คิดทางขวาง 'เศรษฐา-พิชิต' ประชาธิปไตยแบบลิขิต แต่ 'ไม่ถูกใจ' ก็ใช้สิทธิ 'ตัดตอน' ประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน

(27 พ.ค.67) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ และประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ' ระบุว่า...

ก่อนอื่นผมต้องขอเรียนชี้แจงก่อนนะครับ ว่าข้อเขียนของผมเกิดจากความคิดเห็นผมคนเดียว ไม่มีผู้ใดมาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่ความเห็นทางกฎหมายเพราะผมไม่ใช่นักกฎหมาย เป็นการเขียนจากความรู้สึกของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งมีความสนใจในการเมืองของประเทศเรา 

กรณี 40 ส.ว.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแต่งตั้ง ท่านพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีถูกต้องหรือไม่? ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่? ในความเห็นของผม ... ผมอยากกราบเรียนว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่แปลกที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง รักประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแบบสุดๆ แต่ไม่เคยไว้ใจนักการเมือง 

เมื่อมีอะไรไม่ถูกใจ ก็ไม่อดทนรอคอยขบวนการที่ถูกต้อง รอคอยเวลาตามวงรอบของการเลือกตั้ง ชอบการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทันใจ รักษาสิทธิตัวเอง แต่ไม่สนใจสิทธิคนอื่น 

สำหรับผมประชาธิปไตยควรเอาความเห็นส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่มีถูกผิด แพ้ชนะ ดำเนินการตามเสียงส่วนใหญ่โดยรบกวนสิทธิของเสียงส่วนน้อยเท่าที่จำเป็น เพื่อให้งานเดินหน้าไปได้ 

ในกรณีท่านพิชิต ชื่นบานนั้น ผมมีมุมมองที่แตกต่างอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือ ระบบยุติธรรมและการลงโทษ เมื่อศาลพิพากษาและลงโทษแล้ว บุคคลนั้นๆ ได้รับโทษตามคำพิพากษาแล้ว ก็น่าจะเพียงพอ ถ้าเราต้องการลงโทษและแก้ไข ไม่ใช่แก้แค้น ยกเว้นบุคคลนั้นๆ ศาลพิจารณาแล้วว่าเกินเยียวยาเป็นภัยสังคมจนไม่สามารถแก้ไขได้ ศาลก็จะมีคำพิพากษาและมาตรการตามกฎหมายที่เหมาะสมต่อไป 

ดังนั้นในการลงโทษเราควรให้เกียรติและเคารพศาล คำพิพากษาศาลควรถือเป็นที่สุด ไม่ควรมีบทลงโทษอื่นใดมาเพิ่มเติมอีก หากพิจารณาว่าบทลงโทษไม่เหมาะสม หนักหรือเบาอย่างไร ก็ไปแก้ไขกฎหมายในสภาฯ ต่อไป 

ข้อที่ 2 สิทธิทางการเมืองเป็นสิทธิพื้นฐานของบุคคลในระบอบประชาธิปไตย ในวันนี้ ผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกมาแล้ว (ยกเว้นลหุโทษหรือโทษโดยประมาท) ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ยังดีที่ให้มีสิทธิลงคะแนนเสียงได้ เหมือนเป็นบุคคลให้หายใจได้ แต่ห้ามเคลื่อนไหวทำอะไร ... สิ่งเหล่านี้ควรแก้ไขหรือไม่? ก็คงแล้วแต่เสียงส่วนใหญ่จะพิจารณา 

ทว่า การเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางการเมืองนั้น ในเมื่อเราเป็นประชาธิปไตย ทำไมไม่ให้สิทธินายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อสภาฯและประชาชน มีอิสระในการพิจารณาคัดสรร?

หากผู้ที่เลือกมาไม่ดีไม่เป็นที่ถูกใจ ย่อมเป็นผลเสียต่อคะแนนเสียงของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเอง เพราะในระบอบประชาธิปไตย 'คะแนนเสียงสำคัญสุด...ใช่หรือไม่?' ในปัจจุบันการเลือกตั้ง คะแนนเสียงประชาชนนับหมื่นจะไม่มีความหมายเลย หากไม่สามารถผ่านความเห็นของ กกต.เพียงไม่กี่คนได้

แล้วเราจะมีศาลเอาไว้ทำไม? ถ้ามีองค์กรอื่นที่สามารถตัดสินข้างต้นเหมือนศาลได้ 

ดังนั้น หากบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือที่ได้รับเลือกมาเป็นรัฐมนตรีนั้น กระทำผิดกฎหมาย ก็ต้องได้รับโทษ และหากการทำผิดกฎหมายนั้นเกี่ยวพันถึงใคร ผู้นั้นก็ต้องร่วมรับโทษด้วย โดยมี 'ศาล' เป็นผู้ตัดสิน

เฉกเช่นเดียวกันกับกรณีของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนั้น อย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ตามหลักการในระบอบประชาธิปไตย ท่านควรมีอิสระในการเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งในกรณีนี้ ผมขอชื่นชมท่านในฐานะผู้นำ ที่เมื่อเลือกใช้งานใครแล้ว ก็กล้าที่จะไว้วางใจให้ทำงาน ... การปฏิบัติเช่นนี้ ผู้ที่ทำงานด้วยย่อมมีความมั่นใจและอบอุ่นใจในการทำงานให้ ผมขอยกย่องในภาวะผู้นำของท่าน

ความคิดของผม หากไม่ถูกใจท่านใด ผมก็ต้องกราบขออภัยมา ณ โอกาสนี้ คิดอย่างไรก็เขียนไปอย่างนั้น เป็นการซื่อสัตย์ต่อตนเอง แต่ก็พร้อมน้อมรับและปฏิบัติตามเสียงส่วนใหญ่ ขอได้โปรดเมตตาแนะนำ หากความคิดผมไม่ถูกต้อง เพื่อผมจะได้นำไปพัฒนาความคิดและองค์ความรู้ส่วนตัวต่อไป ขอขอบพระคุณทุกคำติและคำชมของทุกท่าน ด้วยความเคารพครับ