ่งมีทั้งสิ้น 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก เรื่องที่นายพิธา อ้างว่า นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ซึ่งความจริงแล้วขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ของนายทักษิณ ชินวัตร

ประเด็นที่สอง นายพิธาบอกว่า คุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ขณะที่นายพิธา ได้โชว์ภาพกระดานงานศพ กำหนดจัดงาน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2549 โดยมีเจ้าภาพเป็นภรรยาและบุตร

ประเด็นที่สาม นายพิธา บอกว่า ตนทำงานเป็นข้าราชการการเมือง ช่วยงานนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ แต่นายพิธา ชี้แจงว่า ขณะนั้นตนเรียนหนังสือที่บอสตัน ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกัน

ประเด็นที่สี่ นายพิธา บอกว่า ตนเองถูกอายัติเงินในบัญชี 2-3 เดือน และไม่สามารถนำเงินมาจัดงานศพคุณพ่อได้ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการควบคุมบัญชีต้องผ่านคำสั่งของ คมช. โดยขณะนั้นตนเองทำงานอยู่ที่ สตง.ไม่เคยเห็นรายชื่อของนายพิธาเข้าข่ายโครงการที่จะต้องตรวจสอบ

พร้อมกันนี้นายเรืองไกร ยังได้ยกคำ วินิจฉัยของ กกต. เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลท่าแลง เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ว่ามีการหาเสียงอันเป็นเท็จ ต้องถูกดำเนินคดี

“หากตรวจสอบคนอื่นได้ ตนเองก็ต้องตรวจสอบได้เช่นกัน ในฐานะเป็นบุคคลสาธารณะ กกต.ต้องรีบดำเนินการพรรคที่อ้างว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ต้องตรวจสอบกันเอง เรื่องแบบนี้ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมขอให้ตรงไปตรงมา ตนเองอยู่การเมืองมา เคยตรวจสอบแล้วทุกฝ่าย” นายเรืองไกร​ กล่าว

เมื่อถามว่า กังวลว่าจะถูกฟ้องอีกหรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า ไม่กลัว เพราะอย่างไรก็แล้วแต่ นายพิธาเป็นนักการเมืองมาแล้ว 4 ปี กรณีที่นายพิธาเคยฟ้อง คือ มาตรา 326 และ มาตรา 328 แต่มีมาตรา 329 คุ้มครอง ต่อมาทางกรรมการพรรคอนาคตใหม่บางท่านได้มาพูดคุยกับตน และในที่สุดเมื่อขึ้นศาล ทนายของพรรคก็ได้เจรจา และถอนไป ก็ขอบคุณ ตนร้องเรียนปกติ ถ้าวันนี้จะฟ้องอีก ตนก็ยินดี จะได้พิสูจน์ที่นายพิธาเคยระบุว่า ทุกคนควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่พอนายพิธาโดนเองกลับมาฟ้อง นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประชาชนควรได้รับทราบ

‘สกลธี’ จี้ กกต.เร่งสร้างความเข้าใจบัตรเลือกตั้ง เหตุ ปชช.ยังสับสน แนะ อย่าทำงานเน้นความสะดวกส่วนตน จนกระทบผู้ใช้สิทธิ์

(29 เม.ย. 66) นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงพื้นที่สวนพฤกษชาติคลองจั่น ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ร่วมกับนางนฤมล รัตนาภิบาล ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 14 (บางกะปิ-วังทองหลาง) หมายเลข 5 เพื่อพบปะประชาชน

โดยนางนฤมล กล่าวว่า ตนเป็น ส.ก.มา 3 สมัย จึงรู้ปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ดี เขตบางกะปิเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น จึงมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ขาดพื้นที่สีเขียว และปัญหาน้ำท่วมเพราะท่อตัน อีกทั้งยังมีการจราจรหนาแน่น ซึ่งแม้จะมีรถไฟฟ้าเข้ามา 2 เส้นทางคือสายสีส้มและสายสีเหลือง แต่ยังขาดการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกมากอย่างที่ควร

