Wednesday, 22 January 2025
WORLD

รมว.ต่างประเทศมาเลย์ยัน ทักษิณ เหมาะสมนั่งที่ปรึกษาประธานอาเซียน เชื่อทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์สองมหาอำนาจได้

นายโมฮัมหมัด ฮะซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวในการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเตรียมดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของมาเลเซียในปี 2025 โดยในตอนหนึ่งของการแถลง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม จะแต่งตั้งให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานอาเซียนในปีหน้า

โดยนายฮะซัน กล่าวถึงเหตุผลที่นายกฯมาเลย์เลือกนายทักษิณว่า “อดีตนายกฯทักษิณ เป็นผู้ทรงอิทธิพลในไทย ได้รับการยอมรับจากสหรัฐ และมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน นั่นทำให้เขาเหมาะสมในการทำหน้าที่สะพานเชื่อมอาเซียน ระหว่างสองมหาอำนาจ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น"

อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยให้เป็น 'ที่ปรึกษาส่วนตัว' ของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ในช่วงที่มาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2025 นั่นได้สร้างข้อวิจารณ์มากมายจากทั้งฝ่ายค้านของมาเลเซีย ตลอดจนบรรดานักวิชาการของมาเลเซีย

โดยนายอาห์หมัด ฟัดห์ลี ชารี หัวหน้าฝ่ายข้อมูลของพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่าเป็นการกระทำที่ 'ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน' และตั้งคำถามว่า การแต่งตั้งครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียนหรือเป็นการเสริมภาพลักษณ์ของนายอันวาร์ในระดับสากลกันแน่

เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ก็แสดงความสงสัยเกี่ยวกับการเลือกทักษิณ โดยกล่าวว่า “ผมไม่รู้ทำไมเขาถึงเลือกทักษิณ เรามีคนให้เลือกมากมาย และทักษิณมีปัญหาทางกฎหมายของตัวเอง แต่ก็เป็นสิทธิ์ของนายอันวาร์ในการเลือก”

ขณะที่นักวิชาการบางรายกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้อาจเป็นข้อเสีย หากถูกมองว่าเป็นการขาดความมั่นใจในรัฐบาลของตัวเองในการบริหารจุดยืนของอาเซียนระหว่างสองขั้วมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐฯ แต่นักวิชาการบางคนมองว่า การแต่งตั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้มีความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยแนะนำรัฐบาลมาเลเซียในเรื่องสำคัญต่าง ๆ ที่อาเซียนจะเผชิญในอนาคต

‘ผู้ประกอบการไทย’ ไม่ต้องกังวลขาดแคลนแรงงาน แม้รัสเซียเซ็น MOU ให้เมียนมาส่งแรงงานถึง 5 ล้านคน

มีรายงานไม่นานมานี้ว่า ทางรัสเซียได้ตกลงเซ็นต์ MOU กับเมียนมาในการที่จะส่งแรงงานให้แก่รัสเซียจำนวน 5 ล้านคน

ประเด็นขาดแคลนแรงงานเป็นผลมาจากความยืดเยื้อของสงครามในยูเครนทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งต้องออกไปเป็นทหาร 

ทางรัสเซียเผยว่าแรงงานดังกล่าวจะเข้ามารับผิดชอบในส่วนการกสิกรรมและปศุสัตว์ โดยแรงงานทั้งหมดทางรัสเซียจะสอนภาษารัสเซียให้เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร

ที่ผ่านมาทางการเมียนมามีการทำ MOU ส่งคนงานไปหลายประเทศทั้งไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่นหรือแม้กระทั่งลาว แต่หลายประเทศทางผู้สมัครจะต้องมีการออกค่าใช้จ่ายก่อนหรือต้องมีผลทดสอบทางภาษาจึงสามารถไปทำงานได้

จากประเด็นนี้หลายฝ่ายคิดว่าอาจจะกระทบต่อแรงงานในไทย แต่สำหรับเอย่ามองว่า หากรัฐบาลไทยที่พยายามออกหนทางฟอกขาวให้แรงงานที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายก็ไม่ต้องกลัวว่าประเทศเราจะขาดแคลนแรงงานแน่นอน อีกอย่างแรงงานที่สมัครใจไปทำงานรัสเซียเป้าหมายชีวิตเขาก็แตกต่างจากคนที่มาทำงานในไทย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยไม่ต้องกังวลอะไร เพราะอย่างไรก็ตามจำนวนคนที่ลักลอบเข้าประเทศไทยก็ไม่ได้ลดลง แต่อย่างใด

สหรัฐฯส่งเรือรบ 'ยูเอสเอส ซาวันนาห์' เทียบท่าสีหนุวิลล์ ส่งสัญญาณฟื้นสัมพันธ์เขมร ก่อนทรัมป์ขึ้นตำแหน่งปธน.

เมื่อวันที่ (16 ธ.ค.67) ที่ผ่านมา เรือรบ ยูเอสเอส ซาวานนาห์ (USS Savannah) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นเมืองรีสอร์ตริมทะเลอ่าวไทยและท่าสำคัญที่สุดของกัมพูชา การเข้าจอดครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และจะประจำการที่ท่าเรือแห่งนี้เป็นเวลา 5 วัน โดยเรือซาวานนาห์เป็นเรือรบประเภทชายฝั่ง และบรรทุกลูกเรือทั้งหมด 103 คน

แดเนียล เอ. สเลดส์ ผู้บัญชาการเรือ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เขารู้สึกยินดีที่กองทัพเรือสหรัฐฯ กลับมาเยือนกัมพูชาอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานถึง 8 ปี

การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกมองว่าเป็นสัญญาณที่สหรัฐฯ พร้อมจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกัมพูชา หลังจากที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีความตึงเครียดในช่วงที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชาในเรื่องการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกัมพูชาและจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การที่จีนได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงฐานทัพเรือในอ่าวไทย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่เรือซาวานนาห์จอดเทียบท่ามากนัก

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนกัมพูชาและได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา โดยนายฮุน มาเนตเองก็เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารเวสต์พอยต์ของสหรัฐฯ ด้วย นับเป็นการส่งสัญญาณของกองทัพสหรัฐในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลสู่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

'หลี่ เจี้ยนผิง' อดีตข้าราชการทุจริต ยักยอกทรัพย์สินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.67) ทางการจีนได้ดำเนินการประหารชีวิต 'หลี่ เจี้ยนผิง' อดีตเลขาธิการคณะทำงานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีฮูฮอต (Hohhot) ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของประเทศจีน หลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาทุจริต รับสินบน ยักยอกเงินของรัฐ และสมคบคิดกับกลุ่มอาชญากร

หลี่ถูกพบว่าทุจริตโดยการยักยอกทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจกว่า 1.43 พันล้านหยวน (ประมาณ 6.74 พันล้านบาท) รับสินบนทั้งในรูปแบบของขวัญและเงินสดรวมกว่า 577 ล้านหยวน (ประมาณ 2.71 พันล้านบาท) และยักยอกเงินของรัฐอีกกว่า 1.05 พันล้านหยวน (ประมาณ 4.95 พันล้านบาท) รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตกว่า 3 พันล้านหยวน

นอกจากนี้ หลี่ยังถูกตัดสินว่ามีส่วนสนับสนุนการกระทำผิดของกลุ่มอาชญากรที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา โดยศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตและยึดทรัพย์สินทั้งหมดของเขา

แม้หลี่ได้ยื่นอุทธรณ์หลังถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อเดือนกันยายน 2022 แต่ศาลประชาชนสูงสุดจีนพิจารณาแล้วเห็นว่าอาชญากรรมที่หลี่กระทำมีความร้ายแรงสูงสุด ทั้งในแง่ของการทุจริตมูลค่ามหาศาล ผลกระทบเชิงลบต่อสังคม และอันตรายต่อรัฐและผลประโยชน์สาธารณะอย่างใหญ่หลวง จึงมีคำสั่งยืนยันโทษประหารชีวิต

การประหารชีวิตดำเนินการโดยศาลประชาชนในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน โดยหลี่ได้รับอนุญาตให้พบกับครอบครัวและญาติสนิทเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการลงโทษ

ฮอนด้า-นิสสัน เจรจาควบรวมตั้งบริษัทโฮลดิ้ง หวังสู้เทสลา-รถ EV จีน จ่อนำมิตซูฯร่วมด้วยอีกค่าย

(18 ธ.ค.67) นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงาน ว่า ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) และ นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) สองบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมเข้าสู่การเจรจาควบรวมกิจการ เพื่อผสานทรัพยากรของทั้งสองบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อแข่งขันกับเทสลา (Tesla) และผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนในอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ตามรายงาน ทั้งสองบริษัทกำลังพิจารณาจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) เพื่อบริหารจัดการร่วมกัน และคาดว่าจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในเร็ว ๆ นี้ โดยสัดส่วนการถือหุ้นและรายละเอียดอื่น ๆ จะมีการตัดสินใจในภายหลัง

สงครามราคารถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มขึ้นโดยเทสลาและบีวายดี (BYD) ผู้ผลิตจากจีน ได้สร้างแรงกดดันให้กับบริษัทรถยนต์แบบดั้งเดิม ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายด้านรายได้และส่วนแบ่งการตลาด

ปัจจุบัน ฮอนด้ามีมูลค่าตลาดประมาณ 5.95 ล้านล้านเยน (1.32 ล้านล้านบาท) ขณะที่นิสสันมีมูลค่าตลาดประมาณ 1.17 ล้านล้านเยน (2.6 แสนล้านบาท) หากการควบรวมเกิดขึ้นจริง จะเป็นหนึ่งในข้อตกลงใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ นับตั้งแต่การควบรวมมูลค่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.77 ล้านล้านบาท) ระหว่าง Fiat Chrysler และ PSA ในปี 2021 ซึ่งก่อให้เกิด Stellantis

ฮอนด้าและนิสสันเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของญี่ปุ่น รองจากโตโยต้า (Toyota) แต่กำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง

ยอดขายรถยนต์รวมทั่วโลกของทั้งสองบริษัทในปี 2023 อยู่ที่ 7.4 ล้านคัน แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในจีน

ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม ฮอนด้าและนิสสันตกลงร่วมมือกันในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า และในเดือนสิงหาคม ได้กระชับความสัมพันธ์เพิ่มเติมด้วยการร่วมพัฒนาแบตเตอรี่ เพลาไฟฟ้า และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

นิกเคอิยังรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งสองบริษัทกำลังพิจารณานำมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (Mitsubishi Motors) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทโฮลดิ้งด้วย โดยปัจจุบันนิสสันถือหุ้นในมิตซูบิชิอยู่ 24% การผนวกรวมนี้อาจทำให้บริษัทใหม่กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายรวมกว่า 8 ล้านคันต่อปี

โฮจิมินห์ผุดไอเดียเรียนฟรี ชงแผนยกเว้นค่าเทอม นร.อนุบาล ถึงม.ปลาย คาดเริ่มปีการศึกษาหน้า

(17 ธ.ค. 67) หน่วยงานด้านการศึกษาและการฝึกอบรบท้องถิ่นของนครโฮจิมินห์ เวียดนาม ได้เสนอแผนการยกเว้นการเก็บค่าเล่าเรียนสำหรับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับโรงเรียนรัฐบาลที่อยู่ในสังกัดท้องถิ่นนครโฮจิมินห์ซิตี้ ตั้งเป้าเริ่มต้นในปีการศึกษา 2025-2026 

