Thursday, 10 October 2024
NEWS FEED

‘รร.ราชินี’ ยกมาตรฐานการเลือก ‘รถทัศนศึกษา’ พร้อมส่งครู 7-9 คนนั่งประจำจุด คุมเข้มตลอดเส้นทาง

(4 ต.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Rajiniactivity’ ของโรงเรียนราชินี ได้โพสต์ถึงการจัดกิจกรรมนอกสถานที่และการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย ว่า วันที่ 3 - 6 ตุลาคม 2567 นักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 116 คน เข้าร่วมกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษ (English Camp) รุ่นที่ 21 โรงเรียนมีมาตรการความปลอดภัยด้านการเดินทาง ดังนี้

1. คัดเลือกบริษัทรถที่ได้มาตรฐาน คือ บริษัท ซีอาร์วี ทรานสปอร์ต จำกัด รถมีสภาพดี มีประตูฉุกเฉินที่มีสภาพพร้อมใช้งาน เบาะที่นั่งเป็นเบาะกันไฟ และเป็นรถใช้น้ำมัน ไม่ใช้แก๊ส และจำกัดความเร็วไม่เกิน 90 กม./ ชม. หากพนักงานขับรถเกินความเร็วที่กำหนด จะมีเสียงเตือนภายในรถ และพนักงานขับรถติดต่อกันด้วยวิทยุสื่อสาร แจ้งสภาพปัญหาการจราจรเป็นระยะ

2. มีตำรวจนำทางตลอดการเดินทาง ทั้งขาไปและขากลับ และมีความชำนาญเส้นทางเป็นอย่างดี

3. รถทุกคันมีครูและ staff นั่งกระจายอยู่ด้านหน้า ตรงกลาง และด้านหลัง คันละ 7-9 คน มีครูนั่งประจำอยู่ประตูฉุกเฉินทุกคัน และครูชายฝ่ายเดินทางติดต่อด้วยวิทยุสื่อสาร โดยคันที่ 1 จะแจ้งเหตุการณ์บนถนนด้านหน้า เป็นระยะ 

4. วันเดินทาง ครูชายตรวจสอบสภาพรถทุกคัน ทดสอบความพร้อมของประตูฉุกเฉินและอุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อนักเรียนขึ้นรถ ครูอธิบายการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินให้นักเรียนเข้าใจอีกครั้ง

‘สุกฤษฏิ์ชัย’ ชี้เหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ เกิดจากวิกฤติทรัพยากรธรรมชาติแนะเร่งฟื้นฟูป่าไม้ สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ลดผลกระทบในอนาคต

(4 ต.ค. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า 

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจ รวมถึงขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก 

เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสภาพพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย เสียหาย เปลี่ยนแปลงสภาพ จากการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ ป่าสมบูรณ์ จนเกิดเป็นภูเขาหัวโล้น การบุกรุกเพื่อเปิดพื้นที่ทำการเกษตร ทำไร่เลื่อยรอย ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว 

ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำป่าไหลหลากและเกิดดินถล่มโดยไม่มีการชะลอความรุนแรงจากป่า รวมถึงการปลูกสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่กีดขวาง รุกล้ำทางน้ำธรรมชาติ

ข้อมูลจากสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ พบว่าพื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือในปี 2566 มีจำนวน 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่ 

การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการดูดซับน้ำของพื้นที่ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติ 

อีกข้อมูลจากคณะนักวิจัยจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าในปี 2566 พื้นที่ป่าลดลงมาก ปัจจัยหนึ่งเกิดจากไฟป่าที่ลุกลามและขยายวงอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ สะท้อนถึงปัญหาเรื้อรังและเป็นปัจจัยสำคัญสู่วิกฤติทางสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น 

การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น จริงจัง คงเป็นสิ่งที่หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องรีบดำเนินการ และถือปฏิบัติโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ รวมถึงการเร่งฟื้นฟูป่าไม้ จัดกิจกรรมรณรงค์ปลูกต้นไม้ เพิ่มความแข็งแรงสมบูรณ์ให้ป่าต้นน้ำ ให้ระบบนิเวศธรรมชาติคืนกลับมาโดยเร็ว บนพื้นฐานให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน 

ภาครัฐ ภาคราชการอาจเป็นผู้สนับสนุนให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มูลนิธิต่าง ๆ มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพดำเนินการ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ให้มากขึ้นและครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้เทคโนโลยี ระบบดิจิทัล ภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาใช้กำหนดแผนงาน สำรวจภูมิประเทศ

เราอาจได้ทั้งป่าไม้ที่คืนสภาพธรรมชาติเดิม และยังแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษ PM2.5 ได้อากาศสะอาดกลับคืนมา วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้เราได้แก้ไขและบูรณาการการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบจากทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืนด้วย

ศูนย์บริบาลช้างแม่แตง แจ้งข่าวน้ำท่วมศูนย์หนัก ต้องการเรือ-กรงสัตว์ ขนย้ายสัตว์หนีน้ำขึ้นเขา

(4 ต.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศูนย์บริบาลช้าง แม่แตง-เชียงใหม่ หรือ 'Elephant Nature Park' ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ของศูนย์ ว่า

สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เป็นครั้งที่หนักที่สุด ! 
น้ำป่าลงมาจากเขาเร็วมากเข้าท่วมพื้นที่ของศูนย์บริบาลเวลานี้ หนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา บางพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมก็ท่วมแล้ว ควาญช้างและอาสาสมัครของเราทำงานกันอย่างหนักในการขนย้ายทุก ๆ ชีวิตขึ้นพื้นที่ปลอดภัย

และล่าสุดเมื่อประมาณ 10.00 น. ทางศูนย์บริบาลช้าง แม่แตง-เชียงใหม่ ได้โพสต์ว่า 

ต้องการอาสาสมัครและกรงค่ะ เพราะต้องย้ายสัตว์ไปบนเขาด่วน เนื่องจากถนนถูกตัดทั้งสองทาง

ดังนั้นจึงขอความช่วยเหลือเรื่องเรือค่ะ เพราะอาสาจะเข้าพื้นที่ไม่ได้เลย ถนนบางจุดสองเมตรแล้วค่ะ ถนนที่ปางไม้แดงเป็นเส้นทางเดียวที่ยังจะไปได้ แต่ตอนนี้ดินสไลด์ถนนปิด 

ดิฉันได้ประสานงานท่านรองผู้ว่าจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้ช่วยเหลือเปิดทาง เส้นทางที่จะไปได้คือสายบ้านช้างปางไม้แดง 

สิ่งที่เราต้องการที่สุดในเวลานี้คือ เรือ และกรงขนสัตว์เล็ก และผ้าเต้นท์กันฝน ค่ะ เพราะน้ำท่วมหมดต้องย้ายพวกเขาไปอยู่บนเขาเท่านั้น 

ถ้าท่านใดต้องการเข้าไปช่วยในพื้นที่ ติดต่อพนักงานที่ออฟฟิศตามเบอร์ข้างล่างนี้ เพราะในพื้นที่สัญญาณอ่อนมากค่ะ

คุณดาด้า 098-6566685
064-44688989
คุณยุ้ย 095-361515
คุณเปรี้ยว 095-3615156
คุณไพลิน 088-9172668
สำนักงานมูลนิธิ 053-272855
ขอความช่วยเหลือด่วนค่ะ

ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน อุเทนถวาย เกือบ 100 ชีวิต ยกพลขึ้นเชียงราย ช่วยเหลือชาวบ้าน  

