ระยอง - ผวจ.ระยอง เผยคราบน้ำมันจ่อประชิดฝั่งห่าง 5 กม. ยัน!เสียใจหลังน้ำมันรั่วรอบ 2 พร้อมตำหนิบริษัทต้นตอ ขาดความระมัดระวัง!! กรมเจ้าท่าแจ้งความดำเนินคดี 4 ข้อหา
เมื่อวันที่ 11 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง ได้เดินทางมาตรวจและติดตาม การรับเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีคราบน้ำมันดิบรั่วไหล บ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จก. หรือ SPRC ที่หมู่บ้านสบาย สบาย รีสอร์ท หาดแม่รำพึง อ.เมือง จ.ระยอง
นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง ได้เปิดเผยถึง กรณีเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลกลางทะเล รอบที่ 2 จำนวน 5,000 ลิตร ซึ่งเป็นจุดเดิมที่มีการรั่วไหลเมื่อครั้งที่แล้วว่า จุดที่พบคราบน้ำมันรั่วไหลอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 5 กม. ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งนี้ ตนรู้สึกเสียใจ ซึ่งทุกฝ่ายก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายกันไป ทั้งนี้ บริษัท น่าจะทำได้ดีกว่านี้ น่าจะมีความระมัดระวังในการวางแผนเข้าดำเนินการตรวจสอบให้รอบคอบ ซึ่งการขอโทษไม่ได้ช่วยอะไร คิดว่าประชาชนคงรับไม่ได้ เบื้องต้นได้ตำหนิทาง บริษัทฯ ไปแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีแน่นอน โดยเฉพาะความรู้สึกของประชาชนและนักท่องเที่ยว ส่วนการปลดธงแดง และการลงเล่นน้ำทะเล ต้องขอประเมินสถานการณ์คราบน้ำมันในทะเลอีกรอบ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) ได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง ในฐานะผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับ ร.ต.ท.ไม้ฟ้า ปักเขตานัง ร้อยเวร สภ.มาบตาพุด ดำเนินคดี 4 ข้อหา โดยแบ่งออกเป็น 4 ฐานความผิด คือ
1.ฐานความผิดตามมาตรา 119 ทวิแห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 กรณีก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นคดีที่ต่างกรรมต่างวาระ กับการกระทำผิด ซึ่งได้ร้องทุกข์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2565
2.ฐานความผิดมาตรา 297 แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และแก้ไขเพิ่มเติม ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่า ที่สั่งให้ระงับการใช้งานทุ่นเทียบเรือจนกว่าจะซ่อมแซมแก้ไขให้แล้วเสร็จ รวมทั้งจะต้องใช้ความระมัดระวัง โดยกำหนดขั้นตอนและวิธีการ ตลอดจนมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้มีการรั่วไหลในขั้นตอนการแก้ไขหรือซ่อมแซม โดยจะต้องมีหลักฐานการตรวจสอบที่สามารถยืนยันว่า ไม่มีน้ำมันค้างท่อส่งสินค้า และแจ้งให้สำนักงานเจ้าท่าฯ ทราบ ก่อนดำเนินการทุกครั้ง พร้อมทั้งจัดทำมาตรการ ในการป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล แต่ บริษัทฯ กลับฝ่าฝืนคำสั่ง โดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่อีกครั้ง รวมทั้งไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีน้ำมันค้างอยู่ในท่อ ก่อนการดำเนินการ จนเป็นเหตุให้น้ำมันรั่วลงทะเล
3.ในฐานความผิด ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐาน ที่ใช้ในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา และ 4.ฐานความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กฎหมายควบคุมมลพิษ เป็นต้น เพื่อให้พนักงานสอบสวนพิจารณา ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมาย จนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป
ภาพ/ข่าว นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี