Tuesday, 8 July 2025
POLITICS

‘อนุทิน’ นำคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม เยือนจังหวัดชายแดนใต้ ส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาปลายด้ามขวานสู่พื้นที่ปลอดภัย-สงบสุข

(12 มิ.ย.67) ที่ TK Park ยะลา (อุทยานการเรียนรู้ยะลา) อ.เมืองยะลา จ.ยะลา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย นำคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมและผู้บริหารระดับสูง ร่วมกิจกรรมเสริมความเข้าใจและสานสัมพันธ์คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมประจำปี 2567 โดยมีคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม (The Organization of Islamic Cooperation : OIC) 12 ประเทศ เข้าร่วม 

ทั้งนี้ นายอนุทินและคณะทูตได้รับฟังการนำเสนอการขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยพันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นมีการแลกเปลี่ยนเสวนาประเด็นความรู้ที่เป็นประโยชน์ทางนโยบายของผู้เข้าร่วมกิจกรรม

จากนั้นนายอนุทินได้นำคณะทูตเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ OTOP ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ ผ้าบาติกที่ได้รับการพัฒนาตามพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ และ ‘Sustainable Fashion’ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

นายอนุทิน กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ มีนโยบายในการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในด้านสุขภาพ การขนส่งทางอากาศ การสื่อสาร การศึกษา และการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศในการแข่งขัน ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ในภูมิภาครวมถึงจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งการได้แลกเปลี่ยนกับคณะทูตจากประเทศ OIC จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนนโยบายของนายกฯ และรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการร่วมเป็นหุ้นส่วนของประเทศไทยในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัยและความสันติสุข 

สำหรับคณะทูต OIC ที่เข้าร่วมกิจกรรม ครั้งนี้ ประกอบด้วย H.E. Mr. Pengiran Haji Sahari Pengiran Haji Salleh เอกอัครราชทูตบรูไน, H.E. Mrs. Hala Youssef Ahmed Ragab เอกอัครราชทูตอียิปต์, H.E. Mr. Nassereddin Heidari เอกอัครราชทูตอิหร่าน, Mr. Bong Yik Jui อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย, Ms. Aishath Shiruma Ahmed อุปทูต สถานีอัครทูตมัลดีฟส์, Dr. Mohammed Idris Haidara อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตไนจีเรีย, Mr. Fuad Adriansyah รองหัวหน้าสำนักงานเอกอัครราชทูตอินโดนีเชีย และ Mr. Nuriddin Mamatkulov รองหัวหน้าสำนักงานสถานกงสุลใหญ่อุซเบกิสถาน 

‘ตระกูล’ อดีต อสส. สวน ‘ทักษิณ’ คดีม.112 ตามกม.อาญา ‘ไม่เคยมีใครข่มขู่’ ให้ทำคดี

(11 มิ.ย.67) นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊ก 'ตระกูล วินิจนัยภาค' ระบุว่า ขอยืนยันด้วยเกียรติของลูกผู้ชายว่า ในฐานะเป็น อสส. ในขณะนั้น ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีอาญานอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ไม่เคยมีใครข่มขู่ โน้มน้าว ชักจูง ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสอบสวนครับ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า ถูกยัดข้อหา ม.112 คดีแทบจะไม่มีมูลแบบนี้เขาเรียกว่าเป็นผลไม้ของต้นไม้ที่เป็นพิษ คือการทำคดีแต่ละข้อกล่าวหาตั้งแต่ต้นที่มีการข่มขู่ ตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวนโดยผู้บังคับบัญชา คดีไม่ควรเป็นคดี

'ภูมิธรรม' วอน!! อย่าเปรียบปมหุ้นยุคนี้ตกกว่ายุคลุงตู่ ชี้!! เป็นไปตามสถานการณ์-รอคดีการเมืองคลี่คลาย

(11 มิ.ย.67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กรณีการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนหลังจากหุ้นไทยร่วงหนัก เป็นผลสืบเนื่องจากความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศว่า หุ้นมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องปกติเป็นธรรมชาติ สิ่งที่เรามีปัญหาคือเราไปเข้าใจกันว่ายังมีความไม่เชื่อมั่นต่างๆ ซึ่งตนคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้คลี่คลายแล้ว แม้จะมีสถานการณ์ที่ต้องขึ้นศาลหลายเคสหลายกรณีก็ไปห่วงกันว่าจะมีปัญหา แต่หากดูนายกรัฐมนตรีท่านก็ทำงานเต็มที่ ดังนั้น สถานการณ์จึงเป็นเรื่องชั่วคราวเดี๋ยวก็คลี่คลาย รัฐบาลก็พยายามทำหน้าที่ต่างๆ ให้ดีที่สุด

เมื่อถามย้ำว่า สถานการณ์การเมืองวันนี้ดูเหมือนยังไม่คลี่คลาย นายภูมิธรรม กล่าวว่า มันเพิ่งเกิดขึ้นวันสองวันจะไม่คลี่คลายอย่างไร และที่ดูว่ายังไม่คลี่คลาย เพราะว่าเดือนนี้ยังมีขึ้นศาล ก็ต้องรอขึ้นศาลให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งตนคิดว่าไม่น่ามีอะไร และคิดว่ามันเป็นข่าวสถานการณ์ที่พอผ่านไปแล้วไม่มีอะไรก็จบ เหมือนหลายเรื่องที่ตนเคยเจอ พอสถานการณ์เปลี่ยนไปมันก็เปลี่ยนแค่วันเดียวเลย มันจึงไม่ใช่ปัญหาถาวร

เมื่อถามว่า ความเชื่อมั่นในยุคพรรคเพื่อไทยดูเหมือนต่ำกว่ายุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ นายภูมิธรรม กล่าวว่า จะมาพูดเรื่องนี้แบบนี้ไม่ได้ การที่ความเชื่อมั่นจะขึ้นหรือลงไม่ใช่พรรคเพื่อไทยหรือว่าลุงตู่ แต่เป็นเรื่องของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องดูไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ตรวจแนวรบ 'อัยการ' คดี 112 ส่อแววยืดคดีจนได้ 'อสส.คนใหม่' พลิกเกม 'นายใหญ่' ให้คล้าย 'คดีบอสกระทิงแดง'

8.พชร ยุติธรรมดำรง ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2548 - 30 ก.ย. 2550    
9.ชัยเกษม นิติสิริ ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2550 - 2552    
10.จุลสิงห์ วสันตสิงห์ ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2552 - 30 ก.ย. 2556    
11.อรรถพล ใหญ่สว่าง ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2556 - 26 มิ.ย. 2557    
12.ตระกูล วินิจนัยภาค ดำรงตำแหน่ง 27 มิ.ย.2557 - 30 ก.ย. 2558    
13.ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2558 - 30 ก.ย. 2560    
14.เข็มชัย ชุติวงศ์ ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2560 - 30 ก.ย. 2562 
15.วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2562 - 30 ก.ย. 2564    
16.สิงห์ชัย ทนินซ้อน ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2564 - 30 ก.ย. 2565    
17.นารี ตัณฑเสถียร ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2565 - 30 ก.ย. 2566    
18.อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ ดำรงตำแหน่ง 1 ต.ค. 2566 - ปัจจุบัน    
19.ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ (ผ่านมติกอ./รอวุฒิสภาพิจารณา)

วันนี้ขออนุญาตร้อยเรียงวิเคราะห์บทวิเคราะห์แบบง่าย ๆ ด้วยการนำรายชื่ออัยการสูงสุด (อสส.) ที่มีมาตั้งแต่ปี 2534 มาทบทวนให้ดูตั้งแต่ท่านที่ 8 พชร ยุติธรรมดำรง จนมาถึงว่าที่อสส.คนใหม่ คนที่ 19  ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ (ที่ว่ากันว่าเป็นทีมงานมือดีของ อสส.ชัยเกษม นิติสิริ) ซึ่งอยู่ในกระบวนการ การพิจารณาของวุฒิสภา

เปิดสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ วุฒิสภาจะตั้งกรรมาธิการฯ ตรวจสอบคุณสมบัติและพฤติกรรมพฤติการณ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะนัดแนะกันลงมติในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งตอนนั้นอาจจะเป็น สว. ชุดใหม่แล้วก็ได้ แค่ได้คะแนนเสียงข้างมาก 'อสส.คนใหม่' ก็จะชื่อ 'ไพรัช' หลังการโปรดเกล้าฯ

ย้อนดูรายชื่อ อสส.ข้างต้นแล้ว ก็ต้องหมายเหตุประเทศไทยเอาไว้ว่า มี อสส. ถึง 2 คน ที่สั่งฟ้องคดีนายทักษิณ ชินวัตร ข้อหาความผิด ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพ์ คนแรกคือ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ คนที่สองคือ อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์

กรณีท่านอำนาจนั้น ทักษิณทำหนังสือขอความเป็นธรรม ทางอัยการสั่งให้สอบเพิ่มมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ที่สุดวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมาก็สั่งฟ้อง

ขณะนี้ทีมทนายทักษิณร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้ง อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะ "พนักงานสอบสวนขณะนั้น (2558-2559) ถูกข่มขู่จากรัฐบาล คสช. จนขาดความเป็นอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐานคดี ทำให้นายทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรม..."

อ่านกันไม่ยาก...นี่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อประวิงเวลา หรือยืดคดีออกไป...คล้าย ๆ คดีบอส กระทิงแดง ซึ่งตามหน้าไพ่ขณะนี้เขาว่ากันว่า หากสามารถยืดสุดติ่งไปจนไปถึง อสส.คนใหม่ได้ บางทีเหตุการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้...

ซุ่มเสียงของทักษิณในงานบวชน้องชาย สส.เพื่อไทยที่ปทุมธานีเมื่อ 8 มิ.ย. ฟังดูเหมือนจะไปตามนัดอัยการ เพื่อนำตัวทักษิณส่งฟ้องศาล แต่หากฟังซ้ำดี ๆ ทักษิณไม่ได้ตกปากรับคำเป็นมั่นเหมาะว่าจะไป...เพราะดูเหมือนเขาจะมั่นใจว่า การร้องขอความเป็นธรรมซ้ำสองรอบนี้ อย่างน้อยน่าจะมีการยืดเวลาออกไป...

จะอย่างไรก็ตาม แบไพ่เล่นกันแบบนี้...ทำเอาคนที่รักบ้านรักเมืองหัวใจสั่นรัว ตลาดหุ้นออกอาการสั่นไหว กลัว 'นายใหญ่' จะยิ่งเหลิงลมล้มดีล จนกลายเป็นจุดชนวนความวุ่นวายรอบใหม่ขึ้นมาจริง ๆ !!

เกิดเป็น 'นักการเมืองไทย' ต้องโกหก  ถ้าไม่โกหก ก็ไม่ใช่ 'นักการเมืองไทย'

คนรุ่นพี่ หรือรุ่นเดียวกันกับผม เราจะชินกับการโกหกคำโตของนักการเมืองไทยมาโดยตลอด ทั้งที่โกหกแบบหน้าด้าน ๆ หรือจะพยายามโกหกแบบเนียน ๆ ไม่ให้ใครจับได้ง่าย ๆ ก็ถือเป็นการโกหกประชาชนอยู่ดี คนที่กล้าอาสามาเป็น 'ตัวแทนประชาชน' มากินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน แต่ก็ยังกล้าโกหกประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามา ก็หมายความว่าเป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์ และเนรคุณผู้มีพระคุณอย่างไม่น่าให้อภัย

ปีแล้วปีเล่าประเทศไทยจะต้องฝืนทนกับนักการเมืองหน้าเก่า ๆ ส่วนใหญ่ ๆ ที่แทบจะหาความดีกับแผ่นดินไทยไม่ได้เลย เราต้องทนกล้ำกลืนเห็นคนเหล่านี้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนมาแทะกินประเทศชาติของเราต่อหน้าต่อตา และก็รอดพ้นตารางด้วย 'คำโกหกคำโต' บ่อย ๆ

ราวกับว่าเราไม่มีใครอีกแล้วที่จะหวังพึ่งพิงได้จริง ๆ 

ในวันที่คนไทยกำลังสิ้นหวัง วันหนึ่งก็มีพรรคการเมืองที่ออกตัวว่าเป็น 'คนรุ่นใหม่' แสดงออกถึงความมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ มีแนวคิดที่จะกำจัดนักการเมืองแย่ ๆ ในแบบที่เราคุ้นเคยในอดีตให้หมดไปจากสังคมไทย เพื่อจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น โดยโฆษณาว่า ถ้าเลือกพวกเขาให้เข้ามาเป็น สส. หรือชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นรัฐบาล รับประกันว่า 'ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม'

คำว่า 'ไม่เหมือนเดิม' ก็คงจะสื่อความหมายว่า ต้องดีขึ้น ดีในแบบที่ 'นักการเมืองรุ่นเก่า' ไม่เคยทำได้ นั่นคือไม่ทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ไม่สนับสนุนกลุ่มคนที่ก่อความไม่สงบภายในบ้านเรา ไม่สมคบคิดกับต่างชาติเพื่อมาทำลายสถาบันหลักของประเทศตัวเอง จะปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และพร้อมจะเป็น 'แบบอย่างที่ดี' ให้กับเยาวชนคนรุ่นถัดไป 

แต่...เปล่าเลย ไม่มีสิ่งใดเฉียดใกล้สิ่งที่ 'นักการเมืองรุ่นใหม่' เคยโฆษณาเอาไว้

เพราะตั้งแต่ประเทศไทยมีพรรคการเมืองที่ออกตัวว่าเป็น 'คนรุ่นใหม่' เรากลับเห็นพฤติกรรมเลว ๆ ที่ไม่ต่างจาก 'นักการเมืองรุ่นเก่า' แต่บางเรื่องก็เลวร้ายกว่า เช่นการล้างสมองเด็ก อาศัยเด็กเป็นเครื่องมือให้กระทำผิด 112 เพื่อสั่นสะเทือนสถาบันที่ตนเองเกลียดชัง หนีการเกณฑ์ทหาร ทำอนาจารกับผู้ร่วมงาน มีแนวคิดล้มล้างการปกครอง ทั้งหมดเกิดจาก 'นักการเมืองรุ่นใหม่' ทั้งสิ้น 

ยังไม่นับเรื่องโกหกสังคม พูดไม่หมด หรือพูดเอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้กับสิ่งที่ตนเองเกลียดชังนั้น มีให้เห็นตามหน้าสื่อแทบทุกวัน

ช่างไม่กระดากใจ หรืออายความเป็นคนกันบ้างเลย

‘ธนกร’ ติง ‘พิธา’ ดื้อคำสั่งศาลฯ แถแถลง 9 ข้อสวน ชี้!! บิดเบือนแบบนี้จะเป็นผู้นำประเทศที่ดีได้อย่างไร 

(10 มิ.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล แถลง 9 ข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล โดยมองว่า เป็นการไม่เคารพคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้ออกมาเตือนก่อนล่วงหน้าแล้วว่าไม่ควรมีการชี้นำกระทบความเชื่อมั่นในกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องยึดมั่น นั่นคือการเคารพกฎหมาย เคารพคำสั่งศาล

การออกมาแถลงข้อต่อสู้คดีควรยื่นต่อศาลโดยตรง ไม่ใช่มาแถลงต่อสื่อมวลชน ต่อประชาชน มากกว่านั้นยังอ้างข้อกฎหมายแบบบิดเบือนเอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่นแบบข้าง ๆ คู ๆ อ้างประชาธิปไตยสารพัด ทั้งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรค ซ้ำยังอ้างว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีกระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก ซึ่งนายพิธาและพรรคก้าวไกล มีความกังวลค่อนข้างหนักเรื่องคดีจนทำให้พาลไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม กระบวนการกฎหมายทั้งระบบ แบบนี้จะเป็นผู้นำประเทศที่ดีได้อย่างไร

เมื่อถามว่า นายพิธาอ้างว่า กกต. ยื่นศาลโดยไม่แจ้งให้พรรคได้ชี้แจงนั้น นายธนกร กล่าวว่า ประธาน กกต. ได้ยืนยันการดำเนินการของ กกต. แล้วว่าไม่ได้ใช้ระเบียบสืบสวนไต่สวน แต่เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องแจ้งให้พรรคก้าวไกลทราบ เพราะมีหลักฐานตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 

ทั้งนี้มองว่า ในชั้นกระบวนการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามที่พรรคขอขยายเวลาถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน จนครบกำหนดยื่นคำชี้แจงแล้ว ถือว่าคดีนี้ กกต. และศาล ได้ดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนการยุติธรรม หลังจากนี้ก็เป็นดุลยพินิจของศาล ผลจะออกมาเป็นบวกหรือลบ พรรคก้าวไกลควรยอมรับน้อมรับคำตัดสิน

“การที่นายพิธาและก้าวไกลออกมาแถลงอ้างว่าพรรคการเมืองเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นจะอ้างไม่ได้เพราะถ้าพรรคการเมืองทำผิดกฎหมายก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงตรงนี้ การอ้างและชี้นำสังคม ว่าศาลไม่มีอำนาจ กกต. ยื่นโดยไม่ชอบ เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยคำพูดสวยหรูให้ตัวเองดูดี แต่เป็นการก้าวล่วงและไม่เคารพคำสั่งศาล แบบนี้จะเป็นผู้นำประเทศที่ดีได้อย่างไร” นายธนกร ระบุ

‘แม่ฮ่องสอน’ ลั่น!! พบกลโกง เลือกสว. สะพัด!! นักการเมืองจ้างคนของตนลงสมัคร วอน กกต.อย่านิ่ง

เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับอำเภอ โดยที่ จ.แม่ฮ่องสอน พบกลโกงของนักการเมืองระดับประเทศ ด้วยการจ้างคนของตัวเองลงสมัคร เพื่อให้เลือกคนของนักการเมืองที่วางตัวไว้ล่วงหน้าแล้ว และคาดว่ามีการส่งคนลงสมัครเพื่อเลือกคนของนักการเมืองทุกอำเภอ

ผู้สมัคร สว.รายหนึ่งใน จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยกลโกงดังกล่าว ว่า ก่อนหน้านี้มีคนของนักการเมืองระดับประเทศรายหนึ่งของ จ.แม่ฮ่องสอน ทำการทาบทามจ้างคนลงสมัคร สว. โดยจ่ายเงินให้หัวละ 5,000 บาท หักค่าสมัคร 2,500 บาท ค่าถ่ายรูปอีกคนละ 400 บาท ทำให้นักรบรับจ้างเหล่านั้นจะได้เงินเข้ากระเป๋า 2,100 บาท รวมถึงถ้างานสำเร็จได้มีการรับปากว่าจะพาไปเที่ยวทะเลอีกด้วย

นักการเมืองเหล่านี้จะมีการส่งคนของตัวเองลงสมัครในแทบทุกสาขาอาชีพ ทั้งนี้ระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเลือก สว.คือ ในรอบแรก ให้ผู้สมัครเลือกตนเองได้ 1 คะแนน และเลือกคนอื่นได้อีก 1 คะแนน ซึ่ง กกต.ได้วางระเบียบไว้อย่างแน่นหนา แต่พวกนักการเมืองรู้ทัน จึงวางคนไว้ทุกสาขาอาชีพ ถึงแม้จะมีการจับฉลากแบ่งสาย ก็ยังมีคนของนักการเมืองอยู่ในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งมีอยู่ 20 กลุ่ม โดยมีการสั่งให้คนที่ถูกจ้างมาให้เลือกคนของนักการเมืองเท่านั้น และไม่ต้องเลือกตัวเอง ทั้งยังพบว่าในวันเลือกวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในสายเดียวกัน มีกลุ่มอาชีพกลุ่มหนึ่งเทคะแนนให้กับผู้สมัครรายหนึ่งที่อยู่ต่างสาขาอาชีพถึง 5 คะแนนเลยทีเดียว

ผู้สมัคร สว.รายนี้ ระบุว่า เมื่อถึงตอนเลือกไขว้ในสายเดียวกัน กกต.ได้มีการวางระเบียบไว้ว่าทุกคนสามารถเลือกผู้สมัครคนอื่นได้ 4 คน ยกเว้นตัวเอง ดังนั้นเมื่อมีการจับคู่ของผู้สมัคร ทุกคนจะได้คะแนนเท่ากันหมด คือ ได้คนละ 4 คะแนน เมื่อได้คะแนนเท่ากัน ทุกคนจะมีการจับสลากเพื่อคัดเอาคนที่ผ่าน รวมรอบระดับอำเภอไม่เกิน 3 คน เพื่อเข้ารอบไปสู่การเลือกระดับจังหวัด ซึ่งในการเลือกตั้งระดับอำเภอแห่งหนึ่งของ จ.แม่ฮ่องสอน พบว่า มีผู้สมัครหลายราย มีคะแนนเกิน 4 คะแนน บางรายสูงผิดปกติ ถามว่าคะแนนที่เกินมาได้มาจากไหน ถ้าไม่มีคนของตนเองส่งเข้าไปในกลุ่มนั้นๆ

ผู้สมัคร สว.รายนี้ กล่าวอีกว่า ที่มาลงสมัคร สว.ในครั้งนี้ พบว่า ไม่ง่ายอย่างที่คิด จากการสังเกตที่คณะกรรมการการเลือก สมาชิกวุฒิสภา ให้เวลาผู้สมัครแนะนำตัวเองเพื่อให้แต่ละท่านได้รู้จักเพื่อที่จะได้ลงคะแนนรับเลือกนั้น ปรากฏว่าบางกลุ่มไม่ได้สนใจในการที่จะไปแนะนำตัว นั่งอยู่กับที่นั่ง จนถึงเวลาเลือก ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกให้ทุกคนสามารถที่จะจดบันทึกหมายเลขที่จะเลือกเข้าคูหาการเลือกได้ บางกลุ่มจะมีหัวหน้าทีมในกลุ่มเขียนโพยให้อยู่แล้ว จึงไม่ได้สนใจ และเวลาเราเข้าไปแนะนำตัว จะไม่ค่อยพูด หรือรับปากส่งเดชว่าจะลงให้ ท้ายที่สุดเวลานับคะแนนมาเรากลับไม่ได้คะแนนจากกลุ่มเขาเลยแม้แต่คะแนนเดียว การจัดตั้งจากนักการเมืองไม่ใช่แค่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เท่านั้น หลายจังหวัดน่าจะเจอปัญหาแบบเดียวกัน แต่พูดอะไรไม่ได้ เนื่องจาก กกต. ไม่จัดการแบบจริงๆจังๆ ได้แต่เพียงบอกว่าไม่มีใครมาร้องเรียน ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจ แต่ทำอะไรไม่ได้ หรือจะปล่อยให้พรรคการเมือง มาครอบงำ สว.

