เมื่อวานนี้ (7 มี.ค. 68) ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีข้อหาหลักตามมาตรา 116 ของนักกิจกรรม 9 ราย กรณีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จำเลยในคดีนี้ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ณัฐชนน ไพโรจน์, 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์, 'บอล' ชนินทร์ วงษ์ศรี, 'ไฟซ้อน' สิทธินนท์ ทรงศิริ, 'ลูกมาร์ค' และ 'สาธร' (นามสมมติ)
สำหรับการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เป็นการจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยซึ่งมีผู้ขึ้นปราศรัยมาจากหลากหลายกลุ่ม เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ยุบสภาและหยุดคุกคามประชาชน รวมทั้งยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในวันดังกล่าวได้มีการอ่าน ‘ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1’ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อ
ศาลเห็นว่าการปราศรัยมุ่งประสงค์สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันกษัตริย์ แต่ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.คอมฯ
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 18 จำเลยทั้งหกคนได้แก่ ณัฐชนน, ชนินทร์, ไฟซ้อน, ลูกมาร์ค และ “สาธร” ทยอยเดินทางมาฟังยังห้องพิจารณาคดี ต่อมาอานนท์ถูกเบิกตัวมาที่ห้องพิจารณาคดีโดยมีเครื่องพันธนาการเป็นกุญแจข้อเท้า โดยพบว่ามีคิ้วข้างขวาที่ถูกโกน ซึ่งมีเหตุมาจากการประท้วงศาลของเขาในคดีละเมิดอำนาจศาลเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันยังมี 'แอมป์' ณวรรษ ถูกนำตัวมาห้องพิจารณาคดีเดียวกัน เนื่องจากมีนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในคดีมาตรา 112 กรณีกิจกรรมหน้า สภ.คลองหลวง อีกคดีหนึ่ง
สำหรับวันนี้มีประชาชนและเพื่อนของจำเลยมาร่วมให้กำลังใจด้วยกว่าสิบคน อีกทั้งยังมีจำเลยในคดีมาตรา 112 ดังกล่าวอีก 3 คน ที่มารอการตรวจพยานหลักฐานด้วย ทำให้ห้องพิจารณาในวันนี้เต็มไปด้วยจำเลยในคดีทางการเมือง
เวลาประมาณ 10.25 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์ และแจ้งว่าจะอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ก่อนที่จะตรวจพยานฯ ในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง ก่อนที่จะขานชื่อจำเลยทีละคนและให้ยืนขึ้นฟังคำพิพากษา ซึ่งสรุปเป็นใจความสำคัญ ได้ดังนี้
• ข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เห็นว่าการชุมนุมตามฟ้อง มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ตรวจอุณหภูมิตรงทางเข้าที่ชุมนุม ส่วนในลานพญานาคเป็นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท เมื่อเปรียบเทียบกับที่ชุมนุมนั้นไม่คับแคบ ไม่ได้อยู่หนาแน่นที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสกัน ผู้ชุมนุมสามารถเดินไปมาได้ และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย แม้มีบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่ก็เป็นส่วนน้อย ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-2019 ทั้งยังไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุจะมีเหตุไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น
ถือว่าจำเลยที่ 1, 3, 4, 6-9 ในฐานะผู้จัด ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดชุมนุมในสถานที่แออัด อันจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดเชื้อโรคหรือความวุ่นวายในการจัดกิจกรรม
• ข้อหามาตรา 116
เห็นว่าพยานโจทก์ที่เป็นประจักษ์พยานอยู่ในที่ชุมนุม ไปประจำตามจุดต่าง ๆ มีเวทีอยู่สูงและมีโปรเจคเตอร์ ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนไม่ว่าจะอยู่จุดใด จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลย จึงมีความน่าเชื่อถือว่าพูดตามจริง
จำเลยที่ 1 ปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์ฯ และอ่านข้อเรียกร้องสิบประการ ส่วนจำเลยที่ 3 ปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ และจำเลยที่ 4 อ่านประกาศคณะราษฎรและปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์
จำเลยที่ 1, 3, 4 ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องพระราชสถานะของกษัตริย์, ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, กล่าวว่าสถาบันกษัตริย์ขยายพระราชอำนาจตามอำเภอใจ, ใช้อำนาจแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และใช้อำนาจคุกคามทำร้ายประชาชนที่เห็นต่าง และมีการให้ผู้ชุมนุมทำสัญลักษณ์ต่าง ๆ
