Thursday, 3 July 2025
WORLD

จีนให้คำมั่นลุยปราบแก๊งมิจฉาชีพข้ามชาติ หลังพบเหยื่อชาวจีนถูกขังในเมียนมา

กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (15 ม.ค.68) ระบุว่า จีนจะยกระดับความพยายามในการช่วยเหลือพลเมืองจีนที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ซึ่งหลอกลวงพวกเขาไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงเมียนมา ตามรายงานจากสำนักข่าว CCTV ซึ่งเปิดเผยว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศได้หลอกลวงชาวจีนด้วยข้อเสนอการทำงานที่มีรายได้สูง พร้อมที่พัก อาหาร และค่าโดยสารเครื่องบิน ก่อนที่ผู้ถูกหลอกจะถูกกักขังในศูนย์หลอกลวงทางโทรคมนาคมในเมืองต่าง ๆ เช่น เมียวดี ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนเมียนมากับไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แถลงการณ์นี้ออกมาในช่วงที่เกิดกรณีการหายตัวไปของนักแสดงจีนในจังหวัดตากของไทย ซึ่งตำรวจไทยคาดว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

จีนกล่าวว่าจะเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือพลเมืองที่ถูกกักขัง และจะดำเนินการอย่างจริงจังในการกวาดล้างศูนย์หลอกลวงด้านโทรคมนาคมและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ดำเนินการในต่างประเทศ

รายงานยังเผยถึงการร่วมมือกับทางการเมียนมาในปี 2566 เพื่อล้มล้างกลุ่มมาเฟียเชื้อสายจีน 'กลุ่มสี่ตระกูลโกก้าง' ที่มีการดำเนินการในบริเวณชายแดนเมียนมากับมณฑลยูนนานของจีน

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว ไทยได้ให้ความช่วยเหลือในการส่งตัวชาวจีนกว่า 900 คน ที่ถูกกักขังในศูนย์หลอกลวงที่เมืองเมียวดีกลับประเทศ ขณะที่เมียนมาในปี 2566 ได้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับการหลอกลวงทางโทรคมนาคมมากกว่า 31,000 คนกลับจีน

ตามข้อมูลจากสื่อของรัฐบาลจีน ช่วงนั้นพบว่ามีศูนย์หลอกลวงทางโทรคมนาคมในเมียนมามากกว่า 1,000 แห่ง และมีผู้คนกว่า 100,000 คนที่ถูกหลอกลวงในแต่ละวัน

นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนได้พบปะกับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในด้านการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน รวมถึงการพนันออนไลน์และการหลอกลวงทางโทรคมนาคม

องค์กรแพทย์แห่งทั่วโลกหนุนวัดรอบเอว แทนเกณฑ์ BMI ประเมินความเสี่ยงโรคอ้วน

(16 ม.ค.68) กลุ่มองค์กรการแพทย์ 76 แห่งทั่วโลกประกาศสนับสนุนแนวทางใหม่ในการวินิจฉัยโรคอ้วน โดยไม่จำกัดเพียงการใช้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งคำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูงเท่านั้น แต่เพิ่มการพิจารณาปัจจัยอื่น เช่น รอบเอว เพื่อให้การประเมินแม่นยำและครอบคลุมมากขึ้น  

ทีมนักวิจัย 56 คนเสนอการแบ่งโรคอ้วนออกเป็น 2 ระยะ ตามการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร The Lancet Diabetes and Endocrinology เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ได้แก่  

1. โรคอ้วนทางคลินิก (Clinical Obesity) ซึ่งมักมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หายใจลำบาก การทำงานของหัวใจผิดปกติ หรือปัญหาที่กระทบชีวิตประจำวัน  
2. ระยะเสี่ยงโรคอ้วน (Pre-clinical Obesity) ที่แม้จะมีไขมันเกินแต่ยังไม่มีอาการแสดงชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาเป็นโรคอ้วนทางคลินิกหรือโรคเรื้อรังอื่น เช่น เบาหวาน จึงจำเป็นต้องได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด  

ศ.นพ.ฟรานเชสโก รูบิโน จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานกล่าวว่า "โรคอ้วนมีหลากหลายระดับ และต้องการการดูแลที่เหมาะสมตามความเสี่ยงที่แตกต่างกัน"  

รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคอ้วนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่คาดว่าจะช่วยยุติข้อถกเถียงในวงการแพทย์เกี่ยวกับสถานะของโรคอ้วน  

แนวทางดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับโลก อาทิ สมาคมโรคหัวใจอเมริกัน สมาคมเบาหวานจีน และสหพันธ์โรคอ้วนโลก โดยคณะทำงานนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2562  

แม้การพัฒนายากลุ่ม GLP-1 โดยบริษัทอิไล ลิลลี่ และโนโว นอร์ดิสค์ จะส่งผลต่อการรักษาโรคอ้วนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ ศ.นพ.รูบิโนย้ำว่า เกณฑ์ใหม่ไม่ได้มุ่งเน้นที่การใช้ยาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หากระบบสาธารณสุขทั่วโลกนำเกณฑ์นี้ไปใช้ จะช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจจ่ายยาตามความเสี่ยงของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

เกณฑ์วินิจฉัยใหม่ยังอาจส่งผลต่อบริษัทประกันสุขภาพ โดยอาจอนุมัติคุ้มครองค่ายารักษาโรคอ้วนทางคลินิกโดยไม่ต้องรอให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน  

“เราเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ทั้งในด้านการดูแลรักษาและการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโรคอ้วน” ศ.นพ.รูบิโนกล่าวทิ้งท้าย

พีท เฮกเซธ ว่าที่รมว.กลาโหมสหรัฐ ถูกจี้กลางสภา ปมขาดความรู้เรื่องอาเซียน

(16 ม.ค.68) วุฒิสภาสหรัฐได้จัดประชุมพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่เตรียมขึ้นดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยหนึ่งในผู้เข้ารับการพิจารณาคือ พีท เฮกเซธ อดีตทหารผ่านศึกและผู้ประกาศข่าวจากช่อง Fox วัย 44 ปี ซึ่งถูกเสนอชื่อเป็นว่าที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ  

