Tuesday, 1 July 2025
WORLD

'เดนมาร์ก' ทุ่มงบกลาโหม หลังทรัมป์เปรยอยากผนวกดินแดน

(25 ธ.ค. 67) รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมสำหรับเกาะกรีนแลนด์อย่างมาก หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความต้องการซื้อเกาะแห่งนี้เป็นครั้งที่สอง นักวิเคราะห์มองว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาดของทรัมป์

รายงานจากบีบีซีระบุว่า รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันสำหรับเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรัมป์แสดงความต้องการซื้อเกาะแห่งนี้อีกครั้ง

โทรลส์ ลุนด์ พูลเซ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเดนมาร์กกล่าวว่า งบประมาณด้านกลาโหมสำหรับเกาะกรีนแลนด์จะมีมูลค่าหลายพันล้านโครน ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 51,000 ล้านบาท) โดยจะใช้ในการซื้อเรือลาดตระเวน 2 ลำ โดรนพิสัยไกล 2 ลำ และทีมสุนัขลากเลื่อนพิเศษ 2 ตัว รวมถึงการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่หน่วยบัญชาการอาร์กติกในเมืองนุก และการอัพเกรดสนามบินพลเรือนหนึ่งแห่งเพื่อรองรับเครื่องบินรบรุ่น F-35

นายพูลเซ่นกล่าวว่า การประกาศเพิ่มงบฯ กลาโหมในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังจากที่ทรัมป์ประกาศว่า ความเป็นเจ้าของและการควบคุมเกาะกรีนแลนด์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสหรัฐฯ

เกาะกรีนแลนด์เป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์ก และเป็นแหล่งที่ตั้งของศูนย์อวกาศสำคัญของสหรัฐฯ โดยมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่ในเส้นทางที่สั้นที่สุดระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป และเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ

การเพิ่มงบฯ กลาโหมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของเดนมาร์กในการเสริมความแข็งแกร่งด้านการป้องกันในภูมิภาคอาร์กติก ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของสหรัฐฯ ที่อาจจะเพิ่มขึ้นหากเดนมาร์กไม่สามารถปกป้องพื้นที่ดังกล่าวจากการขยายอิทธิพลของจีนและรัสเซียได้

มูเต เอเกเด นายกรัฐมนตรีเกาะกรีนแลนด์กล่าวว่า เกาะของเราจะไม่ถูกขาย แต่เขายังเน้นว่า ชาวกรีนแลนด์ควรเปิดกว้างสำหรับความร่วมมือและการค้า โดยเฉพาะกับเพื่อนบ้าน

สำหรับข้อเสนอที่ทรัมป์ยื่นซื้อเกาะกรีนแลนด์ในปี 2019 ได้รับการตำหนิจากผู้นำเดนมาร์กในขณะนั้นอย่างรุนแรง จนกระทั่งทรัมป์ยกเลิกการเยือนเดนมาร์ก

ทั้งนี้ แนวคิดในการซื้อเกาะกรีนแลนด์ของสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยมีการพูดถึงครั้งแรกในยุคประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ในช่วงทศวรรษ 1860

รัสเซียเผยอีก 20 ชาติขอเข้ากลุ่ม กัมพูชา ลาว เมียนมา ขอร่วมวงด้วย

(25 ธ.ค. 67) ยูริ อูชาคอฟ ผู้ช่วยประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยว่า นอกเหนือจากประเทศพันธมิตรที่ได้รับการคัดเลือกก่อนหน้านี้ ยังมีอีกกว่า 20 ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมการหารืออย่างเป็นระบบกับกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่  

อูชาคอฟระบุว่า BRICS ยังคงเปิดกว้างสำหรับประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน โดยรายชื่อประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มอีก 20 ชาติ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ บูร์กินาฟาโซ กัมพูชา ชาด โคลอมเบีย สาธารณรัฐคองโก อิเควทอเรียลกินี ฮอนดูรัส ลาว คูเวต โมร็อกโก เมียนมา นิการากัว ปากีสถาน ปาเลสไตน์ เซเนกัล เซาท์ซูดาน ศรีลังกา ซีเรีย เวเนซุเอลา และซิมบับเว นอกจากนี้ เอริเทรียยังแสดงความกระตือรือร้นที่จะร่วมงานกับ BRICS เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อูชาคอฟเน้นย้ำว่า การขยายกลุ่มต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยกล่าวว่า “การขยายกลุ่มอย่างไร้การควบคุมอาจทำลายโครงสร้างที่มีอยู่ เราจึงต้องดำเนินการทีละขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสอดคล้องกับแนวทางที่เราใช้มาตลอด”

เมียนมาแจกวัคซีน 2 ล้านโดส รับมืออหิวาตกโรคระบาด

(25 ธ.ค. 67) กระทรวงสาธารณสุขเมียนมาเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ 24 ธันวาคมว่า ได้แจกจ่ายวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดรับประทานให้ประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา  

รายงานจากสำนักข่าวซินหัวระบุว่า การระบาดของอหิวาตกโรคในภูมิภาคย่างกุ้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงสาธารณสุขของเมียนมาต้องแจ้งสถานการณ์ต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) และเพิ่มความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาด  

