Wednesday, 9 July 2025
POLITICS

‘นิกร จำนง’ เข้าพบทูตญี่ปุ่น กล่าวขอโทษจากใจแทนคนไทย พร้อมฝากเงินส่วนตัวคืนนทท.ญี่ปุ่น เหตุตุ๊กตุ๊กเรียกเงิน 6 พัน

(29 พ.ค. 67) นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า…

“วันนี้ (เมื่อค่ำวันที่ 28 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา) เป็นวันที่ผมรู้สึกดีมาก ๆ ที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ในฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่งได้กล่าวคำขอโทษแทนพี่น้องร่วมชาติที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เรียกรับเงินค่ารถตุ๊ก ๆ มากเกินไปอย่างไม่เป็นธรรมจากแขกของประเทศไทยที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น โดยผมได้ขอโทษต่อท่านเอกอัครราชทูต นาย OTAKA Masato ในงานเลี้ยงต้อนรับ เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยท่านใหม่ในวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม ณ โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ 

และได้เรียนท่านว่าผมขอฝากมอบเงินส่วนตัวเท่าจำนวนที่ประชาชนของท่านจำเป็นต้องจ่ายไปฝากไว้กับเจ้าหน้าที่สถานทูตญึ่ปุ่นของท่าน โดยผมได้ประสานงานขอให้สืบหาตัวผู้เสียหายชาวญี่ปุ่นมาสัปดาห์กว่าแล้วตอนที่ผมได้ Post กรณีนี้ลงมาเมื่อวันที่ 13 พ.ค. นี้แต่ยังไม่พบต้ว ไม่เป็นไร ยังรอต่อไปได้ 

ซึ่งผมได้แจ้งท่านว่า ได้แจ้งให้กรมขนส่งทางบกที่ผมเคยกำกับดูแลช่วงดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีให้ลงโทษผู้กระทำไปตามสมควรแก่ความผิดเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่ขอโทษชาวญี่ปุ่นไปให้ประจักษ์ เมื่อได้กระทำไปแล้วจึงรู้สึกสบายใจในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบต่อประเทศไทยอันเป็นแผ่นดินเกิดของพวกเราเองครับ”

'อัยการสูงสุด' ยัน!! มีคำสั่งฟ้อง 'ทักษิณ' ม.112-พรบ.คอมพ์  อนุญาตเลื่อนนัดส่งฟ้องไป 18 มิ.ย.นี้ หลังเจ้าตัวติดเชื้อโควิด

จากกรณีที่อัยการสูงสุด นัดฟังคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตาม ป.อาญามาตรา 112 จากเหตุให้สัมภาษณ์กับสื่อของเกาหลีใต้ ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ หลังเลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ กระทั่ง นายทักษิณส่งให้ทนายผู้รับมอบอำนาจยื่นหนังสือเพื่อขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้อง เนื่องจากติดโควิด-19

ล่าสุด (29 พ.ค.67) ที่ชั้น 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 และ นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงคดี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยระบุว่า สำนักงานอัยการสูงสุดแถลงกรณีอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง พันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

คดีนี้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จากพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต .อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา พันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้ และประเทศไทย เกี่ยวพันกันเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี)

โดยในชั้นแรก พันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร หลบหนี ยังไม่ได้ตัวมาทำการสอบสวน ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ในขณะนั้น พิจารณาแล้วได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 เห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ตามข้อกล่าวหา

ต่อมาพันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และถูกควบคุมตัวไว้ในคดีอื่น และในวันที่ 17 มกราคม 2567 อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมกับพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดี นี้ให้กับพันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร ทราบแล้ว

ปรากฏว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด และต่อมา นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสด ได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม และ พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมครบถ้วนแล้ว พร้อมได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเพิ่มเติมให้กับอัยการสูงสุดพิจารณา

บัดนี้ อัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาสำนวนและมีคำสั่งฟ้อง พันตำรวจโท หรือนายทักษิณ ชินวัตร ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยว กับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14(3) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8

วันนี้ (29 พ.ค. 67) พนักงานอัยการไม่สามารถยื่นฟ้อง พันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร ต่อศาลได้ เนื่องจาก พันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้มาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัด โดยได้มอบอำนาจให้ทนายความมายื่นขอเลื่อนการฟังคำสั่งของพนักงานอัยการ ออกไปเป็นวันที่ 25 มิถุนยายน 2567 เวลา 09.00 น. พร้อมแนบใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าป่วย เนื่องจากติดโควิด โดยแพทย์ให้หยุดพักงานและสังเกตอาการเป็นเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2567

ซึ่งนายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้เป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุขอเลื่อนคดีมีการอ้างการป่วยเพราะติดโควิด โดยหมอให้พักเพื่อสังเกตอาการ ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2567 จึงอนุญาตให้เลื่อนไปวันที่ 18 มิถุนายน 2567 เพื่อนัดให้พันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร มาพบพนักงานอัยการ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลในวันดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงาน นายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาร่วมรับฟังคำสั่งฟ้องแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นเรื่องการติดโควิดของนายทักษิณ นายประยุทธ เผยว่า ยืนยันว่ามีใบรับรองแพทย์ เป็นแพทย์รับรอง ออกวันที่ 28 พฤษภาคม ซึ่งในรายละเอียดอาจจะต้องไปดูอีกที ซึ่งไม่ได้ดูว่าจากรพ.ไหน แต่ยืนยันว่าตรวจสอบตามหลักการและเหตุ ส่วนการที่เลื่อนไปเรื่องเจ็บป่วยหรือมีเหตุขัดข้อง ถือว่าเป็นระบบงานทางธุรการ แต่หลักใหญ่ใจความคือท่านอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องเรียบร้อยแล้ว ซึ่งประเด็นการขอเลื่อนทำนองนี้ที่ดูเหตุขัดข้องมีหลายลักษณะ เช่น ถ้ามีผู้ต้องหาบางรายก็อาจจะมองว่ามีหลักทรัพย์ไม่พร้อมก็จะให้เลื่อนไป

“แน่นอนว่าการให้เลื่อนไปโดยมีคำยืนยันจากคุณหมอ เราก็ต้องเชื่อท่าน แต่อย่างไรก็ตามการที่ขอเลื่อนไป 25 มิ.ย.67 แต่เราก็เอ๊ะ หมอท่านให้แค่ ดูเอาวันที่ 3 เราก็ให้ถึงวันที่ 18 มิ.ย.67 ยังไงก็ยืนยันว่าการเลื่อนทำนองนี้ ไม่เสียหายต่อความยุติธรรม และไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเห็น คำสั่งของอสส.” นายประยุทธ กล่าว

‘วัชระ’ บอกชาวโลก ‘อัยการ’ ผู้พิจารณาคดี ม.112 ให้ 'ทักษิณ' เป็นคนเดียวกับอธิบดีที่ทำตัวเป็น ‘หมอ’ บอกทักษิณป่วยหนัก

(29 พ.ค. 67) นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหมายเลข 6650102668 ผู้ต้องหาคดี 112 ให้ทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนการฟังคำสั่งของอัยการสูงสุดว่าเป็นสิทธิของผู้ต้องหา แต่ประเด็นที่น่าสังเกตคือพนักงานอัยการที่เป็นผู้บริหารคดีนี้คือ นายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ ผู้เคยทำตัวเป็นหมอที่ยืนยันว่านายทักษิณป่วยจริงขั้นวิกฤต ขวัญใจชาวเน็ตนั่นเอง

ทั้งนี้เมื่อวันที่นายทักษิณไปรับทราบข้อกล่าวหา นายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ แถลงกับสื่อมวลชนการันตีให้นายทักษิณว่า “จากสภาพที่เห็นนายทักษิณ ซึ่งนั่งวีลแชร์มาพบอัยการ ดูแล้วป่วยขั้นวิกฤติ เดินไม่ไหว และจากการพูดคุย นายทักษิณก็ไม่ค่อยมีเสียง” ซึ่งจากการที่อธิบดีอัยการทำตัวเป็นหมอถูกล้อเลียนจากสังคมชาวเน็ตไปทุกวงการสร้างความเสื่อมเสียให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นอย่างยิ่ง

ผมจึงส่งหนังสือร้องเรียนจริยธรรมของนายปรีชา สุดสงวน ไปที่อัยการสูงสุดและคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ว่านายปรีชา ประพฤติผิดจริยธรรมอัยการหรือไม่ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า เมื่อทนายของนายทักษิณส่งหนังสือมาขอเลื่อนนัดโดยอ้างว่าติดโรคโควิด-19 นายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักคดีอาญาต้องตรวจสอบใบรับรองแพทย์ว่าเป็นโรคจริงตามที่ใบรับรองแพทย์ส่งมาหรือไม่ หรือว่าป่วยการเมือง เพราะเมื่อวันก่อนนายทักษิณยังสุขภาพแข็งแรงไปยกดาบต่อหน้าย่าโมที่เมืองโคราช เมื่อสายข่าวรายงานว่าอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง กลับป่วยการเมืองอ้างว่าเป็นโควิดอย่างกะทันหัน ไม่มีใครในประเทศนี้เชื่อนายทักษิณอีกแล้ว