​“ปัญหาเหล่านี้จะหวังพึ่งท้องถิ่นอย่าง กทม.อย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีงบประมาณไม่พอ และบางปัญหาบางพื้นที่ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน หากดิฉันได้รับโอกาสให้เข้าไปทำงานในฐานะ ส.ส. จะสามารถประสานงานกับทุกหน่วยงานและแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ให้พี่น้องประชาชนได้มากกว่าเดิม จึงอยากขอโอกาสจากชาวบางกะปิ วังทองหลางด้วย” นางนฤมล กล่าว

‘กกต.’ แจ้ง!! ยกเลิกลงทะเบียน ‘เลือกตั้งนอกราชฯ’ ที่ซูดาน หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะรุนแรง ชี้ แต่สามารถใช้สิทธิในไทยได้

(29 เม.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ พิจารณาเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.นอกราชอาณาจักร ของเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้กำหนดให้วันที่ 28-29 เม.ย.เป็นวันออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักร ณ ที่เลือกตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม สาธารณรัฐซูดาน แต่เนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองทัพซูดานกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในกรุงคาร์ทูม ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.เป็นต้นมา อันเป็นเหตุให้การออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงคาร์ทูม สาธารณรัฐซูดาน ไม่สามารถกระทำได้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร จึงประกาศให้งดการออกเสียงลงคะแนน

‘กกต.’ ย้ำเตือน!! ห้ามขาย-แจกจ่าย-จัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ช่วงวันเลือกตั้ง 7 พ.ค.-14 พ.ค. หากฝ่าฝืนเจอโทษหนัก

(1 พ.ค.66) นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ในฐานะที่กำกับดูแลการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวันเลือกตั้งและวันที่ 7 พฤษภาคม เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า อยากขอย้ำเตือนและพึงระมัดระวังเรื่องการขาย จําหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้งระหว่าง เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้งและวันเลือกตั้งล่วงหน้า ตามที่มาตรา 147 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กำหนดไว้ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

'บิ๊กตู่' เผย ครม.เห็นชอบแก้ค่าไฟแพง ส่ง กกต.อีกครั้ง เชื่อ!! จะดำเนินการเร็วที่สุด อาจทันรอบบิล พ.ค.นี้ 

(2 พ.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาเรื่องการขอใช้งบกลางช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางเรื่องค่าไฟฟ้า จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาทแล้ว โดย ครม.ได้ให้ความเห็นชอบ และจะส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการพิจารณาต่อไปในเรื่องการใช้งบกลางหมื่นกว่าล้านบาท ส่วน กกต.จะส่งกลับมาทันหรือไม่นั้น เชื่อว่าจะเร็ว เพราะในเบื้องต้นก็ขอให้ทำถูกต้องตามขั้นตอน ให้ตรงกับมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญ เท่าที่รับทราบสิ่งใดที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนก็ไม่น่าจะมีปัญหา 

กกต. จัดสิ่งอำนวยความสะดวก ‘คนพิการ-ผู้สูงอายุ’  เพื่อให้ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

วันนี้ (2 พ.ค. 66) นายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการกกต. ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการอำนวยความสะดวกคนพิการและผู้สูงอายุ ศูนย์อำนวยการและประสานงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานกกต. กล่าวว่า สำนักงานกกต.ได้จัดเตรียมการอำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ภายใต้แนวคิดผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนต้องได้ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนี้

1. จัดทำสื่อคู่มือประชาชนรณรงค์การเลือกตั้ง ส.ส. (อักษรเบรลล์) เพื่อใช้ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.แก่ผู้พิการทางสายตา พร้อมจัดทำไฟล์เสียงคำบรรยายคู่มือประชาชนรณรงค์การเลือกตั้ง ส.ส. โดยสามารถสแกน QR Code เสียงบรรยายได้จากหน้าปกคู่มือประชาชนรณรงค์การเลือกตั้ง ส.ส. ตรงมุมด้านล่างซ้ายมือของคู่มือประชาชนรณรงค์การเลือกตั้ง ส.ส. (อักษรเบรลล์)

2. จัดทำวีดิทัศน์อินโฟกราฟิกและเพลงขับร้องโดยอรรณพ ทองบริสุทธิ์ ปอ AF 7 พร้อมล่ามภาษามือ เพื่อสื่อสารและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. 