กระบวนการแจกจ่ายวัคซีนเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคอย่างใกล้ชิดในภูมิภาคและรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้ลุกลาม

โดนัลด์ ทรัมป์ อาจอนุญาต TikTok ทำธุรกิจในสหรัฐฯ ต่อไปได้

(24 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ เปิดเผยว่าเขาอาจอนุญาตให้ติ๊กต็อก (TikTok) ดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯ ต่อไป ขณะเขาเข้าร่วมงานที่จัดโดยเทิร์นนิง พอยต์ ยูเอสเอ (Turning Point USA) องค์กรอนุรักษ์นิยม ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (22 ธ.ค.) ที่ผ่านมา

ทรัมป์กล่าวว่าติ๊กต็อกที่เป็นแอปพลิเคชันแบ่งปันวิดีโอยอดนิยมอาจช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงบางส่วนที่สำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และแสดงความเป็นไปได้ของการอนุญาตให้ติ๊กต็อกดำเนินงานต่อไป “อีกสักพักหนึ่ง” โดยทรัมป์เสริมว่าเขาได้ดูแผนภูมิที่เผยให้เห็นยอดเข้าชมคลิปวิดีโอหาเสียงของเขาบนติ๊กต็อกด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ (18 ธ.ค.) ศาลสูงสุดสหรัฐฯ เห็นพ้องจะทบทวนคำร้องจากติ๊กต็อกและไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของติ๊กต็อก เพื่อระงับกฎหมายที่กำหนดการจำหน่ายกิจการของติ๊กต็อกภายในวันที่ 19 ม.ค. 2025 มิเช่นนั้นอาจเผชิญการลงโทษแบน เนื่องด้วยเหตุผลความมั่นคงของชาติ

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ จะรับฟังข้อโต้แย้งในวันที่ 10 ม.ค. 2025 เพื่อตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอันขัดกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐฯ หรือไม่

ทั้งนี้ ติ๊กต็อกชี้ว่าการลงโทษแบนที่อาจเกิดขึ้นนั้นจะปิดหนึ่งในแพลตฟอร์มที่มีเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของอเมริกาก่อนวันสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เพียงหนึ่งวัน และปิดปากชาวอเมริกันจำนวนมากที่ใช้ติ๊กต็อกสื่อสารเกี่ยวกับการเมือง การค้า ศิลปะ และประเด็นอื่น ๆ ที่สาธารณชนสนใจ

เมื่อเดือนเมษายน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกกฎหมายที่ให้เวลากับไบต์แดนซ์เพียง 270 วันในการจำหน่ายกิจการของติ๊กต็อก โดยอ้างอิงเหตุผลความมั่นคงของชาติที่ไม่มีมูลความจริง ซึ่งหากไบต์แดนซ์ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ผู้ให้บริการร้านค้าแอปพลิเคชันอย่างแอปเปิลและกูเกิลต้องถอดติ๊กต็อกออกจากแพลตฟอร์ม

ต่อมาเดือนพฤษภาคม ติ๊กต็อกยื่นฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อระงับคำสั่งแบนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และเมื่อต้นเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยกฟ้องคำกล่าวอ้างของติ๊กต็อกที่ว่าคำสั่งแบนขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เผยบัณฑิตม.กลุ่ม Ivy League รายได้เฉลี่ย 93,000 ดอลลาร์ หลังเรียนจบสิบปี สูงกว่าบัณฑิตมหาวิทยาลัยทั่วไปเกือบสองเท่า

(24 ธ.ค.67) สำนักข่าว vnexpress ของเวียดนามอ้างอิงข้อมูลจาก Ivy Coach ซึ่งเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำแก่ผู้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาในกลุ่ม Ivy League ระบุว่า บัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League มีรายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 93,000–111,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากจบการศึกษา 10 ปี ซึ่งเกือบจะเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยรายได้ของคนในประเทศ 

ข้อมูลที่เผยแพร่โดย College Scorecard ของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ระบุว่า บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Brown ซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 มหาวิทยาลัย Ivy League มีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำที่สุดที่ประมาณ 93,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของบัณฑิตมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 53,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถึง 1.75 เท่า

ขณะที่บัณฑิตจาก Dartmouth College ได้รับรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นเล็กน้อยที่ 97,430 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ส่วนบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Ivy League อื่นๆ มีรายได้เฉลี่ยเกิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้รับรายได้สูงสุดที่ 111,370 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ในขณะเดียวกัน ค่าครองชีพสุทธิสำหรับนักศึกษาที่เรียนที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้หลังจากได้รับทุนการศึกษาและความช่วยเหลือทางการเงินมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 8,000–31,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

หากเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการเรียนแล้ว พบว่าบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัย Princeton ได้รับความคุ้มค่าที่ดีที่สุดจากการลงทุนทางการศึกษา โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 8,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหนึ่งปีการศึกษาในช่วงการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่สามารถทำรายได้เฉลี่ย 110,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว 10 ปี 

