Tuesday, 8 July 2025
POLITICS

‘เทพไท’ เชื่อ!! หากการเมืองพลิกขั้ว 'ก้าวไกล' ไม่จับ ‘เพื่อไทย’ เพราะหวังแบ่งขั้วชัด และมั่นใจได้เปรียบในศึก ‘เลือกตั้ง’

(7 มิ.ย. 67) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ก้าวไกล” ประกาศไม่จับมือ “เพื่อไทย” เป็นรัฐบาล มีแต่ได้กับได้

การที่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลประกาศชัดว่า ถ้านายเศรษฐา ทวีสิน หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีโอกาสพลิกขั้ว พรรคก้าวไกลจะไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทยร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นการประกาศท่าทีการเมืองที่ชัดเจนมาก เพราะการแสดงจุดยืนไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลดีต่อพรรคก้าวไกล หลายประการ คือ

1.เป็นการตอกย้ำจุดยืนที่ชัดเจน นับว่าเป็นจุดแข็งของพรรคก้าวไกล ที่ไม่เคยตระบัดสัตย์ ซึ่งเป็นการกระทบไปยังพรรคเพื่อไทย ที่ไม่รักษาสัญญาประชาคมตอนหาเสียง ที่ให้ไว้กับประชาชน

2.การประกาศไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย ทำให้เกมต่อรองอำนาจระหว่างพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมชัดเจนขึ้น โดยพรรคเพื่อไทยไม่สามารถนำไปต่อรองกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมได้ ถ้าดีลล่ม พรรคเพื่อไทยจะอ้างไปจับมือกับพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้

3.การประกาศไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย ถ้าหากการเมืองถึงทางตัน จำเป็นต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ พรรคก้าวไกลมีความพร้อม และได้เปรียบมากกว่าพรรคการเมืองทุกพรรค เพราะการเลือกตั้งทุกครั้ง พรรคก้าวไกลใช้เงินทุนในการหาเสียงน้อยที่สุด ในขณะที่พรรคการเมืองอื่น ใช้เงินทุนมหาศาล ระดับหลัก 1,000 ล้านบาท ถึง10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้อเสียง

4.กระแสทางการเมืองในตอนนี้ ถ้าประเมินจากผลโพลของสำนักต่างๆ พรรคก้าวไกลมีกระแสความนิยมสูงลิ่ว นำพรรคการเมืองอื่นหลายช่วงตัว ถ้าเลือกตั้งเร็วขึ้นเท่าไหร่ พรรคก้าวไกลได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น

5.ถ้าผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ มีมติยุบพรรคก้าวไกลจริง ถ้ามีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ขึ้นมา คะแนนสงสาร คะแนนความเห็นใจที่ถูกรังแกทางการเมือง จะเทให้พรรคการเมืองใหม่ ที่มาจากพรรคก้าวไกลแบบแลนด์สไลด์

6.เป็นการตอบข้อสงสัยของสังคมที่เข้าใจว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่ค้านไม่จริง แต่เป็นพรรคฝ่ายคอย เพื่อรอร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย มีดีลฮ่องกงกับนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อประกาศชัดเช่นนี้ เป็นการตอบคำถามกับข้อสงสัยกับสังคมได้ชัดเจน

“ผมคิดว่าแกนนำของพรรคก้าวไกล ได้คิดอย่างรอบคอบแล้วว่า การประกาศจุดยืนไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล มีแต่ได้กับได้ เป็นการตอกย้ำการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ชัดเจน ได้ประกาศเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง ในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป” นายเทพไท ระบุ

'เพจดัง' ไขข้อกระจ่าง หลัง 'สส.ทวิวงศ์ ก้าวไกล' เข้าใจผิดเรื่องโฮปเวลล์ เกิดขึ้นในยุค 'พล.อ.ชาติชาย' ส่วนยุค 'ลุงตู่' ไล่เคลียร์จนหลุดค่าโง่

(7 มิ.ย.67) เพจ 'Bangkok I Love You' ได้โพสต์ข้อความชี้แจงเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ จากพรรคก้าวไกล ที่ได้ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนถึงโครงการ โฮปเวลล์ ไว้ว่า...

กราบเรียนท่าน สส. Tawiwong Totawiwong ท่านอาจจะเข้าใจผิด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้เป็นคนอนุมัติโครงการ โฮปเวลล์ และที่สำคัญ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เจรจา และสู้คดีในชั้นศาลจนกระทั่งประเทศไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่ ให้กับโฮปเวลล์ ถึง 24,000 กว่าล้าน

ปล. ปัจจุบันซากของโฮปเวลล์ได้เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดง และอีกไม่นานก็คงจะมีการอนุมัติโดยรัฐบาลของนายกเศรษฐา ทวีสิน ไปถึง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของท่าน (สส.ทวิวงศ์)

ปล.2 เผื่อท่านไม่ทราบ โครงการโฮปเวลล์อนุมัติในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (คุณปู่ของ สส.ธิษะณา ชุณหะวัณ จากพรรคก้าวไกล) เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว

ปล.3 พัฒนาการที่เปลี่ยนไป จากแท่งปูนผุพัง อนุสาวรีย์ และมหากาพย์ค่าโง่โฮปเวลล์เกือบสามหมื่นล้าน (รัฐบาลไทย ชนะคดีไม่ต้องจ่ายค่าโง่) พลิกฟื้นมาเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดง หนึ่งในโครงสร้างหลักระบบขนส่งมวลชนทางรางที่มีความทันสมัยที่สุดของกรุงเทพมหานคร ก็ได้ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พาไทยชนะคดีนี้ สิ้นสุดมหากาพย์อภิมหาโครงการด้านคมนาคมยาวนานถึง 33 ปี 

'รวมไทยสร้างชาติ' ย้ำจุดยืนชัด หนุนร่าง พ.ร.บ. เสริมสร้างสังคมสันติสุข เตือน!! ดันทุรังนิรโทษเหมาเข่ง ม.112 จะยิ่งซ้ำเติมความขัดแย้งรอบใหม่

(7 มิ.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนหลายกลุ่มได้ยื่นข้อเรียกร้องคัดค้านการรวมคดีที่ทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ใน 25 เงื่อนไขแรงจูงใจทางการเมืองในร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ว่า การจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อให้ประเทศออกจากความขัดแย้ง สร้างความปรองดองทุกฝ่ายถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเสนอให้รวมผู้ทำผิดคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย และย้ำจุดยืนมาโดยตลอด เพราะการชุมนุมทางการเมือง รวมถึง ความขัดแย้งความเห็นต่างทางการเมืองมีระหว่าง กลุ่มประชาชนและมวลชนเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แต่การที่จะนำคดีมาตรา112 เข้ามารวมในคดีการเมืองด้วยนั้น เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแน่นอน มากกว่านั้น อาจส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมขึ้นใหม่ด้วยซ้ำ 

