(6 พ.ย. 67) ไต้หวันเรียกร้องขอมีส่วนร่วมในองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือตำรวจสากล (INTERPOL) เพื่อร่วมรับมืออาชญากรรมใหม่ ทั้งการฉ้อโกงหลอกลวงทางดิจิทัล, การโจมตีทางไซเบอร์, การค้ายาเสพติด, อาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย
นายจางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความเรื่อง 'จับมือกับไต้หวัน ร่วมกันสร้างโลกที่ปลอดภัย ให้ไต้หวันได้ร่วมกิจกรรมของอินเตอร์โพล' เนื้อหาสำคัญระบุว่า
การประชุมองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Police Organization, INTERPOL) หรืออินเตอร์โพล ประจำปี 2024 กำลังจะจัดขึ้นในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 แห่งธรรมนูญของอินเตอร์โพล ตามวัตถุประสงค์ขององค์การตำรวจสากล เพื่อเป็นหลักประกันและผลักดันความร่วมมือเกื้อกูลระหว่างหน่วยงานตำรวจทั่วโลกอย่างกว้างขวางที่สุด หลายปีมานี้ เนื่องด้วยพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่รวดเร็ว แนวโน้มอาชญากรรมข้ามชาติข้ามพรมแดนที่สูงขึ้น การก่อคดีอาชญากรรมซึ่งกลายเป็นระบบแบ่งงานอย่างละเอียด เกิดการซ่อนเร้นแอบแฝงตัวตนและพัฒนาการของกระแสเงินเสมือน ทำให้ประชาชนทุกประเทศล้วนมีโอกาสตกเป็นผู้เสียหาย ฉะนั้น หัวข้อสำคัญของประชาคมโลกในขณะนี้คือ จะร่วมมือข้ามชาติแข็งขันมากขึ้นอย่างไร ยกระดับสมรรถนะการใช้กฎหมายอย่างไร จึงจะสามารถร่วมกันรักษาแนวป้องกันนี้ไว้ได้
อาชญากรรมข้ามชาติในลักษณะใหม่ต่างๆ เป็นดังที่อาเหม็ด นาเซอร์ อัล-ไรซี ประธานอินเตอร์โพลเคยแถลงในวันความร่วมมือตำรวจสากลเมื่อวันที่ 7 กันยายนปีนี้ว่า “การแบ่งปันข่าวกรอง กลยุทธ์และทรัพยากรอย่างเปิดเผย ช่วยให้เราพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามระดับโลก เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์และการก่อการร้ายได้ดีขึ้น” ไต้หวันมีองค์กรตำรวจ หน่วยงานยุติธรรม การค้าการเงิน ระบบขนส่งทางอากาศและทางน้ำ ประกอบกับระบบการควบคุมการเข้าเมือง อันเป็นเอกเทศ และมีประสบการณ์ที่หลากหลายกับการร่วมมือปราบปรามการฉ้อโกงหลอกลวงทางดิจิทัลข้ามพรมแดน การค้ายาเสพติด การโจมตีทางไซเบอร์ การต่อต้านอาชญากรรมและการก่อการร้าย การปราบอาชญากรรมของไต้หวันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โลกปัจจุบันมีความปลอดภัยร่วมกันอย่างใกล้ชิด การจับมือกับไต้หวันของอินเตอร์โพลจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยยิ่งขึ้นแก่ประชาคมโลก
ความปลอดภัยของไต้หวันมีชื่อเสียงระดับโลก กลไกสำคัญการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติขึ้นอยู่กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทันเวลา
จากการสำรวจดัชนีทางเศรษฐกิจประจำปี 2024 (Business Climate Survey 2024 Report) ของหอการค้าสหรัฐอเมริการะบุว่า สมาชิกนักธุรกิจชาวอเมริกันมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า “ความปลอดภัยของบุคคล” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติมาพำนักถาวรและมาทำงานในไต้หวัน และตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 เป็นต้นมา รายการนี้เป็นหัวข้อที่นักธุรกิจชาวต่างชาติพึงพอใจมากที่สุดตลอด 8 ปี
นางซานดรา ออดเคิร์ก (Sandra Oudkirk) อดีตผู้อำนวยการ สถาบันอเมริกันในไต้หวัน (AIT) ก็เคยยกย่องว่า “ไต้หวันเป็นแหล่งพำนักอาศัยที่ปลอดภัยที่สุดของข้าพเจ้า” และจากข้อมูลของนัมเบโอ (Numbeo) ดัชนีความปลอดภัยของไต้หวันติดอันดับที่ 4 ของโลก รองจากประเทศอันดอร์รา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์เท่านั้น ส่วนอัตราการเกิดอาชญากรรมจัดอยู่ 4 อันดับท้ายสุด จากรายงานของเอ็กซ์แพท อินไซเดอร์ (Expat Insider) ประจำปี ค.ศ. 2023 ที่ประกาศโดยอินเตอร์เนชั่น (InterNations) พบว่าในประเทศที่เหมาะกับการอยู่อาศัยทั่วโลก ดัชนีโดยรวมของไต้หวันติดอันดับ 5 คุณภาพชีวิตอันดับ 2 และความปลอดภัยอันดับที่ 8 การรักษาพยาบาลดูแลสุขภาพยิ่งสูงเป็นอันดับที่ 1
