Wednesday, 1 May 2024
กกต

‘เพื่อไทย’ จี้ กกต.สอบ ‘อนุทิน’ ปมติดป้ายหน้า รพ. หวั่นใช้เงินงบหลวงแฝงหาเสียง - เอาเปรียบพรรคคู่แข่ง

เมื่อเวลา 10.00 น. (31 ม.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคพท.กล่าวกรณีที่ปรากฏป้ายประชาสัมพันธ์โครงการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ด้านหน้าโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ โดยมีภาพของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข อยู่ภายในแผ่นประชาสัมพันธ์ดังกล่าวว่า ในการติดตั้งป้ายดังกล่าวมีคำสั่งทางราชการไปยังทุกหน่วยงานให้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์นั้น อยากให้ กกต.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า เอกสารสั่งการจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นเอกสารจริงหรือไม่ หากเป็นเอกสารจริงก็ควรตรวจสอบว่าถ้อยคำที่ใช้ในป้ายประชาสัมพันธ์ และการมีรูปของนายอนุทินปรากฏอยู่ในภาพ เป็นการใช้งบประมาณและบุคลากรของรัฐในการหาเสียงหรือไม่ ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เพื่อเป็นคุณแก่พรรคของตนและผู้สมัครของพรรคตน อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ หากเป็นข้อเท็จจริงนอกจากจะเป็นการกระทำผิดในทางกฎหมายแล้ว ยังขัดต่อคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองด้วย เพราะถือเป็นการใช้งบหลวงจากภาษีประชาชนมาหาเสียง เป็นการแข่งขันทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรม

‘โรม’ ดักคอ ‘กกต.’ อย่าเนียนแบ่งเขตเลือกตั้งพิสดาร ชี้ ควรมีรายงานผลเรียลไทม์ ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

(31 ม.ค.66) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้มีความชัดเจนต่อการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างสมเหตุสมผล และไม่บ่ายเบี่ยงในการสร้างระบบรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่าเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่สุดจากการเลือกตั้งปี 2562 เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิสดารที่ไม่ส่งผลดีทั้งต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และนำไปสู่ข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ทำให้เกิดคำถามว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งสะท้อนพื้นที่ประชากรอย่างถูกต้องหรือไม่ และเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งเพียงเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่ ดังจะเห็นได้ว่าในหลายเขตเลือกตั้งที่มีการแบ่งออกมาครอบคลุมพื้นที่ห่างกันมาก จากสุดเขตฝั่งหนึ่งไปถึงอีกสุดเขตฝั่งหนึ่ง บางแห่งห่างกันถึง 200 กิโลเมตรก็มี คำถามคือการแบ่งเขตแบบนี้สมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของผู้แทนที่จะต้องเดินทางไปพบปะประชาชนตามการแบ่งเขตเช่นนี้จะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ กกต.ทำการแบ่งเขตในการเลือกตั้งปี 2566 ที่จะถึงนี้อย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับธรรมชาติของพื้นที่ ไม่ใช่ตัดแบ่ง หรือรวมตำบลต่าง ๆ ออกเป็นเขตเลือกตั้งตามฐานเสียงของพรรคการเมืองบางพรรคเป็นสำคัญ

“ผมไม่อยากให้ประเทศมีข้อครหาว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงกลายเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกอีกครั้งเหมือนปี 2562 สังคมไทยผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง มีแบบอย่างการแบ่งเขตที่สอดคล้องกับพื้นที่มากมายให้นำมาเป็นบทเรียนได้ สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีอยู่ 400 เขต ประเทศไทยก็เคยผ่านมาแล้ว หากแบ่งเขตได้อย่างเป็นธรรมก็จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น” นายรังสิมันต์กล่าว

นายรังสิมันต์กล่าวถึงกรณีการรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ ซึ่ง กกต.อ้างว่าไม่อาจทำได้ เพราะใช้งบประมาณมากเกินไป โดยรังสิมันต์กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติงบประมาณให้ กกต.ถึงเกือบ 6 พันล้านบาท เป้าหมายหนึ่งก็เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสที่สุด หากการประกาศผลการเลือกตั้งสามารถเป็นไปแบบเรียลไทม์ได้ การทุจริตด้วยวิธีการต่าง ๆ แบบที่เคยทำกันมา ไม่ว่าจะเป็นไฟดับระหว่างนับคะแนน การแอบสลับหีบ ย้ายหีบ หรือการทุจริตในรูปแบบอื่น ๆ ก็จะทำได้ยากขึ้น เพราะประชาชนจำนวนมากจะเห็นผลการเลือกตั้งไปพร้อม ๆ กัน