ทั้งนี้ แม้ว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร จะยังไม่ได้สรุปออกมา ว่าจะรวมคดีมาตรา 112 เข้าด้วยหรือไม่ก็ตาม ตนจึงขอเรียกร้องให้ถอดการกระทำความผิดในคดีนี้ออกจากการพิจารณาว่ามาจากแรงจูงใจทางการเมืองทันที ไม่จำเป็นต้องเสี่ยง หรือ ลังเลที่จะพิจารณากันหลายรอบ เพราะตามหลักการทางกฎหมายก็ชัดเจนอยู่แล้ว 

พร้อมกันนี้ สนับสนุนร่างพ.ร.บ.เสริมสร้างสังคมสันติสุขของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้เสนอกฎหมายแนวทางสร้างสันติสุขความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยไม่รวมคดีมาตรา 112 ที่ยื่นต่อสภาไว้แล้ว

"ผมในฐานะสส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ย้ำจุดยืนชัดเจนมาตลอด ว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำมาตรา 112 เนื่องจากเป็นคดีความมั่นคงของชาติ เป็นกฎหมายที่มีไว้ปกป้อง สถาบันพระมหากษัตริย์ประมุขแห่งรัฐ ใครจะละเมิดไม่ได้ ไม่ใช่ คดีการแสดงความเห็นทางการเมืองแต่อย่างใด  ซึ่งสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นายกฯ อดีตนายกฯ นักการเมืองโดยสุภาพสามารถทำได้ เพราะถือเป็นฝ่ายการเมืองโดยตรง แต่การอาฆาตมาดร้ายการแสดงออกที่ดูหมิ่นก้าวล่วง ทั้งด้วยวาจาและการกระทำต่างๆ ต่อสถาบันฯเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะสถาบันฯไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หรือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งยอมรับว่ามีขบวนการ บางพรรคการเมืองต้องการที่จะดึงให้มายุ่งเกี่ยวกัน และยังปลุกมวลชนออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จนเกิดคดีถูกจับกุม  โดยปกติคนทั่วไปไม่ได้มีปัญหากับมาตรา 112 เลย จึงขอเรียกร้องกลุ่มคน พรรคการเมืองบางพรรค หยุดบิดเบือนข้อมูลโน้มน้าวทำให้ประชาชนสับสนเสียที" นายธนกร ย้ำ

ย้อนภารกิจปิดทองหลังพระ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ วีรบุรุษผู้ปิดฉากมหากาพย์ ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ ตัวจริง

(6 มิ.ย. 67) ‘โฮปเวลล์’ เป็นโครงการคมนาคมขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2533 สมัยรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และ มนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โครงการนี้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพฯ’ โดยรูปแบบโครงการเป็นโครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้ายกระดับ บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศประกอบด้วย โครงสร้างยกระดับทางรถไฟขึ้นไปเหนือผิวการจราจร เพื่อลดจุดตัดกับทางรถยนต์ (Grade Crossing) เพื่อลดปัญหาการใช้รถยนต์ต้องหยุดรอรถไฟ ก่อสร้างคร่อมทางรถไฟที่มีอยู่ ในระยะทางรวม 60.1 ก.ม. 

‘โฮปเวลล์’ มาจากชื่อบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่จากฮ่องกงของ ‘กอร์ดอนวู’ ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอสัมปทานเพียงรายเดียว รัฐบาลไทยได้เซ็นสัญญากับโฮปเวลล์เมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นคู่สัญญา สิ่งที่โฮปเวลล์ได้รับคือสัมปทานเดินรถและเก็บค่าผ่านทางพร้อมสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สองข้างทางเนื้อที่กว่า 600 ไร่ ระยะยาว 30 ปี โดยเสนอผลตอบแทนให้รัฐบาล 53,810 ล้านบาท

โครงการ ‘โฮปเวลล์’ ใช้วิธีการก่อสร้างแบบเทิร์นคีย์คือออกแบบไปและก่อสร้างไปด้วยพร้อมกัน โดยการรถไฟฯ สนับสนุนด้านการประสานกับหน่วยงานรัฐจัดหาพื้นที่ก่อสร้างและพัฒนา ส่วนโฮปเวลล์จะออกแบบรายละเอียดก่อสร้าง จัดหาเงินทุนโครงการ 6,000 ล้านบาท วางแผนการเงินจ่ายค่าตอบแทนรายปีและผลกำไรให้การรถไฟฯ ตลอดแนวเส้นทาง 60.1 ก.ม. ถูกตัดแบ่งการก่อสร้าง 5 ระยะ ช่วงที่ 1 ยมราช-ดอนเมือง 18.8 ก.ม. ช่วงที่ 2 ยมราช-หัวลำโพง-หัวหมาก และมักกะสัน-แม่น้ำเจ้าพระยา 18.5 ก.ม. ช่วงที่ 3 ดอนเมือง-รังสิต 7 ก.ม. ช่วงที่ 4 หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ และยมราช-บางกอกน้อย 6.7 ก.ม. และช่วงที่ 5 วงเวียนใหญ่-โพธิ์นิมิตร และ ตลิ่งชัน-บางกอกน้อย 9.1 ก.ม.

แต่การก่อสร้างตามโครงการฯ เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากประสบปัญหาในการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ กอปรกับเศรษฐกิจของไทยในระยะนั้นไม่เติบโตเหมือนในช่วงแรกของรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ทำให้แนวโน้มการลงทุนธุรกิจในอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลง ปัญหาเรื่องจุดตัดกับโครงการถนนยกระดับวิภาวดีรังสิต (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และการก่อสร้างล่าช้าจนอัตราคืบหน้าของงานไม่เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาล ซ้ำร้าย พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย (วิกฤตต้มยำกุ้ง) ทำให้บริษัทโฮปเวลล์หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง หลังดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี และมีความคืบหน้าเพียง 13.77 % ขณะที่ตามแผนงานกำหนดไว้ว่าควรจะมีความคืบหน้า 89.75% กระทรวงคมนาคมจึงได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการเมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาล ‘ชวน หลีกภัย’ (ชวน 2) เป็นนายกรัฐมนตรี และ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมี ‘สราวุธ ธรรมศิริ’ เป็นผู้ว่าการการรถไฟฯ 

อันเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ เมื่อ ‘โฮปเวลล์’ ยื่นเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 เพื่อฟ้องกลับและเรียกร้องค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ในขณะที่การรถไฟฯ ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท คณะอนุญาโตตุลาการประกอบด้วย นายสมศักดิ์ บุญทอง รองอัยการสูงสุด ในฐานะตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย, รองศาสตราจารย์วีระพงษ์ บุญโญภาส อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนจากโฮปเวลล์ฯ และนายถวิล อินทรักษา อดีตผู้พิพากษา เป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องคืนเงินชดเชยให้โฮปเวลล์โฮลดิงส์ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ให้กับบริษัทฯ

