...และแล้ว Pride Month ก็เดินทางมาครบรอบอีกปี ในขณะที่หลายประเทศมีความเปิดกว้างให้แก่กลุ่ม LGBTQ+ แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่ได้ยอมรับตัวตนของกลุ่ม LGBTQ+ สักเท่าไร
การร่วมเพศของคนเพศเดียวกัน เป็นอาชญากรรมในกว่า 70 ประเทศ และเป็นโทษประหารชีวิตใน 9 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอิหร่าน ประเทศซาอุดีอาระเบีย, ประเทศซูดาน และประเทศเยเมน
ในขณะที่บางประเทศการมีเพศสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันต้องโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต ถึงแม้ในบางประเทศจะไม่บังคับใช้กฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าวอย่างจริงจังเนื่องจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไปก็ตาม แต่ในหลายประเทศที่แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายแล้ว แต่จารีตประเพณีของคนในประเทศเหล่านั้นก็ไม่ได้ยอมรับตัวตนของการเป็นกลุ่มชาว LGBTQ+ อยู่ดี
เมียนมาเป็น 1 ใน 4 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีกฎหมายเอาผิดผู้ที่มีเพศสัมพันธุ์กับคนเพศเดียวกันเช่นกัน โดยมีมาตรา 377 ของเมียนมาระบุว่า...
"การมีความสัมพันธ์ทางเพศแบบผิดธรรมชาติเป็นการก่ออาชญากรรม และผู้ที่กระทำความผิดจะถูกลงโทษโดยการจำคุกไม่เกิน 10 ปี"
โดยกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคอาณานิคมเมื่อจักรวรรดิอังกฤษเข้าปกครองพม่าในยุคนั้น ศาลอังกฤษจำคุก ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนผู้โด่งดัง เพราะ มีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน มันถูกเรียกว่า 'ความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม' และทำให้มีการนำกฎหมายนี้มาใช้ทั้งในอินเดียและพม่า ซึ่งตอนนั้นถูกผนวกเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย
นักสิทธิมนุษยชนชาวเมียนมาพยายามจะรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 377 โดยในปี 2001 กลุ่มผู้พลัดถิ่นแนวร่วมประชาธิปไตยนักเรียนพม่าได้ทำเรื่องขอให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวแต่ก็ไม่มีผลอะไร
แม้กระทั่งในปี 2015 เมื่อพรรคสันนิบาตชาติประชาธิปไตยหรือ NLD ที่มีนางอองซานซูจีเป็นผู้นำชนะการเลือกตั้ง ซึ่งมีการเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้านให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้และรณรงค์ให้คนในชาติยุติความชิงชังในกลุ่ม LGBTQ+ แต่ทว่ารัฐบาลของนางซูจีก็ไม่ได้สนใจคำขอและไม่ได้ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายฉบับนี้เลย
ในปี 2020 เป็นจุดเปลี่ยนของกลุ่ม LGBTQ+ ทางการเมืองเมื่อพรรค People Pioneer Party (PPP) ซึ่งเป็นพรรคที่สมาชิกในพรรคแตกแยกออกจากพรรค NLD เดิมได้ส่งนักการเมืองเกย์คนแรกลงสมัครชิงเก้าอี้ในสภาในเมืองมัณฑะเลย์ โดยคาดหวังว่าจะเข้าไปปรับปรุงสิทธิทางกฎหมาย และการยกเลิกมาตรา 377 เพื่อประโยชน์ของชาว LGBTQ+ ในเมียนมา แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อพรรค PPP พลาดที่นั่งในสภาในการเลือกตั้งในปี 2020
ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ สังคมของเมียนมาเป็นสังคมปิด คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ยอมรับการมีอยู่ของกลุ่ม LGBTQ+ ในเมียนมา และหลายครั้งก็เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นจากการบูลลี่ของคนในครอบครัวและคนใกล้ตัวเอง อีกทั้งกลุ่มชายรักชายยังถูกห้ามไม่ให้บวชพระในเมียนมาเพราะถือว่าเป็นบัณเฑาะก์ โดยมีการตีความคำว่าบัณเฑาะก์จากคัมภีร์อรรถกถาได้ความว่า บัณเฑาะก์นั้นคือ...