ทว่า แม้ไต้หวันจะมีสมรรถภาพสูงในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ระหว่างการสืบสวนอาชญากรรมนอกจากความร่วมมือกับมิตรภาพซึ่งทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดแล้ว การได้รับหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างทันเวลาก็เป็นกลไกสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติเช่นกัน แต่ด้วยอุปสรรคที่ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกอินเตอร์โพล ไต้หวันจึงได้แต่แสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศทางอ้อม และต้องเสียเวลาไม่น้อยกว่าจะได้ข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งเมื่อได้มาก็อาจพลาดโอกาสหรือล่วงเลยเวลา สภาพที่เป็นอุปสรรคอันไม่น่าจะเป็นเช่นนี้มักทำให้อาชญากรข้ามชาติมีเวลากระทำความผิดมากกว่าเดิม และก่อให้เกิดความสูญเสียระดับโลกอย่างใหญ่หลวง
ตัวต่อจิ๊กซอว์การรักษาความปลอดภัยสากล ถ้าขาดไต้หวันจะไม่สมบูรณ์
ดังที่ประธานอัล-ไรซีกล่าวไว้ หัวข้อการประชุมความร่วมมือตำรวจสากลประจำปีนี้คือ “ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบและการกำกับดูแลของตำรวจ” ซึ่งล้วนเป็นค่านิยมสำคัญของงานตำรวจและความปลอดภัยของโลก หลักการเหล่านี้เป็นรากฐานความมั่นใจของมหาชน และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการป้องกันอาชญากรรม พิทักษ์ผู้ด้อยโอกาสและผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมของไต้หวัน แน่นอนที่ความร่วมมือของตำรวจสากลคือพลังสำคัญที่สุด ไต้หวันตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ มีความสามารถในการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลกับนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง และยินดีร่วมมือกับทุกประเทศในการธำรงสันติภาพ ความปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรือง
ปัจจุบัน ไต้หวันได้รับสิทธิในการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศจากหนึ่งร้อยกว่าประเทศ จึงทำให้พาสปอร์ตของไต้หวันกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายการช่วงชิงของอาชญากรข้ามชาติ ขณะนี้ ทางการตำรวจไต้หวันได้ทลายแหล่งซื้อขายพาสปอร์ตไต้หวันของกลุ่มมิจฉาชีพในหลายประเทศ อาชญากรมักใช้พาสปอร์ตปลอมของไต้หวันในประเทศต่างๆ เพื่อหลบซ่อนหนีคดีหรือไม่ก็กระทำการไม่สุจริต เป็นภัยต่อความปลอดภัยของนานาประเทศและเกิดช่องโหว่ร้ายแรงต่อความปลอดภัยของโลก อย่างไรก็ตาม ไต้หวันสูญเสียสมาชิกภาพใน “องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ” นานถึง 40 ปีด้วยสาเหตุทางการเมือง จึงไม่อาจใช้ข้อมูล ระบบการติดต่อและข้อมูลอาชญากรจากคลังข้อมูลของอินเตอร์โพล และยิ่งไม่สามารถได้รับข้อมูลอาชญากรรมอย่างทันท่วงที หรือแม้แต่การแจ้งให้ทราบถึงคดีใหญ่ (เช่น การฉ้อโกง การค้ายาเสพติด เป็นต้น) หมายจับอาชญากร อีกทั้งไม่อาจนำเสนออาชญากรรมรูปแบบใหม่และประสบการณ์การสืบสวน ข้อมูลการปลอมแปลงพาสปอร์ตของไต้หวันตลอดจนข้อมูลสำคัญต่างๆ แก่ประเทศทั่วโลก ซึ่งยากที่จะสกัดการลุกลามของคดีอาชญากรรมด้วยการตัดไฟแต่ต้นลม
ไต้หวันยินดีร่วมมือกับมิตรประเทศในการปราบอาชญากรรมข้ามชาติ