3. สำนักงานกกต.จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ได้จัดทำป้ายไวนิลแนะนำผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยจะติดตั้งบริเวณด้านหน้าที่เลือกตั้งที่มองเห็นชัดเจน และติดตั้งภายในที่เลือกตั้งที่สามารถมองเห็นได้ในระดับสายตาเพื่อให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งรับทราบและสามารถจดจำข้อมูลของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ประกอบด้วย ข้อมูล ชื่อ-สกุล รูปถ่าย หมายเลขผู้สมัคร ตราสัญลักษณ์พรรคการเมือง 

4. สนง.กกต. ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดให้ความรู้ความเข้าใจในการอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยจัดทำสื่อวีดิทัศน์สาธิตการใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ พร้อมล่ามภาษามือ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีการถ่ายทำที่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านนนทภูมิ จังหวัดนนทบุรี ได้รับความร่วมมือจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน ทางสายตา และทุพพลภาพทางกาย มาร่วมแสดงและสาธิตในการถ่ายทำวีดิทัศน์ดังกล่าว วีดิทัศน์ดังกล่าวได้มีการเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของทั้งสองหน่วยงาน

นอกจากนี้ ในการลงคะแนนเลือกตั้ง สำนักงานกกต.ยังได้จัดให้มีการอำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุโดยในหน่วยเลือกตั้งปกติ จัดให้มีบัตรทาบสำหรับคนพิการทางสายตาและอำนวยความสะดวกอื่น ๆ โดยมีคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) รด.จิตอาสา ลูกเสืออาสา กกต. เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย เป็นผู้ช่วยเหลือในการใช้สิทธิลงคะแนน รวมทั้งยังจัดที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ โดยผู้ใช้สิทธิที่ลงทะเบียน ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ ณ ที่เลือกตั้งกลางที่กำหนดไว้ 26 แห่ง ใน 21 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 2,380 คน

‘สมาคมทนาย’ ติง กกต. ปรับปรุงการทำงานให้โปร่งใส-เป็นกลาง ชี้!! ใช้งบกลางอุ้มค่าไฟไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน เเต่เป็นการใช้หาเสียง

(3 พ.ค. 66) นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุว่า…

ตามที่ได้เกิดปัญหาความผิดพลาดเกี่ยวกับการทำงานและการจัดการเลือกตั้ง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังปรากฏข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนออย่างแพร่หลายนั้น สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่า กกต.มีเวลาในการเตรียมการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเพียงพอ เพราะเป็นการยุบสภาฯ และจัดการเลือกตั้งช้ากว่ากำหนดเดิมที่ กกต.เคยประกาศในกรณีรัฐบาลอยู่จนครบวาระ คือ ในวันที่ 7 พ.ค.2566 ถึง 7 วัน กกต.จึงมีเวลาอย่างเพียงพอที่จะจัดการเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

แต่ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับปรากฏว่า การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เต็มไปด้วยความผิดพลาด โดยความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เช่น การพิมพ์ชื่อผู้สมัคร สัญลักษณ์ หรือชื่อพรรคการเมืองผิด ซึ่งเกิดกับผู้สมัครและพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลทั้งสิ้น ประกอบกับเคยมีความผิดพลาดจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ การนับคะแนนที่ส่งมาจากต่างประเทศไม่ทัน หรือการนับคะแนนแบบบัตรเขย่ง จนทำให้ฝ่ายที่เคยแพ้กลับมาชนะเลือกตั้ง จนได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ยิ่งทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในความเป็นกลางของ กกต.

‘วิษณุ’ ชี้!! หลากโพลมีส่วนทำกระแสเปลี่ยน ยัน!! อยากเห็นรัฐบาลเสียงข้างมากตั้งแต่ต้น