'กกต.' เตือน 'นักการเมือง' วาเลนไทน์นี้ งดแจกกุหลาบ ชี้ อาจตีความเป็นมูลค่าทรัพย์สิน เข้าข่ายผิดกฎหมาย

(13 ก.พ. 66) นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.กทม.) กล่าวถึงข้อห่วงใยการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง และผู้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ช่วงวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก 14 ก.พ. นี้ ว่าการแจกดอกกุหลาบของนักการเมือง ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งได้

โดยแม้ว่าวันดังกล่าว จะไม่ใช่ประเพณีและวัฒนธรรมโดยตรงของประเทศ แต่คนไทยนิยมและถือปฏิบัติกันตามหลักสากล ดังนั้น จึงขอให้นักการเมือง ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้อย่างเคร่งครัด

“เมื่อเป็นวันพิเศษของทุกคน ก็อาจทำให้เกิดความพลั้งเผลอหรือลืมนึกถึงไปได้ ดังนั้นขอให้ระมัดระวังอย่าทำผิดกฎหมาย”

'ปดิพัทธ์' จี้ 'กกต.' แจงให้ชัด กรณีแบ่งเขตเลือกตั้ง ชี้ ขาดความชัดเจน ทำคนไม่ไว้ใจ ย้ำ จัดการเลือกตั้งให้โปร่งใส

(14 ก.พ. 66) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณีมีรายงานข่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะหารือในวันนี้ ประเด็นการนำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดพึงมีและแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากมีหลายฝ่ายในสังคมทักท้วง โดยประเด็นหารือรวมถึงอาจพิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องนี้ด้วย

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลเคยแสดงความกังวล ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ชัดเจน อาจนำไปสู่เลือกตั้งโมฆะเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมถึงตั้งคำถามว่า การนับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยนั้น เป็นสิ่งที่ กกต. เคยทำมาก่อนหรือไม่ หากเคยทำมาก่อน ก็ไม่น่าต้องกังวลว่าจะมีปัญหา แต่หากไม่เคยทำมาก่อน ครั้งนี้ก็ไม่ควรทำเช่นกัน"

หลังจากนั้น กกต. ออกมาชี้แจงว่า การประกาศจำนวนราษฎรในอดีต ก็ทำเป็นประกาศรวมที่นับทั้งคนสัญชาติไทยและคนที่ไม่มีสัญชาติไทย เพิ่งจะมาแยกคน 2 กลุ่มนี้ออกจากกันในประกาศจำนวนราษฎร วันที่ 31 ธันวาคม 2557 แต่ กกต. ยังไม่ได้ตอบคำถามของพรรคก้าวไกล ว่าแล้วการเลือกตั้งที่ผ่านมาเช่นปี 2562 ได้คิดรวมคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณด้วยหรือไม่ ดังนั้น ในเมื่อ กกต. จะประชุมวันนี้ ก็ควรมีคำตอบเรื่องนี้ รวมถึงคำตอบว่าถ้า กกต. จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะกระทบต่อไทม์ไลน์การเลือกตั้งหรือไม่

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ตามกฎหมาย การเลือกตั้งควรมีขึ้นไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ทั้งที่ประชาชนมีความหวังให้การเลือกตั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่จากการทำงานของ กกต. ปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งที่ทะเบียนราษฎรออกมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 แต่ตอนนี้หลายจังหวัดเริ่มพบกลไกที่ย้ายเขตเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางคะแนน เช่น พิษณุโลกเขต 1 มีความพยายามตัดพื้นที่ที่ตนทำงานอย่างต่อเนื่องออกไป และเอาพื้นที่ของนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นฝ่ายรัฐบาลมาเติมแทน นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระบบรายงานผลเลือกตั้งแบบ real time ทั้งที่ กกต. ได้รับงบประมาณจัดเลือกตั้งถึงเกือบ 6,000 ล้านบาท