อดีตไม่สำคัญ ปัจจุบันขอเป็นพลังอาสาฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วมใหญ่ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน อุเทนถวาย เกือบ 100 ชีวิต ยกพลขึ้นเชียงราย ช่วยเหลือชาวบ้าน เยาวชนจากศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาภิเษก กว่า 20 ชีวิต เดินทางมาร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ลงพื้นที่ฟื้นฟู ตักโคลนล้างบ้าน ด้านนายวิศาล ประธาน กมธ.วิสามัญ พรบ.คุมเหล้า ลงพื้นที่ให้กำลังใจ พร้อมหนุนเสริมภารกิจเยาวชนช่วยชาวเชียงรายสู้ภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ (29 ก.ย.67) ที่ผ่านมานายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเดินทางมาศึกษาดูงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จังหวัดเชียงราย และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (27-29 กย.) ได้เดินทางมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน ผู้ประสบภัยในพื้นที่ และได้เดินทางไปมาเยี่ยมให้กำลังใจนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย และศิษย์เก่า ที่ประจำการอยู่ที่สนามกีฬากลาง อบจ.เชียงราย ได้ร่วมสนับสนุนเงินและสิ่งของกับโครงการ 'หมดตัวไม่หมดใจ เพราะยังมีอีจัน' และหลังจากนั้นกรรมาธิการฯได้เดินทางไปยังบ้านเกาะลอย อ.เมือง จ.เชียงราย 

เพื่อพบปะกับนักศึกษาอุเทนถวายที่ทำงานกันอยู่ในพื้นที่ ได้มอบอาหารให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม และทานข้าวกับน้อง ๆ นักศึกษา “ในฐานะที่เป็นคนเชียงราย ต้องขอบคุณน้อง ๆ ชาวอุเทนถวายและรุ่นพี่ทุกคน ที่เดินทางไกลเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบกับความทุกข์ยากในเวลานี้ ทราบมาว่าในแต่ละวันทุกคนมีภารกิจที่หนักหน่วงกันมาก ทั้งที่จุดจัดการของบริจาคร่วมกับเพจอีจัน และในพื้นที่ประสบภัย ทำงานกันชนิดแทบไม่ได้พัก ได้เห็นภาพที่น้อง ๆ นอนพักกลางวันทั้งที่เนื้อตัวยังเต็มไปด้วยโคลนแล้ว ยังต้องลุกขึ้นมาทำงานต่อ ยิ่งรู้สึกเห็นใจและชื่นชมในความเป็นนักสู้ของทุกคน หากต้องการความช่วยเหลือให้ประสานงานมาได้ตลอด” นายวิศาล กล่าว  

นายเตชาติ์ มีชัย ประธานมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัวมกล่าวว่า ท่ามกลางความโกลาหลหลังเกิดภัยพิบัติฝนตกถล่มเชียงรายในหลายพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 9-14 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบราย บ้านเรือนเสียหายมากกว่าห้าหมื่นครัวเรือน หลายหน่วยงานเร่งเข้าให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูความเสียหายที่มาพร้อมกับความรุนแรงของกระแสน้ำและดินโคลนจำนวนมหาศาล กลุ่มคนเล็กๆสองกลุ่มที่เข้าพื้นที่มาปฏิบัติภารกิจอย่างเงียบ ๆ และสม่ำเสมอ เรียกได้ว่าสายตัวแทบจะขาดในแต่ละวัน กลุ่มแรกพวกเขาคือคนหนุ่มสาวชาวอุเทนถวาย ที่ในอดีตมักถูกสังคมตัดสินตีตรา ในนามเด็กอาชีวะที่มักจะมีข่าวทะเลาะวิวาทต่างสถาบัน แต่วันนี้พวกเขาทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง และศิษย์เก่าเกือบ 100 ชีวิต พร้อมใจกันมาทุ่มเทแรงกายแรงใจเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมเชียงราย แม้จะรู้ว่าต้องมาเจองานที่ยากและหนักยิ่งก็เต็มใจที่จะมา และอีกกลุ่มคือเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กว่า 20 คน พร้อมเจ้าหน้าที่ ก็เดินทางเข้าพื้นที่ด้วยเช่นกัน  

