Tuesday, 25 June 2024
NEWS

ย้อนตำนานการนั่ง ‘เก้าอี้นายกฯ’ ในวันเด็กแห่งชาติ ที่มาเป็นอย่างไร

วันเด็กแห่งชาติปีนี้ ไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติไปหนึ่งอย่าง คือการเปิดให้เด็ก ๆ ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุให้ปีนี้เด็กๆ อดนั่งเก้าอี้ผู้นำสูงสุดของประเทศกันไป

เก้าอี้นายกฯ นั่นมีมานานแล้วล่ะ เพราะถ้าไม่มีเก้าอี้นายกฯ นายกฯ ก็คงไม่มีที่นั่ง ผ่ามม!! แต่นั่งแล้วใครจะเลื่อยขาเก้าอี้หรือไม่ อันนี้ก็ต้องระวัง ผ่ามม!! กลับมามีสาระกันสักนิดดีกว่า ที่มาของการเปิดให้เด็กๆ ได้เข้ามาดูห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีไทยนั้น เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2550 สมัยรัฐบาลของ พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้นได้มีการสร้าง ‘เก้าอี้นายกฯ’ อย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรก

ทำให้ในเวลาต่อมา จึงได้เปิดให้เด็กๆ เข้ามาดูห้องทำงานนายกฯ และเปิดโอกาสให้น้อง ๆ หนู ๆ ได้ทดลองนั่นเก้าอี้ผู้นำสูงสุดของประเทศ นัยว่าให้เกิดแรงบันดาลใจในการใฝ่เรียนรู้ และเติบโตขึ้นมาช่วยกันพัฒนาประเทศ โดยหลังจากที่เปิดให้เด็ก ๆ ได้มีกิจกรรมดังกล่าวนี้ ปรากฎว่า กระแสดีเกินคาด ในปีถัด ๆ มา ทุกวันเด็กแห่งชาติ จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปโดยปริยายว่า ต้องมีกิจกรรมนั่งเก้าอี้นายกฯ เป็นไฮไลท์

ในมุมกลับกัน การจะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ นั้นก็ต้องลงทุนด้วยเวลา โดยค่าเฉลี่ยทั้งกระบวนการของการมารอนั่งเก้าอี้นายกฯ นั้น ใช้เวลาราวๆ 2-3 ชั่วโมง ประมาณการว่าต้องตื่นราวๆ ตี 4 ตี 5 แล้วเดินทางมาให้ถึงทำเนียบฯ ในเวลา 06.00 น. เพื่อจะได้เป็นคิวแรกๆ ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีเด็กบางคน เมื่อถึงเวลาได้คิวเข้าไปนั่งเก้าอี้นายกฯ แล้ว ถึงกับผลอยหลับไปซะเฉย ๆ ไม่ใช่ว่าแอร์ห้องนายกฯ เย็น หรือตื่นเต้นจนเป็นลม แต่ด้วยความง่วงที่ตื่นเช้ามารอคิวนี่เอง เลยทำให้หลับไปเสียอย่างนั้น

ปีนี้ไม่มีภารกิจนั่งเก้าอี้นายกฯ เหมือนที่เคยเป็นมา แต่ถึงไมได้นั่ง ก็นั่งเก้าอี้ที่บ้านได้ นั่งตรงไหนก็พิเศษเหมือนกัน ถ้าเป็นเด็กดี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ รักชาติบ้านเมือง ไม่ใช่คำขวัญนะ ฝากไว้ให้กับน้อง ๆ เท่านั้นเอง

กระทรวงการท่องเที่ยว หารือข้อสรุปให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เลื่อนการจองได้โดยไม่เสียสิทธิ ภายในระยะเวลา 6 เดือน - 1 ปี โดยสถานประกอบการ หรือ โรงแรมรับเรื่องไว้ก่อนและจะดำเนินการในระบบของธนาคารกรุงไทยต่อไป

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวได้นัดสมาคมโรงแรมไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว มาหารือถึงแนวทางการเลื่อนจองห้องพักในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยจากการหารือก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลื่อนการจองได้โดยไม่เสียสิทธิ ภายในระยะเวลา 6 เดือน - 1 ปี โดยสถานประกอบการ หรือ โรงแรม รับเรื่องไว้ก่อนและจะดำเนินการในระบบของธนาคารกรุงไทยต่อไป ภายหลังธนาคารได้ดำเนินการปรับปรุงระบบแล้ว

ขณะเดียวกันทางสมาคมโรงแรมไทย ยังยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือเพิ่มเติม ทั้งการขอให้ช่วยจ่ายค่าจ้างให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวคนละครึ่งจำนวนเงินไม่เกิน 7,500 บาท เป็นเวลา 12 เดือน มาตรการพักชำระหนี้, มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบของผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) โดยขอให้ลดค่าไฟฟ้า 15% ต่อหน่วย ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวจะนำข้อเสนอทั้งหมดเข้าหารือในที่ประชุมครม.วันที่ 12 ม.ค.นี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า "ททท.ได้คุยกับสมาคมโรงแรม ให้รีบแจ้งไปถึงสมาชิกทุกคนให้ร่วมกันช่วยเหลือผู้ที่จองห้องพักในโครงการแล้วต้องการจะยกเลิกหรือเลื่อนเวลาการจองออกไป โดยให้ทุกโรงแรมรับการเลื่อนจองของประชาชนเอาไว้ก่อน โดยอาจจดเป็นรายละเอียดหลักฐานเอาไว้ เพราะตอนนี้ระบบกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง ยังไม่สามารถทำการเลื่อนผ่านระบบได้ ซึ่งถ้าเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง ททท.พร้อมรับผิดชอบแทน โดยเฉพาะเงินส่วนต่างที่โรงแรมจะได้รับ 40% จากรัฐบาล"

เปิดเรื่องราวการแข่งขันของสองมหาเศรษฐีอันดับ 1 และ 2 ของโลก อีลอน มัสก์ และ เจฟฟ์ เบโซส์ ที่นอกจากความร่ำรวย พวกเขายังแข่งกันสร้างอาณาจักรนอกโลกอีกด้วย

ข่าวยืนยันล่าสุดรับปี 2021 อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง Space X ขึ้นแท่นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกเป็นที่เรียบร้อย ด้วยทรัพย์สินที่เขาครอบครองในปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1.85 แสนล้านเหรียญ หรือ ราว ๆ 5.55 ล้านล้านบาท เบียดแซง เจฟฟ์ เบโซส์ เจ้าพ่อ Amazon คู่แข่งคนสำคัญ ที่มีทรัพย์สินมูลค่า 1.84 แสนล้านเหรียญ

สิ่งที่ทำให้ อีลอน มัสก์ มาถึงจุดสูงสุดนี้ได้ เนื่องจากปีที่ผ่านมา มูลค่าของ Tesla พุ่งทะยานถึง 7 แสนล้านเหรียญ ทำให้ Tesla กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงกว่า โตโยต้า โฟล์คสวาเกน ฮุนได GM และ ฟอร์ด รวมกัน

ซึ่ง อีลอน มัสก์ ไม่ได้ตื่นเต้นกับตำแหน่งที่คนทั้งโลกใฝ่ฝันเลยแม้แต่น้อย แค่โพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ก็แปลกดี” และ “ไปทำงานต่อได้แล้ว” แค่นั้น จบ! แยก! เป็นทัศนคติที่มักพบเจอในมหาเศรษฐีระดับโลก ที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อผลสำเร็จในการทำงานมากกว่ามูลค่าของเงินในกระเป๋า

