Tuesday, 1 July 2025
WORLD

อันวาร์วิจารณ์ไบเดนมัวแต่สนใจยูเครน จีนรับอานิสงส์ แผ่อิทธิพลอาเซียนมากขึ้น

(21 ม.ค.68) นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนประจำปีนี้ ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อไฟแนนเชียลไทมส์ โดยแสดงความเห็นว่า สหรัฐฯ มุ่งเน้นความสำคัญไปที่สงครามในยูเครนมากจนทำให้ความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง "บางทีพวกเขาอาจจะมุ่งเน้นไปที่ยุโรปก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ คือพวกเขาให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้(อาเซียน)น้อยลง ยกเว้นแค่คำแถลงนโยบายต่างประเทศทั่วไป" นายกอันวาร์กล่าว 

แม้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะไม่ได้กล่าวถึงตัวบุคคล แต่เขากล่าวถึงรัฐบาลสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยอันวาร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความละเลยของสหรัฐฯ ต่อความสัมพันธ์กับอาเซียนทำให้สหรัฐฯ สูญเสียพื้นที่ให้กับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "ที่ผ่านมาอาเซียนเราความร่วมมือกับสหรัฐฯ เป็นอย่างดีแต่พวกเขาก็ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้เหมือนที่เคยเป็นในอดีต ขณะที่จีนมีท่าทีที่เป็นบวกมากขึ้น"

เขายังกล่าวชื่นชมการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลจีนที่มาเลเซีย โดยว่ามาเลเซียเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ "จีนให้การเข้าถึงที่ดีกว่า คุณสามารถพบปะพวกเขาได้ง่าย เราส่งรัฐมนตรีไปที่นั่น พวกเขาส่งรัฐมนตรีมา" 

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังปกป้องการตัดสินใจของประเทศในภูมิภาคในการร่วมมือกับจีนอย่างสร้างสรรค์ และยินดีต้อนรับการลงทุนของจีนในโครงสร้างพื้นฐาน "มันเป็นเรื่องที่ดีกว่าสำหรับเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างมาเลเซียที่จะขยายความสัมพันธ์กับจีน" นายกรัฐมนตรีมาเลย์กล่าว

เมื่อถูกถามถึงความจำเป็นในการเข้มงวดกับจีนภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซีย เขากล่าวว่า "ทำไมเราต้องเข้มงวด? เราไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ ในหลายเรื่องด้านนโยบายต่างประเทศ แต่เราก็ต้องการให้พวกเขาเป็นพันธมิตรที่สำคัญ" และ "กับจีน ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องของการเข้มงวดกับประเทศเพื่อนบ้านที่แข็งแกร่งและใหญ่"

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังให้ความเห็นถึงกรณีกำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมั่นใจว่า "เหตุผลจะชนะในที่สุด" และกล่าวว่า "มีบริษัทใหญ่จากสหรัฐฯ ที่มีความสนใจและการพึ่งพาการค้าต่างประเทศและการลงทุนจำนวนมาก"

ในแง่การบาลานซ์ระหว่างมหาอำนาจ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวถึงความตั้งใจที่จะ 'รักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย' ในระหว่างการเป็นประธานอาเซียน

ทรัมป์ไม่เอ่ยถึง ‘ยูเครน’ ในสปีชรับตำแหน่ง จับตา 'ปูติน' ส่งสัญญานพร้อมเจรจา

(21 ม.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) ไม่ได้เอ่ยถึงความขัดแย้งในยูเครนโดยตรงระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ ขณะวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความเต็มใจจะร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ในการจัดการความขัดแย้งดังกล่าว

“สหรัฐฯ เคยมีรัฐบาลที่จัดสรรเงินเพื่อปกป้องพรมแดนของต่างประเทศแต่ปฏิเสธจะปกป้องผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันหรือประชาชนของตัวเอง” ส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์จากทรัมป์ที่เหมือนพาดพิงถึงนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน ซึ่งสนับสนุนยูเครนเพื่อชัยชนะของยูเครนในความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย

ทรัมป์ระบุว่าสหรัฐฯ จะวัดความสำเร็จทั้งด้วยชัยชนะในการสู้รบและการยุติสงครามที่ไม่เคยเข้าไปข้องเกี่ยว โดยทรัมป์นั้นกล่าวอ้างหลายครั้งว่าความขัดแย้งเรื้อรังในยูเครน ซึ่งเริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 จะไม่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก หากเขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น

บรรดานักวิเคราะห์ของสื่อมวลชนสหรัฐฯ พากันขบคิดหาสาเหตุว่าทำไมทรัมป์ดูเหมือนจงใจไม่เอ่ยถึงยูเครนโดยตรง ทั้งที่เขาเคยคุยโวก่อนหน้านี้ว่าเขาจะยุติความขัดแย้งในยูเครนโดยเร็วหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ โดยเมื่อไม่นานนี้ ทรัมป์เผยว่ามีการเตรียมการประชุมหารือระหว่างเขากับปูติน

แถลงการณ์จากทำเนียบเครมลินของรัสเซียระบุว่าปูตินกล่าวระหว่างการประชุมกับสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งรัสเซียเมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) ว่ารัสเซียไม่เคยปฏิเสธการเจรจาและเปิดกว้างสู่ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ มาโดยตลอด พร้อมใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีกับทรัมป์ที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

กับภารกิจพิชิตยอด Yasa Thak เชื่อม 65 ปีสายใยไทย-เนปาล พร้อมเสนอตั้งชื่อ 'Echo Peak'ตามเพลงพระราชนิพนธ์ 'แว่ว'