ต่อมา เมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 สมัยรัฐบาล ‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ ซึ่งมี ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม มีคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการให้คมนาคมจ่ายค่าชดเชยให้โฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญายังไม่จบ มีการนำคดีขึ้นศาลปกครองกลางเพื่อให้ศาลชี้ขาด ต่อมา 13 มีนาคม พ.ศ. 2557 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 2 ฉบับ และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาด ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้โฮปเวลล์ ขณะที่ ‘โฮปเวลล์’ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดจนมามีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดเมื่อ 22 เมษายน พ.ศ. 2566 ให้รัฐจ่ายค่าชดเชยให้โฮปเวลล์ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด

แต่กลางปี พ.ศ. 2562 ‘ลุงตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มอบหมายให้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ได้เข้าไปทำการ สะสาง ตรวจสอบ ตรวจทาน และเรียบเรียงเอกสารต่างๆ ที่หมักหมมมานานกว่าสามสิบปี เปลี่ยนมาหลายรัฐบาล จนขึ้นใจทุกขั้นตอน ซึ่งเรื่องนี้เอาจริงๆ แล้ว ต้องมีคนรับผิดอีกหลายคน ด้วยความร่วมมือของ ‘สุทธิรักษ์ ยิ้มยัง’ (ยิ้ม) เจ้าหน้าที่อนาบาล (นิติกร) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ที่อุทิศตน เสียสละ และทุ่มเท ในการรวบรวม อ่าน และเตรียมการข้อมูลเรื่องราวที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าไว้หมดเมื่อนานมาแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ และทีมงานซึ่งทำภารกิจนี้ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเต็มที่

จนสามารถสรุปข้อเท็จจริงแล้วนำเสนอต่อศาลปกครองสูงสุดได้ว่า เนื่องจาก ‘โฮปเวลล์’ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2541 จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ‘โฮปเวลล์’ ถึงได้ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาด ก่อนที่จะฟ้องร้องคดีจนถึงศาลปกครองในเวลาต่อมา ตามกฎหมายแล้วการจะยื่นคำร้องต่ออนุญาโตฯ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้เฉพาะ จะต้องทำภายใน ‘5 ปี’ นับแต่วันที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา แต่ ‘โฮปเวลล์’ กลับยื่นคำร้องหลังได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาถึง 6 ปีกับ 10 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเลยกำหนดระยะเวลา หรือหมด ‘อายุความ’ ที่จะสามารถยื่นคำร้องได้ตามกฎหมาย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 ตามคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่ยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด โดยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565 จึงมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่ขอให้นำคดีนี้มารื้อฟื้นใหม่ไว้พิจารณา และที่สุดเมื่อ 18 กันยายน พ.ศ. 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชดใช้คดีโฮปเวลล์ 2.7 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้พิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า โฮปเวลล์ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการปิดฉากมหากาพย์ ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ ที่ยาวนานกว่า 33 ปีได้สำเร็จในที่สุด

'คลัง' เตรียมขาย 'หวยเกษียณ' ใบละ 50 บาท ลุ้นรางวัลใหญ่ทุกวันศุกร์ ส่วนสลากที่ไม่ถูก เก็บเป็นเงินออม ถอนออกมาใช้ได้ตอนอายุ 60 ปี

(6 มิ.ย. 67) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีปัญหาประชาชนเข้าสู่วัยเกษียณ แต่ไร้เงินเก็บ ปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของไทย และปัญหานี้แก้ไม่ได้ด้วยการอัดงบประมาณในรูปแบบเบี้ยคนชราจำนวนสูง ๆ ซึ่งในที่สุดแล้วระบบงบประมาณไม่มีทางรับไหว

ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงการคลังกำลังพิจารณานโยบาย ‘สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ’ หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่า ‘สลากเกษียณ’ หรืออย่างไม่เป็นทางการว่า ‘หวยเกษียณ’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมเอาลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออมที่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ตอนเกษียณ (อายุ 60 ปี)

“ปัจจุบันการใช้งบประมาณสำหรับดูแลเบี้ยชราสูงถึงปีละหลายแสนล้านบาท แต่หวยเกษียณดังกล่าวใช้เงินงบประมาณมาดำเนินการ เฉลี่ยใช้งบเพียงสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท คิดเป็นเดือนละ 60 ล้านบาท หรือปีละ 700 ล้านบาทเท่านั้น และขั้นตอนในการดำเนินการสามารถทำได้ด้วยการแก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถเริ่มได้ในปี 2568”

โดยหวยเกษียณมีรายละเอียดเบื้องต้น (สามารถเปลี่ยนได้ภายหลัง) ดังนี้

1. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้กับสมาชิก กอช. ผู้ประกันตน ม. 40 และแรงงานนอกระบบ (กลุ่มเป้าหมายจะเพิ่มเติมภายหลัง) ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน

2. สามารถซื้อสลากได้ทุกวัน แต่ออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันที โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม

3. รางวัลของ ‘ทุกวันศุกร์’ กำหนดดังนี้ (อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม)

- รางวัลที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล
- รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล

4. ‘เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก’ (เงินสะสม) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช. จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตออกมาได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาชิกกอช. มีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย คาดว่าหากแก้ไขกฎหมายและออกผลิตภัณฑ์หวยเกษียณ จะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาออมเงินเพิ่มเติม คาดว่าจำนวนสมาชิกจะเพิ่มขึ้นเป็น 16-17 ล้านราย สำหรับการดำเนินการดังกล่าว ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาต่อระบบการจำหน่ายสลากในปัจจุบัน

“นโยบายนี้จะเข้าแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะการออมภาคสมัครใจในปัจจุบันไม่ได้ผล ต้องอาศัยการออมที่ผูกกับแรงจูงใจซื้อสลาก ถูกกฎหมาย เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ ถูกรางวัลได้เงินเลย ไม่ถูกทุกบาททุกสตางค์จะถูกเก็บเป็นเงินออมยามเกษียณ ซื้อมาก ได้ลุ้นมาก มีเงินออมมาก”

‘นายกฯ เศรษฐา’ ต่อสายยินดี ‘นายกฯ โมดี’ ชนะเลือกตั้งสมัย 3 พร้อมกระชับสัมพันธ์ ‘ไทย-อินเดีย’ ผ่านการร่วมมือทางเศรษฐกิจ

(6 มิ.ย. 67) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือทางโทรศัพท์กับนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อแสดงความยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีอินเดียที่ชนะการเลือกตั้ง เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน และชื่นชมการทำงานของนายกรัฐมนตรีอินเดีย เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนชาวอินเดีย พร้อมยืนยันการทำงานร่วมกันเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน 

สำหรับการเดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ เพื่อเป็นโอกาสหารือกระชับความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภูมิภาค และความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC และหวังว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยและอินเดียได้ยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