(3 พ.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายที่เริ่มดุเดือดมากขึ้น ว่า เป็นธรรมดาของการหาเสียงเลือกตั้งที่เหมือนทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา เมื่องวดเข้ามาต่างต้องพยายามที่จะทำอย่างไรให้ผู้คนจำเบอร์ให้ได้ จำชื่อให้ได้ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็รู้อย่างนี้จึงได้มีกฎหมายห้ามทำโพลก่อนวันเลือกตั้งช่วงโค้งสุดท้าย เนื่องจากจะมีผล เป็นธรรมดาที่อาจจะดุเดือดรุนแรงหน่อย อย่างไรก็ตาม โพลต่าง ๆ จะมีส่วนทำให้กระแสเปลี่ยนหรือไม่นั้น เชื่อว่าคงมีส่วน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หวั่นใจอะไรหรือไม่ หลังโพลให้พรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นพรรครัฐบาลขณะนี้นำลิ่ว นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่หวั่น ไม่เกรง เพราะไม่ใช่เรื่องของตน เป็นเรื่องของโพล เรื่องของประชาชน และโพลมีหลายโพล ทั้งเอกชน องค์กรของรัฐ ซึ่งตนไม่ทราบว่าอันไหนถูก อันไหนผิด อันไหนตรงหรือไม่ หรือเป็นเช่นนั้นหรือไม่ 

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการพูดถึงขั้วทางการเมืองบ้างแล้ว นายวิษณุ กล่าวว่า ปกติเขาจะไม่พูดกันก่อนวันเลือกตั้ง แต่ในคืนวันเลือกตั้งที่ผลออกแล้วเขาถึงจะพูดกัน และเมื่อพูดแล้วมันยังไม่แน่นอน เราเห็นการจัดตั้งรัฐบาลหลายครั้งมาแล้ว ที่ทำท่าว่าขั้วจะออกมาอย่างนี้ แต่ยังไม่ได้มีการประกาศผลเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นทางการ เพียงแต่พอรู้บ้างแล้ว เช่น เมื่อเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 มี.ค.62 พอเช้าวันที่ 24 มี.ค.62 เมื่อรู้คะแนนเราจึงได้เห็นการจับขั้วกันเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลาเอาเข้าจริง ทิ้งเวลาไปอีก 1-2 เดือน กว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งออกมาเป็นทางการ ขั้วรัฐบาลก็เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่แค่รู้คร่าว ๆ พอรู้ได้หลังปิดหีบ 24 ชั่วโมง แต่ยังปักใจไม่ได้ การเมืองก็เป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดา 

เมื่อถามว่า หากผลเลือกตั้งออกมาคะแนนสูสี แต่เลือกนายกรัฐมนตรี และตั้งรัฐบาลยังไม่ได้ จะเกิดสุญญากาศหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในที่สุดต้องหาทางตั้งให้ได้ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนด ตามมาตรา 270 ว่าให้ทำอย่างไร ไม่เกิดสุญญากาศแน่ เพียงแต่อาจจะช้าหน่อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อย่างแรกที่จะต้องทำคือ เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ค่อยพลิกโผ เมื่อได้ประธานสภาฯ แล้ว จะมีการจับขั้วกัน นั่นค่อยว่ากันอีกที

นอกจากนี้ หลังปิดหีบเลือกตั้ง กกต.ยังมีเวลาที่จะประกาศผลภายใน 60 วัน ไทม์ไลน์เป็นแบบนี้ แต่ตนตอบไม่ถูกว่าจะได้เห็นรูปร่างหน้าตารัฐบาลใหม่เมื่อไหร่ เพราะผลยังไม่ออก คะแนนยังไม่ได้ อะไรก็ยังไม่รู้เลย และในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องหานายกฯ ได้ภายในกี่วัน แต่ในที่สุดต้องเลือกกันจนได้ ทั้งนี้ แม้จะยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ แต่จะไม่เกิดสุญญากาศและไม่เกิดเดดล็อกแน่นอน เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ให้รัฐบาลรักษาการทำอะไรได้หลายเรื่อง เช่น ขอใช้งบกลางก็ได้

เมื่อถามว่า มีความเป็นห่วง กกต.หรือไม่ เนื่องจากถูกโจมตีหนักในช่วงนี้ จนต้องออกมาแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อปกป้องตัวเอง นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่ามีเรื่องอะไร ไม่ได้ติดตามข่าว เมื่อถามถึงกรณีที่มีข่าวว่า มี 2 ราย ขุดเรื่องสูตรคำนวณเลือกตั้งเมื่อปี 62 ขึ้นมา ซึ่ง กกต.กำลังจับตาอยู่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเห็นจากข่าวว่าจะมีจำเลย 2 คน ขอให้ไปถาม กกต.เอาเอง เขาอุตส่าห์บอกมานิดหน่อยแล้ว แต่เรื่องอะไรตนไม่รู้