เมื่อวันที่ (20 ม.ค. 68) ที่ประชุมห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ได้จัดเสวนาถ่ายทอดประสบการณ์เรื่อง  'ก้าวสู่ยอดหิมาลัย เชื่อมสายใยไทย-เนปาล' โดยในงานนี้มี พณฯ ธัน พหาทุร โอลิ เอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน

สำหรับงานเสวนาถ่ายทอดประสบการณ์เรื่อง  “ก้าวสู่ยอดหิมาลัย เชื่อมสายใยไทย-เนปาล” ได้มีการแบ่งปันประสบการณ์ของ 'หนึ่ง วิทิตนันท์ โรจนพานิช' คนไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ถึงประสบการณ์น่าตื่นเต้นของการพิชิตยอดเขา Yasa Thak ประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2567  อันเป็นส่วนหนึ่งในกโอกาสร่วมสนับสนุนในโอกาส ครบรอบ 65 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-เนปาล 

นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ กล่าวเปิดงานเสวนา 'ก้าวสู่ยอดหิมาลัย เชื่อมสายใยไทย - เนปาล' ว่าในปีนี้ ประเทศไทยและเนปาล จะครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 65 ปี โดยทั้งสองประเทศ มีสายใยเชื่อมโยงกันผ่านทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน รวมถึงน้ำใจคนไทยที่ช่วยเหลือประเทศเนปาล จากผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ 10 ปีก่อน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ นายวิทิตนันท์ โรจนพานิช นายกสมาคมมิตรภาพไทย - เนปาล ชาวไทยผู้มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศเนปาลมาอย่างยาวนาน ได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการพิชิตเอเวอร์เรสต์เมื่อปี 2551 นั้น  เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมถึงในปี 2567 ที่ได้พิชิตยอดเขายาซ่า ทัก (Yasa Thak) นั้น นอกจากจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ไทย-เนปาลแล้ว ยังเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 

"ในชีวิตผมใช้ชีวิตโลดโผนมาตลอด ตั้งแต่ดำน้ำ ขับเครื่องบิน แต่ยังไม่เคยปีนเขา จนกระทั่งปีประมาณปี 2551 ได้มีโอกาสทำรายการโทรทัศน์ให้เวียดนาม จนสามารถพิชิตยอดเอเวอร์เรสต์ได้สำเร็จเมื่อ 22 พฤษภาคม 2551 ตอนนั้นผมรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการ จึงอาศัยจังหวะนี้ขึ้นไปพร้อมกับนักปีนเขาจนสามารถพิชิตยอดเขาได้สำเร็จ เราก็คิดว่าในเมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาสูงที่สุดในโลกได้แล้ว ก็อยากขึ้นไปชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 บนยอดที่สูงที่สุดในโลกเพื่อป่าวประกาศพระเกียรติยศของพระองค์ท่าน" 

สำหรับภารกิจล่าสุดเมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมาซึ่ง หนึ่ง วิทิตนันท์ เพิ่งพิชิตยอดเขาแห่งใหม่ เขาได้เผยเรื่องราวในภารกิจการพิชิตยอดเขา Yasa Thak ครั้งล่าสุดนี้ว่า "หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตได้ราวปีเศษ ก็ยังมีความรู้สึกอยากปีนยอดเขาอีกยอดหนึ่งเพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน เราก็อยากปีนยอดเขาที่ยังไม่เคยมีใครปีนพิชิตมาก่อน ในตอนนั้นผมก็นึกถึงประเทศเนปาล ซึ่งเป็นชาติที่เรารู้สึกผูกพันมากที่สุด จึงได้ขออนุญาตหน่วยงานท้องถิ่นของเนปาล ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจากสถานเอกอัคราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย"

หนึ่ง วิทิตนันท์ เผยว่า ภายหลังที่สามารถพิชิตยอด Yasa Thak ได้สำเร็จเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 ตลอดจนสานสัมพันธ์ระหว่างไทย-เนปาล เขาได้ยื่นต่อ 'Nepal Mountaineering Association' เพื่อขอใช้สิทธิการพิชิตคนแรกเสนอตั้งชื่อยอดเขานี้ว่า 'Echo Peak' หรือ 'เสียงสะท้อน' เพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเนปาล และสื่อถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 41 'แว่ว' และยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ด้วย

"ตอนนี้อยู่ระหว่างการเสนอต่อ Nepal Mountaineering Association ในการตั้งชื่อยอดเขา 'Echo Peak' หรือ 'เสียงสะท้อน' ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการโดยคาดจะเสร็จสิ้นกระบวนการตั้งชื่อใหม่ภายในปีนี้"

หนึ่ง วิทิตนันท์  ยังเผยอีกว่า ในฐานะภาคประชาชน เขาอย่างเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมความสัมพันธ์ไทย-เนปาล ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเขาได้มองถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งด้านความเชื่อและวัฒนธรรมระหว่างกัน การเชื่อมโยงผ่านด้านการท่องเที่ยว 'ภูเขาในเนปาล และทะเลไทย' หรือด้านสิ่งแวดล้อม ในการร่วมกับสมาคมนักปีนเขาแห่งประเทศเนปาล ผลิตโดรนเพื่อเก็บขยะบนยอดเขาต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ และนำขยะเหล่านั้นมาหมุนเวียนเพื่อสร้างประโยชน์ต่อไปได้ 

ทำท่ามือในงานฉลองทรัมป์ร คล้ายสัญลักษณ์นาซี

(21 ม.ค. 68) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชื่อดัง กำลังตกเป็นประเด็นดราม่าในโลกออนไลน์ หลังจากที่เขาทำท่าทางมือระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในงานฉลองการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มกราคม ซึ่งหลายคนได้เปรียบเทียบท่าทางนี้กับการทำความเคารพแบบนาซี (Sieg Heil) อย่างไรก็ตาม องค์กรต่อต้านการเหยียดชาวยิว (ADL) เชื่อว่า ท่าทางดังกล่าวอาจเกิดจากความกระตือรือร้นมากกว่าที่จะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์แบบนั้น

ADL ได้โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม x ว่า “ท่าทางที่อีลอน มัสก์ ทำดูเหมือนจะเป็นการแสดงออกจากความตื่นเต้น ไม่ใช่ท่าทางการทำความเคารพแบบนาซี แต่เราเข้าใจว่าทำไมคนถึงรู้สึกไม่สบายใจ”

ท่าทางนี้เกิดขึ้นขณะที่มัสก์ขึ้นเวทีในสนามแคปิตอล วัน อารีนา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเฉลิมฉลองการกลับมาดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ และได้รับเสียงเชียร์จากฝูงชน เขาโบกมือและตะโกนว่า “เยส!” จากนั้นพูดว่า “นี่ไม่ใช่แค่ชัยชนะธรรมดา แต่มันคือจุดเปลี่ยนของอารยธรรมมนุษย์ ขอบคุณทุกคนที่ทำให้มันเป็นจริง!” 

มัสก์กัดริมฝีปากและทำท่าขยายแขนขวา โดยมือขวายกขึ้นแตะที่หน้าอกซ้ายก่อนจะเหยียดแขนขวาออกไปข้างหน้าในท่าทางที่ฝ่ามือหันลงและนิ้วมือชิดกัน หลังจากนั้นเขาก็หันไปทำท่าทางเดียวกันกับฝูงชนที่อยู่ข้างหลัง พร้อมพูดว่า “ขอมอบหัวใจให้พวกคุณ เพราะพวกคุณคืออนาคต”

ท่าทางนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว โดยหนังสือพิมพ์เยรูซาเลมโพสต์ได้ตั้งคำถามว่า “อีลอน มัสก์ทำท่าซีค ไฮล์ในพิธีสาบานตนของทรัมป์หรือไม่?”

มัสก์ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยโพสต์ข้อความในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ว่า “พูดตรงๆ นะ พวกเขาต้องหาวิธีโจมตีที่ดีกว่านี้แล้ว ‘ทุกคนคือฮิตเลอร์’ มันเป็นมุกเก่าที่ไม่มีใครอยากได้ยิน”

หลังจากเสร็จสิ้นสุนทรพจน์ มัสก์ได้โพสต์คลิปวิดีโอส่วนหนึ่งจากสุนทรพจน์ผ่านช่องฟ็อกซ์นิวส์ บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ โดยตัดช่วงที่ทำท่าทางนั้นออกไป พร้อมกับข้อความว่า “อนาคตน่าสนใจจริงๆ”

บางส่วนในโลกออนไลน์ได้ออกมาปกป้องมัสก์ โดยชี้ว่าเขากำลังสื่อความหมายว่า “มอบหัวใจให้” และวิจารณ์โพสต์ที่ตีความไปในทางอื่น

ทั้งนี้ มัสก์เคยแสดงการสนับสนุนพรรค AfD (พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดที่ต่อต้านผู้อพยพและศาสนาอิสลาม โดยถูกหน่วยงานความมั่นคงของเยอรมนีระบุว่าเป็นกลุ่มที่มีลัทธิหัวรุนแรงฝ่ายขวา โดยเขาเพิ่งได้มีการสัมภาษณ์กับหัวหน้าพรรค AfD ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของเขาเมื่อเดือนที่ผ่านมา

อดีตทูตอังกฤษเผยวิธีดีลกับ 'ทรัมป์' แนะทิ้งทุกทฤษฎีการทูต พร้อมหมัดเด็ดรับมือ

(21 ม.ค. 68) ในที่สุดโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กลับเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่สองอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางการจับตาของบรรดาชาติเอเชียและตะวันตก ถึงการรับมือด้านนโยบายต่างๆ 

หนึ่งในประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดสหรัฐที่สุดแต่ขณะนี้มีรัฐบาลที่มาจากคนละขั้วการเมืองคือ สหราชอาณาจักร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ จากพรรคแรงงาน ซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้าย ขณะที่รีพับลิกันของทรัมป์ค่อนข้างมีนโยบายทางขวาจัด ส่งผลให้นายคิม ดาร์รอค (Kim Darroch) อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐฯ ระหว่างปี 2016 - 2019 ซึ่งเคยอยู่ในสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยแรกในปี 2017 ได้ออกมาให้คำแนะนำต่อ นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ถึงแนวทางการรับมือต่อท่าทีของทรัมป์ในสมัยที่สอง

คิม ดาร์รอค ได้เขียนบทความแนะนำการรับมือของรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของพรรคแรงงานผ่านเว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน โดยระบุว่า รัฐบาลอังกฤษควรทิ้งทุกตำราการทูตที่รู้มา เพื่อรับมือกับทรัมป์ 2.0 

ดาร์รอคแนะนำแนวทางสำคัญที่รัฐบาลอังกฤษควรใช้ในการจัดการกับการกลับมาของทรัมป์ โดยระบุว่า หากมีการพูดคุยแบบทวิภาคี ควรเน้นการพูดคุยที่กระชับ เข้าประเด็น และนำเสนอแนวคิดของสหราชอาณาจักรที่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกา มากกว่าที่จะเน้นความสัมพันธ์แบบพิเศษระหว่างสองประเทศในแบบที่อังกฤษนิยมทำมาในอดีต

ดาร์รอค ยกตัวอย่างว่า หากจะพูดคุยเรื่องสหรัฐตั้งภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของยุโรป ควรพูดคุยกับทรัมป์โดยชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อาจโน้มน้าวได้ง่ายขึ้น เช่น พูดถึงสินค้าอะไร ภาษีเท่าไร หากเก็บภาษีจะกระทบสหรัฐอย่างไร

ตามคำแนะนำของดาร์รอค หากไปบอกการขึ้นภาษีของสหรัฐจะทำร้ายเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างไร ทรัมป์จะไม่สนใจ คู่เจรจรต้องพยายามโน้มน้าวให้ทรัมป์เห็นว่าการขึ้นภาษีจะทำร้ายอเมริกาอย่างไรจึงจะได้ผล 

ดาร์รอค ยังแนะนำอีกว่า ในยุคทรัมป์ 2.0 ควรหลีกเลี่ยงการตอบโต้กับบรรดาผู้ใกล้ชิดทรัมป์ อาทิ หากเกิดประเด็นปะทะคารมกับอีลอน มักส์ ให้หลีกเลี่ยงการปะทะคารมผ่านโซเชียลมีเดีย โดยดาร์รอคชี้ว่าความคิดเห็นของมัสก์ส่วนใหญ่มาจากความโกรธภายในมากกว่าจะมีผลต่อการเมืองจริงจัง

อดีตทูตอังกฤษ ยังระบุว่า ทรัมป์เป็นคนไม่ชอบการพูดยาวเวิ่นเว้อ หากต้องการโน้มน้าวเขา ควรใช้วิธีการอธิบายให้ตรงประเด็นว่า แนวคิดของคุณจะเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไร โดยเฉพาะการอธิบายว่าแนวคิดนี้จะช่วยผลักดันนโยบาย “America First” ได้อย่างไร

เขาแนะนำว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เกลียดบทสนทนายืดยาว ถ้าคุณเริ่มพูดอะไรยืดเยื้อเมื่อไหร่ ทรัมป์จะแทรกตัดบทหรือไม่ก็เบือนหน้าหนีทันที แล้วอำนาจต่อรองก็จะหายไปทันที และหากคุณนำเสนอหลายข้อเสนอ ทรัมป์อาจไม่สนใจเลย แต่หากคุณยื่นข้อเสนอที่ไม่มากเกินไป และอธิบายถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับ ก็จะมีโอกาสสำเร็จ

ดาร์รอค ยังให้ความเห็นว่า ในยุคทรัมป์ 2.0  การทูตระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนจะไม่สามารถใช้ได้ในยุคนี้ ทรัมป์อาจจะเป็นสัญญาณของการฟื้นฟูแนวคิดแบบสร้าง "เขตอิทธิพล" เหมือนที่บรรดาชาติยุโรปเคยทำในในยุคศตวรรษที่ 19 กลับมาใช้ในยุคศตวรรษที่ 21

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐจากองค์การอนามัยโลก

(21 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับหลังจากเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง โดยหนึ่งในคำสั่งที่ทรัมป์ลงนามคือ ให้สหรัฐถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลและพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงสุขภาพของประชาชนและชุมชนทั่วโลก โดยปัจจุบันอนามัยโลกมีชาติสมาชิกกว่า 124 ประเทศทั่วโลก

ทรัมป์เคยให้ความเห็นถึงประเด็นอนามัยโลกในครั้งหนึ่งว่า “จีนจ่าย 39 ล้านดอลลาร์ และเราจ่าย 500 ล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่จีนเป็นประเทศที่ใหญ่กว่า ไม่ยุติธรรมเลย” โดยเขาพูดถึงค่าใช้จ่ายในการมีส่วนร่วมนั้นสูงเกินไปสำหรับสหรัฐฯ โดยบอกว่าสหรัฐฯ จ่ายเงินไปแล้ว 500 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนองค์กร ในขณะที่จีนจ่ายเพียง 39 ล้านดอลลาร์เท่านั้น 

ทรัมป์ยังเคยกล่าวว่า กรณีอนามัยโลกเราต้องเจรจาเพิ่มเติม "พวกเขา (อนามัยโลก) ต้องการให้เรากลับมา ดังนั้นเมื่อเราถอนตัวจะรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

ทั้งนี้ ข้อมูลจากอนามัยโลก ณ ปี 2018-2019 ระบุว่า สหรัฐเป็นผู้บริจาคเงินให้อนามัยโลกมากถึง 893 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนบริจาคให้ที่ 86 ล้านดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏอมูลการบริจาคเงินในช่วงปี 2023-2024 ว่าทั้งสองชาติให้เงินอุดหนุนอนามัยโลกจำนวนเท่าใด

สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสมาชิกอนามัยโลก ครั้งแรกในปี 1948 โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้สั่งถอนการเข้าร่วมของทั้งประเทศในสมัยการดำรงตำแหน่งวาระแรกของเขาในปี 2020 และได้รับการคืนสถานะโดยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดนในปี 2021

จากข้อมูลของเว็บไซต์อนามัยโลก ระบุว่า "สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน WHO ในการปกป้องและปรับปรุงสุขภาพของชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลก"

ทรัมป์ลงนามคำสั่ง เลื่อนแบน TikTok อีก 75 วัน

(21 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อขยายระยะเวลาบังคับใช้คำสั่งแบนแอปพลิเคชัน TikTok ออกไปอีก 75 วัน จากกำหนดเดิมที่จะมีผลในวันที่ 19 มกราคม  

ตามรายงานจากรอยเตอร์ ทรัมป์ระบุว่า คำสั่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่ายบริหารของเขามีเวลาเพิ่มเติมในการตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการที่เหมาะสมสำหรับจัดการกับ TikTok โดยเขากล่าวว่า “เราต้องใช้เวลาพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้”  

นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมส่งหนังสือถึงบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น แอปเปิ้ล (Apple) กูเกิล (Google) และออราเคิล (Oracle) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับ TikTok เพื่อยืนยันว่า การดำเนินการของพวกเขาในช่วงเวลานี้จะไม่ถือว่าละเมิดกฎหมายหรือมีความผิดใด ๆ  

ทรัมป์ยังเสริมว่า การเลื่อนเวลาครั้งนี้ทำให้เขามีสิทธิ์ในการตัดสินใจว่าจะขายกิจการ TikTok ให้กับบริษัทอื่นหรือดำเนินการปิดตัวแอปพลิเคชันนี้ในอนาคต โดยเขาย้ำว่า “ผมต้องเป็นคนตัดสินใจในเรื่องนี้เอง”

เมียนมาลงนามข้อตกลงหยุดยิงกลุ่มโกก้าง จีนรับบทตัวกลางเจรจาลดความรุนแรง

(20 ม.ค. 68) รอยเตอร์รายงานว่า นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่า รัฐบาลเมียนมาและกองกำลังกบฏ MNDA (กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งเมียนมา) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์โกก้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา

ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาที่จัดขึ้นในนครคุนหมิง ประเทศจีน โดยจีนได้มีบทบาทสำคัญในการประสานงานและส่งเสริมการเจรจา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความขอบคุณต่อจีนสำหรับความพยายามในการผลักดันกระบวนการสันติภาพในครั้งนี้

“การลดความรุนแรงในภาคเหนือของเมียนมาเป็นผลประโยชน์ร่วมกันสำหรับทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่ในเมียนมา แต่ยังรวมถึงประเทศในภูมิภาค ซึ่งช่วยส่งเสริมความมั่นคงและการพัฒนาบริเวณชายแดนระหว่างจีนและเมียนมา” นางเหมากล่าว พร้อมยืนยันว่าจีนจะยังคงให้การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและการเจรจาต่อไป

MNDA ถือเป็นหนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในการสู้รบกับกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาในพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์มองว่าเป็นดินแดนของตนเอง โดย MNDA ยังเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ซึ่งรวมถึงกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอ้าง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ที่เคยยึดพื้นที่สำคัญใกล้ชายแดนจีนได้ในช่วงปลายปี 2566

ข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้มีขึ้นไม่นานหลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนแบบไม่เป็นทางการ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม ณ เมืองลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยนายโมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ระบุว่า อาเซียนได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาหยุดยิงและเริ่มต้นการเจรจาโดยทันที พร้อมย้ำว่า การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก แต่การยุติความรุนแรงควรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้

ประหารชีวิตชายขับรถพุ่งชน คร่า 35 ชีวิต ปมเหตุอ้างไม่พอใจแบ่งสมบัติหลังหย่าเมีย

(20 ม.ค. 68) สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) รายงานว่า ศาลประชาชนชั้นกลางประจำเทศบาลนครจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน ได้ยืนยันตัดสินโทษประหารชีวิตนายฟ่าน เว่ยฉิว วัย 62 ปี ผู้ก่อเหตุขับรถยนต์ส่วนบุคคลพุ่งชนประชาชนภายในศูนย์กีฬาเทศบาลนครจูไห่ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 ราย และบาดเจ็บอีก 43 ราย  

ระบุว่า นายฟ่านขับรถ SUV พุ่งชนประตูศูนย์กีฬา ก่อนเข้าไปขับชนประชาชนที่กำลังออกกำลังกายและเดินสัญจรในบริเวณดังกล่าว สื่อท้องถิ่นหลายแห่งเปิดเผยว่า แรงจูงใจของจำเลยมาจากความไม่พอใจเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสหลังหย่าร้างกับอดีตภรรยา  

ศาลประชาชนระบุว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยถือว่า "เลวร้ายอย่างยิ่ง" ทั้งในแง่แรงจูงใจและวิธีการก่อเหตุ อีกทั้งยังสร้างผลกระทบร้ายแรงและเป็นอันตรายอย่างมากต่อสังคม จึงตัดสินประหารชีวิตนายฟ่านเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยคำตัดสินนี้ได้รับการยืนยันจากศาลฎีกาในกรุงปักกิ่ง  

ในปีที่ผ่านมา จีนเผชิญกับเหตุรุนแรงหลายครั้งที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เช่น การขับรถพุ่งชนประชาชนและการใช้มีดไล่แทงผู้คน เหตุการณ์เหล่านี้เป็นความท้าทายสำคัญด้านความมั่นคงภายในของรัฐบาลจีนในการรักษาภาพลักษณ์ความปลอดภัยของประเทศ

จีนเผยแผน 2024-2035 ปฏิวัติระบบ เล็งเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับโลกใน 10 ปี

(19 ม. ค. 68) พรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีนได้เผยแพร่ “แผนการสร้างประเทศด้านการศึกษา (2024-2035)” ซึ่งเป็นแผนการที่มีการกำหนดกลยุทธ์และแผนงานอย่างชัดเจนเพื่อสร้างประเทศที่มีระบบการศึกษาชั้นนำภายในปี 2035 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ด้านการศึกษาจะพัฒนาไปในทิศทางใด?