ลิซา ไลน์ส (Lisa Lines) หญิงชาวออสเตรเลีย เป็นผู้ต้องหาคดียุยงให้คนรักใหม่ใช้ขวานสังหารอดีตสามีจนพิการเป็นอัมพาตเมื่อปี ค.ศ. 2017 หลังจากนั้นก็หนีมากบดานและทำงานในไต้หวัน แม้อินเตอร์โพลจะออกหมายจับแดงตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 2022 พร้อมกับออกหมายเหลืองช่วยลูกน้อยของเธอที่ถูกระบุว่าสาบสูญ แต่เนื่องจากไต้หวันไม่ได้รับข้อมูลชิ้นนี้ จนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 ทางการตำรวจออสเตรเลียจึงได้ร้องขอให้ไต้หวันช่วยสืบสวนคดีนี้ ตำรวจไต้หวันจึงรับทราบคดีดังกล่าว หลังสืบตามเบาะแส ทางการตำรวจไต้หวันพบว่า ลิซา ไลน์สได้พาบุตรสาวไปท่องเที่ยวสาธารณรัฐปาเลาและแจ้งให้ตำรวจออสเตรเลียทราบ ตำรวจปาเลาจึงได้จับกุมตัวที่นั่นและส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปพิจารณาคดีพร้อมกับช่วยเหลือเด็กให้ได้กลับประเทศของตน
ในปี 2024 นี้เอง หน่วยงานคดีละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ของอินเตอร์โพล (INTERPOL Stop Internet Piracy, I-SOP) ได้ระบุในรายงานที่ใช้ชื่อว่า “โอลิมปิกปารีส 2024 : ภัยคุกคามแฝงการละเมิดลิขสิทธิ์ดิจิทัล” (Paris 2024 Olympic Games : Awareness for Potential Digital Piracy Services) ระบุว่า ไต้หวันเคยคลี่คลายคดีการถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิกโดยใช้กล่องรับสัญญาณอย่างมิชอบ (Unblock Tech TV Box) และได้ขอให้ไต้หวันช่วยแบ่งปันประสบการณ์สืบสวนสอบสวน ขณะเดียวกันก็ขอให้แจ้งการสืบสวนเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยวิธีนี้ที่อาจปรับใช้ในอนาคต เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
เพื่อเครือข่ายความปลอดภัยนานาชาติที่สมบูรณ์ โปรดสนับสนุนให้ไต้หวันได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของอินเตอร์โพล
วันที่ 30 เมษายน ปีนี้ (2024) บอนนี่ แกลเซอร์ (Bonnie Glaser) ผู้อำนวยการฝ่ายแผนเอเชียกองทุนเยอรมันมาร์แชล (The German Marshall Fund of the United State) และฌาคส์ เดอ ลีส์ (Jacques deLisle) นักกฎหมาย ซึ่งต่างเป็นที่ปรึกษาระดับนโยบายของรัฐบาลวอชิงตันได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายระบุว่า มติที่ 2758 ขององค์การสหประชาชาติ ไม่ควรตั้งอยู่บนฐานของ “จีนเดียว” ต่อจากนั้นในวันที่ 27 มิถุนายน สถาบันนโยบายทางยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute, ASPI) ได้ตีพิมพ์บทความของ ดร.จอห์น คอยน์ (John Coyne) ว่า “การกีดกันไต้หวันออกจากอินเตอร์โพลเป็นความสูญเสียของโลก” (Taiwan’s exclusion from Interpol is the world’s loss) บทความระบุว่า ไต้หวันมีความสามารถใหญ่หลวงด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพต่อการปราบอาชญากรข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ ซึ่งแม้จะได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ แต่ไต้หวันยังคงไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลและระบบความร่วมมือจากอินเตอร์โพล เท่ากับจำกัดประสิทธิภาพที่ควรมี การให้ไต้หวันได้มีฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ของอินเตอร์โพลจะเพิ่มพูนความปลอดภัยของนานาประเทศ ผดุงความยุติธรรมและลดผลทางลบด้านการปราบอาชญากรรมของโลกที่เกิดจากปัจจัยทางการเมือง
ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียนเชิญทุกประเทศสนับสนุนไต้หวันให้ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่อินเตอร์โพลในฐานะผู้สังเกตการณ์ ให้ตำรวจไต้หวันได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม การประชุม การฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนขององค์กร เพื่อสร้างการติดต่อกับสมาชิกต่างๆ ช่วยกันปิดช่องโหว่ด้านอาชญากรรมอันเกิดจากข้อมูลไม่ครบถ้วน ตำรวจไต้หวันจะยึดมั่นในการธำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคม ลดความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และจะร่วมมืออย่างเต็มที่กับนานาประเทศเพื่อปราบอาชญากรรมข้ามชาติ