(17 ก.ค. 67) Huawei Technologies ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก เดินหน้าก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) มูลค่า 10,000 ล้านหยวน (ราว 49,776 ล้านบาท) ในเซี่ยงไฮ้ จนแล้วเสร็จ ท่ามกลางการถูกสหรัฐอเมริกากีดกันทางการค้าอย่างหนัก
Lianqiu Lake R&D Center ของ Huawei ศูนย์ R&D ตั้งอยู่ในศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่สำคัญของเมืองเซี่ยงไฮ้ เพื่อสร้างตัวเองให้เป็นผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในปี 2568 ประกอบด้วย 8 โซน มีอาคาร 104 หลัง เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการ สำนักงาน 40,000 แห่ง และพื้นที่พักผ่อนที่เชื่อมต่อกันผ่านระบบรถไฟภายในศูนย์
แม้ว่าการก่อสร้างสะพานและโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางโครงการยังคงอยู่ในระหว่างดำเนินการ แต่การพัฒนาป้าย ถนน และการบริการรถไฟสำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนานี้ก็เสร็จสมบูรณ์แล้ว
คาดว่าบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาประมาณ 35,000 คน จะย้ายไปยังศูนย์แห่งนี้ เพื่อทำงานเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ เครือข่ายไร้สาย และ Internet of Things (IoT)
Lianqiu Lake R&D Center ของ Huawei ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 2,400 เอเคอร์ (ราว 6,072 ไร่) และพื้นที่ก่อสร้างรวม 2.06 ล้านตารางเมตร (มีขนาดใหญ่กว่า Apple Park และสำนักงานใหญ่ Redmond Campus ของ Microsoft ในซีแอตเทิล รวมกัน) จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาระดับโลก และเริ่มดำเนินการในปีนี้ ตามประกาศก่อนหน้านี้ของรัฐบาลท้องถิ่น
“เรามุ่งมั่นที่จะสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับนักวิทยาศาสตร์ชาวต่างชาติในการทำงานและอยู่อาศัย” Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้งบริษัทและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท บอกกับพนักงานในการประชุมภายในปี 2021 ซึ่งหัวเว่ยเปิดเผยต่อสาธารณะในเวลาต่อมา ตามรายงานของ South China Morning Post
Ren Zhengfei คาดหวังว่าจะดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติด้วยสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น ร้านกาแฟมากกว่า 100 แห่ง ที่เปิดให้บริการภายในศูนย์ฯ
ศูนย์ R&D นี้ จะรวมความพยายามด้านการวิจัยของ Huawei ในด้านเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีไร้สาย การพัฒนาสมาร์ทโฟนเรือธง การขับขี่อัจฉริยะ/ส่วนประกอบยานยนต์ พลังงานดิจิทัล และด้านอื่น ๆ ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การสนับสนุนที่เป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจที่กำลังขยายตัวของ Huawei เช่น 5G/6G พลังงานดิจิทัล และโซลูชันยานยนต์อัจฉริยะ
การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศจีนของ Huawei ซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำในสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นถึงความไม่ย่อท้อของบริษัทที่มีฐานบัญชาการในเซินเจิ้นแห่งนี้กำลังดำเนินการเพื่อเอาชนะมาตรการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีที่ขัดขวางการเติบโตของบริษัท
ท่ามกลางการแข่งขันด้านเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และการคว่ำบาตรต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา Huawei ยิ่งจะต้องสนับสนุนความพยายามในการวิจัยและพัฒนาของตน การรวมศูนย์การวิจัยหลายแห่งเข้าด้วยกันเช่นนี้ ทำให้ Huawei สามารถปรับปรุงการดำเนินงานและอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างแผนกต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และแน่นอนว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของบริษัทได้อย่างมาก
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา Huawei เผชิญชะตากรรมอันเลวร้าย โดยในปี 2563 TSMC ซึ่งเป็นผู้จัดหาชิปสมาร์ทโฟนของ Huawei มากกว่า 90% ได้หยุดส่งชิ้นส่วนสำคัญนี้ให้กับ Huawei เนื่องจากการควบคุมการส่งออกของสหรัฐอเมริกา ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ Huawei ต้องออกจากสายธุรกิจทั้งหมดที่อาศัยเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในที่สุด