ขณะที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเล็กน้อยประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ค่าครองชีพสุทธิของพวกเขาในระหว่างการศึกษาระดับปริญญาตรีก็สูงกว่าถึงสามเท่าเช่นกัน

ตามข้อมูลจาก Ivy Coach องค์กรที่เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำแก่ผู้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ข้อมูลนี้สะท้อนถึงคุณค่าของปริญญาจาก Ivy League ในตลาดงาน อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของบัณฑิตจาก Ivy League ยังมาจากความมุ่งมั่นและความสามารถของพวกเขาเองด้วย

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่ม Ivy League ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเอกชน 8 แห่งในสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ ความเข้มงวดในการคัดเลือกนักศึกษา และความมีชื่อเสียงระดับโลก โดยในอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ Times Higher Education ปี 2025 มหาวิทยาลัย Harvard และ Princeton ได้รับการจัดอันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ ส่วนมหาวิทยาลัย Ivy League อื่นๆ ส่วนใหญ่ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน 20 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยโลก

รัสเซียแฉกลาโหมสหรัฐฯ ตั้งหน่วยด้านชีวภาพในแอฟริกา

(24 ธ.ค. 67) พลโท อเล็กเซย์ ริติเชฟ รองหัวหน้ากองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพของกองทัพรัสเซีย เปิดเผยในรายงานโดยระบุว่า พบความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยะสำคัญของกองทัพสหรัฐฯ บริเวณทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะการตั้งฐานทัพทางทหารและหน่วยวิจัยด้านชีวภาพ

พลโท ริติเชฟ กล่าวว่า "เรามีเอกสารหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า การมีอยู่ของทหารสหรัฐและหน่วยด้านชีวภาพในแอฟริกากำลังขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็ว" โดยนายพลรัสเซียเชื่อว่า สหรัฐได้ส่งหน่วยงานด้านการแพทย์ไปยังกานาและจิบูตี 

พลโท ริติเชฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า  “พบกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐ อาทิ  การตั้งสาขาของศูนย์การแพทย์ทางทหารของกองทัพเรือในกานาและจิบูตี ซึ่งมีการทำงานอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของโรค การแยกและการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อโรค"

คำกล่าวของนายพลรัสเซียสอดคล้องกับรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ที่ระบุว่า สหรัฐกำลังดำเนินโครงการวิจัยเพื่อการแพทย์ในพื้นที่แอฟริกา ได้แก่ ไนจีเรีย ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยทางการแพทย์ร่วมและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์สำหรับกองทัพในปี 2024

เคนยา ก่อตั้งศูนย์การแพทย์ทหารของสหรัฐฯ ได้ตั้งเครือข่ายสถานีสนามเพื่อเฝ้าติดตามการแพร่กระจายของโรคติดต่อทั่วแอฟริกาตอนกลาง เซเนกัล การก่อสร้างห้องปฏิบัติการมูลค่า 35 ล้านดอลลาร์ใกล้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งมีผู้รับเหมาเดียวกันกับที่ทำงานในสหภาพโซเวียตเดิม รวมถึงอาร์เมเนีย จอร์เจีย คาซัคสถาน และยูเครน กานาและจิบูตี สหรัฐฯ ได้จัดตั้งสาขาของศูนย์การแพทย์ทางทะเลแห่งชาติและกำลังจัดการการระบาดของโรคตามธรรมชาติและการแยกเชื้อโรค

พลโท รติชฟ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าแอฟริกาเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคที่อันตรายและเป็นพื้นที่ทดสอบยารักษาโรคใหม่ๆ โดยที่วอชิงตันใช้เชื้อโรคชนิดใหม่ที่ทดสอบแล้วในสมรภูมิยูเครนและที่จอร์เจีย

นายพลรัสเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า วอชิงตันกำลังใช้ประโยชน์จากความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศในแอฟริกาประสบปัญหาโดยเฉพาะในด้านสาธารณสุขเพื่อการวิจัยบางอย่าง ขณะที่สหรัฐเกรงว่ารัสเซียกับจีนจะเปิดโปงการวิจัยดังกล่าว

"สหรัฐฯ มักจะไม่เปิดเผยวัตถุประสงค์สุดท้ายของการทดลองให้กับชาติพันธมิตร" พลโท ริติเชฟ กล่าวทิ้งท้าย

ย้อนประเด็น 'กรีนแลนด์-ปานามา-แคนาดา' 'ทรัมป์' หมายตาคิดผนวกดินแดน

(24 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่ทันเข้าสาบานตนรับตำแหน่งสมัยสอง ก็ออกมาพูดหลายครั้งถึงประเด็นอธิปไตยในต่างแดนหลายต่อหลายครั้ง ที่แม้ฟังดูเป็นเรื่องติดตลก แต่ทรัมป์ก็ให้เหตุผลที่น่าคิดอยู่ไม่น้อยเลยที่เดียวตามแนวคิด 'อเมริกามาก่อน'  

เริ่มตั้งแต่ประเด็นกับชาติเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา โดยทรัมป์ได้กล่าวเมื่อ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา ระหว่างการหารือมื้อค่ำกับ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ที่มาร์อาลาโก้ บ้านพักตากอากาศของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในรัฐฟลอริด้า 

การเยือนครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่ว่าแคนาดาอาจจะโดนกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% เมื่อกลับเข้าสู่ทำเนียบขาว เพื่อบีบบังคับให้เร่งจัดการกับปัญหายาเสพติดและผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐ โดยเรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าสงครามการค้าในภูมิภาคอาจจะเกิดขึ้น นายกทรูโดจึงรีบรุดหารือเป็นการส่วนตัวกับทรัมป์

ในระหว่างการหารือมื้อค่ำของสองผู้นำ นายกแคนาดาได้รับปากว่าจะแก้ปัญหาเรื่องภาษีศุลกากรแต่ก็อาจมีข้อจำกัดบางประการในประเด็นที่รัฐบาลท้องถิ่นในบางแคว้นของแคนาดาที่มีอาณาเขตติดกับพรมแดนสหรัฐฯ สามารถกำหนดอัตราภาษีศุลกากรได้ด้วยตนเอง

ทรูโดกล่าวกับทรัมป์ว่า เขาไม่สามารถเรียกเก็บภาษีนำเข้าได้เพราะจะทำลายเศรษฐกิจของแคนาดาอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลแคว้นท้องถิ่น ซึ่งทรัมป์ตอบเชิงติดตลกว่า

"ถ้าแคนาดาไม่สามารถจัดการปัญหาภาษีศุลกากรได้ ประเทศคุณก็คงไม่สามารถเลี่ยงกำแพงภาษีสหรัฐได้ เว้นเสียแต่บางแคว้นของแคนาดาจะเข้าร่วมเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ"

ต่อมา 20 ธันวาคม ทรัมป์ โพสต์ลงในแพลตฟอร์ม ทรูธ โซเชียล (Truth Social) แซวว่าเป็นความคิดที่ดี หากแคนาดาเข้าเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐอเมริกา และชาวแคนาดาเองก็เห็นด้วยกับไอเดียนี้ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีใจความว่า "ไม่มีตอบได้ว่าทำไมเราต้องจ่ายเงินช่วยแคนาดาปีละ 100 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่สมเหตุสมผล! ชาวแคนาดาอยากให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ เพราะคงช่วยประหยัดภาษีไปได้มากและได้ความคุ้มครองทางทหาร ผมคิดว่ามันเป็นไอเดียที่ดี รัฐที่ 51!"

ในประเด็นเรื่องคลองปานามา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้วิจารณ์รัฐบาลปานามาอย่างรุนแรง หลังจากที่เขาขู่ว่าจะยึดคลองปานามาคืน หากปานามาไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นที่เรียกเก็บจากเรือสินค้าของสหรัฐฯ ที่แล่นผ่านคลองดังกล่าว

ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ทรูธ โซเชียล ว่า “กองเรือและการค้าของเราได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ค่าธรรมเนียมที่ปานามาเรียกเก็บนั้นไร้เหตุผลจริง ๆ” พร้อมทั้งระบุว่า การเอาเปรียบสหรัฐฯ “ต้องยุติลงทันที”

ประธานาธิบดียังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากปานามาไม่สามารถรับประกันความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือของคลองปานามาได้ "สหรัฐฯ จะขอเรียกคืนคลองปานามากลับมาเป็นของเราอย่างเต็มรูปแบบ"

คลองปานามาได้รับการขุดเสร็จสมบูรณ์โดยสหรัฐฯ ในปี 1914 ก่อนที่จะส่งคืนให้กับปานามาภายใต้สนธิสัญญาในปี 1977 ที่ลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ และปานามาได้รับการควบคุมคลองนี้อย่างสมบูรณ์ในปี 1999

ในด้านของปานามา ประธานาธิบดีโฮเซ่ ราอูล มูลิโน ได้ตอบโต้ทรัมป์ในวิดีโอว่า “ทุกตารางเมตรของคลองปานามาคือของปานามาและจะเป็นเช่นนั้นต่อไป” ขณะที่ทรัมป์ได้โพสต์ตอบกลับในสื่อสังคมออนไลน์ของเขาว่า “เดี๋ยวได้รู้กัน”

ส่วนเรื่องกรีนแลนด์ ย้อนกลับไปในปี 2019 ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก ทรัมป์เคยพูดเรื่องการซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก โดยทรัมป์กลับมาฟื้นประเด็นนี้อีกครั้งหลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เสนอชื่อนาย เคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดนและนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์เชื่อมั่นว่าฮาวเวอรีจะ "ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ"

โดนัลด์ ทรัมป์  กล่าวผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยยืนยันถึงการฟื้นแนวคิดการเป็นเจ้าของพื้นที่กรีนแลนด์ ซึ่งทรัมป์มองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

"เพื่อความมั่นคงและส่งเสริมเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการเป็นเจ้าของและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง"

ย้อนไปในปี 2019 สื่อหลายแห่งรายงานว่าทรัมป์มีความสนใจที่จะซื้อกรีนแลนด์ ซึ่งต่อมาเขาเองยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าเป็นความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรีนแลนด์ย้ำว่ากรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่จะขายได้ ขณะที่รัฐบาลเดนมาร์กแสดงความหวังว่าทรัมป์กำลังพูดเล่น และเรียกแนวคิดการขายกรีนแลนด์ว่า 'ไร้สาระ'

