จี้ 'ฮุนมาเนต' ยกเลิก MOU44 แนะฟ้องศาลโลกตัดสิน 'เกาะกูด' เหมือนคดีเขาพระวิหาร

(27 ธ.ค.67) สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาเขมร รายงานว่า นาย อึม สำอาน (Oum Sam An) นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซึ่งลี้ภัยในสหรัฐเพราะถูกตัดสินจำคุกในข้อหาปลุกปั่นประเด็นเรื่องชายแดน ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฮุนมาเนตของกัมพูชา ยกเลิกบันทึกความเข้าใจหรือ MOU44 และหันไปหาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อแก้ไขกรณีข้อพิพาทเหนือเกาะกูด

นาย อึม สำอาน อดีตสส.จาก จ.เสียมเรียบ พรรคพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) กล่าวว่า ประชาชนชาวกัมพูชาจะยังคงชุมนุมประท้วงภายใต้ชื่อ 'ปกป้องเกาะกูด' (Defend Koh Kut) ที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 19 มกราคม  และจะประท้วงจนกว่ากัมพูชาจะได้รับพื้นที่บนเกาะกูดคืนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง โดยเขาชี้ว่าการเจรจาทวิภาคีไม่สามารถทำให้ไทยคืนเกาะกูดได้ และเน้นย้ำว่ากัมพูชาควรใช้แนวทางฟ้องร้องในศาลโลก เช่นเดียวกับกรณีปราสาทพระวิหารในปี 2505 

“บันทึกความเข้าใจเป็นเพียงพื้นฐาน ดังนั้นกัมพูชาจึงมีสิทธิ์ยกเลิกได้ตลอดเวลา และหลังจากยกเลิกเอ็มโอยู กัมพูชาสามารถอ้างสิทธิ์ของเกาะได้ผ่านการฟ้องร้องประเทศไทยในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เราไม่ควรใช้การเจรจาแบบทวิภาคี เพราะจะไม่มีการคืนเกาะ ไทยควบคุมเกาะกูด 100% อยากให้ดูตัวอย่างกรณีของเขาพระวิหาร ซึ่งในกรณีนั้นถ้าหากสมเด็จพระนโรดมสีหนุไม่นำเรื่องเขาพระวิหารไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ICJ ในปี 1962 เราก็คงไม่ได้เขาพระวิหารคืน” 

ด้านนายสุน ชัย รองหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา ระบุว่า เกาะกูดเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาติ พร้อมแสดงความหวังว่ารัฐบาลกัมพูชาจะนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเจรจาหรือฟ้องร้องในศาลโลกเพื่อทวงคืนพื้นที่  

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา กล่าวระหว่างพิธีมอบปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยฮิวแมน รีซอร์ส เมื่อ 26 ธ.ค. โดยยืนยันจุดยืนของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน หลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นเกาะกูด โดยย้ำว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน  

นักวิเคราะห์ด้านการพัฒนาสังคม ดร.เมียส นี (Meas Ny) ชี้ว่า ปัญหาเขตแดนเป็นเรื่องสำคัญที่นักการเมืองทั้งสองประเทศควรละผลประโยชน์ส่วนตัว และร่วมกันหาทางออกที่เป็นธรรมผ่านช่องทางระหว่างประเทศ โดยมองว่าการฟ้องร้องต่อศาลโลกเป็นทางเลือกที่เหมาะสม