ข้อจำกัดดังกล่าวยังส่งผลให้รายได้ของ Huawei ลดลงอย่างมาก โดยลดลง 23% จากปี 2562 ถึง 2564 ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถของบริษัทในการลงทุนในกิจกรรมการวิจัยและพัฒนา
การคว่ำบาตรยังจำกัดความสามารถของ Huawei ในการร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศและมีส่วนร่วมในโครงการริเริ่มการวิจัยระดับโลก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจชะลอกระบวนการสร้างนวัตกรรมของบริษัท เพื่อตอบโต้ผลกระทบของการคว่ำบาตร Huawei ต้องลงทุนมหาศาลในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศและเทคโนโลยีทางเลือก
โครงการเรือธงนี้ จึงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลงทุนของ Huawei ในเทคโนโลยีแห่งอนาคต และความไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรค
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของสหรัฐอเมริกาที่บังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 ทำให้ผู้บริหารชาวอเมริกันของบริษัทชิปจีนที่เป็นเป้าหมายตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากวอชิงตันสั่งห้าม ‘บุคคลในสหรัฐฯ’ ให้การสนับสนุนธุรกิจเหล่านั้น
แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้กล่าวถึงการจ้างงาน แต่กฎเกณฑ์นี้ได้จำกัดความสามารถของบุคคลสหรัฐฯ ในการสนับสนุนการพัฒนาหรือการผลิตชิปที่โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์บางแห่งในจีนโดยไม่มีใบอนุญาต
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ Huawei เสนอแพ็คเกจเงินเดือนที่แข่งขันได้ และได้จ้างวิศวกรจากประเทศอื่นที่มีประสบการณ์ในการผลิตเครื่องมือผลิตชิปและผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาชิปชั้นนำแล้ว
"แม้จะถูกไล่บี้อย่างหนัก Huawei สร้างความประหลาดใจอีกครั้งในตลาดสมาร์ทโฟน 5G จากการที่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เมื่อเปิดตัวโทรศัพท์มือถือที่ขับเคลื่อนโดยโปรเซสเซอร์ 7 นาโนเมตร ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่ได้รับการยกย่องในแผ่นดินใหญ่ และแน่นอนว่านวัตกรรมนี้ได้จุดประกายการตรวจสอบอย่างเข้มงวดอีกครั้งจากวอชิงตันในแง่ของการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีอยู่"
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของสหรัฐอเมริกาที่บังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 ทำให้ผู้บริหารชาวอเมริกันของบริษัทชิปจีนที่เป็นเป้าหมายตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากวอชิงตันสั่งห้าม 'บุคคลในสหรัฐฯ' ให้การสนับสนุนธุรกิจเหล่านั้น
แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้กล่าวถึงการจ้างงาน แต่กฎเกณฑ์นี้ได้จำกัดความสามารถของบุคคลสหรัฐฯ ในการสนับสนุนการพัฒนาหรือการผลิตชิปที่โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์บางแห่งในจีนโดยไม่มีใบอนุญาต
เมื่อปีที่แล้ว Huawei ลงทุน 23% ของรายได้ทั้งหมดหรือ 164,700 ล้านหยวน ในโครงการริเริ่มด้านการวิจัยและพัฒนาต่างๆ ตามรายงานประจำปีของบริษัท พนักงานประมาณ 114,000 คนหรือ 55% ของพนักงาน Huawei ทั้งหมด มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนา
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เพิกถอนใบอนุญาต 8 ฉบับในปีนี้ ทำให้บริษัทสหรัฐอเมริกาบางแห่งสามารถจัดส่งสินค้าให้กับ Huawei ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อต้นเดือนนี้
ไม่เพียงเท่านี้ Huawei ต้องการจะทำลายการครอบงำระบบปฏิบัติการมือถือแบบตะวันตกในจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อเปิดตัว HarmonyOS Next ซึ่งจะยุติการสนับสนุนแอปฯ Android แม้จะเป็นเรื่องยากมากก็ตาม
อีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าชื่นชมคือในไตรมาสแรกของปีนี้ Huawei แซงหน้า Samsung Electronics กลายเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนจอพับได้ที่ขายดีที่สุดในโลก