Tuesday, 1 July 2025
WORLD

‘Jeju Air’ ออกแถลงการณ์!! แสดงความเสียใจ เหตุเครื่องบินไถลรันเวย์ พร้อมรับผิดชอบต่อเหตุการณ์

(29 ธ.ค. 67)  คิมอีแบ ประธานผู้บริหาร Jeju Air ออกแถลงการณ์ ออกแถลงการณ์ กรณีเครื่องบินไถลรันเวย์ เกิดเพลิงไหม้ และเกิดระเบิดจนทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก โดยแถลงการณ์ มีเนื้อหา ดังนี้

สายการบิน Jeju Air ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขออภัยเป็นอย่างสูงต่อผู้โดยสารทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจในสายการบินเจจูแอร์มาโดยตลอด

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567 เวลา 09 น.03 น.เที่ยวบินที่ 7C2216 เส้นทางกรุงเทพฯ-มูอัน ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขณะลงจอดที่สนามบินนานาชาติมูอัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง และเราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้เสียชีวิตทุกท่าน รวมถึงญาติพี่น้องผู้สูญเสีย ขณะนี้เรากำลังรอผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากอะไร ในฐานะประธานบริษัท ขอรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และขอสัญญาว่า Jeju Air จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ รวมถึงจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการสืบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ให้กระจ่างชัด ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งต่อผู้เสียชีวิต และขอส่งกำลังใจให้กับครอบครัวของผู้สูญเสียทุกท่าน

จะเกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐฯ หากประธานาธิบดี Trump ขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 200 - 300% จริง ???

(29 ธ.ค. 67) นโยบายของ Donald Trump ที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ทำให้ คุณ Joe Willmore ชาวอเมริกันวัย 64 ปี ได้เปิดประเด็นตั้งคำถามนี้ใน Ouora (เว็บไซต์ถาม/ตอบสัญชาติอเมริกัน ซึ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการตั้งคำถาม ตอบคำถาม ทั้งในแง่ของความเป็นจริงและความคิดเห็น) ว่า “เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าหากสหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 200-300% จะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องล่มสลายภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์”

ซึ่งเขาได้ตอบคำถามเองว่า ไม่ดอก แต่...นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น :
- อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ภาษีนำเข้าคือภาษีนำเข้าสินค้าที่ผู้ซื้อ (พลเมืองสหรัฐฯ) เป็นผู้จ่าย
- รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องชดใช้เงินจำนวนมากให้กับเกษตรกร เพราะจีนนำเข้า เนื้อหมู ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ จากสหรัฐฯ ซึ่งพวกเขาจะตอบโต้ทันที นั่และนคือสิ่งที่พวกเขาทำเมื่อประธานาธิบดี Trump (ในสมัยแรก) เคยขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางรายการ รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องอุดหนุนเงิน 20,000-30,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับเกษตรกรเพื่อชดเชยยอดขายที่สูญเสียไป
- เราไม่สามารถกำหนดอัตราภาษีนำเข้ากับ "เศรษฐกิจการส่งออกทั้งหมด" ของจีนได้ เพราะพวกเขามีรายได้หลายแสนล้านดอลลาร์จากการส่งออกไปยังยุโรปและแอฟริกา (ถ้ารวมเอเชียด้วยน่าจะหลายล้านล้านดอลลาร์)
- พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างง่ายดาย (เช่นเดียวกับที่ทำในสมัยแรกของประธานาธิบดี Trump) อาทิ ผลิตทีวีแล้วส่งไปยังเวียดนาม ซึ่งจะมีการประทับตราว่า "ผลิตในเวียดนาม" แล้วบรรจุในกล่องของบริษัทเวียดนาม
- จะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ (หรืออย่างน้อยก็โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และโน้ตบุ๊ค) ส่วนใหญ่แล้วผลิตในจีน เราอาจจะหลงเชื่อได้ง่ายจนพอที่จะคิดว่า นั่นหมายถึงชาวอเมริกันจะสามารถเริ่มต้นอุตสาหกรรมใหม่ในการผลิตโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ใช่ดอก...นั่นไม่ใช่วิธีการทำงานที่ถูกต้อง

ในที่สุด ความคิดของเราก็ไม่สมจริง สมมติว่า ผมไม่ชอบเรื่องที่โพสต์บน Quora ผมจึงตัดสินใจว่า จะตอบโต้ แล้วจะมีการหยุด/เลิกหยุดโพสต์คำถามที่ผมไม่ชอบไหม ไม่ดอก ผมพนันได้เลยว่า จะมีการตอบโต้ผมกลับในทันที แล้วจะมีโพสต์มากกว่าเดิมถึง 3 เท่า ดังนั้น เราคงเห็นแล้วว่า ความคิดของประธานาธิบดี Trump ที่ว่า "ลองรังแกพวกเขาดู" จึงเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเอาเสียเลย

เปลี่ยน!! ‘ความขัดแย้ง’ เป็น ‘มิตรภาพ’ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง มั่นคงในภูมิภาค

(29 ธ.ค. 67) สถานทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านได้ส่งบทความนี้ให้กับ THE STATES TIMES เพื่อแปลและเผยแพร่ และถือเป็นการแสดงเจตจำนงค์ในการสวงหาสันติภาพและมิตรภาพของ ฯพณฯ M. Javad Zarif รองประธานาธิบดีอิหร่าน ซึ่งได้กล่าวถึงวิธีที่ประเทศของเขาจะทำให้ภูมิภาคนี้ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไว้ดังนี้

ในฐานะนักศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอยู่แถวหน้าของการทูตระดับโลกมาหลายทศวรรษ ผมเขียนสิ่งนี้ ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลอิหร่าน แต่ในฐานะส่วนตัวเท่านั้น ประสบการณ์ของผมสอนผมว่าการบรรลุเสถียรภาพในเอเชียตะวันตก โดยเฉพาะภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียต้องอาศัยมากกว่าการจัดการวิกฤตเท่านั้น ต้องใช้ความคิดริเริ่มที่กล้าหาญและมีวิสัยทัศน์ ผมจึงเสนอให้จัดตั้งสมาคมเจรจามุสลิมเอเชียตะวันตก (Muslim West Asian Dialogue Association : MWADA) เพื่อเป็นกลไกไปสู่การบรรลุการเปลี่ยนแปลงนี้

MWADA ขอเชิญชวนประเทศมุสลิมหลักในเอเชียตะวันตกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น บาห์เรน อียิปต์ อิหร่าน อิรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย (รัฐบาลในอนาคตของ) ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน ให้เข้าร่วมการเจรจาอย่างครอบคลุม บรรดาทูตที่เกี่ยวข้องจากสหประชาชาติสามารถเข้าร่วมได้เช่นกัน ความคิดริเริ่มนี้ควรยึดหลักคุณค่าอันสูงส่งของศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเรา และหลักการของอำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซง และความมั่นคงร่วมกัน MWADA ซึ่งมีความหมายว่า “มิตรภาพ” ในภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในคำอธิษฐานร่วมกันของเรา ควรมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน

ลำดับความสำคัญหลักคือการจัดทำข้อตกลงหยุดยิงที่ยั่งยืนและถาวรในทันทีในฉนวนกาซา เลบานอน ซีเรีย และเยเมน ข้อตกลงไม่รุกรานระหว่างประเทศสมาชิก MWADA ร่วมกับการตรวจสอบระดับภูมิภาคร่วมกัน จะช่วยสร้างเสถียรภาพและปกป้องภูมิภาคจากการแทรกแซงจากภายนอก ตลอดจนจากความขัดแย้งภายใน

การบูรณาการทางเศรษฐกิจยังเป็นศูนย์กลางของวิสัยทัศน์นี้ด้วย การขาดการพึ่งพากันภายในเอเชียตะวันตก เกิดจากเครือข่ายการค้าที่แตกแยก การไม่ใส่ใจเพียงพอต่อการพัฒนาระบบธนาคารและกลไกการชำระเงินภายในภูมิภาค การแข่งขันทางการเมือง และการพึ่งพาตลาดภายนอก กองทุนพัฒนา MWADA ที่เสนอขึ้นสามารถจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่หลังสงครามที่ถูกทำลายล้าง นอกจากนี้ การปฏิรูปการปกครองในซีเรียซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ จะส่งเสริมความรับผิดชอบและวางรากฐานสำหรับประเทศที่ปลอดภัยและมั่นคง ซึ่งสตรีและชนกลุ่มน้อยสามารถก้าวหน้าและเติบโตได้

ซีเรียหลังยุคอัสซาดเป็นความท้าทายครั้งสำคัญสำหรับเราทุกคน การรุกรานของอิสราเอลที่ไร้ขอบเขตโดยไม่คำนึงถึง อำนาจอธิปไตยของซีเรีย การแทรกแซงจากต่างประเทศที่ทำลายความสมบูรณ์ของดินแดนซีเรีย ฉากแห่งความรุนแรงและความโหดร้ายที่น่าสะพรึงกลัวซึ่งชวนให้นึกถึงความป่าเถื่อนของกลุ่มรัฐอิสลาม และความรุนแรงทางชาติพันธุ์และนิกาย ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ ต้องได้รับความสนใจจาก MWADA ที่เสนอขึ้นทันที ภัยพิบัติทางมนุษยธรรมในปาเลสไตน์ยังคงมีความสำคัญต่อเสถียรภาพในภูมิภาค MWADA ต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดชะตากรรมของตนเองของชาวปาเลสไตน์และสนับสนุนทางออกที่ยุติธรรมในขณะที่เคารพความปรารถนาของประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับทางออกทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและการยอมรับสิทธิของชาวปาเลสไตน์ด้วย

MWADA จะจัดเตรียมพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่การขนส่งไปจนถึงท่อส่งพลังงานและเครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่งไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแลกเปลี่ยนพลังงาน ข้อมูล และบริการด้วย เราในเอเชียตะวันตกควรเข้าใจว่า
ความเป็นอิสระนั้นเชื่อมโยงกับส่วนแบ่งของประเทศในห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มระดับโลก

การรับประกันความมั่นคงด้านพลังงานเป็นอีกโอกาสหนึ่งสำหรับการพึ่งพากัน ข้อตกลงด้านพลังงานในภูมิภาคควรมีเป้าหมายเพื่อปกป้องเส้นทางและสำรวจแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน ศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ของที่ราบสูงอิหร่านและพื้นที่อื่นๆ ภายในชุมชน MWADA ที่เหมาะสำหรับฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์และลมทำให้การร่วมมือกันเพื่อผลิตพลังงานสะอาดเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคที่กว้างขึ้นและแม้กระทั่งไกลออกไป

MWADA ยังสามารถประกาศความร่วมมือระดับภูมิภาคใหม่เกี่ยวกับเสรีภาพในการเดินเรือ รวมถึงการลาดตระเวนร่วมด้านความปลอดภัยทางทะเล ภูมิภาคนี้เป็นที่ตั้งของจุดคอขวดเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ช่องแคบฮอร์มุซ คลองสุเอซ และช่องแคบบับอัลมันดาบ อิหร่านซึ่งมีที่ตั้งและความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย จึงมีตำแหน่งที่ไม่เหมือนใครในการมีส่วนสนับสนุนความปลอดภัยของทางน้ำ เช่น ช่องแคบฮอร์มุซ คนอื่นๆ สามารถมีบทบาทนำในการรักษาความปลอดภัยของคลองสุเอซและบับอัลมันดาบได้ ความพยายามเพื่อสันติภาพฮอร์มุซหรือ HOPE ซึ่งอิหร่านแนะนำเมื่อเกือบห้าปีที่แล้ว ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของความคิดริเริ่มระดับภูมิภาคที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในชุมชนฮอร์มุซ โดยนำรัฐต่างๆ จำนวนมากมารวมกัน ข้อเสนอนั้นสามารถได้รับชีวิตใหม่ภายใต้ MWADA โดยหลักแล้ว

เนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างมากระหว่างอิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน ความร่วมมือระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสองมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากที่สุดในภูมิภาค จะมีบทบาทสำคัญ การส่งเสริมความสามัคคีและภราดรภาพระหว่างชาวมุสลิมชีอะห์และซุนนี จะทำให้เราสามารถต่อต้านลัทธิหัวรุนแรงและความขัดแย้งทางนิกายที่เคยทำให้ภูมิภาคนี้ไร้เสถียรภาพมาโดยตลอด

การทำงานเพื่อให้ภูมิภาคปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์และฟื้นคืนข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน (JCPOA) เป็นองค์ประกอบสำคัญของวิสัยทัศน์นี้ แนวทางนี้ไม่ควรแก้ไขเฉพาะการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ กรอบ MWADA ควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การจัดการน้ำ การต่อต้านการก่อการร้าย และแคมเปญสื่อที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน

บทบาทของอิหร่าน เช่นเดียวกับผู้เข้าร่วมชาติอื่น ๆ อิหร่านจะมีบทบาทที่ขาดไม่ได้ ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา ประเทศของผมได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างน่าทึ่งในด้านความปลอดภัยและการป้องกันประเทศ สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ ไม่เพียงแต่โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังได้รับแรงกดดันจากมหาอำนาจนอกภูมิภาคอีกด้วย การรับรู้ที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าอิหร่านจะสูญเสียอาวุธในภูมิภาคนี้มาจากการสันนิษฐานที่ผิด ว่าอิหร่านมีความสัมพันธ์แบบตัวแทน-อุปถัมภ์กับกองกำลังต่อต้าน การต่อต้านมีรากฐานมาจากการที่อิสราเอลยึดครองดินแดนอาหรับ การทำลายล้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม การแบ่งแยกสีผิว การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการรุกรานเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง มีอยู่ก่อนการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 และจะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่สาเหตุหลักยังคงอยู่ การพยายามโยนความผิดให้อิหร่านอาจทำให้แคมเปญประชาสัมพันธ์ถูกตัดขาด แต่จะขัดขวางการแก้ไขปัญหา