ในการประชุม แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐสังกัดพรรคเดโมแครตได้สอบถามถึงความรู้ด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของเฮกเซธ โดยถามว่าเขาสามารถระบุชื่อประเทศสมาชิกอาเซียนได้หรือไม่ พร้อมอธิบายถึงความสัมพันธ์และข้อตกลงของสหรัฐกับประเทศเหล่านั้น  

เฮกเซธตอบกลับอย่างไม่ตรงคำถาม โดยระบุว่าเขาไม่ทราบจำนวนประเทศในอาเซียน แต่กล่าวถึงพันธมิตรของสหรัฐในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมถึงข้อตกลง AUKUS ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ  

คำตอบดังกล่าวทำให้แทมมีสวนกลับทันทีว่า “ทั้งสามประเทศที่คุณกล่าวมาไม่ได้อยู่ในอาเซียน” และยังแนะนำให้เฮกเซธศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิภาคนี้  "ฉันแนะนำให้คุณทำการบ้านเพิ่มเติม"

รายงานระบุว่า คำถามของแทมมีเกิดขึ้นหลังจากเฮกเซธกล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จีนกำลังแผ่อิทธิพลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน อินโดนีเซียเองก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยจีน  

ที่ผ่านมาสหรัฐมีพันธมิตรตามสนธิสัญญากับไทยและฟิลิปปินส์ และพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคเพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน โดยทำเนียบขาวเน้นย้ำถึงการสร้างภูมิภาคที่ "เปิดกว้าง เจริญรุ่งเรือง ปลอดภัย และยืดหยุ่น"  

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนย้ำว่า อาเซียนเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยนอกจากจีนและสหรัฐ อาเซียนยังมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงการประชุมอาเซียน+3 และอาเซียน+6 ที่มีผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วม  

นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นศูนย์กลางของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ลงนามในปี 2563 และถือเป็นกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

สนามบินในเซินเจิ้น ทดลองบริการ 'จอดรถอัตโนมัติ' ชูจุดเด่น สั่งงานง่ายผ่านแอปฯ ช่วยนักเดินทางประหยัดเวลา

(14 ม.ค. 68) เซินเจิ้น เมืองศูนย์กลางทางวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีและการผลิตขั้นสูงในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน ได้เปิดให้บริการจอดรถอัตโนมัติที่สนามบิน โดยนักเดินทางสามารถเคลื่อนย้ายรถจากพื้นที่รับรองผู้โดยสารไปยังลานจอดโดยอัตโนมัติด้วยการกดสั่งผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเท่านั้น

สำหรับการบริการจอดรถอัตโนมัติ ในระยะทดลอง ได้เริ่มต้นให้บริการที่ท่าอากาศยานนานาชาติเซินเจิ้น เป่าอัน เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา และจัดการโดยกลุ่มผู้ประกอบการอย่างหัวเหวย (Huawei) และบริษัท เซินเจิ้น เออร์เบิน ทรานสปอร์ต แพลนนิง เซนเตอร์ จำกัด (SUTPC)

ผู้ขับขี่สามารถเลือกช่องจอดที่กำหนดไว้ ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางวิ่ง สภาพแวดล้อมโดยรอบ และตำแหน่งของรถยนต์แบบเรียลไทม์ รวมถึงสามารถเรียกรถยนต์ที่จอดอยู่มายังพื้นที่รับรองผู้โดยสารโดยอัตโนมัติ โดยยานยนต์ที่วิ่งอัตโนมัติสามารถหลีกทางให้ยานยนต์ที่วิ่งสวนมาและหลีกเลี่ยงคนเดินเท้า

อนึ่ง การทดลองนี้ใช้ได้เฉพาะยานยนต์ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนขั้นสูงจากหัวเหวยเท่านั้น ด้านจิ้นอวี่จื้อ ซีอีโอหน่วยธุรกิจโซลูชันยานยนต์อัจฉริยะของหัวเหวย ได้อธิบายเหตุผลว่าทำไมเลือกท่าอากาศยานนานาชาติเซินเจิ้น เป่าอัน เป็นพื้นที่ทดลองการบริการจอดรถอัตโนมัตินี้

จิ้น กล่าวว่า ระบบขับขี่และจอดรถอัตโนมัติสามารถประหยัดเวลาของนักเดินทางที่ต้องรีบขึ้นเครื่อง โดยปริมาณผู้คนและยานยนต์ที่ท่าอากาศยานแห่งนี้อยู่ในระดับสูง ทำให้ต้องมีข้อกำหนดเข้มงวดในการควบคุมยานยนต์อย่างแม่นยำเพิ่มขึ้น ซึ่งการทดลองที่นี่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยี

หลินเทา ประธานบริษัท เซินเจิ้น เออร์เบิน ทรานสปอร์ต แพลนนิง เซนเตอร์ จำกัด กล่าวว่าการทดลองที่ท่าอากาศยานนี้จะเป็นต้นแบบในการขยายการบริการสู่สถานที่อื่นๆ เช่น โรงพยาบาล จุดท่องเที่ยว และห้างสรรพสินค้า

เจนเซน หวง ซีอีโอ Nvidia บุกจีน ไม่หวั่นถูกสอบ-คุมเข้มเรื่องชิป AI จากสหรัฐฯ

(14 ม.ค. 68) เจนเซน หวง ซีอีโอของบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐฯ อินวิเดีย (Nvidia) เตรียมเดินทางเยือนจีนในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางการสอบสวนธุรกิจของบริษัทในจีนและการประกาศข้อจำกัดใหม่จากรัฐบาลสหรัฐฯ ในการส่งออกชิป AI ไปยังต่างประเทศ ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

แหล่งข่าวเผยว่า หวงมีกำหนดเดินทางถึงเมืองเซินเจิ้นราววันที่ 15 มกราคม ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนกับพนักงานในบริษัท และจะเดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปยังกรุงไทเปในช่วงปลายสัปดาห์

การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อินวิเดียกำลังเผชิญความท้าทายจากข้อจำกัดใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อการจำหน่ายชิป AI ระดับสูงให้แก่ต่างประเทศ บริษัทได้แสดงความไม่พอใจต่อมาตรการดังกล่าว โดยระบุว่าอาจกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของสหรัฐฯ ในเวทีโลก