'สมคิด' จี้ 'กกต.' จัดการเลือกตั้งให้โปร่งใส-ยุติธรรม ลั่น!! 'พท.' แลนด์สไลด์แน่นอน เหตุ ปชช.ตอบรับนโยบาย

(22 ก.พ. 66) นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบล ราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า จากที่พรรคพท.ลงพื้นที่ในนามครอบครัวเพื่อไทยในหลายพื้นที่ พบว่า ได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก ตั้งเป้าว่า หลังจากหมดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ พรรค พท.จะเปิดเวทีทั้งในนามพรรคและในนามครอบครัวเพื่อไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอนโยบายของพรรคต่อประชาชน มั่นใจว่าประชาชนจะตอบรับผู้สมัครของพรรคทั่วประเทศอย่างแน่นอน จากการที่ ส.ส.และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ลงพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อนำนโยบายดี ๆ ของพรรคไปชี้แจงกับประชาชน พบว่าสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

เชื่อว่าจะสามารถสร้างแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดินได้อย่างแน่นอน มั่นใจว่า ผู้สมัครของพรรคจะได้รับชัยชนะมากกว่า 250 เขต เลือกตั้งทั่วประเทศ เพราะพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศตอบรับนโยบายของพรรค และมั่นใจว่าเป็นนโยบายที่สามารถจับต้องได้ นำมาปฏิบัติได้จริง ต่างจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีนโยบายไหนที่ช่วยพี่น้องเกษตรกรอย่างจริงใจได้เลย ระบบเศรษฐกิจทุกระดับเสียหายหมด ยกเว้นระดับนายทุนใกล้ชิดรัฐบาลที่รวยขึ้น

‘เพื่อไทย’ เรียกร้อง กกต. ใช้อำนาจอย่างชอบธรรม หลังออกระเบียบยุบพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง

(27 ก.พ. 66) นายชุมสาย ศรียาภัย รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตามที่ กกต.ได้ออกระเบียบ 3 ฉบับและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ก.พ.โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการยุบพรรคติดเทอร์โบ โดยในระเบียบดังกล่าวระบุถึงระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการยุบพรรคการเมืองเพียง 67 วัน จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลา ตนได้ตรวจข้อกฎหมายลำดับศักดิ์ของกฎหมายแล้ว พบว่าแม้ กกต.จะอ้าง อาศัยอำนาจตามมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ 60 และ พ.ร.ป.กกต. และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท รวมถึง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 แต่ตนเห็นว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและ พรป.กกต.ไม่ได้ให้อำนาจ กกต.ออกระเบียบในลักษณะนี้ได้ การกระทำดังกล่าวของ กกต.อาจเป็นการออกระเบียบโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจ ระเบียบดังกล่าวจึงอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ประกอบกับการยุบพรรคเป็นโทษกับพรรคการเมือง กกต.จึงไม่มีอำนาจออกระเบียบได้ และระเบียบดังกล่าวไม่สามารถมีผลย้อนหลังในคดีความที่นักร้องต่าง ๆ ได้ยื่นยุบพรรคการเมืองในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย

‘กกต.’ ออกประกาศหลักเกณฑ์ติดแผ่นป้ายหาเสียง ใส่รูปผู้สมัคร ส.ส. คู่ ‘แคนดิเดตนายกฯ - หน.พรรค’ ได้

(10 มี.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ลงนามในประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยในส่วนของการจัดทำประกาศ การกำหนดสถานที่และการจัดสถานที่ปิดประกาศ กำหนดให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง จัดทำประกาศมีขนาดกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และขนาดความสูงไม่เกิน 42 เซนติเมตร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดของประกาศ

โดยผู้สมัครและพรรคการเมือง จัดทำประกาศได้ไม่เกินสองเท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น การจัดทำประกาศสามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญหรือข้อมูลประวัติ เฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือคิวอาร์โค้ด นอกจากภาพของผู้สมัครแล้วสามารถใส่ภาพของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองใดเท่านั้น

ส่วนวิธีปิดประกาศให้เป็นไปตามที่หัวหน้าหน่วยงานกำหนด โดยให้นายอำเภอกำหนดสถานที่ปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดสถานที่ปิดประกาศ ณ ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเขต แขวง หมู่บ้าน หรือชุมชน และหัวหน้าหน่วยงานกำหนดสถานที่ปิดประกาศ ณ ที่ตั้ง ของหน่วยงาน ทั้งนี้หากผู้สมัครหรือพรรคการเมืองปิดประกาศไม่ถูกต้อง ให้หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจสั่งผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแก้ไขภายใน 5 วัน

ห้ามโหนสถาบัน 'เลขา กกต.' ร่อนหนังสือแจ้งพรรคการเมือง ควบคุมสมาชิกพรรค ห้ามดึงสถาบันมาหาเสียง

(13 มี.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ ได้ลงนามในหนังสือ เรื่อง การควบคุมและกำกับดูแลมีให้สมาชิกพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย แจ้งต่อหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค โดยระบุว่าด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 22 กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของ กกต. และเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาแล้วแต่กรณี คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมีให้สมาชิกพรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม นายทะเบียนพรรคการเมือง พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้พรรคการเมืองปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น 

จึงขอให้พรรคการเมืองแจ้งให้สมาชิกพรรคการเมืองได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของ กกต.โดยเฉพาะระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนของการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือเมื่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้รับแจ้งจากนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าสมาชิกพรรคการเมืองกระทำการอันอาจมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 22 วรรคหนึ่ง

หรือวรรคสอง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีมติหรือสั่งการให้สมาชิกพรรคการเมืองยุติการกระทำนั้นโดยพลัน และกำหนดมาตรการหรือวิธีการที่จำเป็นเพื่อมิให้สมาชิกพรรคการเมืองผู้ใดกระทำการ อันอาจมีลักษณะดังกล่าวอีก แล้วแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีมติ

คลิปภาพมัดตัว ‘นันทิวัฒน์’ เผย หลายพรรคเสี่ยงโดนยุบพรรค ชี้!! นักการเมืองมักคิดว่าทำอะไรก็ได้ ไม่ผิด

(13 มี.ค.66) นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า สุ่มเสี่ยงผิดกฏหมาย

คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักการเมืองมีความเก่งในการทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงผิดกฏหมาย หรือจะพูดว่า ไม่กลัวการทำผิดกฏหมาย ชอบเดินไต่ลวด ชอบเลี่ยงกฏหมาย หรือพูดง่าย ๆ ว่า ชอบโกง จับไม่ได้ ไล่ไม่ทันก็รอด นักการเมืองพวกนี้มักมีความเชื่อว่า เป็นนักการเมืองจะทำอะไรก็ได้ไม่ผิด แต่ถึงจะผิด สักวันจะสามารถออกกฏหมายยกเว้นความผิดที่ตัวเองก่อไว้ได้

มันเกิดอะไรขึ้น โมฆะบุรุษ คนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมืองจะไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ แต่คนเหล่านี้กลับเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองแบบเย้ยกฎหมาย บางคนบางพรรคตั้งให้มีตำแหน่งบนเวทีหาเสียง กระโดดขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงทางการเมือง ชี้นำ โฆษณานโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง มีบทบาทมากกว่าคนอื่น ๆ

พรรคการเมืองหลายพรรคกำลังสุ่มเสี่ยงใช้คนนอกพรรคชี้นำ ครอบงำพรรค บางพรรคเข้าใจเอาเองว่า คนเหล่านั้นสามารถเป็นผู้ช่วยหาเสี่ยงได้ อันเป็นความเข้าใจผิด

ปัจจุบัน ยังไม่ยุบสภา ยังไม่เปิดรับสมัคร ยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้น จึงยังไม่มีผู้ช่วยหาเสียงแน่นอน ไก่จะเกิดก่อนไข่ไม่ได้

‘เพื่อไทย’ หวั่น!! กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งพิสดาร ชี้!! ไม่ควรแยกย่อยแขวง ป้องกัน ปชช. สับสน

(14 มี.ค.66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย นายวิชาญ มีนชัยอนันต์ ประธานภาค กทม. น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวานิช ส.ส.กทม. และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. แถลงเสนอความเห็นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่อาจไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

โดย น.ส.ธีรรัตน์กล่าวว่า ในฐานะตัวแทน ส.ส.กทม. มีหลายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับการแบ่งเขตที่ กกต. อาจจะเลือกใช้ โดยเห็นว่าหลักของการแบ่งเขต ควรรวมเขตขนาดใหญ่ไว้ด้วยกัน ไม่ใช่การรวมแขวง เพราะจะทำให้ ส.ส.เขต กลายเป็น ส.ส.แขวง และจะทำให้เกิดความสับสน ทั้งสำหรับ ส.ส.ที่จะต้องดูแลพื้นที่ และประชาชนที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

ทั้งนี้หาก กกต. แบ่งแขวงหนึ่งไปรวมกับอีกเขตการปกครอง ที่ไม่ได้มีพื้นที่เชื่อมต่อกัน และประชาชนไม่คุ้นเคย ไม่สะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิ อาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตเลือกตั้งได้ รวมถึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง เกิดความไม่คุ้นเคยกับประชาชนจากแขวงอื่นที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

“การแบ่งเขตควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่ดูแล้วการแบ่งเขตของ กกต. เองดูจะเข้าทางกลุ่มผู้มีอำนาจเป็นหลักหรือไม่ อันนี้ท่านจะกลับหลังทัน คิดถึงประโยชน์ของประชาชนให้มากกว่าจะคิดถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง” น.ส.ธีรรัตน์กล่าว

ด้าน นายวิชาญ ให้รายละเอียดการแบ่งเขตของ กกต. 4 แบบ ว่า กทม. 33 เขต เป็นที่จับจ้อง เนื่องจากเป็นชิ้นเค้กชิ้นหนึ่งที่หลายพรรคการเมืองอยากได้ เพราะเป็นเขตที่ติดต่อกัน และมีความหนาแน่นของคนเมือง

พรรค พท.เคยมีการแถลงข่าวและเตือนไปแล้วครั้งหนึ่ง ว่าการแบ่งเขตรอบแรกมีความผิดเพี้ยนและได้บอกให้คำนึงถึงกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 29 ที่ต้องยึดโยงเรื่องเขตปกครองเป็นหลัก หมายความว่าต้องเอาอำเภอเป็นหลัก หากไม่สามารถแบ่งได้ ค่อยไปแบ่งตามแขวง นอกจากนี้ยังต้องยึดโยงตามการเดินทาง ให้ความสะดวกกับประชาชนให้ได้มากที่สุด และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยวันนี้ยังไม่ทราบว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะออกมาเป็นรูปแบบไหน

“สิ่งสำคัญต้องไม่ทำให้ประชาชนสับสน ครั้งที่แล้วเราเตือน กกต. ว่าการแบ่งเขตที่ส่งรูปแบบมา รูปแบบที่ไม่เหมาะสม คือ 6-7 แต่พอภาคประชาชนท้วงไป กกต.ก็เปลี่ยนมามี 4 รูปแบบ 4 รูปแบบที่ว่า 1 และ 2 เป็นแบบที่เราท้วงไป ทั้งนี้ ตนตั้งข้อสังเกตว่า หากมองให้ลึก การประกาศต้องผ่านราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ รูปแบบ 1 และ 2 ขัดต่อ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 27 ที่ต้องรวมอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่ง กทม. ก็คือ เขต และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 มีการเอาเขตเป็นตัวตั้งมากกว่าเอาแขวงมาเป็นตัวตั้ง แต่รอบนี้ รูปแบบที่ 1 และ 2 กลับกำหนดตำบลหรือแขวงมาเป็นตัวตั้ง ย้ำว่าจัดแบบนี้วุ่นวายไปหมด ข้าราชการเองก็งง จึงมาบอกทางประชาชนและบอกทางพรรคการเมืองให้ช่วยดู”

“ถามว่า กกต.ได้อะไร ได้ความสนุกหรือไม่ กกต.แบ่งเพื่อที่จะให้ 10% แต่ไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ความวุ่นวายการเสียจำนวนเงิน ประชาสัมพันธ์ เขายังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องกฎหมายหากมีใครมายืนร้อง หลังเลือกตั้งประกาศผลไม่ได้ เป็นโมฆะ กกต.รับผิดชอบหรือไม่ ประเทศเรามีนักร้องเยอะมาก กทม. ทะเลาะกันแน่นอน” นายวิชาญกล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top