แต่สิ่งที่ทำให้ชาวโลกสนใจยิ่งกว่าอันดับของความมั่งคั่ง คือการขับเคี่ยวกันมาอย่างสูสีราวกับแข่งเรือยาว ระหว่าง 2 อภิมหาเศรษฐีระดับโลก อีลอน มัสก์ และ เจฟ เบโซส์ ที่ไม่ใช่แค่การแข่งกันรวย แต่แข่งกันเพื่อมุ่งหน้าสู่จุดสูงสุดของความฝันของตัวเอง ที่ไม่หยุดอยู่เพียงแค่บนโลกอีกต่อไป

เบื้องหลังความสำเร็จของคู่แข่งตลอดกาลอย่าง อีลอน มัสก์ และ เจฟฟ์ เบโซส์ เริ่มต้นจากความคลั่งไคล้ในอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี และใช้โอกาสในช่วงยุคธุรกิจดอทคอมเฟื่องฟู โดย เจฟฟ์ เบโซส์ ได้ก่อตั้งร้านหนังสือออนไลน์ ทื่ชื่อว่า Amazon ในปี 1993 จนขยายตัวกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่สามารถทำรายได้มากกว่า 2.8 แสนล้านเหรียญในแต่ละปี

ด้านอีลอน มัสก์ ก็ตัดสินใจยกเลิกแผนการเรียนปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อมาลุยธุรกิจออนไลน์ของตัวเอง ด้วยการตั้งเว็บ Zip2 ในปี 1995 ที่สามารถขายต่อให้ Compaq ได้ถึง 300 ล้านเหรียญ และนำเงินมาลงทุนสร้างเว็บไซต์ X.com ในปี 1999 ที่ให้บริการด้านการเงินออนไลน์ ซึ่งได้ควบกิจการร่วมกับ Confinity และพัฒนากลายเป็น Paypal ในเวลาต่อมา

ในปี 2008 อีลอน มัสก์ ได้เข้ามารับตำแหน่ง CEO พ่วงผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับบริษัทรถยนต์ Tesla ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นผู้นำด้านยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด และยั่งยืน ที่จะเป็นทิศทางของรถยนต์แห่งโลกอนาคต และเขาก็ทำได้จริง ๆ ในปัจจุบัน Tesla เป็นรถยนต์แบตเตอรี่ที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก มีส่วนแบ่งตลาดถึง 17% ทำรายได้ให้กับบริษัทถึง 3.33 หมื่นล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา

แม้จะเริ่มต้นจับธุรกิจที่ต่างกัน แต่ทั้ง อีลอน มัสก์ และ เจฟฟ์ เบโซส์ มีความฝันอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ การมุ่งหน้าสู่อวกาศ

ธุรกิจสู่อวกาศนี้ เจฟฟ์ เบโซส์ ได้ออกตัวก่อนด้วยการก่อตั้ง Blue Origin ในปี 2000 ด้วยทุนที่ได้จากความสำเร็จของ Amazon.com ของเขา ซึ่ง เจฟฟ์ เบโซส์ ตั้งเป้าหมายของ Blue Origin ไว้ว่า ต้องการสร้างสถานีอวกาศนอกโลก ที่จะกลายเป็นเมืองอวกาศของมนุษยชาติในอนาคต โดยที่ เจฟฟ์ ต้องการให้โครงการเขาเติบโตอย่างค่อยเป็น ค่อยไป ไม่ได้ตั้งเป้าที่จะแข่งกับใครจนกระทั่งการมาถึงของคู่แข่งที่มาแรงที่สุดก็คือ SpaceX

ในขณะที่ เจฟฟ์ เบโซส์ ต้องการสร้างเมืองทางเลือกให้กับมนุษยชาตินอกโลก อีลอน มัสก์ ฝันไกลกว่านั้น สิ่งที่เขาต้องการคือการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร โดยเขาใช้เงินทุนที่ได้กำไรจากธุรกิจ Paypal มาลงทุนก่อตั้ง SpaceX สร้างยานขนส่งอวกาศเอกชน ที่จะพามนุษย์มุ่งสู่อวกาศ

ในช่วงที่ทำโครงการใหม่ ๆ ทั้งเจฟฟ์ เบโซส์ และ อีลอน มัสก์ ก็ยังมีนัดคุยปรึกษากันถึงโครงการสร้างอาณานิคมมนุษย์ในจักรวาลอยู่เลย จนกระทั่งเกิดเรื่องบาดหมางกันในการขอสัมปทานใช้ฐานปล่อยยานของ NASA ในปี 2013 โดยที่ อีลอน มัสก์ ต้องการได้สัญญาการใช้ฐานปล่อยยานของ NASA ที่เป็นสิทธิพิเศษเฉพาะของ SpaceX เจฟฟ์ เบโซส์ ยื่นคำคัดค้านถึงรัฐบาลสหรัฐ เนื่องด้วยฐานปล่อยยาน NASA ควรเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่พัฒนายานอวกาศทั่วไปได้ใช้

ด้านอีลอน มัสก์ ไม่ยอม และยังแซะ เจฟฟ์ เบโซส์ ว่าจะจองฐานปล่อยยานล่วงหน้าไว้ทำไมให้กับบริษัทที่พัฒนายานอวกาศกว่า 10 ปีแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ และในที่สุด SpaceX ก็ได้สิทธิ์สัมปทานฐานปล่อยยานของ NASA เฉพาะสำหรับยานของ SpaceX

ต่อมา เจฟฟ์ เบโซส์ พยายามยื่นสิทธิบัตรยานโดรนที่ใช้ในการจอดยาน Rocket Booster ของ Blue Origin อีลอน มัสก์ ยื่นคัดค้านหาว่า ยานโดรนนี้ เป็นเทคโนโลยีเก่า ที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งศาลสหรัฐเข้าข้าง SpaceX ในกรณีนี้

หลังจากนั้น ก็มีข่าวว่า ทั้งอีลอน มัสก์ และ เจฟฟ์ เบโซส์ มักจะแซะกันไปมาผ่านทางทวิตเตอร์ หรือ การให้สัมภาษณ์ จนเป็นที่จับตาของชาวโลกว่า ความศรศิลป์ไม่กินกันระหว่างอภิมหาเศรษฐีเบอร์ 1 และ เบอร์ 2 ของโลกจะจบลงแบบไหน

จนกระทั่งมาในวันนี้ ที่อีลอน มัสก์ ได้ขึ้นแท่นเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก แซงเจฟฟ์ เบโซส์ ที่เคยครองตำแหน่งนี้มานานถึง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2017 จึงเรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย ว่าอีลอน มัสก์ จะไปไกลได้ถึงไหน ซึ่งเจ้าตัวก็ออกมาบอกแล้วว่า อีลอน มัสก์ ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ มากไปกว่างานพัฒนาเทคโนโลยีของเขา ที่ทำให้เขาภาคภูมิใจในตัวเองมากกว่าทรัพย์สินเงินทองล้นฟ้าที่เขาหาได้

และนี่ก็คือเรื่องราว เส้นทางสู่ความเป็นมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลก อีลอน มัสก์ ผู้ที่ประกาศความฝันว่าเขาต้องไปดาวอังคารก่อนตายให้ได้นั่นเอง


แหล่งข่าว

https://www.bbc.com/news/technology-55578403

https://edition.cnn.com/2021/01/07/investing/elon-musk-jeff-bezos-richest-person/index.html

https://www.businessinsider.com/jeff-bezos-elon-musk-rivalry-history-timeline-2020-7#the-feud-isnt-just-about-space-ambitions-however-musk-has-taken-issue-with-blue-origins-hiring-practices-and-has-taunted-bezos-in-interviews-7

https://www.businessinsider.com/elon-musk-jeff-bezos-fights-disagreements-insults-list-2019-6

ตัวแทนนักร้อง นักดนตรีอาชีพอิสระ ยื่นหนังสือ 4 ข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มคนอาชีพทำงานกลางคืนในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด หลังไม่มีงาน เหตุโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนกลุ่มคนทำงานสถานบันเทิง นักร้อง นักดนตรี และอาชีพกลางคืน จำนวน 10 คน นำโดย นายทักษะศิลป์ อุดมชัย ตัวแทนนักร้อง นักดนตรีอาชีพอิสระ ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มคนอาชีพนักร้องนักดนตรีอิสระ กลุ่มคนอาชีพทำงานกลางคืนในพื้นที่ 28 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด โควิด-19 รอบสอง เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ

ผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวทำให้ตกงาน จึงมีข้อเรียกร้อง คือ

1.) มาตรการเยียวยา 5000 บาทระยะเวลาสองเดือน แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็ขอให้เยียวยาต่ออีกรวมเป็นสามเดือน ทั้งนี้โปรดพิจารณาตอบกลับทางกลุ่มก่อนวันที่ 1กุมภาพันธ์

2.) พักชำระหนี้ โดยเฉพาะกรณีพักชำระหนี้ไฟแนนซ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมถึงช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าหรือผ่อนที่พักอาศัย โดยขอให้ทางรัฐบาลออกหนังสือรับรองให้พวกเราเป็นบุคคลไร้รายได้ฉุกเฉินเนื่องจากถูกสั่งให้ไม่สามารถทำงานได้ เพราะเป็นพื้นที่แพร่กระจายโรคโควิด-19 ทั้งนี้หนังสือรับรองเป็นบุคคลไร้รายได้ฉุกเฉินเพื่อให้เราสามารถขอผ่อนผันค่างวดบ้าน คอนโด ที่พักอาศัยออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แล้วกลับมามีอาชีพ มีรายได้ตามปกติ

3.) ขอผ่อนปรนใบอนุญาตการแสดงดนตรีของสถานประกอบการให้กับร้านอาหาร เพื่อให้สามารถแสดงดนตรีได้และให้เคร่งครัดในการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข

4.) วอนรัฐบาลช่วยเหลือการจัดจ้างงาน ให้เราได้ใช้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในอาชีพการแสดงดนตรี กับผู้ประกอบการหรือองค์กรที่สนใจนำการแสดงดนตรีช่วยส่งเสริมการขายทางออนไลน์

หวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามข้อเสนอทั้งสี่ข้อกับพวกเราตามเห็นสมควรทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดขอให้มีรายได้จุนเจือครอบครัวต่อไปไม่มากก็น้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังยื่นหนังสือของกลุ่มดังกล่าว น.สพ.บูรณ์ อารยพล ในฐานะ ผจก.ทีมก๊อปปี้โชว์.com ได้กล่าวถึงการขอให้แก้กฎหมายเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกันตนได้รับการเยียวยาด้วย และจะมาติดตามเรื่องข้อเรียกร้องของทางกลุ่มฯ กับความคืบหน้าเรื่องกองทุนประกันสังคม ในวันจันทร์ที่ 11 ม.ค. 64 เวลา 09.00น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (8 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 205 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 9,841 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 67 ราย รักษาหายเพิ่ม 734 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 5,255 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4,519 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 205 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากอินเดีย 1 ราย ,สวีเดน 1 ราย ,ฝรั่งเศส 1 ราย ,สหราชอาณาจักร 1 ราย ,สาธารณรัฐเช็ก 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 4 ราย

เดินทางมาจากต่างประเทศ ผ่านเส้นทางธรรมชาติ จากเมียนมา 7 ราย

ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 131 ราย

ตรวจคัดกรองเชิงรุก 58 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 173 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 386 ราย รักษาหายแล้ว 362 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 7.98 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.59 แสน เสียชีวิต 23,520 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.28 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.03 แสน ราย เสียชีวิต 521 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.29 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.12 แสน ราย เสียชีวิต 2,799 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.82 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.49 แสน ราย เสียชีวิต 9,356 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,813 ราย รักษาหายแล้ว 58,562 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,509 ราย รักษาหายแล้ว 1,353 ราย เสียชีวิต 35 ราย

นายแพทย์เกรกอรี ไมเคิล วัย 56 ปี สูตินรีเวชวิทยา จากศูนย์การแพทย์เมาท์ไซนาย ในไมอามีบีช รัฐฟลอริดา กลายเป็นอีกหนึ่งรายที่ต้องสงสัยว่าเสียชีวิตจากวัคซีนของบริษัทใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา

โดยเขาได้เสียชีวิตลงเมื่อวันจันทร์ (4ม.ค.) หลังจากมีอาการหลอดเลือดสมอง ชนิดเลือดออกในสมอง (hemorrhagic stroke) ซึ่งในทางการแพทย์เชื่อว่าอาการดังกล่าวมีต้นตอจากการขาดเกล็ดเลือด

ไมเคิล ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม จากนั้นก็มีอาการรุนแรง จากการเปิดเผยของ เฮดี เนคเคิลมันน์ ภรรยาของเขา

เนคเคิลมันน์ ได้เขียนลงบนเฟซบุ๊กเมื่อวันอังคาร (5 ม.ค.) ว่า 3 วันหลังจากได้รับวัคซีน ไมเคิลต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากมีตุ่มผุดขึ้นบริเวณผิวหนังของเขา ซึ่งบ่งชี้ว่าเขาอาจมีอาการตกเลือดภายใน

แพทย์สรุปว่าเขามีอาการเกล็ดเลือดต่ำซึ่งพวกเขาพยายามเพิ่มเกล็ดเลือด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

“พวกผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศเข้ามามีส่วนร่วมดูแลรักษาเขา แต่ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไร เกล็ดเลือดก็ไม่เพิ่มขึ้น” เธอเขียนบนทวิตเตอร์

เนคเคิลมันน์ เล่าว่า "ไมเคิล มีสติและดูกระฉับกระเฉงตลอดกระบวนการทั้งหมด จนกระทั่งเขามีอาการหลอดเลือดสมอง ซึ่งคร่าชีวิตเขาภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที"

กระทรวงสาธารณสุขรัฐฟลอริดา ระบุว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์กำลังนำการสืบสวน และจะมอบผลการค้นพบแก่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคต่อไป

ด้าน ไฟเซอร์ บริษัทผู้พัฒนาวัคซีนบอกว่า ทางบริษัทฯ จะเปิดการสืบสวนต่อเหตุเสียชีวิตของไมเคิลเช่นกัน “เรากำลังสืบสวนอย่างกระตือรือร้นในคดีนี้ในเวลานี้ เราไม่เชื่อว่ามันจะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงใดๆ กับวัคซีน”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคนหนึ่งในโปรตุเกส เสียชีวิต 2 วันหลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งข่าวคราวที่สร้างความช็อกแก่ประชาคมโลกนี้ ยิ่งเพิ่มข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพวัคซีนของไฟเซอร์ไปอีกขั้น


ที่มา : นิวยอร์กโพสต์

นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีความจำเป็นยิ่ง ที่ไทยต้องเตรียมตั้ง รพ.สนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด19 โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงหลาย ๆ พื้นที่ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ต้องเร่งจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ นำมาพัฒนาเป็น รพ.สนาม ที่สามารถดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ แต่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ และรักษาผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง เพื่อแยกผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ให้สัมผัสกับคนปกติ

หากไม่เร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ จะยิ่งทำให้สถานการณ์การระบาดในไทยรุนแรงเพิ่มขึ้น