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ อิหร่านต้องเผชิญกับความท้าทายและความผิดพลาดมากมาย ประชาชนอิหร่านซึ่งต้องเสียสละอย่างมากมาย พร้อมที่จะก้าวเดินอย่างกล้าหาญด้วยความอดทนและความมั่นใจ การเปลี่ยนแปลงจากมุมมองที่เน้นภัยคุกคามไปสู่มุมมองที่เน้นโอกาสนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ประธานาธิบดี Pezeshkian (และผมเอง) วางไว้ระหว่างแคมเปญหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในอิหร่านเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว

MWADA ท้าทายให้เราจินตนาการถึงภูมิภาคใหม่ที่ไม่ใช่เป็นสนามรบ แต่เป็นศูนย์กลางของ มิตรภาพ และความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือการแสวงหาโอกาสร่วมกันและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน สิ่งสำคัญคือต้องมีส่วนร่วมในการสนทนาที่มีความหมายและตรงไปตรงมา ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถสร้างอนาคตที่กำหนดโดยความร่วมมือ การพัฒนาร่วมกันและยั่งยืน ความยุติธรรมทางสังคมและสวัสดิการ และความหวังใหม่

การเปลี่ยนแปลงเอเชียตะวันตกให้กลายเป็นประภาคารแห่งสันติภาพและความร่วมมือ ไม่ใช่เพียงแค่ความปรารถนาในอุดมคติเท่านั้น แต่ยังเป็นทั้งความจำเป็นเชิงกลยุทธ์และเป้าหมายที่บรรลุได้ซึ่งต้องการเพียงความมุ่งมั่น การสนทนา และวิสัยทัศน์ร่วมกัน MWADA สามารถเป็นแพลตฟอร์มแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ เราควรคว้าโอกาสนี้ไว้เพื่อสร้างเอเชียตะวันตกที่มั่นคง มั่งคั่ง และสงบสุข ซึ่ง ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และความร่วมมือจะเข้ามาแทนที่ความขัดแย้งและความแตกแยก พวกเราในรัฐบาลของแต่ละรัฐจะต้องคว้าโอกาสนี้ไว้เพื่อเริ่มมองไปยังอนาคตแทนที่จะปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับอดีต และถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงมือทำกันอย่างจริงจังเสียที

‘กลุ่มบริกส์’ ออกแถลงการ!! ทำงานแบบพหุภาคี เพื่อการพัฒนา ย้ำ!! เป็นครอบครัวเดียวกัน ช่วยกันพัฒนา เพื่อให้โลกมั่นคง

(29 ธ.ค. 67) ผลการดำเนินงานของประเทศรัสเซียในฐานะประธานกลุ่มบริกส์

ในปี 2567 ประเทศรัสเซียได้เป็นประธานของกลุ่มบริกส์ โดยมีความตั้งใจในการทำงานร่วมกับสมาชิกกลุ่มไว้ว่า จะเสริมสร้างการทำงานแบบพหุภาคีเพื่อการพัฒนาและทำให้โลกนั้นมีความมั่นคงและยุติธรรม” เพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนาของผู้เข้าร่วมทั้งหมด นำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีความเท่าเทียมและสามารถเลือกวิธีการในการพัฒนาตัวเองได้อย่างมีอิสระ

ในปีนี้เราได้ทำงานในรูปแบบใหม่และได้ขยายขอบเขตการทำงานออกไปมากยิ่งขึ้น รัสเซียในฐานะประธานของกลุ่มบริกส์ ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้สมาชิกใหม่เข้าถึงความเป็นครอบครัวของบริกส์ ได้อย่างรวดเร็วและเรียบง่ายที่สุด เพื่อให้สมาชิกใหม่ได้บรรลุในผลประโยชน์ร่วมกันและเคารพกันและกัน ทุกคนได้เสนอแนวคิดและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์และมีแนวโน้มที่ดีในอนาคตทั้งทางด้าน

การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงการติดต่อด้านมนุษยธรรมระหว่างกัน 
ในระหว่างการทำงานของรัสเซียในฐานะตำแหน่งประธานของกลุ่มบริกส์ได้มีการจัดงานขึ้นมากกว่า 250 งานและหลากหลายระดับ ซึ่งได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนเข้าร่วม เรายังได้จัดงานสาธารณะขึ้นมาอีกมากมาย เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของกลุ่มบริกส์ การสัมมนาวิชาการบริกส์ภายใต้คำขวัญว่าผู้เล่นใหม่บนกระดานหมากรุกโลก นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนสอนละครบริกส์และการประชุมด้านธุรกิจบริกส์ ครั้งที่ 8 ที่ดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ 

ได้มีการประชุมในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศบริกส์ที่ได้รับเกียรติจากนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเข้าร่วมงานเมื่อวันที่ 10 – 11 มิถุยายน 2567 ณ เมืองนิจนีนอฟโกรอด ประเทศรัสเซีย นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า 80 กว่าประเทศ (รวมประเทศไทย) ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาของกลุ่มบริกส์ ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้เข้าร่วมการประชุมพรรคการเมืองระหว่างประเทศครั้งแรกในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยมีพรรคการเมืองต่าง ๆ จากกลุ่มบริกส์และประเทศพันธมิตรกว่า 40 พรรคการเมืองในเดือนมิถุนายน ณ เมืองวลาดิวอสต็อก ประเทศรัสเซีย

ในภาพรวมรัสเซียเข้าร่วมประชุมร่วมกับหน่วยงานอัยการ หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของบริกส์ การประชุมสร้างสรรค์เรื่องเมืองฝาแฝดและระบบเทศบาลของบริกส์ การประชุมกับหน่วยงานที่ทำงานบริการฉุกเฉิน  การประชุมด้านรัฐสภาบริกส์ครั้งที่ 10 (เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก การประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านการตรวจสอบสูงสุด การประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าหน่วยงานศุลกากร หัวหน้าหน่วยงานด้านภาษี หัวหน้าหน่วยงานมาตรฐานแห่งชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย

ประเทศรัสเซียได้เป็นประธานของการประชุมสุดยอดสื่อมวลชนบริกส์ การประชุมกลุ่มสตรีของบริกส์ ครั้งที่ 1 การประชุมด้านการทำงานดิจิทัลของบริกส์ การประชุมสุดยอดด้านแฟชั่นในบริกส์พลัส และการประชุมของสภาธุรกิจของบริกส์ประจำปี 

รัสเซียในฐานะประธานของกลุ่มยังได้เน้นการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น ได้มีการจัดการประชุมในระดับเทศบาล การอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน และวิธีการต่างๆ ของคณะกรรมการของเมืองต่าง ๆ จัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนของตน 

