
ตามที่บริษัท ROSOBORONEXPORT รัฐวิสาหกิจ ผู้นำเข้า-ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์แต่เพียงผู้เดียวของสหพันธรัฐรัสเซีย ได้เชิญผู้เขียนในฐานะสื่อมวลชนจากสำนักข่าว THE STATES TIMES ไปเยี่ยมชมงานนิทรรศการแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ ARMY-2024 (12-14 สิงหาคม พ.ศ. 2567) รวม 3 วัน จึงขอนำเรื่องราวและประสบการณ์ในงานดังกล่าวทั้ง 3 วัน มาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่าน THE STATES TIMES ได้ทราบเป็นตอน ๆ พอสังเขป

ต่อจาก EP#1 ก็ยังเป็นวันแรก (12 สิงหาคม) หลังจากรับฟังการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโดรนพิฆาตหรือโดรนโจมตีของสหพันธรัฐรัสเซีย โดยบริษัท ROSOBORONEXPORT แล้ว ทีมงานก็พาเดินไปยังอาคารของบริษัท United Shipbuilding Corporation (USC) สำนักงานใหญ่ของ USC จะตั้งอยู่ในนคร St. Petersburg แต่ก็มีสำนักงานใน Patriot Park ด้วย

USC ก่อตั้งขึ้นตามรัฐกฤษฎีกาของประธานาธิบดี Putin แห่งสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งลงนามเมื่อเดือนมีนาคม 2007 จดทะเบียนในเดือนพฤศจิกายน 2007 เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นหลัก เป็นบริษัทต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งต่อเรือรวม 80% ของเรือที่ต่อในประเทศ USC รวมบริษัทในสาขาต่าง ๆ ที่ประกอบกิจการต่อเรือ ซ่อมแซม และบำรุงรักษา สำหรับภาคตะวันตก ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกไกลของประเทศ โดยมีบริษัทย่อยในเครือ 3 แห่ง ได้แก่...
- อู่ต่อเรือ Admiralty (ศูนย์ต่อเรือตะวันตกใน St. Petersburgและ Kaliningrad)
- ศูนย์ต่อและบำรุงรักษาเรือภาคเหนือใน Severodvinsk
- และศูนย์ต่อและบำรุงรักษาเรือภาคตะวันออกไกลใน Vladivostok
ทั้งนี้ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ 'Kommersant' มูลค่ารวมของคำสั่งซื้อมีอยู่ที่ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ USC มีพนักงานประมาณ 95,000 คน

สำหรับ USC รวมบริษัทลูก 3 แห่ง ประกอบไปด้วย อู่ต่อเรือในประเทศ สำนักงานออกแบบ และอู่ซ่อมเรือมากกว่า 60 แห่ง โดยบริษัทของ USC ดำเนินการในท่าเรือ และศูนย์กลางการขนส่งหลักทั้งหมดของประเทศ USC เป็นบริษัทที่รับต่อเรือทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น เรือรบ, เรือสินค้า, เรือบรรทุกน้ำมัน เรือโดยสาร ฯลฯ
ส่วนในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ USC ต่อเรือบรรทุกเครื่องบิน, เรือรบประเภทต่าง ๆ จนกระทั่ง เรือดำน้ำ โดยผู้บริหารของ USC ได้นำเสนอเรือรบแบบต่าง ๆ ให้กับคณะสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญ แต่สิ่งซึ่งผู้เขียนให้ความสนใจมากที่สุดคือ 'เรือดำน้ำ' ที่ต่อโดย อู่ต่อเรือ Admiralty (ศูนย์ต่อเรือตะวันตกใน St. Petersburg) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ USC ได้แก่ 'เรือดำน้ำชั้น LADA' หรือ ชื่อส่งออกคือ 'เรือดำน้ำชั้น Amur'