รายงานระบุว่า แผนการนี้ระบุว่า การยกเว้นค่าเล่าเรียนจะเป็นของขวัญที่มีความหมายสำหรับนักเรียนทั่วทั้งเมือง แสดงให้เห็นถึงการลงทุนด้านการศึกษาอย่างจริงจังของหน่วยงานท้องถิ่นของเมือง

หากข้อเสนอนี้ได้รับการอนุมัติ นักเรียนทุกคนในโรงเรียนของรัฐตลอดจนโรงเรียนเอกชนบางแห่ง จะได้รับสิทธิยกเว้นค่าเล่าเรียน ยกเว้นเฉพาะโรงเรียนนานาชาติ

กรมการศึกษาฯ คาดการณ์ว่า จะต้องใช้งบประมาณจากเงินทุนสาธารณะประมาณ 653 พันล้านดอง หรือราว (880 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนโครงการนี้ในปีการศึกษา 2025-2026

ปัจจุบัน มี 7 เมืองและจังหวัดในเวียดนามที่ยกเว้นค่าเล่าเรียนให้กับนักเรียน ได้แก่ กว๋างนาม เยนไบ๋ กว๋างนิงห์ คั้ญหว่า ไฮฟอง ดานัง และจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า ตามแนวทางการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ตัวเลขบ่งชัด!! ‘แรงงานต่างด้าว’ แห่ทะลักเข้าไทยฉ่ำ เหตุสวัสดิการเย้ายวนทั้งรักษาพยาบาล - การศึกษา

เอย่าเห็นคนมักพูดกันตอนนี้ว่าต่างด้าวครองเมืองแล้ว เพราะไปที่ไหนก็เจอแต่ต่างด้าวโดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐที่คนไทยผู้รับบริการรู้สึกเหมือนกลายเป็นบุคคลชั้นสองไปแล้ว  มาดูจากข้อมูลย้อนหลังสิบปีจะพบว่าในปี พ.ศ. 2557 มีแรงงานต่างด้าวที่ลงในระบบอยู่ 1,444,747 คน แต่มาถึงปี 2567 พบว่าขนาดยังไม่ครบปีเรามีแรงงานต่างด้าวในระบบอยู่ถึง 3,289,536 คน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เป็นคนเมียนมานั่นเอง

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้วอีกเรื่องที่ต้องกล่าวถึงคือการให้สวัสดิการกับแรงงานต่างด้าวเหล่านี้โดยแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะสามารถซื้อบัตรประกันสังคมได้  โดยราคาบัตรรักษาพยาบาลจะมีราคาตั้งแต่ 365 บาทต่อปีจนถึงราคา 3,200 บาทต่อปี ซึ่งเมื่อมาดูจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนบัตรประชากรต่างด้าวแล้วพบว่า ในปีงบประมาณ 2564-65 มีจำนวน 541,905 รายในขณะที่ปีงบประมาณ 2566-67 มีผู้ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 551,662 ราย จากสถิติพบว่าเพิ่มขึ้น 1.8% โดยบัตรที่มีการขึ้นทะเบียนมากที่สุดคือบัตรราคา 3,200 บาทต่อปี ซึ่งมีอัตราผู้ขึ้นทะเบียนสูงสุดเป็นร้อยละ 30 ของทั้งกลุ่ม โดยจากผู้ขึ้นทะเบียนส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาถึง 68% ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงได้เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมชาวเมียนมาถึงมาทำบัตรสวัสดิการนี้ได้มากมายเหลือเกิน จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยยังเผยอีกว่าจำนวนคนต่างด้าวที่มาแห่ทำบัตรสวัสดิการดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่และกรุงเทพ เป็นหลัก

สวัสดิการที่ต่างด้าวได้รับหากมีประกันสังคมคือ การประกันสุขภาพจะครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ การรักษา พยาบาล การควบคุมและป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพและ การฟื้นฟูสภาพร่างกายอันรวมถึงการฉีดวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กด้วย โดยจะไม่ครอบคลุมในรายการดังต่อไปนี้

1) โรคจิต 
2) การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด 
3) ผู้ประสบภัยจากรถที่สามารถใช้สิทธิตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 
4) ผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ที่สามารถใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 
5) การรักษาภาวะมีบุตรยาก 
6) การผสมเทียม 
7) การผ่าตัดแปลงเพศ 
8) การกระทำใด ๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

ก็เพราะสวัสดิการประเทศไทยมันดีอย่างนี้นี่เอง ต่างด้าวโดยเฉพาะชาวเมียนมาที่มีพวกหัวโจกเป็นพวกมาก่อนและสมอ้างว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แล้วได้บัตรสัญชาติไทยจึงพยายามแห่แหนกันมาเมืองไทยพร้อมกับตั้งตนเป็นตัวตั้งตัวตีนายหน้าทำบัตรพวกนี้ให้ด้วย สังเกตได้จากตามโซเชียลมีเดียจะเห็นได้ว่ามีการโฆษณากันอย่างโจ๋งครึ่มยังไม่พอแถมรู้อีกว่าหากถือบัตรไทยจะมีโอกาสเข้าถึงการรักษาฟรีของ สปสช. ยิ่งทำให้คนพวกนี้กระเหี้ยนกระหือรืออยากเป็นคนไทยถึงขั้นยอมติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ได้เป็นชาวชาติพันธุ์เพื่อสักวันหนึ่งจะมีโอกาสได้บัตรประชาชน

อีกอย่างที่ดังในกลุ่มคนพม่าก็คือเรื่องการได้รับการศึกษาภาคบังคับฟรี และหากลูกพวกเขาโตจนอายุ 20 ปีบริบูรณ์คนเหล่านี้จะขอสัญชาติไทยได้ ตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้ และนั่นทำให้เป็นแผนระยะยาวที่พ่อแม่ชาวเมียนมาฝากความหวังไว้กับรุ่นลูกของเขา

เอย่าไม่ได้เป็นคนที่ต่อต้านการที่ต่างชาติอยากได้สัญชาติไทยแต่เราควรมีการคัดเลือกเอาแต่บุคคลที่มีคุณภาพและศักยภาพทั้งทางด้านการศึกษาและการเงินไม่ใช่เอาแค่คนที่มีเงินจ่ายเจ้าหน้าที่ เพราะอย่าลืมว่าเราได้พิสูจน์แล้วว่าคนเหล่านี้พอเวลาไทยเกิดปัญหากับชาวชาติพันธุ์เขา เขาเลือกชาวชาติพันธุ์ด้วยกันเองนะไม่ได้เลือกอยากเป็นคนไทย ดังนั้นการเป็นคนไทยเหล่านี้คือประตูแห่งความสะดวกสบายของพวกเขาเท่านั้น ผู้ที่เป็นรัฐบาลในขณะนี้ควรตรึกตรองไว้บ้างก็ดีนะคะ

ทัพรัสเซียตั้งกองกำลังโดรนพลีชีพ เสริมทัพแนวหน้าศึกยูเครน

เมื่อวันที่ (16 ธ.ค. 67) นายอังเดร เบโลโซฟ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยว่า ได้อนุมัติการจัดตั้งกองกำลังรบรูปแบบใหม่ที่ใช้การโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ภายใต้หน่วยที่ชื่อ 'Unmanned Systems Forces' โดยหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้นอกจากเป็นกองกำลังด้านการรบโดยใช้โดรนในแนวหน้าแล้ว ยังรับผิดชอบด้านการฝึกอบรม จัดหายุทโธปกรณ์ จัดหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านโดรนโดยเฉพาะต่อหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลรัสเซียด้วย

Dmitry Kornev ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวสารทางทหารของรัสเซียกล่าวกับสปุตนิก ว่า หนึ่งในวิธีการบริหารกองทัพที่มีประสิทธิภาพคือการจัดตั้งหน่วยงานที่เสมือนกองทัพขนาดย่อมๆ แยกต่างหาก เพื่อดำเนินการงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยที่ผ่านกองทัพรัสเซียเริ่มมีการใช้และจัดหาโดรนและอากาศยานไร้คนขับด้านการทหารมากขึ้น

Kornev ยังคาดการณ์กับสปุตนิกว่า โดรนที่คาดว่ากองทัพรัสเซียจะใช้ในภารกิจการรบและเฝ้าระวังในแนวหน้าแถบยูเครนมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่โดรนติดมิสไซส์ Ovod (Gadfly) และ Upyr ที่มามารถบรรทุกอาวุธ เช่น หัวรบจาก RPG-7 และระเบิดขนาดเล็กได้ ไปจนถึง โดรนสังหารแบบกามิกาเซ่ที่นอกจากใช้ลาดตระเวนแล้วยังสามารถเปลี่ยนให้เป็นโดรนทำลายเป้าหมายได้ด้วยเช่น 

Orlan-10 โดรนอเนกประสงค์สำหรับการลาดตระเวน ซึ่งสามารถบูรณาการกับระบบเรดาร์เฝ้าระวังอิเล็กทรอนิกส์แบบ RB-341V Leer-3 ได้ มีพิสัยการบินไกล 600 กม. และบินอยู่กลางอากาศได้นาน 18 ชั่วโมง 

โดรนแบบ  HESA Shahed 136 เป็นโดรนโจมตีระยะไกลแบบกามิกาเซ่ที่โจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร มีเครื่องยนต์ไอพ่น บินได้เร็วถึง 800 กม./ชม. มีพิสัยการบิน 2,500 กม. และบรรทุกวัตถุระเบิดได้มากถึง 50 กก.

และโดรนแบบZALA Kub-BLA  ซึ่งเป็นโดรนสำหรับ ภารกิจ ลาดตระเวนและโจมตีแบบพลีชีพ โดยสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ 3 กิโลกรัม บินด้วยความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม. นาน 30 นาที ขณะที่รุ่นปรับปรุงใหม่สามารถโจมตีได้ไกลกว่า 50 กม. และสามารถโจมตีเป็นกลุ่มได้พร้อมกัน

สังหาร 'พลโท อิกอร์ คิริลอฟ' หัวหน้าฝ่ายนิวเคลียร์ เผยคนร้ายขี่สกู๊ตเตอร์ซุกระเบิดจอดหน้าบ้าน สงสัยเอี่ยวยูเครน

(17 ธ.ค. 67) คณะกรรมการสอบสวนของรัสเซียเปิดเผยว่า เกิดเหตุระเบิดรุนแรงจากอุปกรณ์แสวงเครื่องซุกซ่อนในสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า บริเวณถนน Ryazansky Prospekt ในกรุงมอสโก ส่งผลให้ พลโท อิกอร์ คิริลลอฟ ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันนิวเคลียร์ ชีวภาพ และเคมีของกองทัพรัสเซีย พร้อมผู้ช่วยเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ

คณะกรรมการสอบสวนของรัสเซียระบุว่า ได้เปิดสอบสวนทางอาญาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเจ้าหน้าที่สืบสวน นักนิติวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดกำลังปฏิบัติงานในจุดเกิดเหตุอย่างเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและค้นหาผู้ก่อเหตุ

หน่วยฉุกเฉินของรัสเซียเปิดเผยว่า พลังระเบิดของอุปกรณ์มีความแรงเทียบเท่า TNT ประมาณ 200 กรัม ซึ่งส่งผลให้กระจกของอาคารใกล้เคียงแตกเสียหาย ขณะเดียวกัน กองกำลังความมั่นคงกำลังตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่เพื่อหาข้อมูลเบาะแสเพิ่มเติม

หนึ่งวันก่อนหน้าเกิดเหตุ หน่วยความมั่นคงยูเครน (SBU) ได้ตั้งข้อหากับพลโทคิริลลอฟ โดยกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธเคมีต้องห้ามจำนวนมากในแนวหน้า  ขณะที่ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ดำเนินมาตรการตอบโต้ เนื่องจากคิริลลอฟมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการใช้อาวุธเคมีในยูเครน

ด้านนาง มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่าพลโทคิริลลอฟเป็นผู้ที่กล้าหาญในการเปิดโปงอาชญากรรมและยั่วยุของกลุ่มนาโต้อย่างต่อเนื่อง ด้านคอนสแตนติน โคซาเชฟ รองประธานสภาสูงของรัสเซีย กล่าวไว้อาลัยว่า “นี่คือการสูญเสียที่ไม่อาจทดแทนได้ ฆาตกรต้องถูกลงโทษอย่างไร้ความปรานี”

สมาชิกรัฐสภารัสเซีย อเล็กซี จูราฟเลฟ กล่าวกับสำนักข่าวสปุตนิกว่า หน่วยข่าวกรองยูเครนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ โดยอ้างว่ายูเครนอาจพยายามสร้างผลกระทบเชิงโฆษณาชวนเชื่อจากการเสียชีวิตของคิริลลอฟ พร้อมระบุว่า การดำเนินการในลักษณะนี้สะท้อนถึงการสนับสนุนการก่อการร้ายจากชาติตะวันตก

อังกฤษอาศัยช่วงเปลี่ยนขั้วรัฐบาล กล่าวหา 'หยาง เติ้งป๋อ' นักธุรกิจจีนเป็นสายลับให้ปักกิ่ง เอี่ยวโยงเจ้าชายแอนดรูว์

(17 ธ.ค.67) กลายเป็นเรื่องใหญ่ของสหราชอาณาจักร เมื่อมีรายงานข่าวว่า ศาลอังกฤษได้สั่งห้ามบุคคลต้องสงสัยชาวเอเชียที่ชื่อ หยาง เติ้งป๋อ เข้าประเทศ โดยอังกฤษอ้างว่านายหยางมีพฤติการณ์ต้องสงสัยแฝงตัวเป็นสายลับในคราบนักธุรกิจโปรไฟล์ดี สามารถเข้าถึงใกล้ชิดบุคคลระดับสูงทั้งในระดับรัฐบาลอังกฤษจนถึงพระราชวงศ์ระดับสูง

จากการเปิดเผยข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงอังกฤษได้กล่าวหาว่านาย หยาง เติ้งป๋อ วัย 50 ปี หรือที่รู้จักภายใต้โค้ดเนมว่า H6 เป็นสายลับจีนที่มีความใกล้ชิดต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เคยปรากฏภาพเข้าร่วมประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่ง อังกฤษกล่าวหาว่านายหยางมีความเกี่ยวข้องกับแนวร่วม United Front Work Department (UFWD) ซึ่งเป็นหน่วยงานลับของรัฐบาลจีนที่จัดการกับการเผยแพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนในต่างประเทศ

สำหรับประวัติของ หยาง เติ้งป๋อ หรือชื่อที่รู้จักกันในนาม 'คริส หยาง' เกิดที่ประเทศจีนในปี 1974 เขามาอังกฤษครั้งแรกในปี 2002 และศึกษาที่กรุงลอนดอนเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านการบริหารราชการและนโยบายสาธารณะที่มหาวิทยาลัยยอร์ก

ในปี 2005 เขาก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Hampton Group International ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจดทะเบียนบริษัทในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าบริษัทที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในสหราชอาณาจักร 

ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2013 เขาได้รับการอนุญาตให้ถือวีซ่าพำนักถาวรในสหราชอาณาจักร ช่วงที่โควิดระบาดใหญ่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการทำธุรกิจที่อังกฤษ กระทั่งเมื่อการระบาดเริ่มลดน้อยลง จึงเดินทางไป-มา ระหว่างลอนดอนกับประเทศจีน

6 พฤศจิกายน 2021 หยางถูกเจ้าหน้าที่ตม.อังกฤษไม่อนุญาตเข้าประเทศ พร้อมกับถูกควบคุมตัว อีกทั้งเขายังถูกยึดและตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดที่พกติดตัว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หยางยื่นคำร้องต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อขออนุญาตเข้าประเทศ ซึ่งเขาเคยชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่ต่อมาแพ้ในการอุทธรณ์

ในคำตัดสินของศาลอุทธรณ์อังกฤษอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ยืนยันตามคำสั่งของกระทรวงกิจการภายในสั่งห้ามหยางเข้าประเทศ โดยชี้ว่าพบหลักฐานจากอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของหยางที่มีการยึดในปี 2021 ตลอดจนเอกสารบางส่วนที่ชี้ว่าเขามีส่วนเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน โดยอัยการอังกฤษชี้ว่า หยางมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีความพยายามส่งต่อข้อมูลบางประการต่อรัฐบาลปักกิ่ง 

ในการพิจารณาคดีหยางได้ปฏิเสธในทุกข้อกล่าวหา พร้อมทั้งยืนยันว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดใดๆ โดยว่าสหราชอาณาจักรเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเขา เขาเดินทางเข้าออกสหราชอาณาจักรมานานกว่า 20 ปีตั้งแต่เรียนหนังสือจนถึงตั้งตัวทำธุรกิจจนมีหน้ามีตาทางสังคม 

หยางปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและกล่าวว่าเขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองในจีน เขายืนยันว่าไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ ให้กับ UFWD ทั้งยังบอกว่า 'เขากลายเป็นเหยื่อของการเมืองอังกฤษ ที่มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากพรรคอนุรักษ์นิยมมาสู่พรรคแรงงานซึ่งมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีน เขาจึงถูกเพ่งเล็งทางการเมือง'

ด้านความเชื่อมโยงกับเจ้าชายแอนดรูว์ ฝ่ายสืบสวนของอังกฤษพบหลักฐานที่เชื่อมโยงเขากับเจ้าชาย คือจดหมายระหว่างเขากับโดมินิก แฮมป์เชียร์  ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของเจ้าชายแอนดรูว์ ซึ่งระบุว่าหยางสามารถทำหน้าที่แทนเจ้าชายในการติดต่อกับนักลงทุนชาวจีน โดยมีภาพถ่ายปรากฏเจ้าชายแอนดรูว์ดยุกแห่งยอร์กและนายหยางถูกรายงานผ่านสื่อ 

ต่อมาเลขาของเจ้าชายแอนดรูว์ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า พระองค์ทรงตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับนักธุรกิจจีนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้ปักกิ่งหลังได้รับคำแนะนำจากรัฐบาลอังกฤษ โดยสำนักพระราชวังกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า เจ้าชายแอนดรูว์ทรงพบกับชายผู้นี้ผ่าน 'ช่องทางการ'และไม่มีการหารือในประเด็นอ่อนไหวด้านความมั่นคง

จากการขุดคุ้ยของสื่ออังกฤษ ยังเผยอีกว่า นายหยาง เคยได้รับเชิญให้ร่วมงานเลี้ยงฉลองวันตรุษจีนในทำเนียบถนนดาวนิง ทั้งยังมีความใกล้ชิดกับ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคอนุรักษ์นิยม อีกทั้งยังเคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงภายในพระราชวังบักกิ้งแฮมในหลายครั้ง

นอกจากนี้หยางยังดำรงตำแหน่งระดับสูงในกลุ่มธุรกิจอังกฤษ-จีน ได้รับการยกย่องให้เป็นประธานบริหารของ China Business Council ในสหราชอาณาจักร และเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมธุรกิจจีน-อังกฤษที่เรียกว่า 48 Group Club ซึ่งมีบุคคลสำคัญชาวอังกฤษหลายคนเป็นสมาชิก ทางการอังกฤษมองว่า หยางอยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสำคัญของสหราชอาณาจักรกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน สามารถถูกนำไปใช้เพื่อแทรกแซงทางการเมือง จนสั่งห้ามเขาเดินทางเข้าประเทศตามรายงานข้างต้น  

อย่างไรก็ตาม ทางด้านโฆษกจากกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกมาตอบโต้ประเด็นนี้แล้วโดยกล่าวว่า "บางคนในอังกฤษมักจะสร้างเรื่องราว 'สายลับ' ที่ไม่มีมูลความจริงเพื่อโจมตีจีน มันไม่คุ้มค่าเลยที่จะสร้างข่าวลืออันไม่เป็นธรรมเหล่านี้เพื่อทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ" 

ทางการจีนยังตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินดดีของหยางมีความคืบหน้าผิดปกติในช่วงที่อังกฤษเปลี่ยนขั้วรัฐบาล อีกทั้งหน่วยราชการลับอังกฤษเพิ่งมาเปิดเผยรายละเอียดของหยางในช่วงที่อังกฤษมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคแรงงานที่มีจุดยืนแข็งกร้าวต่อปักกิ่ง

'โชว ชู' ซีอีโอ TikTok ดอดพบ 'ทรัมป์' สัญญาณบวกว่าที่ผู้นำสหรัฐใจอ่อนสั่งปลดแบน

(17 ธ.ค. 67) โชว ชู ซีอีโอของติ๊กต๊อก (TikTok) ได้เข้าพบโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่รีสอร์ตมาร์-อา-ลาโกในเมืองปาล์มบีช รัฐฟลอริดาเมื่อวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพบปะก่อนที่ติ๊กต๊อกจะถูกแบนในสหรัฐฯ จากข้อกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การพบปะครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรัมป์กล่าวว่าเขาอาจพิจารณายกเลิกคำสั่งแบนเพื่อสนับสนุนติ๊กต๊อก ซึ่งเป็นแอปที่เขาใช้เข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งวัยหนุ่มสาวระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง "เราจะพิจารณาเรื่องติ๊กต๊อก" ทรัมป์กล่าว พร้อมเสริมว่า "คุณรู้ไหม ผมมีความรู้สึกดี ๆ ให้กับติ๊กต๊อก"

ก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยพยายามสั่งแบนติ๊กต๊อกในปี 2563 แต่ภายหลังเปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับแอปนี้

แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการหารือระหว่างทรัมป์และโชว ชู โฆษกของติ๊กต๊อกก็ไม่ได้ตอบกลับการขอความคิดเห็นจากสื่อ

การสั่งแบนติ๊กต๊อกมีผลในวันที่ 19 มกราคม 2568 ตามกฎหมายที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนาม ยกเว้นหากบริษัท ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของติ๊กต๊อก ยอมขายแอปให้กับผู้ถือหุ้นชาวอเมริกัน

ถึงแม้ ByteDance จะพยายามต่อสู้กับกฎหมายนี้ แต่ศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางในกรุงวอชิงตันก็มีคำตัดสินให้คงคำสั่งแบนและปฏิเสธคำขอระงับคำสั่งแบนชั่วคราว โดยในวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ติ๊กต๊อกได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดของสหรัฐฯ เพื่อขอให้ทบทวนคำตัดสินดังกล่าว

โชว ชู เป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เลือกเข้าพบทรัมป์ก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมนี้ โดยก่อนหน้านี้มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตาแพลตฟอร์มส์ (Meta Platforms) และทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล (Apple) ก็เคยพบกับทรัมป์ที่มาร์-อา-ลาโกในโอกาสต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ศึกแบนติ๊กต๊อกยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ByteDance ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดเพื่อขอระงับคำสั่งแบนที่จะมีผลในวันที่ 19 มกราคม 2568 ทว่า ทรัมป์ก็ส่งสัญญาณว่าจะพิจารณายกเลิกคำสั่งแบนนี้ หากคำสั่งแบนยังคงอยู่ ทรัมป์อาจมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเรื่องนี้ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่

หัวหน้าพรรครัฐบาลเกาหลีใต้ลาออก สวนทางฝ่ายค้านคะแนนนิยมพุ่ง

(16 ธ.ค. 67) ฮันดงฮุน หัวหน้าพรรคพลังประชาชน (PPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเกาหลีใต้ ประกาศลาออกเมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม หลังจากที่รัฐสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล การลาออกเกิดขึ้นไม่ถึงห้าเดือนหลังจากฮันได้รับเลือกให้เป็นผู้นำพรรค

ฮันเปิดเผยเหตุผลการลาออกว่า เนื่องจากสภาสูงสุดของพรรคฯ ได้ยุบตัวลงหลังจากสมาชิกพรรคลาออก ทำให้เขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำพรรคได้ต่อไป พร้อมทั้งขอโทษประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ยุนประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินในคืนวันที่ 3 ธันวาคม แม้ว่าภายหลังจะมีการยกเลิกในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา

ก่อนหน้านี้ ฮันเคยผลักดันให้ยุน “ลาออกตามระเบียบ” และกล่าวว่าเขาพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ โดยไม่ต้องใช้มาตรการถอดถอนประธานาธิบดี

ในวันเดียวกัน รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนเป็นครั้งที่สอง และส่งต่อเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อการพิจารณาภายใน 180 วัน ซึ่งระหว่างนั้นยุนจะถูกระงับอำนาจประธานาธิบดี

การลาออกของฮันทำให้ควอน ซอง-ดอง ผู้นำสมาชิกพรรคในรัฐสภา กลายเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนแทน

ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจจากบริษัทเรียลมิเตอร์ (Realmeter) เผยว่า คะแนนสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยเกาหลี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก่อนการพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีในครั้งที่สอง ผลการสำรวจระบุว่า คะแนนความนิยมของพรรคประชาธิปไตยเกาหลีเพิ่มขึ้นเป็น 52.4% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 4.8% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ในขณะที่พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้รับคะแนนลดลงเหลือ 25.7% ความแตกต่างของคะแนนระหว่างพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นเป็น 26.7% นับตั้งแต่ยุนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2022

ก่อนหน้านี้ การลงมติถอดถอนครั้งแรกของรัฐสภาถูกยกเลิกไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เนื่องจากสมาชิกพรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่ปฏิเสธการลงคะแนนเสียง

ทั้งนี้ ยุนได้ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินในคืนวันที่ 3 ธันวาคม แต่ถูกเพิกถอนโดยรัฐสภาภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นเขากลายเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาก่อกบฏ และกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ที่ถูกห้ามออกนอกประเทศระหว่างดำรงตำแหน่ง

'สี จิ้นผิง' เตือนพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเอาจริง จัดการปัญหาภายใน ไร้ระเบียบวินัย-คอร์รัปชัน

(16 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำของจีน กล่าวว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำเป็นต้อง “หันมีดเข้าหาตัวเอง” เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ระเบียบวินัยภายในพรรคและการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเป็นการส่งสัญญาณใหม่ในการเดินหน้าปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐที่ประพฤติมิชอบ รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการทุจริต

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เขาได้ดำเนินการอย่างจริงจังในการปราบปรามการทุจริตในหมู่สมาชิกพรรค ไม่ว่าจะเป็น "เสือ" ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ทุจริต หรือ "แมลงวัน" ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐ

แม้การปราบปรามจะดำเนินไปอย่างเข้มงวด แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงเผชิญกับปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะในกองทัพ เช่น กรณีที่รัฐมนตรีกลาโหม 2 คนถูกขับออกจากพรรคในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจาก "ละเมิดวินัยร้ายแรง" ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกการทุจริตในจีน

ในสุนทรพจน์ที่เผยแพร่ในวันนี้ (16 ธันวาคม) ผ่านทางวารสารฉิวซื่อ ซึ่งเป็นนิตยสารหลักของพรรคฯ ปธน.สี จิ้นผิงได้กล่าวว่า พรรคต้องเด็ดขาดในการจัดการกับกลุ่มผลประโยชน์ องค์กรที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ หรือกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่พยายามหาผลประโยชน์หรือชักจูงสมาชิกพรรคให้ทุจริต

"เมื่อสถานการณ์และภารกิจที่พรรคเผชิญเปลี่ยนแปลงไป ย่อมเกิดความขัดแย้งและปัญหาภายในพรรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" ปธน.สี กล่าว "เราต้องกล้าหันมีดเข้าหาตัวเอง ขจัดอิทธิพลด้านลบเหล่านี้ให้ทันท่วงที เพื่อให้พรรคมีพลังและมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ"

คำว่า "หันมีดเข้าหาตัวเอง" เป็นส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ที่ปธน.สี จิ้นผิงกล่าวในการประชุมใหญ่กับหน่วยงานปราบปรามการทุจริตของพรรคในวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณชนมาก่อน

การเผยแพร่เนื้อหานี้ในวันนี้เน้นย้ำถึงการเดินหน้าปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังและกว้างขวางขึ้น เพื่อเสริมสร้างระเบียบวินัยและกำจัดเจ้าหน้าที่ที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว รวมถึงผู้ที่สนับสนุนการทุจริต

เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงกลาโหมจีนได้เปิดเผยว่า พลเรือเอกนายหนึ่งที่เคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการทหารกลาง หน่วยงานทางทหารที่สำคัญของจีน กำลังถูกสอบสวนในข้อหาละเมิดวินัยร้ายแรง

คณะกรรมการกลางเพื่อการตรวจสอบวินัยของพรรคฯ เปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้วมีเจ้าหน้าที่ของพรรคกว่า 610,000 คนที่ถูกลงโทษฐานละเมิดวินัย ซึ่งรวมถึง 49 คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่ารัฐมนตรีช่วยหรือผู้ว่าการมณฑล

ที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียนปีหน้า เผยคุณสมบัติประสบการณ์ระดับ 'รัฐบุรุษ'

(16 ธ.ค. 67) สื่อมาเลเซียรายงานว่า นายอันวาร์ อิบบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะแต่งตั้งให้ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ทำหน้าที่เป็น "ที่ปรึกษาส่วนตัว" ให้กับนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ในขณะที่มาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า

นายอันวาร์ เผยว่า คุณสมบัติของนายทักษิณ นอกจากมีประสบการณ์ระดับรัฐบุรุษแล้ว ยังเป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพและสนับสนุนจากชาติสมาชิกหลายฝ่ายในอาเซียน ซึ่งเป็นการแต่งตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

“ผมตกลงแต่งตั้ง (ทักษิณ) เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในฐานะประธานอาเซียน ขอบคุณที่ยอมรับการแต่งตั้งนี้ เพราะเราต้องการประโยชน์จากประสบการณ์ของรัฐบุรุษแบบนี้” นายอันวาร์กล่าวกับนางสาวแพทองธาร ธิดาคนเล็กของนายทักษิณ

“ขอบคุณที่เขายอมรับการแต่งตั้งครั้งนี้ เพราะเราเห็นความสำคัญจากประสบการณ์ของนักการเมืองผู้มีประสบการณ์เช่นคุณพ่อของท่าน” อันวาร์กล่าวต่อนายกรัฐมนตรีแพทองธาร

นอกจากนี้ ในระหว่างการหารือแบบทวิภาคีระหว่างนางสาวแพทองธาร ชินวัตร กับนายอันวาร์ อันวาอิบราฮิม เผยว่า มาเลเซียต้องการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองชาติ โดยตั้งเป้าหมายการค้าถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027

"อาจจะมองว่าเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน แต่เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ในประเทศไทยและมาเลเซีย เราก็มีสิ่งที่สามารถร่วมมือกันได้" นายอันวาร์ กล่าว นอกจากนี้นายกมาเลย์ยังกล่าวถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างไร้รอยต่อในอาเซียน เพื่อให้การค้าภายในภูมิภาคมีประสิทธิภาพมากขึ้น

กระทรวง อว. แท็กทีม GISTDA ลงนามสหรัฐ ร่วมมือ 'Artemis Accords' กรุยทางนักวิจัยไทย สู่อวกาศระดับโลก

(16 ธ.ค. 67) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ GISTDA ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านอวกาศ โดยมีนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นตัวแทนจากฝั่งสหรัฐอเมริกา และ NASA เข้าร่วมในการร่วมลงนามครั้งนี้ ณ โรงแรมอนันตรา กรุงเทพฯ 

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การเข้าร่วม Artemis Accords นับเป็นก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมอวกาศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโครงการสำรวจและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในอวกาศอย่างยั่งยืน สร้างโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีระดับสูงจากชาติสมาชิกอื่นๆ ตลอดจนสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ นักวิชาการ และนักวิจัยไทยให้ได้เติบโตในเทคโนโลยีอวกาศในอนาคต

“การลงนามในข้อตกลง Artemis Accords ถือเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการก้าวสู่เวทีอวกาศระดับโลก ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ และสร้างโอกาสให้กับนักวิจัย นักศึกษา และผู้ประกอบการไทยในการเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมเสริมศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลกอย่างยั่งยืน”

สำหรับข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสำรวจอวกาศ โดยเน้นภารกิจสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารเป็นหลัก ซึ่งริเริ่มโดยสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2020 ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมแล้ว 47 ประเทศ ภายใต้โครงการอาร์เทมิส ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์ และปูทางสำหรับภารกิจสำรวจดาวอังคารในอนาคต

หลักการสำคัญของข้อตกลงอาร์เทมิส ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 10 ข้อ เพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลการสำรวจอวกาศ คือ วัตถุประสงค์เชิงสันติ การสำรวจอวกาศต้องดำเนินการอย่างสันติและสอดคล้องกับสนธิสัญญาอวกาศ The Outer Space Treaty ที่ลงนามเมื่อปี 1967

ส่งเสริมการสื่อสารแบบเปิด การแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์, มาตรฐานและขั้นตอนร่วมกัน การกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อประกันความปลอดภัยระหว่างภารกิจ, ช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน วางแผนช่วยเหลือภารกิจอวกาศเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน, การลงทะเบียนวัตถุอวกาศ กำหนดให้ลงทะเบียนวัตถุอวกาศทั้งหมดเพื่อความรับผิดชอบที่ชัดเจน, การเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลเพื่อการพัฒนาร่วมกัน, การปกป้องสถานที่สำคัญในอวกาศ อนุรักษ์สถานที่ประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุอวกาศ, การใช้ทรัพยากรอวกาศอย่างรับผิดชอบ สกัดทรัพยากรเพื่อประโยชน์ส่วนรวม, การยุติความขัดแย้ง ลดความขัดแย้งระหว่างภารกิจจากประเทศต่าง ๆ และสุดท้ายในด้านลดขยะอวกาศ ควบคุมการสร้างขยะอวกาศและลดผลกระทบจากเศษวัตถุที่ลอยอยู่ในอวกาศ

ข้อตกลงอาร์เทมิสมุ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสำรวจอวกาศ เปลี่ยนจากการแข่งขันเป็นความร่วมมือ เพื่อลดความขัดแย้งด้านดินแดนและทรัพยากรในอวกาศ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ เพื่อเพิ่มนวัตกรรมและประสิทธิภาพทางเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าข้อตกลงนี้อาจเอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกาเป็นพิเศษ และยังขาดกลไกที่แข็งแกร่งในการแก้ไขข้อขัดแย้ง หรือรับรองการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันระหว่างประเทศสมาชิก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top