ในขณะเดียวกัน ทางการจีนได้เริ่มกระบวนการสอบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด ซึ่งอาจเพิ่มความท้าทายให้กับการดำเนินธุรกิจของอินวิเดียในประเทศที่ก่อนหน้านี้ก็ต้องเผชิญมาตรการควบคุมจากสหรัฐฯ อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันว่าการเยือนครั้งนี้จะมีการพบปะกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนหรือไม่

คาดจีนต้องการแรงงานอัจฉริยะกว่า 31 ล้านคน ภายในปี 2035 เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่

รายงานจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีนที่เผยแพร่เมื่อไม่นานนี้ คาดการณ์ว่าความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะของจีนจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 31 ล้านคนภายในปี 2035 ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว

วันจันทร์ (13 ม.ค. 68) ไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี เดลี เผยว่ารายงานแนวโน้มการจ้างงานผู้มีความสามารถในพลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพฉบับแรกของจีน มีวัตถุประสงค์สำรวจกลุ่มบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างเป็นระบบ และให้ข้อมูลอ้างอิงแก่บริษัทการผลิตสำหรับการคัดเลือกและบ่มเพาะบุคลากรที่มีทักษะ

รายงานระบุว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอย่างหัวหน้าทีม ช่างเทคนิค และผู้ตรวจสอบคุณภาพในบริษัทการผลิตอัจฉริยะ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้าน กำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านในภาคการผลิต โดยแรงงานกลุ่มนี้มีลักษณะสำคัญหลายประการ ซึ่งรวมถึงการทำงานหลักในสภาพแวดล้อมการผลิต ความสามารถการเรียนรู้ที่โดดเด่น ศักยภาพการเติบโตในสายอาชีพที่สูง และระดับรายได้และสถานะทางสังคมที่ดี

นอกจากนั้น แรงงานประเภทนี้ยังมีความสามารถหลักในด้านต่างๆ เช่น การเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ การบูรณาการเทคโนโลยีที่หลากหลาย และทักษะการสื่อสาร

จ้าวจง หัวหน้าคณะแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าผู้มีความสามารถกลุ่มดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านและการยกระดับทางอุตสาหกรรม ซึ่งมีส่วนส่งเสริมสำคัญต่อการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ

รายงานเผยว่าจีนมีความต้องการแรงงานที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านราว 25 ล้านคนในปี 2022 และคาดการณ์ว่าความต้องการตำแหน่งแรงงานประเภทนี้ พร้อมด้วยข้อกำหนดวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28 ในปี 2022 เป็นร้อยละ 57 ภายในปี 2035

กัมพูชาสุดภูมิใจโกยภาษีคาสิโนพุ่ง 85% ทะลุ 62 ล้านดอลลาร์ในปี 2567

(14 ม.ค. 68) เว็บไซต์ khmertimes รายงาว่า กัมพูชาสามารถเก็บรายได้ภาษีจากอุตสาหกรรมคาสิโนได้กว่า 62.78 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 85% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามการเปิดข้อมูลจากสำนักเลขาธิการทั่วไปของคณะกรรมการบริหารการพนันเชิงพาณิชย์แห่งกัมพูชา  

รายงานระบุว่า รายได้จากธุรกิจการพนัน รวมถึงคาสิโนและกิจกรรมการเสี่ยงโชคต่าง ๆ มีมูลค่าถึง 254.907 พันล้านเรียล (ราว 62.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยการเพิ่มขึ้นนี้เกิดจากการปรับปรุงกลไกกำกับดูแลและการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นจากผู้ประกอบการ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  

นายเมียส ซกแสนซาน ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน กล่าวว่า การเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการตรวจสอบธุรกิจการพนันเชิงพาณิชย์ที่เข้มงวดมากขึ้น การปรับปรุงมาตรการกำกับดูแล และการปฏิบัติตามกฎระเบียบของผู้ประกอบการ โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตในปีนี้รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนหลังวิกฤตโควิด-19 และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว  

ณ สิ้นปี 2567 กัมพูชามีการออกใบอนุญาตคาสิโนทั้งหมด 159 ใบ โดย 1 ใบถูกเพิกถอน อีก 1 ใบถูกระงับ และอีก 15 ใบหมดอายุ ทั้งนี้ คาสิโนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนและจังหวัดพระสีหนุ ยกเว้น NagaWorld ซึ่งเป็นคาสิโนของมาเลเซียที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงกรุงพนมเปญ  

ภายใต้กฎหมายการจัดการการพนันเชิงพาณิชย์ของกัมพูชา อนุญาตให้เฉพาะชาวต่างชาติเล่นการพนันในคาสิโน ขณะที่ชาวกัมพูชาถูกห้ามเล่นการพนันทุกประเภท ยกเว้นการเสี่ยงโชค  

กระทรวงกิจการภายในร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการปราบปรามโฆษณาการพนันออนไลน์และลอตเตอรีบนสื่อโซเชียลที่ละเมิดกฎหมายการพนันเชิงพาณิชย์

สำนักเลขาธิการทั่วไปของคณะกรรมการบริหารการพนันเชิงพาณิชย์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบในอุตสาหกรรมการพนัน รวมถึงการออกใบอนุญาต การจัดทำบัญชีและงบการเงิน การจัดการความปลอดภัย ตลอดจนผลกระทบทางลบจากการพนัน

การดำเนินการเหล่านี้มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมเสริมสร้างความรับผิดชอบของเจ้าของคาสิโน และลดผลกระทบทางลบในระยะยาวจากกิจกรรมการพนันในประเทศ

"ผมเชื่อว่าด้วยการบริหารงานของเรา สหรัฐฯ กำลังเป็นผู้นำในเวทีการแข่งขันระดับโลก หากเราลงทุนในตัวเอง ปกป้องแรงงานและเทคโนโลยีของเรา จีนจะไม่มีวันแซงหน้าเราได้"

โจ ไบเดน กล่าวสุนทรพจน์นโยบายต่างประเทศครั้งสุดท้าย ย้ำ จีนไม่มีวันแซงหน้าสหรัฐฯ ได้

