Tuesday, 1 July 2025
WORLD

ชาติตะวันตกส่งทหารล็อตใหญ่ 50,000 นาย ช่วยรับมือสู้ศึกรัสเซีย ปูทางสู่การยุติสงคราม

(23 ม.ค.68) เว็บไซต์สปุตนิกรายงานว่า รัฐบาลยูเครนเชื่อว่าบรรดาชาติพันธมิตรตะวันตกอาจส่งทหารอีกจำนวน 50,000 นาย มายังยูเครนเพื่อช่วยรับมือศึกรัสเซีย อันเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความขัดแย้งระหว่างสองชาติ

ตามรายงานของไฟแนนเชียลไทมส์ ที่อ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลเคียฟระบุว่า 
ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้กล่าวเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรตะวันตกส่งทหารไปยูเครนเพื่อรักษาความปลอดภัยหากมีข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซีย ในขณะเดียวกัน เขากล่าวว่า ทหารต่างชาติจะไม่ได้ถูกส่งไปยังเคียฟตามที่บางประเทศในยุโรปต้องการ พร้อมเสริมว่า ยูเครนต้องการกองทัพขนาดหนึ่งล้านนายซึ่งต้องรักษาไว้

รายงานจากไฟแนนเชียลไทมส์ อ้างอิงแหล่งข่าวที่มีส่วนร่วมในการหารือระหว่างเคียฟและพันธมิตรตะวันตก ว่า เจ้าหน้าที่ของยูเครนเชื่อว่า ตะวันตกอาจส่งทหารระหว่าง 40,000 ถึง 50,000 นายเพื่อรักษาความปลอดภัยบนแนวรบยาว 1,000 กิโลเมตร (621.4 ไมล์) 

อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่า กำลังทหารประมาณ 40,000 นายอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความแข็งแกร่งจนไม่ตกเป็นเป้าโจมตีของรัสเซีย และอาจไม่มีขนาดใหญ่พอที่จะไม่ต้องการกำลังเสริม หากว่าต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ซึ่งทหารจำนวน 50,000 นายนี้จะต้องไม่ถูกมองว่าเป็นการผูกมัดลับของนาโต้ด้วย

ด้าน Camille Grand อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาโต้ เสริมว่า กองทัพนี้น่าจะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มชั่วคราวที่นำโดยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วยการเข้าร่วมจากประเทศในแถบบอลติกและนอร์ดิก

อย่างไรก็ตาม โฆษกเครมลิน ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การหยุดความขัดแย้งในยูเครนไม่สามารถยอมรับได้สำหรับรัสเซีย ในเดือนธันวาคม 2024 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินกล่าวว่า รัสเซียไม่ต้องการแค่การหยุดยิง แต่ต้องการสันติภาพที่ยั่งยืนโดยมีการรับประกันความปลอดภัยที่เชื่อถือได้สำหรับประเทศและประชาชนของตน

พิพิธภัณฑ์เยอรมนีปลดป้ายอวยยศอีลอน มัสก์ เชื่อปมเชียร์ขวาจัด - ชูมือคล้ายสัญลักษณ์นาซี

(23 ม.ค.68) พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 'Deutsches Museum' ในนครมิวนิก ประเทศเยอรมนี ได้ปลดแผ่นป้ายที่เคยยกย่องอีลอน มัสก์ ในฐานะนักสร้างแรงบันดาลใจด้านอวกาศออกจากนิทรรศการ โดยไม่มีการระบุเหตุผลอย่างชัดเจนถึงการนำป้ายดังกล่าวออก  

โฆษกของพิพิธภัณฑ์ชี้แจงว่า “การยกย่องบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ในพื้นที่สำคัญของนิทรรศการ อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากอาจถูกมองว่าเป็นการยกย่องที่ปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์” พร้อมเสริมว่าความสำเร็จตลอดชีวิตของบุคคลหนึ่งมักสามารถประเมินได้อย่างเหมาะสมในภายหลังเท่านั้น  

ก่อนหน้านี้ ป้ายดังกล่าวได้นำเสนออีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง SpaceX ควบคู่กับนักบุกเบิกด้านวิทยาศาสตร์จรวดในอดีตอย่างแม็กซ์ วาลีเออร์ และแฮร์มันน์ โอเบิร์ธ ในส่วนจัดแสดง “ผู้สร้างแรงบันดาลใจจากอดีตและปัจจุบัน”  

อย่างไรก็ตาม มัสก์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในประเด็นการใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สนับสนุนการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ และการสนับสนุนพรรคขวาจัด AfD ของเยอรมนี นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เขายังจุดกระแสความไม่พอใจจากการแสดงท่าทางคล้ายกับการทำความเคารพแบบนาซีระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ฉลองพิธีสาบานตนของทรัมป์

จีนเรียกร้อง 'ไทย-เมียนมา' หยุดภัยคุกคามฉ้อโกงออนไลน์อย่างจริงจัง

(23 ม.ค. 68) หลิวจิ้นซง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชีย สังกัดกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่าจีนหวังว่าไทยและเมียนมาจะปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดนด้วยมาตรการที่เข้มงวด และไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล

หลิวกล่าวถ้อยคำข้างต้นระหว่างการพบปะหารือแยกกับฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำจีน และติน หม่อง ชเว เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำจีน โดยหลิวได้แสดงความกังวลและหารือถึงความร่วมมือในการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดน

หลิวกล่าวว่าเกิดเหตุฉ้อโกงทางโทรคมนาคมร้ายแรงหลายคดีในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามและสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์สำคัญของประชาชนจีนและประเทศอื่นๆ

จีนหวังว่าทั้งไทยและเมียนมาจะให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว ใช้มาตรการเข้มงวดปราบปรามการกระทำผิดลักษณะนี้ รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล

จีนยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทวิภาคีและพหุภาคีร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนในหมู่ประชาชน และรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมทั่วไป

ด้านเอกอัครราชทูตไทยและเมียนมาประจำจีนกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับข้อกังวลของจีนและรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อหลายเหตุการณ์ฉ้อฉลที่เกิดขึ้น พวกเขาตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม และแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยและเมียนมาในการปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวอย่างเด็ดขาดผ่านมาตรการที่ครอบคลุมและความร่วมมือระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศให้คำมั่นว่าจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกักขัง กำหนดบทลงโทษรุนแรงต่อแก๊งอาชญากรอย่างสอดคล้องตามกฎหมาย เสริมสร้างการควบคุมชายแดนและกำกับดูแลพื้นที่สำคัญ ตลอดจนจัดตั้งกลไกระยะยาวเพื่อกำจัดแหล่งซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามพรมแดน

เปิดหลักฐาน!! ยันจีนไม่เคยคุมคลองปานามา หลังทรัมป์กล่าวหาปักกิ่งบงการค่าผ่านทาง

(23 ม.ค.68) หลังโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัย 2 เพียงไม่กี่วัน ได้มีคำสั่งให้นายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีการทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เตรียมเดินทางเยือนปานามาภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนลาตินอเมริกา สะท้อนท่าทีจริงจังของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยึดคลองปานามาคืน นอกจากนี้ รูบิโอยังมีกำหนดที่จะเดินทางไปเยือนกัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และคอสตาริกาด้วย

การเดินทางครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของรูบิโอในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 ม.ค.) การเยือนครั้งนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของปธน.ทรัมป์ที่ต้องการสกัดกั้นการอพยพผิดกฎหมายผ่านเส้นทางอเมริกากลาง และผลักดันให้ผู้อพยพเดินทางกลับประเทศต้นทาง

รายงานข่าวระบุว่า ตามธรรมเนียมแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มักจะเลือกเยือนประเทศพันธมิตรสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นทริปแรก เช่น แอนโทนี บลิงเคน ที่เลือกไปญี่ปุ่น หรือเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ที่เลือกไปเยอรมนี

ทรัมป์ได้ประกาศจุดยืนว่าต้องการให้สหรัฐฯ กลับมาควบคุมคลองปานามา หากไม่มีการลดค่าธรรมเนียมผ่านคลองสำหรับเรือรบและเรือพาณิชย์ พร้อมทั้งกล่าวหาอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการคลองแห่งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีปานามารีบออกมาตอกย้ำอธิปไตยเหนือคลองปานามา และยืนยันว่าจีนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการบริหารจัดการคลอง

จากข้อมูลซึ่งเป็นเปิดเผยต่อสาธารณะพบว่า คลองปานามาซึ่งมีความยาว 82 กิโลเมตร (51 ไมล์) เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก ถูกสร้างขึ้นและเป็นของสหรัฐฯ ในช่วงต้นทศวรรษปี 1900 ก่อนที่จะถูกมอบให้กับปานามาในที่สุดในปี 1977 ภายใต้สนธิสัญญาที่รับประกันความเป็นกลางปานามา โดยในปี 2021 ข้อตกลงที่อนุญาตให้ Panama Ports Company ดำเนินการต่อไปได้รับการขยายเวลาออกไปอีก 25 ปี

สหรัฐอเมริกาเป็นลูกค้าผู้ใช้คลองปานามารายใหญ่ที่สุด และรับผิดชอบการขนส่งสินค้าประมาณสามในสี่ส่วนในแต่ละปีจีนตามมาเป็นอันดับสอง ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่เดือน ต.ค. 2023 ถึง ก.ย. 2024 จำนวนเรือขนส่งสินค้าของจีนที่เดินทางมาที่คลองปานามาคิดเป็น 21.4% ปริมาณการขนส่งทางเรือทั้งหมด ซึ่งมากเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ

คำกล่าวของทรัมป์ที่ว่า "จีนคุมคลองปานามาจากทั้งสองฝั่งคลอง" อาจหมายถึง การมีอยู่ของท่าเรืออยู่สองฝั่งของคลองปานามาซึ่งดำเนินการโดยบริษัทในฮ่องกง ซึ่งตลอดเส้นทางคลองปานามานั้น มีท่าเรือทั้งหมด 5 แห่งอยู่ติดกับคลองปานามา โดยมีท่าเรืออื่นๆ เป็นของบริษัทต่างชาติ รวมถึงบริษัทของสหรัฐฯ ด้วย ท่าเรือ 2 แห่งจากที่มีทั้งหมด 5 แห่งบริเวณใกล้เคียงกับคลองปานามา ดำเนินการโดยบริษัทฮัตชิสัน พอร์ต โฮลดิ้งส์ มาตั้งแต่ปี 1997 ท่าเรือทั้ง 2 แห่งได้แก่ ท่าเรือบัลบัวที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลที่ตั้งอยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

ในปี 1996 ปานามาได้ให้สัมปทานแก่บริษัทในฮ่องกงที่ชื่อ ฮัทชิสัน-วัมเปา (hutchison whampoa) ในตอนนั้นในการดำเนินการท่าเรือบัลโบอาในฝั่งแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลในฝั่งแอตแลนติก สัญญาดังกล่าวไม่ได้ทำให้ฮัทชิสัน-วัมโปอาเป็นเจ้าของท่าเรือ แต่ให้สิทธิแก่บริษัทดังกล่าวในการดำเนินการในนามของรัฐบาลปานามา

ปัจจุบันผู้ประกอบการท่าเรือนี้รู้จักกันในชื่อ Hutchison Ports ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CK Hutchison Holdings ซึ่งมีฐานอยู่ในฮ่องกงและเป็นเจ้าของโดยมหาเศรษฐีหลี่ กาชิง (Li Ka-shing) ซึ่งบริษัท Hutchison ต่างก็เข้าไปลงทุนบริหารท่าเรือหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงบริหารท่าเรือแหลมฉบังของไทยด้วย

อีกทั้งในปี 1999 จากการสอบสวนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ต่อกรณีที่รัฐบาลปานามาจะมอบสัมปทานแก่ฮัทชิสัน-วัมโปอา ว่า จ้าหน้าที่ของกระทรวงได้ค้นคว้าเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้วและ "ไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่จะสนับสนุนข้อสรุปว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะอยู่ในตำแหน่งที่จะควบคุมการดำเนินงานคลอง" 

ท่ามกลางคำกล่าวของทรัมป์ที่อ้างถึงรัฐบาลปักกิ่งว่าอยู่เบื้องหลังคลองปานามา ทางด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน เหมา หนิง กล่าวว่า “จีนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการดำเนินงานของคลอง และไม่เคยแทรกแซงกิจการของคลอง”

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจาก ไรอัน เบิร์ก ผู้อำนวยการโครงการอเมริกาศึกษา แห่งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ มองว่า การบริหารท่าเรือเหล่านี้ทำให้บริษัท ซีเค ฮัตชิสัน มีข้อมูลทางยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์จำนวนมากของเรือต่าง ๆ ที่ผ่านเส้นทางนี้

"ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้นมีเพิ่มมากขึ้น" เบิร์กกล่าว "ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรือขนส่งสินค้าเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์เมื่อเกิดสงครามเรื่องห่วงโซ่อุปทานเกิดขึ้น"

ถึงแม้ว่าซีเค ฮัตชิสัน จะไม่ได้มีรัฐบาลเป็นจีนเป็นเจ้าของ แต่เบิร์กมองว่า รัฐบาลสหรัฐอาจหวาดระแวงว่า รัฐบาลจีนจะสามารถเข้ามาแทรกแซงในบริษัทบริหารท่าเรือดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด

ทรัมป์สั่งพนักงานรัฐแจ้งเบาะแส หากเจอโครงการหนุนความหลากหลายทางเพศ

(23 ม.ค.68) รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งให้พนักงานรัฐรายงานหากพบว่ามีการซ่อนโครงการส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการไม่แบ่งแยก (Diversity, Equity, and Inclusion – DEI) โดยขู่ว่าจะดำเนินการทางวินัยหากไม่รายงานภายใน 10 วัน

คำสั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของทรัมป์ในการยกเลิกโครงการ DEI ในภาครัฐ ซึ่งถือเป็นการกลับลำนโยบายจากรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ให้ความสำคัญกับ DEI

คำสั่งระบุว่ามีการปกปิดโปรแกรม DEI บางส่วนในรัฐบาลโดยใช้ภาษาที่คลุมเครือ ผู้ที่รายงานภายในเวลาที่กำหนดจะไม่ถูกลงโทษ แต่หากไม่รายงานภายใน 10 วันอาจเผชิญกับผลกระทบทางวินัย

คำสั่งนี้ได้ถูกส่งไปยังพนักงานหลายกระทรวง ซึ่งอ้างว่ามาจากรัฐมนตรีหลายคนในคณะรัฐมนตรีของทรัมป์ เช่น จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยระบุว่าเป็นคำสั่งจากมาร์โก รูบิโอ และจากกระทรวงยุติธรรม โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งจากรักษาการอัยการสูงสุด เจมส์ แมคเฮนรี

ทรัมป์มองว่าโครงการ DEI เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวอเมริกันบางกลุ่ม โดยมุ่งเน้นที่เชื้อชาติและเพศมากกว่าคุณสมบัติของผู้สมัคร ฝ่ายสนับสนุนสิทธิพลเมืองกลับมองว่า DEI เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเหยียดเชื้อชาติที่มีมายาวนาน

การกระทำของทรัมป์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง โดยศาสตราจารย์ไซคี วิลเลียมส์-ฟอร์สัน มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ กล่าวว่าความไม่พอใจในหมู่ชายผิวขาวกำลังปะทุขึ้นอีกครั้ง และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ทรัมป์กลับมามีบทบาททางการเมืองได้ แม้จะเผชิญกับคดีความหลายคดี

ขณะเดียวกัน สส. แฮงค์ จอห์นสัน จากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ทรัมป์กำลังทำลายความก้าวหน้าที่คนผิวดำได้สร้างขึ้นในช่วงหลายทศวรรษ

นอกจากนี้ ในคืนวันอังคารที่ผ่านมา ทรัมป์ยังได้ยกเลิกคำสั่งฝ่ายบริหารปี 2508 ของอดีตประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ที่ห้ามผู้รับเหมาของรัฐบาลกลางเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และยังพยายามกดดันบริษัทเอกชนที่รับงานจากรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการ DEI โดยขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตาม

ล่าสุด รัฐบาลทรัมป์ได้เรียกร้องให้พนักงานรัฐรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ DEI ที่อาจถูกซ่อนไว้ โดยกำหนดให้พนักงานแผนก DEI หยุดงานโดยได้รับค่าจ้างภายในเวลา 17:00 น. ของวันพุธที่ 22 มกราคม และปิดเว็บเพจของหน่วยงาน DEI ทั้งหมดภายในเวลานี้

แคโรไลน์ ลีวิตต์ เลขาธิการฝ่ายสื่อของทำเนียบขาวกล่าวว่า คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้แล้ว และหน่วยงานของรัฐบาลกลางจะต้องส่งแผนการเลิกจ้างพนักงานภายในวันที่ 31 มกราคม

ฝ่ายสนับสนุนสิทธิพลเมืองได้ออกมาต่อต้านการกระทำนี้ โดยมองว่าโครงการ DEI มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเหยียดเชื้อชาติที่ยาวนาน ขณะที่ทรัมป์และผู้สนับสนุนมองว่า DEI เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวอเมริกันคนอื่น

บัญชีเมตา 'ฟอลโลว์' ทรัมป์เอง ทั้งที่เคยอันฟอลไปแล้วหลายรอบ

เมื่อวานนี้ (22 ม.ค.68) ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียของเมตา (Meta) บางรายเปิดเผยว่า บัญชีของพวกเขาได้กลับไปติดตามโปรไฟล์ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์, รองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เมลาเนีย ทรัมป์ อีกครั้ง หลังจากที่ได้เลิกติดตามไปแล้ว  

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านคณะบริหาร บัญชีโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการของทำเนียบขาวจะถูกส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ชุดใหม่ที่ได้รับเลือก ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในปี 2560 และ 2564 เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งต่อจากบารัค โอบามา และโจ ไบเดนเข้ามารับตำแหน่งต่อจากทรัมป์  

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานบางรายระบุว่า แม้พวกเขาจะเลิกติดตามบัญชีของทรัมป์, รองประธานาธิบดี และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งไปตั้งแต่วันจันทร์ที่ 20 มกราคม แต่กลับพบว่าบัญชีของตัวเองกลับไปติดตามบัญชีเหล่านั้นอีกครั้งโดยไม่ตั้งใจ บางคนต้องกดเลิกติดตามซ้ำหลายครั้ง หรือถึงขั้นบล็อกบัญชีเหล่านั้น  

แอนนา สปริงเกอร์ ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ผ่านเธรดส์ (Threads) ของเมตาว่า “ฉันและคนอื่น ๆ ได้เลิกติดตามทรัมป์และแวนซ์เมื่อวันจันทร์ แต่ต่อมาพบว่าบัญชีของตัวเองกลับไปติดตามพวกเขาอีกครั้ง ไม่แน่ใจว่ามันเป็นความผิดพลาดของระบบหรือเกิดจากความตั้งใจ แต่ที่แน่ ๆ คือมันเกิดขึ้นจริง”  

จนถึงขณะนี้ เมตายังไม่ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวก็ไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ เช่นกัน  

เดมี โลวาโต นักร้องชื่อดังจากสหรัฐฯ โพสต์สตอรีบนอินสตาแกรมที่มีผู้ติดตามกว่า 150 ล้านคน เผยว่าเธอพบปัญหาเดียวกัน โดยระบุว่า “วันนี้ฉันเลิกติดตามหมอนี่มา 2 ครั้งแล้ว” พร้อมโพสต์ภาพที่บัญชีของเธอติดตามรองประธานาธิบดีแวนซ์  

ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ยังรายงานเพิ่มเติมว่า พวกเขาพบว่าบัญชีของตัวเองติดตามเมลาเนีย ทรัมป์โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงความผิดพลาดของระบบหรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่โปร่งใสในระบบของเมตา

จีนเปิดตัวรถบรรทุกไร้คนขับ ใช้ AI วิ่งลุยเหมืองสูง 5,000 เมตร กลางที่ราบสูงทิเบต

(23 ม.ค.68) รถบรรทุกไร้คนขับ ออกวิ่งขนส่งแร่ไปตามถนนลูกรังอันคดเคี้ยวที่เหมืองทองแดงอวี้หลงในเมืองชางตู เขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน บริเวณที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตที่ความสูง 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

โครงการขับเคลื่อนอัตโนมัติสุดล้ำนี้ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2024 ถือเป็นระบบขนส่งไร้คนขับระบบแรกของโลกที่ดำเนินการในเหมืองเปิดโล่ง ณ ความสูงมากกว่า 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามครั้งใหญ่ของจีนในการพัฒนาเหมืองอัจฉริยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับปรุงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่สูงให้ทันสมัย  

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ทิเบต อวี้หลง คอปเปอร์ มายนิง จำกัด ในเครือเวสเทิร์น มายนิง จำกัด (Western Mining Co.) กลุ่มสำนักการรถไฟแห่งประเทศจีนที่ 19 และหัวเหวย (Huawei)  

ทีมงานประจำโครงการเผยว่ารถบรรทุกแร่ไร้คนขับสามารถปฏิบัติงานบนเส้นทางเหมืองทอดยาวหลายกิโลเมตรที่มีความกว้างขั้นต่ำ 20 เมตร ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับสภาพแวดล้อมสุดท้าทายบนพื้นที่สูง อีกทั้งติดตั้งเทคโนโลยีการรับรู้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์หลายประเภทเพื่อให้สามารถทำงานอย่างเสถียรตลอดปี และมีอัตราการปฏิบัติงานออนไลน์สูงกว่าร้อยละ 99

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลและระบบอัจฉริยะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G คลังข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติยังกลายมาเป็นแนวโน้มสำคัญในการพัฒนาร่วมกันของระบบเหมืองแร่และยานยนต์ในจีน

เหอเหว่ย วิศวกรเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติของหัวเหวย อธิบายว่าเมื่อเทียบกับรถบรรทุกเหมืองแบบดั้งเดิม รถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติมีจุดเด่นอยู่ที่มีประสิทธิภาพสูงและความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์เลย

รถบรรทุกเหมืองอัตโนมัติระบบไฮบริด น้ำหนัก 90 ตัน ซึ่งติดตั้งเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) หรือระบบตรวจจับแสงและวัดระยะ กล้อง เรดาร์คลื่นมิลลิเมตร และระบบนำทางแบบบูรณาการ กำลังถูกใช้งานในพื้นที่เหมืองที่มีความสูงเฉลี่ยมากกว่า 4,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งศักยภาพการรับรู้สภาพแวดล้อมแบบเรียลไทม์และการตัดสินใจอัตโนมัติ ทำให้รถบรรทุกเหล่านี้ทำงานด้วยความเร็วที่ตั้งไว้ได้แม้ในตอนกลางคืน

เหอกล่าวว่าเซ็นเซอร์หลายตัวทำหน้าที่เสมือน 'หูและดวงตา' ของรถบรรทุก ช่วยให้พวกมันสามารถ 'ได้ยินและมองเห็น' สิ่งรอบตัว อีกทั้งมีการติดตั้งระบบตรวจจับสิ่งกีดขวาง การจดจำสิ่งกีดขวางแบบคงที่ การต้านทานการรบกวน และเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

"ตัวอย่างเช่น ไลดาร์ที่ติดตั้งบนรถบรรทุกสามารถตรวจจับมนุษย์หรือสัตว์ป่า เช่น หมี ม้า หมาป่า และสัตว์บนที่ราบสูงอย่างจามรีได้ โดยรถบรรทุกจะหยุดโดยอัตโนมัติหรือเลี่ยงเส้นทางเพื่อรักษาความปลอดภัย" เหอระบุ

นอกจากนั้น ทีมงานของโครงการได้พัฒนาแพลตฟอร์มการจัดการแบบครบวงจรที่ประกอบด้วยระบบการจัดตารางรถ ระบบการตรวจสอบ บริการแผนที่ความแม่นยำสูง ซึ่งทำหน้าที่เป็น 'สมอง' ของโครงการขับเคลื่อนไร้คนขับ เพื่อเอื้อให้รถบรรทุกสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เทียบจอดอย่างแม่นยำ ตรวจสอบข้อมูลแบบเรียลไทม์จากระยะไกล หยุดรถทันทีเมื่อพบคนเดินเท้า และวางแผนเส้นทางการเดินรถ

ข้อมูลจากเวสเทิร์น มายนิง จำกัด เผยว่าระบบจัดการอัจฉริยะนี้ยังช่วยลดความจำเป็นในการบำรุงรักษาถนนและลดความถี่การซ่อมแซมรถบรรทุก โดยเมื่อเทียบกับการทำงานแบบดั้งเดิม รถบรรทุกเหมืองขับเคลื่อนอัตโนมัติ 2 กลุ่ม รวม 10 คัน สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายราว 6 ล้านหยวน (ราว 27.8 ล้านบาท) ต่อปี

นักวิชาการไทยชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนไร้ทางจบเร็ว แฉลึก ‘ธุรกิจอาวุธ’ สหรัฐฯ ฟันกำไรจากวิกฤติ

(23 ม.ค.68) ภายหลังที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนกลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำสหรัฐสมัยที่สองอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าทรัมป์อาจผลักดันให้ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียสิ้นสุดเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของ ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว TASS ของรัสเซีย เชื่อว่าความขัดแย้งในยูเครนไม่น่าจะคลี่คลายอย่างรวดเร็วภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่  

ผศ.ดร.กฤษฎา ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า

“ภายใต้การบริหารงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ผมไม่เชื่อว่าความขัดแย้งนี้จะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว เรายังไม่เห็นแผนที่ชัดเจนในการยุติสงครามจากเขาหรือทีมงานของเขา การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เงื่อนไขที่ทั้งยูเครนและรัสเซียยอมรับได้” 

เขาเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม เราสามารถเห็นได้ว่าจุดยืนปัจจุบันของทั้งสองฝ่ายยังไม่สอดคล้องกัน ซึ่งทำให้การเจรจาเป็นไปได้ยาก”  

กฤษฎา ยังมองว่า กลุ่มอำนาจรัฐพันลึกในสหรัฐฯ (Deep State) อาจไม่อนุญาตให้โดนัลด์ ทรัมป์ ยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ “ปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเมืองภายในและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ถูกกำหนดและควบคุมโดยกลุ่มอำนาจรัฐพันลึก โดยเฉพาะบริษัทอาวุธที่มองว่าสงครามเป็นผลประโยชน์ของพวกเขา โดยเฉพาะในด้านการค้าอาวุธ”  

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังให้ความเห็นอีกว่า มีแนวโน้มที่บางประเทศยุโรปที่  'เริ่มถอนการสนับสนุนจากยูเครน' โดยเขากล่าวว่า “วาทกรรมที่มุ่งต่อต้านรัสเซีย (Russophobia) ของประเทศในยุโรปทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถยอมรับได้ว่ารัสเซียจะเป็นฝ่ายชนะในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เรามักได้ยินการโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อชาติตะวันตกว่า รัสเซียจะไม่หยุดที่ยูเครน แต่จะบุกประเทศอื่นต่อไป วาทกรรมนี้ทำให้ประเทศตะวันตกยังคงสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง”  

ตามรายงานของ Wall Street Journal ทรัมป์ได้มอบหมายให้ คีธ เคลล็อก ผู้แทนพิเศษด้านยูเครนของเขาเป็นผู้รับผิดชอบในการยุติความขัดแย้งในยูเครนภายใน 100 วัน อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า “การเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย อาจเป็นเรื่องยากกว่าที่ทรัมป์สัญญาไว้ระหว่างการหาเสียง โดยเขาเคยกล่าวว่าจะยุติความขัดแย้งนี้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง” ขณะที่คีธ เคลล็อก กล่าวว่าเขาต้องการทำตามเป้าหมายภายใน 100 วัน  

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไม่นานหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตน ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าสหรัฐฯ อาจหยุดการส่งอาวุธให้ยูเครน และย้ำถึงความพร้อมที่จะพบกับปูติน อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังระบุด้วยว่าสหรัฐฯ อาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หากรัสเซียปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพ  

ด้านปูตินกล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัสเซียพร้อมที่จะเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครนกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของวิกฤติ พร้อมยืนยันว่ารัสเซียกำลังจับตาถ้อยแถลงของทรัมป์และทีมงานที่แสดงถึงความต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ และการทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันสงครามโลกครั้งที่ 3

ผลโพลเผยคนอเมริกันมอง 4 ปีของไบเดน ทำสหรัฐแตกแยก ทิ้งผลงานผู้อพยพทะลัก

(22 ม.ค.68) ผลสำรวจจาก Rasmussen Reports ระบุว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่าในช่วงการเป็นประธานาธิบดีของโจ ไบเดน ระหว่างปี 2021-2024 ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่มีความแตกแยกมากขึ้น

ผลสำรวจที่จัดทำขึ้นออนไลน์ในช่วงกลางเดือนมกราคมในการสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 1,220 คน พบว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าอเมริกาแตกแยกมากขึ้นหลังจากการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของไบเดน ขณะอีกที่ 30% มองว่า ระดับความแตกแยกในประเทศยังคงเหมือนเดิมเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่ไบเดนจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง

มีเพียง 16% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า รู้สึกว่าประเทศมีความแตกแยกน้อยลง ในขณะที่ 2% ไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว

การบริหารงานของไบเดนได้เผชิญความท้าทายกับปัญหาการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายจากชายแดนใต้ของสหรัฐฯ โดยมีตัวเลขผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายทำสถิติสูงสุดติดต่อกันถึง 3 ปี มีผู้ย้ายถิ่นผิดกฎหมายมากกว่า 8 ล้านคนที่ข้ามเข้ามาในสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรและการป้องกันชายแดน (CBP)

ในอีกแง่หนึ่ง ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดโดย Ipsos และ Reuters การสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม โดยมีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ จำนวน 1,077 คน  ระบุว่า คะแนนความนิยมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สูงถึงเกือบครึ่งของผู้สำรวจความเห็น โดยร้อยละ  47% ของผู้ตอบความเห็นแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนทรัมป์ หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นครั้งที่สองในพิธีสาบานตนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจดังกล่าว พบว่า 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของทรัมป์ในการอภัยโทษผู้ต้องโทษประมาณ 1,500 คนที่ถูกตัดสินลงโทษจากเหตุการณ์ประท้วงที่อาคารรัฐสภา ขณะที่ 29% สนับสนุนการจัดการของประธานาธิบดีคนที่ 47 ในเรื่องการเมืองและความยุติธรรม

ในขณะเดียวกัน 46% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับนโยบายของทรัมป์ในด้านการตรวจคนเข้าเมือง โดย 56% สนับสนุนข้อเสนอที่ว่า สหรัฐฯ ควร "ลดจำนวนผู้ขอลี้ภัยที่ได้รับอนุญาตให้ข้ามพรมแดนอย่างมีนัยสำคัญ"

สำหรับคะแนนความนิยมของทรัมป์ในช่วงเริ่มต้นของวาระแรกนั้นอยู่ที่ 43% และสูงสุดที่ 49% ในปี 2017 ก่อนที่จะลดลงเหลือ 34% เมื่อสิ้นสุดวาระ

ทรัมป์ล้มทุกนโยบาย LGBTQ พร้อมสั่งห้ามสถานทูตใช้ธงสีรุ้ง

(22 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ไม่นานหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โดยคำสั่งนี้กำหนดให้รัฐบาลกลางยอมรับเพียง 2 เพศ คือ ชายและหญิง และยกเลิกตัวเลือกเพศ "X" ซึ่งได้รับการนำเสนอในช่วงที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนกำหนดให้ประชาชนสามารถเลือกเพศที่ไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิดในเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น หนังสือเดินทาง วีซา และบัตร Global Entry

คำสั่งนี้มีชื่อว่า "ปกป้องสตรีจากสุดโต่งแห่งอุดมการณ์เรื่องเพศและฟื้นฟูความจริงทางชีววิทยาในรัฐบาลกลาง" โดยระบุให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดใช้คำว่า "sex" (เพศ) แทนคำว่า "gender" (อัตลักษณ์ทางเพศ) และยืนยันว่าสิ่งที่เป็นเพศนั้นเป็นลักษณะทางชีววิทยาที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งขัดแย้งกับการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายที่มีผลจากนโยบายของรัฐบาลไบเดน