ซึ่งเป็นภารกิจที่ถูกจัดขึ้นแทบทุกครั้งที่มีภัยพิบัติครั้งใหญ่ ๆในประเทศ เช่น กรณี คลื่นยักษ์สึนามิที่พังงา ดินถล่มที่ลับแล เป็นต้น โดยเป็นการตัดสินใจร่วมกันของเยาวชนในศูนย์ฝึกแห่งนี้ ซึ่งทุกคนต้องการใช้พลังกายพลังใจตอบแทนคืนสู่สังคมในยามที่ยากลำบากแบบนี้ มูลนิธิฯเป็นเพียงลมใต้ปีกผู้ที่คอยสนับสนุนภารกิจของทั้งสองกลุ่มนี้ให้ลุล่วง และพยายามระดมทรัพยากรช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้  

นายศุภชัย ลิ้มพิพัฒนโสภณ นายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย กล่าวว่า ช่วงมีข่าวน้ำท่วมหนักที่เชียงราย พวกเรารุ่นพี่รุ่นน้องอุเทนถวาย ได้จัดทำโครงการอาสารวมน้ำใจคนไทย กู้วิกฤตภัยน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย โดยเบื้องต้นระดมเงินจากรุ่นพี่ ๆ หน่วยงานห้างร้าน องค์กรเครือข่ายเพื่อสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม โคลนถล่มในจังหวัดเชียงราย เราเดินทางเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แบ่งภารกิจเป็นสองส่วนคือส่วนแรกประจำการที่สนามกีฬากลาง อบจ.เชียงราย สนับสนุนภารกิจจัดการกับของบริจาค ในโครงการ 'หมดตัวไม่หมดใจ เพราะยังมีอีจัน' ที่จะส่งมอบอุปกรณ์ของใช้จำเป็นให้บ้านที่ได้รับผลกระทบหนัก ช่วยเหลือตัวเองได้ยากลำบาก เช่น 

ที่นอน หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส ฯลฯ ส่วนที่สองจะเข้าไปในพื้นที่ที่น้ำท่วมโคลนถล่ม ไปช่วยตักโคลน ล้างบ้าน ทำความสะอาดบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่เป็นอย่างดีทำให้ภารกิจที่วางไว้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี  

ด้านนายอนนทกรณ์ นาดี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย กล่าวว่า รู้สึกมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก พวกเขาลำบากเราก็เห็นใจ พวกเราทุกคนมีความสุขได้รับการต้อนรับจากคนในพื้นที่เหมือนลูกเหมือนหลาน น้อง ๆ ที่มาช่วยก็เต็มใจมา รู้สึกดี  เห็นแววตาที่ชาวบ้านมองเราอย่างเอ็นดู อยากชักชวนเพื่อนคนนักเรียนนักศึกษามาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มาช่วยเหลือชาวบ้านในยามที่ทุกคนกำลังแย่ ผมคิดว่าการมีกิจกรรมแบบนี้ เป็นเรื่องที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและน้อง ๆ ที่มาร่วมด้วย แม้ว่าเราจะเหนื่อย หนัก และได้พักผ่อนน้อย แต่เราก็มีความสุขทุกครั้งที่ออกไปทำงาน เวลาที่ได้ยินเสียงขอบคุณ แววตาของความเมตตาจากชาวบ้านที่มองเรา การโอบกอดเราอย่างลูกหลานคือพลังใจที่เราได้กลับมา

ด้านนายเอ นามสมมุติ เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า พวกเราเดินทางมาเชียงรายด้วยความสมัครใจ กว่า 20 ชีวิต และยังมีเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งอยู่ที่บ้านกาญ คอยไปเป็นอาสาสมัครช่วยจัดการของบริจาคของมูลนิธิกระจกเงาที่กรุงเทพ ตามที่ได้รับแจ้งภารกิจมา ก่อนการตัดสินใจทำภารกิจในครั้งนี้ ป้ามล ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษก ได้เปิดโอกาสให้พวกเราได้พูดคุยกัน หาข้อมูล ตัดสินใจร่วมกันว่าจะไปช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่เชียงราย ส่วนคนที่ไม่ได้ไปจะต้องพร้อมสแตนบายสำหรับภารกิจอาสาที่กรุงเทพ เราได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ จากพี่ๆที่เคยเป็นศิษย์เก่าบ้านกาญ มูลนิชนะใจ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และเครือข่ายที่เป็นกัลยาณมิตรกับบ้านกาญจนา พวกเรารู้ดีว่าการมาในครั้งนี้ต้องเจองานใหญ่แน่นอน  

