Saturday, 27 April 2024
NEWS

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (31 ธันวาคม พ.ศ.2563)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 194 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 6,884 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 61 ราย รักษาหายเพิ่ม 28 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,240 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,583 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 194 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ตุรกี 2 ราย,ฮ่องกง 1 ราย,แคนาดา 1 ราย,สหราชอาณาจักร 1 ราย,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย,มาเลเซีย 1 ราย,อินโดนีเซีย 1 ราย,เกาหลีใต้ 1 ราย,ญี่ปุ่น 1 ราย,คูเวต 1 ราย,รัสเซีย 1 ราย โดยเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้

ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ไม่เข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ สัญชาติเมียนมา 1 ราย มาจาก เมียนมา 1 ราย
รักษาตัวที่เมียนมา

ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 172 ราย

ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุกในชุมชน) 9 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 157ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 366 ราย รักษาหายแล้ว 361 ราย  ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 7.35 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.04 แสน เสียชีวิต 21,944 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.1 แสน ราย รักษาหายแล้ว 87,460 ราย เสียชีวิต 463 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.24 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.06 ราย เสียชีวิต 2,664 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.73 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.4 แสน ราย เสียชีวิต 9,230 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,569 ราย รักษาหายแล้ว 58,411 ราย เสียชีวิต 29 ราย
ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,456 ราย รักษาหายแล้ว1,323 ราย เสียชีวิต 35 ราย

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยแนวโน้มตลาดสุกรปี 64 สดใส คาดความต้องการบริโภคเพิ่มทั้งในไทยและภูมิภาค ขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้นในภูมิภาคเอเชีย ที่ยังปลอดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมู

นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมสุกรในปี 64 ภาพรวมยังคงสดใส แม้จะมีความท้ายทายจากวิกฤติโควิด-19 และสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ที่ยังพบการระบาดในประเทศรอบ ๆ ไทย แต่มองว่ายังมีความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชีย

ขณะที่ปริมาณการผลิตน่าจะใกล้เคียงกับปีนี้ จากภาวะโรค ASF และโรคเพิร์ส (PRRS) ที่ยังต้องเฝ้าระวัง และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงลดความเสี่ยง สอดคล้องกับการผลิตสุกรทั่วโลกที่ลดลงจากปัจจัยดังกล่าว และเชื่อว่าสุกรจะยังคงเป็นสินค้าปศุสัตว์เดียวที่เหลืออยู่ ที่จะสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้ในวิกฤติโควิด-19 เช่นนี้

สำหรับปี 63 เป็นปีที่อุตสาหกรรมสุกรทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรค ASF ในสุกร แต่ไทยนับเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่คงสถานะปลอดโรค ASF จนถึงปัจจุบัน ช่วยตอกย้ำถึงมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยทางอาหารของสุกรไทยได้เป็นอย่างดี

มีผลผลิตสุกรมากกว่า 22 ล้านตัว พิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่การผลิตอยู่ที่ 20.43 ล้านตัว ปริมาณการผลิตขยายตัวตามจำนวนประชากร ประกอบกับราคาสุกรมีชีวิตจูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต หลังจากที่ช่วงกลางปี 2562 ราคาสุกรตกต่ำเป็นอย่างมากจากปัญหา Over supply และมีปัจจัยเสริมจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับ ASF ทำให้เกษตรกรทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ต่างระมัดระวังในการเข้าเลี้ยงสุกรมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปีก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ การผลิตสุกรของไทย ยังคงเป็นการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศเป็นหลักประมาณ 97% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทยอยู่ที่ปริมาณ 1.49 ล้านตันในปี 63 เพิ่มขึ้น 0.68% จากปี 62 โดยการผลิตสุกรยังคงเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ ไม่เคยมีปัญหาขาดแคลน

สำหรับการส่งออกมีการขยายตัวจากความต้องการสุกรของประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย โดยเฉพาะ จีน เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ที่ประสบปัญหา ASF ทำให้ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ และราคาสุกรมีชีวิตเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวจากภาวะปกติ ตามกลไกตลาด จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย

เนื่องจากไทยมีระบบฟาร์มมาตรฐานที่แข็งแกร่งทั้งฟาร์มเชิงพาณิชย์ ที่เลี้ยงภายใต้มาตรฐาน GAP และมาตรฐาน GFM ในฟาร์มขนาดเล็ก ที่กรมปศุสัตว์ผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองมาตรฐานมุ่งเน้นการปกป้องฟาร์มและฝูงสัตว์ ด้วยจัดการฟาร์มให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity System) ที่เข้มงวด

