Wednesday, 1 May 2024
กกต

‘เพื่อไทย’ โวย ‘กกต.’ แบ่งเขตไม่เป็นธรรม-ส่อผิด กม. หวั่น เลือกตั้งเป็นโมฆะ ถาม กกต.รับผิดชอบไหวหรือ?

(16 มี.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง พร้อมด้วย นายสุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม.เขตหลักสี่ พรรค พท.ร่วมแถลงข่าวคัดค้านแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ของ กกต.กทม.

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า ได้เห็นประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึง กกต. กทม.ว่าจะมีการเลือกใช้การแบ่งเขตการเลือกตั้งของ กกต.แบบที่ 1 ซึ่งเป็นแบบที่พรรค พท. กังวลใจว่า ส่อขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ที่ผ่านมามีความหวังว่า กกต.จะได้ยินเสียงการทักท้วงของพรรค พท. จึงไม่ลดละความพยายามที่จะแถลงข่าวให้เสียงดังขึ้น แต่สุดท้ายมีประกาศออกมาเลือกแบบที่ 1 จึงจำเป็นต้องส่งเสียงอีกครั้ง เพราะถือเป็นการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม เรียกว่า Gerrymandering ที่ผู้มีอำนาจจงใจเปลี่ยนแปลงเส้นเขตเลือกตั้ง เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด คือภาคประชาชน คืนวานนี้ ประชาชนร้องเรียนมาว่า ได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขต เพราะพวกเขาได้หมายมั่นปั้นมือว่าจะเลือก ส.ส.คนนี้ให้ไปเป็นผู้แทน ให้ได้มาทำงานต่อ เพราะเคยร่วมงานใกล้ชิดกันมาก่อน

ทั้งนี้ หาก กกต.ยืนยันที่จะใช้การแบ่งเขตแบบที่ 1 ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ท้ายที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งประเทศ กกต.ต้องกำหนดเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส.แต่ละเขตเลือกตั้งกันใหม่ แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมไปถึงจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ความมีเสถียรภาพของประเทศชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง และงบประมาณแผ่นดิน

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวต่อว่า หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการนายกฯ ต่อไปจนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จ ซึ่งนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ หมายความว่าผู้มีอำนาจนำประเทศชาติ และประชาชนเป็นตัวประกันให้กับความเสียหายนี้ใช่หรือไม่ หาก กกต.ไม่ดูดีดูดาย พิจารณาคำท้วงติงของพรรค พท. หากเกิดอันตรายเสียหายขึ้น กกต.จะรับผิดชอบไหวหรือ ถ้าหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ทั้งนี้ พรรค พท.พร้อมสู้ทุกกติกาที่มีความยุติธรรมหรือที่ถูกกำหนดขึ้น พรรค พท.จะเดินหน้าต่อเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ ให้พี่น้องประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง นำประชาธิปไตยกลับมา และทำให้ประชาชนเห็นว่าพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนได้ใช้พลังประชาชน ไม่โอนอ่อนผ่อนตาม ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้น

‘อรรถวิชช์’ ร้องศาลปกครอง เพิกถอนแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. ชี้ วิธีแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หวั่น ทำประชาชนสับสน

(16 มี.ค. 66) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ของกรุงเทพมหานครว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 27 (1) กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเขตให้ ‘รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง’ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฎว่าการแบ่งเขตที่ออกมา มีการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขต (อำเภอ) หลัก มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่

ตัวอย่างเช่น เขตเลือกตั้งที่ 8 ประกอบด้วย แขวงทุ่งสองห้องของเขตหลักสี่ และแขวงลาดยาว แขวงจตุจักร แขวงจอมพล ของเขตจตุจักร, เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วย แขวงอนุสาวรีย์ของเขตบางเขน และแขวงจันทรเกษม แขวงเสนานิคม ของเขตจตุจักร และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ และยังมีเขตเลือกตั้งอื่น ๆ ที่เป็นการรวมเฉพาะแขวง โดยไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง ได้แก่เขตเลือกตั้งที่ 8, 9, 12, 13, 17, 18, 19, 21, 26, 27, 28, 29 และ 30 ซึ่งเป็นการรวมแขวงต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ได้รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 27 (1)