กิจกรรมที่มีความสำคัญมากที่สุดของบริกส์ในปีนี้ คือ การประชุมสุดยอดบริกส์ ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซียระหว่างวันที่ 22 – 24 ตุลาคม 2567 และการประชุมครั้งนี้ได้ถือเป็นนิมิตหมายใหม่ของการพัฒนากลุ่มบริกส์ ซึ่งในการประชุมได้มีคณะผู้แทนจาก 35 ประเทศในโลกเข้าร่วม รวมถึง 6 องค์การระหว่างประเทศ การที่มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างมีอิสระและมีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง คณะผู้แทนของแต่ละประเทศได้มีความปรารถนาร่วมกันในการเสริมสร้างการทำงานร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นด้านระบบการเงินระดับโลก การต่อสู้กับภัยคุกคามใหม่ ๆ เช่น การก่อการร้าย การทุจริตคอร์รัปชัน การค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น

ปฏิญญาคาซานของบริกส์ได้สรุปผลการอภิปรายเอาไว้แล้วและได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมทั้งหมดในการสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นและเป็นระบบที่มีหลายขั้วอำนาจและยึดการทำงานตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรของสหประชาชาติ ต่อต้านการคว่ำบาตรที่ไม่ชอบธรรม

ในการประชุมสุดยอดบริกส์ครั้งนั้นได้มีการกำหนดแนวทางร่วมกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กรโดยการเพิ่มการทำงานร่วมกันในลักษณะรัฐคู่ค้า (Partner States) ของกลุ่มบริกส์

เจตนารมณ์ของกลุ่มบริกส์ได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาการเจรจากับประเทศต่าง ๆ ของโลกในรูปแบบของการเข้าถึง/บริกส์พลัส (Outreach/BRICS Plus Format) และเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปของบริกส์ในฐานะของผู้เล่นชั้นนำบนเวทีโลก

กลุ่มบริกส์ยังได้สร้างผลงานความสำเร็จอื่นๆ อีก ได้แก่ การริเริ่มสร้างการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ธัญพืช การจัดตั้งระบบด้านเทคโนโลยีและการลงทุนใหม่ๆ การจัดตั้งกลุ่มเพื่อการพัฒนาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ทั้งหมดมีแนวโน้มที่ดีในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การดำเนินงานในโครงการใหม่ ๆ ด้านพลังงาน การขนส่งโลจิสติกส์ เทคโนโลยีขั้นสูง การส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และกีฬา การติดต่อกันระหว่างสังคมและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่และอีกหลายๆ ด้านที่กำลังส่งเสริมและพัฒนา

ในการประชุมสุดยอดที่เมืองคาซานนั้น เราสามารถยืนยันได้ว่าการประชุมของกลุ่มบริกส์ไม่ใช่การประชุมในรูปแบบปิด แต่ได้เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีแนวคิดค่านิยมเดียวกันกับกลุ่มบริกส์ โดยสมาชิกนั้นพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ต้องได้รับการออกคำสั่งจากภายนอกที่จะกำหนดในแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่แคบมากจนเกินไป เป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มบริกส์จะล้มเหลวจากที่ได้เห็นแนวโน้มความต้องการของโลกที่เพิ่มขึ้นในการสร้างความร่วมมือกันในระดับนี้ 

กลุ่มบริกส์มีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งหมดของสมาชิกบริกส์ เรามีประชากรรวมกันประมาณ 3,640 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 45 ของประชากรโลก

ปัจจุบันบริกส์มีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญและเป็นภารกิจหลักนั่นคือการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของโลกเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นอีกของสงครามโลก เราเชื่อว่าเป็นไปได้ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ 

ผลการดำเนินงานในปีนี้จะเป็นรากฐานของความมั่นคงสำหรับความร่วมมือที่ดีในอนาคต ต่อไปรัสเซียจะส่งมอบตำแหน่งประธานของบริกส์ให้กับประเทศบราซิลและเราขออวยพรให้ประเทศพันธมิตรบราซิลของเราประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานในฐานะประธานกลุ่มบริกส์ในปีหน้านี้

‘เยาวภา แสงจันทร์’ บล็อกเกอร์สาวไทย เยือน!! 'ฉงชิ่ง' เมืองภูเขา ชี้!! ทีเด็ด ‘หม้อไฟหมาล่า – ผู้ชายหน้าตาดี – บินตรงแค่สามชั่วโมง’

(28 ธ.ค. 67) แม้อากาศจะเย็นยิ่งขึ้นตามการลดลงของอุณหภูมิในฤดูหนาว แต่พื้นที่ชมวิวริมแม่น้ำเจียหลิงในมหานครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ยังคงมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเดินเล่นกันอย่างคึกคัก เพื่อรอชมภาพขบวนรถไฟทะลุตึกสูงด้วยตาตัวเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘เยาวภา แสงจันทร์’ หรือ ‘หลี่เพ่ยอิง’ บล็อกเกอร์สาวสายท่องเที่ยวจากไทย

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ สถานีหลีจื่อป้าของทางรถไฟรางเบาในฉงชิ่งกลายเป็นแลนด์มาร์กชื่อดังบนโลกโซเชียล ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมาเช็กอินจุด ‘รถไฟทะลุตึก’ กันเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับ ‘ประวิตร’ ชาวไทยที่เผยว่าการมาเที่ยวฉงชิ่งเหมือนแกะกล่องสุ่ม ที่นี่มีภูมิประเทศแบบภูเขาและตึกสูงเรียงรายซับซ้อนชวนให้ประหลาดใจได้เสมอยามเดินสำรวจ

จีนได้ปรับปรุงนโยบายวีซ่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ปี 2024 พร้อมยกระดับความสะดวกสบายด้านการชำระเงิน ภาษา การเดินทาง ฯลฯ เพื่อผลักดันให้ ‘ไชน่า ทราเวล’ (China Travel) หรือ ‘ท่องเที่ยวจีน’ กลายเป็นคำศัพท์ฮิตในตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เมื่อไม่นานนี้ จีนประกาศการผ่อนปรนนโยบายเดินทางผ่าน (transit) แบบฟรีวีซ่า ขยายระยะเวลาพำนักที่ได้รับอนุญาตของนักเดินทางชาวต่างชาติที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์จากเดิม 72 และ 144 ชั่วโมง เป็น 240 ชั่วโมง หรือ 10 วัน และสามารถเดินทางข้ามมณฑลได้ทั่ว 24 มณฑล เขตปกครอง และเทศบาลนคร

กระแส ‘ไชน่า ทราเวล’ หรือ ‘ท่องเที่ยวจีน’ ที่ติดลมบนได้เปิดประตูบานใหม่ในการทำความเข้าใจจีน ทำให้ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยหลงรักการเดินทางท่องเที่ยวจีน ดังเช่น ‘ใจดี’ และเพื่อนๆ ของเธอ ซึ่งเดินทางเยี่ยมชมผาหินแกะสลักต้าจู๋ แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในฉงชิ่ง เล่าว่าพระพุทธรูปแกะสลักที่นี่แตกต่างกับที่ไทย ทำให้ถ่ายรูปออกมาสวยงามมาก