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประเมินส่งออกไทยปี 64 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดโต 4% หลังสัญญาณเศรษฐกิจ การค้าโลกดี แต่ยังต้องจับตาการล็อกดาวน์ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และบาทแข็ง

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า

กรมฯ ได้ประเมินทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2564 ว่าจะกลับมาขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัว 4% ซึ่งสอดคล้องกับหลายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะมีอัตราการขยายตัวที่ 5.2% จากติดลบที่ 4.4%

ในปี 2563 โดยประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่ม Emerging Markets ในเอเชีย (จีน อินเดีย และอาเซียน 5 ประเทศ) จะมีการฟื้นตัวเร็วที่สุดเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ และองค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าการค้าโลกในปี 2564 จะสามารถกลับมาขยายตัวที่ 7.2% ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวขึ้นได้

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ การคิดค้นและริเริ่มการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์แพร่ระบาดและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้ภาคอุปสงค์มีแนวโน้มขยายตัว , มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงเริ่มมีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การส่งออกยังได้รับผลดีจากทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ (นายโจ ไบเดน) มีนโยบายเน้นการยึดถือกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศภายใต้กรอบ WTO มากขึ้น และความสำเร็จของการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของการค้าในภูมิภาคอาเซียน และนอกภูมิภาคอาเซียน อีก 5 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) โดยจะช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนและไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในปีหน้า

นอกจากนี้ สินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สินค้าสุขอนามัย และสินค้าเพื่อความบันเทิงในที่พักและการทำงานที่บ้าน (work from home) ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากมีการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมถึงบริการดิจิทัลคอนเทนต์และบริการสุขภาพ ขณะที่ระบบโลจิสติกส์ ไม่มีการหยุดชะงัก และคู่ค้ามีความมั่นใจในสินค้าไทยที่ปลอดเชื้อจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องระวัง คือ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า ซึ่งเรื่องนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประชุมร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้แล้ว ทั้งการเร่งนำเข้าตู้เปล่า ซ่อมตู้เก่า ส่งออกโดยไม่ใช้ตู้ สนับสนุน SMEs รวมตัวจองตู้ และหาทางให้เรือ 400 เมตรเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้ รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่า ที่จะกระทบต่อการแข่งขัน ความไม่แน่นอนของโควิด-19 ที่จะทำให้มีการล็อกดาวน์ในบางประเทศ และการกีดกันทางการค้าที่จะมีมากขึ้น เช่น มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม

ครม.อนุมัติปรับปรุงเงื่อนไขโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน พร้อมขยายไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ครบ 1 สิทธิ์ 1 ปี ต่อ 1 คน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติปรับปรุงเงื่อนไขโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยปรับคุณสมบัติผู้จบการศึกษาใหม่ คือ เป็นผู้มีสัญชาติไทย มีอายุไม่เกิน 25 ปี หากอายุเกิน 25 ปี ต้องจบการศึกษาปี 2562 เป็นต้นไป

ส่วนเงื่อนไขสำหรับนายจ้าง ปรับใหม่เป็น ให้เป็นไปตามข้อตกลงการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนเงินเดือน ไม่เกิน 50% ต่อคนต่อเดือน

โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนเป็นไปตามวุฒิการศึกษา ได้แก่ ปริญญาตรี ไม่เกิน 7,500 บาท ปวส. ไม่เกิน 5,750 บาท ปวช. ไม่เกิน 4,700 และ ม.6 ไม่เกิน 4,345 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ คือ ค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา ได้แก่ ปริญญาตรี ไม่เกิน 15,000 บาท ปวส. ไม่เกิน 11,500 บาท ปวช. ไม่เกิน 9,400 และ ม.6 ไม่เกิน 8,690 บาท

ทั้งนี้เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ลูกจ้าง ปรับใหม่เป็น ‘รัฐจ่ายเงินอุดหนุน 3 ครั้งต่อเดือน’ จากเดิมที่กำหนดให้ นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1 ครั้ง (ภายในสิ้นเดือน) เพื่อให้สอดคล้องกับรอบการจ่ายเงินค่าจ้างของนายจ้าง ดังนี้

1.) นายจ้างจ่ายค่าจ้างภายในสิ้นเดือน รัฐจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