‘กกต.’ แจงสั่งยุติ 61 คำร้องยุบพรรค ยึดตาม กม. เตือนนักร้อง!! ระวังเจอร้องเท็จ มีโทษหนัก

(17 มี.ค. 66) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์กรณีมีความเห็นว่าคำร้องยุบพรรค 61 เรื่องไม่มีมูล จึงสั่งยุติเรื่อง ว่า การพิจารณาการยุบพรรคของนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ถือเป็นเรื่องของกฎหมายพูด เป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย ไม่ใช่นายทะเบียนคิดเอาเอง

นายแสวง ยังกล่าวด้วยว่า โดยหลัก เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ก็จะให้สำนักงานดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2564 ที่กำหนดให้ต้องให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจงเพื่อให้ความยุติธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

จากนั้นจึงมาพิจารณาว่า การการกระทำนั้น กฎหมายกำหนดเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ หลายคำร้องมีการกระทำตามที่ร้องเกิดขึ้นจริง แต่การกระทำนั้นไม่ใช่เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองก็จะไม่รับไว้พิจารณา หรือสั่งยุติเรื่อง

“แต่ถ้าพิจารณาแล้วการกระทำตามคำร้องนั้นอาจเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ ก็จะรับไว้พิจารณาว่า การกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หรือถึงขนาดให้ต้องยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งก็แล้วแต่กรณี แต่ที่ผ่านมาพบว่าเป็นคำร้องที่ไม่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคเป็นส่วนมาก”

‘กกต.’ ชี้!! ทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน  หลัง ‘ชพก.’ ท้วง!! ปมแบ่งเขต กทม.

(17 มี.ค. 66) ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปกรณ์ มหรรณพ กกต.แถลงข่าวชี้แจงข้อท้วงติงจากพรรคการเมือง ถึงกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า วันนี้ กกต.จะมีการเรียกประชุมด่วน ซึ่งสืบเนื่องมาจากพิจารณาข้อมูลทุกอย่าง รวมทั้งของพรรคชาติพัฒนากล้า เมื่อมีข้อท้วงติงของพรรคการเมือง เราก็พร้อมที่จะตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง จึงมีการเรียกประชุมด่วนในเวลา 16.00 น.ของวันนี้ สำหรับเรื่องดังกล่าว เราพร้อมให้ข้อมูลและเหตุผล ซึ่งสิ่งที่มีข่าวในช่วงนี้คือการแบ่งเขตของ กกต.กทม.อาจจะมีปัญหา แต่ตนขอยืนยันว่า ผอ.กกต.กทม.และทีมงาน รวมทั้งส่วนกลางที่เกี่ยวข้องได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแบ่งเขตอย่างสุดความสามารถ และได้ใช้เวลาในการพิจารณาอย่างเหมาะสม

“โดยเรื่องที่มีข้อท้วงติงของนักการเมืองนั้นบางครั้งอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อยากจะขอชี้แจงว่าการแบ่งเขตครั้งนี้ กกต.กทม.ยึดหลักตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเคร่งครัด ซึ่งกฎหมายในมาตรา 27 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ระบุว่าให้แบ่งเขตแต่ละเขตติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกันต่างกันไม่เกินบวกลบร้อยละ 10 ซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 86 (5) บัญญัติว่าจะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้แต่ละเขตติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เราปฏิบัติ” นายปกรณ์ กล่าว

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือ กรุงเทพมหานครไม่สามารถกำหนดเขตปกครองเดียวให้เป็นเขตเลือกตั้งได้ เพราะค่าเฉลี่ยของประชากรของกรุงเทพมหานครในหนึ่งเขตเลือกตั้ง มีประมาณ 160,000 คน ตัวอย่างเช่น เขตปกครองในเขตคลองสามวา มีประมาณ 200,000 คน, เขตบางเขน เขตประเวศ เขตลาดกระบังมีเขตละ 180,000 คน, เขตสายไหม 200,000 กว่าคน, เขตหนองจอก เขตบางขุนเทียน มีเขตละ 180,000 กว่าคน, เขตบางแค 190,000 คน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทั้ง 8 เขตนี้ ไม่สามารถแบ่งเป็นเขตเดียวของการเลือกตั้งได้ เราจึงได้พิจารณาตามกฎหมายในมาตรา 21 (2) ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ไม่สามารถทำตาม (1) ได้ เพราะราษฎรในแต่ละเขตไม่ใกล้เคียงกัน จึงให้แบ่งเขตตามสภาพของชุมชนที่มีราษฎรติดต่อกันประจำ ในลักษณะเป็นเขตชุมชนเดียวกัน โดยจะต้องให้จำนวนประชากรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด

นายปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีตามที่เป็นข่าวที่ยกตัวอย่างเขต 8 และ 9 ว่าไม่มีเขตหลัก ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีเขตหลัก ซึ่งเขต 8 และ 9 มองแล้วมีเขตหลักและจำเป็นต้องเอาแขวงที่ใกล้เคียงมารวมกัน เพื่อให้จำนวนประชากรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด อย่างไรก็ตามเราได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 (2) อย่างเคร่งครัด ทุกเขตจะเป็นลักษณะชุมชนเดียวกัน จำนวนราษฎรจะไม่เกินหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่ง กกต.ได้ออกหลักเกณฑ์ระเบียบที่ว่า จังหวัดแบ่งเขตโดยค่าเฉลี่ยประชากรในจังหวัดเป็นเกณฑ์ แต่ละเขตไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยประชากร หรือในกรุงเทพมหานครแต่ละเขตไม่ควรเกิน 16,000 คน

📌ไทม์ไลน์เลือกตั้ง ส.ส. 2566 หลัง กกต. ปักหมุดลงปฏิทิน

ภายหลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง 2566 นั้น ทางด้านนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้เผยถึงกำหนดการวันเลือกตั้งใหญ่ ว่า กกต. พิจารณาแล้ว ที่ประชุมเห็นชอบตามสำนักงาน กกต. เสนอวันเลือกตั้งใหญ่ คือ 14 พฤษภาคม 2566

โดยปฏิทินเลือกตั้ง 2566 ต่อจากนี้ จะมีไทม์ไลน์สำคัญ ๆ ได้แก่...

- 20 มีนาคม 2566 พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566
- 21 มีนาคม 2566 กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- 27 มีนาคม-13 เมษายน 2566 วันลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในเขต-นอกเขตเลือกตั้ง และนอกราชอาณาจักร

‘ปดิพัทธ์’ เผย ประชาสัมพันธ์เลือกตั้งล่วงหน้า ‘นอกเขต’ น้อยเกินไป แนะ!! กกต. ควรร่วมมือกับภาคต่าง ๆ ช่วยโปรโมต เพื่อรักษาสิทธิ ปชช.

(24 มี.ค. 66) ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พิษณุโลกเขต 1 และอดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวว่ามีความเป็นห่วงว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้จะมีประชาชนจำนวนมากเสียสิทธิจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชาสัมพันธ์การใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งนอกเขต และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรน้อยเกินไป 

ปดิพัทธ์ กล่าวว่า จากการที่ กกต. กำหนดให้วันเลือกตั้งเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งไม่ได้ตรงกับช่วงวันหยุดยาว 4-7 พฤษภาคม อาจทำให้ประชาชนหลายคน ไม่ว่าจะเป็น คนที่ออกไปหางานทำที่ต่างจังหวัด นักเรียน-นักศึกษา เกิดความไม่สะดวกในการกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ กกต.กลับประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตน้อยมาก ทำให้ประชาชนที่ไม่สะดวกใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. เสมือนเสียสิทธิเลือกตั้งไปโดยปริยาย

‘เพื่อไทย’ จัดทำปาร์ตี้ลิสต์ 100 รายชื่อ เสร็จแล้ว เตรียมยื่นส่ง กกต. เพื่อทำไพรมารีโหวต 4-7 เม.ย.นี้

(24 มี.ค. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมพร้อมเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยว่าจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 โดยในส่วนของการเตรียมพร้อมของพรรคเพื่อไทยนั้น ในส่วนของรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่ กกต. ให้ยื่นรายชื่อผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ ในวันที่ 4 – 7 เมษายนที่จะถึงนี้ ขณะนี้ทางพรรคเพื่อไทยพร้อมแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องประวัติต่าง ๆ ของผู้สมัคร โดยกำลังจะนำรายชื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาพิจารณารายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งระบบเขตและระบบเลือกตั้ง และจะนำรายชื่อทั้งหมดส่งไปทำไพรมารีโหวตและเมื่อเสร็จจากขั้นตอนทำไพรมารีโหวต ก็จะนำรายชื่อส่งกลับมาให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