สำหรับกรีนแลนด์ปัจจุบันถือเป็นดินแดนอาณานิคมของเดนมาร์กถึงปี 1953 แม้ว่าจะยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก แต่ในปี 2009 กรีนแลนด์ได้รับสิทธิ์ปกครองตนเองและสามารถตัดสินใจเรื่องนโยบายภายในประเทศได้อย่างอิสระ

จากประเด็นทั้งหมด ด้านสตีเฟน ฟาร์นสเวิร์ธ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก University of Mary Washington ในรัฐเวอร์จิเนีย บอกว่า ทรัมป์ใช้แนวทางอันก้าวร้าวแบบนักธุรกิจในการหยิกแกมหยอกประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ และมองว่าทั้งกรณีของแคนาดาและกรีนแลนด์ ทรัมป์เพียงแค่ต้องการเอาชนะ ไม่ว่าจะในเรื่องการค้า พรมแดน หรือในประเด็นอื่น ๆ กับประเทศพันธมิตร

อีลอน มัสก์จวกธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำงานล่าช้า-พนักงานเกินจำเป็น

(24 ธ.ค.67) บลูมเบิร์กรายงานว่า อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ เทสลา (Tesla) และ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ว่าที่ประธานร่วมของ สำนักงานควบคุมประสิทธิภาพของรัฐบาล (Department of Government Efficiency หรือ DOGE) โดยมัสก์ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าเป็นหน่วยงานที่มีพนักงานมากเกินความจำเป็น  

มัสก์แสดงความคิดเห็นผ่าน แพลตฟอร์ม X โดยระบุว่าเฟดเป็นหน่วยงานที่มีจำนวนพนักงานที่มากเกินไป ซึ่งความคิดเห็นนี้เกิดขึ้นในกระทู้ที่พูดถึงการตัดสินใจด้านนโยบายล่าสุดของเฟด อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองดังกล่าว  

ขณะเดียวกัน มัสก์ยังถือเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาคนสำคัญของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในชื่อ DOGE เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลและตั้งเป้าลดการใช้จ่ายให้ได้ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์  

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐในกรุงวอชิงตันและธนาคารระดับภูมิภาคอีก 12 แห่งทั่วประเทศ มีพนักงานรวมประมาณ 24,000 คน เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งน้อยกว่าธนาคารกลางในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่มีจำนวนพนักงานรวมกันมากกว่าของสหรัฐ  

ต่างจากหน่วยงานอื่นของรัฐบาล ธนาคารกลางสหรัฐไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากงบประมาณของรัฐสภา แต่มีรายได้จากการดำเนินงานของธนาคาร เช่น ดอกเบี้ยจากหลักทรัพย์รัฐบาลที่เฟดถือครอง โดยรายได้ส่วนเกินจะถูกส่งกลับไปยัง กระทรวงการคลัง ซึ่งในช่วงเวลาปกติ เฟดถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล  

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในปี 2565 ทำให้รายได้สุทธิของเฟดลดลง แต่ยังคงสามารถส่งรายได้ส่วนเกินประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ให้กับกระทรวงการคลังได้  

ในอดีต เฟดเคยตกเป็นเป้าหมายของทรัมป์ โดยในระหว่างการหาเสียง ทรัมป์เคยกล่าวว่าตนควรมีสิทธิ์ในการกำหนดนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ทรัมป์ยังล้อเลียนบทบาทของ เจอโรม พาวเวลล ประธานเฟด ว่าเป็น 'งานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรัฐบาล' 

แม้พาวเวลไม่ได้ตอบโต้โดยตรง แต่ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาท้าทายทรัมป์ในก่อนหน้านั้น โดยเธอเชิญเขาไปดูการทำงานของทีม ECB ที่แฟรงก์เฟิร์ต พร้อมย้ำว่า  

“ฉันมีพนักงานที่ทำงานหนักหลายพันคน ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ พวกเขาทำงานหนักทุกวัน ไม่ใช่แค่เดือนละครั้ง เราปกป้องยูโร เช่นเดียวกับที่เฟดปกป้องดอลลาร์ ฉันมั่นใจว่าพาวเวลก็เห็นงานของเขาในมุมเดียวกัน”

คองเกรสสหรัฐฯ เปิดงบช่วยยูเครน ใช้เงินภาษีคนอเมริกันไปแล้วเกือบ 5 ล้านดอลลาร์

(24 ธ.ค. 67) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตลอดทั้งปี 2024 รัฐบาลสหรัฐมีการใช้เงินภาษีของชาวอเมริกันไปแล้วเกือบ 4.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 163 ล้านบาท) ซึ่งภายหลังการเปิดเผยดังกล่าว สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐเคนทักกี นาย แรนด์ พอล กล่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการใช้งบประมาณของรัฐบาลไบเดนที่ไร้เหตุผลที่สุดของปี 2024 