สำหรับ รพ.สนาม มีความจำเป็น 4 ข้อ คือ

1.) ผู้ป่วยทั่วไปใน รพ.จะลดการติดเชื้อ แยกแยะระหว่างผู้ป่วยโรคทั่วไป ผู้ป่วยโควิด19 ไม่ให้ปะปนกัน

2.) บุคลากรสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ

3.) รพ.ในระบบปกติ จะมีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไม่ต้องงดรับผู้ป่วยทั่วไป เหมือนช่วงระบาดเมื่อต้นปี 63

และ 4.) ชุมชนจะปลอดภัยมากขึ้น เพราะ รพ.สนาม จะรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ติดเชื้อ ผู้กักกันตัวเองที่อยู่ระหว่างรอผลยืนยัน ช่วยแยกคนติดเชื้อออกจากชุมชน ลดการแพร่เชื้อได้อย่างดี

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า รอบนี้การติดเชื้อมาจากเรื่องที่ผิดกฎหมาย แหล่งอบายมุข การลับลอบเข้าเมือง การสอบสวนโรคจึงทำได้จำกัด ดังนั้นผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ ยังปิดบังไทม์ไลน์และไม่กักตัว ยังใช้ชีวิตตามปกติ ยังมีอีกมาก ในที่สุดไทยจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีอาการรุนแรงขึ้น จนทำให้เตียงในรพ.ไม่พอ เหมือนหลายๆ พื้นที่เสี่ยงที่ รพ.ในพื้นที่เริ่มส่งสัญญาณแล้ว

ส.ส.พรรคก้าวไกล ดาหน้า จี้รัฐบาล เร่งเดินหน้าฝ่าวิกฤตโควิดซัด ชู 3 ประเด็นร้อน มาตรการเยียวยา, สินเชื่อซอร์ฟโลน SMEs 5 แสนล้าน และการศึกษา ซัด โครงการเราไม่ทิ้งกันล่าช้า หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย วรภพ วิริยะโรจน์ และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ถอดบทเรียนรัฐบาลที่เคยเผชิญในภาวะวิกฤติการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเเรก เมื่อต้นปี 2563 โดยระบุถึง 3 ประเด็นหลักควรเร่งแก้ไขอย่างตรงจุด ตรงประเด็น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เเละได้ประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง ได้แก่ การช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงกลุ่มทุนโดยตรง การศึกษาหรือปัญหาการเรียนออนไลน์ที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ เเละมาตรการเราไม่ทิ้งกันรอบ 2 ของกระทรวงการคลัง ที่ต้องเตรียมเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนให้ทั่วถึงและทันเวลา

วรภพ ระบุว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับ SMEs รัฐบาลต้องเร่งช่วยให้ตรงจุด ด้วยการเร่งแก้ไข พ.ร.ก. Soft Loan (พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓ ) รวมถึงการพักชำระหนี้ เนื่องจากมาตรการ ‘ล็อคดาวน์ที่ไม่เรียกว่าล็อคดาวน์’ กำลังดับความหวังสุดท้ายของ SMEs โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ หลายธุรกิจต้องหยุดดำเนินกิจการโดยที่ไม่ได้ทำผิดพลาดอะไรเลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความหละหลวมของรัฐบาล ที่ปล่อยให้มีขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าว บ่อนพนันกลางเมือง ในวันนี้ SMEs ยังอยู่ในสภาวะโคม่า จากยอดรวม SMEs 1.8 ล้านล้านบาทที่มาขอพักชำระหนี้ในรอบที่แล้วยังมีที่ยังอยู่ในสภาวะปรับโครงสร้างหนี้อีกประมาณ 678,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs รอบใหม่โดยด่วนที่สุด

“รัฐบาลต้องเสนอให้สภาผู้เเทนราษฎรเร่งแก้ไขพระราชกำหนดซอร์ฟโลน 5 แสนล้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงได้จริง ในเรื่องนี้พรรคก้าวไกลได้พยายามผลักดันในคณะกรรมาธิการแก้ไขงบประมาณโควิดมาตลอด เพราะที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายไปเพียง 20 % เท่านั้น เนื่องจากติดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เข้าถึงยาก เรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถฟื้นตัวได้เองหลังจากภาวะวิกฤติ” วรภพ กล่าว

ในด้านประเด็นการศึกษา วิโรจน์ ระบุว่า มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณานำไปปรับใช้ ดังต่อไปนี้

1.) กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งทบทวน และจัดทำสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้ครบถ้วนตั้งแต่ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษา เนื้อหาส่วนใดที่ผิดพลาด ให้เร่งแก้ไข พร้อมกับจัดทำใบงาน แบบฝึกหัด และเอกสารประกอบการเรียนการสอน ให้ถูกต้องครบถ้วน มีงบประมาณในการจัดพิมพ์ให้กับนักเรียน ไม่ต้องให้นักเรียนไปพิมพ์กันเอาเอง มีการวางตารางเวลา จัดสรรเวลาในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้กับนักเรียนอย่างชัดเจน มีการซักซ้อมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้มีความเข้าใจในบทบาทของตนเอง ในการให้คำปรึกษากับบุตรหลาน ในการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน ไม่ใช่ปล่อยให้พ่อแม่ไปจัดการกันเอง ตามมีตามเกิดแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2.) นักเรียนระดับอนุบาล และประถมศึกษา ป.1-6 การมาพบปะคุณครู เพื่อให้ครูได้แนะนำ ยังคงมีความจำเป็นอยู่มาก แต่เพื่อลดความหนาแน่นลง โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถแบ่งนักเรียนหนึ่งห้อง ออกเป็น 4 รอบ เพื่อทยอยมาพบกับคุณครู เช่น จันทร์พุธศุกร์เช้า จันทร์พุธศุกร์บ่าย อังคารพฤหัสเสาร์เช้า อังคารพฤหัสเสาร์บ่าย นักเรียนที่มีอยู่ห้องละ 40 คน ก็จะเหลือรอบละแค่ 10 คน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะจัดการให้นักเรียนมี Social Distancing ได้ และหากมีปัญหาการระบาดเกิดขึ้น นักเรียนก็จะไม่ระบาดข้ามกลุ่มกันด้วย โดยให้คุณครูคอยทบทวนเนื้อหาสำคัญ ในเฉพาะวิชาที่สำคัญ ต่อการเรียนรู้ต่อยอดด้วยตนเองในบทเรียนถัดๆ ไป เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น และสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งพอจะมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองในระดับหนึ่งแล้ว อาจจะมาพบคุณครู ที่โรงเรียนน้อยกว่าระดับประถมศึกษา โดยอาจจะมาพบเพียงสัปดาห์ละ 1-2 วัน เท่านั้น เพื่อให้ครูทบทวนเนื้อหาเฉพาะวิชาที่สำคัญ เช่นเดียวกัน

3.) มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้แก่ครู ในการโทรศัพท์ติดตามนักเรียน เพื่อสอบถามถึงความเข้าใจในการเรียน และอาจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่นักเรียนที่มีข้อสงสัย มีระบบ Call Center ในวิชาต่างๆ เพื่อให้นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยตนเองแล้วไม่เข้าใจ สามารถโทรศัพท์มาสอบถามคุณครูได้ ไม่ต้องเก็บความไม่เข้าใจเอาไว้

