'ศ.นพ.นิธิ' ชี้ ต้องจับตา Omicron อย่างใกล้ชิด อย่าตระหนกเกินเหตุ ย้ำ!! ต้องสวมหน้ากาก - ล้างมือ - เว้นระยะห่าง

เรียกได้ว่ากลายเป็นข่าวระทึกโลกส่งท้ายปี 2021 กันเลยก็ว่าได้ สำหรับข่าวการค้นพบโควิด-19 สายพันธุ์ ‘Omicron (B.1.1.529)’ ซึ่งพบในแอฟริกาใต้ และขยายวงพบเจอในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร, เบลเยียม, เยอรมนี, อิตาลี, สาธารณรัฐเช็ก, ออสเตรเลีย, ฮ่องกง, เนเธอร์แลนด์, แคนาดา และล่าสุดกับสิงคโปร์ 

ปัจจุบันมีข้อมูลเพียงว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนนี้มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของความรุนแรงของโรค ยังอยู่ระหว่างการศึกษา 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และอธิการบดีวิทยาลัย วิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (ววจ.) ได้เผยถึงความเข้าใจต่อโควิดสายพันธุ์ Omicron กับ THE STATES TIMES ผ่านรายการ Click on Clear THE TOPIC EP.96 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 64 ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์ของวัคซีนที่ยังฉีดกันไม่ทั่วถึงทั้งโลก ก็จะยังคงมีการกลายพันธุ์ให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งโควิดเองก็มีการกลายพันธุ์ซ้ำหลายหน เช่นเดียวกันกับสายพันธุ์ล่าสุดอย่าง Omicron ที่ในความเป็นจริงอาจจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เราเพิ่งจะรู้จักมันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากมองสายพันธุ์ Omicron ที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้ ก็ไม่ได้ระบาดทั่วทั้งโลก และเท่าที่ทราบ คือ ต้นตออย่าง ‘แอฟริกาใต้’ ผู้คนที่ติดเชื้อก็ยังมีอาการไม่หนักมากนัก ฉะนั้นอย่าพึ่งตื่นตระหนก!! เพียงแต่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งตอนนี้หลายๆ ประเทศก็มีการเฝ้าระวังดูแลอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกันกับในประเทศไทย 

ทั้งนี้ เริ่มมีคำถามว่า วัคซีนและยาจะยังมีประโยชน์หรือไม่? เพราะหลายคนกังวลว่าจะรับมือ Omicron ไม่ได้ดีเท่ากับไวรัสรุ่นแรก ๆ แต่อยากให้เชื่อมั่นว่าวัคซีนที่มีอยู่ในตลาดยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยหนักได้ดีอยู่ ขณะเดียวกันไวรัสส่วนใหญ่ มักจะอ่อนแอลงไปตามธรรมชาติ และวัคซีนมี่ผลิตออกมาก็ทำได้เพียงวิ่งตามการกลายพันธุ์ของไวรัส ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกัน

ศ.นพ.นิธิ เผยอีกว่า ตอนนี้สิ่งที่คนไทยต้องตระหนัก คือ วัคซีนประจำตัว ได้แก่...
1.) การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ช่วยให้ไม่แพร่เชื้อจากเราไปให้คนอื่นด้วยนอกจากที่จะรับเชื้อมา
2.) การอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท และการรักษาระยะห่าง ควรมีความเคร่งครัดมากขึ้น และมีสติมากขึ้น
3.) ใครที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือถึงเวลาได้รับเข็มกระตุ้นแล้ว ก็ควรเร่งเข้ารับวัคซีน

ในส่วนของนโยบายทางภาครัฐ ศ.นพ.นิธิ มองว่า รัฐควรจำกัดการเดินทางจากท้องถิ่น หรือประเทศที่ได้รับการรายงานแล้วว่ามีเชื้อเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะกักตัวหรือจำกัดการเดินทางก็ได้ และควรจะทำอย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัย เพราะในขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวสังคมเริ่มจะกลับมา อย่าประมาท ยอมอดทนรอคอยอีกสัก 1-2 อาทิตย์ แล้วค่อยปลดล็อกกันอีกที

ด้านการตรวจเชื้อจากนักท่องเที่ยวนั้น วิธีการตรวจแบบเดิม เช่น ATK ศ.นพ.นิธิ ก็มองว่าควรเปลี่ยนเป็น RT-PCR เพราะบางทีการตรวจแบบ ATK ไม่สามารถจดจำเชื้อไวรัสแบบใหม่ได้เนื่องจากมีการกลายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม หากพูดสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยปัจจุบัน ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ประเทศไทยควบคุมได้ดีขึ้น ทางการแพทย์ไม่ค่อยมีความกดดันมากเท่าไรแล้ว แม้ว่าจะมียอดติดเชื้อสูงแต่อาการไม่รุนแรง จะมีก็เพียงเรื่องที่ต้องรีบปรับปรุง คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง โดยเฉพาะการทำให้กลุ่มที่ยังไม่อยากฉีดเชื่อมั่นในวัคซีน รวมถึงกลุ่มที่ต้องได้รับเข็มกระตุ้นเพื่อเสริมภูมิ เพราะสุดท้ายแล้วประเทศใดประเทศหนึ่งจะไม่สามารถเอาตัวรอดไปได้ ถ้าทุกคนยังไม่ปลอดภัยจากโรคนี้

ศ.นพ.นิธิ ย้ำอีกว่า Omicron ถือเป็นเชื้อที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่อย่ากังวลมากจนเกินเหตุ แม้วัคซีนจะไม่ครอบคลุมการป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์กับเชื้อกลายพันธุ์ แต่ก็ยังสามารถครอบคลุมได้ ขณะที่ประชาชนอย่างเรา ๆ ก็ต้องไม่ลืมใส่หน้ากาก, รักษาระยะห่าง ปฏิบัติตนในแบบที่เฝ้าระวังไว้จะดีที่สุด ส่วนทางรัฐบาลเองก็ควรต้องมีมาตรการรับมือ เพื่อความอุ่นใจของประชาชนชาวไทยต่อไป

สำหรับอาการจาก Omicron ซึ่งเป็นข้อมูลรายงานเพียงไม่กี่คนนั้น ส่วนใหญ่จะมีอาการเริ่มต้นที่ไม่ได้กลิ่น หรืออาการที่คุ้นเคยเกี่ยวกับโควิดก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่อย่างไรทุกภาคส่วนก็อย่าประมาทกันเป็นดีที่สุด