การบังคับใช้คำสั่งนี้จะส่งผลต่อเอกสารราชการต่างๆ เช่น หนังสือเดินทางและวีซา ที่จะต้องแสดงเพศตามกำเนิดของผู้ถือเอกสาร นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการพื้นที่แยกตามเพศ เช่น เรือนจำ ศูนย์พักพิงผู้อพยพ และสถานพักพิงสำหรับเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบในการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ที่อยู่ในพื้นที่แยกตามเพศ

คำสั่งนี้ยังได้กำหนดมาตรการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาษีเพื่อป้องกันการสนับสนุนอุดมการณ์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศในหน่วยงานรัฐบาล ข้อกำหนดเหล่านี้จะมีผลทันทีและต้องได้รับการปฏิบัติในทุกหน่วยงานของรัฐ

การออกคำสั่งนี้ถือเป็นการย้อนกลับนโยบายของรัฐบาลไบเดนที่ได้เพิ่มตัวเลือกเพศ "X" ในเอกสารราชการ โดยไม่ต้องการเอกสารทางการแพทย์ในการเปลี่ยนแปลงเพศ และยังเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายสามารถเลือกระบุเพศของตนเองได้

การออกคำสั่งนี้ส่งผลให้ชุมชน LGBTQI+ เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียสิทธิทางกฎหมาย โดยเฉพาะสิทธิในการแต่งงานเพศเดียวกัน ซึ่งได้รับการรับรองในคดี Obergefell v. Hodges ปี 2558 การกลับมาของทรัมป์และการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมทำให้เกิดความกลัวว่าอาจจะมีการยกเลิกคำตัดสินนี้ในอนาคต

ท่ามกลางความกังวลนี้ คู่รัก LGBTQ หลายคู่ได้เร่งจดทะเบียนสมรสเพื่อให้สิทธิทางกฎหมายก่อนที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายจะมีผล ข้าราชการและอาสาสมัครในหลายรัฐได้ร่วมกันจัดพิธีแต่งงานฟรีให้คู่รักเหล่านี้ ขณะเดียวกัน คู่รักหลายคู่ยังได้เร่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงเอกสารสำคัญ เช่น สูติบัตรและใบขับขี่ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีการยกเลิกคำตัดสิน Obergefell หรือสิทธิการแต่งงานเพศเดียวกันโดยตรง แต่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายได้เตือนว่าความเสี่ยงทางกฎหมายยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะจากท่าทีของผู้พิพากษาบางคนที่มีแนวคิดขัดแย้งกับสิทธิของ LGBTQ ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมาย Respect for Marriage Act จะยังคงบังคับให้รัฐบาลกลางยอมรับการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้ออกนโยบาย "ธงเดียว" คือธงชาติสหรัฐเท่านั้น โดยคำสั่งของนายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐคนใหม่ ได้สั่งห้ามสถานทูตสหรัฐฯ ใช้ธง LGBTQ และ BLM โดยระบุว่าจะมีการแสดงเพียงธงชาติสหรัฐฯ เท่านั้น และธงที่เคยใช้ในยุคไบเดนเช่นธง LGBTQ และ Black Lives Matter จะไม่ได้รับอนุญาตให้ชักธงดังกล่าวอีกต่อไป

คำสั่งนี้ระบุไว้ตามรายงานของ The Washington Free Beacon ซึ่งได้รับสำเนาของคำสั่งว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ธงชาติสหรัฐอเมริกาจะได้รับการอนุญาตให้ชูหรือแสดงที่สถานที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในเนื้อหาของรัฐบาลสหรัฐฯ ธงชาติสหรัฐฯ คือสัญลักษณ์ที่รวมใจชาวอเมริกันทุกคนภายใต้หลักการพื้นฐานของความยุติธรรม เสรีภาพ และประชาธิปไตย ค่านิยมเหล่านี้ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศที่ยิ่งใหญ่ของเราได้รับการยอมรับจากพลเมืองอเมริกันทุกคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน … ธงชาติสหรัฐฯ เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ และมันเป็นเรื่องที่เหมาะสมและให้เกียรติที่ธงชาติสหรัฐฯ เท่านั้นที่จะถูกชูหรือแสดงที่สถานที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

หากมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศละเมิดนโยบายใหม่ดังกล่าว จะได้รับการดำเนินการทางวินัย รวมถึงการยกเลิกการจ้างงานหรือสัญญา หรือการโอนไปยังหน่วยงานต้นสังกัด

แจกโบนัส 1.7 แสน ดึงครีเอเตอร์ทิ้ง 'TikTok' มาร่วมเฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม

เมื่อวันที่ (21 ม.ค. 68) เมตา (Meta) ประกาศแผนการแจกโบนัสด้วยเป้าหมายดึงดูดใจนักสร้างเนื้อหาออนไลน์ ซึ่งเรียกกันว่า “ครีเอเตอร์” (creator)  จากติ๊กต็อก (TikTok)

รายงานระบุว่าครีเอเตอร์จากติ๊กต็อกที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์จะได้รับโบนัสสูงถึง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.7 แสนบาท) ในระยะเวลา 3 เดือน สำหรับการโพสต์รีล (Reel) หรือคลิปวิดีโอสั้นบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม

นอกจากนั้นครีเอเตอร์จากติ๊กต็อกเหล่านี้ยังจะเข้าถึงโปรแกรมสร้างรายได้จากคอนเทนต์บนเฟซบุ๊ก (Facebook Content Monetization) ซึ่งช่วยให้มีรายได้จากการโพสต์วิดีโอ รูปภาพ และข้อความบนเฟซบุ๊ก

ขณะเดียวกันเมตาจะมอบข้อเสนอด้านเนื้อหาแก่ครีเอเตอร์จากติ๊กต็อกบางส่วนเพื่อช่วยพวกเขาเพิ่มจำนวนผู้ชมบนอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก ทั้งยังจะปรับปรุงรูปแบบของรีลให้ดึงดูดใจครีเอเตอร์จากติ๊กต็อกมากขึ้นด้วย

อนึ่ง เมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อชะลอการแบนติ๊กต็อกเป็นระยะเวลา 75 วัน และแจ้งกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ไม่ให้บังคับใช้บทลงโทษของการแบน

อย่างไรก็ดี แอปพลิเคชันติ๊กต็อกยังคงไม่ได้กลับมาอยู่ในร้านค้าแอปพลิเคชันของแอปเปิล (Apple) และกูเกิล (Google)

ผุดโปรเจ็กต์ 'Stargate' ทุ่ม 5 แสนล้านดอลลาร์ ดันสหรัฐฯ สู่ศูนย์กลาง AI โลก

(22 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นเกี่ยวกับแผนการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง SoftBank จากญี่ปุ่น, Oracle ผู้เชี่ยวชาญด้านคลาวด์ และ OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT เข้าร่วมโครงการสำคัญนี้

โครงการที่มีชื่อว่า "Stargate" จะเริ่มต้นด้วยการลงทุนเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ทรัมป์กล่าวในคำแถลงที่ทำเนียบขาว “นี่เป็นการแสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศของเราอย่างเต็มที่” เขากล่าวหลังจากเปิดตัวโครงการนี้ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากเขาเริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง

บุคคลสำคัญที่เข้าร่วมการประกาศนี้ได้แก่ แซม อัลท์แมน ซีอีโอของ OpenAI, มาซาโยชิ ซอน ประธาน SoftBank และแลร์รี เอลลิสัน ผู้ก่อตั้ง Oracle ซึ่งต่างก็มีบทบาทสำคัญในโครงการดังกล่าว โดยมาซาโยชิ ซอน ได้ระบุว่า Stargate จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยอาจสูงถึง 500 พันล้านดอลลาร์

การร่วมทุนนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาความสามารถด้านการประมวลผลของ AI รวมถึงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่จำเป็นต่อการสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทรัมป์กล่าวว่า Stargate จะเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในเชิงกายภาพและดิจิทัล เช่น ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อรองรับการเติบโตของ AI รุ่นถัดไป

OpenAI ยังได้โพสต์ในแพลตฟอร์ม X ระบุว่าโครงการนี้จะส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในสหรัฐฯ และสนับสนุนความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกาและพันธมิตร โครงการ Stargate จะมีพันธมิตรสำคัญอย่าง SoftBank และ OpenAI โดย SoftBank รับผิดชอบด้านการเงิน และ OpenAI ดูแลด้านปฏิบัติการ

อีกทั้งยังมีการเปิดเผยว่า MGX ซึ่งเป็นกองทุนเทคโนโลยีจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเข้าร่วมเป็นนักลงทุนรายสำคัญ ขณะที่บริษัทชั้นนำอย่าง Arm, Microsoft, NVIDIA, Oracle และ OpenAI จะทำหน้าที่เป็นพันธมิตรเทคโนโลยีเริ่มต้นของโครงการ

โครงการนี้จะเริ่มต้นในรัฐเท็กซัส และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาสถานที่เพิ่มเติมทั่วประเทศเพื่อขยายวิทยาเขตและโครงสร้างพื้นฐาน ตามที่ OpenAI กล่าว เท็กซัสได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับการลงทุนด้านเทคโนโลยีแทนที่แคลิฟอร์เนียในหลายกรณี

ในงานประกาศดังกล่าว ผู้บริหารชั้นนำทั้งสามยังได้กล่าวขอบคุณทรัมป์ โดยแซม อัลท์แมน กล่าวว่า “เราจะไม่มีวันทำได้หากไม่มีการสนับสนุนจากคุณ” ขณะที่เอลลิสันย้ำถึงศักยภาพของ AI ในการพัฒนาด้านการแพทย์ เช่น การตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มต้นจากการตรวจเลือด

หุ้นของ SoftBank ในตลาดโตเกียวพุ่งขึ้นกว่า 8% หลังมีการประกาศข่าวนี้

โครงการ Stargate ยังเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของทรัมป์ ซึ่งมีผู้นำในแวดวงเทคโนโลยีระดับโลกเข้าร่วม เช่น ทิม คุก ซีอีโอของ Apple, ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของ Google, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta และเจฟฟ์ เบโซส ซีอีโอของ Amazon

นอกจากนี้ ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ลงนามยกเลิกคำสั่งประธานาธิบดีจากสมัยโจ ไบเดน ซึ่งกำหนดมาตรการควบคุมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ การเพิกถอนดังกล่าวส่งผลให้สหรัฐฯ สามารถพัฒนา AI ได้โดยไม่มีข้อจำกัดในระดับประเทศ แม้ว่าบางรัฐอาจมีกฎเกณฑ์เฉพาะของตนเองก็ตาม

เมียนมาโบ้ยความผิด 'ชาติเพื่อนบ้าน' ปราบแก๊งสแกมเมอร์ไม่ได้ ทำชายแดนรุนแรงขึ้น

(22 ม.ค.68) สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า ภายใต้แรงกดดันจากจีนที่ต้องการให้เมียนมาดำเนินการปราบปรามปัญหาแก๊งหลอกลวงออนไลน์ตามแนวชายแดน รัฐบาลทหารเมียนมาได้กล่าวหาว่าเป็นความผิดของประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ที่ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ

รัฐบาลทหารเมียนมาออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ระบุว่า ศูนย์ปฏิบัติการหลอกลวงออนไลน์ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนได้รับการสนับสนุนด้านไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งกล่าวว่า มีองค์กรอาชญากรรมที่ดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งยังได้รับอาวุธ กระสุน และวัสดุก่อสร้างจากประเทศเพื่อนบ้าน ถึงแม้จะไม่ได้ระบุชื่อประเทศโดยตรง แต่มีการคาดการณ์ว่าเป็นประเทศไทย

รัฐบาลเมียนมาขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ในแถลงการณ์ รัฐบาลทหารเมียนมาอ้างว่า แก๊งหลอกลวงตามแนวชายแดนดำเนินการโดยชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือร่วมกันในการปราบปรามการหลอกลวงออนไลน์ โดยระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาได้จับกุมชาวต่างชาติ 55,711 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ฐานเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงออนไลน์และได้ส่งตัวกลับประเทศต้นทางแล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมายอมรับว่าไม่สามารถควบคุมพื้นที่ที่แก๊งเหล่านั้นตั้งอยู่ได้ เนื่องจากสถานการณ์ไม่มั่นคง พร้อมกล่าวหากลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธต่างๆ ว่าพัวพันกับปฏิบัติการของแก๊งเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีการกล่าวถึงนายซอ ชิต ทู หัวหน้ากองกำลังพิทักษ์ชายแดนรัฐกะเหรี่ยง (BGF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหารเมียนมาและได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รับหน้าที่ดูแลบ่อนพนันและแก๊งฉ้อโกงออนไลน์ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลเมียนมา และหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อนายซอ

ในขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยแห่งสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยระบุว่า กองกำลัง BGF ที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร รวมถึงกลุ่มพันธมิตรติดอาวุธเป็นผู้รักษาความปลอดภัยให้แก่แก๊งหลอกลวงออนไลน์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และได้ประกาศความตั้งใจที่จะดำเนินการป้องกันไม่ให้เมียนมากลายเป็นศูนย์กลางของการฉ้อโกงออนไลน์ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก พร้อมเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว และไทย ร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