ซึ่งในความจริงที่มาก็เจองานหนักจริง ๆ ในแต่ละวันการเข้าพื้นที่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย งานตักโคลน ล้างบ้าน ทำความสะอาดทุกอย่าง ต้องใช้พลังกายพลังใจอย่างมาก มีเวลาพักน้อยต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่สิ่งที่ตอบแทนกลับมามันมีคุณค่ามากๆสำหรับพวกเราคือรอยยิ้ม คำขอบคุณและความเมตตาของลุงป้าน้าอา ที่เราเข้าไปช่วย เหมือนกับพวกเราเป็นลูกหลานจริง ๆ หลายๆบ้านคุณตาคุณยายร้องไห้บอกให้เราแวะมาเยี่ยมด้วยนะถ้ามีโอกาส เรารู้สึกได้เลยว่านี่คุณค่า คือความหมายที่พวกเราตามหามานาน  และไม่เสียใจเลยที่ตัดสินใจมาที่นี่แม้จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็ตาม

'มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง' เสริมสร้างอนาคตเด็กไทย ลงพื้นที่ภาคใต้ มอบทุนการศึกษาในระดับชั้นประถม และทุนฯ ทุกระดับปีสุดท้าย (ทุนสัญจร) แก่เยาวชนรวม 53 สถาบัน มูลค่ากว่า 2.28 ล้านบาท

เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.67) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พร้อมด้วย นายนิพนธ์ ลีละศิธร กรรมการ  นายนิพนธ์ โชคภิรมย์วงศา กรรมการปฏิคม และนางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ  ลงพื้นที่มอบทุนการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา และทุนฯ ทุกระดับปีสุดท้าย (ทุนสัญจร) ประจำปี พ.ศ. 2567 แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล 

โดยมี จังหวัดพัทลุงเป็นศูนย์กลางในการมอบทุนฯ รวม 53 สถาบัน 265 ทุน รวมเป็นเงินจำนวน 2,280,000 บาท (สองล้านสองแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมตามที่มุ่งหวัง เติบโตพร้อมมีวิชาความรู้ สร้างอนาคตของตนเองและครอบครัว เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง โดยมี นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะพัทลุงการกุศลมูลนิธิฯ เป็นผู้ประสานงานและร่วมในพิธี ณ ศูนย์ประชุม โรงเรียนพัทลุง ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

การมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต และนักศึกษา เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของงานสังคมสงเคราะห์ ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลากว่า 50 ปี โดยในปี พ.ศ. 2567 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้จัดสรรงบประมาณในการมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 18,345,000 บาท (สิบแปดล้านสามแสนสี่หมื่นห้าพันบาทถ้วน)

ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ ทาง รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ดังปณิธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง “ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” 

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมงานสาธารณกุศลมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ เฟซบุ๊ก 
แฟนเพจ http://www.facebook.com/pohtecktungofficial

ประธานศาลปกครองสูงสุด แถลงนโยบาย เน้นย้ำการบริหารจัดการคดีและบังคับคดีด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว พร้อมยกระดับการปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยี ก้าวสู่ศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์

เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.67) เวลา 09.30 น. นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงนโยบายการบริหารงานศาลปกครอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 เพื่อให้ตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ตลอดจนบุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 10 อาคารศาลปกครองถนนแจ้งวัฒนะ และถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบLive Streaming และระบบ Cisco WebexMeetings ให้แก่บุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค ได้ร่วมรับฟังโดยพร้อมเพรียงกัน

ประธานศาลปกครองสูงสุดได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนศาลปกครองเป็นระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ และมีมาตรฐานการบริหารจัดการคดีที่เป็นสากลจึงได้กำหนดนโยบายหลัก
ในการดำเนินงานของศาลปกครอง 

ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 ดังนี้
1. บริหารจัดการคดีและบังคับคดีด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว โดยการเร่งรัดและติดตาม
การบริหารจัดการคดีให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานศาลปกครอง
พ.ศ. 2566-2570 ในส่วนของการบริหารจัดการคดีค้างนั้น ตั้งเป้าหมายว่า เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จะไม่มีคดีค้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ลงไป และคดีค้างของปี พ.ศ. 2565-2567 จะคงเหลือไม่เกินร้อยละ 25 ของคดีค้างทั้งหมด สำหรับกรณีคดีรับเข้าใหม่และคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการจะต้องพยายามบริหารจัดการคดีให้แล้วเสร็จในกรอบระยะเวลาตามประกาศศาลปกครอง เรื่อง กำหนดระยะเวลาดำเนินงานคดี
ในศาลปกครอง พ.ศ. 2566 

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว จะต้องเร่งรัดขั้นตอนการกลั่นกรอง
ร่างคำวินิจฉัยที่ค้างอยู่จำนวนมาก รวมถึงจัดทำแนวคำวินิจฉัยต้นแบบ เพื่อเป็นแนวทางในการเรียบเรียง
คำพิพากษาหรือคำสั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งพัฒนา ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณาพิพากษาคดี

นอกจากนี้ จะต้องรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์
พร้อมส่งเสริมให้บุคลากรศาลปกครองขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองโดยใช้ระบบงาน
คดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการสัมมนาปัญหากฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้บุคลากรศาลปกครอง ปฏิรูประบบงาน โดยการสนับสนุนให้วิเคราะห์ปัญหาที่ส่งผลต่อการพิจารณาคดีที่ล่าช้า และนำมาสู่
การกำหนดแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน รวมถึงส่งเสริมให้ตุลาการศาลปกครองนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ในคดีปกครองมาใช้ในการระงับข้อพิพาททางปกครอง และส่งเสริมความร่วมมือของคู่กรณีให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อยุติข้อพิพาทด้วยความเรียบง่าย รวดเร็ว 

รวมทั้งผลักดันการใช้ระบบไกล่เกลี่ย
ข้อพิพาทในคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้คดีเสร็จจากศาลโดยเร็ว และปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ
ที่เกี่ยวข้องให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ศึกษาวิเคราะห์ผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้องเกี่ยวกับรูปแบบของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของคดี

ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองที่ยั่งยืน เป็นธรรม โดยผลักดันการปรับปรุงพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่เกี่ยวข้องกับ
คดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม และยกระดับความรู้ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสิ่งแวดล้อม
ทั้งบุคลากรศาลปกครอง หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งส่งเสริมระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองให้มีมาตรฐาน

ในส่วนของการบังคับคดีปกครอง จะเร่งรัดการบังคับคดีปกครองให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา และต้องนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบังคับคดี รวมทั้งส่งเสริมให้บุคลากรศาลปกครองใช้ระบบการบังคับคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ชั้นบังคับคดี และศึกษาเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองชั้นบังคับคดีด้วย

2. เสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม โดยการส่งเสริมสนับสนุนการวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดี เพื่อเสนอแนวปฏิบัติราชการที่ดีจากคำวินิจฉัยของศาลปกครอง เผยแพร่ต่อหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้แพร่หลายส่งเสริมให้ศูนย์การเรียนรู้ศาลปกครองออนไลน์(ALL Cloud) เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองและแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดีจากคำวินิจฉัยของ
ศาลปกครองเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงเสริมสร้างกลไกภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของศาลปกครองในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแพร่หลายและครอบคลุมทุกภาคส่วน