ด้านนายกฯ อินเดีย กล่าวว่าครั้งนี้ถือเป็นการหารือกับนายกรัฐมนตรีไทยครั้งแรก ขอแสดงความยินดีกับการรับตำแหน่งของนายกฯ ไทยเช่นกัน และเชื่อมั่นว่าไทยและอินเดีย จะคงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน 

ทั้งนี้อินเดีย พร้อมให้การต้อนรับนายกฯ ในการเยือนอินเดีย และยินดีที่จะเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ในเดือนกันยายนนี้ที่ประเทศไทย และเชื่อว่าจะเป็นโอกาสพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

‘พิธา’ เชื่อมั่นศาลตัดสิน ‘เป็นธรรม’ ปมก้าวไกลกบฏ-ยุบพรรค ชี้!! คดีนี้ทำพรรคอ่อนแรงระยะสั้น แต่เป็นแต้มต่อระยะยาว

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย โดยเฉพาะคดียุบพรรคก้าวไกล ที่กำลังดำเนินอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ด้วยข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครอง จากการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

นายพิธา กล่าวว่า ตนยังคงเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาและวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลอย่างเป็นธรรม พร้อมย้ำว่า การกล่าวหาตนและพรรคก้าวไกล ว่าเป็นกบฏหรือผู้ทรยศที่มุ่งล้มล้างการปกครองนั้น ถือเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริง เพราะสิ่งที่ตนและพรรคก้าวไกลเสนอ คือความสมดุลทางกฎหมาย ระหว่างการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

นายพิธา กล่าวต่อไปว่า คดียุบพรรค จะทำให้พรรคก้าวไกลอ่อนแรงลงในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะเป็นการติดเทอร์โบ (turbocharge) ให้พรรคได้แต้มต่อในแนวคิดและนโยบายแบบก้าวหน้าในระยะยาว โดยยกตัวอย่างสถานการณ์การยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2563 ซึ่งทำให้พลังของพรรคอ่อนแอลงชั่วคราว แต่ก็สามารถกลับมาฟื้นคืนแบบติดเทอร์โบได้ในการเลือกตั้งปี 2566 แสดงให้เห็นว่า แนวคิดแบบก้าวหน้า กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยพรรคก้าวไกลได้เก้าอี้ในสภา มาครองเพิ่มขึ้นเป็น 151 ที่นั่ง จากเดิมที่พรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ได้ 81 ที่นั่ง

“ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แนวคิดแบบก้าวหน้าคือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อพรรคการเมือง หรือหัวหน้าพรรคการเมืองใดๆ” นายพิธา กล่าว

นอกจากนี้ นายพิธายังกล่าวถึงสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ซึ่งสัปดาห์ที่แล้ว น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รออาญา ขณะเดียวกันในช่วงกลางเดือนก่อน น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 28 ปี ก็เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง ระหว่างการถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ก่อนการพิจารณาคดีมาตรา 112 โดยระบุว่า หากพวกเราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับอนุญาตให้อภิปรายเรื่องหลักความได้สัดส่วนของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างมีวุฒิภาวะ โปร่งใส และด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะคลี่คลายลงไปได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่ผลักเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ให้จนมุม

“หากเรามีพื้นที่ในการพูดคุยถกเถียงเรื่องนี้กันได้ในรัฐสภา ก็จะไม่เกิดการกดดันให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ เลือกวิธีการประท้วงที่ทำร้ายตัวเอง รวมถึงคนที่พวกเขารักด้วย” นายพิธา กล่าว

'สุริยะ' โต้ปม 'ฐากร' อ้าง!! 'ขรก.คมนาคม' เรียกรับส่วย 'ผู้รับเหมา-ข้าราชการ' ยัน!! 'ข้อมูลไม่ชัดเจน-ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง' แต่ถ้าพบผิดจริง ฟันไม่เลี้ยง

(5 มิ.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ได้กล่าวอ้างถึงมีข้าราชการระดับสูง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมฯ หนึ่ง ในสังกัดกระทรวงคมนาคม เรียกรับผลประโยชน์จากผู้รับเหมาที่ชนะประมูลในอัตราร้อยละ 12 จากมูลค่างานทั้งหมด พร้อมทั้งสั่งการให้ผู้อำนวยการระดับสำนักแต่ละพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ โดยแต่ละพื้นที่จะต้องส่งผลประโยชน์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2567 อย่างน้อยมูลค่า 20 ล้านบาท โดยตั้งเป้าเรียกรับผลประโยชน์รวม 1,000 ล้านบาท นั้น 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม พร้อมเปิดรับฟังทุกปัญหาและข้อร้องเรียน หรือเบาะแสต่างๆ เพื่อนำมาพิจารณาและค้นหาข้อเท็จจริง ส่วนจากการกล่าวอ้างดังกล่าว ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่ในฐานะที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องขอขอบคุณสำหรับข้อมูล ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้รับมานั้น ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้นโยบายสำคัญไว้ต่อรัฐมนตรีและข้าราชการทุกคนทุกหน่วยงานว่า ต้องไม่มีการทุจริต และต้องดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยยึดประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลที่นายฐากร กล่าวอ้างมานั้น มีหลายประเด็นที่ยังเป็นข้อสังเกต คือ นายฐากร เคยทำหน้าที่อยู่ในสำนักงบประมาณกว่า 17 - 18 ปี และยังเคยดำเนินงานในกระทรวงคมนาคมในยุคนั้นด้วย และจากที่ระบุว่า ในสมัยนั้น มีการเรียกเก็บส่วยอย่างที่กล่าวว่า คือ ข้าราชการร้อยละ 6 นักการเมืองร้อยละ 6 แต่ทำไมไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้น และเหตุใดจึงไม่ออกมาเผยความจริงต่อสาธารณชน 

นอกจากนี้ ในประเด็นที่นายฐากร ระบุว่า ผู้อำนวยการสำนักทางหลวง และผู้อำนวยการเขตทางหลวง รวม 2 คน ซึ่งนายฐากร เคยดำเนินงานในกระทรวงคมนาคม ควรรู้ว่า ทั้ง 2 ตำแหน่งดังกล่าว เป็นบุคคลคนเดียวกัน จึงมองว่าหลายสิ่งที่ระบุและกล่าวอ้างมานั้น ยังไม่ตรงข้อเท็จจริง ขณะเดียวกัน กรณีที่มีผู้อำนวยการสำนักทางหลวงไปร้องเรียนที่พรรคไทยสร้างไทยนั้น โดยตนต้องการให้ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงท่านดังกล่าว มาชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงว่า มีการเรียกรับผลประโยชน์อย่างไร และหากเป็นความจริง ตนจะสั่งปลดอธิบดีกรมทางหลวงในทันที

