นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม แถลง!! ผลการหารือกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เผย!! พูดคุยประเด็นสำคัญในภูมิภาค เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การสร้างสันติภาพในภาคใต้
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม เปิดใจเชื่อ ความเจนจัดของอดีตผู้นำไทย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีเครือข่ายกว้างขวางไปทั่วภูมิภาคจะเป็นประโยชน์ต่อ 'มาเลเซีย' ที่กำลังจะนั่งในตำแหน่งประธานอาเซียนแบบหมุนเวียนคนใหม่ในปี 2025
และเสริมว่า ผู้นำทั้งสองพบกันในวันพฤหัสบดี (26) โดยบลูมเบิร์กกล่าวว่า ประเด็นการหารือประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญของภูมิภาค รวมไปถึงการเสริมสร้างสันติภาพในภาคใต้ของไทยและต่อวิกฤตพม่า
“เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ไม่มีใครเทียบเคียงของคุณทักษิณไปทั่วทั้งภูมิภาคพร้อมไปด้วยความเชี่ยวชาญที่พิเศษที่โดดเด่นของเขานั้นเป็นเสมือนการสัญญาต่อโอกาสที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับทั้งมาเลเซียและอาเซียน เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้วยความเชื่อมั่นและความสามารถที่มากขึ้น”
อันวาร์ซึ่งเรียกอดีตนายกฯ ไทยว่า ‘เพื่อนรัก’ ดูเหมือนว่าเขาจะไม่มีความรู้สึกวิตกต่อปัญหาทางกฎหมายและการเมืองในไทยที่รุมล้อมอดีตผู้นำไทยที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองนาน 15 ปีจากการโดนทำรัฐประหาร ซึ่งมีประวัติทำความผิดคอร์รัปชันและสามารถรอมชอมกับทหารได้ ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา
และหลังจากที่นายกฯ อันวาแต่งตั้งทักษิณเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนในฐานะหนึ่งในที่ปรึกษาส่วนตัวในการนั่งทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนครั้งแรกกลับพบกับเสียงวิจารณ์จากทั้งในไทยและในมาเลเซีย และรวมไปสื่อนอกเช่น รอยเตอร์
มีการหยิบยกการเปรียบเทียบให้เห็นเหมือนเมื่อครั้งการได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและความสัมพันธ์กับฮุนเซน ย้อนให้นึกถึงครั้งที่ ทักษิณ ได้รับการแต่งตั้งจากฮุนเซน ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา แต่หลังจากนั้นไม่นานทักษิณประกาศลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างของฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกัมพูชามีข้อพิพาททางทะเลกับไทยในเรื่องเกาะกูด
ขณะที่ฝ่ายค้านมาเลเซียเองออกมาถามอาเซียนจะได้ประโยชน์จริงหรือและจะเสริมภาพลักษณ์ของอันวาร์ได้อย่างไร ซัดตั้งคนที่ถูกพิพากษาจำคุกฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำไมไม่ตั้งนักการทูตหรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ด้าน ‘ดร.มหาเธร์’ งง ทำไมเลือกทักษิณ ทั้งที่มีคนอื่นมากมาย
ซึ่งการพบกันระหว่าง 2 ผู้นำมาเลเซีย-ไทยนี้เป็นที่จับตาเป็นวงกว้างโดยเฉพาะจากโลกตะวันตก เกิดขึ้นหลังสื่อ TASS ของรัสเซียรายงานวันพุธ (25) เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้ตอบรับการเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS (BRICS partner country) ซึ่งเป็นก้าวที่จะนำไปสู่การเป็นสมาชิกเต็มตัวในอนาคต
กลายเป็นคำถามให้ผู้เชี่ยวชาญว่า กลุ่มอาเซียน 10 ชาติซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1967 นี้จะยังคงวางตัวเป็นกลางอย่างไรในเมื่อ 3 ชาติจากทั้งหมดได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งกำลังจะเป็นประธานอาเซียน รวมไทย ที่มีอดีตนายกฯ นั่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานอาเซียน และอินโดนีเซียนั้นกำลังจะเป็นหุ้นส่วนกับรัสเซีย-จีนผ่านกลุ่ม BRICS
สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า นักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า ในฐานะเป็นประธานอาเซียน อันวาร์และมาเลเซียจะผงาดบนเวทีโลกในฐานะชาติมหาอำนาจตัวกลาง (middle power) โดยในการจำกัดความที่หมายถึงประเทศที่ยังไม่มีอิทธิพลโดดเด่นในฐานะชาติมหาอำนาจโลก เช่น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย แต่ถูกพิจารณาว่ามีอิทธิพลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การทูตของนายกฯ อันวาร์รวมถึงการไปเยือนอเมริกาใต้เพื่อประชุมเอเปกและการประชุม G-20 สะท้อนถึงการสร้างที่ยืนของมาเลเซียและเขาบนเวทีโลกและแผนสำหรับการนำอาเซียนในปี 2025
เรดิโอฟรีเอเชียชี้ว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มักจะย้ำเสมอในการให้สำคัญต่ออาเซียนและกลไกของอาเซียนต่อเป้าหมายในการทำให้มีความเหมาะสมมากขึ้นสำหรับความพยายามอย่างเคลื่อนไหวภายในโลกขั้วใต้ (Global South) ซึ่งโลกขั้วใต้นี้ปักกิ่งได้ประกาศแสดงความเป็นผู้นำ
และเป็นเสมือนสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำแดนเสือเหลืองที่ต้องทำให้มั่นใจว่า กลุ่มอาเซียนจะไม่เพียงแต่เป็นกลาง แต่ต้องถูกมองให้เป็นเช่นนั้นด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Matthijs van den Broek แสดงความเห็น
และเสริมว่า ในขณะที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาข่มขู่ว่าจะตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่วต่อประเทศใดๆ ที่เขาเชื่อว่ากำลังเป็นศัตรูกับดอลลาร์สหรัฐ หลังกลุ่ม BRICS วางแผนจะตั้งสกุลเงินใหม่ของตัวเอง
ทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการซื้อขายต่างชาติระดับต้นและเป็นพันธมิตรทางการลงทุน ดังนั้นแล้ว มาเลเซียในฐานะประธานต้องเพิ่มความสามารถทางการทูตของตัวเองเพื่อไม่ให้มีการทำให้รู้สึกทอดทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ที่มา : MGROnline