ตั้งแต่การปฏิรูปและเปิดประเทศมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีได้เผยแพร่เอกสารแผนการพัฒนาในรูปแบบของ “แผนการการศึกษา” ซึ่งในแต่ละช่วงเวลามีความสำคัญในการกำหนดทิศทางของกลยุทธ์ วันนี้แผนการสร้างประเทศด้านการศึกษา (2024-2035) ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการสร้างประเทศที่มีระบบการศึกษาชั้นนำในโลก โดยมีการพัฒนาในหลายด้าน เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สูงขึ้น การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการขยายโอกาสการศึกษาที่หลากหลาย

李永智 (Li Yongzhi) ผู้อำนวยการของ 中国教育科学研究院 (China Academy of Educational Sciences) ได้กล่าวว่า การลดช่องว่างระหว่างพื้นที่ในเมืองและชนบทระหว่างโรงเรียนต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การศึกษามีความสมดุลยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสร้างความสมดุลทั้งในระดับเทศบาลและระดับจังหวัด ด้านการศึกษาในระดับประถมและมัธยม จะเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับประถม โดยมีการพัฒนาโครงสร้างการศึกษาระดับปฐมวัยในช่วงอายุ 2 ถึง 3 ปี ในระดับการศึกษาปริญญาตรี การขยายจำนวนการรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและการขยายการผลิตบัณฑิตในสาขาต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนจะมุ่งเน้น แผนการสองขั้นตอนเพื่อสร้างประเทศการศึกษา แผนการนี้ได้กำหนดแผนที่สองขั้นตอนเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ภายในปี 2027 จะมีการบรรลุผลสำเร็จในระยะหนึ่งของการสร้างประเทศด้านการศึกษา
ภายในปี 2035 ประเทศจีนจะสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและมีระบบการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก การปฏิรูปที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหา แผนการนี้ยังได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหลักที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่มีการขาดแคลนหรือไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และการฝึกอบรมบุคลากรที่ไม่เพียงพอในหลายสาขา

Instagram เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่คล้าย TikTok เพิ่มความยาว Reels เป็น 3 นาที พร้อมแอป Edits

(20 ม.ค. 68) อินสตาแกรม (Instagram) ก้าวสู่การพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ที่ดูเหมือนจะได้รับแรงบันดาลใจจากคู่แข่งอย่างติ๊กต๊อก (TikTok) โดยเพิ่มความยาวของวิดีโอ Reels เป็น 3 นาที พร้อมทั้งเปิดตัวแอปพลิเคชันตัดต่อวิดีโอใหม่ชื่อ Edits ที่มีลักษณะคล้ายกับแอปยอดนิยมอย่าง CapCut ซึ่งเป็นของบริษัทแม่ติ๊กต๊อก ไบต์แดนซ์ (ByteDance) การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อนาคตของติ๊กต๊อกในสหรัฐฯ ยังคงคลุมเครือ

อดัม มอสเซอรี ผู้บริหารสูงสุดของอินสตาแกรม เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 มกราคมว่า ทางบริษัทกำลังปรับการแสดงผลของรูปโปรไฟล์จากแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งคล้ายกับรูปโปรไฟล์ในติ๊กต๊อก โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ มอสเซอรียังได้โพสต์ผ่านอินสตาแกรมในวันที่ 18 มกราคม ว่าการเพิ่มความยาววิดีโอ Reels จาก 90 วินาทีเป็น 3 นาที เป็นผลมาจากคำขอของผู้ใช้งานที่ต้องการพื้นที่ในการเล่าเรื่องราวมากขึ้น “เดิมทีเราจำกัดความยาวของ Reels ไว้ที่ 90 วินาที เพื่อเน้นวิดีโอสั้น แต่เราได้รับฟีดแบ็กจากผู้ใช้ว่าความยาวดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการเล่าเรื่องที่มีรายละเอียดมากขึ้น” มอสเซอรีกล่าว

ในวันที่ 19 มกราคม มอสเซอรีได้กล่าวถึงแอปพลิเคชัน Edits ในวิดีโอบนอินสตาแกรมว่า “เราต้องการสร้างเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนที่ทำวิดีโอ ไม่ใช่แค่เพื่ออินสตาแกรมเท่านั้น แต่รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย” โดยแอปนี้สามารถดาวน์โหลดได้แล้วในแอปสโตร์ แต่จะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์

การเปลี่ยนแปลงของอินสตาแกรมเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ติ๊กต๊อกกำลังเผชิญกับวิกฤตสำคัญ เมื่อคืนวันที่ 20 มกราคม ติ๊กต๊อกและ CapCut ถูกปิดการเข้าถึงในสหรัฐฯ ชั่วคราว ก่อนที่กฎหมายเตรียมแบนแอปจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่กี่ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม แม้ติ๊กต๊อกจะถูกแบนเป็นระยะเวลานาน ผู้ใช้งานก็ไม่ได้เปลี่ยนมาใช้อินสตาแกรมแทนในทันที ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าที่ติ๊กต๊อกจะปิดตัว แอปพลิเคชันทางเลือก เช่น เรดโน้ต (RedNote) และ เสี่ยวหงชู (Xiaohongshu) ซึ่งเป็นแอปจากจีน กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ยอดดาวน์โหลดของอินสตาแกรมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ย้อนประวัติศาสตร์สาบานตน หลังทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกรอบ 40 ปีที่หนีหนาวเข้าทำพิธีในรัฐสภา

(20 ม.ค. 68) ตามเวลาท้องถิ่นกรุงวอชิงตันดี.ซี. ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศไทยราว 2 ชั่วโมง โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมเข้าพิธีสาบานตนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยสองคนที่ 47 ของสหรัฐ 

สำหรับพิธีสาบานตนในสมัยที่สองนี้มีขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวจัดในกรุงวอชิงตันดี.ซี. ด้วยอุณหภูมิถึง -11 ถึง -5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ต้องมีการย้ายสถานที่จัดงานไปจัดในอาคารรัฐสภา ซึ่งจะถือเป็นพิธีเข้ารับตำแหน่งที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 40 ปี การย้ายพิธีสาบานตนไปจัดในอาคารครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 1985 ในสมัยของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