ที่เมืองเมียวดี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนสำคัญระหว่างเมียนมาและไทย ถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งรวมของแก๊งหลอกลวงออนไลน์ที่ดำเนินการโดยกลุ่มอาชญากรรมชาวจีน โดยมีจุดสำคัญในเมืองชเวก๊กโก่และ KK Park ซึ่งเป็นศูนย์รวมของอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งการหลอกลวงออนไลน์และการค้ามนุษย์ รวมถึงการบังคับใช้แรงงานและการทรมาน

ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2021 ศูนย์หลอกลวงออนไลน์ตามแนวชายแดนได้ผุดขึ้นมากมาย โดยหลายกลุ่มย้ายฐานจากรัฐฉานตอนเหนือมายังเมียวดี หลังจากที่รัฐบาลจีนและรัฐบาลทหารเมียนมาได้บุกปราบปรามแก๊งอาชญากรเหล่านี้

ชื่อของเมืองเมียวดีได้รับความสนใจอีกครั้งในเดือนที่ผ่านมา หลังจากมีรายงานของกรณีซิงซิง ดาราจีนที่ถูกล่อลวงมายังประเทศไทยก่อนถูกแก๊งค้ามนุษย์ข้ามชายแดนหลอกไปบังคับใช้แรงงานในศูนย์หลอกลวงออนไลน์ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวชาวจีนยกเลิกการจองทัวร์นมายังประเทศไทย และสถานทูตจีนได้ออกประกาศเตือนการเดินทาง ขณะที่หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือในการปราบปรามการฉ้อโกงข้ามชายแดน

ก่อนหน้านี้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของรัฐบาลทหารเมียนมา นายเมีย ทุน อู ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีดิจิทัลอาเซียนในกรุงเทพฯ และให้คำมั่นที่จะร่วมมือกับสมาชิกอาเซียนในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติอย่างเต็มที่

'จีน-สหรัฐฯ' ไม่ขัด หากเศรษฐีมะกันซื้อหุ้น TikTok 50% แต่ต้องพร้อมแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐบาล

(22 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า เขายินดีให้อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชื่อดังที่สนับสนุนเขา หรือแลร์รี เอลลิสัน ประธานบริษัท Oracle เข้าซื้อกิจการ TikTok โดยผ่านการร่วมทุนกับรัฐบาลสหรัฐฯ  

ทรัมป์กล่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคาร (21 ม.ค. 68) ว่า “ผมมีสิทธิ์ที่จะทำข้อตกลงนี้ สิ่งที่ผมจะพูดคือ ซื้อเลย แล้วแบ่งผลประโยชน์ครึ่งหนึ่งให้กับสหรัฐฯ เราจะอนุญาต และคุณก็จะมีพันธมิตรที่ยอดเยี่ยม”  

รายงานจากบลูมเบิร์กระบุว่า TikTok ได้ระงับการให้บริการชั่วคราวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่ทรัมป์จะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันจันทร์ (20 มกราคม) ซึ่งเป็นวันแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง เพื่อเลื่อนการแบน TikTok ออกไป 75 วัน  

อย่างไรก็ตาม ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ยังคงปฏิเสธที่จะขายกิจการ แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากคำตัดสินของศาลฎีกาและการปิดตัวชั่วคราวของ TikTok ที่อาจทำให้บริษัทต้องพิจารณาขายใหม่  

ทรัมป์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “คุณมีทรัพย์สินที่อาจไม่มีมูลค่าเลย หรือมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะอนุญาตให้ดำเนินกิจการต่อหรือไม่”  

มีรายงานว่านักลงทุนชาวอเมริกันหลายกลุ่มต่อคิวรอเข้าซื้อกิจการ TikTok รวมถึงเจสซี ทินส์ลีย์ ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี, มิสเตอร์บีสต์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดัง, แฟรงก์ แมคคอร์ต อดีตเจ้าของทีมลอสแอนเจลิสดอดเจอร์ส และเควิน โอเลียรี นักลงทุนจากรายการ Shark Tank 

ท่าทีของทรัมป์สอดคล้องกับทางปักกิ่งโดยเว็บไซต์เซาธ์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานว่า จีนไม่ขวางการซื้อกิจการ แต่ควรเป็นเรื่องที่บริษัทต่างๆ ตัดสินใจเองอย่างอิสระ  

เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า “เรายึดมั่นว่าการดำเนินการต่างๆ ของบริษัทควรเป็นไปตามหลักการตลาดอย่างเสรี และหากบริษัทจีนมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของจีน”  

โฆษกจีนยังชี้ให้เห็นว่า TikTok ได้ดำเนินกิจการในสหรัฐฯ มาเป็นเวลาหลายปี และได้รับความนิยมจากผู้ใช้ชาวอเมริกัน พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ จัดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปิดกว้าง ยุติธรรม และไม่เลือกปฏิบัติสำหรับธุรกิจจากทุกประเทศ  

ทรัมป์ขู่!! หากปูตินเมินเจรจายุติขัดแย้งยูเครน เตรียมเจอมาตรการคว่ำบาตรสุดโหด

(22 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ กล่าวถึงสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินมายาวนานเข้าสู่ปีที่ 3 โดยระบุว่า หากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ปฏิเสธการเข้าร่วมเจรจาเพื่อยุติสงคราม รัฐบาลสหรัฐอาจพิจารณาขยายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย

ทรัมป์ชี้ว่า การที่ปูตินยังไม่บรรลุข้อตกลงสันติภาพถือเป็นการสร้างความเสียหายให้กับรัสเซียเอง และกระตุ้นให้ปูตินเข้าร่วมกระบวนการเจรจาโดยเร็ว เพราะหากต้องเผชิญมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม เศรษฐกิจของรัสเซียที่อ่อนแอจากผลกระทบของสงครามจะได้รับความเสียหายหนักขึ้นไปอีก

ในขณะเดียวกัน ปูตินแสดงความชื่นชมต่อความตั้งใจของทรัมป์ที่จะหลีกเลี่ยงการนำโลกเข้าสู่ความเสี่ยงของสงครามโลกครั้งที่ 3 และได้แสดงความยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่

เกี่ยวกับแนวทางการยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ปูตินเน้นย้ำว่า การหยุดยิงชั่วคราวไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะอาจเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายรวบรวมกำลังพลกลับมาอีกครั้ง แต่ควรมุ่งสู่ 'ข้อตกลงสันติภาพระยะยาว' บนพื้นฐานของการเคารพต่อ 'ผลประโยชน์อันชอบธรรม' ของประชาชนในพื้นที่ขัดแย้ง

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีปูตินได้ต่อสายตรงพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในการหารือแบบทวิภาคี โดยการพูดคุยดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการแถลงการณ์ของทรัมป์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของผู้นำสหรัฐคนใหม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top