เมื่อวันจันทร์ที่ (13 ม.ค. 68) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ด้านนโยบายต่างประเทศเป็นครั้งสุดท้ายก่อนพ้นตำแหน่ง โดยระบุว่า จีนจะไม่มีวันก้าวขึ้นมาแซงหน้าสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจ พร้อมชี้ว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และพลังงานสะอาด เป็นสองประเด็นสำคัญที่รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่สองควรให้ความสำคัญ  

“ในขณะนี้ ผมเชื่อว่าด้วยการบริหารงานของเรา สหรัฐฯ กำลังเป็นผู้นำในเวทีการแข่งขันระดับโลก” ไบเดนกล่าวที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยเขาเน้นย้ำว่า ตนกำลังส่งมอบประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมีคู่แข่งที่อ่อนแอลงให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี  

“เมื่อ 4 ปีก่อน ตอนที่ผมรับตำแหน่งต่อจากทรัมป์ สหรัฐฯ อยู่ในจุดที่เปราะบาง แต่ในระหว่างที่ผมดำรงตำแหน่ง ผมได้เพิ่มศักยภาพของประเทศในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการทูต การทหาร เทคโนโลยี หรือเศรษฐกิจ” ไบเดนกล่าว  

เกี่ยวกับจีน ไบเดนกล่าวว่า ในช่วงที่เขาเข้ารับตำแหน่ง มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะก้าวแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ภายในปี 2573 หรือไม่นานหลังจากนั้น “แต่พวกเราที่อยู่ในห้องนี้ยืนยันว่านั่นจะไม่เกิดขึ้น ถ้าสหรัฐฯ ลงทุนในตนเอง ปกป้องแรงงานและเทคโนโลยีของเรา” เขากล่าว พร้อมระบุว่า จากภาวะปัจจุบันของจีน ตามการคาดการณ์ล่าสุด พวกเขาไม่มีทางแซงหน้าสหรัฐฯ ได้  

ในสุนทรพจน์ครั้งนี้ ไบเดนยังเน้นย้ำว่า สหรัฐฯ ต้องเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนา AI และพลังงานสะอาด เพื่อรักษาความเป็นผู้นำของประเทศในเวทีโลก “ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญกับสองประเด็นนี้ ซึ่งเป็นหัวใจของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของผม และจะเป็นสิ่งที่กำหนดอนาคตของเรา” ไบเดนกล่าวปิดท้าย

ยุนซอกยอล ได้ขึ้นเงินเดือน 3% แม้กำลังจะถูกถอดถอน อ้างปรับตามระเบียบ

ชาวเกาหลีใต้ไม่พอใจ หลังประธานาธิบดี 'ยุน ซอกยอล' ได้รับการขึ้นเงินเดือน แม้ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง

(14 ม.ค.68) รัฐบาลเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ประธานาธิบดี ยุนซอกยอล ซึ่งถูกสั่งพักงานจากการประกาศกฎอัยการศึกโดยมิชอบ ยังคงได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 3% เป็น 262.6 ล้านวอน (ประมาณ 6.2 ล้านบาท) ตามเกณฑ์เงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากยุนยังดำรงตำแหน่งจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินขั้นสุดท้าย

ข่าวการขึ้นเงินเดือนของยุนสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงในสังคมเกาหลีใต้ หลายคนแสดงความเห็นว่าการเพิ่มเงินเดือนให้แก่ผู้ถูกพักงานถือว่าไม่เหมาะสม บางคนบนโซเชียลมีเดียตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มเงินเดือนของยุน 3% สูงกว่าอัตราการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศที่เพิ่มเพียง 1.7% ชาวเน็ตรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นน้อยมาก แต่ยุนกลับได้เพิ่มถึง 3% นี่คือความยุติธรรมแบบไหน?”

ตั้งแต่ถูกถอดถอนในเดือนธันวาคม 2024 ยุนได้หลีกเลี่ยงการสอบสวนและการจับกุมในข้อกล่าวหาก่อกบฏและใช้อำนาจโดยมิชอบ เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อารักขาของยุนได้ขัดขวางการเข้าจับกุมภายในบ้านพักประธานาธิบดี ทำให้หมายจับหมดอายุลงในคืนวันที่ 7 มกราคม

อย่างไรก็ตาม ศาลท้องถิ่นได้อนุมัติการขยายหมายจับใหม่ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมแผนการจับกุมอีกครั้ง พร้อมขอความร่วมมือจากตำรวจ โดยระบุว่าการดำเนินการต้องหลีกเลี่ยงการสูญเสียหรือการนองเลือด

สำหรับการเปรียบเทียบ ผู้นำสหรัฐฯ มีเงินเดือนปีละ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 14 ล้านบาท) นายกรัฐมนตรีอังกฤษมีเงินเดือนประมาณ 172,000 ปอนด์ (ประมาณ 7.25 ล้านบาท) ในขณะที่นายกรัฐมนตรีไทยมีเงินเดือนประมาณ 120,000 บาท

การเพิ่มเงินเดือนของยุนท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และยิ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ

TikTok ปฏิเสธข่าวเล็งขายแอป ให้กับ Elon Musk เพื่อเลี่ยงการถูกแบน

(14 ม.ค. 68) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า เจ้าหน้าที่จีนพิจารณาขาย TikTok ในสหรัฐฯ ให้กับอีลอน มัสก์ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำสั่งแบนได้

เจ้าหน้าที่จีนกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการขายธุรกิจ TikTok ในสหรัฐฯ ให้กับอีลอน มัสก์ หากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำสั่งแบนที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ ตามรายงานของ Bloomberg เมื่อวันจันทร์  

แม้ทางการจีนต้องการให้ TikTok ยังคงอยู่ภายใต้การบริหารของ ByteDance Ltd ซึ่งเป็นบริษัทแม่ แต่พวกเขาได้เริ่มหารือเกี่ยวกับแผนสำรองที่รวมถึงการขายกิจการให้กับอีลอน  

ByteDance ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งแบนต่อศาลสูงสุดของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จากการหารือล่าสุดพบว่าผู้พิพากษามีแนวโน้มที่จะสนับสนุนคำสั่งแบนดังกล่าว  