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ผมเชื่อว่านายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ จะอนุญาตให้นายทักษิณเลื่อนการฟังคำสั่งอย่างแน่นอน ในวันนี้อธิบดีอัยการจะทำตัวเป็นหมออีกครั้งหรือไม่ และ
จะมาแถลงด้วยตนเองหรือไม่ก็ต้องจับตาดู แต่นายปรีชาไม่ควรสั่งคดีอนุญาตให้เลื่อนนานเกินไปตามความต้องการของนายทักษิณ เพราะจะมีเสียงโห่ฮาจากพี่น้องที่รักความยุติธรรมทั้งประเทศ

‘ชัชชาติ’ โชว์ผลงาน 2 ปี หลังดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ชี้!! นโยบายสำเร็จไปแล้ว 90% สร้างความเปลี่ยนแปลงใน 6 มิติ

(28 พ.ค.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รายงานประชาชน ครบรอบ 2 ปีการทำงาน ภายใต้ชื่องาน ‘2 ปี ทำงาน ‘เปลี่ยน ปรับ’ ยกระดับเมืองน่าอยู่’ พร้อมแสดงวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 2 ปีข้างหน้า ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เดิมกรุงเทพฯ เป็นเมืองเที่ยวสนุก แต่ประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งทำให้คนเหนื่อยกับการใช้ชีวิตและการเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย ดังนั้นสิ่งที่ได้ทำตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับหลายด้าน เพื่อให้การทำงานและการแก้ไขปัญหามีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คนเหนื่อยน้อยลง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยได้ปรับเปลี่ยนด้านต่าง ๆ ดังนี้ เรื่องแรกปรับ Traffy Fondue ลดขั้นตอน เพิ่มโปร่งใส ตอบโจทย์ เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาของประชาชน เชื่อว่าสิ่งที่สะท้อนผ่านการร้องเรียน คือความเชื่อมั่นระหว่าง กทม.กับประชาชน ดังนั้น กทม.จึงมุ่งมั่นในการแก้ไขทุก ๆ ปัญหาที่ประชาชนแจ้งเข้ามาอย่างเต็มที่

เรื่องที่ 2 ปรับทางเท้ามาตรฐานใหม่ คงทน คุ้มค่า คิดถึงทุกคน กทม.มุ่งมั่นทำทางเท้าให้เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกเพศทุกวัย โดยยึดมาตรฐานทางเท้าที่แข็งแรง คงทน และสวยงาม 2 ปีได้ปรับปรุงไป 785 กม.

เรื่องที่ 3 จัดระเบียบหาบเร่ - แผงลอย ให้ประชาชนเข้าถึงอาหารราคาถูกได้โดยไม่เบียดเบียนทางเดินเท้า ทำไปแล้ว 257 จุด พร้อมจัดระเบียบสายสื่อสารรกรุงรัง รวมระยะทาง 627 กม.รวมทั้งเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าแสงสว่างเป็นหลอด LED เชื่อมระบบ IOT ตรวจสอบหลอดไฟดวงเสียได้อัตโนมัติและแก้ไขได้รวดเร็ว ให้คนกรุงเทพฯ เดินเท้ากลับบ้านอย่างสบายใจ

เรื่องที่ 4 น้ำลดไว สัญจรทันใจ เศรษฐกิจไม่ติดขัด ตั้งแต่ถอดบทเรียนและรวบรวมข้อมูลจุดน้ำท่วมทั่วกรุงเทพฯ ในปี 2565 พบจุดที่ต้องแก้ไข 737 จุด ขณะนี้แก้ไขแล้ว 370 จุด และจะแก้ไขได้ทันในปี 67 อีก 190 จุด และเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมก่อนที่จะเกิดฝน

เรื่องที่ 5 เพิ่มพื้นที่สาธารณะ ให้เมืองมีชีวิตเมืองที่ดี คือ เมืองที่มีพื้นที่สาธารณะ จะช่วยลดต้นทุนในการใช้ชีวิตให้กับประชาชน ไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงเพื่อจะเข้าถึงบริการต่างๆ และเพิ่มพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์ มีการปรับปรุงอาคารลุมพินีสถานสู่ Performance Art Hub ของคนกรุงเทพฯ เสร็จในปี 68 และการเพิ่มสวนขนาดใหญ่ให้เป็นปอดฟอกอากาศ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ เช่น โครงการเชื่อมบึงหนองบอน-สวนหลวง ร.9 สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และ สวนกีฬาทางน้ำแห่งใหม่ที่บ่อฝรั่ง (ริมบึงบางซื่อ) และสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก (เสรีไทย) ส่วนสวน 15 นาที สวนขนาดเล็กใกล้ชิดชุมชนระยะเดินไม่เกิน 15 นาที ล่าสุดเกิดขึ้นแล้วกว่า 100 แห่ง คาดว่าจะครบ 500 แห่ง ภายใน 4 ปี

เรื่องที่ 6 ปรับบริการสุขภาพ ปูพรมตรวจรักษาโรค สร้างพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อลดข้อจำกัดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ ปัญหาหมออยู่ไกล เข้าถึงยาก ไม่สะดวก เสียเวลา มีโครงการตรวจสุขภาพฟรี 1,000,000 คน ขยายการบริการของศูนย์บริการสาธารณะ รับตรวจรักษานอกเวลาจนถึง 2 ทุ่ม หรือเสาร์ - อาทิตย์

เรื่องที่ 7 โปร่งใสด้วยเทคโนโลยี คุ้มค่าเงินภาษี ตลอด 2 ปี ดำเนินการป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างเข้มข้น มีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 781 เรื่อง มีมูลทุจริต 56 เรื่อง ถึงขั้นสอบสวนทางวินัย 44 เรื่อง ให้ออกจากราชการ 29 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 12 เรื่อง ส่งต่อให้ ป.ป.ช.หรือ ป.ป.ท. 5 เรื่อง และรวมศูนย์การขอใบอนุญาตไว้บนออนไลน์ ประชาชนสามารถติดตามทุกคำขออนุญาตทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้จาก Line OA กรุงเทพมหานคร (@bangkokofficial) รวมถึงมีการเปิดฐานข้อมูล (Open Data) ด้านนโยบาย งบประมาณ สัญญาจ้าง ภาษี ไปแล้วมากกว่า 1,000 ชุดข้อมูล มีผู้ใช้งานมากกว่า 3 ล้านครั้ง/ปี ด้านการเปิดระบบจัดซื้อจัดจ้าง ได้มุ่งให้เกิดความโปร่งใสตั้งแต่การประกวดราคาจนถึงการบริหารสัญญา และการบริหารเงินให้มีประสิทธิภาพ ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ได้พยายามแก้ไขปัญหาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS ที่มีมาต่อเนื่อง ได้ลุล่วงไปในก้าวแรก โดยสามารถชำระหนี้งานระบบของส่วนต่อขยาย 23,000 ล้านบาท และโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของ กทม. เรียบร้อยแล้ว ที่จะทำต่อไปคือการลดการผูกขาด โดยเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่ง ม.44 นำระบบรถไฟฟ้ากลับสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและร่วมทุนตามกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนต่อไป

"2 ปี ที่ผ่านมาเป็นช่วงของการทำงานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของกทม.ผ่านนโยบายและโครงการต่าง ๆ มากมาย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของเมือง ใน 6 มิติ 1.ประชาชนเป็นศูนย์กลาง คือ Traffy Fondue 2.กระจายอำนาจสู่ประชาชน งบประมาณชุมชน 2 แสน 3.ทำงานอย่างโปร่งใส Open Bangkok, Open Data 4.ใช้เทคโนโลยีและข้อมูล บริการ BMA OSS, GPS รถขยะ 5.สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน รับฟังเสียงจากคนรุ่นใหม่ 6.เดินหน้าแก้ไขปัญหาที่ท้าทาย ยกระดับการศึกษา สาธารณสุข แก้หนี้ BTS ปัญหาหาบเร่-แผงลอย และเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.กทม.ใหม่ เพื่อนำไปสู่การยกระดับการบริหารราชการ กทม.รูปแบบใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่อยู่ต่อไปแม้เราจะไม่อยู่บริหารแล้ว จะเกิดประโยชน์กับประชาชน" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวถึงการทำงานอีก 2 ปี ว่า 2 ปีต่อไป มุ่งบูรณาการข้ามหน่วยงาน สร้างกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่แห่งอนาคต โดยมุ่งมั่นจะขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ โดยทำงานประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน "ตั้งแต่ประกาศนโยบายและทำงานมา 2 ปี ทำได้ 90% ยังมีเรื่องที่ทำไม่ดี ยังมีปัญหาที่ต้องทำต่ออีกมาก ถ้าให้คะแนนการทำงาน ให้ 5 เต็ม 10 ส่วนคนกรุงเทพฯ จะพอใจ หรือวัดว่ามีความสุขเพิ่มขึ้นเท่าไร ต้องให้ประชาชนบอก"

นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 4 ได้รายงานเมกะโปรเจกต์ที่จะทำในอีก 2 ปี