เปิดบันทึก ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ต้นคิดที่มา ‘สว.’ มุ่งหวังให้ ‘ภาค ปชช.’ มีส่วนร่วมทางการเมือง

การเลือกตั้ง สว. ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้า พร้อมด้วยกติกาใหม่ที่หลายคนงง และออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างรุนแรง แต่จะรู้หรือไม่ว่ากติกาที่ว่ามาจากไหน และใครเป็นผู้เสนอ ถ้าไม่ใช่ มีชัย ฤชุพันธ์ุ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนบทความชื่อว่า ‘บันทึกไว้กันลืม’ ในหนังสือ ‘ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560’ โดยกล่าวถึงที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีการกล่าวถึงเรื่อง ‘ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา’ และเชื่อว่าเป็นแนวคิด ‘ฮ้อแร่ด’ หมายถึง ที่สมบูรณ์และยอดเยี่ยม อีกทั้งยังยอมรับว่าคนวิพากษ์วิจารณ์เพราะสร้างความเข้าใจไม่มากพอ

รายละเอียดถึงที่มาที่ไปของสมาชิกวุฒิสภา มีดังนี้

เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องหนึ่งนั้น เราไม่ได้คิดอย่างหลักลอย หากแต่มีที่มาจากกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 35 ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง เราก็เคยคิดว่าทำไมเราไม่แปลงวุฒิสภาให้เป็นองค์กรที่สร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างนัยสำคัญ

แต่เดิมมานั้น การมีวุฒิสภา มักจะเกิดจากแนวคิดว่าสภาผู้แทนยังไม่พร้อม ควรมีสภาพี่เลี้ยงเพื่อประคับประคองกันไป ต่อมาก็ว่าเป็นสภากลั่นกรองเพื่อให้เกิดความสมดุล ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในตอนต้นจึงมาจากการแต่งตั้ง เพื่อให้ได้คนที่มีคุณวุฒิสูง มีประสบการณ์มาก ๆ ต่อมาก็ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากแต่ละจังหวัด โดยให้ตัดจากพรรคการเมือง จะได้เป็นอิสระในการกลั่นกรองกฎหมายโดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง แต่มาถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนมีความรู้ มีปริญญาสูง ๆ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น คนที่มิได้มีปริญญาสูง ๆ ก็มีประบการณ์ที่สะสมมามากเพียงพอที่จะไม่ต้องการพี่เลี้ยงอีก

ในขณะเดียวกันในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยให้ปลอดจากการเมือง ก็เห็นได้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะลำพังผู้สมัครเพื่อรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาถ้าไม่ไปศิโรราบกับพรรคการเมือง หรือนักการเมืองในพื้นที่ ย่อมยากที่จะได้รับเลือกตั้ง ความมุ่งหมายที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาไม่อยู่ภายใต้พรรคการเมืองจึงเป็นไปได้ยาก

เราจึงคิดว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนวุฒิสภาให้เป็นสภาที่จะรับรู้ความตองการหรือความเดือดร้อน หรือส่วนได้เสียของคนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริงและความต้องการของเขาได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง

นั่นจึงเป็นที่มาของวุฒิสภาที่จะมาจากประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกอาชีพ ทุกลักษณะ

อันที่จริง วุฒิสภาที่เราคิดสร้างขึ้นนั้น ก็คล้ายกับสภาสูงของอังกฤษ เพียงแต่สภาสูงของอังกฤษ เป็นการรักษาประโยชน์ของชนชั้นสูง ส่วนวุฒิสภาที่เราสร้างขึ้น เป็นการรักษาประโยชน์ของคนทุกระดับชั้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้า และแนวคิดอย่าง 360 องศา ไม่น่าเชื่อว่าพอเสนอแนวคิดนี้ขึ้น กรธ.ทั้งคณะร้องฮ้อแร่ด ขึ้นพร้อมกัน ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าการจะทำให้คนอื่นเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการมีวุฒิสภาที่เปลี่ยนแปลงไป กับขบวนการในการจัดการเลือกที่จะไม่ให้เกิดการฮั้วกันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

ในเรื่องแรก เราออกจะประมาทอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ได้ชี้แจงซ้ำแล้วซ้ำอีกให้เห็นถึงแนวคิดของการมีวุฒิสภาที่เปลี่ยนแปลงไปว่าเราไม่ได้มุ่งหมายให้มีผู้ทรงคุณวุฒิมาคอยกลั่นแกล้งงานของสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฎรอีกแล้ว เพราะสภาผู้แทนราษฎรมีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของตนได้โดยสมบูรณ์แล้ว (เว้นแต่เป็นกรณีที่จงใจจะใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง) สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือ สภาผู้แทนราษฎรยังปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายที่มาจากพรรคการเมือง ที่อ้าง ๆ กันว่าเรามาจากประชาชน เราเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยนั้น เอาเข้าจริงบางทีก็มองข้ามความทุกข์ยากของประชาชน ทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาว เพราะหลายกรณีมุ่งแต่จะให้พรรคเป็นที่นิยม โดยไม่ได้นึกถึงอันตรายในระยะยาว หรือ ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมหรือประเทศชาติได้ ดังที่เห็น ๆ กันอยู่แต่นั่นก็เป็นระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตย เราจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แนวคิดในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา จึงมุ่งที่จะทำให้ จึงมุ่งที่การทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง ในขณะเดียวกันให้ทุกภาคส่วนสามารถบอกเล่าความคับแค้น อุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขในส่วนของเขาได้อย่างมีนัยสำคัญผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจึงมิใช่ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีประสบการณ์ล้นฟ้าอีกต่อไป หากแต่เป็นผู้ที่มาจากคนทุกหมู่เหล่าที่ประกอบอาชีพหรือมีคุณลักษณะเฉพาะ เพื่อจะได้สะท้อนถึงความต้องการของเขาอย่างแท้จริง

เราออกจะหย่อนในการทำความเข้าใจในเรื่องนี้ไปหน่อยเพราะเมื่อในเวลาที่เราทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แม้แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังไม่เข้าใจ ยังกังวลว่าด้วยวิธีการเลือกอย่างที่กำหนดไว้ จะทำให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างไร

เราแบ่งกลุ่มออกเป็น 20 กลุ่ม เพื่อให้สามารถกระจายกันไปแต่ละกลุ่มจะมีหลักประกันว่าจะมีตัวแทนของคนอยู่ในวุฒิสภา มีคนตั้งข้อสงสัยว่าการกำหนดไว้ 20 กลุ่ม ไม่มีเหตุผลอะไร ทำไม่จึงไม่เป็น 25 กลุ่ม 30 กลุ่ม หรือ 40 กลุ่ม แล้วเลยเสนอให้ลดลงเหลือ 10 กลุ่ม ซึ่งว่าที่จริง การลดลงเหลือ 10 กลุ่มก็ย่อมต้องเผชิญกับปัญหาอย่างเดียวกันว่าทำไมถึง 10 กลุ่ม

การที่ กรธ. กำหนดไว้ 20 กลุ่ม ไม่ได้เกิดจากการเสี่ยงทาย หรือหยิบขึ้นมาเฉย ๆ หากแต่เกิดจากการพยายามคิดอาชีพและคุณลักษณะทั้งหมดของประชาชนทุกหมู่เหล่า (โดยใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหลัก) และจับอาชีพหรือคุณลักษณะที่ใกล้เคียงมากที่สุดเข้าไว้ในกลุ่มเดียวกัน เมื่อรวมแล้วได้ 19 กลุ่ม บวกกับกลุ่มเผื่อเหลือเผื่อขาด เพื่อให้ทุกคนมีที่ลงได้ จึงเพิ่มอีก 1 กลุ่ม คือ ‘กลุ่มอื่น ๆ’ รวมเป็น 20 กลุ่ม

ถามว่าทำไมไม่เป็น 30 หรือ 40 กลุ่ม คำตอบก็คือเราต้องคำนึงถึงจำนวนที่แต่ละอาชีพหรือแต่ละคุณลักษณะจะพึงมี เพื่อให้ได้สัดส่วนของผู้แทนของแต่ละอาชีพ หรือ คุณลักษณะจะไม่ทัดเทียมกัน ที่สำคัญในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญก็ดี เราได้ออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาทุกภาค ผลการรับฟังความคิดเห็น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการกำหนดเป็น 20 กลุ่มเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุด

เรากำหนดกลุ่มสตรีแยกไว้ต่างหาก ก็เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และมาตรา 90 วรรคสาม จริงอยู่สตรีอาจสมัครเข้าในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามอาชีพ หรือคุณลักษณะอย่างอื่นของตนได้ แต่ในการเลือกย่อมยากที่จะกำหนดให้ผู้เลือกต้องเลือกสตรีเพราะจะเป็นการจำกัดสิทธิของคนอื่น การที่จะเกิดความแน่นอนว่ากลุ่มสตรีแยกไว้ต่างหาก แต่ สนช. ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ในเรื่องนี้ จึงจับสตรีไปอยู่ในกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มด้อยโอกาส ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าสตรีจะได้รับเลือกมา การกำหนดจำนวนกลุ่มน้อยเท่าไร โอกาสที่คนหลายอาชีพ หลายคุณลักษณะจะไม่มีตัวแทนในวุฒิสภาย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น

'พิธา' ดิ้นสู้คดียุบพรรค ยัน!! ไม่มีเจตนาล้มล้าง-เป็นปฏิปักษ์ อ้าง!! ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจพิจารณา-วินิจฉัยคดีนี้

(9 มิ.ย.67) ที่พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล แถลงข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ว่า จุดประสงค์ของการแถลงเพื่อเน้นข้อเท็จจริงของข้อกฎหมายและคดี เพื่อสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นข้อกังวลของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแบ่งเป็น 9 ข้อต่อสู้ 3 หมวดหมู่

หมวดหมู่ที่ (1.) เขตอำนาจและกระบวนการ 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 2.กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมวดหมู่ที่ (2.) ข้อเท็จจริง 3.คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 67 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ 4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ 5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 67 ไม่ได้เป็นมติพรรค

หมวดหมู่ที่ (3) สัดส่วนโทษ 6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น 7.ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 8.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด 9.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับชุดกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา

เมื่อถามว่าในข้อต่อสู้มีข้อไหนที่ไม่มั่นใจ นายพิธา กล่าวว่า มั่นใจทุกข้อทั้ง 9 ข้อ แต่ละข้อก็เหมือนด่าน บันไดที่ใช้ต่อสู่ตั้งแต่ของเขตอำนาจของศาล จนถึงบทลงโทษกรรมการบริหาร แต่เรายังเชื่อว่าทั้งเจตนา และการกระทำของ สส.ในการเข้าชื่อแก้กฎหมาย ไม่ได้เป็นการล้มล้าง และไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ รวมถึงการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเป็นนายประกัน สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน การที่มีผู้ต้องหามาตรา 112 เป็นสมาชิกพรรค เป็น สส.ก็ยังไม่สิ้นสุดคดี รวมถึงการแสดงออกเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ก็กระทำทั่วไปโดยนักการเมืองในตอนนั้น โดยสภาพบังคับที่มีเรื่องเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

“สุดท้ายการกระทำทุกอย่างเป็นเรื่องของรายบุคคลที่ขยุมรวมกันเป็นข้อกล่าวหา ไม่ได้มาจากมติพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องของนิติบุคคล แต่เป็นเรื่องของปัจเจก ไม่ได้มีความเห็นที่ออกมาจากกรรมการบริหารว่าทั้งหมดเป็นการกระทำของพรรค ต้องแยกระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล นั้นต่างกัน ซึ่งที่มีเป็นมติของพรรคออกมาคือการบรรจุเป็นนโยบายหาเสียง แต่ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ได้ เพราะกกต.เองก็อนุญาต ซึ่งหลักเดียวกับตอนที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็ไม่ได้มีจดหมายเตือน ไม่มีคำถามมาว่านโยบายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรอย่างที่พรรคอื่นโดน” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า ยืนยันตรงนี้ว่าไม่ได้มีเจตนา และไม่มีข้อกฎหมายที่เอาผิดทั้ง 44 คนที่เข้าชื่อในการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่ได้เข้าสภา และถึงแม้จะได้เข้าสภา ระบบนิติบัญญัติก็มีการเช็คแอนด์บาลานซ์เบรคในตัวเองอยู่ จะเบรคโดยกกต.ก็ได้ จะเบรคโดยสภาในการโหวตวาระ 1 , 2 , 3  หรือขั้น สว. และยังมีเวลาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในตอนสุดท้าย เพราะฉะนั้นไม่มีความเร่งด่วนสำคัญอะไรที่ต้องใช้มาตรการรุนแรงอย่างนี้ 

'พรรครวมไทยสร้างชาติ' ยืนยัน!! ไม่นิรโทษ ม.112 และคดีทุจริต

(9 มิ.ย.67) นายเจือ ราชสีห์  ตำแหน่งกรรมาธิการและที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ ชื่อสร้างเสริมสังคมสันติสุข โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้...

1.ให้ใช้บังคับเพื่อให้ผู้ที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองและแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทุกช่วงเหตุการณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน

2.มิให้บังคับใช้กับผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และผู้กระทำผิดฐานทุจริตและประพฤติมิชอบ

3.ให้มีคณะกรรมการพิจารณาขึ้นมา 1 ชุด เพื่อการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดทางการเมือง เหตุผลที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เห็นด้วยที่จะให้ รวมผู้กระทำความผิดในกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปกับกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะมาตรา 112 คือ ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดทางการเมือง 

แต่ มาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" ซึ่งพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องรับโทษตามกฎหมายอาญา หรือผู้กระทำความผิดต้องยอมรับผิดและต้องขอพระราชทานอภัยโทษเท่านั้น

ดังนั้น การนิรโทษกรรมจะนำผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และผู้กระทำผิดฐานทุจริตและประพฤติมิชอบมารวมด้วยไม่ได้ 

‘สว.วันชัย’ จี้ ‘รัฐบาล’ ควรเร่งออก กฎหมายนิรโทษกรรม ชี้!! ควรอภัยให้ ‘ทุกสี-ทุกฝ่าย’ ให้ถือว่าเป็น เพื่อนร่วมชาติ

(8 มิ.ย.67) นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง นิรโทษกรรม….ควรทำโดยเร็ว โดยระบุว่า 

การให้อภัยต่อกันเป็นการดีที่สุด จบได้ควรจบ เลิกได้ควรเลิก บ้านเมืองจะได้เดินต่อไปได้ ด้วยความปรองดองสมานฉันท์ เกือบ 20 ปี เราทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน แล้วได้อะไร มีแต่ความย่อยยับเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นแสนล้าน คนบาดเจ็บล้มตายพิกลพิการเป็นจำนวนมาก เข่นฆ่าทุบตีทำร้ายกันทั้งเผาทำลายอาคารสถานที่ มีการชุมนุมประท้วงเดินขบวนปฏิวัติรัฐประหารผ่านกันมาหมดแล้ว เสียหายก็เสียไปแล้ว คนเจ็บก็เจ็บไปแล้ว คนตายก็ตายไปแล้ว คนติดคุกก็ติดไปแล้ว ปฏิวัติก็ปฏิวัติไปแล้ว ทั้งหมดมาจากการเมืองทั้งสิ้น แล้วเราจะปล่อยให้ความขัดแย้งนี้มีอยู่ทำไม ดีที่สุดก็คือ เลิกแล้วต่อกัน เริ่มต้นกันใหม่ไม่ดีกว่าหรือ

1. รัฐบาลเศรษฐาควรรีบออกกฎหมายนิรโทษกรรม กรณีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองโดยเร็ว ไม่ต้องไปรออะไร สถานการณ์นี้เหมาะสมที่สุดแล้ว