ความตึงเครียดเกี่ยวกับการแบน TikTok ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใกล้เข้ารับตำแหน่ง พร้อมกับการประกาศนโยบายที่เข้มงวดต่อจีน  

ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ กำหนดเส้นตายให้ ByteDance จนถึงวันที่ 19 มกราคมนี้ เพื่อขาย TikTok มิฉะนั้นจะเผชิญกับคำสั่งแบนในสหรัฐฯ โดยมีข้ออ้างด้านความมั่นคงแห่งชาติ  

TikTok มีผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ประมาณ 170 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติได้แสดงความกังวลว่า TikTok อาจเก็บข้อมูลของผู้ใช้ชาวอเมริกันและเป็นภัยต่อความมั่นคง สภาคองเกรสจึงลงมติสนับสนุนคำสั่งแบนนี้ในปีที่ผ่านมา  

หาก TikTok ถูกแบน อาจส่งผลดีต่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของสหรัฐฯ เช่น Instagram ของ Meta Platforms และ YouTube ของ Alphabet Inc ที่ต่างเปิดตัวฟีเจอร์วิดีโอสั้นเพื่อตอบรับการแข่งขันจาก TikTok  

การขาย TikTok ให้กับอีลอน มัสก์ อาจช่วยให้แพลตฟอร์มนี้มีแนวทางดำเนินงานที่สอดคล้องกับปรัชญาการบริหารของเขา ซึ่งเคยเปลี่ยนโฉม Twitter ให้กลายเป็น X หลังการเข้าซื้อกิจการในปี 2023

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการพิจารณาขาย TikTok ในสหรัฐฯ ให้กับอีลอน มัสก์ เว็บไซต์ Variety รายงานเพิ่มเติมว่า ตัวแทนของ TikTok ในอเมริกาได้ออกมาแถลงว่า บริษัทไม่สามารถให้ความเห็นต่อ "เรื่องราวที่มโนขึ้นมา" นี้ได้

คำแถลงดังกล่าวสะท้อนถึงท่าทีของ TikTok ที่ยังคงรักษาความเงียบเกี่ยวกับประเด็นที่มีการพูดถึงในวงกว้าง โดยไม่มีการยืนยันหรือปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับการขายกิจการในครั้งนี้

เปิดแผนลับเพนตากอน แม้ทรัมป์พลาดซื้อกรีนแลนด์ แต่เล็งส่งยามฝั่งคุม หวังปิดทางรัสเซียสู่อาร์กติก

(13 ม.ค. 68) การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ สร้างความตะลึงไปทั่วโลกด้วยการป่าวประกาศว่าจะซื้อดินแดนกรีนแลนด์จากเดนมาร์กนั้น หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง แนวคิดของทรัมป์แทบไม่ได้ต่างอะไรกับกลยุทธ์ของผู้นำสหรัฐคนก่อนหน้านี้ที่ให้ความสนใจในดินแดนกรีนแลนด์อยู่แล้ว

อิรินา สเตรลนิโควา นักวิเคราะห์ด้านการต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งมอสโก กล่าวกับ Sputnik ตามแนวทางกลยุทธ์อาร์กติกที่เพนตากอนเผยแพร่กลางปี 2024 ระบุถึงบทบาทสำคัญของกรีนแลนด์ในแผนการของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ โดยการออกมาประกาศความสนใจซื้อดินแดนของทรัมป์ต่างเพียงบางจุดจากแผนการของเพนตากอนเพียงเท่านั้น

“กลยุทธ์ใหม่นี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขยายศักยภาพของสหรัฐฯ สำหรับการดำเนินการในเขตอาร์กติก โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร การข่าว การสอดแนม และความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วน” เธอกล่าว  

สำหรับแผนของทรัมป์นั้น “ถ้าพิจารณาว่าแผนนี้เป็นอะไรที่ใหม่หรือไม่คาดคิด คำตอบคือไม่ นี่เป็นเพียงวิธีการแสดงออกที่มีเอกลักษณ์ในแแบบเฉพาะตัวของทรัมป์เท่านั้น” สเตรลนิโควาอธิบาย  
 
นักเคราะห์จากมอสโกยังกล่าวว่า เหตุผลหลักเนื่องจากกรีนแลนด์เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุในแผนกลยุทธ์แอตแลนติกเหนือที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐเผยแพร่เมื่อช่วงกลางปี 2024 โดยเพนตากอนมีแผนจะปรับปรุงยกระดับฐานทัพ Thule Air Base อย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม รัสเซียรับรู้ถึงแผนของสหรัฐฯ ล่วงหน้าก่อนที่ทรัมป์จะมีบทบาท ซึ่งมอสโกได้เตรียมมาตรการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว

สเตรลนิโควาเชื่อว่าทรัมป์ไม่น่าจะประสบความสำเร็จในการซื้อกรีนแลนด์ แต่หากสำเร็จ สิ่งที่รัสเซียต้องกังวลอย่างยิ่งคือการลาดตระเวนของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ในพื้นที่ใกล้เคียงกรีนแลนด์ซึ่งจะทวีความถี่บ่อยขึ้น

“การส่งกำลังของสหรัฐฯ เพิ่มเติมในกรีนแลนด์จะลดศักยภาพการปฏิบัติการของกองเรือเหนือของรัสเซีย (Northern Fleet) และทำให้ฐานทัพเรือในเขตอาร์กติกของรัสเซียมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ แต่เราพร้อมรับมือ อย่างไรก็ตามที่สำคัญคือ จะไม่มีใครยอมขายกรีนแลนด์” เธอกล่าว  

สเตรลนิโควาชี้ว่า “หากสหรัฐไม่สามารถซื้อกรีนแลนด์ได้สำเร็จ สหรัฐจะใช่วิธีการส่งหน่วยยามฝั่ง (United States Coast Guard) เข้ามาลาดตระเวนในพื้นที่่แทน ซึ่งการกระทำนี้จะเป็นตัวกระตุ้นความตึงเครียดหลัก เพราะจากประสบการณ์และการกระทำของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้และเอเชียตะวันออก หน่วยยามฝั่งเป็นเครื่องมือกดดันที่ถูกใช้งานบ่อยกว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ และมีความก้าวร้าวในการสร้าง ‘พื้นที่สีเทาทางทะเล’ มากกว่า เนื่องจากมีต่อการเผชิญหน้าน้อยกว่า 

