Wednesday, 2 July 2025
WORLD

WFP เผย 'ฝูงชนอดอยาก' ล้อมคลังอาหารในกาซา ดับแล้ว 2 ราย บาดเจ็บอีกเพียบในการแย่งเสบียง

(30 พ.ค. 68) สถานการณ์ความอดอยากในฉนวนกาซาทวีความรุนแรง ขณะที่โครงการอาหารโลก (WFP) เปิดเผยว่า กลุ่มชาวปาเลสไตน์จำนวนมากซึ่งหิวโหย ได้บุกเข้าโกดังเก็บเสบียงในเมืองเดียร์ เอล-บาลาห์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีกหลายคน เหตุเกิดท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก 

ในขณะเดียวกัน การโจมตีจากอิสราเอลยังคงดำเนินต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขในกาซาระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 รายทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะในค่ายผู้ลี้ภัยบูเรจในกาซากลาง มีผู้เสียชีวิต 23 ราย จากการโจมตีอาคารที่พักอาศัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินต้องใช้เวลานานกว่า 30 นาทีในการกู้ร่างผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการโจมตีบ้านเรือนและโรงเรียนอนุบาลในเขตจาบาเลีย ทางเหนือของกาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกอย่างน้อย 7 ราย ขณะที่จุดแจกจ่ายความช่วยเหลือที่ก่อตั้งโดยมูลนิธิ Gaza Humanitarian Foundation (GHF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ก็เกิดระเบิดต่อเนื่อง โดยยังไม่มีความชัดเจนถึงสาเหตุ

องค์กรสิทธิมนุษยชนและสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อบทบาทของ GHF โดยระบุว่าโครงการดังกล่าวขาดความเป็นกลางและละเมิดหลักการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งยังอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางทหารหรือการควบคุมพลเรือนของอิสราเอล

แม้อิสราเอลจะยืนยันว่าอนุญาตให้นำส่งความช่วยเหลือทั้งผ่าน UN และ GHF แต่เจ้าหน้าที่ UN ระบุว่าจำนวนความช่วยเหลือที่เข้าสู่กาซายัง 'น้อยเกินไป' เมื่อเทียบกับความต้องการระดับวิกฤต พร้อมเตือนว่า การแจกจ่ายแบบ 'จับตา-จำกัด' นี้ อาจยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ขาดแคลนอาหารและบั่นทอนหลักมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง

‘ยูเครน’ กุมขมับวิกฤต ‘หนีทหาร’ ปีนี้พุ่งไม่หยุด คาดยอดจะทะลุ 61,000 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์

(30 พ.ค. 68) กองทัพยูเครนกำลังเผชิญปัญหาทหารหลบหนีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนผู้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาตในปี 2025 จะทะลุ 61,000 ราย เกือบเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน ตามการวิเคราะห์ของผู้สื่อข่าว Sputnik โดยอ้างอิงจากบันทึกคดีในศาลยูเครน

กรณีการหลบหนีส่วนใหญ่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 407 วรรค 5 ของประมวลกฎหมายอาญายูเครน ซึ่งระบุถึงการ “ละทิ้งหน่วยหรือสถานที่ปฏิบัติหน้าที่เกิน 3 วัน ภายใต้กฎหมายกฎอัยการศึกหรือสถานการณ์การรบ”

ข้อมูลจากทะเบียนคดีของศาลยูเครนระบุว่า เดือนเมษายน 2025 มีคดีหนีทหารสูงสุดที่ 6,245 คดี ส่งผลให้ยอดสะสม 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 25,508 คดี หากแนวโน้มยังดำเนินต่อไป จำนวนรวมทั้งปีอาจสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อเทียบกับปีก่อน แนวโน้มดังกล่าวน่ากังวลอย่างยิ่ง โดยในปี 2024 มีรายงานการหลบหนีถึง 35,750 คดี เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปี 2023 ที่มีเพียง 12,563 คดี สะท้อนภาวะขาดเสถียรภาพในกำลังพลอย่างต่อเนื่อง

เวียดนามสั่งแบน The Economist ฉบับ ‘โต เลิม’ หวั่นปกนิตยสารกระทบ!..ภาพลักษณ์ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์

(30 พ.ค. 68) รัฐบาลเวียดนามมีคำสั่งห้ามวางจำหน่ายนิตยสาร The Economist ฉบับล่าสุด หลังขึ้นปกภาพ โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์วัย 67 ปี โดยภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นดวงตาของเขาถูกปิดด้วยดาวสีเหลืองบนพื้นหลังสีแดง พร้อมพาดหัวว่า 'บุรุษผู้มีแผนสำหรับเวียดนาม' ซึ่งถูกมองว่าเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ที่อ่อนไหว

แหล่งข่าวในประเทศให้ข้อมูลกับสำนักข่าว Reuters ว่า ได้รับคำสั่งให้ฉีกหน้าปกและบทความที่เกี่ยวข้องกับ โต เลิม ออกจากนิตยสาร ก่อนที่จะมีคำสั่งให้ระงับการจำหน่ายทั้งหมด แม้จนถึงขณะนี้ ทางการยังไม่มีแถลงการณ์ชี้แจงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเหตุผลของการแบน

การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางควบคุมสื่อที่เข้มงวดของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งมีประวัติการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 173 จาก 180 ประเทศ ตามดัชนีเสรีภาพสื่อของ Reporters Without Borders (RSF) ปี 2025 สะท้อนถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนที่อยู่ในระดับต่ำมาก

สำหรับเนื้อหาในบทความของ The Economist ระบุว่า โต เลิม เป็นผู้นำที่แข็งกร้าวซึ่งจำเป็นต้องปรับบทบาทเป็นนักปฏิรูปเพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ การใช้ภาพสื่อถึงสัญลักษณ์ชาติบนใบหน้าของเขาอาจถูกตีความว่าเป็นการวิจารณ์เชิงล้อเลียน

การแบนครั้งนี้สะท้อนถึงความอ่อนไหวของรัฐบาลเวียดนามต่อการวิจารณ์ผู้นำระดับสูงจากสื่อต่างชาติ แม้ฉบับพิมพ์จะถูกระงับ แต่บทความฉบับออนไลน์ของ The Economist ยังสามารถเข้าถึงได้

ยูเครนร้องจีนสองมาตรฐาน ระงับขายโดรนให้ตะวันตก แต่ส่งให้รัสเซียเพิ่ม

(30 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครน เปิดเผยเมื่อ 29 พ.ค. ว่า จีนได้หยุดขายโดรนให้ยูเครนและประเทศตะวันตก แต่ยังคงส่งโดรนให้รัสเซีย โดยระบุว่า “Mavic จากจีนเปิดขายให้รัสเซีย แต่ปิดให้ยูเครน” ซึ่งเป็นโดรนรุ่นยอดนิยมของบริษัท DJI จากจีน

เลนสกีเผยอีกว่า มีสายการผลิตโดรนตั้งอยู่ในรัสเซียโดยมีตัวแทนจากจีนอยู่ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ยุโรปที่ระบุว่าจีนได้ลดการส่งออกชิ้นส่วนโดรน เช่น แม่เหล็กมอเตอร์ ไปยังตะวันตก แต่เพิ่มการส่งให้รัสเซีย

แม้จีนจะอ้างความเป็นกลาง แต่ตลอดช่วงสงคราม โดรนได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในสนามรบ โดยทั้งสองฝ่ายนำมาใช้ในภารกิจลาดตระเวนและโจมตีแม่นยำ ขณะที่ยูเครนเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตโดรนภายในประเทศให้ถึงขีดสุด เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ

กระทรวงการต่างประเทศจีนยังคงปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งยุทโธปกรณ์ให้ฝ่ายใด พร้อมยืนยันว่าควบคุมเข้มสินค้าสองทาง (Dual-use goods) แต่การที่จีนกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียมากขึ้น ได้สร้างความกังวลให้กับโลกตะวันตกและนาโต ซึ่งระบุว่าจีนกำลังเป็น 'ผู้สนับสนุนหลัก' ให้รัสเซียรุกรานยูเครน

ชาวเนปาลนับหมื่นลงถนน เรียกร้องฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ หลังไม่พอใจรัฐบาล ทำเศรษฐกิจประเทศตกต่ำ