‘กกต.’ แจ้งยอดขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้า เผย มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 3 หมื่นคน พบ ‘กทม.’ นำโด่ง

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค.66) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้สรุปตัวเลขผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งที่เปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 25 มี.ค. 66 เป็นวันแรก โดยตัวเลขทั่วประเทศพบว่ามีผู้ลงทะเบียน 32,805 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ทางอินเตอร์เน็ตถึง 32,600 คน และลงทะเบียนที่นายทะเบียนท้องที่ 205 คน

โดยกรุงเทพ มีผู้ขอใช้ลงทะเบียนมากเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 15,202 คน ขณะที่มีผู้ลงทะเบียนหลักพันขึ้นไปประกอบด้วยปทุมธานี 1,670 ราย สมุทรปราการ 1,566 ราย

ขณะที่คนไทยได้ต่างประเทศลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวม 4,995 คน โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตถึง 4,989 คนและลงทะเบียนทางสถานกงสุลหรือสถานเอกอัครราชทูตเพียง 6 คน

‘นิด้าโพล’ เผย ‘คนกรุงเทพฯ’ เลือก ‘ก้าวไกล’ อันดับ 1 หนุน ‘พิธา’ นั่งนายกฯ ด้าน ‘อุ๊งอิ๊ง’ พท.คะแนนสูสี อันดับ 2

(26 มี.ค. 66) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘คน กทม. เลือกพรรคไหน’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-21 มีนาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่ ทั้ง 50 เขต กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,500 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคนกรุงเทพมหานครเลือกพรรคไหน

เมื่อถามถึงบุคคลที่คนกรุงเทพมหานครจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 25.08 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล)
อันดับ 2 ร้อยละ 24.20 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย)
อันดับ 3 ร้อยละ 18.24 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ)
อันดับ 4 ร้อยละ 5.96 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)
อันดับ 5 ร้อยละ 5.68 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย)
อันดับ 6 ร้อยละ 5.20 ระบุว่า ยังหาคน ที่เหมาะสมไม่ได้
อันดับ 7 ร้อยละ 4.84 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า)
อันดับ 8 ร้อยละ 2.40 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย)
อันดับ 9 ร้อยละ 2.00 ระบุว่าเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย)
อันดับ 10 ร้อยละ 1.64 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย)
อันดับ 11 ร้อยละ 1.56 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์)

ร้อยละ 3.20 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนากล้า) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (พรรคพลังประชารัฐ) นายรังสิมันต์ โรม (พรรคก้าวไกล) นายวิกรม กรมดิษฐ์ และนายสกลธี ภัททิยกุล (พรรคพลังประชารัฐ)

เมื่อพิจารณาบุคคลที่คนกรุงเทพมหานครจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี 5 อันดับแรก เมื่อจำแนกตามกลุ่มเขตการปกครอง ของกรุงเทพมหานคร พบว่า

1.) กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง อันดับ 1 ร้อยละ 27.50 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 2 ร้อยละ 22.14 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 3 ร้อยละ 21.07 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 4 ร้อยละ 7.86 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า) และอันดับ 5 ร้อยละ 5.36 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)

2.) กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ อันดับ 1 ร้อยละ 23.72 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 2 ร้อยละ 23.49 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ร้อยละ 19.30 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 6.05 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และอันดับ 5 ร้อยละ 5.81 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)

3.) กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ อันดับ 1 ร้อยละ 29.16 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 2 ร้อยละ 24.43 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ร้อยละ 18.89 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 7.60 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) และอันดับ 5 ร้อยละ 3.49 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า)

4.) กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก อันดับ 1 ร้อยละ 24.52 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 2 ร้อยละ 22.61 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 19.35 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 7.47 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และอันดับ 5 ร้อยละ 6.71 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

5.) กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ อันดับ 1 ร้อยละ 27.09 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 2 ร้อยละ 19.60 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 16.43 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 7.20 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ในสัดส่วนที่เท่ากัน และอันดับ 5 ร้อยละ 6.34 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)

6.) กลุ่มเขตกรุงธนใต้ อันดับ 1 ร้อยละ 27.65 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 2 ร้อยละ 23.96 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ร้อยละ 14.06 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 6.68 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ และอันดับ 5 ร้อยละ 5.53 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top