หน้าที่หลักของรัสเซียคือป้องกันไม่ให้หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความตึงเครียดหลัก เข้าใกล้กรีนแลนด์ 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ จะมีศักยภาพในการเข้ามาในพื้นที่อาร์กติกได้เมื่อใด เนื่องจากโครงการต่อเรือตัดน้ำแข็งของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ นั้นประสบปัญหาล่าช้ามาตลอด จึงทำให้หน่วยยามฝั่งฯ ยังไม่มีเรือที่พร้อมจะเข้ามายังพื้นที่ตอนในของกรีนแลนด์ได้

หลายพื้นที่อุณหภูมิเลขตัวเดียว น้ำค้างแข็งโผล่ทั่วแขวงหัวพันและเชียงขวาง

(13 ม.ค. 68) สภาพอากาศหนาวเย็นที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในช่วงนี้ ยังส่งผลกระทบถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ซึ่งกำลังประสบกับอากาศหนาวจัดในรอบหลายปีเช่นกัน โดยในหลายพื้นที่ของลาว อุณหภูมิลดลงจนเหลือเพียงเลขตัวเดียว

เพจข่าว ກະເເສຂ່າວ (กระแสข่าว) รายงานสภาพอากาศประจำวันที่ 13 มกราคม ระบุว่า แขวงหัวพันมีอุณหภูมิต่ำสุดเพียง 3 องศา ขณะที่แขวงหลวงน้ำทา แขวงหลวงพระบาง และแขวงบอลิคำไซ มีอุณหภูมิอยู่ที่ 8 องศา ส่วนแขวงสะหวันนะเขดวัดได้ 11 องศา และแขวงอัตตาปืออยู่ที่ 12 องศา ส่วนนครหลวงเวียงจันทน์อุณหภูมิลดลงเหลือ 10 องศา

ในแขวงเชียงขวาง เพจข่าวท้องถิ่นรายงานว่า คืนวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา อุณหภูมิลดต่ำสุดถึง 2 องศา ส่งผลให้ชาวบ้านต้องนำผ้าห่มมาคลุมวัวควายเพื่อช่วยคลายความหนาว

ขณะเดียวกัน เพจ TARGET Magazine รายงานว่าที่ซำเหนือ เมืองเอกของแขวงหัวพัน น้ำค้างแข็งได้ปกคลุมทุ่งหญ้าเป็นบริเวณกว้าง

นอกจากผลกระทบต่อคนและสัตว์เลี้ยงแล้ว อากาศเย็นจัดยังสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเกษตรกรในแขวงจำปาสัก เพจ ຂ່າວເສດຖະກິດ-ການຄ້າ Lao Economic Daily ระบุว่าสวนกาแฟของเกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ต้นกาแฟนับพันต้นแห้งตายจากสภาพอากาศหนาวเย็น

โฆษกรัฐบาลจีนปัดข่าวลือไวรัสปริศนา ยืนยันนักเดินทางมาเที่ยวยังปลอดภัย

(13 ม.ค. 68) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่าขนาดและระดับความรุนแรงของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจโดยรวมในจีนนั้นต่ำกว่าปีที่แล้ว และฝ่ายจีนจะเดินหน้าดำเนินการตามจำเป็นเพื่อรับรองความสะดวกสบายและความปลอดภัยสำหรับนักเดินทางจีนและนักเดินทางต่างชาติในจีน

เมื่อไม่นานนี้ หลายฝ่ายให้ความสนใจอย่างมากต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส (HMPV) ในจีน โดยนักเดินทางบางส่วนกังวลถึงความปลอดภัยในการเดินทางไปจีน และยังมีคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับ “ไวรัสปริศนาในจีน” แพร่อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต

กัวเจียคุน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าวในการแถลงข่าวประจำวัน โดยระบุว่าหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่กล่าวว่าเอชเอ็มพีวีไม่ใช่ไวรัสชนิดใหม่ แต่มีการแพร่ระบาดในมนุษย์มานานอย่างน้อย 60 ปีแล้ว และเป็นไวรัสทั่วไปที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

กัวเผยว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชเอ็มพีวีนั้นสามารถหายได้เอง การเรียกไวรัสทั่วไปชนิดนี้ว่าเป็นไวรัสปริศนาจึงขัดกับหลักวิทยาศาสตร์พื้นฐานและเป็นการปลุกปั่นความกลัว

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนจีนและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจีน หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่และหน่วยงานด้านเทคนิคของจีนได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันต่างๆ และเผยแพร่ผลการเฝ้าระวังแล้ว

กัวเผยว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคของจีนแจ้งให้สาธารณชนทราบหลายครั้งแล้วว่าควรใช้มาตรการป้องกันตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างไร นอกจากนี้ จีนและองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังติดต่อสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจอย่างทันท่วงที

สันนิฐานพลุปีใหม่จุดชนวนไฟป่าเผาแอลเอ เจอลมแรงยิ่งโหมไฟลาม คร่าแล้ว 24 ราย

(13 ม.ค. 68) สถานการณ์ไฟป่าในนครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พบยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟป่าดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 24 รายแล้ว โดย16 ศพถูกพบในไฟป่า อีตัน และอีก 8 คนในพื้นที่พาลิเสดส์ โดยยังมีผู้สูญหายอย่างน้อย 16 คน

สำหรับความเสียหายล่าสุดไฟป่าที่ใหญ่ที่สุดคือพาลิเสดส์ ซึ่งได้เผาผลาญพื้นที่กว่า58,000 ไร่ และควบคุมได้ 11% แล้ว ส่วนไฟป่าอีตัน ซึ่งเป็นไฟป่าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2ได้เผาผลาญพื้นที่กว่า 35,400 ไร่ และควบคุมได้ 27% ส่วนไฟป่าเฮิร์ส ขยายตัวเป็นกว่า 2,000 ไร่ และเกือบจะควบคุมได้ทั้งหมด

หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยารัฐแคลิฟอร์เนียได้ออกคำเตือนว่า หลังจากสุดสัปดาห์ที่ลมค่อนข้างสงบ จนการดับเพลิงมีความคืบหน้ามากขึ้น ลมซานตาอานา ซึ่งเป็นลมร้อนและแห้งจากพื้นที่ทะเลทรายของแคลิฟอร์เนียจะพัดเข้าพื้นที่อีกครั้งตั้งแต่คืนวันอาทิตย์จนถึงวันพุธ โดยลมอาจมีความเร็วสูงสุดถึง96 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะเป็นปัจจัยยิ่งโหมให้เพลิงทวีความรุนแรงมากขึ้นแม้ทีมดับเพลิงจะสามารถควบคุมไฟขนาดใหญ่ได้บางส่วน แต่เจ้าหน้าที่เตือนว่าลมที่กำลังมาอาจสร้างสภาวะลมที่อันตรายถึงขั้นวิกฤตทำให้ทั้งเขตลอสแอนเจลิสอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อไฟป่า

ขณะเดียวกันมีรายงานจาก  Washington Post ที่สันนิฐานว่า สาเหตุมหาภัยไฟไหม้ป่าในลอสแองเจลิส คาดว่าเกิดจากการลุกไหม้ของไฟที่เหลือจากไฟไหม้ครั้งก่อน ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากดอกไม้ไฟในวันปีใหม่ 

โดยจากการวิเคราะห์ของภาพถ่ายดาวเทียม วิทยุสื่อสาร วิดีโอ และการสัมภาษณ์ชาวบ้านในท้องถิ่นเชื่อว่า ไฟป่าพาลิเสดส์ เริ่มต้นในพื้นที่เดียวกับที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเคยดับไฟครั้งก่อน โดยในการรับมือกับไฟครั้งที่สองเจ้าหน้าที่ดับเพลิงตอบสนองช้า ประกอบกับกระแสลมที่โหมพัดกระหน่ำทำให้ไฟลุกลามจนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง 

ไมเคิล วาเลนไทน์  ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่กล่าวว่าเขาอยู่บ้านในช่วงที่เกิดเหตุไฟไหม้ทั้งสองครั้ง และกล่าวว่าการตอบสนองของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงระหว่างทั้งสองครั้งนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วานเลนไทน์กล่าว่า การตอบสนองจากเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเมื่อเกิดไฟป่าพาลิเสดส์ในวันอังคารนั้นช้ากว่าครั้งแรกที่เกิดไฟในวันปีใหม่

เมื่อเขากับภรรยาของเขาติดต่อกับแผนกดับเพลิงลอสแองเจลิส (LAFD) ห่างกัน 30 นาทีในวันอังคารเพื่อรายงานการเกิดไฟป่าพาลิเสดส์ วาเลนไทน์กล่าวว่าเขาต้องรอเพราะสายโทรศัพท์ขัดข้อง

ในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ LAFD กำลังรับมือกับเหตุการณ์สองเหตุการณ์ในส่วนอื่นของเมืองและวางแผนที่จะเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ไปยังไฟป่าพาลิเสดส์เมื่อมีโอกาส ตามรายงานจาก Washington Post ขณะเดียวกัน เฮลิคอปเตอร์ที่บรรทุกน้ำซึ่งพยายามตอบสนองในช่วงแรกไม่สามารถทำการบินได้เนื่องจากกระแสลมแรง

"ผมไม่เห็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเลย ไม่ว่าจะบนพื้นดินหรือในอากาศ ผมผิดหวังเพราะไฟครั้งที่สองลุกลามเร็วมากและไม่มีใครอยู่ที่นั่น" วาเลนไทน์กล่าว เขาเล่าว่าต้องใช้เวลาถึง 45 นาทีจนกว่าเขาจะเห็นเฮลิคอปเตอร์บินเหนือไฟแต่ก็ไม่สามารถดับไฟได้เพราะไม่มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ๆ

พื้นที่ลอสแองเจลิสได้รับคำเตือนเกี่ยวกับลมแรงและภัยแล้งในช่วงก่อนเกิดไฟป่า ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยหนุนในการทำให้จุดความร้อนใหม่ๆ ปะทุขึ้น

เรารู้ว่าไฟสามารถกลับมาประทุได้และเปลี่ยนจากการคุกรุ่นเป็นการลุกลาม มันเป็นไปได้มากที่บางอย่างจากไฟครั้งก่อนจะกลับมาลุกใหม่และก่อให้เกิดไฟ" ไมเคิล กอลเนอร์ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลและนักวิทยาศาสตร์ไฟจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เบิร์กลีย์ กล่าว

วอชิงตันโพสต์ยังเผยภาพถ่ายดาวเทียมที่ถูกถ่ายขึ้นประมาณ 20 นาทีหลังจากไฟป่าพาลิเสดส์ปะทุขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นภาพของควันที่ทับซ้อนกันกับรอยไฟไหม้เดิมในช่วงวันปีใหม่ที่เทมส์คาล ริดจ์ในเทือกเขาซานตาโมนิกา ซึ่งเป็นพื้นที่มีการแสดงพลุในคืนวันส่งท้ายปีเก่า

ไฟที่เกิดขึ้นในช่วงวันปีใหม่ได้ลุกลามเผาผลาญพื้นที่ราว 4 เอเคอร์อย่างช้าๆ แม้แทบจะไร้ลมพัด แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการควบคุม

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าเหตุไฟไหม้ป่าพาลิเสดส์ที่เกิดขึ้นในครั้งที่สองนั้น เกิดจากไฟไหม้ป่าที่มาจากพลุในคืนส่งท้ายปีเก่าหรือไม่ ทั้งเจ้าหน้าที่สืบสวนของรัฐและของรัฐบาลกลางได้ค้นหาต้นตอของไฟไหม้ป่าครั้งที่ 2 เพื่อหาเบาะแสเกี่ยวกับสาเหตุถึงต้นเพลิงต่อไป