“เมื่อนายกรัฐมนตรีให้นโยบายมา ก็ได้กำชับไปตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงคมนาคม ยันอธิบดี ซึ่งท่านปลัดกระทรวงก็ช่วยสอดส่องเรื่องนี้ด้วย เรื่องของพฤติกรรมทุจริตที่รัฐบาลนี้รับไม่ได้ พร้อมระบุว่าบุคคลในหน่วยงานภายใต้สังกัดที่ผมดูแลอยู่ คงจะคุมทุกคนไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามีพฤติกรรมที่ส่งมาและมีข้อมูลชัดเจน ผมก็คงไม่ปล่อยไว้ ต้องมีการดำเนินการ ขณะเดียวกันก็อยากให้คนที่กล่าวหา คิดถึงขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ที่เขาทำงานก็จะเสียกำลังใจ ถ้าไปกล่าวหาแล้วไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน” นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากกรณีที่นายฐากรกล่าวหามานั้น จะไปดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง และพร้อมชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปฏิบัติตามนโยบายนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากกรณีดังกล่าว ถูกหยิบยกมาในการอภิปรายพิจารณางบประมาณฯ นั้น ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหา และเชื่อว่า สามารถชี้แจงได้ อีกทั้ง ตนยังได้สั่งการตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวง ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้

‘รทสช.’ ย้ำจุดยืน ‘กม.นิรโทษกรรม’ ไม่นับรวม ม.112 พร้อมเสนอร่าง ‘พ.ร.บ.เสริมสร้างสันติสุข’ ฉบับของตัวเอง

(5 มิ.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง’ ทางช่องยูทูบ ‘แนวหน้าออนไลน์’ ในประเด็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ว่า จุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติ คือไม่เห็นด้วยกับการนับรวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และจริง ๆ พรรคก็ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างสันติสุข หรือกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับของรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งไม่มีทั้งคดี ม.112 คดีทุจริต และคดีอาญาร้ายแรง

ขณะที่ความเคลื่อนไหวร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย การพิจารณาเรื่องนี้ยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าที่สุดแล้วระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องคุยกัน เพราะในกรรมาธิการก็มีตัวแทนอยู่ อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาก็มีนายนิกร จำนง ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนายเจือ ราชสีห์ ซึ่งแสดงจุดยืนว่าต้องไม่มีเรื่องคดี ม.112 คดีทุจริต และคดีอาญาร้ายแรง เพราะกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

“นิรโทษกรรมคดีการเมือง เราเข้าใจบรรยากาศสลาย ยุติธรรมขัดแย้ง เดินหน้าด้วยความสามัคคี พวกคดีการเมืองนิรโทษได้ก็นิรโทษกันไป แต่ต้องไม่แตะเรื่อง 112 เรื่องทุจริต เรื่องคดีอาญาร้ายแรง เพราะถ้าแตะเรื่องเหล่านี้ แทนที่มันจะนิรโทษเพื่อความปรองดอง ความรักความสามัคคี มันจะนิรโทษแล้วนำไปสู่ความแตกแยก แล้วปัญหาเดี๋ยวมันจะปะทุขึ้นอีก เราก็แสดงจุดยืนของเราชัดเจน” นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าว ต่อไปว่า อย่าให้การนิรโทษกรรมครั้งนี้ย้อนกลับไปเกิดปัญหาแบบตอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ตนก็มีประสบการณ์ ในเวลานั้นเป็น สส. อยู่แล้วก็ออกไปชุมนุม เพราะการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในเวลานั้นขัดกับหลักนิติรัฐ-นิติธรรม หากเป็นแบบนั้นประเทศก็เสียหายและสร้างความแตกแยก ในเมื่อมีบทเรียนแล้วก็ควรจะเรียนรู้ ซึ่งตนก็เชื่อว่าทุกฝ่ายวันนี้เรียนรู้กันเยอะแล้ว อย่างในฝั่งของตนหลายคนก็มีคดีติดตัว ถูกจำคุกอยู่ก็มี ดังนั้นเดินไปข้างหน้าดีกว่า อย่ากลับไปอยู่ในวังวนจุดเดิม

เพราะหากย้อนไปมองในอดีต เวลานั้นมีเพียงเรื่องคดีทุจริต ยังไม่มีเรื่องคดี ม.112 ยังเป็นเรื่องแล้ว หากใส่คดี ม.112 เข้าไปอีกก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ ส่วนคำถามที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะไปขอเสียงสนับสนุนจากพรรคก้าวไกล เพื่อให้มีเสียงพอผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่รวมความผิด ม.112 จะเป็นไปได้หรือไม่ เรื่องนี้แม้พรรครวมไทยสร้างชาติจะมีเพียง 36 เสียง แต่ก็ยิ่งต้องยึดหลักให้ดีและต้องสู้ ซึ่งตั้งแต่วันแรกที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรครวมไทยสร้างชาติก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลจะต้องไม่ไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112

แต่หากเขาจับมือกันขึ้นมาแล้วจะให้ทำอย่างไรได้ เพราะตัวเลขในสภาเป็นคณิตศาสตร์ พรรคหนึ่งมีร้อยกว่า อีกพรรคหนึ่งก็มีร้อยกว่า บวกกันเกิน 250 เขาก็ตั้งรัฐบาลได้ แต่ตนก็คิดว่าที่มีการตกลงกันของฝั่งรัฐบาลแล้วประกาศต่อสาธารณะ เท่าที่ได้พูดคุยทุกฝ่ายก็ยังยืนยันข้อตกลงนั้นอยู่ ไม่มีใครคิดแตกแถวแม้แต่พรรคเพื่อไทย ยังไม่มีสัญญาณที่ชี้ว่าจะยกเลิกสัญญาที่ให้ไว้ ดังนั้นก็ต้องรักษาบรรยากาศกันไปแบบนี้ก่อน

ส่วนที่พรรคเพื่อไทยให้ข่าวว่าจะมีการพิจารณาว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะนับรวมความผิด ม.112 ด้วยหรือไม่ คือการส่งสัญญาณอะไร เรื่องนี้คงต้องไปถามพรรคเพื่อไทย แต่เราทำการเมืองจะไปคิดถึงเพื่อนมากไม่ได้ เราต้องทำตัวเราให้ชัดเจนจะดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังยืนบนสัญญาเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ก็เดินไปแล้วหากมีปัญหาก็พูดคุยกัน เจรจากัน เตือนกันว่าอย่าไปทำแบบนั้นเลยดีกว่า เดี๋ยวจะมีปัญหา ส่วนที่พูดกันว่าท่าทีล่าสุดของพรรคเพื่อไทย มาจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตนก็อยากให้เพลา ๆ การคาดการณ์หรือข่าวลือลงบ้าง

“ตราบใดที่ยังไม่เห็นท่าทีชัดเจน จะพรรคไหนก็แล้วแต่ เราจะไปบอกว่าเป็นท่าทีของเขาก็ไม่ได้ อันนี้แฟร์ ๆ นะ เพราะฉะนั้นวันนี้เมื่อยังไม่มีท่าทีในลักษณะนั้น เราก็ต้องยึดตามคำมั่นสัญญาเดิม มันเบสิกมาก มันแค่นั้นเอง ฉะนั้นสำหรับรวมไทยสร้างชาติเราก็เดินตามสัญญาเดิม ไม่มีสัญญาใหม่ ไม่มีสัญญาณใหม่ ฉะนั้นก็เดินไปตามนี้” เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว

'อาจารย์อุ๋ย-ปชป.' จี้!! ทบทวน ‘คาสิโนถูกกฎหมาย’ บ่อนทำลายพระพุทธศาสนา-ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 67

(5 มิ.ย.67) จากกรณีล่าสุดที่โครงการสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ซึ่งจะมีการเปิดคาสิโน หรือบ่อนพนันถูกกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในอีกสองสัปดาห์นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า...

รัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 6 มาตรา 67 วรรค 2 กำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด

นอกจากนี้ ในสิงคาลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง 11/182/140 ยังกำหนดโทษของการพนันไว้ 6 ประการว่า 'โทษในการประกอบเนือง ๆ ซึ่งการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ผู้ชนะย่อมก่อเวร 1 ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป 1 ความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน 1 ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุม ฟังไม่ขึ้น 1 ถูกมิตรอมาตย์หมิ่นประมาท 1 ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย 1' และการพนันยังเป็นหนึ่งในอบายมุข 6 ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิต 6 อย่าง แห่งความโลภ และความหลงที่ทำให้เกิดความเสื่อม ความฉิบหายของชีวิต อันประกอบด้วย การดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูดการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้านการงาน 

ดังนั้น การที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้มีบ่อนการพนันถูกกฎหมาย อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกระทำในสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอยลง แทนที่จะส่งเสริมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว 

นอกจากนี้หากจะอ้างเรื่องเศรษฐกิจเป็นเหตุผลในการทำคาสิโนถูกกฎหมายตามโมเดล มาเก๊า สิงคโปร์ หรือกัมพูชานั้น ผมมองว่า ฟังไม่ขึ้น เพราะมาเก๊าและ สิงคโปร์ก็เป็นเกาะเล็ก ๆ ไม่มีทรัพยากร ส่วนประเทศไทยมีของดีและสถานที่ดี ๆ มากมายที่หากมีการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบแล้วจะสามารถดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบ่อนการพนัน ส่วนกัมพูชาก็มีบ่อนปอยเปตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 แต่ก็ไม่ได้ทำให้ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

ผมจึงอยากฝากให้รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลคิดให้รอบด้าน นอกเหนือไปจากการกดเครื่องคิดเลขเพื่อหาตัวเลขทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว เพราะความสูญเสียทางสังคม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาหนี้ครัวเรือน ฯลฯ ที่อาจจะเกิดจากการมีบ่อนคาสิโน เป็นสิ่งที่ไม่อาจประเมินเป็นตัวเงินได้ และไม่สามารถเยียวยาแก้ไขให้กลับเป็นดังเดิมได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งผู้ที่จะแบกรับปัญหาเหล่านี้ก็คือลูกหลานของเราและของท่านผู้อนุมัติโครงการนี้นั่นเอง ด้วยความปรารถนาดี

‘ธนกร’ ติง ‘ชัยธวัช’ ก้าวล่วงอำนาจศาล กังวลได้แต่อย่าใช้อารมณ์ หลังพาดพิงปัจจัยการเมือง เอี่ยวคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล

(5 มิ.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า กรณีที่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อถึงคำร้องยุบพรรคก้าวไกล หลังเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการพูดพาดพิงว่ามีปัจจัยทางการเมืองเกือบทั้งหมด มาเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลที่จะออกมา มองว่าการแสดงความเห็นของนายชัยธวัชในลักษณะนี้ ถือเป็นการกล่าวหาและก้าวล่วงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่าน ล้วนมีการพิจารณาวินิจฉัยแต่ละคดี ตามหลักข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งคดีนี้จากที่มองพฤติกรรมก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน และสื่อมวลชนอยู่แล้วว่าพรรคก้าวไกลเป็นอย่างไร ตนมั่นใจ ว่าคำวินิจฉัยในแต่ละคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาตามนั้น เป็นไปตามข้อเท็จจริงและตามหลักกฎหมาย ไม่สามารถ ปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงเพื่อกลั่นแกล้งพรรคใดพรรคหนึ่งได้ หากไม่มีมูลความผิด

“เข้าใจว่านายชัยธวัช มีความกังวล จนพาลโทษคนอื่นไปทั่ว การกล่าวหาว่าปัจจัยการเมืองแทรกแซงคำวินิจฉัยนั้น ถือว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาลหรือไม่และเป็นคำกล่าวหาที่รุนแรง ขอให้นายชัยธวัชยอมรับ หากสุดท้ายคำวินิจฉัยจะออกมาเป็นคุณ หรือ เป็นโทษก็ตาม ไม่ควรใช้อารมณ์ ความกังวล หรือความกลัวจะถูกยุบพรรคเป็นครั้งที่ 2 มากล่าวหาแบบมีอคติ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง” นายธนกร ติง

ชาวสมุยโอด!! ‘ปัญหาขยะล้นเกาะ’ วนมาอีกครั้ง ทำลายภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

“ถุงขยะเกลื่อนเกาะสมุย แม้นายกฯ รับปากจะจัดการโดยเร็ว แถมยังเกิดไฟไหม้ซ้ำอีก ศาลปกครองก็สั่งให้เทศบาลเร่งแก้ แต่ปัญหายังเหมือนเดิม”

นายหัวไทรได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านบนเกาะสมุยว่า เวลานี้มีขยะล้นเกาะแล้ว ชาวบ้านไม่รู้จะเอาไปทิ้งไหนก็นำมาใส่ถุงดำวางไว้บนถนน

“ชาวบ้านจำเป็นต้องนำถึงขยะมาวางกองไว้บนถนน โดยเฉพาะถนนเส้นหลักสายโรงพยาบาลไปสนามบิน เต็มไปด้วยถุงขยะ รถเก็บขยะของเทศบาลนครสมุย ก็ไม่มาเก็บไปกำจัด ไม่รู้ว่าเกิดจากปัญหาอะไร โทรไปแจ้งผู้รับผิดชอบของเทศบาลก็ไม่รู้อยู่ไหน”

ปัญหาขยะเกาะสมุยเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน จนเคยมีปัญหาบ่อกำจัดขยะเต็มมาแล้ว