ย่อมทำให้ประชาชนคิดและเกิดความเคลือบแคลงสงสัยโดยประการที่น่าจะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ไม่อยู่ในที่เคารพสักการะ มีการใช้ข้อมูลบางส่วนซึ่งเป็นความเชื่อที่ถูกเล่าต่อกันมาในอดีต ปราศจากการพิสูจน์มาเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกเร้า ปลุกปั่นผู้ชุมนุมให้เห็นด้วยและคล้อยตาม เป็นการสร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง เกิดความแตกแยก
จำเลยที่ 7 และ 8 เป็นพิธีกร ถึงแม้ว่าจะไม่มีการพูดปราศรัยบนเวที แต่มีการพูดว่า “รูปที่มีอยู่ทุกบ้าน” และ “ทรงพระเจริญ” เห็นว่าเป็นการล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ฯ
จำเลยที่ 1 ปราศรัยหยาบคาย ผู้คล้อยตามข้อมูลที่ได้รับ อาจนำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยใช้ข้อมูลที่มีเจตนาเพื่อบ่อนทำลาย หรือทำให้สถาบันกษัตริย์ล่มสลายไป ไม่ว่าพูด เขียน หรือข้อเรียกร้อง เป็นการด้อยค่า ทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ แสดงให้เห็นเจตนาล้มล้างสถาบันกษัตริย์
ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นความหวังดี นั้นเป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ที่ขัดกับการกระทำ ถือว่าจำเลยที่ 1, 3, 4, 7, 8 แบ่งหน้าที่กันทำ อีกทั้งยังมีการยึดหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ “ หรือหนังสือปกแดง และ มีจอ LCD ที่ปรากฏข้อความ ‘ไม่ใช่ปฏิรูป แต่คือปฏิวัติ’ เห็นว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันกษัตริย์ ส่งผลให้เกิดความแตกแยก
ส่วนจำเลยที่ 6 และ 9 (ชนินทร์และ “สาธร”) พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังได้ว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นตัวการแบ่งหน้าที่กันทำในการปราศรัย และไม่ปรากฏว่ามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง อันมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควร
• ข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1, 3, 4, 6-9 เป็นผู้เผยแพร่ข้อความเชิญชวนหรือเป็นผู้ถ่ายทอดสด (Live) และพยานโจทก์ไม่ได้ตรวจสอบ IP Adress บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กว่าเป็นของบุคคลใด
พิพากษาว่าจำเลยที่ 1, 3 (อานนท์), 4 (ณัฐชนน), 7 (ไฟซ้อน), 8 (ลูกมาร์ค) มีความผิดตามมาตรา 116 (2), (3) ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุกคนละ 9 เดือน ไม่รอลงอาญา
และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6, 9 (ชนินทร์และ “สาธร”) ในทุกข้อหา และยกฟ้องจำเลยที่ 1, 3, 4, 7, 8 ในส่วนข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ผู้พิพากษาในคดีนี้ ได้แก่ ปรียานาถ เผือกสุวรรณ และ ชวลิต คณานิตย์
หลังจากฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น ณัฐชนนยังคงต้องอยู่ในห้องพิจารณาคดีต่อเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่งก่อน และเมื่อการพิจารณาทั้งสองคดีเสร็จสิ้นแล้ว ณัฐชนน, ไฟซ้อน และลูกมาร์ค ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลเข้าใส่กุญแจข้อมือ โดยณัฐชนนถูกใส่กุญแจมือทั้งสองข้าง ส่วนไฟซ้อนและลูกมาร์คถูกใส่กุญแจมือคนละหนึ่งข้าง ก่อนนำตัวลงไปยังห้องขังใต้ถุนศาลระหว่างรอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์
ด้านณวรรษและอานนท์ เมื่อเสร็จการพิจารณาคดี ก็ถูกนำตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลเช่นกัน เพื่อที่จะรอกลับไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมกับโทษจำคุกรวมทั้งหมดของอานนท์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 18 ปี 19 เดือน 20 วัน แล้ว (ทุกคดียังไม่สิ้นสุด เป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น) โดยในวันนี้อานนท์ไม่ได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลนี้แต่อย่างใด
ต่อมาในเวลา 14.51 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสามคน ได้แก่ ณัฐชนน, ไฟซ้อน และลูกมาร์ค ในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยให้วางเงินประกันตัวคนละ 100,000 บาท ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติม โดยหลักทรัพย์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้วันนี้ทั้งสามคนจะได้กลับบ้านทันที
ออกหมายจับตั้งแต่ปี 63 แต่ตามจับกุมจำเลยถึงปี 66 ก่อนถูกสั่งฟ้องแยกออกเป็นสามคดี
เกี่ยวกับคดีนี้ จำเลยทั้งเก้าคนถูกออกหมายจับทั้งหมดตั้งแต่ปี 2563 แต่ถูกจับกุมดำเนินคดีหรือเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเวลาต่างกันไป จำเลยแต่ละคนยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาไม่เหมือนกัน รวมถึงถูกอัยการสั่งฟ้องต่อศาลในวันเวลาและข้อหาที่แตกต่างกันเช่นกัน ซึ่งสามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้
ในการสั่งฟ้อง ทั้ง 9 คน ถูกอัยการฟ้องในวันที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ถูกแบ่งออกเป็นสามคดี ส่วนแรกเริ่มจากในวันที่ 30 ส.ค. 2565 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของนักกิจกรรม 5 คน ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 'ยุยงปลุกปั่น' ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในขณะที่ชนินทร์ถูกฟ้องอีกราย แต่เฉพาะข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ส่วนที่สอง วันที่ 6 ต.ค. 2565 ไฟซ้อนถูกอัยการสั่งฟ้องใน 3 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับกลุ่มแกนนำ และสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 'สาธร' และ 'ลูกมาร์ค' ถูกฟ้องใน 3 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับกลุ่มแกนนำ
สำหรับไฟซ้อนและลูกมาร์คถูกกล่าวหาจากการทำหน้าที่เป็นพิธีกรบนเวที ส่วน 'สาธร' ถูกระบุว่ามีชื่อเป็นผู้ร่วมรับบริจาคในการจัดเวทีชุมนุม แต่ไม่ใช่ผู้ขึ้นเวทีปราศรัยแต่อย่างใด ทั้งสามคนถูกตำรวจไล่จับกุมตามหมายจับในช่วงปี 2565 และ 2566 หลังเหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 3 ปี และหลังคดีแรกสั่งฟ้องต่อศาลไปแล้ว
ต่อมา ศาลมีคำสั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสามเข้าด้วยกัน เนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน
จำเลยสู้คดี ยืนยันการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความรุนแรง-ใช้กำลัง และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนสถานที่ชุมนุมโล่งกว้าง อากาศถ่ายเท และมีมาตรการป้องกันโควิด 19
ในคดีนี้มีการสืบพยานทั้งสิ้นจำนวน 7 นัด ในระหว่างวันที่ 2–4, 9–10, 25 ต.ค., และ 12 พ.ย. 2567 โดยฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบ 11 ปาก ฝ่ายจำเลยมี ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเบิกความเป็นพยาน
ในระหว่างการสืบพยานไม่สามารถติดต่อภาณุพงศ์และพริษฐ์ได้ ศาลจึงออกหมายจับและจำหน่ายคดีในส่วนของทั้งสองคน ต่อมา ในนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2568 ปนัสยาไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงเลื่อนอ่านคำพิพากษาเป็นวันนี้
สำหรับฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ในคดีคือ ในที่ชุมนุมวันเกิดเหตุ เป็นการชุมนุมปราศรัยเพื่อแสดงความเห็นโดยสงบ มีการตรวจคัดกรองอาวุธก่อนเข้างาน เป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ ไม่ใช้กําลังข่มขืนใจหรือใช้กําลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
สำหรับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อนั้น เป็นความหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ โดยเป็นเพียงข้อเสนอ ไม่ได้บีบบังคับหน่วยงานใดหรือบุคคลใดให้ดําเนินการแต่อย่างใด และข้อเสนอดังกล่าวไม่ถึงกับก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เนื่องจากเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น จึงไม่ได้ส่งเสริมให้ใครก่อความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่อง หรือความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม
อีกทั้งที่เกิดเหตุยังเป็นสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท ไม่แออัด และผู้จัดชุมนุมมีมาตรการป้องกันโรคโควิดและมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจวัดอุณหภูมิ แจกเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยก่อนเข้าพื้นที่ชุมนุม
การชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ยังนำไปสู่การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดย ณฐพร โตประยูร ให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่านักกิจกรรม 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มีการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จากการปราศรัยหรือไม่
ต่อมา วันที่ 10 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวโดยเห็นว่า การกระทำของทั้ง 3 คน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่ทั้งนี้คดีในศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวพันกับคดีอาญา ฝ่ายโจทก์ยังต้องนำสืบว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบตามข้อกล่าวหาทางอาญาที่ฟ้องมาหรือไม่ อย่างไร