4.) สำหรับนักเรียนที่มีความขาดแคลนจริง ๆ ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน อันเนื่องมาจากไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีแท็บเล็ต หรือไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จริง ๆ อันเนื่องจากที่บ้านไม่มีผู้ดูแล เพราะทั้งพ่อแม่ต่างต้องไปทำงาน กระทรวงศึกษาธิการ ควรอนุญาตให้นักเรียนเหล่านี้ มาเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน ภายใต้การกำกับของครู ซึ่งคาดว่านักเรียนที่มีข้อจำกัดเหล่านี้ ไม่น่าจะมีจำนวนมากนัก ซึ่งก็ย่อมอยู่ในวิสัยของโรงเรียนที่จะป้องกันการระบาดได้

“กระทรวงศึกษาธิการ ควรจะเร่งจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้กับโรงเรียนแต่ละแห่ง ในการจัดสร้าง จัดหา จัดเตรียม อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาให้เพียงพอได้แล้ว เช่น การจัดสร้างอ่างล้างมือหน้าห้องเรียน การจัดหาอุปกรณ์ในการวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ สบู่เหลวล้างมือ หน้ากากอนามัย สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลน หรือไม่ได้นำมาจากที่บ้าน เพื่อให้เมื่อโรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้อีกครั้ง โรงเรียนแต่ละแห่งจะได้มีศักยภาพในการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้” วิโรจน์ กล่าว

สำหรับในส่วนประเด็นมาตรการเราไม่ทิ้งกัน รอบ 2 ที่มีกระเเสข่าวออกมาว่ารัฐเตรียมออกมาตรการเพื่อชดเชยเเละเยียวยานั้น ณัฐชา ระบุว่า สุดท้ายมาตรการเยียวยาจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอคือ รัฐบาลต้องถอดบทเรียนและเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตเพื่อปรับปรุงให้การเยียวยารอบใหม่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีกระสุนที่มากพอที่จะรองรับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยมีเรื่องที่ต้องนำไปพิจารณา คือ

1.) ต้องไม่มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่ซับซ้อน ขั้นตอนต้องเข้าถึงคนออฟไลน์ บทเรียนจากในคราวที่แล้วคือในการขอรับสิทธิ์ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่ยุ่งยาก หลักเกณฑ์ ‘อาชีพอิสระ’ ไม่มีความชัดเจน ทำให้คนที่เดือดร้อนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับสิทธิ์ หรือได้รับสิทธิ์ล่าช้าเพราะต้องลงทะเบียนใหม่ ในขณะที่ผู้ที่เดือดร้อนบางส่วนก็เข้าไม่ถึงโครงการ เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้คนที่เดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจจำนวนมากไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล

2.) การเยียวยาต้องรวดเร็ว ต้องไม่ให้เหมือนรอบที่แล้ว ที่กว่าที่ประชาชนจะได้เงินไปต่อชีวิตต้องรอเวลาเป็นเดือนๆ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน (เปิดลงทะเบียนครั้งแรกวันที่ 29 เม.ย. จ่ายเงินงวดสุดท้าย 26 มิ.ย.) รัฐบาลล่าช้ามามากพอแล้วในการออกมาตรการเยียวยา เราหวังว่ามาตรการที่ออกมาจะไม่มีการจ่ายเงินเยียวยาที่ล่าช้ายิ่งขึ้นไปอีก

3.) นโยบายต้องมีความชัดเจน ออกแบบให้รัดกุม คิดให้จบ ไม่ให้เหมือนครั้งที่แล้ว ที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียน เดี๋ยวก็บอก 3 ล้านคน เดี๋ยวก็ 24 ล้านคน เดี๋ยวก็ 15 ล้านคน เงื่อนเวลาก็ขยายแล้วขยายอีก ตอนแรกบอก 5 วันหลังลงทะเบียนได้รับเงิน ตอนหลังขยายไป 7 วัน แล้วก็ขยายไปเรื่อย ๆ ทำให้การจ่ายเงินล่าช้า

“รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีคลังคนใหม่มีบทเรียนจากมาตรการที่ผ่านมาแล้ว มาตรการในรอบนี้จึงควรต้องรู้ว่าจะจัดกระบวนการเยียวยาให้รวดเร็วและทั่วถึงได้อย่างไร และรัฐบาลมีงบประมาณเหลือพอที่จะใช้เยียวยาประชาชนรอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่อนุมัติไปได้ครึ่งเดียวเท่านั้น และงบประมาณปี 2564 ที่ยังไม่เคยนำมาเกลี่ย เรามักคิดว่าเรื่องปากท้องกับการควบคุมโรคเป็นเรื่องที่ต้องแลกกัน แต่สำหรับพรรคก้าวไกล เราเชื่อว่ารัฐบาลที่ดี สามารถประคับประคองให้ทั้งสองเป้าหมายเดินไปด้วยกันได้” ณัฐชากล่าวทิ้งท้าย

โฆษก ศบค. ‘นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ’ย้ำ แอปฯ หมอชนะ ทำให้การสอบสวนโรคง่ายขึ้น เปรียบเป็นพาสปอร์ตผ่านทาง วอน เข้าใจ เห็นใจ อาจสื่อสารผิดพลาด ทำหน้าที่ที่ได้รับให้ดีที่สุด พร้อมยกคำสอน สมเด็จพระสังฆราช ยึดเหนี่ยว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตอบข้อซักถามถึงกรณีที่ ประชาชนบางส่วนยังไม่มีความมั่นใจในการใช้แอพพลิเคชั่นหมอชนะ ว่า แอพพลิเคชั่นหมอชนะเป็นเครื่องมือในการติดตามตัวเพื่อให้การสอบสวนโรคซึ่งเป็นความยากนั้นง่ายขึ้น เปรียบเหมือนเป็นพาสปอร์ตในการผ่านไปในแต่ละที่ ทำให้ภาครัฐมีความมั่นใจมากขึ้นว่าผู้ใช้งานได้แสดงตัว และเปิดเผยตัวเอง ดังนั้นหากทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าจะมีการเก็บข้อมูลเป็นความลับหรือไม่หรือเปิดเผยมากน้อยเพียงใดนั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ให้สัมภาษณ์ไว้โดยละเอียดแล้ว เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา

"ที่มีการคาดเคลื่อนในการสื่อสาร โดยเฉพาะในส่วนของโทษตามข้อกำหนดหากไม่ปฏิบัติตามคือ 1.ติดเชื้อ 2. ปกปิดข้อมูล ดังนั้นหากติดเชื้อแล้วมีแอพพลิเคชั่นหมอชนะอยู่แต่จำข้อมูลไม่ได้ก็ไม่ได้แสดงว่าปกปิดข้อมูล ก็จะไปค้นดูจากหมอชนะ พบว่ามีการลงข้อมูลในนั้นอยู่ก็ไม่ผิด แต่ถ้าติดเชื้อแล้วจงใจปกปิดข้อมูล แล้วไม่มีแอพพลิเคชั่นหมอชนะด้วย ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่มีโทรศัพท์สามารถรองรับได้ก็ถือว่าแสดงถึงการเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนควบคุมโรคเข้าข่ายฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ จึงต้องขอความเห็นใจและขอความเข้าใจตน เป็นตัวแทนศบค. จะพยายามสื่อสาร เข้มเกินไปก็ไม่ดีอ่อนเกินไปก็ไม่ได้ ใจจริงอยากเชิญ ทุกคนเข้ามาร่วมมือกันแต่เมื่อสื่อสารออกไปแล้วก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจและเจ็บปวดหัวใจเหมือนกัน ที่เห็นในโซเชียลมีเดียออกมาในเชิงทางลบจำนวนมาก แต่เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้รู้สึกดีใจมากที่เห็น ตัวเลขยอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นหมอชนะ มีคนดาวน์โหลดในวันที่ 8 มกราคมเพียงวันเดียวเพิ่มขึ้นมา 2 ล้านครั้ง จะว่าอะไรก็ไม่ว่า แต่พอเมื่อวานนี้วันเดียวเพิ่มขึ้นไป 2 ล้านกว่า ก็ลืมความเสียใจและลืมความไม่สบายใจไปเลย ขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่เข้าใจและปฏิบัติตามในความเป็นวิกฤตอย่างนี้ ผมคิดคำพูดไม่ทันเพราะบางครั้งข้อมูลเข้ามาจำนวนมากจริง ๆ ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด"

"สิ่งที่ผมอยากฝากทิ้งท้ายคือการพิจารณาตัวเองว่าในฐานะที่มาเป็นโฆษก เป็นคนที่สื่อสารกับประชาชนโดยได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ทั้งที่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม คือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข มีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ในจังหวัดอีสานใต้ หน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่โดยตรงแต่ตำแหน่งโฆษกศบค. เป็นตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นมา แต่ในกรณีที่ผม พูดพาดพิงไปถึงเรื่องภาระของประชาชนเรื่องภาษี ซึ่งเป็นการตัดต่อคำต่าง ๆ แล้วยังระบุว่าไม่ให้ผมรับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม เงินประจำตำแหน่ง ไปทำงานเอกชนอย่างไร ซึ่งผม มาทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ได้รับเบี้ยประชุมแต่อย่างใด จึงขออนุญาตชี้แจงว่าเราทำงานด้วยใจ ผมมีเงินเดือนของผมเองอยู่แล้ว ดูแลผมในระดับที่พอประมาณ หากมีเวลาว่างวันเสาร์-อาทิตย์ก็ไปหารายได้เพิ่มมาจุนเจือครอบครัว แต่ในช่วง โควิด-19 นี้ไม่ได้ไปออกตรวจข้างนอกเลย รายได้ที่ควรจะได้ก็กลับไม่ได้ด้วยซ้ำไป ขอเรียนให้ทราบ โดยไม่ได้ขอความเห็นใจใด ๆ แต่เป็นชุดข้อมูลที่จะต้องชี้แจงให้ทราบ"

"เราเองเป็นข้าราชการในเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และในหน้าที่มีความหลากหลายเหลือเกินจนบางครั้งไม่สามารถโฟกัสในสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งเดียวได้ และมาจากสายการแพทย์ สิ่งที่ต้องมาเรียนรู้ และเรียนรู้หนักที่สุดด้านกฎหมาย ความมั่นคง โรคระบาดวิทยา ซึ่งไม่ได้เป็นความรู้ทางสายงานของตัวเอง เพราะเป็นจิตแพทย์ ก็ได้พยายามทำดีที่สุด มีข้อบกพร่องแน่นอน และผมก็บอกกับตัวเองว่าจะต้องเรียนรู้ สิ่งที่กระทบมากที่สุดคือที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย โยงผมไปกับการเมือง บอกว่าผมติดในอำนาจ เรื่องการเมือง ซึ่งผมขอบอกว่าผมไม่ได้คิดที่จะไปทางนั้น อยากอยู่หน้าที่ราชการและทำให้ดีที่สุด ข้าราชการต้องปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบาย และผมจะทำให้เต็มที่เพื่อประชาชน ผมเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำงานเพื่อประชาชน ผมภูมิใจในความเป็นตัวเอง ดังนั้นตอนนี้มีข่าวคราวทั้งหลายและกระทบไปถึงส่วนตัว ครอบครัว ต้องขอความเห็นใจ"

"ตอนนี้กำลังใจในการทำงานของทุกคนจะต้องมี ผมเองพยายามสร้างให้กับตัวเอง และเชื่อว่าคนไทยทุกคนก็สร้างขึ้นมาได้เพื่อสู้กับโรค โควิด-19 ให้ได้ และใช้มาตลอด คือ พรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้เสมอ พร้อมน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระสังฆราช คนที่เกิดมามีแต่คนคอยช่วยเหลือถือว่ามีบุญ แต่คนที่เกิดมาแล้วได้ช่วยเหลือคนอื่น เป็นคนที่มีบุญมากกว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันทำพร้อมพร้อมกันเพื่อเอาชนะ โควิด-19ให้ได้”

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ‘อนุชา นาคาศัย’ เน้นย้ำให้ศบค.เป็นหน่วยงานหลักเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์โควิด-19 พร้อมเผย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เตรียมมาตรการดูแลพระสงฆ์ได้รับผลกระทบแล้ว

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงการสื่อสารของรัฐบาลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ข้อมูลอาจไม่ชัดเจน จนสร้างความสับสนให้กับประชาชน ว่า การสื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 โดยหลักแล้วจะเป็นการสื่อสารจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)ซึ่งในการประชุมทุกครั้งก็จะเน้นย้ำให้ศบค.เป็นหน่วยงานหลักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทางกรมประชาสัมพันธ์เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ แต่หากทำไปโดยเข้าใจผิด หรือเพียงแค่ประชาสัมพันธ์อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานแบบบูรณาการกันหลายหน่วยงาน

ส่วนการสื่อสารสร้างความสับสนทำให้ต้องออกมาแก้ไขความเข้าใจกันหลายครั้งนั้น นายอนุชา กล่าวว่า บางครั้งอาจจะมีอะไรผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ก็อยากให้สังคมได้พินิจพิเคราะห์ว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ และอะไรที่อยู่ในสถานะที่เราควรจะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ปัญหาในเรื่องของกระแสสังคมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม หากเราช่วยกัน กรมประชาสัมพันธ์ ก็จะพยายามให้ข้อมูลข่าวสารตรงไปตรงมา ขออย่างเป็นกังวลในเรื่องการให้ข้อมูลของกรมประชาสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามอยากขอร้องเรื่องของกระแสสังคม เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ หากเราช่วยกันประคับประคองให้กระแสไปในทิศทางที่ดี ใช้โอกาสนี้ร่วมมือกันสร้างพลังสามัคคีในการแก้ปัญหา เราก็จะไปในทิศทางที่ดีได้ และสถานการณ์ต่างๆ ก็จะบรรเทาเบาบางลง

เมื่อถามว่าจากสถานการณ์ดังกล่าวพระสงฆ์ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ได้รับบ้าง ต้องยอมรับว่า สถานการณ์โควิด-19 ช่วงแรกพระสงฆ์ได้รับผลกระทบมากกว่าช่วงนี้ เนื่องจากไม่มีการเตรียมพร้อมในมาตรการป้องกัน แต่ปัจจุบันทางสำนักงานพระพุทธศานาแห่งชาติ (พศ.) หารือถึงวิธีที่จะดูแลองค์กรสงฆ์ เพื่อให้เป็นหลักของบ้านเมืองต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่มีข่าวว่าอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มีคำสั่งให้ผู้สื่อข่าวกรมประชาสัมพันธ์ สับเปลี่ยนกันทำข่าวในพื้นที่สีแดงทุกคน คนละ 10 วัน และให้กักตัว 14 วัน หลังจากกลับจากการปฏิบัติหน้าที่ นายอนุชา กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงาน ขอกลับไปตรวจสอบก่อน และคงจะต้องสอบถามผู้บริหารว่าในเชิงความคิดหรือในเชิงประโยชน์ที่จะได้รับจากคำสั่งนี้จะมีมากน้อยแค่ไหนเพราะต้องมีการพิจารณาทุกด้าน ความเสี่ยงก็คือความเสี่ยง ความคุ้มค่าหรือความเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ก็ต้องนำมาพิจารณากัน สำหรับตนมีความเป็นห่วงและเป็นกังวลถึงทุกคนที่ต้องลงพื้นที่

กองทัพบก จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จำนวน 8 ศูนย์ ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร พร้อมมอบอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่จำเป็น จำนวน 2,000 ชุด จัดกำลังพลเฝ้าระวังพื้นที่ควบคุมและการลาดตระเวนโดยรอบตลาดกลางกุ้ง ตลอด 24 ชั่วโมง

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า การคลี่คลายสถานการณ์โควิด 19 ใน จ.สมุทรสาคร กองทัพบกได้ให้การสนับสนุนตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดในส่วนของการสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาครที่ทางจังหวัดได้เตรียมพื้นที่ไว้ จำนวน 8 ศูนย์ ได้แก่ ตลาดกลางกุ้ง(ศูนย์ 1), สนามกีฬากลาง(ศูนย์ 2), วัดโกรกกราก(ศูนย์ 3), วัฒนาแฟคตอรี่(ศูนย์ 4), เทศบาลตำบลนาดี(ศูนย์ 5), วัดสุทธิวาตวราราม(ศูนย์ 6), วัดเทพนรรัตน์(ศูนย์ 7), อบต.ท่าทราย(ศูนย์ 8) สามารถรองรับ การพักอาศัยได้ 2,092 เตียง

ปัจจุบันกองทัพบกได้สนับสนุนสิ่งอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่จำเป็นในการพักอาศัย ประกอบด้วย เตียงโครงเหล็กพร้อมที่นอน, หมอน, ปลอกหมอน, ผ้าห่ม และมุ้ง จำนวน 2,000 ชุด และได้ลำเลียงไปยัง จ.สมุทรสาครเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ 7 ม.ค. 64 พร้อมกับได้จัดสรรนำไปติดตั้งใช้งาน ณ ศูนย์ห่วงใยคนสาครที่ 1-2-3-4 เรียบร้อย

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้มีการหารือร่วมกับทางจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อปรับแผนการควบคุมพื้นที่ การจัดวางกำลังสนับสนุนศูนย์สาครทั้ง 8 แห่ง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงการตั้งจุดตรวจร่วม เพื่อคัดกรองการข้ามจังหวัดตามข้อกำหนดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ซึ่งมีความเข้มงวดมากขึ้นนั้น กองทัพบกได้กำชับให้ มทบ.16, กรมทหารสื่อสารที่ 1 ได้ปฏิบัติอย่างรัดกุมตามแนวทางของ ศบค. ครอบคลุมทั้งเรื่องการวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการ สอบถามความจำเป็นสถานที่ปลายทาง และเอกสารรับรองการเดินทาง พร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติของแต่ละจังหวัดควบคู่กันไป

สำหรับภาพรวมการปฏิบัติงานในปัจจุบัน กองทัพบกได้จัดกำลังพล จากกรมทหารสื่อสารที่ 1, มณฑลทหารบกที่ 16 และ กอ.รมน.จ.สมุทรสาคร พร้อมยุทโธปกรณ์เข้าปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ การประสานงานที่กองอำนวยการร่วม การเฝ้าระวังพื้นที่ควบคุมและการลาดตระเวนโดยรอบตลาดกลางกุ้งตลอด 24 ชั่วโมง การช่วยลงทะเบียนซักประวัติเพื่อคัดแยกบุคคลที่ตลาดกลางกุ้งเพื่อเตรียมย้ายไปพักที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 1-3 การตั้งจุดตรวจ จุดคัดกรองควบคุมการแพร่ระบาด 9 จุดตรวจ รอบพื้นที่จังหวัด

โดยในแต่ละวันมียานพาหนะผ่านจุดตรวจ 3,000-4,000 คันต่อวัน การจัดเจ้าหน้าที่และยานพาหนะเข้ารับ-ส่งผู้ป่วยจากพื้นที่ควบคุมตลาดกลางกุ้งย้ายไปพักที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 1-3 รวมทั้งการบริหารจัดการพื้นที่และรักษาความปลอดภัยศูนย์ห่วงใยคนสาคร 1-2-3 นอกจากนี้ได้เข้าเตรียมพื้นที่ในการจัดตั้งศูนย์ห่วงในคนสาครที่ 4-5-6-7-8 ทั้งด้านการทำความสะอาด การปรับปรุง การวางแผนรักษาความปลอดภัย ควบคู่ไปกับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดและการควบคุมโรค

อย่างไรก็ตามการปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุด กองทัพบกตระหนักดีว่ากำลังพลมีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ จึงได้กำหนดแนวทางพิทักษ์พล โดยนอกจากจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล การจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อมแล้ว เมื่อกลับเข้าหน่วยทหารจะมีการทำความสะอาดล้างฆ่าเชื้อหลังการปฏิบัติงานทุกครั้ง ควบคู่ไปกับการตรวจร่างกายกำลังพลที่ปฏิบัติงานตามห้วงระยะเวลา

รองนายกรัฐมนตรี ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เคาะแผนบริหารจัดการน้ำ ปีงบประมาณ 2565 บูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ว อย่างยั่งยืน เน้นให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า โปร่งใสและตรวจสอบได้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมการการบูรณาการรัฐบาลดิจิทัลจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2565

พล.อ.ประวิตร ได้พิจารณาเห็นชอบงบประมาณแผนงานการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักเกณฑ์สำคัญได้แก่ การขยายผลงานตามแนวทางศาสตร์พระราชา "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และโครงการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อด้วยงบประมาณการบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล การปรับเปลี่ยนบริการภาครัฐ เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ โควิด-19 โดยมุ่งเน้นนโยบายเร่งด่วนได้แก่ สิทธิสวัสดิการประชาชน การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน การเกษตรและทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการภาครัฐ และการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ

ต่อมาเห็นชอบ หลักเกณฑ์การพิจารณาแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (สทนช.) โดยให้ สทนช. จัดลำดับความสำคัญของโครงการ ได้แก่ โครงการพระราชดำริ โครงการตามนโยบาย และการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ เพื่อเร่งแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และให้ประชาชน มีน้ำใช้ อย่างเพียงพอ และยั่งยืน ต่อไป

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดใช้แดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สทนช. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีอีเอส) และกระทรวงต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน อย่างจริงจัง ภายใต้แผนงานหลักที่รับผิดชอบ ให้บรรลุเป้าหมาย และตัวชี้วัดยุทธศาสตร์ชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล การใช้จ่ายงบประมาณ จะต้องมีความประหยัด แต่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้

ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันที่จะขับเคลื่อนงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีความต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของประเทศชาติ

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส์ ประกาศยกเลิกเส้นทางบินเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง สมุย-ภูเก็ต (ไป-กลับ) และเส้นทาง ภูเก็ต-หาดใหญ่ (ไป-กลับ) ตั้งแต่วันที่ 10-31 มกราคม 2564

รายงานข่าวจากสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ แจ้งว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และประกาศของ ศบค. ในการขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด

ทาง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินเป็นการชั่วคราวเพิ่มเติม 2 เส้นทางบิน ได้แก่ เส้นทาง สมุย-ภูเก็ต (ไป-กลับ) และเส้นทาง ภูเก็ต-หาดใหญ่ (ไป-กลับ) ตั้งแต่วันที่ 10-31 มกราคม 2564

และจะปิดให้บริการสำนักงานออกบัตรโดยสาร สำนักงานใหญ่ (ถนนวิภาวดีรังสิต) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 11-31 มกราคม 2564 ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถติดต่อบริษัทฯ ได้ตามช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

คอลเซ็นเตอร์ โทร 1771 และโทร 02-270-6699 (ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 20.00 น.), อีเมล [email protected]