ย้อนตัวอย่างบริษัทดัง หวังใช้โซเชียลพลิกวิกฤต แต่กลยุทธ์ทำพิษ จากวิกฤตเป็นวิบัติ

(13 ม.ค. 68) ในยุคดิจิทัลที่โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร สร้างแคมเปญการตลาด เพื่อโปรโมตแบรนด์ อีกทั้งรับมือกับ Crisis Management เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่ทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์ตกต่ำลง การรับมือของบริษัทในยุคโซเชียลมีเดียสามารถพลิกสถานการณ์ได้ทั้งในทางบวกและลบ ล่าสุด OPPO บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกรณีแอปเงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับการแอบเก็บข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใช้ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ในวงกว้าง ท่ามกลางกระแสดราม่า กลับมีการผุดแฮชแท็ก #OPPOFighting จากพนักงานและกลุ่มผู้สนับสนุนแชร์กันมากมายบนโซเชียลมีเดีย

การกระทำเหล่านี้มักจะทำคำถามบนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความภักดีที่แท้จริงของพนักงานกับแคมเปญที่พยายามสร้างเพื่อฟื้นภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นกับแบรดน์ขนาดใหญ่หลายแบรนด์ทั่วโลกมากแล้ว

หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดคือกรณีของ Volkswagen ในช่วงที่มีเรื่องอื้อฉาว Dieselgate ในปี 2015 เมื่อบริษัทถูกจับได้ว่าติดตั้งซอฟต์แวร์ในรถดีเซลเพื่อโกงการทดสอบการปล่อยมลพิษ ทำให้รถผ่านการตรวจสอบตามกฎระเบียบได้ในขณะที่ปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายเกินขีดจำกัดทางกฎหมาย เมื่อกลายเป็นประเด็นได้มีบรรดาพนักงานและกลุ่มผู้ภักดีต่อแบรนด์Volkswagen บางคนก็ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อปกป้องบริษัท ภายใต้แฮชแท็กอย่าง #VW และ #DieselgateIsNotWhatYouThink โพสต์เหล่านี้พยายามลดความรุนแรงของปัญหาโดยเน้นที่ประวัติการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทแทน อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยโต้แย้งว่าโพสต์เหล่านี้ดูเหมือนเป็นความพยายามประชาสัมพันธ์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องอื้อฉาวมากกว่าการสนับสนุนพนักงานอย่างแท้จริง

ในทำนองเดียวกัน ในเหตุการณ์ของ United Airlines เมื่อปี 2017 ที่ผู้โดยสารรายหนึ่งถูกฉุดลากด้วยความรุนแรง ออกจากเที่ยวบินที่ระบบผิดพลาดจองตั๋วเกิน ส่งผลให้เกิดกระแสสังคมวิพากวิจารณ์สายการบินอย่างรุนแรง การจัดการสถานการณ์ที่ผิดพลาดของสายการบินทำให้เกิดการประณามอย่างกว้างขวาง โดยหลายคนตั้งคำถามถึงแนวทางการบริการลูกค้า อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว พนักงานของ United บางคนได้โพสต์ข้อความเพื่อปกป้องสายการบินโดยใช้แฮชแท็กเช่น #UnitedWeStand ข้อความเหล่านี้ซึ่งมักจะเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทต่อความปลอดภัยและการบริการลูกค้า ดูเหมือนจะขัดกับการรับรู้เชิงลบของสาธารณชน แม้ว่าพนักงานบางคนอาจโพสต์ข้อความด้วยความภักดีหรือความเชื่อส่วนตัวในค่านิยมของสายการบิน แต่บางคนก็สงสัยว่าโพสต์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองประชาสัมพันธ์ที่จัดเตรียมขึ้นอย่างกว้างๆ

อีกหนึ่งกรณีที่เป็นที่รู้จักกันดีเกิดขึ้นกับ Nike ในปี 2018 เมื่อบริษัทเปิดตัวแคมเปญโฆษณาที่มีโคลิน แคเปอร์นิค อดีตผู้เล่น NFL เป็นพรีเซ็นเตอร์ แคเปอร์นิคกลายเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดความข้อถกเถียงในโซเชียลอเมริกัน จากกรณีที่เขาคุกเข่าระหว่างเพลงชาติเพื่อประท้วงความอยุติธรรมทางเชื้อชาติและสีผิว การตัดสินใจของ Nike ที่จะให้เขามีส่วนร่วมในแคมเปญทำให้เกิดทั้งการสนับสนุนและการต่อต้าน ในขณะที่ลูกค้าบางส่วนขู่ว่าจะคว่ำบาตรแบรนด์ พนักงานของ Nike จำนวนมากก็ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อปกป้องจุดยืนของบริษัท โดยโพสต์ภายใต้แฮชแท็กเช่น #Nike และ #JustDoIt ความแตกต่างในกรณีนี้คือพนักงานของ Nike ดูเหมือนจะแสดงการสนับสนุนแบรนด์ที่พวกเขาเชื่อมั่นอย่างแท้จริงมากกว่า # ที่เกิดขึ้นจากแคมเปญประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้ยังมีกรณีของ Amazon เผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ในปี 2018 เกี่ยวกับสภาพการทำงานในคลังสินค้า โดยพนักงานอธิบายถึงชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานที่มาพร้อมค่าตอบแทนไม่สมเหตุสมผลท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว พนักงานของ Amazon บางส่วนได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตอบโต้รายงานเชิงลบ โดยใช้แฮชแท็กเช่น #AmazonWorks โพสต์เหล่านี้เน้นย้ำถึงค่าจ้าง สวัสดิการ และด้านบวกอื่นๆ ของบริษัทในการทำงานที่ Amazon แม้ว่าโพสต์เหล่านี้อาจจริงใจ แต่โซเชียลส่วนใหญ่กลับมีข้อสงสัยเช่นกันว่าทีมประชาสัมพันธ์ของ Amazon สนับสนุนให้ส่งข้อความดังกล่าวเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ของบริษัท

ทั้งนี้ ไม่ว่าโพสต์ติด # เหล่านั้นจะถูกทำขึ้นด้วยความจริงใจขอพนักงานในการสนับสนุนองค์กร หรือเป็นแคมเปญเพื่อการฟื้นภาพลักษณ์ก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือการดำเนินงานตอบสนองต่อข้อสงสัยของสาธารณะอย่างโปร่งใสและเจตนาที่จริงใจมากกว่า


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top