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่จะทำ 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้กรุงเทพฯ มีอากาศสะอาด จะมีการเปลี่ยนรถบริการของ กทม.ไม่ว่าจะเป็น รถเก็บขยะ รถบรรทุกน้ำ รถสุขาเคลื่อนที่ รถบรรทุก 6 ล้อ จากรถที่ใช้พลังงานดีเซลมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้าแทน จากการคำนวณรถขยะขนาด 5 ตัน สามารถลดค่าเช่าลงเหลือ 2,240 บาท/คัน/วัน จาก 2,800 บาท/คัน/วัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 200 ตัน/ปี จาก 2,256 ตัน/ปี ลดการปล่อย PM2.5 เหลือเป็นศูนย์ จาก 22 กก./ปี และลดต้นทุนพลังงานเหลือ 455 บาท/เที่ยว จาก 1,300 บาท/เที่ยว โดยมีแผนรับมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในปี 67 จำนวน 615 คัน ปี 68 จำนวน 392 คัน และปี 69 อีก 657 คัน และยังเร่งรัดการก่อสร้างโรงเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าอ่อนนุช-หนองแขม เพื่อลดการฝังกลบ และลดต้นทุนการจัดการขยะ โดยคาดว่าจะเปิดในปี 69 ซึ่งจะประหยัดเงินค่าจัดการขยะได้ 172,462,500 บาท/ปี

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้ประกาศบนเวทีว่า จะลาออกจากตำแหน่งทันที หากมีใครมายืนชี้หน้าว่า ‘ตนทุจริต’ โครงการเช่ารถขยะไฟฟ้า ซึ่งมีข้อซักถามถึงประเด็นการเปลี่ยนรถขยะ กทม.จากดีเซล เป็นรถ EV ว่าให้ตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริต

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า 2 ปี จากนี้ คนกรุงเทพฯ จะเดินทางสะดวกขึ้น ด้วยบริการป้ายรถเมล์ดิจิทัล 500 ป้าย การปรับปรุงศาลารถเมล์ 300 หลัง และการติดตั้งจอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารอีก 200 หลัง เพิ่มตัวเลือกการเดินทาง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อ (Last Mile) ด้วยการเดินทางที่หลากหลาย เช่น รถตุ๊ก ๆ ไฟฟ้า จักรยาน Shuttle Bus และสกายวอล์ค ด้านการจราจรจะคล่องตัวขึ้น โดยการอัปเกรดสัญญาณไฟจราจรทั่วกรุงเทพฯ ให้เป็น Adaptive Signaling ปรับสัญญาณไฟให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร 541 ทางแยก พร้อมทั้งมอนิเตอร์เมือง สังเกต และสั่งการผ่าน Command Center

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า 2 ปีหลังนี้ จะผลักดันโรงพยาบาลเดิม 3 แห่ง โดยเพิ่มเตียงโรงพยาบาลกลาง อีก 150 เตียง โรงพยาบาลบางนาเพิ่ม 324 เตียง โรงพยาบาลคลองสามวา เพิ่ม 268 เตียง และเพิ่มโรงพยาบาลใหม่ในสังกัด กทม.อีก 4 แห่ง โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี ขนาด 150 เตียง เปิดแล้ว จะเปิดโรงพยาบาลดอนเมือง ขนาด 200 เตียง โรงพยาบาลสายไหม ขนาด 120 เตียง และโรงพยาบาลทุ่งครุ ขนาด 60 เตียง เพื่อขยายเตียงดูแลคนกรุงเทพฯ ให้ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น อีก 1,272 เตียง และพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เข้าถึงง่าย กระจายทั่วกรุงเทพฯ โดยก่อสร้างอาคารใหม่ 21 แห่ง และปรับปรุงใหม่อีก 31 แห่ง นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับปรุงสถานีดับเพลิง 13 แห่ง และสร้างใหม่อีก 3 แห่ง พร้อมทั้งยกระดับ Command Center

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพัฒนาคน คือการพัฒนาเมือง จะยกระดับจากการศึกษา สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) โดยการศึกษาปฐมวัย ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเริ่มรับเด็กเร็วขึ้น เพิ่มชั้นอนุบาลสำหรับเด็ก 3 ขวบ แผนขยายให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในปี 69 ส่วนการศึกษาภาคบังคับ พัฒนาห้องเรียนดิจิทัล สร้าง Active Learning ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ส่วนการพัฒนาเมืองเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งช่วยสอดส่อง แจ้งปัญหา ร่วมทำ ร่วมนำเสนอ ผ่านสภาเด็กและเยาวชน สภาเมืองคนรุ่นใหม่ ประชาคมคนพิการ ย่านสร้างสรรค์ เทศกาล อีเวนต์ กิจกรรมดนตรีในสวน และอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน มี e-participation แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถร่วมสร้างกรุงเทพฯ

‘รัดเกล้า’ เผย ครม.ไฟเขียว เพิ่มเงินประจำตำแหน่งตำรวจ ปรับมาตรฐานให้ทัดเทียมข้าราชการทหาร-พลเรือน

(28 พ.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอ โดยการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามที่พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ข้าราชการตำรวจให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งท้ายพ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ 2565 ในอัตราใดให้เป็นไปตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด รวมทั้งเพื่อเป็นการปรับปรุงการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร และสอดคล้องกับการกำหนดลักษณะงานบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นางรัดเกล้า กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างฯ 3 ข้อ ดังนี้

1. ให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญา ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการอีกประเภทหนึ่งอยู่ด้วยแล้ว ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหาร โดยไม่ตัดสิทธิการได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาการของตนเองที่ครองอยู่

2. ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ ‘พันตำรวจโท’ ขึ้นไป และดำรงตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพเฉพาะได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ โดยเพิ่มสายงานที่ปฏิบัติวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งเป็นงานที่ไม่อาจมอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างอื่นปฏิบัติงานแทนได้ เป็นงานมีผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งเพิ่มมา 5 สายงานจากเดิม 28 สายงาน ประกอบด้วยวิชาชีพเฉพาะกายบุคคล, วิชาชีพเฉพาะกิจกรรมบำบัด ,เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก, แพทย์แผนไทย และเวชศาสตร์การสื่อความหมาย เพื่อรองรับและปรับปรุงภารกิจที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง และ

3. ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป ที่ต้องปฏิบัติงานที่เป็นงานหลักของหน่วยงานและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยมีการเพิ่มลักษณะงานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 2 ด้าน คือ ด้านการสืบสวนสอบสวน และด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ โดยได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะด้วย

ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า ได้ดำเนินการได้ตามมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ 2561 โดยรายงานว่าการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ต่อรัฐหรือหน่วยงานของรัฐไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณหมวดเงินด่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

‘นพ.ตุลย์’ โต้ ‘อานันท์ ปันยารชุน’ ปมเยาวชนทำผิด ม.112

(28 พ.ค. 67) นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ได้ออกมาตอบโต้กรณี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาเปิดการเสวนา เรื่อง ‘ฉากทัศน์อนาคตสังคมไทย’ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 67 โดยบางช่วงบางตอนได้พูดฝากถึงผู้ใหญ่ในสังคมว่า “สนุกมากหรือที่เห็นเด็กเข้าคุก สนุกมากหรือที่เห็นเด็กทรมาน และไม่ได้ประกันตัว ทำได้อย่างไร ไม่ละอายใจตัวเองบ้างหรือ จับเด็กเข้าคุกเป็นว่าเล่น” โดยระบุว่า…

"ถึงคุณอานันท์ ปันยารชุนที่ (ไม่) เคารพ (แล้ว) พวกเราไม่ได้ยินดีหรอก ที่เด็กๆ ต้องเข้าคุก และตายไป ท่านไม่ควรคิดตำหนิกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่ตามหน้าที่ดีแล้ว คนที่ทำผิดมาตรา 112 ศาลก็ให้ประกันตัวตามสิทธิ์ แต่มีเด็กบางคนที่ถูกปั่น (โดยใคร?) จนสุดโต่ง และจงใจทำผิดซ้ำอันเป็นการผิดเงื่อนไขประกัน จนศาลต้องถอนประกัน ท่านอานันท์ผ่านโลกมาจนแก่ป่านนี้ น่าจะสังเคราะห์ออก ถ้าสมองไม่เลอะเลือนจนเกินไป หวังว่าพูดครั้งหน้า จะเปลี่ยนเป้าไปต่อว่า 
พวกที่ชักจูงเด็กให้ทำผิด จะเหมาะสมกว่านะครับ

ขอแสดงความห่วงใย
ปล.เคยชื่นชมท่านมาก”

‘มาริษ’ จ่อไป ‘กัมพูชา’ ถกรื้อสันเขื่อนกินรวบ ‘เกาะกูด’  ชี้!! คงต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน ไม่ใช่จะไปขอเขาอย่างเดียว 

(28 พ.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายมาริษ​ เสงี่ยม​พงษ์​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวงการ​ต่างประเทศ​ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่​ นายไพบูลย์​ นิติตะวัน​ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะนักกฎหมายอิสระ ทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย MOU 2544 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังพบไม่ได้มีการพิจารณาผ่านสภาฯ​ ว่า​ ยืนยันว่า MOU ไม่ได้มีบทบังคับอะไร หรือเป็นสนธิสัญญา และปัจจุบันเรายังไม่ได้ตกลงอะไรกันเลย ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด พร้อมยืนยันว่า MOU 2544 ไม่ได้ส่งผลต่อเขตแดนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา  

เมื่อถามว่าภายหลังที่นายฮุน​ มาเนต​ มาเยือนไทยได้มีการตั้งคณะกรรมการ​ร่วมเพื่อผลักดันเรื่องนี้หรือไม่​ นายมาริษ​ กล่าวว่า​ ยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการ​ เพราะท้ายที่สุดแล้วเราต้องพิจารณาให้ชัดเจน​ เรื่องผลประโยชน์​อยู่ตรงไหน​ และที่สำคัญตนกำลังหารือกันเป็นการภายในกระทรวงการต่างประเทศ​ เพื่อเคลียร์ทุกสิ่งทุกอย่าง​ โดยอยากให้กระทรวงการต่างประเ​ทศได้ชี้แจงและให้ความรู้กับ​ประชาชน​ ซึ่งตนขอเวลาให้ได้พูดคุยรายละเอียด​ให้เรียบร้อยก่อน​ ซึ่งตนตั้งใจที่จะให้ข้อมูลกับสารธารณะชนให้ได้มากที่สุด​ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสน​

เมื่อถามว่าทางกระทรวงกลาโหมเคยทำหนังสือมายังรัฐบาล​ ให้แบ่งผลประโยชน์​ทับซ้อนควบคู่กับการปักปันเขตแดน​ นายมาริษ​ กล่าวว่า​ ขอคุยรายละเอียด​ในกระทรวงการต่างประเทศก่อน​ เพราะตนก็ต้องดูทุกสิ่งทุกอย่าง​เป็นไปตาม​กฎหมายหรือไม่​ และต้องการให้ทุกคนเห็นชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร​

ส่วนกรณี​จะต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญ​รับคำร้องของนายไพบูลย์​ หรือไม่นั้น​ นายมาริษกล่าวว่า​ ก็เป็นเรื่องของทางศาล​ แต่ในส่วนของการมานั่งพูดคุยกันของผู้ปฏิบัติงาน​ เพื่อให้เกิดความชัดเจน​ ก็สามารถดำเนินการไปได้​

เมื่อถามถึงกรณีที่ทางกัมพูชาสร้างสันเขื่อนลงทะเลอ่าวไทย ทางกระทรวงการต่างประเทศ​ต้องทำหนังสือ​ประท้วงไปอีกครั้งหรือไม่​ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคย ดำเนินการไปแล้วเมื่อปี 2564 นายมาริษ​ กล่าวว่า​ เรื่องนี้สามารถพูดคุยกันได้ และตนมีแผนที่จะไปเยือนกัมพูชาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศดีมาก เราต้องดูเวลาว่าควรเป็นช่วงใด ซึ่งในกรอบของอาเซียน ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ อยากเน้นให้ได้สบายใจว่า ประเทศไทยจะมีบทบาทนั้น ในเรื่องของการช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งถือเป็นคาแรคเตอร์สำคัญของประเทศไทย ที่เป็นผู้ประสานประโยชน์ ให้กับทุกกลุ่มทุกประเทศได้ถือเป็นจุดแข็ง ซึ่งตรงนี้จะเอามาเน้น เพื่อมีบทบาทนำ ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะในเวทีทวิภาคีเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงเวทีพหุภาคีด้วย ยืนยันว่าตรงนี้อยู่ที่ช่วงเวลาที่เหมาะสมทั้งหมด

เมื่อถามว่าเราจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชาขอร้องให้รื้อสันเขื่อนดังกล่าวหรือไม่ นายมาริษ​ กล่าวว่า ขอดูระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะเรื่องความสัมพันธ์ไม่มีปัญหา เป็นเพื่อนกัน ไม่ใช่ว่าจะไปขอเขาอย่างเดียว ก็ต้องดูว่าเรามีอะไร ที่จะไปแลกเปลี่ยนเขาได้​ 

เมื่อถามว่า คนไทยไม่สบายใจ เพราะกัมพูชา สร้างสรรค์เขื่อนดังกล่าว โดยยึดหลักเขตที่ 73 ซึ่งกินพื้นที่เกาะกูด​ จังหวัดตราด นายมาริษ​ กล่าวว่า​ ตนเข้าใจ

อย่ากลัว!! 'กฎหมายอาญา' หากไม่ได้ทำความผิด แต่เมื่อทำผิด!! ไม่ว่าจะมาตราไหนย่อมต้องติดคุก

หลายคดี 112 ถูกตีฟันเข้ามาพร้อม ๆ กันในวันที่ 27 พ.ค. 67 โดยศาลได้ตัดสินจำคุก 2 ผู้กระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้แก่...

(1) น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล กรณีการชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อ 11 กันยายน 2564 เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง แต่กลับปราศรัยเกี่ยวข้องพาดพิงกับการออก พ.ร.บ.ระเบียบราชการในพระองค์ 2560 และ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2561 จนเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายอาญาตามมาตรา 112  

เช่นเดียวกับ (2) นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์หรือ แอมมี่ เดอะ บอตทอม บลูส์ ศิลปิน-แกนนำม็อบป่วนเมือง และนายธนพัฒน์ หรือปูน กาเพ็ง ซึ่งเป็นจำเลย 1-2 ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 'มาตรา 217' ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 

(3) เมื่อคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้ง 2 ได้ร่วมกันวางเพลิง โดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งประดิษฐานติดตั้งบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมจนได้รับความเสียหาย

เช่นเดียวกับบรรดาตัวตึงเหล่านี้ ได้แก่ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ 25 คดี, อานนท์ นำภา 14 คดี, ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี, ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี, ‘แพรว’ เบนจา อะปัญ 8 คดี, ‘ไบร์ท’ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 8 คดี, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 6 คดี, พรหมศร วีระธรรมจารี 5 คดี, ชูเกียรติ แสงวงค์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ 4 คดี และ ‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี 

แน่นอนว่าชีวิตของคนเหล่านี้จะต้องวนเวียนขึ้นศาลและเข้าคุก หรือไม่ก็ต้องหลบหนีการดำเนินคดีออกนอกประเทศไปอีกนาน

นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 - 10 พฤษภาคม 2567 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 ไปทั้งสิ้น 303 คดี มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 272 คน 

หากย้อนไปก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว คดีความผิดตามมาตรา 112 เกิดขึ้นในแต่ละปีน้อยรายมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการนำเอาสถาบันฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยบรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยที่ผู้มีอำนาจรัฐหรือรัฐบาลในเวลาต่อมาไม่ได้พยายามตั้งใจที่จะป้องปรามหรือป้องกันแก้ไขเรื่องราวที่ไม่ถูกต้อง แต่มีผู้ที่ประสงค์ร้ายต่อชาติบ้านเมืองนำมากล่าวเท็จ ใส่ร้าย ยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความเข้าใจผิดในสถาบันฯ อยู่เรื่อยมา

ในเวลาต่อมา มีกลุ่มบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นคนรุ่นใหม่แต่มีพฤติกรรมและพฤติการณ์ที่เป็นพวกปฏิกษัตริย์นิยม (Anti-Royalism) เข้ามามีบทบาทในสังคมและการเมือง คนพวกนี้ต่างยุยงให้ท้าย แต่ไม่ออกหน้า ทำตัวเป็นอีแอบหลังเด็ก ๆ และเยาวชนที่พวกตนหลอกล่อและล้างสมองให้เกิดความงมงายเพื่อต่อต้านสถาบันฯ อย่างไร้เหตุผล จากการชุมนุมโดยอ้างสิทธิเสรีภาพอย่างปราศจากขอบเขต ปราศรัยบนเวที และส่งต่อแนวคิดผ่านโซเชียลมีเดีย 

ซ้ำร้ายยัง 'ชักชวน-บีบบังคับ' ให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยได้บิดเบือนอ้างว่า กฎหมายนี้ทั่วโลกไม่มีใครนำมาใช้ และไม่เป็นธรรม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั่วโลกยังใช้กฎหมายมาตรานี้อยู่ ซ้ำยังบังคับใช้อย่างจริงจังและรุนแรงอีกด้วย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเพียงกฎหมายป้องกันการหมิ่นประมาทหนึ่งในกฎหมายหมิ่นประมาท 3 จำพวกเช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทของนานาประเทศได้แก่...

1) หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (ม.326 ประมวลกฎหมายอาญาของไทย)

2) หมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ม.136ประมวลกฎหมายอาญา และหากหมิ่นประมาทศาลก็จะมีความเฉพาะเจาะจงลงไปอีก)

3) หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐ (ม.112 ประมวลกฎหมายอาญาของไทย) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”

ตัวอย่างของกฎหมายลักษณะเดียวกับมาตรา 112 ในประเทศต่าง ๆ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อาทิ...