รายงานยังระบุว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุความขัดแย้งในยูเครน รัฐบาลวอชิงตันได้ใช้เงินภาษีของชาวอเมริกันในการให้การสนับสนุนรัฐบาลเคียฟและช่วยเหลือทหารยูเครนไปแล้วเกือบ 174 พันล้านดอลลาร์ โดยนายพอล กล่าวว่า "บางคนในกระทรวงการต่างประเทศยังคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่จะใช้เงินภาษีชาวอเมริกันอีก  4.8 ล้านดอลลาร์เพื่อกิจการในยูเครน 

นายพอล ยังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ กลับไปใช้วิธีการทางการทูตที่จริงจัง แทนที่จะพึ่งพากลยุทธ์ผ่านการทหาร พร้อมเน้นย้ำว่า ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันจำนวนมากที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้พอเพียงในการดำรงชีวิตกำลังเป็นผู้จ่ายเงินในการใช้จ่ายนี้

พอลกล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่ “น่าฉงน” ที่เห็นรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนในช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันจำนวนมากกำลัง “ประสบปัญหาทางการเงิน”

รายงานที่มีความยาว 41 หน้าครอบคลุมถึงการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสว.พอลเรียกว่า "เป็นการใช้จ่ายที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล"

ก่อนหน้านี้ ในการสัมภาษณ์กับ NBC News ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้รับเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวว่า ภายใต้การบริหารของเขา รัฐบาลเคียฟไม่น่าจะได้รับความช่วยเหลือในระดับเดียวกับที่พวกเขาได้รับในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ตุรกียึด 'ลูกกอริลลา' กลางสนามบิน ต้นทางไนจีเรีย ปลายทางส่งมากรุงเทพฯ

(24 ธ.ค.67) กระทรวงการค้าของตุรกีเปิดเผยว่า การตรวจยึดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยลูกกอริลลาดังกล่าวถูกส่งเข้ามายังตุรกีผ่านเที่ยวบินจากไนจีเรีย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะตรวจสอบและพบลูกกอริลลาอยู่ภายในลังไม้ดังกล่าว  

ลูกกอริลลานี้เป็นสายพันธุ์กอริลลาตะวันตก (Gorilla) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ตามอนุสัญญา CITES โดยการค้าระหว่างประเทศของสัตว์ชนิดนี้จะอนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็น เช่น การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น  

หลังจากการจับกุม ลูกกอริลลาได้ถูกส่งมอบให้กับหน่วยงานอุทยานแห่งชาติของตุรกี ขณะที่กระทรวงเกษตรตุรกีระบุว่า ขณะนี้ลูกกอริลลากำลังได้รับการฟื้นฟูและดูแล โดยสุขภาพของมันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และจะอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด  

การจับกุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปกป้องสัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของทีมงานบังคับใช้กฎหมายศุลกากรในกระทรวงการค้า อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลักลอบขนส่งลูกกอริลลา รวมถึงผู้ที่เป็นปลายทางในกรุงเทพฯ  

มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (WFFT) ได้ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนและเปิดโปงเครือข่ายที่ลักลอบค้าสัตว์ป่าครั้งนี้ พร้อมย้ำว่าในยุคปัจจุบัน ไม่ควรมีกรณีลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามประเทศแบบนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป

กัมพูชาเตือนภัย! มีผู้ป่วยโรคหัดแล้ว 375 ราย พบระบาดหนักตามแนวชายแดน

(23 ธ.ค.67) กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา (MOH) ออกคำเตือนเมื่อวันเสาร์ (21 ธ.ค.) เกี่ยวกับการระบาดเพิ่มของโรคหัด หลังพบผู้ป่วยโรคหัดอย่างน้อย 375 รายในปี 2024

กระทรวงฯ ระบุในแถลงการณ์ว่าโรคหัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วผ่านทางระบบทางเดินหายใจ เช่น การไอหรือจาม พร้อมเสริมว่าโรคนี้สามารถก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ตาบอด สร้างความเสียหายต่อสมอง หรือกระทั่งเสียชีวิต โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ

กระทรวงฯ พบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงเรียนและจังหวัดตามแนวชายแดนบางแห่ง โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคมปีนี้ กัมพูชายืนยันจำนวนผู้ป่วยโรคหัดใน 17 จังหวัด รวม 375 ราย

แถลงการณ์ระบุว่าอาการของโรคหัดมักปรากฏหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 10-14 วัน ได้แก่มีไข้สูง ไอ น้ำมูกไหล ตาแดงและมีน้ำตา และมีจุดผื่นขาวขนาดเล็กที่กระพุ้งแก้ม ผู้ป่วยโรคนี้มักมีผื่นแดงปรากฏตามร่างกายในช่วง 7-18 วันหลังรับเชื้อ โดยเริ่มจากใบหน้าและลำคอส่วนบน จากนั้นลามไปยังมือและเท้า พร้อมเตือนให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานที่มีอาการไข้สูง ไอ น้ำมูกไหล และมีผื่นแดง ไปพบแพทย์ที่ศูนย์สุขภาพหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

กระทรวงฯ ยังเรียกร้องให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานที่มีอายุ 9-59 เดือนไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันฟรีที่ศูนย์สุขภาพทุกแห่งเพื่อป้องกันการระบาดของโรค