ข้อมูลจากเอเจนซีการเดินทางท่องเที่ยวท้องถิ่นฉงชิ่งพบว่านอกจากย่านใจกลางเมืองแล้ว นักท่องเที่ยวชาวไทยยังชื่นชอบแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมนอกตัวเมือง เช่น ผาหินแกะสลักต้าจู๋ และระบบชลประทานตูเจียงเยี่ยนของซื่อชวน (เสฉวน) ที่ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิทัศน์ธรรมชาติเป็นเอกลักษณ์ มอบประสบการณ์แปลกใหม่แก่นักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ฉงชิ่งยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยแม้ล่วงเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว โดยข้อมูลสถิติจากซีทริป (Ctrip) พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเยือนฉงชิ่ง ช่วงเดือนมีนาคม-พฤศจิกายนของปี 2024 เพิ่มขึ้นราวสามเท่าเมื่อเทียบปีต่อปี เนื่องด้วยอานิสงส์จากข้อตกลงยกเว้นวีซ่าระหว่างจีนกับไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้ร่วมกันตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2024

เยาวภา แสงจันทร์ หรือหลี่เพ่ยอิง บล็อกเกอร์สาวไทย เสริมว่าเหตุผลที่ฉงชิ่งเป็นจุดหมายยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยคือการเป็นบ้านเกิดของ ‘เซียวจ้าน’ ผู้ชายที่หล่อที่สุดของจีนตามความเห็นของชาวเน็ตจีน โดยเซียวจ้านเป็นดาราจีนที่มีแฟนคลับชาวไทยอยู่มาก และอีกเหตุผลคือ ‘หม้อไฟหมาล่า’ รสชาติเผ็ดร้อนถูกปากชาวไทยสายแซ่บ

ปัจจุบันที่เข้าใกล้ช่วงหยุดยาวปีใหม่สากลและเทศกาลตรุษจีนของจีน สายการบินบางส่วนในฉงชิ่งได้เริ่มเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินโดยสารแบบไปกลับไทย ซึ่งเยาวภาเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางฉงชิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะแค่มี ‘พาสปอร์ตหนึ่งเล่ม’ บวกกับ ‘บินตรงสามชั่วโมง’ ก็สามารถมาสำรวจ ‘เมืองภูเขา’ แห่งนี้ได้แล้ว

มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ส่อแวว!! เผชิญปัญหาการเงิน ชี้!! ‘ฮาร์วาร์ด’ ก็อาจไม่รอด หากไม่รีบปรับตัว แก้ไขวิกฤต

(28 ธ.ค. 67) บรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาเรื่องเงิน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่พวกเขาก่อขึ้นเอง ขณะวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่มีขนาดเล็กกว่ากำลังตัดลดพนักงานและโครงการต่าง ๆ ซึ่งจำนวนมากต้องปิดตัวลงฉับพลัน

รายงานยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่มีความเก่าแก่ 400 ปี เผชิญความไม่แน่นอนว่าจะอยู่รอดถึงปีที่ 500 หรือไม่ โดยปัญหาทางการเงินที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมอาจผุดโผล่ขึ้นมา หากตลาดกระทิง (bull market) หยุดชะงัก และโดยเฉพาะหากมีการประกาศใช้นโยบายที่เสนอโดยรัฐบาลภายใต้ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ริชาร์ด เอนนิส ที่ปรึกษาทางการลงทุนระดับอาวุโส มองว่าต้นทุนที่สูงและ ‘ความคิดว่าตนเหนือกว่าอันล้าสมัย’ ได้ขัดขวางความก้าวหน้าของกองทุนสะสมทรัพย์ของกลุ่มมหาวิทยาลัยไอวี ลีก (Ivy League) ซึ่งอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 นับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008 หากลงทุนในหุ้นและกองทุนผสมแบบดั้งเดิม

ส่วนสองนโยบายของรัฐบาลทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของกลุ่มไอวี ลีก ยิ่งขึ้น โดยนโยบายหนึ่งเป็นการเก็บภาษีเงินได้ร้อยละ 1.4 ตามกฎหมายลดหย่อนภาษีและการจ้างงาน ปี 2017 สำหรับกองทุนสะสมทรัพย์มูลค่ามากกว่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17 ล้านบาท) ต่อนักศึกษาในสถานศึกษาที่มีผู้เรียนมากกว่า 500 คน

รายงานเสริมว่ากฎเกณฑ์ด้านวีซ่าอาจทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นหรือไม่ดึงดูดใจนักศึกษาชาวต่างชาติมาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ โดยนักศึกษาชาวต่างชาติมักไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือ และสถานการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรกของโดนัลด์ ทรัมป์

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม แถลง!! ผลการหารือกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เผย!! พูดคุยประเด็นสำคัญในภูมิภาค เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การสร้างสันติภาพในภาคใต้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม เปิดใจเชื่อ ความเจนจัดของอดีตผู้นำไทย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีเครือข่ายกว้างขวางไปทั่วภูมิภาคจะเป็นประโยชน์ต่อ 'มาเลเซีย' ที่กำลังจะนั่งในตำแหน่งประธานอาเซียนแบบหมุนเวียนคนใหม่ในปี 2025

และเสริมว่า ผู้นำทั้งสองพบกันในวันพฤหัสบดี (26) โดยบลูมเบิร์กกล่าวว่า ประเด็นการหารือประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญของภูมิภาค รวมไปถึงการเสริมสร้างสันติภาพในภาคใต้ของไทยและต่อวิกฤตพม่า

“เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ไม่มีใครเทียบเคียงของคุณทักษิณไปทั่วทั้งภูมิภาคพร้อมไปด้วยความเชี่ยวชาญที่พิเศษที่โดดเด่นของเขานั้นเป็นเสมือนการสัญญาต่อโอกาสที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับทั้งมาเลเซียและอาเซียน เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้วยความเชื่อมั่นและความสามารถที่มากขึ้น” 

อันวาร์ซึ่งเรียกอดีตนายกฯ ไทยว่า ‘เพื่อนรัก’ ดูเหมือนว่าเขาจะไม่มีความรู้สึกวิตกต่อปัญหาทางกฎหมายและการเมืองในไทยที่รุมล้อมอดีตผู้นำไทยที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองนาน 15 ปีจากการโดนทำรัฐประหาร ซึ่งมีประวัติทำความผิดคอร์รัปชันและสามารถรอมชอมกับทหารได้ ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา

และหลังจากที่นายกฯ อันวาแต่งตั้งทักษิณเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนในฐานะหนึ่งในที่ปรึกษาส่วนตัวในการนั่งทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนครั้งแรกกลับพบกับเสียงวิจารณ์จากทั้งในไทยและในมาเลเซีย และรวมไปสื่อนอกเช่น รอยเตอร์

มีการหยิบยกการเปรียบเทียบให้เห็นเหมือนเมื่อครั้งการได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและความสัมพันธ์กับฮุนเซน ย้อนให้นึกถึงครั้งที่ ทักษิณ ได้รับการแต่งตั้งจากฮุนเซน ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา แต่หลังจากนั้นไม่นานทักษิณประกาศลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างของฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกัมพูชามีข้อพิพาททางทะเลกับไทยในเรื่องเกาะกูด