เมื่อวานนี้ (29 พ.ค.68) ประชาชนหลายหมื่นคนออกมารวมตัวกันในกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เรียกร้องให้ฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ที่ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2008 ท่ามกลางความไม่พอใจต่อสภาพเศรษฐกิจและการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน โดยผู้ชุมนุมยังเรียกร้องให้ศาสนาฮินดูกลับมาเป็นศาสนาประจำชาติ

กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตะโกนข้อว่า “จงนำกษัตริย์กลับคืนราชบัลลังก์และช่วยชาติ เรารักกษัตริย์มากกว่าชีวิต” ขณะที่เป้าหมายของการเรียกร้องครั้งนี้คือการให้ กษัตริย์เกียนเอนทรา ชาห์ วัย 77 ปี อดีตกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของเนปาล ซึ่งยังพำนักอยู่ในกาฐมาณฑุ กลับคืนสู่บัลลังก์อีกครั้ง

เนปาลกลายเป็นสาธารณรัฐหลังยกเลิกระบอบกษัตริย์ และปัจจุบันมีประธานาธิบดีเป็นประมุข อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางส่วนที่ไม่พอใจกับชนชั้นการเมืองและสภาพเศรษฐกิจ ที่ทำให้ชาวเนปาลจำนวนมากต้องเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อส่งเงินกลับบ้าน

แม้จะมีเสียงเรียกร้องเพิ่มขึ้น แต่โอกาสในการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ยังคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพรรคการเมืองหลักทั้งสามพรรคในสภายังคัดค้านแนวคิดดังกล่าว ขณะที่พรรคฝ่ายหนุนกษัตริย์อย่าง Rastriya Prajatantra Party มีเพียง 13 ที่นั่งจากทั้งหมด 275 ที่นั่งในรัฐสภาเท่านั้น

ร้านยากิโทริในโอซาก้า ติดป้ายห้ามคนจีนเข้า เดือดร้อน บ.แม่แถลงขอโทษ ย้ำไม่สนับสนุนการเลือกปฏิบัติ

(29 พ.ค. 68) ร้านไก่ย่างถ่านชื่อดังในโอซาก้า “Sumibi Yakitori Hayashin” กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อน หลังมีผู้เผยภาพป้ายที่ระบุไม่อนุญาตให้ลูกค้าชาวจีนเข้าร้าน โดยให้เหตุผลว่า “หลายคนไร้มารยาท” จนเกิดเสียงวิจารณ์หนักทั้งในญี่ปุ่นและจีน

แม้ทางร้านยังไม่มีแถลงการณ์ชี้แจง แต่กระแสในโซเชียลหลายคนมองว่าการเหมารวมเช่นนี้เข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ ส่วนชาวญี่ปุ่นสายชาตินิยมบางกลุ่มกลับสนับสนุนการกระทำของร้าน ขณะที่ชาวเน็ตจีนส่วนใหญ่แสดงความโกรธและผิดหวัง

SASAYA Holdings บริษัทแม่ของร้าน ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ระบุว่าป้ายดังกล่าวเป็นการตัดสินใจของร้านโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัท พร้อมย้ำจุดยืนในการให้บริการอย่างเท่าเทียมกับลูกค้าทุกเชื้อชาติ

หลังเกิดเหตุ ร้าน Hayashin ได้หยุดให้บริการทันทีในวันเดียวกับการแถลงขอโทษ และชื่อร้านก็ถูกถอดออกจากเว็บไซต์ของบริษัทแม่แล้ว ขณะเดียวกันประเด็นนี้ยังสะท้อนปัญหาความตึงเครียดระหว่างชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มกับนักท่องเที่ยวจีน

แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างมาก แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่พอใจกับพฤติกรรมไร้มารยาทของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มักตกเป็นเป้าในกระแส “มลพิษทางการท่องเที่ยว” หรือ Overtourism ที่กำลังเป็นคำฮิตในสังคมญี่ปุ่นขณะนี้

สื่อนอกชี้! เวียดนามคือจุดหมายใหม่ของนักเดินทาง สวยกว่า ถูกกว่า อาหารอร่อย น่าเที่ยวกว่าไทย

(29 พ.ค. 68) สื่อต่างประเทศรายงานว่า เวียดนามกำลังกลายเป็นทางเลือกใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับนักเดินทางที่มองหาประสบการณ์ที่แตกต่างจากไทย ด้วยธรรมชาติที่หลากหลายและวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนเริ่มยกย่องเวียดนามว่าให้ประสบการณ์ที่เหนือกว่าไทย ทั้งในด้านสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร และความคุ้มค่าของค่าใช้จ่าย

เวียดนามมีสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกหลายแห่ง เช่น อ่าวฮาลองที่งดงามด้วยเกาะหินปูนและน้ำสีมรกต, เมืองมรดกโลกฮอยอันที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์, และเกาะฟู้โกว๊กกับหาดทรายขาวสวยสงบ รวมถึงเส้นทางขี่มอเตอร์ไซค์ “Ha Giang Loop” ในภาคเหนือที่โด่งดังในหมู่นักผจญภัย

นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นประเทศที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่สูงเมื่อเทียบกับไทย อาหารเวียดนามทั้งสด อร่อย และดีต่อสุขภาพ เช่น เฝอ บั๋นหมี่ และปอเปี๊ยะ นอกจากนี้ยังมีชื่อเสียงในเรื่องกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟไข่ กาแฟมะพร้าว หรือกาแฟเกลือ ที่มีรสเข้มข้นและเป็นเอกลักษณ์

แม้การท่องเที่ยวในเวียดนามจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนยังไม่มากเท่าไทย ซึ่งทำให้หลายพื้นที่ยังคงมีความสงบและเสน่ห์เฉพาะตัว เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาทางเลือกใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

‘สหรัฐ’ เบรกส่งออกเทคโนโลยีเครื่องบิน-ชิปให้ ‘จีน’ ตอบโต้ปักกิ่งจำกัดส่งออกแร่หายาก กระทบซัพพลายเชน

(29 พ.ค. 68) รัฐบาลทรัมป์ออกมาตรการระงับการส่งออกเทคโนโลยีสำคัญ เช่น เครื่องยนต์เจ็ต เซมิคอนดักเตอร์ และซอฟต์แวร์ออกแบบชิปแก่จีน หลังจากทางปักกิ่งจำกัดการส่งออกแร่หายากที่สหรัฐจำเป็นต้องใช้ในการผลิต โดยถือเป็นการยกระดับความตึงเครียดด้านห่วงโซ่อุปทานระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก

มาตรการใหม่นี้อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทอเมริกันและจีนที่พึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอากาศยาน ยานยนต์ หุ่นยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น เครื่องบิน C919 ของบริษัท COMAC ที่ต้องใช้ชิ้นส่วนจากสหรัฐและยุโรป ยังไม่สามารถผลิตภายในประเทศได้ทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลทรัมป์ยังได้ระงับการส่งออกซอฟต์แวร์ออกแบบชิปของบริษัทชั้นนำอย่าง Cadence, Synopsys และ Siemens ไปยังจีน เพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ใช้พัฒนา AI และชิประดับสูง แม้จีนพยายามเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตนเองอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ท่าทีแข็งกร้าวของสหรัฐเกิดขึ้นหลังจีนจำกัดการส่งออกแร่หายากในเดือนเมษายน โดยให้เหตุผลว่ากำลังร่างระเบียบควบคุมใหม่ สร้างความวิตกให้กับบริษัทอเมริกันที่ยังคงต้องพึ่งพาทรัพยากรจากจีน ทั้งนี้การแลกเปลี่ยนมาตรการตอบโต้ระหว่างสองประเทศอาจยิ่งซ้ำเติมความพยายามยุติสงครามการค้า

กระทรวงพาณิชย์จีนได้ตอบโต้ด้วยการแสดงจุดยืนว่าการควบคุมของสหรัฐเป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียว พร้อมประกาศเจรจากับบริษัทชิปจีนและยุโรปเพื่อสร้างความร่วมมือและลดผลกระทบ โดยย้ำว่าความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก “กำลังเผชิญความท้าทายอย่างรุนแรง”

MateBook Pro ใหม่จาก Huawei ใช้ชิป 5nm ผลิตโดย SMIC ไม่ง้อสหรัฐ

(29 พ.ค. 68) Huawei และ SMIC สร้างความฮือฮาในวงการเซมิคอนดักเตอร์ หลังมีรายงานว่าชิป Kirin X90 ที่ใช้ใน Huawei MateBook Pro รุ่นใหม่ ผลิตบนกระบวนการ 5nm N+3 node ได้สำเร็จโดยไม่ใช้เทคโนโลยี EUV จาก ASML ที่จีนไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะมาตรการแบนจากสหรัฐและเนเธอร์แลนด์

แม้จะใช้เทคโนโลยี DUV ที่ล้าหลังกว่า แต่ SMIC สามารถพัฒนาเทคนิค multi-patterning เพื่อให้ได้ลวดลายที่เล็กพอสำหรับระดับ 5nm ที่ใช้ต้นทุนสูง อัตราสำเร็จต่ำเพียง 20% แต่ถือเป็นก้าวสำคัญของจีนในการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีขั้นสูง โดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์จากตะวันตก

ในด้านซอฟต์แวร์ Huawei ยังเดินหน้าทดแทนเทคโนโลยีที่ถูกจำกัดเช่นกัน โดยเปิดตัว HarmonyOS Next ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการใหม่ล่าสุดที่ไม่พึ่งพาโค้ดโอเพ่นซอร์สของ Android อีกต่อไป ขณะเดียวกันยังได้พัฒนา HarmonyOS 5 สำหรับพีซี โดยมีเป้าหมายแทนที่ระบบ Windows ในอนาคต

ความสำเร็จของ Huawei และ SMIC ในครั้งนี้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับชาติตะวันตก และสะท้อนถึงความสามารถของจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง แม้ต้องเผชิญข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และการเข้าถึงทรัพยากรระดับโลก

รัสเซียเตือนอาจโจมตีเบอร์ลิน หากเยอรมนีสนับสนุนขีปนาวุธ ‘ทอรัส’ ยูเครนโจมตีมอสโก

(29 พ.ค. 68) มาร์การิตา ซิโมนยาน บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าว RT ของรัสเซีย ออกโรงเตือนว่า หากเยอรมนีให้การสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ยูเครนในการใช้ขีปนาวุธ ‘ทอรัส’ โจมตีกรุงมอสโก รัสเซียอาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตอบโต้ด้วยการโจมตีกรุงเบอร์ลิน

เป็นที่คาดการณ์ว่าเยอรมนีอาจส่งขีปนาวุธทอรัส ให้ยูเครนกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากนายกรัฐมนตรีฟรีดริช เมิร์ตซ์ ระบุว่า เยอรมนีและพันธมิตรได้ยกเลิกข้อจำกัดด้านระยะการใช้อาวุธของยูเครนแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเยอรมนีว่าจะมีการส่งมอบอาวุธดังกล่าว

ซิโมนยานโพสต์ข้อความว่า “หากเกิดการโจมตีกรุงมอสโกโดยอาวุธเยอรมันภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่เยอรมัน การตอบโต้ด้วยการยิงใส่กรุงเบอร์ลินจะเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” โดยเธอชี้ว่า ขีปนาวุธทอรัส จำเป็นต้องใช้บุคลากรเยอรมันในการควบคุมและตั้งโปรแกรม ซึ่งยูเครนไม่สามารถดำเนินการเองได้

ด้านโฆษกเครมลิน ดมีตรี เปสคอฟ เตือนว่าหากเยอรมนีตัดสินใจส่งมอบอาวุธดังกล่าวจริง จะเป็นการยกระดับความขัดแย้งอย่างร้ายแรง และบ่อนทำลายความพยายามในการหาทางยุติสงครามในยูเครน ขณะที่รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ เคยยืนยันมาตลอดว่าจะไม่ส่งขีปนาวุธทอรัส เพราะเสี่ยงต่อการถูกดึงเข้าไปในความขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซีย

จีนแอบอมยิ้ม ทรัมป์จะกร่างไปได้อีกสักกี่น้ำ หลังศาลสหรัฐฯ สั่งเบรกเก็บภาษีบูลลี่คนอื่น

(29 พ.ค. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ว่า จีนแอบอมยิ้ม ทรัมป์จะกร่างไปได้อีกสักกี่น้ำ ! ศาลสหรัฐฯ สั่งเบรกทรัมป์เก็บภาษีบูลลี่คนอื่น + อิลอน มัสก์ ก็เทใจจากทรัมป์ ขอบายแล้ววว