2. การนิรโทษกรรมคือการให้อภัยกันทุกฝ่าย ทุกสี ทุกกลุ่ม ทุกเหตุการณ์ และควรเปิดกว้างอย่าไปมองว่าใครได้ใครเสีย ใครเป็นกลุ่มของใคร ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ใหญ่เยาวชนหนุ่มสาว ให้ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติ

3. ควรมีคณะกรรมการซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทำหน้าที่พิจารณาว่ากรณีใด ควรได้รับการนิรโทษหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะ ม.112 กรรมการชุดนี้และผู้มีอำนาจก็ควรจะรู้ได้ว่า ควรจะทำด้วยประการใดอย่างไรหรือไม่ จึงจะมีความเหมาะสมและสมควร

4. ควรมีการออกกฎหมายล้างมลทินประกอบไปด้วยก็จะดี

ผมเห็นตั้งท่ากันมานานแล้วแต่ก็ไปไม่ถึงไหน รัฐบาลเศรษฐารีบทำเสียเถอะ จะเป็นมหากุศลกับทุกฝ่าย และที่สำคัญจะเป็นมหากุศลที่ยิ่งใหญ่กับประเทศไทย….แล้วมาทำบุญที่วัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน กันนะครับ

'รศ.ดร.สุวินัย' มองปรากฏการณ์!! 'อำนาจ-ศรัทธา-อนาคต' ที่บางตา เกม 'ตัดวงจรอำนาจสังคมไทย' ที่ก๊วนส้มเชื่อมไม่ถึงใจด้อมอีกต่อไป

(8 มิ.ย.67) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ :วาทกรรม 'ตัดวงจรอำนาจของสังคมไทย' (Breaking the Cycle) กับปฏิทรรศน์ (Paradox) เรื่องการเปลี่ยนแปลงโลกกับการเปลี่ยนแปลงตนเอง' ระบุว่า...

>> การที่มี 'มวลชนส้ม' เข้าไปโรงหนังเพื่อดูหนังสารคดีที่เกี่ยวกับบทบาททางประวัติศาสตร์ของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ภายใต้ชื่อ 'อำนาจ ศรัทธา อนาคต : Breaking the Cycle' ค่อนข้างบางตาอย่างผิดคาด จนถูกอีกฝ่ายเอามาแซะหรือล้อเลียนในโซเชียลนั้น ... มันบ่งชี้ชัดเจนว่า ความสัมพันธ์เชิงจัดตั้งและเชิงปฏิบัติการมวลชน (Mass Action) ระหว่างพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นทายาทของพรรคอนาคตใหม่กับมวลชนส้มของพรรคนั้น ... มันบอบบาง ชั่วคราว ไม่ถาวร และเอาแน่เอานอนไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง

>> ปรากฏการณ์จุดกระแสไม่ติดครั้งนี้ อาจทำให้มองได้ด้วยซ้ำว่าคะแนนเลือกตั้ง 14 ล้านเสียงที่พรรคก้าวไกลได้มานั้น กว่าครึ่งคงมาจากนโยบายอภิมหาประชานิยม 'แจกเงินคนชราเดือนละ 3,000 บาท' ที่พรรคก้าวไกลออกมาในช่วงเจ็ดวันสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง มากกว่าศรัทธาในแนวทางและอุดมการณ์ปฏิกษัตริย์นิยมของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก ... จะว่าไปแล้วนี่คือ 'คุณภาพ' ของคนที่ไปเลือกตั้งจำนวนมากที่ตัดสินใจลงคะแนนตามสิ่งล่อใจจำพวกนโยบายอภิมหาประชานิยมที่พวกนักการเมืองเอามาล่อ มากกว่าจะลงคะแนนตามหลักเหตุผลเพื่อ 'ส่วนรวม' ซึ่งเป็นจิตวิญญาณที่แท้จริงของประชาธิปไตย

>> ถ้าธนาธรหรือพรรคก้าวไกลชูธงว่า 'จะตัดวงจรอำนาจของพวกนักการเมืองที่กินเมืองให้สิ้นซาก' แทนที่จะชูนโยบายปฏิกษัตริย์นิยมที่ตั้งอยู่บนความเชื่อผิด ๆ ของพวกตนว่า "สถาบันกษัตริย์คือต้นเหตุของปัญหาอำนาจทั้งปวงของประเทศนี้ที่จำเป็นต้องตัดวงจรอำนาจนี้ให้ขาดสะบั้น" ... ผู้เขียนคิดว่าพวกเขาคงจะประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนกว่าในปัจจุบัน

>> จะว่าไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย หรือการตัดวงจรอำนาจในสังคมไทย มันเป็นงานใหญ่ระดับพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินก็ว่าได้ ... จริงอยู่มันมิใช่เป็นไปไม่ได้ แต่ประวัติศาสตร์ของทุกประเทศทั่วโลกมันสอนเราว่ามันเป็นเรื่องยากมาก ๆ ระดับร้อยปีหรือหลายร้อยปีถึงจะเกิดสักครั้ง และกว่าจะเกิดขึ้นมาจริง มันจะต้องผ่านสงคราม ผ่านการนองเลือดสละชีวิตผู้คนนับล้าน ๆ คนก็ใช่ว่าจะทำสำเร็จได้ดังใจหวัง มิหนำซ้ำ 'ความจริงใหม่' ที่เกิดขึ้นอาจเลวร้ายยิ่งกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ ... คนส่วนใหญ่แน่ใจจริง ๆ หรือว่าอยากได้เส้นทางอนาคตที่ 'พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน' ภายใต้การนำของพรรคนี้

>> ก็เหมือนอย่างมายาคติ หรือวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาว่า "ถ้าปิดสวิตซ์ 3 ป. คือตัดวงจรอำนาจของทหารและการรัฐประหารได้ แล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น คนไทยจะรวยขึ้นอย่างแน่นอน" ... ความจริงใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ปิดสวิตซ์ 3 ป. ได้แล้วเป็นยังไง ก็จงเบิกตาดูความเป็นจริงตรงหน้าตอนนี้ให้ดีเถิด

>> ผู้เขียนซึ่งผ่านวัยหนุ่มวัยสาวที่มีอุดมคติอุดมการณ์ที่ร้อนแรงมาก่อนย่อมตระหนักดีว่า 'การเปลี่ยนแปลงโลก' กับ 'การเปลี่ยนแปลงตนเอง' เป็นสองสิ่งที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน จะมุ่งแต่การเปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่คิดเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน หาใช่เรื่องที่ควรกระทำไม่ เพราะมันจะนำมาซึ่งความผิดหวังและความสิ้นหวังอย่างแน่นอน

>> พรรคก้าวไกลคงจะถูกยุบค่อนข้างแน่ พรรคใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่จะมาสืบทอดแทนพรรคก้าวไกลควรเก็บบทเรียนที่ผิดพลาดและพลาดพลั้งในอดีต เพื่อเติบใหญ่เป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่สามารถตัดวงจรอำนาจของพวกนักการเมืองที่กินเมืองให้สิ้นซากได้จริง

- พรรคใหม่ของคนรุ่นใหม่ ควรชู 'นโยบายปฏิรูปตำรวจ' แบบผ่าตัดใหญ่ เพื่อตัดวงจรอำนาจในวงการตำรวจ เป็นนโยบายหลักของพรรคแทนที่จะชู 'นโยบายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์' จากจุดยืนปฏิกษัตริย์นิยม เหมือนอย่างในอดีต

- พรรคใหม่ของคนรุ่นใหม่ ควรชูนโยบายดึง 'เศรษฐกิจใต้ดิน' ที่มีขนาดใหญ่ราว ๆ 60% ของ GDP ไทย ขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจบนดินอย่างเป็นทางการ จะได้ 'ปฏิรูปการเก็บภาษี' เพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษีเงินได้ในระบบอย่างทั่วถึง โดยเอาเงินภาษีจำนวนมหาศาลที่รัฐเก็บเพิ่มได้ มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการทั้งระบบ รวมทั้งพัฒนาทักษะดิจิทัลให้คนไทยทั้งประเทศ

3 นักการเมืองหญิง 'รวมไทยสร้างชาติ' ร่วมรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบาย 'สตรี-เด็ก-คนพิการ' ขยายสิทธิลาคลอด จัดเงินอุดหนุนเด็กเล็ก

(8 มิ.ย.67) พรรครวมไทยสร้างชาติ ภายใต้ความยึดมั่นในหลักการ 'สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง' ได้มอบหมายตัวแทนพรรคที่เป็นผู้ดูแลเรื่องสิทธิสตรีและเยาวชน ประกอบด้วย...