- สเปน มาตรา 490 และ 491 ของประมวลกฎหมายอาญาควบคุมการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บุคคลใดที่หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น กษัตริย์ ราชินี บรรพบุรุษหรือทายาทมีโทษจำคุกได้สองปี 

- บรูไน การหมิ่นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนถือเป็นอาชญากรรม มีโทษจำคุกสามปี

- กัมพูชา กุมภาพันธ์ 2018 รัฐสภากัมพูชาได้ลงมติให้การกระทำอันเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ใด ๆ ที่มีโทษจำคุกสูงสุดหนึ่งถึงห้าปี และปรับ 2 ถึง 10 ล้านเรียล 

- มาเลเซีย มีกฎหมายที่เจ้าหน้าที่สามารถตั้งข้อหาผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันฯ ได้

- โมร็อกโก มีผู้ถูกดำเนินคดีจากข้อความที่ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ โดยบทลงโทษขั้นต่ำสำหรับความผิดดังกล่าวคือ จำคุกหนึ่งปีหากคำแถลงดังกล่าวจัดทำขึ้นเป็นการส่วนตัว (เช่นไม่ออกอากาศ) และจำคุกสามปีหากเผยแพร่ในที่สาธารณะ ในทั้งสองกรณีสูงสุดคือ 5 ปี 

- ซาอุดีอาระเบีย การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐ จะถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่มีผลบังคับใช้ในปี 2014 การกระทำที่ ‘คุกคามเอกภาพของซาอุดีอาระเบีย รบกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของรัฐหรือกษัตริย์’ ถือเป็นการกระทำที่เป็นการก่อการร้าย ความผิดดังกล่าวอาจได้รับการลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรง รวมถึงการเฆี่ยนในที่สาธารณะ การจำคุกที่ยาวนาน และแม้กระทั่งการประหารชีวิต อาจมีการพิจารณาโทษเป็นรายกรณี เนื่องจากระบบกฎหมายของซาอุดีอาระเบียมีลักษณะตามอำเภอใจ (น่าแปลกที่บรรดานักเคลื่อนไหวและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ต่างก็ไม่เข้าไปยุ่งเลย)

ตัวอย่างของกฎหมายลักษณะเดียวกับมาตรา 112 ในประเทศต่าง ๆ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เช่น...

- เยอรมนี การดูหมิ่นประธานาธิบดีผิดกฎหมาย แต่การฟ้องร้องต้องได้รับอนุญาตจากประธานาธิบดี

- ไอซ์แลนด์ การดูหมิ่น ประธานาธิบดี ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้แทน หรือธงชาติ อาจถูกลงโทษโดยจำคุกไม่เกินสองปี สำหรับการละเมิดที่ร้ายแรงมากโทษสูงสุดสามารถขยายได้ถึงหกปี

- โปแลนด์ การดูหมิ่นประมุขต่างประเทศในที่สาธารณะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 

- รัสเซีย มีนาคม 2019 สภานิติบัญญัติของรัสเซียได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยข่าวปลอมหรือดูหมิ่นประธานาธิบดีรัสเซีย นายกรัฐมนตรี และประมุขต่างประเทศจากนั้นต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 วัน และปรับไม่เกิน 30,000 รูเบิล

- สวิตเซอร์แลนด์ ดูหมิ่นประมุขต่างประเทศต่อหน้าสาธารณชนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย บุคคลใดที่ดูหมิ่นอย่างเปิดเผยต่อบุคคลที่เป็นประมุขของรัฐ สมาชิกของรัฐบาล ผู้แทนทางการทูต ผู้แทนอย่างเป็นทางการในการประชุมทางการทูตที่จัดขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์หรือผู้แทนอย่างเป็นทางการคนใดคนหนึ่งขององค์กรระหว่างประเทศ หรือแผนกที่ประจำอยู่หรือนั่งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือต้องโทษปรับ

- สหรัฐอเมริกา Craig Robertson ชายผู้ที่โพสต์ข้อความข่มขู่ต่อประธานาธิบดี Joe Biden ทางออนไลน์ ถูก FBI บุกเข้าจับกุมและยิงจนเสียชีวิตภายในบ้านพักของเขาเอง

ข้อมูลต่างประเทศเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้ที่ปลุกปั่นและผู้ที่ถูกหลอกให้เคลื่อนไหวให้ยกเลิกมาตรา 112 ไม่ได้แตกฉานในข้อเท็จจริงและเจตนาของกฎหมาย แต่กล่าวอ้างด้วยความจงใจที่จะให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังในสังคม และในทางกลับกันหากมีใครไปด่าว่าบุพการีของคนเหล่านั้นแล้ว คนเหล่านั้นเองยินยอมที่จะไม่แจ้งความดำเนินคดีจับผู้ที่ด่าว่าบุพการีของพวกตนตามประมวลกฎหมายมาตรา 326 หรือไม่? 

แต่ที่แน่ ๆ ก็คือหนึ่งในแกนนำของพวกปฏิกษัตริย์นิยมเอง กลับนำมาตรา 326 ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบรรดาผู้ที่โพสต์พาดพิงตัวเองในโซเชียลมีเดียมากมายหลายคดี 

ฉะนั้นแล้วกฎหมายอาญาทุกมาตรา หากไม่ได้ทำความผิดก็ย่อมที่จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย และเมื่อไม่ได้ทำความผิดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกลัวการถูกดำเนินคดี แต่เมื่อทำผิดกฎหมายในคดีอาญาแล้ว...ไม่ว่ามาตราไหนก็ตาม ย่อมต้องถูกลงโทษ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เหมือนกันกับทุกประเทศบนโลกใบนี้

‘ดร.อานนท์’ ชี้!! คนที่เกี่ยวกับ ม.112 ล้วนมีความทุกข์ ส่วนคนยุยงเด็กทำผิด ม.112 ไม่ทุกข์!! และคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’

(27 พ.ค. 67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…

“ผมอดทนไม่พูดอะไรเลยมานาน แต่วันนี้ขอพูดนะครับ 

พออ่านสิ่งที่นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีพูดแล้ว ก็ขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำให้ไม่อาจจะเห็นด้วยกับนายอานันท์ ปันยารชุนแล้วกันนะครับ

ผมคิดว่าคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ในกรณีมาตรา 112 ล้วนมีความทุกข์หมด คนที่ไม่มีความทุกข์คือคนที่ยุแหย่ยุยงอยู่เบื้องหลังเด็กให้เด็กออกมากระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายนี่แหละครับ

1. จำเลยผู้กระทำความผิดก็มีทุกข์

2. พนักงานสอบสวนที่ต้องทำคดีก็มีทุกข์ เพราะเป็นเรื่องยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยมาในการทำสำนวนคดี

3. คณะกรรมการกลั่นกรองคดีความมั่นคง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีความทุกข์ ต้องอ่านและตัดสินใจอย่างละเอียดในการทำคดี

4. พนักงานอัยการก็มีทุกข์ที่ต้องทำความเห็นสั่งฟ้อง ต้องเรียกขอหลักฐานเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวน

5. ผู้พิพากษาในคดีมาตรา 112 ก็มีความทุกข์ที่ต้องตัดสินพิพากษาจำคุกผู้กระทำความผิด 

6. พยานในคดีมาตรา 112 ก็มีทุกข์ครับ 

ผมขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่า ผมเองเมื่อเริ่มต้นต้องไปเป็นพยานคดีอาญามาตรา 112 ผมไม่สบายใจเลย เครียด เพราะว่าสงสารจำเลยที่จะต้องติดคุก แต่ผมเองก็รักษาหลักนิติรัฐและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ตลอดจนปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 อันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยครับ

ผมมีอาการปวดท้องหรือปวดกระเพาะอาหาร หลังจากไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีมาตรา 112 ได้ไม่กี่คดี อาการคือปวดแสบปวดร้อนในท้อง จนตัดสินใจไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หมอยังไม่ทันส่องกล้อง ก็กล่าวเลยว่า ไม่จำเป็นต้องส่องกล้องเลย หมอคิดว่าอาจารย์อานนท์เครียด กินยาลดความวิตกกังวลสักหน่อยอาการน่าจะดีขึ้น ผมก็ยืนยันว่าจะส่องกล้องดู หมอก็บอกว่าดี ก็เลยนัดส่องกล้อง ผมตัดสินใจส่องกล้องโดยไม่วางยาซีม (Sedate) การส่องกล้องเข้าไปส่องกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานมากครับ นอนตะแคงดูหน้าจอไปด้วย หมอที่ส่องกล้องก็บรรยายไปด้วยครับ ราวกับชม Discovery Channel ของร่างกายตัวเอง เป็นสารคดีชั้นเยี่ยม หมอขลิบชิ้นเนื้อในกระเพาะอาหารไปตรวจเชื้อโรค ก็ไม่พบการอักเสบ ลำไส้และกระเพาะอาหารสะอาดสะอ้าน ไร้ริ้วรอยแผลเป็นใดๆ สรุปคือปวดท้องเพราะเครียดแล้วน้ำย่อยหลั่งออกมามาก หมอจ่ายยาแก้เครียดมาให้ทัน อาการผมดีขึ้นทันตาเห็น

ผมได้ไปเจอพี่ทหารผ่านศึกที่เคยไปทำสงครามลับในลาว พี่เขาก็เล่าประสบการณ์ในสนามรบให้ฟัง ว่าทำไมอย่างไร จำเป็นอย่างไรจึงต้องฆ่า แล้วก็บอกว่าถ้าเครียดก็ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติไม่ได้ ต่างคนต่างมีหน้าที่ ผมฟังแล้วก็เกิดบรรลุ เข้าใจสัจธรรม ของการทำหน้าที่ 

ผมฟังแล้วก็ผ่อนคลาย คิดได้ ทำใจได้ ก็เลยเลิกกินยาคลายวิกตกังวลมาแต่บัดนั้น แล้วก็ไม่ปวดท้องอีกมาจนบัดนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ทุกข์หรือไม่เครียด หรือสะใจ แต่ทุกข์แล้วรู้เท่าทันทุกข์ และรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ทำหน้าที่อะไรอยู่