ขณะที่ฝ่ายค้านมาเลเซียเองออกมาถามอาเซียนจะได้ประโยชน์จริงหรือและจะเสริมภาพลักษณ์ของอันวาร์ได้อย่างไร ซัดตั้งคนที่ถูกพิพากษาจำคุกฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำไมไม่ตั้งนักการทูตหรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ด้าน ‘ดร.มหาเธร์’ งง ทำไมเลือกทักษิณ ทั้งที่มีคนอื่นมากมาย

ซึ่งการพบกันระหว่าง 2 ผู้นำมาเลเซีย-ไทยนี้เป็นที่จับตาเป็นวงกว้างโดยเฉพาะจากโลกตะวันตก เกิดขึ้นหลังสื่อ TASS ของรัสเซียรายงานวันพุธ (25) เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้ตอบรับการเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS (BRICS partner country) ซึ่งเป็นก้าวที่จะนำไปสู่การเป็นสมาชิกเต็มตัวในอนาคต

กลายเป็นคำถามให้ผู้เชี่ยวชาญว่า กลุ่มอาเซียน 10 ชาติซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1967 นี้จะยังคงวางตัวเป็นกลางอย่างไรในเมื่อ 3 ชาติจากทั้งหมดได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งกำลังจะเป็นประธานอาเซียน รวมไทย ที่มีอดีตนายกฯ นั่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานอาเซียน และอินโดนีเซียนั้นกำลังจะเป็นหุ้นส่วนกับรัสเซีย-จีนผ่านกลุ่ม BRICS

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า นักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า ในฐานะเป็นประธานอาเซียน อันวาร์และมาเลเซียจะผงาดบนเวทีโลกในฐานะชาติมหาอำนาจตัวกลาง (middle power) โดยในการจำกัดความที่หมายถึงประเทศที่ยังไม่มีอิทธิพลโดดเด่นในฐานะชาติมหาอำนาจโลก เช่น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย แต่ถูกพิจารณาว่ามีอิทธิพลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การทูตของนายกฯ อันวาร์รวมถึงการไปเยือนอเมริกาใต้เพื่อประชุมเอเปกและการประชุม G-20 สะท้อนถึงการสร้างที่ยืนของมาเลเซียและเขาบนเวทีโลกและแผนสำหรับการนำอาเซียนในปี 2025

เรดิโอฟรีเอเชียชี้ว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มักจะย้ำเสมอในการให้สำคัญต่ออาเซียนและกลไกของอาเซียนต่อเป้าหมายในการทำให้มีความเหมาะสมมากขึ้นสำหรับความพยายามอย่างเคลื่อนไหวภายในโลกขั้วใต้ (Global South) ซึ่งโลกขั้วใต้นี้ปักกิ่งได้ประกาศแสดงความเป็นผู้นำ

และเป็นเสมือนสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำแดนเสือเหลืองที่ต้องทำให้มั่นใจว่า กลุ่มอาเซียนจะไม่เพียงแต่เป็นกลาง แต่ต้องถูกมองให้เป็นเช่นนั้นด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Matthijs van den Broek แสดงความเห็น

และเสริมว่า ในขณะที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาข่มขู่ว่าจะตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่วต่อประเทศใดๆ ที่เขาเชื่อว่ากำลังเป็นศัตรูกับดอลลาร์สหรัฐ หลังกลุ่ม BRICS วางแผนจะตั้งสกุลเงินใหม่ของตัวเอง

ทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการซื้อขายต่างชาติระดับต้นและเป็นพันธมิตรทางการลงทุน ดังนั้นแล้ว มาเลเซียในฐานะประธานต้องเพิ่มความสามารถทางการทูตของตัวเองเพื่อไม่ให้มีการทำให้รู้สึกทอดทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

จีนเผยโฉมเรือยกพลขึ้นบกลำใหม่ ‘ซื่อชวน’ เพิ่มขีดความสามารถสู้รบในน่านน้ำระยะไกล

จีนได้จัดพิธีเปิดตัวเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกไทป์ 076 รุ่นใหม่ลำแรกในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถูกตั้งชื่อตามมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ โดยเรือลำใหม่ที่พัฒนาขึ้นเองนี้มีหมายเลขตัวเรือเป็นเลข 51

(27 ธ.ค.67) รายงานระบุว่าเรือซื่อชวนมีระวางขับน้ำเต็มพิกัดกว่า 40,000 ตันโครงสร้างเก๋งเรือแบบเกาะคู่ ดาดฟ้าเรือเต็มความยาว และใช้เทคโนโลยีเครื่องดีดส่งและอุปกรณ์จับกุมแบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันเป็นนวัตกรรมใหม่ ช่วยให้สามารถบรรทุกอากาศยานปีกตรึง เฮลิคอปเตอร์ และอุปกรณ์สะเทินน้ำสะเทินบก

เจ้าหน้าที่กองทัพเรือจีนเผยว่าเรือซื่อชวนเป็นเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกรุ่นใหม่ของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน มีบทบาทสำคัญต่อการเดินหน้าการพัฒนาของกองทัพเรือและการเพิ่มพูนขีดความสามารถทางการสู้รบในน่านน้ำทะเลอันไกลโพ้น

ทั้งนี้ เรือซื่อชวนจะต้องผ่านบททดสอบรายการต่าง ๆ ตามแผน ทั้งการทำงานของอุปกรณ์ การจอดเทียบ และการล่องทะเล

จี้ 'ฮุนมาเนต' ยกเลิก MOU44 แนะฟ้องศาลโลกตัดสิน 'เกาะกูด' เหมือนคดีเขาพระวิหาร

(27 ธ.ค.67) สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาเขมร รายงานว่า นาย อึม สำอาน (Oum Sam An) นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซึ่งลี้ภัยในสหรัฐเพราะถูกตัดสินจำคุกในข้อหาปลุกปั่นประเด็นเรื่องชายแดน ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฮุนมาเนตของกัมพูชา ยกเลิกบันทึกความเข้าใจหรือ MOU44 และหันไปหาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อแก้ไขกรณีข้อพิพาทเหนือเกาะกูด

นาย อึม สำอาน อดีตสส.จาก จ.เสียมเรียบ พรรคพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) กล่าวว่า ประชาชนชาวกัมพูชาจะยังคงชุมนุมประท้วงภายใต้ชื่อ 'ปกป้องเกาะกูด' (Defend Koh Kut) ที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 19 มกราคม  และจะประท้วงจนกว่ากัมพูชาจะได้รับพื้นที่บนเกาะกูดคืนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง โดยเขาชี้ว่าการเจรจาทวิภาคีไม่สามารถทำให้ไทยคืนเกาะกูดได้ และเน้นย้ำว่ากัมพูชาควรใช้แนวทางฟ้องร้องในศาลโลก เช่นเดียวกับกรณีปราสาทพระวิหารในปี 2505 