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี หรือ เนเน่ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยอดีตผู้สมัคร สส.กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติ ประกอบด้วย ดร.ณัฐวรินธร บวรภัควุฒิสิริ หรือ อิ๊กคิว และ ดร.กาญจนา ภวัครานนท์ หรือ ฟลุค เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายจากตัวแทนคณะนักเคลื่อนไหวและนักวิจัย นำทัพโดย นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (Gender and Development Research Institue หรือ GDRI) ที่มาร่วมกับตัวแทนจาก มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย และ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

ทั้งนี้ ผู้นำเสนอ ได้นำรายงานวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ฉบับมายื่น ได้แก่ 1) รายงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ของความเป็นมารดาในประเทศไทย  2) รายงานข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อยุติความรุนแรงในครอบครัวที่มีต่อผู้หญิงและเด็ก และ 3) รายงานผลการสำรวจสถานการณ์คนพิการที่ถูกกระทำความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งรายงาน 2 ฉบับแรกเป็นการทำวิจัยภายในโครงการ 'เสียงของผู้หญิงต่อการทำนโยบายทางสังคมต่อรัฐบาลและพรรคการเมือง' อีกด้วย 

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายที่คณะที่มาเยือนได้นำเสนอนั้น มีข้อเสนอที่น่าสนใจอยู่ในหลายส่วน ซึ่งมีการคละระหว่างการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ทั้งนี้อยู่ภายใต้ประเด็นหลัก 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การเล็งเห็นว่าสตรีเป็นส่วนสำคัญในกลไกของเศรษฐศาสตร์ และความเป็นมารดาไม่ควรเป็นอุปสรรคในการทำงาน 2) การเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมายและโครงสร้าง เพื่อยุติความรุนแรงในครอบครัวที่มีต่อผู้หญิงและเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) การขยายกรอบนโยบายเดิม เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับเด็กวัย 0-6 ขวบ

ในรายละเอียดของข้อเสนอแนะ ประกอบเนื้อหาบางส่วนดังนี้...

1. การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา รวมถึงกำหนดให้ผู้เป็นมารดามีสิทธิลาคลอด 180 วัน และให้ผู้เป็นบิดาสามารถลาเพื่อดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตาม จ่ายจริง 100% รวมถึงการผลักดันนโยบายที่จะอำนวยให้มารดาสามารถทำงานควบคู่กับการเป็นแม่ได้ เช่น การมีมุมนมแม่ในที่ทำงาน และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของรัฐ ที่ครอบคลุมการรับเลี้ยงเด็ก 0-6 ปี มีเวลาเปิดปิดที่สอดคล้องกับเวลางานของบิดา-มารดา และมีการตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่ทำงาน โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ

2. การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงานโดยเฉพาะการเลิกจ้างหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงการแก้ไข พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ให้มีความเข้มแข็งมาขึ้น ให้ครอบคลุมว่าการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็นคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้

4. เพิ่มความเท่าเทียมและถ้วนหน้าให้กับเด็ก ด้วยนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี อ้างอิงสถิติปี 2565 ที่มีเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพียงจำนวน 2.3 ล้านคน ในขณะที่ประชากรเด็กไทยมีอยู่ที่ 4.3 ล้านคน หากรับมอบเงินอุดหนุนถ้วนหน้า จะเป็นการเพิ่มงบประมาณอีกเพียง 14,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ความเท่าเทียมกับเด็กอีก 2 ล้านคนที่ปัจจุบันนี้ไม่ได้รับเงินสนับสนุน 

“การรับฟังผลวิจัย ข้อเสนอแนะ และมีโอกาสหารือร่วมกันในครั้งนี้มีประโยชน์เป็นอย่างมาก ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้รับมาวันนี้ไม่ใช่การคิดขึ้นมาลอย ๆ แต่เป็นแนวคิดที่กลั่นกรองมาจากสถิติและผลการวิจัย ด้วยเป้าประสงค์ที่อยากผลักดันให้เกิดประโยชน์ต่อสตรี เด็ก และคนพิการในประเทศไทย  ในฐานะตัวแทนพรรค พวกเรา 3 คน ขอสร้างความมั่นใจว่าประเด็นปัญหาเหล่านี้ ตรงกับนโยบายและความสนใจของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ยึดมั่นในหลักการ 'สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง' อยู่แล้ว นอกจากนี้ หนึ่งในปัญหาที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญมาก คือเรื่องของสังคมสูงวัยและจำนวนประชากรที่ลดลงของประเทศไทย นโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถทำงานควบคู่กับการเป็นแม่ได้ และนโยบายที่ส่งเสริมการดึงศักยภาพด้วยการเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ เหล่านี้เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องได้รับการผลักดันอย่างเร่งด่วน” นางรัดเกล้า กล่าวเสริม

ถึงเวลา 'คุณหญิงอ้อ' ลงบัญชาเกม ‘ปรับดีล’ ประคองทรง ‘เศรษฐา’ ปลดสลักให้ ‘โทนี่’

วันที่ 7 มิ.ย. 2567 นักข่าวจำนวนหนึ่งแอบไปสังเกตการณ์ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า พบว่ามีรถตู้วิ่งเข้าออกจำนวนหนึ่ง ตอกย้ำให้ข่าวที่ว่า ‘คุณหญิงอ้อ’ คุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ ภริยา (หย่า) ของคุณทักษิณ  ชินวัตร ได้นัดหมายบุคคลในครอบครัวเพื่อพบปะพูดคุย...เป็นจริง

ยากที่จะหาข่าวอินไซด์จากวงพูดคุยได้...แต่พอที่จะไล่เรียงข่าว-ข้อมูลเบื้องต้นให้รับฟังได้ว่า...เบื้องหลังการเชิญ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี มาเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในหนนี้ได้

ผู้ที่ทำให้ ดร.วิษณุ ปฏิเสธได้ยากที่สุดคือ ‘นายหญิง’ ท่านนี้...

ภารกิจของดร.วิษณุนาทีนี้คือแก้ไขคำชี้แจงข้อกล่าวหาถอดถอนนายเศรษฐา...ก่อนจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 10 มิ.ย. หรือหากจำเป็นก็สามารถขอขยายเวลาได้...

กรณีเศรษฐาคือความเป็นความตายของพรรคเพื่อไทย...ว่ากันว่า ‘นายหญิง’ ก็มีส่วนสำคัญขอให้นายเศรษฐารับตำแหน่งนายกฯ แทน ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งผู้เป็นแม่รู้ดีว่าลูกสาวยังไม่พร้อม ไม่อยากเป็นแม่รังแกลูก...ดังนั้นงานนี้ต้องใช้บริการเนติบริกรผู้มีอภินิหาริย์ทางกฎหมาย…มาช่วยประคับประคองเศรษฐา..