ดังนั้น ผมอยากพูดว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีมาตรา 112 มีความทุกข์กันทั้งสิ้น แต่คนที่ไม่ทุกข์เลยคือคนที่ยุยงส่งเสริมเด็กให้กระทำความผิดมาตรา 112 คนที่รับผลกระทบมากที่สุด คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ครับ 

คงต้องถามว่า คุณอานันท์ ปันยารชุน มีความทุกข์หรือมีความสุขกับคดีมาตรา 112 บ้างแหละครับ”

ช่างกล้า!! 'รังสิมันต์ โรม' ยกคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์  แค่เห็นต่างทางความคิดก็ติดคุก แล้วจะปรองดองกันได้ยังไง

(27 พ.ค.67) นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความทางแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ (X) ระบุว่า การที่วันนี้ยังมีคนเข้าสู่เรือนจำเรื่อย ๆ จากการเห็นต่างทางความคิด ไม่เว้นแม้แต่เยาวชนอายุ 21 ปี (คุณปูน ในคดีแอมมี่)และยังมีคนบางกลุ่มมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสนุก เห็นดีเห็นงามกับการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ ทั้งที่แลกมาด้วยความขัดแย้งที่มากขึ้น ซ้ำเติมรอยร้าวของสังคมให้ชัดเจนมากขึ้น

สังคมเราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้เลย โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นเยาวชน ถ้าเรายังเพิกเฉยไม่กล้าที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน จะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่จบสิ้น มีเด็กถูกส่งเข้าคุกมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราจะร่วมกันสร้างสังคมที่ปรองดองกันได้อย่างไร

ให้กำลังใจลูกเกด แอมมี่ และทุกคน ๆ ครับ

คดีแอมมี่ที่นายรังสิมันต์ โรม กล่าวถึงคือคดีหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขดำอ.1199/2564 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้อง นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะ บอตทอม บลูส์ ศิลปิน-แกนนำม็อบป่วนเมือง และนายธนพัฒน์ หรือปูน กาเพ็ง เป็นจำเลย 1-2 ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 217 ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3)

อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อคืนวันที่ 28 ก.พ.2564 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันวางเพลิง โดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งประดิษฐานติดตั้งบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมได้รับความเสียหาย นับเป็นการแสดงอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ต่อมาจําเลยได้นําภาพเข้าและเผยแพร่สู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในบัญชีเฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า ‘The BOTTOM BLUES’ ของจําเลย ซึ่งเป็นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่เปิดเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จึงเป็นการ นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

ล่าสุดวันนี้จำเลยทั้งสอง พร้อมทนายความเดินทางมาศาล ศาลอาญาพิเคราะห์หลักฐานโจทก์จำเลยทั้งสองแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันวางเพลิงจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ประดิษฐานอยู่หน้าเรือนจำคลองเปรม หลังกระทำแล้วจำเลยที่หนึ่งได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อ the bottom blues เผยแพร่ภาพไฟไหม้รูปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และเปิดเป็นสาธารณะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าไม่ได้ทำเพื่อมุ่งร้ายต่อพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ หรือเพนกวิน ทั้งนี้การเรียกร้องดังกล่าวจำเลยยังสามารถแสดงออกได้อีกหลายวิธีการที่เลือกเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ย่อมเป็นการใช้สิทธิ์ที่มิใช่สิทธิตามปกตินิยมแม้จะอ้างว่าไม่มีเจตนาต่อพระมหากษัตริย์

แต่โจทก์มีรายงานการสืบสวนและคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองว่า พยานจำเลยทั้งสองร่วมกับเพนกวินเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์โดยการกระทำที่ไปจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ย่อมแสดงว่าจำเลยทั้งสอง มีเจตนาทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจได้ว่าหากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของจำเลยทั้งสองก็จะสามารถทำลาย สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันที่ประชาชนเคารพรัก การกระทำดังกล่าวเป็นลักษณะการขู่เข็ญโดยการแสดงออกด้วยการกระทำว่าจะทำให้เสียหายในทางใดใดไม่ว่าจะเป็นร่างกายทรัพย์สินสิทธิเสรีภาพชื่อเสียงกิตติคุณและลดคุณค่าของพระมหากษัตริย์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิด

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสอง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 217 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่หนึ่งมีมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยที่1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ กับฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เป็นโทษที่หนักสุด จำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 3 ปี ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปี และไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 76 จำคุกหนึ่ง 1 ปี 6 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 3 ปี

คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 112 กำหนด 2 ปี และฐานความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2 ปี รวมโทษแล้วจำเลยที่ 1 จำคุก 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ไม่รอลงอาญา

‘อาจารย์ไชยันต์’ โพสต์ “คนไปแจ้งความมีแต่ความโกรธ คนรับแจ้งมีแต่ความทุกข์ อัยการก็ทุกข์ พยานก็กังวล ศาลยิ่งทุกข์ สุดท้าย ไม่ว่าคำตัดสินออกมาอย่างไร สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เดือดร้อน”

(27 พ.ค.67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…

“ท่านครับ คนไปแจ้งความมีแต่ความโกรธ คนรับแจ้งมีแต่ความทุกข์ อัยการก็ทุกข์ พยานก็มีแต่ความกังวลเหน็ดเหนื่อยที่ต้องขึ้นศาล ศาลยิ่งทุกข์ สุดท้าย ไม่ว่าคำตัดสินออกมาอย่างไร สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เดือดร้อน”

พร้อมระบุต่อว่า “ท่านครับ คนที่คอยสนับสนุนให้ข้อมูลบิดเบือน ให้เด็กกระทำผิดต่างหาก ที่กระหยิ่ม ยามที่เด็กทรมาน ต้องเข้าคุก ไม่ได้ประกันตัว และคนเหล่านั้นก็พุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์”

ลุ้น!! 'ชูศักดิ์ ศิรินิล' เข้าป้ายรัฐมนตรีแทน 'พิชิต ชื่นบาน' หลังทุ่มเทให้ค่ายนี้แบบสุดลิ่ม แค่ไม่มีถุงขนมให้ใคร

ไล่เช็กชื่อบุคคลในพรรคเพื่อไทยในเวลานี้คงไม่มีใครเหมาะสมมากไปกว่า รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ในการเข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แทน พิชิต ชื่นบาน ที่ลาออกไปด้วยเหตุผลถูก 40 สว.ลงชื่อกันให้ตรวจสอบคุณสมบัติ และพิชิต ยอมเป็นม้าให้ขุนกิน

ชูศักดิ์จึงเหมาะสมยิ่งในการเข้ามาดูแลงานด้านกฎหมายให้รัฐบาล เพราะมองซ้ายมองขวาแล้วไม่เห็นใคร

ชูศักดิ์ อดีตอาจารย์รามคำแหง สอนวิชากฎหมาย เคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ และไต่เต้ามาจนได้รับเลือกจากชาวรามคำแหง (อาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่) ให้เป็นอธิการบดี

‘ติงลี่’ คือฉายาที่ได้รับจากชาวรามคำแหง ด้วยรูปร่าง หน้าตา บุคลิคตอนวัยหนุ่มใกล้เคียงกับพระเอกหนังจีน ‘ติงลี่’ ไว้หนวดเหนือริมปาก เป็นอธิการบดีต่อ ‘สุขุม นวลสกุล’

ออกจากรามคำแหงก็มุ่งหน้าสู่สายการเมือง ร่วมในภารกิจผลักดันพรรคไทยรักไทยมีตั้งแต่ยุคต้น ๆ และเป็น 1 ในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองนานถึงสิบปี

ชูศักดิ์ เมื่อพ้นจากการถูกตัดสิทธิ์ ก็ยังร่วมภารกิจกับเพื่อไทยมาโดยตลอด โดยไม่เคยได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีมาก่อนเลย ทั้ง ๆ ที่เสียสละ ทุ่มเทให้กับค่ายนี้มาโดยตลอด ไม่มีการเรียกร้อง เคลื่อนไหว กดดัน แม้จะมีโอกาสก็ตาม

แม้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจเต็มจะมองไม่เห็น เพราะเพิ่งเข้ามาทีหลัง แต่เชื่อว่า ‘เจ้าสำนักจันทร์ส่องหล้า’ น่าจะมองเห็นกับผลงานเป็นที่ประจักษ์ ประวัติก็ไม่ด่างพล้อย เพียงแต่ไม่มีถุงขนมให้ใคร

‘อานันท์ ปันยารชุน’ ฝากถึงผู้ใหญ่ในสังคม “สนุกมากหรือที่เห็นเด็กเข้าคุก สนุกมากหรือที่เห็นเด็กทรมาน และไม่ได้ประกันตัว ทำได้อย่างไร ไม่ละอายใจตัวเองบ้างหรือ จับเด็กเข้าคุกเป็นว่าเล่น”

(27 พ.ค.67) จากคอลัมน์ ‘กวนน้ำให้ใส’ ของ ‘แนวหน้า’ ได้เผยถึงกรณีที่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาเปิดการเสวนา เรื่อง ‘ฉากทัศน์อนาคตสังคมไทย’ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 67

โดยเนื้อหาบางส่วน มีการโจมตีกล่าวหาว่ามีคนบางกลุ่มใช้คำว่า ‘รักชาติ’ จนไม่รู้ว่ารักอย่างไร รักชาติจนทำให้คนอื่นไม่มีที่ยืน หากใครมีความคิดแตกต่างก็มองเป็นศัตรูหมด

นายอานันท์ กล่าวว่า สำหรับฉากทัศน์ของสังคมไทยก็อาจคล้ายกับฉากทัศน์ในสังคมอื่น ๆ แต่สังคมไทย เป็นสังคมที่เสื่อมลงเรื่อย ๆ ด้วยน้ำมือคนไทยด้วยกันเอง โดยสาเหตุที่เสื่อมลง เพราะความหูเบา การเชื่อคนง่าย ความอิจฉาริษยาการอาฆาตพยาบาท และอยากมีอำนาจ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลลบกับสังคม

นายอานันท์ เผยอีกว่า คนรุ่นใหม่มีความคิดที่อยากไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น เรื่องนี้คงต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่ไม่คิดไปอยู่ต่างประเทศ เพราะอนาคตของประเทศนี้ไม่ได้อยู่ที่คนสืบทอดอำนาจต่างๆ แต่อยู่ที่เยาวชนในสังคม โดยปัญหาเร่งด่วนของสังคมไทย คือ เรื่องการศึกษา ปัจจุบันมีแต่ความเหลื่อมล้ำทุกด้าน และประเด็นสำคัญ คือ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส

ฝากถึงผู้ใหญ่ในสังคมว่า “สนุกมากหรือที่เห็นเด็กเข้าคุก สนุกมากหรือที่เห็นเด็กทรมาน และไม่ได้ประกันตัว ทำได้อย่างไร ไม่ละอายใจตัวเองบ้างหรือ จับเด็กเข้าคุกเป็นว่าเล่น” นายอานันท์กล่าว

1.เนื้อหาที่อดีตนายกฯ อานันท์พูด บางส่วนน่าสนใจ เช่นที่บอกว่า สังคมไทยเสื่อมลง เพราะความหูเบา การเชื่อคนง่ายความอิจฉาริษยา การอาฆาตพยาบาท...

แต่ควรจะพูดให้ชัดว่า ใครหูเบา? ใครหลงเชื่อคนง่าย?

เพราะกลุ่มคนที่ปั่นเฟกนิวส์ ปั่นหัวเยาวชนจนเกิดความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ล้วนอยู่รายรอบการเมืองสีส้มที่คุณอานันท์ให้ความเอ็นดู สนับสนุน อุ้มชู ยกย่องสารพัดนั่นเอง

สารพัดข้อมูลเท็จที่ปั้นจนคนหูเบาเชื่อ และนำไปขยายความ จนถูกดำเนินคดี ติดคุกติดตะราง อาทิ เรื่องแอร์ไม่เย็น เรื่องคอมเพล็กซ์ ฯลฯ ถูกนำไปขยายความให้ร้ายสถาบันอย่างรุนแรง มันเพราะใครที่อาฆาตพยาบาทล่ะ

2.ที่อดีตนายกฯ อานันท์พูดถึงเด็กเข้าคุก ไม่ได้ประกันตัว นี่คือการพูดที่เลือกเข้าข้าง ให้ท้ายการเมืองบางกลุ่ม คือ กลุ่มสีส้มแซะสถาบัน โดยไม่เป็นธรรมกับกระบวนการยุติธรรมชัดเจน

กี่คนที่ถูกดำเนินคดีเพราะจาบจ้วงล่วงละเมิด โจมตีสถาบันอย่างปราศจากความจริง ไม่เป็นธรรมต่อสถาบัน

ส่วนใหญ่ ล้วนแต่ได้รับการประกันตัว แต่บางคนกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จึงต้องถูกเพิกถอนการประกัน กลับไปอยู่ในคุก

บางคน ที่ไม่ได้ประกันตัว เพราะมีคดีมากมายหลายคดี เกรงว่าจะหลบหนีเหมือนที่มีหลายคนได้รับการประกัน แต่หลบหนีแล้ว มากกว่า 10 คน

หลายคน ได้ประกันตัว และไม่ทำผิดเงื่อนไข ก็ได้ใช้ชีวิตอยู่นอกเรือนจำกระทั่งออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันก็มี (น่าสงสัยว่ากำลังทำผิดเงื่อนไขประกันตัวหรือไม่)

ที่สำคัญ ที่อ้างว่าเด็กนั้น คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เด็กแล้ว หลายคนบรรลุนิติภาวะ หลายคนเลยวัยเบญจเพส และบางคนอายุเกิน 30 ปี ไปแล้ว

3.อดีตนายกฯ อานันท์พึงทราบ... ที่ผ่านมา แกนนำการเมืองสีส้ม สส.ก้าวไกล และเหล่าแนวร่วมด้อมส้ม หลับหูหลับตาปั่นหัวสาวก ด้วยวาทกรรมสมองกลวง ทำนองว่า “ไม่ควรมีใครติดคุกเพราะแสดงความเห็น” / “กรณีจำคุกคดี 112 ของ สส.ไอซ์ ตอกย้ำปัญหาของ ม.112” / “แต่ไม่รัก ไม่ควรติดคุก”ฯลฯ

ทั้งหมด ล้วนแต่ เป็นความเท็จที่น่าเวทนา
...ความจริงมันตรงกันข้าม
...คำพิพากษาของคดี 112 ของ สส.ไอซ์ รักชนก ก็ดี
...คำพิพากษาคดี 112 ของนายอานนท์ นำภา ก็ดี
...คำพิพากษาคดี 112 ของทุกคดีของแกนนำแนวร่วมม็อบ 3 นิ้ว ที่ทยอยออกมาในช่วงนี้ก็ดี

หากไปดูรายละเอียดอย่างจริงใจ จะเห็นความจริงว่า คนเหล่านั้น มิได้แสดงความคิดเห็นต่าง แต่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ด้อยค่า บูลลี่ ใส่ร้าย หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนทั้งนั้น

3.1.คดี 112 สส.ไอซ์ รักชนก
ศาลอาญา ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์คำพิพากษาคดีนี้เป็นทางการ บางตอนระบุว่า จำเลยใช้บัญชีทวิตเตอร์ ‘ไอซ์ หรือ @nanaicez’ ของจำเลย โพสต์ (tweet) ข้อความว่า...

“พูดตรง ๆ นะ ที่พวกเราต้องมาเจอวิกฤตวัคซีนแบบทุกวันนี้ เริ่มต้นก็เพราะรัฐบาลผูกขาดวัคซีนเพื่อหาซีนให้... สร้างวาทะกรรมของขวัญจากพ่อต่างๆ เล่นการเมืองบนวิกฤตชีวิตของประชาชน ผลสุดท้ายคนที่ชวยที่สุดคือประชาชน #28 กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ” พร้อมรูปภาพพระบรมฉายาลักษณ์... ประกอบป้ายข้อความว่า “ทรราช (คำนาม) TYRANT; ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อำนาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง” ลงบนแอปพลิเคชันทวิตเตอร์

และจำเลยยังใช้บัญชีทวิตเตอร์ ‘ไอซ์ หรือ @nanaicez’ ของจำเลย โพสต์ซ้ำ (retweet) ข้อความที่ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ‘CHANI หรือ @ratsinapata’ โพสต์ (tweet) ข้อความว่า “เราไม่เป็นไทจนกว่า...จะถูกแขวนคอด้วยลำไส้ของขุนนางคนสุดท้าย” #ล้มราชวงศ์…” ประกอบข้อความที่ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ‘นิรนาม หรือ @231022’ โพสต์ (tweet) ข้อความว่า “เราจะไม่เป็นไทจนกว่า...จะถูกแขวนคอด้วยลำไส้ของขุนนางคนสุดท้าย” #...เป็นฆาตกร #ม็อบ16ตุลา #16ตุลาไปแยกปทุมวัน” ลงบนแอปพลิเคชันทวิตเตอร์

ข้อความข้างต้นทั้งสองข้อความ ตรงที่ทำ... (จุดจุดจุด) ไว้นั้นมีคำที่ระบุสื่อถึงบุคคลหรือสถาบันที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศ และกล่าวให้ร้าย และขู่อาฆาตอย่างรุนแรง

...นั่นมิใช่การแสดงความเห็นต่าง
...มิใช่การติชมโดยสุจริต
...ลองไปเขียนแบบนี้ กล่าวหาใคร คนนั้นก็เสียหาย และสามารถดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมายได้ทั้งนั้น
...อดีตนายกฯ อานันท์ คิดว่าคำพูดเหล่านั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นเยียงปัญญาชนพึงกระทำหรือไม่ ???

คดีนี้ ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมสองกระทง คงจำคุก 6 ปี

ขณะนี้ คดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยยังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือได้ประกันตัว

3.2 คดี 112 นายอานนท์ นำภา
ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา จากการกระทำผิด ม.112 ปราศรัยหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุมม็อบ 14 ตุลา 2563 โดยพฤติกรรมชัดเจนว่ากระทำผิดจริง

คำพูดที่นายอานนท์ปราศรัยแล้วมีความผิดนั้น เป็นการใส่ร้ายปรักปรำกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์โดยปราศจากมูลความจริง เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อย่างชัดเจน

นายอานนท์ได้ปราศรัยว่า “...ข้อที่ 3 มาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมีสามข้อเท่านั้น วันนี้จะไม่เหมือนเมื่อวานเพราะพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดทยอยมาสมทบกันเรื่อยๆ และ นิสิตนักศึกษาก็ทยอยมาเรื่อยๆ ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือ... ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด”

“อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้นอกจาก...”
“อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือ....ให้รู้ไว้เช่นนั้น”

ส่วนที่เว้น ... (จุด จุด จุด) เอาไว้นั้น ระบุถึงบุคคลหรือสถาบัน
ข้อความแบบนี้ คือการใส่ร้ายป้ายสี ปรักปรำด้วยความเท็จ
ไม่ใช่คิดต่าง หรือแสดงความเห็นเชิงหลักการอะไรเลย

อดีตนายกฯ อานันท์คงไม่สนับสนุนให้กระทำแบบนี้ โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดีกระมัง

ความจริง คือ ที่ผ่านมา มีคนบางกลุ่มที่ถูกปั่นหัว ชักใย ให้ท้าทาย ทำผิดกฎหมาย มาตรา 112
บางคนติดคุก เพราะทำผิดมาตรา 112 แลกกับผลประโยชน์บางประการ เสียอนาคตตนเองและครอบครัวไป

อย่าหลับหูหลับตาให้ท้าย ‘ส้มแซะสถาบัน’

'นายกฯ สมาคมทนายฯ' ฟันธง!! 'เศรษฐา' รอดปมเสนอชื่อ 'พิชิต' นั่งรมต. ชี้!! หน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการคัดสรรอยู่ที่ 'สลค.'

(27 พ.ค. 67) เฟซบุ๊ก ‘สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย’ โพสต์ข้อความ ‘บันทึกจากนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย’ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ดังนี้...

บันทึกจากนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

กรณีตามข้อกล่าวหาของ 40 สว. ที่อ้างว่านายพิชิต ชื่นบาน มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) การที่นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อนายพิชิต ทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) นั้น

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 บัญญัติให้อำนาจ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และเป็นผู้นำรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดสรรขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

แต่อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการคัดสรร เป็นหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) โดยผู้ที่ได้รับการคัดสรรจะเป็นผู้กรอกประวัติของตน จากนั้นเมื่อ สลค. ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้ได้รับการคัดสรรมีคุณสมบัติครบถ้วนไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำความกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดสรรขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อไป

ดังนั้น  เมื่อคุณสมบัติของนายพิชิตได้รับการตรวจสอบโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจแล้ว การที่นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อของนายพิชิตฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ จึงมิได้เป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตตามมาตรา 160 (4) และที่อ้างว่าไม่ได้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เพราะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมายที่ต้องสอบถาม ส่วนข้อกล่าวหาตาม 160 (5) ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้น ก็อยู่ในอำนาจการไต่สวนของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 234 (1) และเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลฎีกาตามมาตรา 235 (1) ส่วนศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นนี้ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี จึงไม่สิ้นสุดลงจากข้อกล่าวหาของ 40 สว.

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์
นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย
27 พฤษภาคม 2567

คิดทางขวาง 'เศรษฐา-พิชิต' ประชาธิปไตยแบบลิขิต แต่ 'ไม่ถูกใจ' ก็ใช้สิทธิ 'ตัดตอน' ประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน

(27 พ.ค.67) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ และประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ' ระบุว่า...

ก่อนอื่นผมต้องขอเรียนชี้แจงก่อนนะครับ ว่าข้อเขียนของผมเกิดจากความคิดเห็นผมคนเดียว ไม่มีผู้ใดมาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่ความเห็นทางกฎหมายเพราะผมไม่ใช่นักกฎหมาย เป็นการเขียนจากความรู้สึกของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งมีความสนใจในการเมืองของประเทศเรา 

กรณี 40 ส.ว.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแต่งตั้ง ท่านพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีถูกต้องหรือไม่? ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่? ในความเห็นของผม ... ผมอยากกราบเรียนว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่แปลกที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง รักประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแบบสุดๆ แต่ไม่เคยไว้ใจนักการเมือง 

เมื่อมีอะไรไม่ถูกใจ ก็ไม่อดทนรอคอยขบวนการที่ถูกต้อง รอคอยเวลาตามวงรอบของการเลือกตั้ง ชอบการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทันใจ รักษาสิทธิตัวเอง แต่ไม่สนใจสิทธิคนอื่น 

สำหรับผมประชาธิปไตยควรเอาความเห็นส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่มีถูกผิด แพ้ชนะ ดำเนินการตามเสียงส่วนใหญ่โดยรบกวนสิทธิของเสียงส่วนน้อยเท่าที่จำเป็น เพื่อให้งานเดินหน้าไปได้ 

ในกรณีท่านพิชิต ชื่นบานนั้น ผมมีมุมมองที่แตกต่างอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือ ระบบยุติธรรมและการลงโทษ เมื่อศาลพิพากษาและลงโทษแล้ว บุคคลนั้นๆ ได้รับโทษตามคำพิพากษาแล้ว ก็น่าจะเพียงพอ ถ้าเราต้องการลงโทษและแก้ไข ไม่ใช่แก้แค้น ยกเว้นบุคคลนั้นๆ ศาลพิจารณาแล้วว่าเกินเยียวยาเป็นภัยสังคมจนไม่สามารถแก้ไขได้ ศาลก็จะมีคำพิพากษาและมาตรการตามกฎหมายที่เหมาะสมต่อไป 

ดังนั้นในการลงโทษเราควรให้เกียรติและเคารพศาล คำพิพากษาศาลควรถือเป็นที่สุด ไม่ควรมีบทลงโทษอื่นใดมาเพิ่มเติมอีก หากพิจารณาว่าบทลงโทษไม่เหมาะสม หนักหรือเบาอย่างไร ก็ไปแก้ไขกฎหมายในสภาฯ ต่อไป 

ข้อที่ 2 สิทธิทางการเมืองเป็นสิทธิพื้นฐานของบุคคลในระบอบประชาธิปไตย ในวันนี้ ผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกมาแล้ว (ยกเว้นลหุโทษหรือโทษโดยประมาท) ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ยังดีที่ให้มีสิทธิลงคะแนนเสียงได้ เหมือนเป็นบุคคลให้หายใจได้ แต่ห้ามเคลื่อนไหวทำอะไร ... สิ่งเหล่านี้ควรแก้ไขหรือไม่? ก็คงแล้วแต่เสียงส่วนใหญ่จะพิจารณา 

ทว่า การเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางการเมืองนั้น ในเมื่อเราเป็นประชาธิปไตย ทำไมไม่ให้สิทธินายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อสภาฯและประชาชน มีอิสระในการพิจารณาคัดสรร?

หากผู้ที่เลือกมาไม่ดีไม่เป็นที่ถูกใจ ย่อมเป็นผลเสียต่อคะแนนเสียงของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเอง เพราะในระบอบประชาธิปไตย 'คะแนนเสียงสำคัญสุด...ใช่หรือไม่?' ในปัจจุบันการเลือกตั้ง คะแนนเสียงประชาชนนับหมื่นจะไม่มีความหมายเลย หากไม่สามารถผ่านความเห็นของ กกต.เพียงไม่กี่คนได้

แล้วเราจะมีศาลเอาไว้ทำไม? ถ้ามีองค์กรอื่นที่สามารถตัดสินข้างต้นเหมือนศาลได้ 

ดังนั้น หากบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือที่ได้รับเลือกมาเป็นรัฐมนตรีนั้น กระทำผิดกฎหมาย ก็ต้องได้รับโทษ และหากการทำผิดกฎหมายนั้นเกี่ยวพันถึงใคร ผู้นั้นก็ต้องร่วมรับโทษด้วย โดยมี 'ศาล' เป็นผู้ตัดสิน

เฉกเช่นเดียวกันกับกรณีของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนั้น อย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ตามหลักการในระบอบประชาธิปไตย ท่านควรมีอิสระในการเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งในกรณีนี้ ผมขอชื่นชมท่านในฐานะผู้นำ ที่เมื่อเลือกใช้งานใครแล้ว ก็กล้าที่จะไว้วางใจให้ทำงาน ... การปฏิบัติเช่นนี้ ผู้ที่ทำงานด้วยย่อมมีความมั่นใจและอบอุ่นใจในการทำงานให้ ผมขอยกย่องในภาวะผู้นำของท่าน

ความคิดของผม หากไม่ถูกใจท่านใด ผมก็ต้องกราบขออภัยมา ณ โอกาสนี้ คิดอย่างไรก็เขียนไปอย่างนั้น เป็นการซื่อสัตย์ต่อตนเอง แต่ก็พร้อมน้อมรับและปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่ ขอได้โปรดเมตตาแนะนำ หากความคิดผมไม่ถูกต้อง เพื่อผมจะได้นำไปพัฒนาความคิดและองค์ความรู้ส่วนตัวต่อไป ขอขอบพระคุณทุกคำติและคำชมของทุกท่าน ด้วยความเคารพครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top