นักเรียนจีนกว่า 13.35 ล้านคน เตรียมสอบ ‘เกาเข่า’ ปีนี้ ทางการสั่งตรวจเข้ม-ห้ามมือถือ สมาร์ตวอตช์ แว่นตา เข้าห้องสอบ

(29 พ.ค. 68) กระทรวงศึกษาธิการจีนเผย นักเรียนกว่า 13.35 ล้านคน เตรียมเข้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับชาติหรือ “เกาเข่า” ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ โดยเป็นตัวเลขลดลงเล็กน้อยจากสถิติสูงสุดเมื่อปี 2024 ที่มีผู้เข้าสอบ 13.42 ล้านคน

ทางการจีนกำชับหน่วยงานท้องถิ่นจัดสอบอย่างเหมาะสม พร้อมเปิดปฏิบัติการทั่วประเทศปราบโกงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีการตรวจเข้มเรื่องความปลอดภัย และห้ามนำอุปกรณ์ต้องห้าม เช่น โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาอัจฉริยะ และแว่นตาเข้าห้องสอบ

ด้านบริการสนับสนุน รัฐบาลท้องถิ่นจะดูแลการขนส่ง ที่พัก สุขอนามัย และควบคุมเสียงรบกวนรอบสถานที่สอบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บรรยากาศเอื้อต่อการสอบมากที่สุด

กระทรวงฯ ยังให้ความสำคัญกับผู้ด้อยโอกาส โดยจัดข้อสอบเบรลล์สำหรับนักเรียนตาบอด 16 คน และเตรียมความช่วยเหลือสำหรับผู้พิการกว่า 14,000 คน พร้อมให้บริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาเพื่อดูแลสุขภาพใจของนักเรียนตลอดช่วงสอบสำคัญนี้

สหรัฐฯ เตรียมยกเลิกวีซ่านักเรียนจีนจำนวนมาก มุ่งเป้า!!..ผู้ที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์

(29 พ.ค. 68) มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่าสหรัฐฯ จะเริ่ม 'ยกเลิกวีซ่าอย่างเข้มงวด' สำหรับนักเรียนจีนที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศ โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือกำลังศึกษาในสาขาที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ พร้อมทั้งจะเพิ่มมาตรการคัดกรองในการอนุมัติวีซ่าของนักเรียนจากจีนและฮ่องกงในอนาคต

การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยเฉพาะหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง และกล่าวหาจีนว่าเอาเปรียบทางการค้าต่อสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่สงครามภาษีที่ทวีความรุนแรงขึ้น

นอกจากจีนจะเป็นประเทศต้นทางอันดับสองของนักเรียนต่างชาติในสหรัฐฯ แล้ว นักเรียนจีนยังมีจำนวนมากกว่า 270,000 คนในปีการศึกษา 2023-2024 คิดเป็นประมาณหนึ่งในสี่ของนักเรียนต่างชาติทั้งหมด การยกเลิกวีซ่าครั้งนี้จึงสร้างความไม่แน่นอนอย่างมากในแวดวงการศึกษา

นอกจากนี้ รัฐบาลทรัมป์ยังสั่งระงับการดำเนินการออกวีซ่านักเรียนชั่วคราว และเตรียมขยายมาตรการตรวจสอบโซเชียลมีเดียของผู้ยื่นขอวีซ่า รวมถึงมีความพยายามยกเลิกวีซ่าของนักเรียนที่มีบทบาททางการเมืองหรือแสดงออกสนับสนุนปาเลสไตน์ ซึ่งรัฐบาลกล่าวหาว่าเป็นการยุยงความเกลียดชัง แม้นักเคลื่อนไหวและนักกฎหมายจะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ก็ตาม

‘ม.เจ้อเจียง’ พัฒนาวัสดุล่องหนชนิดใหม่ หลบเรดาร์ได้หมด ท้าทาย ‘Golden Dome’ ของทรัมป์..ที่อาจเป็นแค่ภาพฝัน

(28 พ.ค. 68) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ประเทศจีน พัฒนา 'วัสดุพรางตัวขั้นสูง' ชนิดใหม่ ที่สามารถหลบหลีกการตรวจจับด้วยอินฟราเรดและคลื่นไมโครเวฟในระยะไกล อีกทั้งยังทนความร้อนได้สูงถึง 700 องศาเซลเซียส ทำให้มีศักยภาพใช้ในภารกิจทั้งด้านทหารและอวกาศ สร้างความสั่นคลอนให้กับ 'Golden Dome' โครงการโล่ป้องกันขีปนาวุธที่ประธานาธิบดีทรัมป์ผลักดันอย่างหนัก

ระบบ Golden Dome อาศัยเรดาร์และระบบตรวจจับจากภาคพื้นดินและอวกาศเป็นหัวใจหลัก หากถูกตัดหูตาด้วยเทคโนโลยีล่องหนใหม่ของจีน เช่น โดรนก่อกวนสัญญาณไซเบอร์ หรือหัวรบหลอก ระบบดังกล่าวจะกลายเป็นการสร้างที่เสียเปล่าในสถานการณ์จริง นั่นทำให้จึงถูกมองว่าเป็นช่องโหว่ร้ายแรงที่คู่แข่งอาจใช้โจมตีได้

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากโครงการ Golden Dome เดินหน้าต่อ จะกระตุ้นให้จีน รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ เร่งพัฒนาอาวุธใหม่ เช่น ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก หรือระบบโจมตีดาวเทียมเพื่อตอบโต้ สถานการณ์อาจบานปลายเป็นการแข่งขันทางอาวุธครั้งใหม่ คล้ายช่วงสงครามเย็นในยุคอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โรนัลด์ เรแกน

สำนักงานงบประมาณรัฐสภาสหรัฐฯ ประเมินว่า Golden Dome อาจใช้เงินภาษีถึง 831,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 30.3 ล้านล้านบาท) แต่กลับมีแนวโน้ม 'ใช้ไม่ได้ผลจริง' ขณะที่จีนพัฒนาแนวทางหลบเลี่ยงการตรวจจับอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ทางออกเดียวของสหรัฐฯ อาจเป็นการ 'ไม่เล่นเกมนี้ตั้งแต่ต้น'

‘กรีนแลนด์’ เร่งเร้า ‘สหรัฐฯ’ รีบลงทุนเหมืองแร่ ชี้หากเมินเฉย พร้อมเชิญ ‘จีน’ เข้ามาแทน

(28 พ.ค. 68) รัฐมนตรีธุรกิจและทรัพยากรแร่ของกรีนแลนด์ นายนาอาย์ นาธาเนียลเซน (Naaja Nathanielsen) เรียกร้องให้สหรัฐฯ และยุโรปเร่งเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของกรีนแลนด์ หากยังเพิกเฉย อาจทำให้ประเทศจำเป็นต้องหันไปพึ่งจีนแทน แม้จะต้องการความร่วมมือกับชาติตะวันตกมากกว่า

กรีนแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองภายใต้เดนมาร์ก มีแร่หายากจำนวนมากที่ชาติตะวันตกต้องการ โดยเฉพาะแร่ในรายชื่อแร่สำคัญของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกว่า 40 ชนิด แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากสหรัฐฯ แม้จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจสมัยรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งกำลังจะหมดอายุ

นาธาเนียลเซนวิจารณ์แนวคิดของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการ “ซื้อกรีนแลนด์” ว่าเป็นเรื่องไม่ให้เกียรติ พร้อมชี้ว่าการมีส่วนร่วมของจีนในภาคเหมืองแร่ของกรีนแลนด์ในปัจจุบันยังมีน้อย แต่หากชาติตะวันตกยังลังเล ก็อาจเปิดทางให้จีนขยายอิทธิพล

ล่าสุด กรีนแลนด์ออกใบอนุญาตเหมืองแร่ภายใต้กฎหมายใหม่ครั้งแรก ให้กับกลุ่มทุนเดนมาร์ก-ฝรั่งเศส เพื่อสกัดแร่อนอร์โธไซต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฟเบอร์กลาส คาดเริ่มก่อสร้างปีหน้า และเดินเครื่องได้ภายใน 5 ปี โดยรัฐบาลกรีนแลนด์ยังคงมองว่ายุโรปเป็นพันธมิตรที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ร่วมกันระยะยาว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top