3. ส่งเสริมผลักดันระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Admincourt) ในประเด็นนี้เป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญ โดยจะผลักดันให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับ
การปฏิบัติงานของศาลปกครองและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์
(e-Admincourt) ที่สมบูรณ์ ทั้งในส่วนของระบบที่สนับสนุนการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน (e-Service) ระบบการใช้งานของศาลปกครอง (e-Court) ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทั้งการไกล่เกลี่ย
ข้อพิพาท การพิจารณาพิพากษาคดี และการบังคับคดีปกครอง และระบบการใช้งานของสำนักงาน
ศาลปกครอง (e-Office) ให้มีความพร้อมสอดคล้องกัน 

นอกจากนี้ จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบเครือข่าย การเชื่อมโยงข้อมูล และระบบความมั่นคงปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการใช้ระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเพิ่มจำนวนห้องพิจารณา/ไต่สวนคดี
ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Courtrooms) เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานที่มากขึ้น เสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อวางระบบและรากฐานของศาลปกครองที่จะก้าวสู่การเป็นศาลปกครองอัจฉริยะ (Smart Admincourt)ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2571-2575 ต่อไป

4. พัฒนาองค์กรให้ทันสมัย มีมาตรฐานในระดับสากล โดยการพัฒนาระบบวิธีการปฏิบัติงานของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองให้มีความทันสมัย โปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาล โดยผสานการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ถูกต้อง และรวดเร็ว
นอกจากนี้ จะเร่งรัดการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลปกครองในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น 
ในด้านการพัฒนาบุคลากร 

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนภาระงานต่าง ๆ ก็จะส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งปลูกฝังวัฒนธรรม
ศาลปกครอง (TRUST) ให้บุคลากรทุกคนสามารถดำรงตนได้อย่างเหมาะสม มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน

สำหรับการพัฒนาองค์กรให้มีมาตรฐานในระดับสากล จะเสริมสร้างความร่วมมือทางการศาลและวิชาการกับองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรของศาลปกครองและเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของศาลปกครอง รวมถึงสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการคดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นสากล

ท้ายนี้ ประธานศาลปกครองสูงสุดขอให้ความเชื่อมั่นว่า จะมุ่งมั่นและทุ่มเทในการนำพาศาลปกครองให้ไปสู่การบรรลุเป้าหมายสำคัญ นั่นคือศาลปกครองเป็นระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ และมีมาตรฐานการบริหารจัดการคดีที่เป็นสากล ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 โดยขอให้บุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองทุกคน ร่วมกันขับเคลื่อนงานของศาลปกครองตามนโยบายสำคัญข้างต้น
ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ เพื่อให้ศาลปกครองเป็นที่พึ่งของประชาชน และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทยต่อไป

‘พีระพันธุ์’ ให้การต้อนรับพร้อมรายงานต่อ ‘องคมนตรี’ โครงการสนับสนุนการดำเนินงาน รพ.สมเด็จพระยุพราช

รองนายกฯ ‘พีระพันธุ์’ รายงานความก้าวหน้าโครงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้การดำเนินงานของ ก.พลังงาน และ กฟผ. ต่อ องคมนตรี ในโอกาสเยี่ยมชมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี

(3 ต.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวรายงานความก้าวหน้าของโครงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี รองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช คนที่ 2 ในโอกาสเยี่ยมชมโครงการดังกล่าว ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัด กระทรวงสาธารณสุข น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร หน่วยงานราชการ ในพื้นที่ ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ได้รายงานถึงความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการนี้ว่า โครงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 21 แห่ง ทั่วประเทศ เป็น 1 ใน 10 โครงการสืบสานพระราชปณิธานองค์ราชัน ที่กระทรวงพลังงานและ กฟผ. จัดทำขึ้นในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยเริ่มดำเนินการและส่งมอบโครงการฯ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน การดำเนินโครงการได้มีความคืบหน้าภายใต้กิจกรรมส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและคุณภาพอากาศ กิจกรรมส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข และกิจกรรมส่งเสริมด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยมีการล้างเครื่องปรับอากาศไปแล้ว 3,357 เครื่อง มีการติดตั้งนวัตกรรมระบบหมุนเวียนและบำบัดอากาศ หรือ City Tree ครบจำนวน 21 เครื่อง มีการสนับสนุนเลนส์เทียมสำหรับผู้ป่วยต้อกระจกและผู้สูงอายุ ไปแล้ว 1,200 คู่  และออกหน่วยให้บริการแว่นตาในโรงพยาบาล ไปแล้ว 11 แห่ง จำนวน 16,500 แว่นตา รวมทั้งการปลูกต้นรวงผึ้งในโรงพยาบาล ซึ่งจากการดำเนินโครงการฯ คาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานได้ 2.75 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,420 ตันต่อปี รวมถึงก่อให้เกิดคุณภาพอากาศที่ดีภายในโรงพยาบาล และเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านการมองเห็นให้กับผู้สูงอายุและผู้เข้ารับบริการด้วย