“เทศบาลแก้ปัญหาด้วยการใช้เรือขนไปกำจัดฝั่งเมืองสุราษฎร์ธานี แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ ยังมีขยะตกค้างอีกนับแสนตัน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปเกาะสมุย ได้ไปดูเตาเผาขยะเกาะสมุย และได้แสดงความเป็นห่วงการท่องเที่ยวเจริญขึ้น ทำขยะล้น และรับปากว่าจะดูแลปัญหา สนับสนุนงบฯในการเร่งแก้ ทำคู่ขนานมาตรการระยะสั้น-ระยะยาว

ครั้งนั้นชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตรวจติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะในอำเภอเกาะสมุย โดยนายกฯ รับฟังการบริหารจัดการขยะเกาะสมุยที่ยังตกค้างอยู่จำนวนประมาณ 150,000 ตัน จากนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย โดยขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการกำจัดขยะดังกล่าว ทั้งนี้ ในระยะสั้นที่ต้องมีการขนขยะออกไป และต้องใช้งบประมาณ 237 ล้านบาทนั้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าอาจจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่า ซึ่งต้องขอดูก่อน แต่สำคัญที่สุดคือขยะที่ตกค้างจะต้องถูกกำจัดโดยเร็ว โดยการแก้ปัญหาระยะสั้นรัฐบาลรับจะดูแลให้ว่าวิธีการใดจะดีที่สุด

ส่วนระยะยาวต้องพัฒนาศักยภาพเตาเผาให้มีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยจะทำควบคู่กันไป เพื่อรองรับขยะที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นได้ ทั้งจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ พร้อมขอบคุณชาวสมุยที่ช่วยกันแยกขยะ ซึ่งส่วนนี้ก็ช่วยการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วย

ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 28 พฤษภาคม ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้กองขยะ 1.5 แสนตัน ชาวบ้านอยากให้หาแนวทางบริหารจัดการในการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ให้ดีกว่านี้ เพราะห่วงเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบริเวณรอบข้างมีบ่อขยะเก่าจำนวนหลายบ่อ หากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมาอีกก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กองขยะที่ถูกเพลิงไหม้ อยู่ภายในโรงเก็บขยะ สถานที่เตาเผาขยะเทศบาลนครเกาะสมุย หมู่ที่ 5 ตำบลมะเร็ต อ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เหตุเกิดเมื่อช่วงเวลาประมาณ 20.30 น. ของวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 โดยเพลิงได้โหมลุกไหม้อย่างรุนแรง เนื่องจากต้นจุดเกิดเหตุเป็นกองขยะเก่าจำพวกพลาสติกที่แห้งและติดไฟง่าย โดยเจ้าหน้าที่ได้ระดมรถดับเพลิง รถน้ำ จากเทศบาลนครเกาะสมุย รถดับเพลิงจากสนามบินสมุย รถน้ำของเอกชน มาช่วยดับไฟ 

ต่อมาเวลาประมาณ 03.00 น. สถานการณ์คลี่คลายเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้

จากการสังเกตโรงเก็บขยะ พบว่าเป็นโครงสร้างที่ทำจากเหล็ก ตัวเสาและโครงตรัสตรงจุดที่เกิดไฟไหม้ บางชิ้นมีลักษณะบิดงอ หลังคาและผนังที่ใช้แผ่นเมทัลชีทได้รับความเสียหาย ในเบื้องต้นทางเทศบาลนครเกาะสมุย ยังไม่สรุปสาเหตุของเพลิงไหม้ในครั้งนี้ และจะให้วิศวกรกองช่างเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างอาคารดังกล่าวว่ามีความปลอดภัยหรือไม่

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566 ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาให้เทศบาลนครเกาะสมุย โดยนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอย รวมทั้งมูลฝอยติดเชื้อ ในบ่อขยะ ในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือมาตรฐานที่กฎหมายหรือกฎที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ และให้ขจัดกลิ่นเหม็นจากกองขยะ และบำบัดแหล่งน้ำสาธารณะบริเวณที่พิพาทให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และให้เทศบาลนครเกาะสมุย รายงานผลการดำเนินการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและศาลทราบทุก 30 วัน จนกว่าปัญหามลพิษดังกล่าวจะหมดสิ้นไป แต่ไม่เกิน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

เกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ที่ใครก็ใฝ่ฝันอยากจะไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต ไปชมทัศนียภาพ ธรรมชาติอันสวยงามโดดเด่นของเกาะสมุย แต่การบริหารจัดการเกาะสมุยยังไม่พร้อมจะรองรับการทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะปัญหาการจัดการขยะ ปล่อยให้ชาวบ้านนำขยะในถุงกองไว้บนถนนให้อุจาดตาประจานการทำงานของเทศบาลเกาะสมุยได้อย่างไร สนามบินก็เป็นของเอกชน ที่จำเป็นต้องลงทุนขนานรันเวย์ให้ยาวกว่านี้ เพื่อรองรับเครื่องบินลำใหญ่ขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

จับตา!! ระเบิดเวลา 3 ลูกใหญ่เบ้อเริ่ม วัดชะตา ‘เศรษฐา’ วัดใจ ‘นายใหญ่’

ต้องยอมรับว่าระยะนี้ แม้จะมีระเบิดเวลาทางการเมืองลูกใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มหลายลูก แต่นายกรัฐมนตรี  ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ก็ยังได้รับแรงใจอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะการทำงานที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย…

หนำซ้ำกรณีไปหา ‘ดร.วิษณุ เครืองาม’ ทาบทามมาเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ได้สำเร็จ แม้กาลครั้งหนึ่งก่อนเลือกตั้งจะโพสต์ X จวก ‘ดร.วิษณุ’ ว่า “ไร้ยางอาย” ก็ตาม สื่อโซเชียลขุดมาแชร์ได้วันสองวันก็ผ่านไป

ว่ากันว่า...จังหวะเวลา ดวงชะตาของเศรษฐา ทวีสิน ค่อนข้างโชคดีเป็นพิเศษ เพราะ 

1) อยู่ในสถานการณ์การเมืองผสมขั้ว ภายใต้ ‘ดีลพิเศษ’
2) ลูกสาวนายห้างยังไม่พร้อมที่จะย่างก้าวมารับบทบาทที่เศรษฐาแสดงอยู่ 

อย่างไรก็ตาม...แม้เศรษฐาจะอยู่ในสถานะที่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของนายใหญ่ หรือแม้กระทั่งฝั่งอนุรักษ์ที่ร่วมดีลพิเศษ แต่สถานการณ์ในขณะนี้ก็ใช่ว่า เศรษฐาจะปลอดภัยปลอดโปร่งโล่งแจ้ง ตรงข้ามยังมีระเบิดเวลาทางการเมือง ที่มองเห็น ๆ กันอยู่ในขณะนี้ 3 ลูกใหญ่

1) คดีคุณสมบัติที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าต้นเดือน ส.ค. น่าจะรู้ผลว่าหมู่หรือจ่า แม้ราคาต่อรองขณะนี้จะอยู่ในระดับ 51 ต่อ 49 เชื่อว่ารอดแบบเฉียดฉิว แต่ก็อย่าเพิ่งวางใจ แม้จะมี ดร.วิษณุ  เครืองาม มาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ก็ตาม...เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว บางที ‘ดุลพินิจ’ ก็ไม่อาจฝืน..!!

2) กรณีทักษิณ-การนิรโทษกรรม สองเรื่องนี้ดูเหมือนจะเดินทางมาบรรจบพบกันที่ ‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ กล่าวคือทักษิณ ชินวัตร ถูกอัยการสั่งฟ้องคดีความผิดมาตรา 112 วันที่ 18 มิ.ย. อัยการจะนำตัวส่งฟ้องศาล ซึ่งก็คงได้ประกันตัว…แต่ชีวิตจะเหมือนถูกพันธนาการล่ามโซ่...การนิรโทษกรรมคือการปลดโซ่ ซึ่ง สส.เพื่อไทยหลายคนเริ่มเคลื่อนแล้ว ให้ กมธ.วิสามัญฯ ที่ศึกษาเรื่องนี้รวมเข่งคดี 112 ไปรวมกับคดีชุมนุมการเมืองอื่น ๆ ด้วย...แต่พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค รวมทั้งฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย…

ประชุมกมธ.วิสามัญ วันที่ 6 มิ.ย.นี้ ก็จะเห็นแนวที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทยดั้นเมฆจะเอาเหมาเข่งให้ได้ ก็สามารถทำได้โดยจับมือพรรคก้าวไกล เสียงเกินครึ่ง แต่บ้านเมืองอาจลุกเป็นไฟอีกครั้ง…เหมือนตอน ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย’ ปี 2556-57 ที่จบลงด้วย ‘ลุงตู่’ เข้ามาขอเวลาไม่นานแต่อยู่ยาว 9 ปีหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

3) โครงการเติมเงิน ดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท...โครงการนี้นับถอยหลังการแจกเงิน ดูกันตั้งแต่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2568 ที่จะตั้งงบ 1.72 แสนล้านบาท และใช้นวัตกรรมหมุนงบ 2567 มาใช้อีกไม่น้อยกว่า 1.75 แสนล้านบาท...และก้อนสุดท้ายเอามาจาก ธกส.

วันนี้ทุกอย่างยังไม่เห็นรายละเอียดเพิ่มเติม...แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ‘ภูมิใจไทย’ และ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ พร้อมจะปฏิเสธ..ไม่เล่นด้วยทันทีหากผิดกฎหมาย...นับเป็นอะไรที่น่าหวาดเสียวตื่นเต้นยิ่ง..

อนึ่ง!! มีการสมมุติถ้าเศรษฐาหลุดจากตำแหน่งจริง ๆ ระหว่างนายห้างหรือนายใหญ่ต้องเสียสละ กินยาทัมใจให้ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน  ชาญวีรกูล แห่งค่ายสีน้ำเงินเป็นนายกฯ แทนลูกสาว กับเดินหน้าดันลูกสาวเป็นนายกฯ เอง หรือพลิกขั้วไปจับมือก้าวไกล นายห้างจะเลือกทางไหน...เขาเชื่อกันว่า นายห้างเลือกที่จะดันสูกสาวตัวเอง...

สวัสดี!!

‘นายกฯ’ สั่งเดินหน้า ‘กาสิโน’ ในไทยให้เป็นรูปธรรม คาด!! เก็บภาษีปีแรกไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

(4 มิ.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมครม.เรื่องการติดตามการดำเนินการสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยสั่งการกระทรวงการคลัง ให้นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒ์ รมช.คลัง ไปดำเนินการศึกษา เร่งรัดการดำเนินการเรื่องสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อให้มีแนวทางในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป ตลอดจนมอบหมายให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ยกร่างกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานบันเทิงครบวงจร โดยนำร่างพ.ร.บ.ฉบับที่กรรมาธิการได้พิจารณามาประกอบความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติครม.ที่เคยมีไว้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 พร้อมทั้งจัดทำแผนการออกกฎหมายลำดับรองลงไปที่เกี่ยวข้อง และให้นำเสนอครม.ในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

“เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือ สถานบันเทิงครบวงจร มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เพราะถ้าพูดถึงมูลค่าของธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ทั่วโลก เมื่อปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 1.5.ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตก 54 ล้านล้านบาท และคาดว่าปี 2571 มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเติบโตเป็น 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 79 ล้านล้านบาท ปัจจุบันประเทศ หรือเขตปกครองพิเศษที่ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรใหญ่ที่สุดคือมาเก๊าซึ่งประชากร 6.9 แสนคน แต่ทำธุรกิจได้ 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงมาก ลำดับรองลงมาคือลาสเวกัส 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สิงคโปร์ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เกาหลีใต้ 3.2 แสนล้าน ฟิลิปปินส์  2.1 แสนล้าน เวียดนาม 1.8 แสนล้าน อินโดนีเซีย 1.8 แสนล้าน ประเทศไทย 0 บาท จะเห็นว่าประเทศในเอเชีย ในรอบบ้านเราไปไกลกว่าเราเยอะ นอกเหนือจากนี้ประเทศญี่ปุ่นมีแผนจะผุดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ขึ้นมาอีก 3 แห่ง ในเร็ว ๆ นี้ ทั้งโอซาก้า นางาซากิ และฟุกุโอกะ ประเทศไทยต้องเร่งหน่อยถ้าหากจะมีรายได้ทางนี้” นายชัย กล่าว

นายชัย กล่าวต่อว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้คำนวณเบื้องต้นว่าถ้าเรามีเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ลงทุนในเมืองไทย จะมีรายได้ไหลเข้ามามากมายมหาศาล และปีแรกจะสามารถเก็บภาษีได้ไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

‘วราวุธ’ ย้ำ!! จุดยืน 'ชทพ.' ถึงร่าง 'พ.ร.บ. นิรโทษกรรม' ต้องไม่มีเรื่อง 'ม.112-อาญาร้ายแรง-คอร์รัปชัน'

(4 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึง การศึกษาแนวทาง ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า พรรคชาติไทยพัฒนาได้ส่งนายนิกร จำนงค์ เป็นตัวแทน และตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติม ซึ่งตามนโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนา ในร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมจะต้องไม่มี 3 เรื่อง คือ...

1.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 
2. ไม่เกี่ยวข้องกับอาญาที่ร้ายแรง
และ 3. ไม่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน

ส่วนกรณี ที่มีความเห็นจากหลายพรรคการเมืองต้องการให้บรรจุ คดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอยู่ด้วยนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปและเป็นเรื่องปกติ ที่หลายฝ่ายจะมีความคิดและข้อเสนอที่หลากหลาย แต่ยังไม่มีการลงมติหรือบทสรุปใด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top