“บันทึกความเข้าใจเป็นเพียงพื้นฐาน ดังนั้นกัมพูชาจึงมีสิทธิ์ยกเลิกได้ตลอดเวลา และหลังจากยกเลิกเอ็มโอยู กัมพูชาสามารถอ้างสิทธิ์ของเกาะได้ผ่านการฟ้องร้องประเทศไทยในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เราไม่ควรใช้การเจรจาแบบทวิภาคี เพราะจะไม่มีการคืนเกาะ ไทยควบคุมเกาะกูด 100% อยากให้ดูตัวอย่างกรณีของเขาพระวิหาร ซึ่งในกรณีนั้นถ้าหากสมเด็จพระนโรดมสีหนุไม่นำเรื่องเขาพระวิหารไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ICJ ในปี 1962 เราก็คงไม่ได้เขาพระวิหารคืน” 

ด้านนายสุน ชัย รองหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา ระบุว่า เกาะกูดเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาติ พร้อมแสดงความหวังว่ารัฐบาลกัมพูชาจะนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเจรจาหรือฟ้องร้องในศาลโลกเพื่อทวงคืนพื้นที่  

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา กล่าวระหว่างพิธีมอบปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยฮิวแมน รีซอร์ส เมื่อ 26 ธ.ค. โดยยืนยันจุดยืนของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน หลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นเกาะกูด โดยย้ำว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน  

นักวิเคราะห์ด้านการพัฒนาสังคม ดร.เมียส นี (Meas Ny) ชี้ว่า ปัญหาเขตแดนเป็นเรื่องสำคัญที่นักการเมืองทั้งสองประเทศควรละผลประโยชน์ส่วนตัว และร่วมกันหาทางออกที่เป็นธรรมผ่านช่องทางระหว่างประเทศ โดยมองว่าการฟ้องร้องต่อศาลโลกเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

สภาเกาหลีใต้ลงมติ 192 เสียง ถอด 'ฮันด็อกซู' พ้นรักษาการปธน.

(27 ธ.ค. 67) นายฮันด็อกซู นายกรัฐมนตรีและในฐานะรักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกลงมติถอดถอนจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียง 192 เสียง หลังจากที่เขารับหน้าที่แทน นายยุนซอกยอล ซึ่งถูกถอดถอนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากการประกาศกฎอัยการศึก  

พรรคฝ่ายค้านที่ควบคุมเสียงข้างมากในสภา เป็นผู้ยื่นญัตติถอดถอนนายฮันเมื่อวันพฤหัสบดี โดยกล่าวหาว่าเขา “กระทำการเพื่อก่อการกบฏ” ข้อกล่าวหานี้เกิดขึ้นหลังนายฮันปฏิเสธการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ 3 คนทันที ซึ่งฝ่ายค้านมองว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต  

ก่อนการลงมติ ประธานรัฐสภา นายอูวอนชิก ชี้แจงว่า การถอดถอนนายฮันครั้งนี้ต้องการเสียงข้างมาก 151 เสียง ซึ่งเป็นการปรับความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับเกณฑ์ที่ใช้ หลังมีความสับสนในประเด็นนี้ โดยปกติการถอดถอนประธานาธิบดีต้องการเสียง 200 เสียง  

หลังจากนายฮันถูกถอดถอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชอยซังม็อก จะเข้ารับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีตามกฎหมาย สถานการณ์นี้สะท้อนถึงวิกฤตการเมืองในเกาหลีใต้ที่มีแนวโน้มทวีความตึงเครียดขึ้น

นายกฯ กัมพูชายืนยันจุดยืนบูรณภาพแห่งดินแดน หลังมีเสียงวิจารณ์ปมเกาะกูด

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวระหว่างพิธีมอบปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยฮิวแมน รีซอร์ส เมื่อ 26 ธ.ค. โดยยืนยันจุดยืนของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน หลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นเกาะกูด โดยย้ำว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย 

"ผมขอพูดอย่างชัดเจนว่า การที่รัฐบาลไม่ได้ตอบโต้ข้อกังวลบนเฟซบุ๊ก ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ทำงานเพื่อปกป้องและเสริมสร้างบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ หรือส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับสถานะของกัมพูชาในเวทีโลก เราทำเรื่องนี้กันทุกวันอยู่แล้ว " นายกฯ ฮุนมาเนต ยังเน้นย้ำว่า "เรื่องนั้นไม่จำเป็นต้องโบกธงหรือตะโกนคัดค้านใดๆ สิ่งที่เราต้องทำคือมุ่งเน้นที่การทำงานของเรา"  

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบโต้เสียงวิจารณ์ที่ว่ารัฐบาลของนายฮุนมาเนตเพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาเรื่องการสูญเสียดินแดน โดยเฉพาะจากกลุ่มฝ่ายค้านชาวกัมพูชาในสหรัฐฯ ซึ่งเตรียมจัดการประท้วงในชื่อ 'ปกป้องเกาะกูด' (Defend Koh Kut) ที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 19 มกราคม  

รายงานจากสำนักข่าว พนมเปญโพสต์ ระบุว่า ประเด็นเกาะกูดกลายเป็นข้อพิพาท เนื่องจากทั้งกัมพูชาและไทยต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะดังกล่าว ขณะที่สื่อไทยรายงานล่าสุดว่า ไทยได้ประกาศอ้างสิทธิเหนือเกาะนี้เช่นกัน  

ขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านในสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาแสดงจุดยืนที่ชัดเจน โดยต้องการให้รัฐบาลยืนยันว่าเกาะกูดเป็นดินแดนของกัมพูชาอย่างเป็นทางการ หรือยกระดับประเด็นนี้ให้ถึงขั้นพิจารณาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างเป็นธรรม

จีนปลด 2 นายพลพ้นสภาฯ เซ่นกวาดล้างทุจริตในกองทัพ

(27 ธ.ค.67) ทางการจีนประกาศปลดนายทหารระดับสูงสองนายอย่างกะทันหันจากการเป็นสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) โดยไม่มีการชี้แจงอย่างละเอียด สะท้อนถึงการเดินหน้ากวาดล้างบุคลากรระดับสูงในกองทัพอย่างต่อเนื่อง  

ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติได้ยกเลิกสมาชิกภาพของ หยู่ ไห่เทา อดีตรองผู้บัญชาการกองทัพบกปลดปล่อยประชาชน และ หลี่ เผิงเฉิง ผู้บัญชาการกองทัพเรือประจำเขตยุทธการภาคใต้ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเขตที่มีข้อพิพาทด้านดินแดน ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ จู้ ซินชุน ผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าของหลี่ ก็ถูกปลดจากสภาเมื่อปีที่ผ่านมา  

คณะกรรมาธิการระบุเพียงว่า ทั้งสองนายตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าละเมิดกฎหมายและวินัย ซึ่งมักเป็นคำที่พรรคคอมมิวนิสต์ใช้กล่าวถึงการทุจริต การดำเนินการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการต่อต้านการทุจริตในกองทัพ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว โดยเป้าหมายหลักในระยะแรกคือหน่วยจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และกองกำลังขีปนาวุธ  

เมื่อเดือนที่ผ่านมา จีนได้สั่งพักงานเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดด้านการทหารที่มีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นประธาน นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม จีนได้สร้างความประหลาดใจอีกครั้งด้วยการแต่งตั้งผู้ตรวจการทางการเมืองคนใหม่ประจำกองทัพบก  

การเคลื่อนไหวดังกล่าวตอกย้ำถึงความพยายามของรัฐบาลจีนในการเสริมสร้างความโปร่งใสและความเป็นระเบียบในกองทัพ ท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาคและการเฝ้าจับตามองจากนานาชาติ

เครมลินออกโรงป้องเหตุเครื่องบินอาเซอร์ไบจานตก ปัดโยงมิสไซล์รัสเซีย ชี้รอผลการสอบสวนก่อนสรุป

( 27 ธ.ค.67) จากเหตุเครื่องบินแบบ embraer 190 ของสายการบิน Azerbaijan Airlines ตกใกล้เมืองอัคเตา ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของคาซัคสถาน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากบินออกนอกเส้นทางโดยไม่ทราบสาเหตุ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย บาดเจ็บจำนวนมากนั้น

ภายหลังการเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่อาเซอร์ไบจานและสหรัฐฯ เชื่อว่าเครื่องบินโดยสารของอาเซอร์ไบจานที่ประสบเหตุร้ายแรงถูกยิงตกโดยขีปนาวุธพื้นสู่อากาศของรัสเซีย

จากรายงานข่าวของสื่อระบุว่าพบหลักฐานเป็นสะเก็ดระเบิดและร่องรอยจากการถูกยิงด้วยขีปนาวุธบริเวณปลายหางท้ายลำของเครื่องบิน ส่งผลให้เครื่องบินไม่สามารถควบคุมได้ นักบินจึงต้องนำเครื่องร่อนลงจอดฉุกเฉินนั้น มีชิ้นส่วนของขีปนาวุธแบบ Pantsir-S ซึ่งเป็นมิสไซล์จากภาคพื้นสู่อากาศของรัสเซียปะปนอยู่กับเศษซากของเครื่องบินด้วย

สอดคล้องกับอดีตผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุทางการบินของฝรั่งเศส (BEA) ที่ระบุว่า ความเสียหายของซากเครื่องบินดูเหมือนจะมีร่องรอยจาก 'สะเก็ดระเบิด'  

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและการทหารบางคนคาดการณ์ว่า เครื่องบินอาจถูกระบบป้องกันทางอากาศของรัสเซียยิงตกโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากบริเวณที่เครื่องบินบินผ่านมีการรายงานการเคลื่อนไหวของโดรนยูเครน  

เขากล่าวโดยไม่เปิดเผยตัวตนว่า ความเสียหายดังกล่าว 'คล้ายกับ' กรณีเครื่องบิน Malaysia Airlines เที่ยวบิน MH17 ที่ถูกขีปนาวุธยิงตกโดยกลุ่มกบฏที่รัสเซียสนับสนุนในยูเครนตะวันออกเมื่อปี 2014  

ขณะที่สำนักข่าว Kazinform ของคาซัคสถานรายงานว่า มีการกู้กล่องดำบันทึกการบินสองกล่องจากที่เกิดเหตุได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องรอการสอบสวนต่อไป 

ทั้งนี้ หลังมีรายงานข่าวว่า เครื่องบินลำดังกล่าวอาจประสบเหตุตกจากขีปนาวุธของรัสเซีย ทางด้านโฆษกเครมลิน ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “อย่าเพิ่งเชื่อสมมติฐานใดๆ มันอาจจะผิดหากสรุปการคาดเดาใด ๆ ก่อนการสอบสวนจะเสร็จสิ้น”

ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ระยะห่างเพียง 6.1 ล้านกิโลเมตร

(26 ธ.ค. 67) ยานอวกาศปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe) ของนาซา (NASA) ได้สร้างสถิติใหม่ในการเคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะประชิดมากที่สุดเมื่อวันอังคาร (24 ธ.ค.) ที่ผ่านมา

นาซาระบุว่าปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ เคลื่อนตัวผ่านพื้นผิวดวงอาทิตย์ด้วยระยะห่าง 3.8 ล้านไมล์ (ราว 6.1 ล้านกิโลเมตร) เมื่อวันอังคาร (24 ธ.ค.) ซึ่งเป็นระยะใกล้กว่าทุกภารกิจก่อนหน้าที่เคยทำมาถึง 7 เท่า

อนึ่ง ปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ ที่ส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศตั้งแต่ปี 2018 ได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างภารกิจบินผ่านดวงอาทิตย์ 21 ครั้ง ซึ่งกำกับดูแลร่วมกันโดยนาซากับห้องปฏิบัติการฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยจอหน์ส ฮอปกินส์

ภารกิจบินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์นี้มุ่งเก็บภาพและข้อมูลชี้วัด เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของลมสุริยะ รวมถึงการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในอวกาศที่ส่งผลต่อชีวิตและเทคโนโลยีบนโลก

ไบเดนทิ้งทวนออกกม. ห้ามสส.รับบำนาญหากมีความผิด พร้อมประกาศ 'อินทรีหัวขาว' เป็นนกประจำชาติ

(26 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายจำนวน 50 ฉบับเมื่อวันอังคารที่ 24 ธันวาคม ซึ่งรวมถึงการประกาศให้อินทรีหัวขาวเป็นนกประจำชาติของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และการออกกฎหมายห้ามสมาชิกรัฐสภารับเงินบำนาญหากถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา

นอกจากนี้ ไบเดนยังได้ลงนามในกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานต่อต้านการรับน้องแบบรุนแรงของรัฐบาลกลางเป็นครั้งแรก เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงและการเสียชีวิตในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้ลงนามในกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากปารีส ฮิลตัน ดาราเรียลลิตี้ทีวีและทายาทตระกูลฮิลตัน ซึ่งกำหนดให้ศูนย์บำบัดและสถานดูแลเยาวชนต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยและคุณภาพการบริการ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในต้นเดือนนี้ ไบเดนได้ใช้สิทธิ์วีโต้กฎหมายที่เสนอให้แต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ 66 คน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในศาลรัฐบาลกลางทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ไบเดนยังได้ลดโทษประหารชีวิตของนักโทษในแดนประหารจำนวน 37 คน จาก 40 คน และเปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่รอลงอาญา พร้อมทั้งได้อภัยโทษอย่างเต็มรูปแบบและไม่มีเงื่อนไขให้กับฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายของเขา

การลงนามในกฎหมายต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงที่ไบเดนกำลังเร่งผลักดันนโยบายสำคัญในช่วงโค้งสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง ก่อนที่จะส่งมอบอำนาจให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 มกราคม 2568

ทั้งนี้ ไบเดนยังอยู่ในช่วงสรุปโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สภาคองเกรสอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงการจัดสรรเงินทุนสำหรับการจัดหาอาวุธให้กับยูเครนก่อนที่เขาจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top