2.) นายจ้างจ่ายค่าจ้างหลังสิ้นเดือน (ภายในวันที่ 1-5 ของเดือนถัดไป) รัฐจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป

และ 3.) นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามข้อ 1 และ ข้อ 2 แต่การจัดทำเอกสารในระบบไม่สมบูรณ์ รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ขยายระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการ จากเดิม คือ ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน (ปีงบประมาณ 2564 เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564) ขยายไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ครบ 1 สิทธิ์ 1 ปี ต่อ 1 คน ระยะเวลาการจ้างงานครบ 12 เดือน แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2564

นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ชลบุรี ให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่-ประชาชนสู้โควิด-19 ลั่นจะแก้ปัญหาบ่อน-ซ่อง ให้ได้ ขอสามัคคีกันเพื่อผ่านพ้นสถานการณ์ ยืนยัน ยังไม่ล็อคดาวน์ประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และคณะลงพื้นที่ตรวจสถานกักกันโรค และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กับประชาชน ที่โรงแรมแกรนด์ เบลลา แหลมบาลีฮาย จ.ชลบุรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน หน้ากากอย่าถอด ใส่ให้ถูกวิธี ตนเองทำอะไรก็ต้องระวัง เพราะมีคนเตือนมาว่านายกฯป่วยไม่ได้ จึงต้องระวัง ปัญหาต่าง ๆ ต้องแก้ให้ได้ด้วยมือคนไทยทุกคน ถ้ารักกัน สามัคคีกัน แก้ได้ทุกปัญหา

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลติดตามสถานการณ์ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง น่าเสียใจที่ช่วงปีใหม่มาเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ส่วนมาตรการต่าง ๆ คงต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจ และสถานการณ์ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้จากข้อมูลทางด้านสาธารณสุขพบว่าติดกันง่ายขึ้น จึงต้องใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ สิ่งนี้จะช่วยเราได้มากขึ้น ใครไปพื้นที่เสี่ยงกลับมาบ้านก็ต้องดูแลตัวเอง อย่าให้ติดที่บ้าน เราปลอดภัย ครอบครัวปลอดภัย เพื่อนบ้านปลอดภัย

และไม่ใช่เฉพาะเรื่องโควิด-19 ทั้งเรื่องบ่อน เรื่องซ่อง ตนรับรู้ทั้งหมด ที่ผ่านมาเราก็ทำอยู่ เพียงแต่ว่าบางเวลาบางสถานการณ์ก็เกิดปัญหาขึ้น จึงต้องหาทางแก้ให้ได้ ยืนยันว่าจะต้องรื้อทุกปัญหา เพราะรัฐบาลต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการบริหารราชการ และทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาการทุจริต ตนยินดีรับข้อมูล ใครมีข้อมูลสามารถส่งมา เขียนจดหมายมาถึงตนที่ทำเนียบรัฐบาลได้เลย จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเองยืนยันจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดร่วมกับเจ้าหน้าที่ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ประชาชน ประชาสังคม ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาโควิด-19 เราต้องช่วยกันอุดรูรั่วทุกรูด้วยความรักสามัคคีกัน ถ้าเรามัวแต่ต่อต้านการทำงานมันจะทำงานไม่เสร็จ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน ปีหน้าจะมีวันหยุดชดเชยให้

พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า ตนติดตามการรายงานมาตลอด วันนี้เมื่อมีการคัดกรองมากขึ้นก็เจอมากขึ้น ที่สำคัญคือควบคุมได้หรือไม่ แต่ที่ตนเป็นห่วงคือ คนที่ไม่แสดงอาการ แต่ทุกคนรู้ว่าตัวเองเสี่ยงหรือไม่ ไปสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดหรือไม่ ต้องรู้ด้วยตัวเอง เป็นห่วงตัวเอง เป็นห่วงครอบครัว เป็นห่วงชุมชน สังคม วันนี้เราต้องรักกันให้มาก สร้างจิตสำนึกที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ทุกเรื่องจะแก้ปัญหาได้ ถ้ายังแตกแขนง คิดกันไปกันมา ใส่ร้ายป้ายสีกัน แก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตนหรือใครก็แก้ไม่ได้ ถ้าทะเลาะกันเสียก่อนจะแก้ได้หรือไม่

ทั้งนี้ ในส่วนว่า จะมีการประกาศล็อคดาวน์ประเทศหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่ถึงจุดนั้น วันนี้จังหวัดเขาประเมินอยู่แล้ว ให้เขารับผิดชอบไป ถ้าประชาชนรู้จักการควบคุมตัวเอง รู้จักกักตัวเอง ถ้าคนที่สงสัยว่าติดเชื้อก็ไปตรวจสอบ แบบนี้จะเบาไปเยอะ สื่อก็ต้องระวังเพราะเจอคนเยอะ จะเป็นอะไรไปไม่ได้ เพราะเป็นปากเสียงให้ตนด้วย ถ้าเราพูดคนละทางไปไม่ได้หมด อย่าขัดแย้งกัน

รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – ลอนดอนแถลงวันนี้ (30 ธ.ค) ว่า วัคซีนแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ดได้รับการอนุมัติให้ สร้างความเชื่อมั่นกับสาธารณะด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย เตรียมใช้วัคซีนแอสตาเซเนกาคุ้มกันประชาชนวันที่ 4 ม.ค นี้

รอยเตอร์รายงานว่า อังกฤษกลายเป็นชาติแรกของโลกอนุมัติวัคซีนแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ด โดยกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า รัฐบาลอังกฤษได้ยอมรับคำแนะนำจากสำนักงานกำกับผลิตภัณฑ์ยาและการดูแลสุขภาพอังกฤษ MHRA (Medicines and Healthcare products Regulatory Agency) ให้อนุมัติวัคซีนโควิด-19ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด/แอสตราเซเนกาในการใช้งาน

ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ แมท แฮนด์ค็อก (Matt Hancock) กล่าวว่า การอนุมัติวัคซีนแอสตราเซเนกาของรัฐบาลลอนดอน จะนำไปสู่การนำอังกฤษออกจากวิกฤตโรคระบาดได้ทันภายในฤดูใบไม้ผลิที่จะถึง ซึ่งจะทำให้ประชาชนจำนวนหลายล้านคนที่อยู่ในความเสี่ยงได้รับการปกป้อง

เขายังกล่าวอีกว่า มีคำแนะนำให้การแจกวัคซีนโดสแรกและโดสที่ 2ห่างกัน 12 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยได้มาก เพราะมันจะทำให้มีคนเพิ่มมากขึ้นได้รับภูมิคุ้มกันจากเข็มแรกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันระดับสูงในตัวของมันเอง

เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า ทางรัฐบาลอังกฤษมีกำหนดที่จะเริ่มแจกวัคซีนแอสตราเซเนกาให้กับสาธารณะในวันที่ 4 ม.ค 2021โดย แฮนด์ค็อก กล่าวผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในการสิ้นสุดปี 2020 ด้วยช่วงเวลาแห่งความหวังเช่นนี้”

ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ได้กล่าวผ่านแถลงการณ์ถึงการอนุมัติวัคซีนโควิด-19ตัวที่ 2 อีกว่า “หลังจากผ่านการทดสอบด้านคลินิกวิทยาอย่างเคร่งขัดและการวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญประจำ MHRA ซึ่งสรุปว่า วัคซีนผ่านมาตรฐานที่เข้มงวดด้านความปลอดภัย คุณภาพ และความมีประสิทธิภาพ”

ด้าน ปาสคาล โซเรียต (Pascal Soriot) ประธานบริษัทแอสตราเซเนกา ได้ออกมาสร้างความมั่นใจต่อประชาคมโลกด้วยว่า “วัคซีนของเขาสามารถให้ภูมิคุ้มกัน 100% ต่อโรคโควิด-19 ร้ายแรงที่ต้องการรักษาพยาบาล” พร้อมทั้งคาดการณ์ถึงการทดสอบจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทของเขาประสบความสำเร็จในการได้ประสิทธิภาพวัคซีนเทียบเท่าของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคที่ 95% และของไบโอนาที่ 94.5%

อย่างไรก็ตามในผลการทดสอบก่อนหน้าที่ทางแอสตราเซเนกาได้เปิดเผยต่อสาธารณะแสดงผลประสิทธิภาพวัคซีนที่แตกต่างกัน โดยผลประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 70% แต่ทว่าประสิทธิภาพสามารถเพิ่มไปที่ 90% ขึ้นอยู่กับขนาดโดสที่ใช้ และก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยก็ได้มีมติอนุมัติงบกว่า 6 พันล้านบาท สั่งจองซื้อวัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซเนกา จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งสามารถครอบคลุมการรักษาคนไทยร้อยละ 20 ของประชากรหรือ 13 ล้านคน

สำหรับบริษัทแอสตาเซเนกาได้ทำการทดสอบกับมนุษย์ซึ่งเป็นอาสาสมัครจำนวนมากใน ‘อังกฤษ’ และ ‘บราซิล’ พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 62% สำหรับกลุ่มผู้ที่ได้รับ 2 โดส ขณะที่อาสาสมัครผู้ได้รับครึ่งโดสในครั้งแรกและอีก 1 โดสเต็มอีก 1 เดือนหลังจากนั้นพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเพิ่มมาถึง 90%

รอยเตอร์รายงานว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน แสดงความยินดีเป็นอย่างมากต่อการที่วัคซีนแอสตราเซเนกาได้รับการอนุมัติให้ใช้นั้นถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของวิทยาศาสตร์อังกฤษ

“มันเป็นข่าวดีอย่างแท้จริง และชัยชนะต่อวิทยาศาสตร์อังกฤษที่@วัคซีนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกาได้รับการอนุมัติให้ใช้” รายงานจากทวิตเตอร์ของจอห์นสัน

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (30 ธันวาคม พ.ศ. 2563)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 250 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 6,690 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 61 ราย รักษาหายเพิ่ม 28 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,212 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,417 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 250 ราย เป็น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากสหรัฐอเมริกา 3 ราย ,เคนย่า 2 ราย,คูเวต 1 ราย,รัสเซีย 1 ราย,ออสเตรเลีย 1 ราย

ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ไม่เข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ สัญชาติเมียนมา 1 ราย

ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 239 ราย

ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุกในชุมชน) 2 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 152 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 364 ราย รักษาหายแล้ว 361 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 7.27 แสน ราย รักษาหายแล้ว 5.97 แสน เสียชีวิต 21,703 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.09 แสน ราย รักษาหายแล้ว 86,715 ราย เสียชีวิต 457 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.23 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.05 แสน ราย เสียชีวิต 2,637 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.72 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.39 แสน ราย เสียชีวิต 9,162 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,542 ราย รักษาหายแล้ว 58,400 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,454 ราย รักษาหายแล้ว1,319 ราย เสียชีวิต 35 ราย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบายผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ สาธารณสุขทำงานยาก หลังพบบางคนปกปิดข้อมูล วอนประชาชนร่วมมือภาครัฐ สกัดโควิด-19 ระบาด หากไม่อยากถูกเปิดไทม์ไลน์ส่วนตัว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก "อนุทิน ชาญวีรกูล" หลังร่วมประชุมกับผู้บริหารศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ระบุว่า ทุกคนหนักใจกับจำนวนผู้ติดเชื้อจากสถานที่ผิดกฎหมาย และสถานที่แออัด ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

สาธารณสุขทำงานยากมากเพราะคนเหล่านี้ปกปิดข้อมูล และไม่พูดความจริง กว่าจะสอบสวนโรคได้ การแพร่เชื้อก็ไปถึงผู้อื่นอีกหลายทอดแล้ว

เมื่อวานนี้ ระยอง ล็อกดาวน์ไปแล้ว ความสูญเสียทางธุรกิจ ผลกระทบเกิดขึ้นกับประชาชนส่วนใหญ่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่อยากให้จังหวัดของท่าน ต้องถูกล็อกดาวน์ จนประชาชน คนทำมาค้าขายสุจริต เดือดร้อนกันทั้งหมด ต้องช่วยกันเฝ้าระวังชุมชนของท่าน และช่วยกันให้ข้อมูลกับทีมสาธารณสุข เพื่อป้องกันการระบาด และเข้าควบคุมโรค ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยของท่านและครอบครัว

สำหรับท่านที่ไม่อยากถูกเปิดไทม์ไลน์ เรื่องราวส่วนตัว ก็ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค ตามนี้ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ


ที่มา : https://www.facebook.com/2091153520919518/posts/4000178336683684/

ส.ส.พรรคก้าวไกล ‘วรภพ วิริยะโรจน์’ ระบุรัฐบางควรตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น พร้อมโยกงบจัดซื้อวัคซีนให้คนไทยครบทั้ง 69 ล้านคนแทน หลังพบงบที่จัดสรรซื้อวัคซีนช่วยคนไทยได้แค่ 13 ล้านคนเท่านั้น

นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า แผนการด้านวัคซีนโควิด 19 ที่รัฐบาลจัดงบประมาณเพื่อสั่งซื้อขณะนี้ พบว่ามีเพียงพอสำหรับ 13 ล้านคนเท่านั้น ถ้ารัฐบาลตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกจะสามารถทำให้ประเทศไทยจะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับทุกคน

ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถตัดงบประมาณเหล่านี้ จะทำให้ไทยมีงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนได้เพียงพอสำหรับทุกคน ได้แก่ โครงการรถไฟเชื่อมต่อสามสนามบิน ประมาณ 119,000 ล้านบาท , เรือดำน้ำสองลำประมาณ 22,000 ล้านบาท ,รถยานเกราะสไตรค์เกอร์ 130 คัน 9,100 ล้านบาท ,งบยานอวกาศไปดวงจันทร์ 3,000 ล้านบาท, เงินเดือน ส.ว. 681 ล้านบาท ,งบซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 2563 ประมาณ 381 ล้านบาท และสุดท้ายคืองบประมาณเพื่อสู้คดีเหมืองทองอัครา 309 ล้านบาท

"ประเทศไทยจองวัคซีนโควิค-19 จากบริษัทแอสตราเซนเนกา (AstraZeneca) จำนวน 60 ล้านโดส วงเงิน 6,049,723,117 บาท คลอบคลุมคนไทยร้อยละ 18.57 ของประชากร หรือ 13 ล้านคน โดยใช้อัตรา 2 โดส ต่อ 1 คน

ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อคนทั้งประเทศ และยังไม่รู้ว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่ โดยวัคซีนของบริษัทแอสตราเซนเนกา (AstraZeneca) มีประสิทธิภาพ 62 - 90% ขณะที่วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ไบโอเทค (Pfizer) ของอเมริกา ร่วมกับบริษัทของเยอรมัน มีประสิทธิภาพ 95% วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) มีประสิทธภาพ 94% แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้จองวัคซีนที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุดให้แก่คนไทย"

นายวรภพ ยังชี้ให้เห็นความแตกต่างของการวางแผนด้านวัคซีนว่า สิงคโปร์เป็นชาติแรกในอาเซียน ที่นำเข้าวัคซีนจาก ไฟเซอร์ (Pfizer) มาใช้ ด้วยงบประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นงบประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท

ซึ่งวัคซีนจะมาถึงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ ขณะที่ปัจจุบันมีหลายบริษัทในประเทศไทย กำลังทำการวิจัยเพื่อที่จะผลิตวัคซีน ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงในด้านสาธารณะสุขให้แก่ประเทศไทย แต่ก็ยังขาดการสนับสนุนที่ไม่มากพอจากภาครัฐทำให้มีการออกมาระดมทุนจากภาคประชาชนปรากฎให้เห็นอย่างเช่น การระดมทุนของ CU Enterprise

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน แถลงผลสรุป 7 วัน อันตราช่วงปีใหม่วันแรก พบมีผู้เสียชีวิต 43 ราย ผู้บาดเจ็บ 438 คน ย้ำบังคับใช้กฎหมายเข้ม หลังพบเมาแล้วขับสาเหตุหลักทำเกิดอุบัติเหตุเหมือนเดิม

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร.ในฐานะประธาน ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) แถลงสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 414 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 43 ราย ผู้บาดเจ็บ 438 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 32.85 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 24.88

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.11 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 66.43 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.89 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.13 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 29.47 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 29.94 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,933 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,575 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 288,881 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 44,657 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 12,648 ราย ไม่มีใบขับขี่ 12,154 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ มหาสารคาม 15 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี บุรีรัมย์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และอุดรธานี จังหวัดละ 3 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 17 คน

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า วันนี้คาดว่าประชาชนเริ่มเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว โดยถนนสายหลักที่มุ่งสู่ภูมิภาคต่าง ๆ จะมีปริมาณรถหนาแน่น ศปถ.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เข้มข้นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจหลัก เน้นหนักกวดขันปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุ

โดยเฉพาะการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลเส้นทางหลัก สายรอง และเส้นทางเลี่ยงที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด บริหารจัดการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางหลักมุ่งสู่ภูมิภาคต่าง ๆ และมีการจราจรหนาแน่น ให้เร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ รองอธิบดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ศปถ.ได้ประสานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด บูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สนธิกำลังสนับสนุนการปฏิบัติงานในจุดตรวจ จุดบริการ และด่านชุมชน โดยเฉพาะเส้นทางสายรองและเส้นทางเลี่ยง ทางลัด ที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในระยะนี้บางจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้อาจมีฝนตก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากสภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยไม่ดี ศปถ.จึงประสานจังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกให้กวดขันการใช้ความเร็วเป็นพิเศษ

ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT หนุนคนไทยฉลองปีใหม่อยู่บ้าน ลดการเดินทางสังสรรค์ ประกาศไม่ขยายเวลาให้บริการช่วงคืนวันที่ 31 ธ.ค. เหมือนทุกปีที่ผ่านมา ยืนยันเปิดบริการเดินรถถึงแค่เที่ยงคืนเท่านั้น

บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า ตามที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ทั้งภาครัฐ และเอกชนงดการจัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น

การบริการรถไฟฟ้า MRT จึงต้องปรับการให้บริการสอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว โดยรถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และรถไฟฟ้า MRT สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) จะเปิดและปิดให้บริการตามเวลาปกติ (ไม่ขยายเวลาปิดให้บริการ) โดยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินให้บริการเวลา 06.00 – 24.00 น. และสายสีม่วงให้บริการเวลา 05.30-24.00 น.

พร้อมกันนี้ รฟม.และ BEM ยังได้เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกและคุมเข้มมาตรการป้องกัน COVID-19 ให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการในช่วงวันหยุดยาว โดยจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ประจำสถานี เจ้าหน้าที่หน่วยซ่อมบำรุงพร้อมอำนวยความสะดวกทั้งกรณีปกติและเหตุฉุกเฉิน

เตรียมพร้อมขบวนรถเสริมกรณีผู้ใช้บริการหนาแน่น เพิ่มความถี่การตรวจตรารักษาความปลอดภัย และติดตามเฝ้าระวังผ่านกล้องวงจรปิด ทั้งในสถานีและรถไฟฟ้า คุมเข้มมาตรการป้องกัน COVID-19 โดยการเพิ่มความถี่การทำความสะอาดในทุกพื้นที่ทั้งภายในสถานีและในขบวนรถไฟฟ้าตลอดเวลาให้บริการ

และผู้โดยสารสามารถตรวจสอบเวลารถไฟฟ้าขบวนแรกและขบวนสุดท้ายได้ที่ทุกสถานี หรือ MRT Application พร้อมทั้งขยายเวลาให้บริการของศูนย์บริการข้อมูลในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ถึงเวลา 24.00 น. พร้อมให้ข้อมูลอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ‘พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ’ เล็งบังคับใช้กฎหมายจริงจังกับผู้ใช้โซเชียลหน้าเก่าโพสต์ ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังยื่นคำสั่งศาลไปกว่า 8,000 URLs แต่ยังลบข้อความหมิ่นไม่หมด

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ดำเนินการส่งคำสั่งศาลการแจ้งแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ที่เข้าข่ายละเมิดสถาบันหลักของชาติ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม - ธันวาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง จำนวน 8,443 URLs โดยแบ่งเป็น

• เฟซบุ๊ก 5,494 URLs ปิดกั้นแล้ว 3,107 URLs เหลืออีก 2,387 URLs

• ยูทูบ 1,755 URLs ปิดกั้นแล้ว 1,722 URLs เหลือ 33 URLs

• ทวิตเตอร์ 674 URLs ปิดกั้นแล้ว 63 URLs เหลือ 611 URLs

• และอื่น ๆ 520 URLs ปิดกั้นแล้ว 133 URLs คงเหลือ 387 URLs

ซึ่งมีบัญชีผู้ใช้งานรายเดิม แต่พบว่ายังมีการกระทำผิดซ้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น ชื่อบัญชีของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ Pavin Chachavalpongpun มีจำนวนคำสั่งศาล 194 คำสั่ง บัญชีของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล Somsak Jeamteerasakul มี 51 คำสั่งศาล นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) มี 2 คำสั่งศาล เป็นต้น

ทั้งนี้ กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ปท.) กระทรวงดิจิทัลฯ ได้รวบรวมหลักฐานส่งฟ้องต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินคดีกับแพลตฟอร์ม ตามมาตรา 27 และดำเนินคดีกับบัญชีผู้ใช้งานที่กระทำผิดแล้ว และอยู่ระหว่างสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

"ฝากเตือนให้ประชาชนตระหนักในการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีความรับผิดชอบ ระมัดระวังไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะไม่ละเมิดสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น" นายพุทธิพงษ์ กล่าว

หลังจากโควิดกลับมาระบาดหนัก ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกาศมติ ศปค.สธ.ขอให้คนไทยงดเดินทางนอกจังหวัด ห่วงคุมเชื้อ COVID-19 ยาก ย้ำชัดหากจัดกิจกรรมปีใหม่เกิน 100 คน ต้องขออนุญาต

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์ฯ ได้วางแผนควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ปัจจุบันแพร่กระจายไป 45 จังหวัดแล้ว เพื่อให้กลับมาปลอดเชื้อภายใน 4 สัปดาห์ แต่ขณะนี้เป็นช่วงจังหวะเทศกาลปีใหม่ ทำให้มีการเดินทางไปจังหวัดต่าง ๆ และการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมโรคให้เป็นไปตามแผน

ทั้งนี้ ศปก.สธ.ได้ประสานไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดให้งดจัดกิจกรรมสาธารณะ ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังให้ลดการจัดกิจกรรมสาธารณะมากที่สุด พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนกวดขันดูแลตัวเองให้เป็นไปตามหลักอนามัย

สำหรับการการจัดกิจกรรมช่วงปีใหม่ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดให้งดการจัด ส่วนในพื้นที่เฝ้าระวังให้ลดการจัดกิจกรรมมากที่สุด อยู่เฉพาะในครอบครัว หากจะจัดจะต้องได้รับอนุญาต รวมทั้งคงมาตรการป้องกันโรค และลดความแออัดของผู้ร่วมกิจกรรม ไม่น้อยกว่า 1 ตารางเมตรต่อคน หากจัดมากกว่า 100 คนต้องขออนุญาต

“คงต้องขอความร่วมมือให้เดินทางเท่าที่จำเป็น และงดกิจกรรมเสี่ยง เพื่อลดการแพร่เชื้อและรับเชื้อ หากเราสามารถควบคุมสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ก็จะสามารถผ่อนคลายมาตรการลง”

ขาเที่ยวเตรียมวางแผนปีหน้าไว้เลย เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเคาะ 'วันหยุดกรณีพิเศษ' และ 'วันหยุดประจำภาค' รวมถึงเลื่อนวันหยุดราชการในปีหน้าเพิ่มเข้ามาอีกถึง 8 วัน รวมแล้วในปี 2564 จะมีวันหยุดรวม 24 วัน เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนเงินเศรษฐกิจภายในประเทศ

ในส่วนของวันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ มีเซอร์ไพรซ์ คือ

- วันศุกร์ที่ 12 ก.พ.2564 วันตรุษจีน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยประกาศให้วันตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการ

- วันจันทร์ที่ 12 เม.ย. 2564 เพื่อจะได้หยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ (เสาร์ที่ 10 อาทิตย์ที่ 11 จันทร์ที่ 12 อังคารที่ 13 พุธที่ 14 และพฤหัสฯที่ 15)

- วันอังคารที่ 27 ก.ค. 2564 ชดเชยวันเข้าพรรษา เพื่อจะได้หยุดยาว (เสาร์ที่ 24 วันอาสาฬหบูชา อาทิตย์ที่ 25 วันเข้าพรรษา จันทร์ที่ 26 ชดเชยวันอาสาฬหบูชา อังคารที่ 27 ชดเชยวันเข้าพรรษา และพุธที่ 28 วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ)

- วันศุกร์ที่ 24 ก.ย. 2564 วันหยุดราชการกรณีพิเศษ วันมหิดล

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติกำหนดวันหยุดประจำภาคต่างๆ ทุกภาคจะมีวันหยุดเทศกาลประจำปี ได้แก่...

- วันหยุดราชการภาคเหนือ: ประเพณีไหว้พระธาตุ วันศุกร์ที่ 26 มี.ค. 2564

- วันหยุดราชการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: งานเทศกาลบุญบั้งไฟ วันจันทร์ที่ 10 พ.ค.2564

- วันหยุดราชการภาคใต้: พิธีสารทเดือน 10 วันพุธที่ 6 ต.ค. 2564

สำหรับกรณีเลื่อนวันหยุดชดเชย เช่น วันปิยมหาราช 23 ต.ค. 2564 ตรงกับวันเสาร์ เพื่อเติมให้เป็นวันหยุดยาว 4 วัน หรือ 5 วัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ สถาบันการเงิน ภาคเอกชน จะไม่หยุดตามนี้ก็ได้

ครม.เห็นชอบหยุดปี 64 เพิ่ม​ 8​ วันเซอร์ไพรซ์ตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการ | News มีนิสส One minute

ครม.เห็นชอบหยุดพิเศษปี 64 เพิ่ม​ 8​ วัน เซอร์ไพรซ์ครั้งแรกตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563

.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top