ไม่แต่เท่านั้น…กรณีทักษิณเผชิญหน้าคดีมาตรา 112 ต้องลุ้นกันทีละช็อต ทีละศาล...ก็เป็นวิบากกรรม เป็นงานหนัก…ที่สุดก็คงหนีไม่พ้นต้องใช้บริการจาก ดร.วิษณุ เช่นกัน รวมทั้งงานยากสุดคือการกลับบ้านอย่างเท่ ๆ ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร   

วิบากกรรมของครอบครัวชินวัตรรอบนี้ใหญ่หลวงไม่ใช่น้อย คดีมาตรา 112 ของทักษิณแม้วันที่ 18 มิ.ย.แนวโน้มจะได้รับประกันตัวแต่ชีวิตก็เหมือนถูกล่ามโซ่...การจะใช้บริการนิรโทษกรรมสุดซอย รวมคดี 112 เข้าไปด้วย ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการล้มกระดานการเมือง...ห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยต้องยืดหยุ่น...และหนีไม่พ้น ‘คุณหญิงอ้อ’ ต้องเทคแอ็กชันในช็อตสำคัญ

สรุปทุบโต๊ะ…ตอนนี้มีเพียง ‘นายหญิง’ เท่านั้นที่ทรงอิทธิพลและน่าเชื่อถือมากที่สุด ที่จะช่วย ‘ปรับดีล’ การอยู่ร่วมกันกับอีกฝ่ายให้ราบรื่นได้...ภายใต้การปล่อยข่าวรัว ๆ จากมุมมืดว่า 18 มิ.ย. ทักษิณจะวืดประกันตัว, วันที่ 3 ก.ค. ดาบแรกศาลรธน. จะยุบพรรคก้าวไกล ดาบต่อไป 10 หรือ 17 ก.ค. จะลงดาบเศรษฐา...

ปล.หากย้อนอดีต…บารมีบวกกับความอ่อนน้อมกับผู้ใหญ่ ความเด็ดขาดและแน่นอนของ ‘นายหญิง’ เคยช่วยถอดสลักระเบิดเวลาให้ ‘นายใหญ่’ มาหลายต่อหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือความขัดแย้งของนายใหญ่กับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แห่งบ้านสี่เสาเทเวศร์ อดีตประธานองคมนตรีผู้ล่วงลับ..

อย่างไรก็ตาม...ทั้งหลายทั้งปวง การ ‘ปรับดีล’ ให้สมดุล ต้องอยู่ที่ความอดทนของ ‘นายใหญ่’ ที่ฝ่ายความมั่นคงของฝั่งอนุรักษ์นิยมยังไม่สบายใจกับคำพูดคำจา การแสดงออกต่าง ๆ เช่น ที่โคราชเมื่อ 25 พ.ค. หรือแม้แต่วันที่ 8 มิ.ย. ที่ปทุมธานีที่อาจจะไปร่วมงานด้วยตัวเองหรือวิดีโอคอล..ที่จะต้องตามไปดู…

ถ้านายใหญ่พูดการเมืองเพียงว่า “ผมไม่รู้จักคนชื่อ(บิ๊ก)แจ๊ส” เพราะต้องช่วยชาญ พวงเพ็ชร์ ให้ชนะนายกอบจ.ในนามพรรคเพื่อไทยก็ไม่น่าจะเป็นไร...แต่เขาเกรงกันว่าจะพูดเรื่องอื่นที่มันชวนเสียวน่ะสิ..!!

‘สุริยะ’ รุกหนัก!! ปกป้องเด็กจาก ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เคาะ 5 มาตรการ ชง ครม. 'ปราบปราม-คุมระบาด'

(7 มิ.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งมีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2. สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน 3. เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5. ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำมติสมัชชาฯ ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสุริยะ เปิดเผยว่า ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้มีการกำชับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด จริงจัง เนื่องจากมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จนนำไปสู่การจับกุมและตรวจยึดของกลางได้ในหลายกรณี ซึ่งมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่ คสช. ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นกรอบนโยบายสำคัญให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง กรม กอง สำนักงาน คณะกรรมการชุดต่าง ๆ นำไปขับเคลื่อน ซึ่งส่วนตัวต้องการเห็นรูปธรรม จึงได้สั่งการให้ สช. เกาะติดการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. ให้รับทราบความก้าวหน้าไปจนกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อมติ

“ต้องขอชมเชยคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ที่ทำข้อเสนอลงรายละเอียดให้เราได้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจน อย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญคือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยกระจายความรู้และความน่ากลัวจากผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าไปถึงเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของตัวเลขสถิติที่เรามีการสำรวจกัน 5 ปีครั้ง ซึ่งมตินี้เสนอให้สำรวจบ่อยขึ้นเป็นทุก 2 ปี ผมมองว่าการสำรวจไม่ได้ใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จำนวนผู้สูบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรากำลังมีมาตรการต่างๆ ออกมา จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจสัก 6 เดือนครั้ง เพื่อประเมินได้ว่าหากมาตรการได้ผลจริง จำนวนตัวเลขเหล่านี้ก็จะต้องลดลง” นายสุริยะกล่าว

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ‘การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า’ ผ่านความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วม 264 หน่วยงาน/คน โดยทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) อย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกันนี้ยังได้วางบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีนโยบายรณรงค์ เฝ้าระวัง และให้ความรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กำหนดมาตรการมิให้นำเสนอประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่บิดเบือนผ่านสื่อ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เป็นต้น

ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเด็กและเยาวชนถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ที่ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จึงเป็นที่มาของการพัฒนานโยบายสาธารณะเรื่องนี้

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการมากมายยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ โดยมีสารนิโคตินปริมาณสูงซึ่งมีฤทธิ์เสพติดรุนแรง และอันตรายต่อทุกระบบของร่างกายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะต่อพัฒนาการสมองของเด็ก ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ย้ำด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสาม เนื่องจากมีสารนิโคติน สารเสพติด สารแต่งกลิ่น สารเคมีอื่น ๆ มิได้เป็นสินค้าที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ตามที่อุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวอีกว่า ปัญหาขณะนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการตลาดล่าเหยื่อ ที่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เลียนแบบของเล่นเด็ก (Toy Pod) ของใช้หรือของกินที่เด็กและเยาวชนนิยมหรือคุ้นเคย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากทดลองและใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าคุกคามเด็กเล็กลงถึงระดับชั้นประถมศึกษาและส่งผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

“ความจริงแล้วสถานะของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นวัตถุที่มีความผิดตามกฎหมาย ครอบคลุมตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามบริการ ซึ่งดีอยู่แล้ว เราจึงขอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งมาตรการเหล่านี้ และสิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ ขณะที่การปกป้องเด็กและเยาวชนไทย เราก็สามารถทำได้ด้วยการสร้างการรับรู้เรื่องภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กันไป” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประเทศไทยเคยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ มาแล้ว โดยขณะนั้นเครือข่ายสมัชชาฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนมติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราได้พบกับปัญหาใหม่จากการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่รุนแรง และจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายเข้ามาหนุนเสริมการขับเคลื่อนให้มากขึ้น

นพ.สุเทพ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าคนในประเทศไหนจะมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวแค่ไหนขึ้นอยู่กับ ระบบบริการสุขภาพ 9% พันธุกรรม 16% พฤติกรรม 51% และ สิ่งแวดล้อม 24% ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีน้ำหนักถึง 75% ดังนั้น การจะทำให้คนสุขภาพดี จึงต้องมาจัดการที่ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinant of health) ซึ่งการสูบบุหรี่ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งที่ทำให้ชายไทยเจ็บป่วยหรือตายก่อนวัยอันควร บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายชนิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน ฯลฯ 

“ประเทศไทยดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ผลดี คนสูบบุหรี่มวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายบุหรี่คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มุ่งตลาดที่เด็กและเยาวชนเป็นธุรกิจที่กินยาว ในปัจจุบันจะเห็นการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จะส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพของประชากรไทยในยุค ‘เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย’ อย่างน่าเป็นห่วง จึงจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะฯ เพื่อร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจัง” นพ.สุเทพ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top