• อาสิตตบัณเฑาะก์ คือ ชายที่อมอวัยวะเพศของชายอื่น
• อุสุยยบัณเฑาะก์ คือ ชายที่ชอบพอใจในการดูกิจกรรมร่วมเพศระหว่างชายกับชาย
• โอปักกมิยบัณเฑาะก์ คือ บุคคลที่ถูกตอน เช่น ขันที และรวมถึงบุคคลที่ผ่าตัดแปลงเพศในปัจจุบัน
• ปักขบัณเฑาะก์ คือเป็นบัณเฑาะก์ในช่วงข้างแรม (มีอารมณ์กำหนัดบางวัน) แต่ช่วงข้างขึ้นไม่เป็น
• นปุงสกัปบัณเฑาะก์ คือ ผู้มีความบกพร่องทางเพศสภาพ ไม่ปรากฏเพศที่แน่ชัด นับเป็นความบกพร่องทางร่างกายแต่กำเนิด
แม้ในประเทศไทยจะมีการตีความบัณเฑาะก์ว่า 'อาสิตตบัณเฑาะก์' และ 'อุสุยยบัณเฑาะก์' สามารถบวชได้ 'ปักขบัณเฑาะก์' สามารถบวชได้ในวันที่ไม่มีกำหนัด ส่วน 'โอปักกมิยบัณเฑาะก์' และ 'นปุงสกัปบัณเฑาะก์' นั้น ไม่สามารถบวชได้ ... แต่ในเมียนมานั้น ชาวเมียนมาจะไม่อนุญาตให้บัณเฑาะก์บวชเลย เพราะเกรงกลัวความเสื่อมเสียในพุทธศาสนาและความอับอายทางสังคมที่จะตามหาหลังจากเกิดเรื่อง
แม้กลุ่มชายรักชายจะถูกขัดขวางลิดรอนสิทธิในทางสังคมและการเมือง แต่ในทางความเชื่อเรื่องการทรงเจ้าจะพบว่า 'ร่างทรง' หรือ 'นัตกะด่อว์' ในเมียนมานับวันจะมีกลุ่มคนข้ามเพศมากขึ้น โดยในทุกปีจะมีเทศกาลทรงเจ้าของเมืองต่องปะโยง ในเมืองมัณฑะเลย์ โดยสมาชิกเกินกว่า 90% เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มหญิงข้ามเพศและกลุ่มเกย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนทรงเจ้า จนถูกขนามนามว่า 'เทศกาลชาวเกย์' เพราะคนเมียนมาเชื่อว่าร่างทรงที่เป็นกลุ่มเพศทางเลือกจะมีพลังสูงกว่าเพศหญิงหรือชาย เนื่องจากกลุ่มเพศทางเลือกไม่ใช่หญิงและชาย จึงทำให้ร่างทรงที่เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา
นัตกะด่อว์ ถือว่าเป็นร่างทรงที่ได้รับการเคารพนับถือและยังสร้างความบันเทิง โดยทำหน้าที่ในการส่งสารระหว่างเทพและมนุษย์ ภาพของนัตกะด่อว์ มักเป็นกะเทยหรือผู้หญิงข้ามเพศ เพราะคนพม่าเชื่อว่ามีพลังอำนาจมากกว่าคนปกติทั่วไป
ตำแหน่งนัตกะด่อว์ เป็นตำแหน่งของอำนาจและศักดิ์ศรีที่ได้รับการยอมรับในสังคม ทุกปีจะมีการเฉลิมฉลองของกลุ่มนัตกะด่อว์
ดังนั้นพื้นที่ของนัตกะด่อว์ จึงกลายเป็นพื้นที่ที่แสดงตัวตนของกลุ่ม LGBTQ ในเมียนมาที่ยิ่งใหญ่และได้รับการยอมรับจากสังคม
ในปัจจุบันกลุ่ม LGBTQ+ ในเมียนมาถูกเปิดมากขึ้นตามสังคมที่เปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ดีหากมองข้ามกฎหมายที่ทุกวันนี้แทบจะไม่ได้บังคับใช้เหล่ากลุ่ม LGBTQ+ ก็สามารถอาศัยและทำงานในเมียนมาอย่างปกติสุข