พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha’ ระบุว่า ได้ประชุมกับกระทรวง ศธ.และ อว. เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนในการช่วยลดภาระ/ค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ปกครอง ครู และนักเรียน/นักศึกษาให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มด้อยโอกาสยากจนและกลุ่มผู้พิการ โดยมีแนวทางในด้านต่าง ๆ เช่น
1.) มาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียน
2.) ขอความร่วมมือให้ลด หรือชะลอการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชน
3.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่สถานศึกษา เพื่อรองรับการเรียนแบบออนไลน์
4.) ช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงาน
ที่ประชุมได้มอบหมายให้ อว.และ ศธ. จัดทำรายละเอียดและขั้นตอนในการดำเนินการในมาตรการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า
ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับนายกฯ ว่า นายกฯ ได้รับหลักการมาตรการตามที่ อว.เสนอ คือ
1.) สถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ จะลดค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยกำหนดเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา ร้อยละ 50 ขั้นที่ 2 ตั้งแต่ 50,001-100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และขั้นที่ 3 ตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ลดร้อยละ 10 โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับส่วนลดนี้ ร้อยละ 60 และสถาบันอุดมศึกษาสมทบ ร้อยละ 40
2.) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน รัฐบาลจะสนับสนุนลดค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา คนละ 5,000 บาท และให้ทางสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่ละแห่งพิจารณาลดค่าเล่าเรียนเพิ่มเติม และสนับสนุนมาตรการอื่น ๆ เช่น ขยายเวลาผ่อนชำระหรือผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษา จัดหาอุปกรณ์/โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สำหรับนักศึกษายืมเพื่อใช้ในศึกษาออนไลน์ ส่วนลดค่าหอพักนักศึกษา จัดสวัสดิการพิเศษกรณีนักศึกษาป่วยด้วยโรคโควิด-19 เป็นต้น
ทั้งนี้มาตรการนี้จะเริ่มใช้ทันทีในภาคศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยจะมีนิสิต นักศึกษาที่ได้รับประโยชน์เป็นจำนวนถึง 1,750,109 คน