'เรือดำน้ำชั้น LADA' ออกแบบและต่อขึ้นตามโครงการ 677 (Project 677) ของสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นเรือดำน้ำโจมตี 'ดีเซล-ไฟฟ้า' ชั้นก้าวหน้ารุ่นใหม่ ที่ออกแบบโดยสำนักงานออกแบบ Rubin เพื่อพัฒนาเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า Gen 4
ทั้งนี้ โครงการ 677 เป็นการออกแบบเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าของสหพันธรัฐรัสเซียที่พัฒนาขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยออกแบบมาเพื่อใช้ในการต่อต้านเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำ และการป้องกันฐานทัพเรือ ชายฝั่งทะเล ตลอดจนถึงเส้นทางเดินเรือ รวมถึงใช้ในการลาดตระเวน
เรือดำน้ำรุ่นนี้ ถือเป็นการนำการออกแบบตัวถังเดียวมาใช้ครั้งแรกของกองทัพเรือรัสเซียสำหรับเรือดำน้ำโจมตีนับตั้งแต่ทศวรรษ 1940 โดยระวางขับน้ำลดลง 25% เมื่อเทียบกับเรือดำน้ำรุ่นก่อนหน้าอย่าง เรือดำน้ำชั้น KILO

เรือดำน้ำชั้น Amur (เรือดำน้ำชั้น LADA เพื่อการส่งออก)
ไม่เพียงเท่านี้ ขีดความสามารถของเรือดำน้ำชั้น LADA ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีเสียงที่เบาลง ทำให้คุณสมบัติในการพรางตัวดีขึ้น ขณะที่ระบบอาวุธใหม่ ทั้งตอร์ปิโด, ขีปนาวุธโจมตี และตัวเลือกสำหรับระบบขับเคลื่อนอิสระจากอากาศ (AIP) ความเร็วสูงสุดขณะดำน้ำอยู่ที่ 21 นอต (39 กม./ชม. หรือ 24 ไมล์/ชม.) เพิ่มขึ้นจาก 19 นอต (35 กม./ชม. หรือ 22 ไมล์/ชม.) ในเรือดำน้ำชั้น KILO
นอกจากนี้ เรือดำน้ำชั้น LADA ได้รับการออกแบบให้สามารถอยู่ในทะเลได้นานถึง 45 วัน โดยมีลูกเรือประจำ 35 นาย
ทั้งนี้ เรือดำน้ำของสหพันธรัฐรัสเซียเป็นต้นแบบของเรือดำน้ำที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ผลิต มีพัฒนาการในการใช้งานมาอย่างยาวนาน โดยไม่ด้อยไปกว่าเรือดำน้ำของค่ายตะวันตกเลย

อันที่จริงแล้วกองทัพเรือไทย ซึ่งรับผิดชอบดูแลอธิปไตย 2 ฝั่งทะเลคือ 'อ่าวไทย' และ 'อันดามัน' ซึ่งมีทั้งเรื่องของความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทั้งแหล่งน้ำมันและก๊าซ ประมง และเส้นทางเดินเรือ ฯลฯ ปีละนับล้านล้านบาทนั้น ทางกองทัพเรือไทยจึงควรที่จะต้องมีเรือดำน้ำประจำการ 3 ลำเป็นอย่างน้อย โดยประจำการฝั่งทะเลละ 1 ลำ และอีก 1 ลำเพื่อผลัดเปลี่ยนสำหรับการซ่อมบำรุง
หลาย ๆ ท่านอาจไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่ความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจที่ละเลยได้ ด้วยประเทศเพื่อนบ้านของไทยเราทุกประเทศที่แม้จะเป็นพันธมิตรกันใน ASEAN ก็ตามที แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกประเทศต่างก็แข่งขันกันสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งไม่มีการยกเว้นแม้แต่ประเทศเล็ก ๆ อย่าง สิงคโปร์
ทว่า การจัดซื้อจัดอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็ไม่เหมือนสินค้าประเภทอื่น เพราะมีเงินก็ไม่สามารถซื้อได้ทันทีที่ต้องการ ต้องมีขั้นตอน กระบวนการ และระยะเวลาในการจัดซื้อ และหลังจากได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ต้องการมาแล้ว ผู้ใช้ยังต้องทำการฝึกฝนหาความชำนาญ และทำความคุ้นเคย เพื่อให้สามารถใช้อาวุธยุทโธปกรณ์นั้น ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย