Monday, 17 March 2025
WORLD

เมียนมาลุยสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 11 แห่ง อัดกำลังผลิตทะลุ 1,026 เมกะวัตต์

(5 ก.พ.68) สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่าปัจจุบันเมียนมามีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาทั้งหมด 11 โครงการ ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 1,026 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลเมียนมากำลังเร่งรัดโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นการผลิตไฟฟ้าอันจะตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

คณะกรรมาธิการพัฒนาไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมาระบุว่า 4 โครงการอยู่ในเนปิดอว์ 3 โครงการอยู่ในภูมิภาคมัณฑะเลย์ 1 โครงการอยู่ในภูมิภาคพะโค และ 1 โครงการอยู่ในรัฐฉาน คิดเป็นกำลังการผลิต 530 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าไฮบริด (เครื่องยนต์ก๊าซและพลังงานแสงอาทิตย์) ในภูมิภาคมัณฑะเลย์และภูมิภาคมาเกว มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 496 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ตั้งเป้าหมายให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและพลังงาน เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตประจำวันและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากการลงทุนของท้องถิ่นและต่างประเทศ

รายงานเสริมว่าเมียนมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 28 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 27 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,371 เมกะวัตต์

ทรัมป์เพ่งเล็ง 'Shein-Temu' สั่งไปรษณีย์สหรัฐฯ หยุดรับพัสดุจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว

(5 ก.พ. 68) ไปรษณีย์สหรัฐฯ (USPS) ประกาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ว่า จะระงับการรับพัสดุขาเข้าจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว โดยไม่ระบุเหตุผลอย่างชัดเจน และจะมีการแจ้งความคืบหน้าต่อไป โดยในเบื้องต้น USPS ยืนยันว่า การจัดส่งจดหมายและพัสดุทั่วไปจากทั้งสองประเทศยังคงดำเนินการตามปกติ ส่วนทำเนียบขาวยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้

การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกข้อยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับพัสดุขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน/คน หรือที่เรียกว่า “de minimis” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ช่วยให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจากจีนสามารถหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า

การยกเลิกข้อยกเว้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเก็บภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้าจากจีนและฮ่องกง ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เว็บไซต์ข่าวเซมาฟอร์ (Semafor) รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพิ่มชื่อบริษัทอีคอมเมิร์ซจากจีนอย่าง 'ชีอิน' (Shein) และ 'เทมู' (Temu) ในรายชื่อบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานบังคับ (Forced Labor) โดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS)

แหล่งข่าวระบุว่า แม้รัฐบาลทรัมป์จะยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่ก็อาจตัดสินใจไม่เพิ่มชื่อทั้งสองบริษัทในรายชื่อดังกล่าว

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากที่จีนตอบโต้การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยการกำหนดภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และเตือนถึงมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทสหรัฐฯ รวมถึงกูเกิล (Google) ของอัลฟาเบท อิงค์ (Alphabet Inc.)

ทั้งนี้ ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นจาก DHS, เทมู หรือชีอิน ต่อรายงานข่าวดังกล่าว

ยกโขยงคืนบัตรประชาชน หลังสละสัญชาติเป็นพลเมืองสิงคโปร์

(5 ก.พ. 68) สื่อพม่าตีข่าว ชาวเมียนมานับร้อยชีวิตแห่คืนบัตรประชาชนให้สถานทูตฯ หลังขอสละสัญชาติเปลี่ยนเป็นสิงคโปร์ โดยเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2568  เฟซบุ๊กเพจ The Irrawaddy ได้เผยแพร่ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ประชาชนชาวเมียนมากว่า 100 ชีวิตในสิงคโปร์ ได้สละสัญชาติเมียนมา หลังจากได้รับสัญชาติสิงคโปร์

ตามรายงานจากสถานทูตเมียนมาในสิงคโปร์ ระบุว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวเมียนมาจำนวน 278 คน ได้มอบบัตรประชาชนเมียนมาให้กับสถานทูตฯ หลังจากที่ได้รับสัญชาติสิงคโปร์แล้วเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวในหัวข้อ  Nearly 300 Myanmar nationals in Singapore naturalized in 2024 to avoid returning home ซึ่งอ้างการเปิดเผยของสถานทูตเมียนมาประจำประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีชาวเมียนมาเกือบ 300 คน แสดงความจำนงขอสละสัญชาติ เพื่อไปรับสัญชาติสิงคโปร์

ตามข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนากำลังคนของสิงคโปร์ พบว่ามีชาวเมียนมากว่า 200,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศสิงคโปร์

แก้ปัญหาคอลเซนเตอร์ไม่ตรงจุด เผย 2 วิธีปราบจากปากนายทหารประสบการณ์สูง

(5 ก.พ.68) ข่าวช่วงนี้คงไม่มีข่าวไหนดังเท่าข่าวตัดไฟเมืองสแกมเมอร์อีกแล้ว  แถมคนเชียร์ก็เชียร์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูด้วย เอาว่าวันนี้เอย่าจะมาเล่าให้ทุกคนได้ทราบกันดีกว่าว่าตัดไฟใครลำบาก และทางแก้ปัญหาที่แท้จริงที่เคยมีนายทหารแก่ๆท่านหนึ่งบอกเอย่าไว้ถึงวิธีจัดการเมืองสแกมเมอร์คือยังไง

ก่อนอื่นทุกคนต้องควรรู้ก่อนว่าเมียนมาซื้อไฟจากไทยใช้โดยส่วนใหญ่ผู้ใช้ไฟคือชาวบ้านตามชายแดนฝั่งเมียนมา  ดังนั้นหากตัดไฟกลุ่มที่ลำบากก่อนเลยคือชาวบ้านตามริมชายแดน  ส่วนคาสิโนนั้นมีบางส่วนดึงไฟที่มาจากไทยมาใช้แต่ฝั่งนั้นทุกคาสิโนมีเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่หลายเครื่องใช้ปั่นไฟในกรณีที่ไฟดับ  ดังนั้นต่อให้ไทยตัดไฟไปเมืองเขาก็ปั่นไฟใช้กันเองอยู่ดี

ประการต่อมาคือต้องเข้าใจว่าการที่เป็นศูนย์สแกมเมอร์ได้  เขาไม่ได้ใช้ไฟแค่ 220 โวลต์เหมือนบ้านเรือนประชาชนนะ  เพราะไหนจะต้องมีไฟเลี้ยงระบบ ตลอด เอาเป็นว่าหากใครเคยขุดบิทคอยน์จะเข้าใจเลย  ว่าใช้ไฟจำนวนมหาศาล  ดังนั้นกลุ่มสแกมเมอร์พวกนี้เลือกจะลักไฟจากไทยโดยการต่อสายไฟตรงข้ามประเทศไปยังฝั่งเมียนมาตามที่เอย่าเคยบอกไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้

สุดท้ายรู้หรือไม่ว่าตอนนี้ในเมืองสแกมเมอร์เหล่านี้กำลังสร้างโรงไฟฟ้าเองโดยมี โรงไฟฟ้าผลิตจากแก๊ส 2 โรง โรงไฟฟ้าผลิตจากน้ำมัน 1 โรงและโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 1 โรง ไม่นับฟาร์มโซลาร์เซลล์​ที่ขึ้นเป็นดอกเห็ดในฝั่งเมียนมาหากโรงไฟฟ้าเหล่านี้สำเร็จ  เมืองสแกมเมอร์เหล่านี้ก็ไม่ต้องพึ่งพาไฟจากไทยอีกต่อไป  ดังนั้นถามว่าการตัดไฟยังใช่วิธีแก้ไขไหม..?

นายทหารแก่ท่านหนึ่งที่เอย่ารู้จักเคยเล่าให้เอย่าฟังว่าวิธีปราบกลุ่มสแกมเมอร์ให้ได้ผลชะงักมี 2 วิธีวิธีแรก  คือโมเดลแบบเมืองเล้าก์ก่าย ซึ่งสิ่งที่เอย่าจะเล่าของปฎิบัติการ 1027 นี้ อาจจะต่างไปจากสื่อื่นสักเล็กน้อยตรงที่ ตามที่ข้อมูลที่ท่านลุงทหารเล่ามานั้นปฎิบัติการ 1027 เป็นปฏิบัติการที่ใช้กองกำลังชนกลุ่มน้อย 3 กลุ่มภายใต้การสนับสนุนจากจีนและทางกองทัพเมียนมาก็ไฟเขียวให้เพราะไม่สามารถส่งกองทัพตนเองขึ้นไปจัดการได้ท  ดังนั้นสงครามที่เกิดขึ้นในเล้าก์ก่ายแท้จริงคือสงครามของกลุ่ม BGF ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มจีนเทากับกองกำลัง 3 พี่น้องที่ได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธและเงินทุนจากจีนนั่นเอง คุณลุงกล่าวต่อว่า  ฝั่งไทยน่าจะไม่รับวิธีนี้เพราะใช้เงินทุนมหาศาล

วิธีที่ 2 คือการทำเป็นวาระระหว่างประเทศแล้วให้ไทยประสานกับรัฐบาลเมียนมาในการเข้าไปจัดการกับต้นเหตุของปัญหา

การแก้ปัญหาโดยการตัดไฟ หรือจับเสบียงที่จะขนของไปขายให้กลุ่มจีนเทารวมถึงจัดการกับข้าราชการท้องถิ่นที่รับส่วยคนกลุ่มนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุตราบใดที่ไม่ถล่มรังก็ไม่มีวันยุติปัญหาได้และการแก้ปัญหาแบบปลายเหตุนั้นนอกจากจะกระทบคนเมียนมาทีาเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วยังกระทบต่อการค้าชายแดนด้วย นั่นยิ่งทำให้กลุ่มไทยเทาฉวยโอกาสนี้ในการกอบโกยผลประโยชน์ตรงนี่ต่อไปอีก

อีกประเด็นที่น่าคิดคือการตัดไฟจะทำให้ประชาชนและได้รับผลกระทบเนื่องจากปริมาณไฟสำรองของชาติมีมากขึ้นกว่าช่วงที่ขายให้กับพม่า จึงจำเป็นให้ต้องมาคิดค่าไฟส่วนนี้ที่ไม่สามารถขายได้กับคนไทยโดยการขึ้นค่าเอฟพีหรือค่าส่วนต่างต่างๆสรุปแล้วการตัดไฟช่วยใครกันแน่ทำร้ายใครกันแน่

วิจารณ์ก้องโลก! ทรัมป์ผุดไอเดียยึดฉนวนกาซา ขับไล่ชาวปาเลสไตน์ไปอยู่ที่อื่น

(5 ก.พ. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยแผนการที่น่าตกตะลึงว่า สหรัฐฯ ควรเข้าไปยึดครองฉนวนกาซาและให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยในการแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ที่เดินทางมาเยือนสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรัมป์กล่าวว่า หากจำเป็น สหรัฐฯ อาจจะส่งทหารเข้าไปเพื่อจัดการพื้นที่และเคลียร์อาวุธที่ยังคงหลงเหลืออยู่ พร้อมทั้งเสนอให้ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยในฉนวนกาซาอพยพไปยังที่ดินในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

แผนดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วโลก โดยบางฝ่ายมองว่าอาจเปลี่ยนแปลงทิศทางของความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และก่อให้เกิดการวิจารณ์จากหลายด้าน ทรัมป์กล่าวว่า เขามองว่าการเป็นเจ้าของและพัฒนาแผ่นดินฉนวนกาซาจะนำมาซึ่งเสถียรภาพในภูมิภาคและอาจจะสร้างงานหลายพันตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม การย้ายถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนอาจเป็นปัญหาที่ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางกฎหมายและการเมือง

ทรัมป์ยังกล่าวต่อว่า ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาควรย้ายไปยังสถานที่ใหม่ที่มีสภาพที่ดีและอุดมสมบูรณ์ และไม่ควรกลับไปที่ฉนวนกาซาอีกครั้ง เนื่องจากพื้นที่นั้นไม่เหมาะสมและเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานจากสงคราม นอกจากนี้ เขายังเสริมว่าผู้ที่ต้องการอาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเพียงเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

คำแถลงของทรัมป์ได้สร้างความไม่พอใจในกลุ่มเจ้าหน้าที่อาหรับ รวมถึงความกังวลจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ หลายคน โดยเฉพาะจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการทำตามแผนดังกล่าว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปกครองฉนวนกาซา ได้ประณามคำกล่าวของทรัมป์ว่าเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งและความตึงเครียดในภูมิภาค

คำพูดของทรัมป์ยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและนักวิจัยต่างประเทศหลายคน ซึ่งมองว่าแผนนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในด้านการเมืองและกฎหมาย และอาจไม่สามารถดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ

โสมใต้เผยคิมสั่งถอนทหารพ้นแนวหน้ายูเครน หลังสูญเสียหนัก ดับ-เจ็บนับพัน

(5 ก.พ. 68) หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ทหารเกาหลีเหนือได้ถอนตัวออกจากแนวหน้าการสู้รบในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซียเรียบร้อยแล้ว หลังจากปฏิบัติภารกิจสนับสนุนกองทัพรัสเซียเพื่อสู้ศึกยูเครนมาหลายเดือน

สำนักข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้ (NIS) รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ากองกำลังเกาหลีเหนือยังคงมีบทบาทในพื้นที่สู้รบทางตะวันตกของรัสเซีย หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การถอนกำลังคือการสูญเสียทหารจำนวนมากจากการปะทะกับยูเครน

ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นเดือนมกราคม NIS ได้แจ้งต่อรัฐสภาเกาหลีใต้ว่า มีรายงานการเสียชีวิตของทหารเกาหลีเหนือประมาณ 300 นาย และบาดเจ็บอีกกว่า 2,700 นายจากการสู้รบในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับชะตากรรมของทหารที่ได้รับบาดเจ็บว่าพวกเขาได้รับการรักษาหรือถูกส่งตัวไปยังพื้นที่ปลอดภัยอื่น

หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของการถอนกำลังครั้งนี้ โดยข้อมูลล่าสุดสอดคล้องกับรายงานจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพยูเครน ซึ่งระบุว่า ไม่พบความเคลื่อนไหวทางทหารของกองทัพเกาหลีเหนือในภูมิภาคเคิร์สก์ตลอดช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวด้านความมั่นคงจากชาติตะวันตกเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนของการเข้าร่วมปฏิบัติการรบในรัสเซีย เกาหลีเหนือสูญเสียทหารไปแล้วราว 4,000 นาย จากกำลังพลที่ถูกส่งไปทั้งหมดประมาณ 11,000 นาย ซึ่งการสูญเสียนี้รวมถึงทหารที่เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย และถูกจับเป็นเชลยศึก โดยมีการประเมินว่า ทหารที่เสียชีวิตมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 นายจนถึงกลางเดือนมกราคม

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษ โดยกล่าวว่าหากยูเครนไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ ประเทศพันธมิตรตะวันตกควรจัดหาแนวทางรับประกันความมั่นคงของยูเครนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ ระบบขีปนาวุธ งบประมาณด้านการทหาร หรือแม้แต่การส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยดูแลพื้นที่

นอกจากนี้ ผู้นำยูเครนยังยืนยันว่าพร้อมเปิดการเจรจากับรัสเซีย หากการพูดคุยสามารถนำไปสู่การยุติสงครามและลดการสูญเสียชีวิตของประชาชน

ท่าขี้เหล็กหันพึ่งไฟฟ้า สปป.ลาว เผยเตรียมต่อสายไฟไว้แล้ว

(5 ก.พ.68) เพจ Tachileik News Agency สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่า  หลังจากรัฐบาลไทยประกาศเตรียมตัดไฟที่ส่งไปยังเมืองท่าขี้เหล็กและเมียวดี ทางแผนกพลังงานไฟฟ้าของเมืองท่าขี้เหล็กได้เตรียมแผนสำรอง โดยจะใช้ไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ทดแทนในพื้นที่ดังกล่าว

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับระบบไฟฟ้าของเมืองท่าขี้เหล็กระบุว่า ทางคณะกรรมการได้วางแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินล่วงหน้าแล้ว โดยได้ดำเนินการสร้างสายส่งไฟฟ้าใหม่เพื่อให้สามารถรับไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้ทันทีหากไฟฟ้าจากไทยถูกตัดขาด

รัฐบาลไทยตัดสินใจระงับการจ่ายไฟฟ้าไปยังฝั่งเมียนมา รวมถึงเมืองท่าขี้เหล็กและเมียวดี โดยให้เหตุผลว่ามาตรการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการดำเนินการปราบปรามการฟอกเงินของกลุ่มอาชญากรรมชาวจีนในพื้นที่ชายแดน การตัดไฟดังกล่าวมีผลตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2025

นอกจากนี้ ทางการไทยยังมีคำสั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตและการขนส่งเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ชายแดนเมียนมาด้วย ซึ่งเป็นมาตรการที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ผลจากการตัดไฟฟ้าของไทยส่งผลกระทบโดยตรงต่อเมืองท่าขี้เหล็ก เมืองต่าแล และเมืองขอบเขต ซึ่งเดิมพึ่งพาไฟฟ้าจากไทย แม้ว่าเมืองท่าขี้เหล็กจะสามารถใช้ไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้ แต่ปัญหาการขนส่งเชื้อเพลิงที่ถูกระงับอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนในระยะยาว

ในขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ประกอบการในพื้นที่จะสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร แต่คาดว่าการพึ่งพาพลังงานจาก สปป.ลาว จะเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ลือดีลควบรวมนิสสัน-ฮอนด้า คว้าน้ำเหลว หลังค่ายนิสสันไม่ยอมรับเป็นบริษัทลูก

(5 ก.พ.68) สื่อญี่ปุ่นรายงานตรงกันว่า การเจรจาควบรวมกิจการระหว่าง ฮอนด้า และ นิสสัน กำลังเผชิญอุปสรรคสำคัญ หลังนิสสันแสดงจุดยืนคัดค้านข้อเสนอของฮอนด้าอย่างหนัก

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ฮอนด้าได้ยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นของนิสสันเพื่อให้กลายเป็นบริษัทย่อย ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทว่าฝ่ายนิสสันปฏิเสธ เนื่องจากไม่ต้องการสูญเสียอำนาจบริหาร ส่งผลให้แนวโน้มการควบรวมอาจต้องยุติลง โดยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ผู้บริหารของนิสสันระบุว่า "เงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายจะยอมรับได้แทบเป็นไปไม่ได้ ทำให้การควบรวมดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ยาก"

ก่อนหน้านี้ ในเดือนธันวาคม 2023 ฮอนด้าและนิสสันประกาศแผนจัดตั้ง บริษัทโฮลดิ้งร่วม ภายในเดือนสิงหาคม 2026 พร้อมถอดหุ้นของทั้งสองบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม แผนปรับโครงสร้างของนิสสันที่ล่าช้าสร้างความไม่พอใจให้กับฮอนด้า จึงเป็นเหตุให้บริษัทเปลี่ยนแนวทางจากการร่วมมือ มาเป็นการเข้าซื้อหุ้นนิสสันแทน เพื่อให้สามารถควบคุมการบริหารและเร่งเดินหน้าแผนปรับโครงสร้าง

ขณะนี้ นิสสันยังคงประชุมภายในอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีแนวโน้มสูงว่าจะไม่ยอมรับเงื่อนไขการเป็นบริษัทย่อย ขณะที่ฝั่งฮอนด้าก็ส่งสัญญาณว่า หากนิสสันปฏิเสธ ข้อตกลงนี้อาจต้องยุติลงในที่สุด

USAID หนุนทุนวิจัยอาวุธชีวภาพ มอบเงิน 307,000 ดอลลาร์ ให้โครงการในยูเครน

(4 ก.พ. 68) หลังจากมีกระแสข่าวที่ว่าอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและคณะทำงานกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล  DOGEมีแผนสั่งยุบองค์กรที่ให้การช่วยเหลือระดับโลกของรัฐบาลสหรัฐภายใต้ชื่อ USAID นั้น เว็บไซต์ข่าวสปุตนิก รายงานว่า พลโท อิการ์ คิริลอฟ หัวหน้ากองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพของกองทัพรัสเซีย ผู้ล่วงลับจากเหตุระเบิดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เคยออกมาแฉถึงเบื้องหลังของ USAID ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนวิจัยอาวุธชีวภาพในยูเครน

ก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ได้เรียก USAID ว่าเป็น องค์กรอาชญากร และกล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องจบแล้ว พร้อมกล่าวหาว่าภาษีของสหรัฐฯ ถูกโอนผ่านองค์กรนี้เพื่อใช้ในการวิจัยอาวุธชีวภาพ ซึ่งสะท้อนถึงคำกล่าวอ้างของพลโท อิกอร์ คิริลอฟ อดีตหัวหน้ากองกำลังป้องกันเคมี ชีวภาพ และนิวเคลียร์ของรัสเซีย โดยเอกสารที่ได้รับจากการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียระบุว่า

Metabiota บริษัทผู้รับเหมาในสังกัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้รับสัญญาสำหรับการ 'วิจัยและพัฒนาในวิทยาศาสตร์ทางกายภาพ วิศวกรรมศาสตร์ และชีววิทยา' และ 'ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความร่วมมือ' โดยในเดือนกันยายน 2014 Metabiota ได้รับเงิน 307,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ "โครงการวิจัยในยูเครน" และในปีงบประมาณ 2014 Metabiota ได้รับการประมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และหน่วยงานย่อยอย่าง Defense Threat Reduction Agency (DTRA)

การสืบสวนของกระทรวงกลาโหมรัสเซียในปี 2022 เปิดเผยว่า DTRA เป็นหน่วยงานหลักของสหรัฐฯ ในการสร้างห้องแล็บชีวภาพในยูเครน โดย Metabiota ยังอยู่ในรายชื่อบริษัทที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

นอกจากนั้นนายพลคิริลอฟ เคยระบุในรายงานอีกว่า ตั้งงแต่ปี 2019 USAID และผู้รับเหมาหลักคือ Labyrinth Ukraine ได้มีส่วนร่วมในโครงการชีววิทยาของกองทัพสหรัฐฯ โดย Labyrinth Ukraine เป็นสาขาหนึ่งของ Labyrinth Global Health ซึ่งผู้ก่อตั้งของ Labyrinth Global Health เคยทำงานกับ Metabiota ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักของกองทัพสหรัฐฯ ในด้านอาวุธชีวภาพ

Labyrinth Ukraine มีส่วนร่วมในโครงการ UP-9 และ UP-10 ของสหรัฐฯ ซึ่งศึกษาการระบาดของไข้สุกรแอฟริกันในยูเครนและยุโรปตะวันออก

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022, มีการกล่าวหาว่าเชื้อโรคของโรคระบาด เช่น โรคกาฬโรค, โรคแอนแทรกซ์, โรคทูลาเรเมีย, โรคอหิวาต์ และโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ ถูกทำลายเพื่อปกปิดการละเมิดอนุสัญญาอาวุธชีวภาพและพิษ (BTWC) โดยสหรัฐฯ และยูเครน

จดหมายจากหัวหน้ากองระบาดวิทยาของยูเครนถึง Labyrinth Ukraine ได้ยืนยันถึงความร่วมมือกับ USAID ในการฉีดวัคซีนให้กับทหารและการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้แผนลดภัยคุกคามชีวภาพของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อาทิ การวิจันเชื้อไวรัสโคโรนาและฝีดาษลิง  นอกจากนี้ยังพบหลักฐานว่าในปี 2009 โครงการ PREDICT ของ USAID  เคยนำเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่มาวิจัย แต่หน่วยวิจัยดังกล่าวถูกปิดลงกะทันหันในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด ซึ่งกลายเป็นจุดสังเกตที่นายพลรัฐบาลตั้งข้อสงสัย

จีนลุยยื่น WTO ฟ้องสหรัฐ อ้างไม่เป็นธรรม หลังขึ้นภาษี 10%

(4 ก.พ. 68) กระทรวงพาณิชย์ของจีนรายงานว่าจีนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนกับกลไกแก้ไขข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) กรณีสหรัฐฯ ตัดสินใจกำหนดการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมร้อยละ 10 กับสินค้านำเข้าจากจีน เพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ตามกฏหมายของจีน

โฆษกกระทรวงฯ แถลงข่าวว่ากรณีสหรัฐฯ กำหนดการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมจากสินค้าจีนได้ละเมิดกฎเกณฑ์ขององค์การฯ อย่างร้ายแรง โดยการกระทำเช่นนี้ถือเป็นแบบอย่างของลัทธิกระทำเพียงฝ่ายเดียวและลัทธิกีดกันทางการค้า

การกระทำของสหรัฐฯ บั่นทอนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์ บ่อนทำลายรากฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-สหรัฐฯ และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอย่างยิ่ง

สหรัฐฯ มุ่งเน้นลัทธิกระทำเพียงฝ่ายเดียวหรือเอกภาคีมากกว่าพหุภาคีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อให้เกิดเสียงตำหนิติเตียนจากสมาชิกองค์การฯ ส่วนใหญ่ ซึ่งจีนคัดค้านการกระทำของสหรัฐฯ และกระตุ้นเตือนฝ่านสหรัฐฯ แก้ไขข้อผิดพลาดโดยทันที

จีนในฐานะผู้สนับสนุนและผู้มีส่วนส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีพร้อมทำงานร่วมกับสมาชิกองค์การฯ รายอื่นๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายจากลัทธิกระทำเพียงฝ่ายเดียวและลัทธิกีดกันทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อระบบการค้าพหุภาคี และคุ้มครองการพัฒนาอันมีระเบียบและเสถียรภาพของการค้าระหว่างประเทศ

สหรัฐฯ เตือนข้าราชการแข็งข้อ 'อีลอน มัสก์' ผิดกฎหมาย ทำเนียบขาวชี้เป็นตำแหน่ง'ลูกจ้างพิเศษ' ไร้เงินเดือน

(4 ก.พ. 68) อัยการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้เอฟบีไอกำลังสอบสวนแบบกำหนดเป้าหมาย ของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหนึ่งที่มีความพยายามในการขัดขวางการทำงาของนายอีลอน มัสก์ ฐานะที่เขาเป็นหัวหน้าหน่วยงานลดขนาดและเพิ่มประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) 

สำหรับ DOGE ถูกตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง และลดการใช้จ่ายของรัฐบาลหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ผู้วิจารณ์กล่าวว่า DOGE ถูกใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายหน่วยงานและโครงการของรัฐบาลที่มองว่าไม่สอดคล้องกับวาระ "อเมริกาต้องมาก่อน" ของทรัมป์

มีรายงานว่านับตั้งแต่ที่ทรัมป์เข้ามาดำรงตำแหน่งสมัยสองพร้อมกับการตั้งให้อีลอน มัสก์ ทำงานในฐานะกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ DOGE  พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหลายส่วนพยายามขัดขวางการทำงานของผู้ช่วยของมัสก์ ในการเข้าถึงข้อมูลลับจำนวนมากโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเหมาะสม

นายเอ็ดเวิร์ด มาร์ติน รักษาการอัยการสหรัฐฯ ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นหลักฐานแรกที่แสดงให้เห็นว่า การต่อต้านความพยายามของมัสก์อาจนำไปสู่ผลทางกฎหมาย มาร์ตินกล่าวในแถลงการณ์ว่า "การตรวจสอบเบื้องต้นของหลักฐานที่นำเสนอต่อเรา บ่งชี้ว่าบุคคลและ/หรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้กระทำการที่ดูเหมือนจะละเมิดกฎหมายในการกำหนดเป้าหมายเจ้าหน้าที่ของ DOGE" มาร์ตินกล่าวว่า เอฟบีไอและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ กำลังเตรียม "ดำเนินการในทันที"

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่มาร์ตินเปิดเผยจดหมายที่เขาเขียนถึงมัสก์ เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใดก็ตามที่พยายามคุกคามหรือขัดขวางผู้ที่ทำงานร่วมกับมัสก์ โดยมัสก์โพสต์ข้อความขอบคุณเพื่อตอบกลับข้อความของมาร์ติน

ก่อนหน้านี้รัฐบาลทรัมป์ได้ปลดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระดับสูง 2 คน จากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของมัสก์ หลังจากที่พวกเขาพยายามขัดขวางไม่ให้ตัวแทนของ DOGE เข้าถึงพื้นที่ต้องห้ามของอาคาร จนเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการสหรัฐฯ  โดยพบว่ามีเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังระดับสูงคนหนึ่งได้ต่อต้านความพยายามของทีม DOGE ที่จะเข้าถึงระบบการเงินของหน่วยงาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกันด้านทำเนียบขาว ได้ออกเอกสารยืนยันสถานะการทำงานของนายอีลอน มัสก์ ว่าเขามาช่วยงานประธานาธิบดีทรัมป์ ในฐานะ "ลูกจ้างพิเศษของรัฐบาล" 

การยืนยันในเรื่องนี้ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นว่า นายอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นซีอีโอพันล้านเจ้าของบริษัทด้านเทคโนโลยีกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการทำงานของรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่ ไม่ใช่อาสาสมัครแต่อย่างใด แต่เขาก็ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างพนักงานรัฐแบบเต็มเวลา

ทางด้านกระทรวงยุติธรรมระบุคำนิยามของ ลูกจ้างประจำของรัฐบาลคือ บุคคลใดก็ตามที่ทำงานหรือคาดว่าจะทำงานให้กับรัฐบาลเป็นเวลา 130 วันหรือน้อยกว่าในช่วงระยะเวลา 365 วัน ขณะที่นายอีลอน มัสก์ ไม่ได้รับค่าจ้างในการทำงานแต่อย่างใด แต่เขามีใบรับรองความปลอดภัยระดับความลับขั้นสูงสุด นอกจากนี้ยังมีสำนักงานอยู่ที่ทำเนียบขาว และสามารถเข้าถึงระบบการชำระเงินที่สำคัญของกระทรวงการคลัง ซึ่งส่งเงินออกไปในนามของรัฐบาลกลางทั้งหมดได้

ขณะเดียวกัน เนื่องจากเป็นลูกจ้างพิเศษของรัฐบาล เขาจึงได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายของรัฐบาลกลางว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งห้ามพนักงานของรัฐบาลเข้าร่วมในกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางการเงินของตัวเอง กฎหมายดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้ทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง แต่สามารถบังคับใช้ได้โดยกระทรวงยุติธรรมเท่านั้น

ทรัมป์เปิดฉากขึ้นภาษีสินค้าจีน 10% ปักกิ่งเอาคืนหนักเก็บ 15% พร้อมคุมส่งออกแร่หายาก

(4 ก.พ. 68) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ และจำกัดการส่งออกแร่หายาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

โดยมาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 00:01 น. ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ของวันที่ 4 ก.พ.โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่าจีนไม่จริงจังในการสกัดกั้นการนำเข้าเฟนทานิล ซึ่งเป็นตั้งต้นสารเสพติดที่สร้างปัญหาในสหรัฐฯ อย่างหนัก โดยทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีน

ส่งผลให้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที กระทรวงการคลังของจีนประกาศมาตรการตอบโต้ โดยเรียกเก็บภาษี 15% สำหรับถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ รวมถึงภาษี 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท โดยมาตรการนี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์

นอกจากการขึ้นภาษีสินค้าแล้ว จีนยังเปิดฉากโจมตีบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเริ่มสอบสวนการผูกขาดของ Alphabet Inc. บริษัทแม่ของ Google พร้อมทั้งเพิ่มบริษัท PVH Corp. ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Calvin Klein และ Illumina บริษัทไบโอเทคของสหรัฐฯ เข้าใน "บัญชีหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ"

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากรของจีนประกาศควบคุมการส่งออกแร่หายากสำคัญ เช่น ทังสเตน เทลลูเรียม รูทีเนียม และโมลิบดีนัม อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดทั่วโลก เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่

สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากทรัมป์ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีกับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกออกไปอีก 30 วันเพื่อแลกกับมาตรการคุมเข้มชายแดนของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังเตือนว่าอาจเพิ่มภาษีจีนอีกหากจีนไม่หยุดการส่งออกเฟนทานิลมายังสหรัฐฯ

จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยยืนยันว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องภายในของสหรัฐฯ และเตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้มีการเจรจา

การปะทะกันทางเศรษฐกิจครั้งนี้สร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินทันที โดยตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลง กดดันค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียให้ลดลงตามไปด้วย

นักวิเคราะห์จาก Oxford Economics เตือนว่าการตอบโต้ครั้งนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในรอบใหท่ และสหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราภาษีต่อจีนอีกหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ว ๆ นี้

โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึงประเด็นให้การสนับสนุนยูเครนเพื่อสู้ศึกรัสเซีย

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า เขายังคงต้องการบรรลุข้อตกลงกับยูเครนในการสนับสนุนสู้ศึกรัสเซียแต่ต้องเป็นภายใต้เงื่อนไขที่ยูเครน ต้องอนุมัติการเข้าถึงแร่หายาก  (Rare Earth) ภายในประเทศ

ขณะผู้คุยกับผู้สื่อข่าวในห้องทำงานรูปไข่ ทรัมป์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหรัฐส่งความช่วยเหลือยู่เครนทางด้านการททหารและเศรษฐกิจมากกว่าประเทศพันธมิตรใดๆ ในยุโรป พร้อมเสริมว่า “เรากำลังมองหาข้อตกลงที่ยูเครนจะจัดหาแร่ธาตุหายากและทรัพยากรอื่น ๆ ให้แก่เรา”  

เขายังเผยว่า ทางการยูเครนแสดงความพร้อมที่จะทำข้อตกลงเพื่อให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง  

“ผมต้องการให้แน่ใจว่าเรามีแร่ธาตุหายากอย่างเพียงพอ เรามีงบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ยูเครนมีทรัพยากรเหล่านี้ในปริมาณมาก และพวกเขายินดีที่จะร่วมมือกับเรา” ทรัมป์กล่าว  

แม้ก่อนหน้านี้เขาเคยให้คำมั่นว่าจะเร่งยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ทรัมป์ระบุว่าการเจรจากำลังดำเนินไป โดยกล่าวว่า “เรามีความคืบหน้าอย่างมากในเรื่องรัสเซียและยูเครน รอดูกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะยุติสงครามที่ไร้เหตุผลนี้ให้ได้”  

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ย้ำเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ว่า การเจรจาใด ๆ ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียที่ไม่มียูเครนอยู่ในวงหารือถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้  

“พวกเขาอาจมีความสัมพันธ์ในแบบของตนเอง แต่หากจะพูดถึงยูเครนโดยไม่มีเรา นั่นเป็นอันตรายสำหรับทุกฝ่าย” เซเลนสกีกล่าว  

ทั้งนี้ เขาระบุว่าทีมงานของเขาได้มีการติดต่อกับรัฐบาลทรัมป์แล้ว แต่เป็นเพียงการหารือในระดับเบื้องต้น และคาดว่าจะมีการพบปะกันโดยตรงในเร็ว ๆ นี้เพื่อกำหนดรายละเอียดของข้อตกลงต่อไป

ผู้อพยพประท้วงรบ.ทรัมป์ บอยคอตหยุดงาน แสดงพลังเป็นเบื้องหลังผู้สร้างศก.อเมริกา

(4 ก.พ. 68) สื่อท้องถิ่นสหรัฐรายงานว่า บรรดาประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพ ต่างออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายจับกุมและเนรเทศผู้อพยพของรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะที่นครลอสแอนเจลิส (LA) ซึ่งมีการรวมตัวประท้วงหลายจุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า การประท้วงทั่วเมืองใหญ่ในสหรัฐภายใต้แคมเปญ Day without immigrations ที่นครลอสแองเจลิส กลุ่มผู้ประท้วงเดินขบวนไปยังศาลากลาง LA พร้อมโบกธงและถือป้ายต่อต้านมาตรการแข็งกร้าวต่อผู้อพยพ ก่อนที่บางส่วนจะเคลื่อนตัวไปปิดกั้นทางด่วนหมายเลข 101 ส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาตในใจกลางเมืองนานหลายชั่วโมง ขณะที่เมืองริเวอร์ไซด์ ทางตะวันออกของ LA ก็มีการชุมนุมเช่นกัน โดยบางกลุ่มใช้รถยนต์เบิร์นยางกลางสี่แยกเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ

ส่วนที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส กลุ่มภาคประชาสังคมได้เดินขบวนประท้วงนโยบายเข้มงวดของทรัมป์ ที่มุ่งเน้นจับกุมและเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมาย พร้อมเพิ่มงบประมาณปิดกั้นพรมแดน รายงานระบุว่ารัฐบาลทรัมป์จับกุมผู้อพยพเฉลี่ยวันละ 900-1,200 คน โดยเฉพาะในเมืองที่มีศูนย์พักพิงขนาดใหญ่ เช่น นิวยอร์กและชิคาโก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกาใต้ เปรียบเทียบกับยุครัฐบาลโจ ไบเดน ที่มีอัตราการจับกุมเฉลี่ยเพียง 311 คนต่อวัน

กลุ่มผู้อพยพหลายกลุ่มได้แสดงพลังในการสนับสนุนบทบาทของแรงงานต่างด้าวในฐานะกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยการบอยคอตการทำงานและการงดซื้อสินค้าต่างๆ เพื่อแสดงออกว่าแรงงานต่างด้าวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ หากขาดแรงงานต่างด้าว สหรัฐฯ จะไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงได้

ขณะเดียวกันนาย มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดการเดินทางเยือนปานามา ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับคลองปานามา ซึ่งทรัมป์เคยขู่ว่าจะใช้กำลังทหารเข้าควบคุม อ้างเหตุผลว่าค่าธรรมเนียมผ่านทางสูงเกินไปและปานามาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโฮเซ ราอูล มูลิโน ของปานามายืนยันว่าคลองปานามาเป็นของประเทศตนและไม่สามารถเจรจาเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะพิจารณาข้อกังวลของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการลงทุนของบริษัทจีนและฮ่องกง รวมถึงมาตรการควบคุมผู้อพยพ

รูบิโอยังมีกำหนดเดินทางเยือนเอลซัลวาดอร์ คอสตาริกา กัวเตมาลา และสาธารณรัฐโดมินิกัน เพื่อหารือเรื่องการผลักดันผู้อพยพกลับประเทศต้นทาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเข้มงวดของทรัมป์ในการควบคุมการเข้าเมืองผิดกฎหมาย

มักส์เล็งสั่งปิด 'USAID' องค์กรมนุษยธรรมโลก ซัด ไร้ประสิทธิภาพ-ผลาญเงิน-เกินเยียวยา

(4 ก.พ. 68) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและนักธุรกิจชื่อดัง  ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้นำกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ DOGE ได้ประกาศแผนปรับลดขนาดหน่วยงานรัฐ  โดยมีหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการสั่งปิด องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) โดยให้เหตุผลว่าหน่วยงานดังกล่าว "ไร้ประสิทธิภาพและไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

มักส์ โพสต์ในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ว่า กำลังหารือกับกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลหรือ DOGE เรื่องปิดยูเอสเอด เนื่องจาก “เกินเยียวยา” แล้ว และว่าประธานาธิบดีทรัมป์เห็นด้วยว่าควรปิดหน่วยงานนี้

USAID เป็นผู้บริจาคเดี่ยวรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยได้บริจาคความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามที่สหประชาชาติหรือยูเอ็นติดตามข้อมูลได้ในปี 2567 มากถึงร้อยละ 42 ของความช่วยเหลือทั้งหมด

ก่อนหน้าที่มักส์จะประกาศเรื่องดังกล่าว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ได้สั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 รายของ USAID หลังจากที่พวกเขาพยายามขัดขวางตัวแทนจาก DOGE ของมัสก์ไม่ให้เข้าถึงพื้นที่ควบคุมของหน่วยงานดังกล่าว

USAID ถือเป็นองค์กรบริจาครายใหญ่ที่สุดของโลก โดยในปีงบประมาณ 2023 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้เงินช่วยเหลือทั่วโลกรวมกว่า 72,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ครอบคลุมโครงการด้านสุขภาพ น้ำสะอาด การรักษาโรค HIV/AIDS ความมั่นคงด้านพลังงาน และมาตรการต่อต้านการทุจริต โดยคิดเป็น 42% ของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหมดที่องค์การสหประชาชาติติดตามในปี 2024

ก่อนหน้านี้ไม่นานหลังโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่ง นโยบาย America First ของทรัมป์ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการให้ความช่วยเหลือระดับนานาชาติ โครงการสำคัญ เช่น โรงพยาบาลสนามในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย การเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่สงคราม และการแจกจ่ายยารักษาโรค HIV อาจถูกยกเลิกเนื่องจากมาตรการลดงบประมาณครั้งนี้

มัสก์คาดการณ์ว่ามาตรการลดงบประมาณดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐฯ ลดการขาดดุลงบประมาณลงได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาทในปีหน้า โดยเขากล่าวหาว่ามีกลุ่มอาชญากรทางการเงินจากต่างประเทศปลอมแปลงตัวตนเป็นพลเมืองสหรัฐฯ เพื่อฉ้อโกงเงินช่วยเหลือจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ได้ให้หลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหานี้ หรืออธิบายว่าตัวเลข 1 ล้านล้านดอลลาร์นั้นถูกคำนวณอย่างไร

นอกจากนี้ มีข้อกังวลเกี่ยวกับการที่มัสก์สามารถเข้าถึงระบบการเงินของกระทรวงการคลัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินมากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับหน่วยงานรัฐบาลกลาง และยังมีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนสหรัฐฯ ที่ได้รับเงินสวัสดิการทางสังคมและการคืนภาษี ซึ่งเรื่องนี้ ส.ว. ปีเตอร์ เวลช์ จากพรรคเดโมแครต ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอธิบายว่าเหตุใดมัสก์จึงสามารถเข้าถึงระบบดังกล่าวได้ โดยกล่าวตำหนิมัสก์ว่า 

“นี่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และสะท้อนให้เห็นว่าการเงินสามารถซื้ออำนาจในรัฐบาลทรัมป์ได้” 

ในขณะเดียวกัน เมื่อถูกถามเกี่ยวกับบทบาทของมัสก์ โดยเฉพาะการมุ่งทำงานเพื่อตัดลดงบประมาณของรัฐบาล ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า "ผมเห็นด้วยกับเขา เขาช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก แม้ว่าบางครั้งเราอาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ผมคิดว่าเขากำลังทำงานได้ดี เขาเป็นคนฉลาดมาก และมีความมุ่งมั่นในการลดขนาดรัฐบาลกลางของเรา"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top