อนึ่ง กัมพูชาเคยประกาศว่าตนเป็นประเทศปลอดโรคหัดเมื่อเดือนมีนาคม 2015 แต่กลับมาพบผู้ป่วยโรคหัดรายแรกอีกครั้งใน 7 เดือนต่อมา

ทรัมป์ปลุกประเด็นเดือด! ฟื้นไอเดียครอบครอง 'กรีนแลนด์' ย้ำเพื่อความมั่นคงโลก

(23 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยยืนยันถึงการฟื้นแนวคิดการเป็นเจ้าของพื้นที่กรีนแลนด์ ซึ่งทรัมป์มองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

"เพื่อความมั่นคงและส่งเสริมเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการเป็นเจ้าของและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง" 

ทรัมป์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาได้เสนอชื่อนาย เคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดนและนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์เชื่อมั่นว่าฮาวเวอรีจะ "ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ"   

ย้อนไปในปี 2019 สื่อหลายแห่งรายงานว่าทรัมป์มีความสนใจที่จะซื้อกรีนแลนด์ ซึ่งต่อมาเขาเองยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าเป็นความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรีนแลนด์ย้ำว่ากรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่จะขายได้ ขณะที่รัฐบาลเดนมาร์กแสดงความหวังว่าทรัมป์กำลังพูดเล่น และเรียกแนวคิดการขายกรีนแลนด์ว่า 'ไร้สาระ'

สำหรับกรีนแลนด์ปัจจุบันถือเป็นดินแดนอาณานิคมของเดนมาร์กถึงปี 1953 แม้ว่าจะยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก แต่ในปี 2009 กรีนแลนด์ได้รับสิทธิ์ปกครองตนเองและสามารถตัดสินใจเรื่องนโยบายภายในประเทศได้อย่างอิสระ

วันแรกที่เข้าทำเนียบขาว ผู้เชี่ยวชาญหวั่นกระทบสาธารณสุขโลก

(23 ธ.ค.67) คณะผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขเตือนผลกระทบระดับ 'หายนะ' ต่อสาธารณสุขทั่วโลกหากสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) หลังจากทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ กำลังหาทางทำการถอนตัวดังกล่าวในวันแรกของการเข้าทำงานบริหารประเทศ

รายงานระบุว่าสมาชิกทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจของทรัมป์ได้แจ้งกับคณะผู้เชี่ยวชาญถึงเจตจำนงจะประกาศการถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก ณ พิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ในวันที่ 20 ม.ค. 2025 ซึ่งการถอนตัวดังกล่าวจะทำให้องค์การฯ สูญเสียแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ที่สุดและส่งผลกระทบต่อความสามารถรับมือวิกฤตสาธารณสุข

ลอว์เรนซ์ กอสติน ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขประจำศูนย์กฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ชี้ว่าแผนการถอนตัวของสหรัฐฯ จะเป็น 'หายนะ' กับสาธารณสุขทั่วโลก ทำให้องค์การอนามัยโลกเผชิญช่วงเวลายากลำบากในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และอาจนำสู่การตัดลดบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่

สื่อแฉ 'ทรัมป์' ส่งข้อความหา 'เซเลนสกี' แนะสละดินแดนยูเครนแลกหยุดยิง

(23 ธ.ค.67) El Pais สื่อของสเปนรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ส่งข้อความถึง โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ขอให้พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิงและยอมรับการละทิ้งดินแดนบางส่วนที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย ตามรายงานจากหนังสือพิมพ์เอลปาอิส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม

ทรัมป์ยืนยันคำสัญญาที่ว่า เขาจะยุติความขัดแย้งในยูเครนภายในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าแผนการของเขาจะสำเร็จได้อย่างไร คำประกาศของเขาทำให้เกิดความกังวลในเคียฟ โดยเฉพาะเรื่องความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่อาจลดลง และการตรวจสอบเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่ยูเครนได้รับจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

“หากคุณมองไปที่เมืองต่าง ๆ เหล่านั้น บางเมืองไม่มีอาคารหลงเหลืออยู่ในสภาพดีเลยแม้แต่สักอาคารเดียว ดังนั้น เมื่อคุณพูดถึงการฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูอะไร? การฟื้นฟูต้องใช้เวลามากกว่า 110 ปี” ทรัมป์กล่าวในข้อความที่ส่งถึงเซเลนสกี จากกอล์ฟคลับของเขาในฟลอริดา เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ทรัมป์เรียกร้องให้ทั้งยูเครนและรัสเซียบรรลุข้อตกลงหยุดยิงทันที โดยเขาโพสต์ข้อความบนทรัสต์โซเชียล แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของเขาหลังจากที่ได้พบกับเซเลนสกีและประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสในกรุงปารีส

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่าในต้นเดือนธันวาคม ทรัมป์ได้กล่าวว่า ยุโรปตะวันตกควรประจำการทหารในยูเครน เพื่อสังเกตการณ์ข้อตกลงหยุดยิง และว่าอียูควรมีบทบาทหลักในการป้องกันและสนับสนุนยูเครน ในขณะที่สหรัฐฯ จะสนับสนุนทางการเงิน แต่ไม่ส่งกำลังพล

ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เน้นย้ำในการแถลงข่าวสิ้นปีว่า มอสโกยังคงเปิดกว้างในการเจรจากับเคียฟโดยไม่ต้องวางเงื่อนไขล่วงหน้า ยกเว้นเงื่อนไขที่เคยตกลงกันในโต๊ะเจรจาที่อิสตันบูลในปี 2022 โดยพิจารณาสถานะความเป็นกลางของยูเครนและข้อจำกัดการประจำการอาวุธต่างชาติ

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศฮังการี ปีเตอร์ ซิยาร์โต ได้กล่าวกับ RIA Novosti ของรัสเซีย ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่จำเป็นต้องการตัวกลางในการแก้ไขวิกฤตยูเครน “ถ้าจำเป็นต้องมีตัวกลาง ก็ต้องได้รับการเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย หรือทุกฝ่าย และผมไม่เห็นการเห็นชอบเช่นนั้นในตอนนี้” ซิยาร์โตกล่าว และเสริมว่า ทรัมป์สามารถติดต่อโดยตรงกับประธานาธิบดีของยูเครนหรือประธานาธิบดีของรัสเซียได้

'ทรัมป์' ขู่ยึดคลองปานามาคืน จวกผู้นำปานามาคิดค่าผ่านทางแพงไป

(23 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีขู่ทวงคืนคลองปานามาให้กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ พร้อมทั้งกล่าวหาปานามาว่าเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไปสำหรับการใช้คลองในการเดินเรือสินค้าและเรือทหารไปยังทวีปอเมริกากลาง ขณะที่เตือนว่าจีนนั้นมีอิทธิพลเหนือคลองปานามา

ท่าทีดังกล่าวของทรัมป์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะกล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนในงาน AmericaFest ซึ่งจัดโดยกลุ่มเคลื่อนไหวอนุรักษนิยม Turning Point ที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา โดยทรัมป์ประกาศว่าจะไม่ยอมให้คลองปานามาตกไปอยู่ในมือของบุคคลที่ไม่สมควร

“เราโดนโกงที่คลองปานามาเหมือนกับที่โดนโกงที่อื่น ๆ ค่าธรรมเนียมที่ปานามาเรียกเก็บนั้นไร้สาระและไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง การฉ้อโกงประเทศของเราจะยุติลงทันที” ทรัมป์กล่าว โดยอ้างถึงช่วงเวลาที่เขาจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนหน้า

ทรัมป์กล่าวว่า คลองปานามาเคยเป็นของสหรัฐฯ แต่ถูกส่งมอบให้ปานามาควบคุมในปี 1999 ภายใต้การลงนามของจิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์กล่าวว่า การส่งมอบในครั้งนั้นเป็นการขายในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการกระทำที่โง่เขลา

ทรัมป์ยังย้ำว่า การมอบคลองปานามาให้ปานามาและประชาชนชาวปานามา ควรเป็นการมอบให้รัฐบาลปานามาบริหารจัดการเพียงประเทศเดียว ไม่ใช่ให้จีนหรือประเทศอื่นเข้ามามีบทบาท

“หากหลักการทั้งทางศีลธรรมและกฎหมายของการมอบของขวัญนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม เราจะเรียกร้องให้คืนคลองปานามาให้กับเราโดยทันทีและไม่ลังเล” ทรัมป์กล่าว

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความบน Truth Social ว่าคลองปานามาเป็น ‘ทรัพย์สินสำคัญของชาติ’ สำหรับสหรัฐฯ และหลังจากร่วมงานที่รัฐแอริโซนา เขายังโพสต์ภาพธงชาติสหรัฐฯ เหนือผืนน้ำ พร้อมข้อความว่า “ยินดีต้อนรับสู่คลองสหรัฐฯ!”

ด้าน โชเซ ราอูล มูลิโน ประธานาธิบดีปานามา ตอบโต้ท่าทีของทรัมป์ โดยยืนยันว่า 'ทุกตารางเมตร' ของคลองปานามาและพื้นที่โดยรอบเป็นของประเทศปานามา และอำนาจอธิปไตยของปานามาไม่สามารถต่อรองได้

สำหรับคลองปานามามีความยาว 82 กิโลเมตร เชื่อมต่อมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นเส้นทางหลักสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างทวีป โดยคลองแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1900 และอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ จนถึงปี 1977 ก่อนจะมีการลงนามสนธิสัญญาตอร์ริโฮส-คาร์เตอร์ (Torrijos-Carter Treaties) ซึ่งรับประกันการส่งมอบคลองให้แก่ปานามาในปี 1999

ทุกปีมีเรือมากถึง 14,000 ลำที่เดินทางผ่านคลองปานามา รวมถึงเรือบรรทุกสินค้าและเรือรบ โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ใช้งานคลองนี้มากที่สุด โดยกว่า 72% ของการขนส่งผ่านคลองปานามาเป็นการขนส่งระหว่างท่าเรือสหรัฐฯ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top