ขณะที่หนึ่งในแขกวีไอพีที่จะเข้าร่วมงาน ทางด้านรัฐบาลปักกิ่งได้ส่งรองประธานาธิบดี หาน เจิ้ง เข้าร่วมพิธีด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะมีผู้นำระดับสูงเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของผู้นำกรุงวอชิงตัน 

สำนักข่าวสปุตนิก ได้ย้อนประวัติศาสตร์และเรื่องราวสุดแปลกที่เคยเกิดขึ้นในพิธีสาบานตนของผู้นำสหรัฐหลากหลายสมัยที่ผ่านมา

ครั้งหนึ่งพิธีสาบานตนเคยจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคา โดยย้อนไประหว่างปี  ค.ศ. 1792 ถึง 1937  วันสาบานตนจัดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นวันที่ 20 มกราคมในปี  1933  ตามคำสั่งของสภาคองเกรส เพื่อลดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระหว่างประธานาธิบดีคนเก่าและคนใหม่ 

นอกจากนี้ธงชาติสหรัฐที่ใช้ประดับอาคารัฐสภา จะเปลี่ยนจำนวนดาวตามลำดับที่รัฐของประธานาธิบดีเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ อย่างในกรณีของทรัมป์ที่ลงสมัครจากสองรัฐในปี 2020 และ 2024 (นิวยอร์กและฟลอริดา) ธงที่ใช้มีดาว 13 ดวงและ 27 ดวงตามลำดับ  

ในปี 1825 จอห์น ควินซี อดัมส์ เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ไม่ได้ใช้คัมภีร์ไบเบิลในพิธีสาบานตน  

จิมมี คาร์เตอร์ ในปี 1977 เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ใช้ชื่อเล่น “Jimmy” ในพิธี แทนชื่อเต็ม “James Earl Carter” ในระหว่างทำพิธีสาบานตน

ในปี 1837 มาร์ติน แวน บิวเรน เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เกิดในยุคที่สหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ  

นอกเหนือจากธงชาติสหรัฐที่ประดับในพิธีการแล้ว หนึ่งในไฮไลท์ของพิธีสาบานตนคือ ขบวนพาเหรดวันสาบานตนซึ่งเริ่มจัดตั้งแต่ปี 1841 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่มีครั้งนึงในปี 1973 ระหว่างพิธีสาบานตนครั้งที่สองของริชาร์ด นิกสัน เกิดเหตุการณ์นกพิราบกินสารเคมีที่ใช้ไล่นก ส่งผลให้ขบวนพาเหรดเต็มไปด้วยซากนกตาย ซึ่งนั่นก็เป็นลางบอกเหตุที่นิกสัน เป็นประธานาธิบดีเพียงหนึ่งเดียวของสหรัฐที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งอันเป็นพลผวงจากคดีวอเตอร์เกต

หนึ่งในพิธีสาบานตนที่เรียบง่ายที่สุดคือในปี 1789 จอร์จ วอชิงตัน ทานอาหารเพียงลำพังหลังพิธี ขณะที่สุนทรพจน์สาบานตนครั้งที่สองของเขาในปี 1793 มีเพียง 135 คำเท่านั้น  

พิธีสาบานตนสะท้อนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในแต่ละยุค เช่น  ในปี 1857 เจมส์ บูแคนัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มีภาพถ่ายในพิธี, ปี 1897 วิลเลียม แมคคินลีย์ เป็นคนแรกที่พิธีถูกบันทึกในภาพยนตร์  และปี 1949 แฮร์รี ทรูแมน เป็นคนแรกที่พิธีถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์  

ในปี 1961 การสาบานตนของจอห์น เอฟ. เคนเนดี ถือเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดโทรทัศน์สีเป็นครั้งแรก ขณะที่พิธีสาบานตนของบิล คลินตัน ในปี 1997 นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ครั้งแรก

พิธีสาบานตนที่หนาวที่สุดจัดขึ้นในปี 1873 ระหว่างการสาบานตนครั้งที่สองของยูลิสซีส เอส. แกรนต์ อุณหภูมิลดลงถึง -9 องศาเซลเซียส ขณะที่ในปี 1841 วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน เสียชีวิตหลังจากพิธีเพียง 3 สัปดาห์ โดยมีความเชื่อว่าเกิดจากปอดบวมหลังกล่าวสุนทรพจน์กลางอากาศหนาว  

พิธีสาบานตนของโจ ไบเดน ในปี 2021 ถือว่าเป็นการจัดสาบานตนท่ามกลางระบาดของโรคโควิด จัดขึ้นภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการปิดพื้นที่โดยรอบและจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมท่ามกลางการระบาด

มาเลเซียเบรกเมียนมา สร้างสันติภาพในประเทศก่อนเปิดหีบ

(20 ม.ค. 68) ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาดำเนินการเจรจาสันติภาพและยุติการใช้กำลังในทันที พร้อมเตือนว่าแผนการจัดการเลือกตั้งท่ามกลางสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่ทวีความรุนแรง ไม่ควรถูกจัดให้เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ

นายโมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย และประธานอาเซียนหมุนเวียนในปีนี้ กล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เกาะลังกาวี มาเลเซีย ว่า อาเซียนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งในเมียนมายุติการต่อสู้ และเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่โดยปราศจากอุปสรรค

"มาเลเซียต้องการทราบว่าเมียนมาคิดอย่างไร และเราได้แจ้งชัดเจนว่า การจัดการเลือกตั้งไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการหยุดยิง" นายโมฮัมหมัดกล่าว