และ PG Live Chat https://bit.ly/PGLiveChatTH

สำหรับ ผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารในเที่ยวบินที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบินดังกล่าว สามารถติดต่อสายการบินฯเพื่อเปลี่ยนแปลงการเดินทางได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงบัตรโดยสาร สำหรับผู้โดยสารที่ออกบัตรโดยสารผ่านทางตัวแทนจำหน่าย ให้ติดต่อที่ตัวแทนจำหน่าย

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ เหน็บฝ่ายค้านขอเวลาซักฟอกรัฐบาล 7 วัน อย่าให้น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ชี้ต้องมีข้อมูลใหม่ ให้ประชาชนเชื่อถือ อย่าใช้แต่สำนวนโวหารแค่สาแก่ใจ เวลาเปล่าประโยชน์

นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้าน เตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยจะขอเวลาอภิปราย 7 วันว่า ตนเห็นว่าถ้าฝ่ายค้านมีข้อมูลใหม่และทำให้ประชาชนเชื่อถือได้ว่า รัฐบาลมีพฤติกรรมทุจริตและบริหารประเทศไม่เป็นที่พอใจของประชาชน ก็ถือว่าเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า เพราะสามารถกระตุกสามัญสำนึกของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ก่อนที่จะลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย จนทำให้ ส.ส. ของพรรค ต้องมีการถกเถียงกันก่อนการลงมติ

แต่ถ้าฝ่ายค้านมีเวลาตามที่ขอ แต่กลับไม่แสดงหลักฐานเพื่อชักจูงได้ว่า รัฐบาลมีพฤติกรรมอย่างไร จึงไม่สามารถไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อ หรือเอาแต่สำนวนโวหารหรือขอแค่ได้กระทบกระเทียบก็สาแก่ใจแล้วนั้น ตนถือว่า นอกจากไม่ใช่วิถีทางทางการเมืองที่ประชาชนอยากจะเห็นแล้ว ยังเป็นการทำลายเวลาให้เปล่าประโยชน์ ท่ามกลางสถานการณ์ที่จำเป็นจะต้องใช้เวลาอย่างมากในการแก้ปัญหาด้วย

“ที่ผ่านมา ผมเห็นความเห็นในโลกออนไลน์ว่า ฝ่ายค้านในยุคนี้ ทำหน้าที่ไม่สมกับผู้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แต่กลับ หมกหมุ่นในการแย่งชิงอำนาจ หรือปล่อยข่าวและข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง สร้างความสับสนและเอือมระอาให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่ฝ่ายค้าน จะขอโอกาสในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องขอเวลาให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะเข้าทำนองสุภาษิตว่า น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรงเป็นแน่” นายชัยชนะกล่าว

‘สมคิด จิรานันตรัตน์’ หนึ่งในทีมดูแลระบบการลงทะเบียน โครงการรัฐบาล อาทิ เราไม่ทิ้งกัน และคนละครึ่ง โพสต์ฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Chao Jiranuntarat’ แจงข้อดี-ข้อเสีย - ประโยชน์ แอป ‘หมอชนะ’ ชี้ไม่ควรติเรือทั้งโกลน หวั่นคนอาสาอยากช่วย หมดกำลังใจ

สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในทีมดูแลระบบการลงทะเบียนให้กับโครงการของรัฐบาลหลายโครงการ เช่น เราไม่ทิ้งกัน, วอลเล็ต สบม. รวมทั้งโครงการคนละครึ่ง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Chao Jiranuntarat’ ถึงกรณีกระแสดราม่าโหลดแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ โดยระบุว่า

วันนี้หลายๆคนคงอยากรู้ว่าควร load app หมอชนะหรือไม่

App หมอชนะคือความร่วมมือของคนไทยเก่ง ๆ หลายคนที่มาช่วยกันพัฒนาด้วยจิตอาสา เพื่อช่วยควบคุมไม่ให้มีการแพร่เชื้อในวงกว้าง เทคนิคและเทคโนโลยีที่ใช้ก็เทียบเท่ากับ แอปติดตามตัวของประเทศอื่น ๆ ที่ใช้กันอยู่ และแอปหมอชนะก็ระมัดระวังเรื่องการเก็บข้อมูลส่วนตัวเป็นอย่างสูง ทั้งที่เก็บ วิธีการเก็บ และกระบวนการควบคุมการเข้าถึง แอปหมอชนะช่วยในการเตือนเมื่อเข้าเขตที่มีคนมีความเสี่ยง และช่วยในการแสดงตัวว่าตนเองมีความเสี่ยงแค่ไหน แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่า เทคโนโลยีก็ไม่ใช่ยาวิเศษ จะมีข้อดีต่อเมื่อเราใช้เป็น แอปหมอชนะก็เช่นกัน จะมีข้อดีเมื่อมีคนใช้เยอะ หากคนใช้ไม่มาก จุดแข็งก็จะเป็นจุดอ่อนได้

แอปหมอชนะมีจุดอ่อนตรงไหน

Version ก่อนหน้านี้ มีประเด็นเรื่องการกินแบตค่อนข้างมากและใช้เก็บข้อมูลมากในเครื่องของเรา แต่ประเด็นนี้ทราบมาว่าได้มีการแก้ไขแล้วใน version ล่าสุด จุดอ่อนอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องข้อจำกัด ของเทคโนโลยี gps และ bluetooth แต่ข้อจำกัดเหล่านี้จะน้อยลงหากใช้ควบคู่กับการสแกน คิวอาร์ไทยชนะ ซึ่งแอปหมอชนะก็ใช้ในการสแกนไทยชนะได้ด้วย

ควรเลิกไทยชนะมั้ย

ไทยชนะเป็นแพลตฟอร์ม ที่ช่วยในการควบคุมความหนาแน่นของสถานที่ และดูด้วยว่าเราอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงเพราะเป็นที่เดียวกับผู้ติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันการสแกนไทยชนะมีทางเลือกมากมาย ใช้กล้องสแกนโดยไม่ต้องมีแอปใด ๆ เลยก็ได้ ใช้แอปไทยชนะก็ได้ ใช้แอปหมอชนะก็ได้ จนถึงปัจจุบันมีคนไทยที่เคยสแกนไทยชนะแล้วกว่า 47 ล้านคน ไม่ซ้ำกัน และมีการเช็คอินไทยชนะในช่วงนี้กว่า 1 ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งไม่ว่าจะสแกนด้วยวิธีใด ข้อมูลเบอร์โทรจะถูกแปลงเป็นรหัสอื่นอีกชั้นหนึ่งเพื่อเก็บในฐานข้อมูลที่กรมควบคุมโรคเป็นเจ้าของสิทธิ์ในการใช้ หากมีคนติดเชื้อ สามารถควานหาได้ว่าในช่วงเวลาเดียวกัน เราอยู่ในสถานที่เดียวกันกับผู้ติดเชื้อหรือไม่ เพื่อการแจ้งเตือนต่อไป

สรุปแล้วแพลตฟอร์มไทยชนะก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ ส่วนจะใช้วิธีไหนสแกนก็แล้วแต่ผู้ใช้ แต่ข้อดีของการใช้แอปไทยชนะ หรือแอปหมอชนะสแกนคือแอปจะช่วยตรวจสอบความถูกต้องของคิวอาร์ให้ด้วย

ข้อสรุป

เรามีคนไทยเก่ง ๆ เยอะ ที่มีความตั้งใจและหวังดีในการสร้างของดี ๆ ขึ้นมา เราให้ความเห็นได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่ไม่ควรติเรือทั้งโกลน เพื่อความมันหรือเพื่อการทำลายล้าง ซึ่งจริง ๆ ก็น่าสงสารคนที่มีความประสงค์เช่นนั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top