‘กกต.’ ย้ำ!! เลือกตั้งส.ส.ล่วงหน้าวันนี้อย่าทำผิด ไม่งั้นเจอโทษ พร้อมวางกำลังตำรวจเกือบ 3 พันนายดูแลเข้ม

(7 พ.ค. 66) เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ล่วงหน้า โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารแจ้งเตือนผู้สมัครรับเลือกตั้งและประชาชนให้พึงระวังไม่ทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 เนื่องในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง ดังนี้

1.ห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้ง ในระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 พฤษภาคม จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ห้ามไม่ให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้ง หรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป หรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะ หรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ โดยห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการเพื่อจูงใจ หรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือก หรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ทั้งนี้ ไม่ใช้บังคับหน่วยงานของรัฐในการจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

3.ห้ามไม่ให้ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ขอเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ที่ได้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งไว้

ขณะที่ ศูนย์กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมจุดติดตั้งกล้อง CCTV ห้องเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า โดยนายชัชชาติกล่าวว่า ดูการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. 2566

ทั้ง กทม.มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 800,000 คน หน่วยเลือกตั้งที่จะมีประชาชนไปใช้สิทธิมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขตบางกะปิ ประมาณ 52,000 คน ภาพรวมนั้นมีความพร้อมทุกจุด

นายชัชชาติ กล่าวว่า กล่องหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตจะมีกล้อง CCTV ติดตั้งไว้ทั้ง 33 จุด และมีลิงก์ที่ประชาชนเข้ามาดูได้ แต่กำลังดำเนินการขออนุมัติจาก กกต. เนื่องจากทำเสริมเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อสร้างความโปร่งใสและขั้นตอนการเลือกตั้งต่างๆ ก็ได้มีการซักซ้อมมาอย่างดีแล้ว ยืนยันมีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งรวมถึงวันที่ 14 พฤษภาคมด้วย

ต่อมา นายชัชชาติ และคณะตรวจเยี่ยมหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า ม.รามคำแหง เขตบางกะปิ และกล่าวว่า ผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ขั้นแรกต้องสแกนคิวอาร์โค้ดที่บอร์ด หรือสอบถามเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย เพื่อหาจุดเลือกตั้ง ต้องเผื่อเวลาการเดินทาง

‘กกต.’ ไขทุกข้อสงสัย เกี่ยวกับภาพรวม ‘เลือกตั้งล่วงหน้า’ พร้อมการันตี!! บัตรทุกใบถึงหน่วยนับคะแนนปลอดภัยแน่นอน

(7 พ.ค.66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือก (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แถลงข่าวภาพรวมการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากทุกจังหวัดว่าสถานที่ลงคะแนนล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง จำนวน 447 แห่ง และในเขตเลือกตั้ง 422 แห่ง จากจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไว้จำนวนทั้งสิ้น 2,235,830 คน ขอเชิญผู้ที่ลงทะเบียนไว้ออกมาใช้สิทธิ เพราะเมื่อลงทะเบียนใช้สิทธิวันที่ 7 พฤษภาคมแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิในวันที่ 14 พฤษภาคมได้ อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ก็สามารถแจ้งเหตุจำเป็นนั้นได้ก่อนและหลังการเลือกตั้ง 7 วัน ทั้งนี้เท่าที่ดูการจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเพียงบางจุด เช่น ที่ กทม. อากาศร้อนมาก สถานที่คับแคบ การจราจรติดขัด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและมีบริการในบางแห่ง รวมถึงการจราจรหนาแน่น เพราะบางแห่งมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิจำนวนมาก ก็มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า หน่วยเลือกตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีจุดพักคอยใกล้กับคูหาลงคะแนน ทำให้มีผู้ไปนั่งอยู่บริเวณดังกล่าวชะโงกมอง และบางส่วนใช้โทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูป จะกระทบความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงาน แต่เชื่อว่าทางกทม.และกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง คงสังเกตและหาทางป้องกันได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top