นอกจากนี้ มาเลเซียได้แต่งตั้งนายโอธมัน ฮาชิม อดีตนักการทูต เป็นผู้แทนพิเศษด้านวิกฤตการณ์ในเมียนมา โดยนายโอธมันจะเดินทางไปยังเมียนมาในเร็ว ๆ นี้ เพื่อผลักดันให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามแผนสันติภาพ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

ทั้งนี้ สหประชาชาติรายงานว่า ความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาอยู่ในระดับวิกฤต โดยประชาชนเกือบ 20 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด กำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

แพทองธาร ส่งคำอวยพรตรุษจีน ย้ำสายใยวัฒนธรรมไทย-จีน นำสู่ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น

(20 ม.ค. 68) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ส่งคำอวยพรเนื่องในโอกาสใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีน โดยกล่าวย้ำถึงสายใยเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีนซึ่งเธอเชื่อว่าจะนำสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างสองประเทศ

แพทองธารกล่าวในข้อความวิดีโอภาษาอังกฤษที่ส่งให้กับสำนักข่าวซินหัวของจีน ระบุว่าเทศกาลตรุษจีนเป็นช่วงเวลาพิเศษที่สมาชิกครอบครัวมารวมตัวเพื่อเฉลิมฉลองและแบ่งปันความทรงจำที่ดีของปีที่ผ่านมา พร้อมอวยพรให้ปีข้างหน้าเป็นอีกปีที่ดีและเจริญรุ่งเรือง

เทศกาลตรุษจีนจะมีการเฉลิมฉลองทั่วจีน รวมถึงในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีสัดส่วนจำนวนมากในกลุ่มประชากรไทย ซึ่งแพทองธารระบุว่าช่วงเวลานี้คือเทศกาลที่สะท้อนถึงสายใยเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่มีมาเนิ่นนานระหว่างคนไทยและคนจีน

แพทองธารแสดงความเชื่อมั่นว่าสายสัมพันธ์นี้จะแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำสู่ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรและความร่วมมือที่เพิ่มพูนระหว่างไทยและจีนเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย และขอใช้โอกาสนี้อวยพรให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง มีความสุข และความเจริญรุ่งเรืองในเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง

ทูตเยอรมนีปูดแผนทรัมป์สมัยสอง สั่นคลอนประชาธิปไตย-ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีร่วมกุมอำนาจ

(20 ม.ค. 68) แอนเดรียส มิคาเอลิส เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหรัฐฯ  ออกคำเตือนว่า รัฐบาลใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและสื่อมวลชนในสหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มที่จะให้อำนาจกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ร่วมกำหนดทิศทางการปกครองประเทศ รายละเอียดดังกล่าวถูกเปิดเผยในเอกสารลับที่สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รับการตรวจสอบ

เอกสารลับฉบับนี้ลงวันที่ 14 มกราคม พร้อมลายมือชื่อของแอนเดรียส โดยเนื้อหาในเอกสารระบุว่า วาระซ่อนเร้นของทรัมป์ในสมัยที่สองจะสร้าง "การสั่นคลอนระบบครั้งใหญ่" และนำไปสู่ "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งจะรวบอำนาจไว้ที่ตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะเดียวกันลดบทบาทของรัฐสภาและรัฐบาลมลรัฐ

เอกสารยังชี้ให้เห็นว่า หลักการประชาธิปไตยและกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลจะถูกลดทอนจนแทบไม่มีความหมาย หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สื่อมวลชน และฝ่ายนิติบัญญัติจะถูกควบคุมให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ยืนยันว่า เยอรมนีจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ แต่จะยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเช่นกัน เมื่อถูกถามถึงจุดยืนของเอกอัครราชทูตมิคาเอลิสต่อทรัมป์ แบร์บ็อคกล่าวว่า ท่านทูตเพียงปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ
บทบาทสำคัญของฝ่ายตุลาการ

เอกสารลับยังระบุว่า ฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะศาลฎีกา จะมีบทบาทสำคัญต่อความพยายามของทรัมป์ในการผลักดันวาระต่าง ๆ แม้ว่าศาลฎีกาจะมีแนวโน้มสนับสนุนการขยายอำนาจของประธานาธิบดี แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยังเชื่อว่า ศาลจะสามารถยับยั้งสถานการณ์เลวร้ายที่สุดได้

เอกสารยังกล่าวถึงความพยายามของทรัมป์ที่จะควบคุมกระทรวงยุติธรรมและ FBI เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เช่น การกวาดล้างผู้อพยพ การล้างแค้นศัตรูทางการเมือง และการสร้างความคุ้มกันทางกฎหมายให้ตนเอง

แอนเดรียส มิคาเอลิส คาดการณ์ว่า ทรัมป์และอีลอน มัสก์ เจ้าของแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์เดิม) อาจมีบทบาทในการปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์ โดยใช้วิธีข่มขู่และบิดเบือนอัลกอริทึมบนแพลตฟอร์มออนไลน์

การสนับสนุนพรรคฝ่ายขวาจัดในเยอรมนีของมัสก์ก่อนการเลือกตั้งระดับชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เกิดความไม่พอใจในรัฐบาลเยอรมนี แม้ว่าจะยังไม่มีการถอนตัวจากแพลตฟอร์มดังกล่าว

ในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและสหรัฐฯ เต็มไปด้วยความตึงเครียดจากนโยบายการค้าของทรัมป์ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์เยอรมนีที่ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณด้านการทหารให้เป็นไปตามเป้าหมายของนาโต

แม้การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในสหรัฐฯ อาจไม่ส่งผลให้เอกอัครราชทูตต้องพ้นตำแหน่งโดยอัตโนมัติ เอกสารลับฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนีต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top