ในโอกาสนี้ องคมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมหน่วยให้บริการตรวจวัดสายตา แก้ปัญหาสุขภาพตา และประกอบแว่นโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน  ร่วมปลูกต้นรวงผึ้ง พรรณไม้ประจำสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตล้างเครื่องปรับอากาศ และ นวัตกรรม City Tree ซึ่งนำไปติดตั้งที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง เป็นนวัตกรรมลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และกำจัดเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรีย สามารถกรองฝุ่นได้ถึง 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ช่วยสร้างอากาศให้มีความสดชื่นเหมือนอยู่ในธรรมชาติ อีกทั้งเป็นที่พักผ่อนให้แก่ผู้ใช้บริการโรงพยาบาล

นอกจากนี้ องคมนตรียังได้มอบถุงของขวัญพระราชทานแก่ผู้ป่วย ประกอบด้วยเครื่องบริโภค จำนวน 100 ชุด และมอบโล่เกียรติยศให้แก่กระทรวงพลังงานในการสนับสนุนการดำเนินงานแก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้รับมอบ

ACD มั่นใจวิสัยทัศน์นายกฯของคนไทยย้ำบทบาทไทยในเวที ACD จะสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและส่งเสริมสันติภาพ พร้อมผลักดันวาระ 'ศตวรรษแห่งเอเชีย'

(3 ต.ค.67) เวลา 10.30 น. เวลาท้องถิ่นกรุงโดฮา หรือเวลา 14.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย ณ โรงแรม Ritz-Carlton Doha กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 3 และขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ท่ามกลางผู้นำประเทศสมาชิก 35 ประเทศ

โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณ เจ้าภาพกาตาร์ ที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น และกล่าวถึงความสำเร็จของการจัดการประชุม ACD ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ 'การทูตผ่านกีฬา' (Sports Diplomacy) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของการใช้การกีฬา ที่สามารถเชื่อมความแตกต่างและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของโลก ซึ่งความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ เมื่อปี 2022 เป็นตัวอย่างที่สำคัญและแนวคิดนี้สอดคล้องกับจุดยืนของประเทศไทยที่จะะส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

ส่วนในประเด็นสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาค ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์  และด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาคมระหว่างประเทศ ไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด และขอให้ยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหมดโดยทันที เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ ACD ท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนและต้องการการแก้ไข เช่นความขัดแย้งทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในฐานะผู้นำของประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่นำพาและสร้างความร่วมมือเพื่อเสถียรภาพและการเติบโตของประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกัน ศตวรรษที่ 21 นี้ได้ถูกกล่าวขานว่าเป็น 'ศตวรรษแห่งเอเชีย' และเอเชียมีประชาชนกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลกอีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ พลังงาน และความมั่นคงทางอาหารของโลก เปรียบเสมือน 'แหล่งพลังงาน' และ 'ครัวของโลก'
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไป ว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและการตอบสนอง ต่อความต้องการอาหารทั่วโลก และประเทศไทยเห็นว่าการประชุมในครั้งนี้สมาชิก ACD จะได้ร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายทางการค้า และปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทานอาหารโลก โดยประเทศไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ที่สำคัญ สามารถเป็นประตูสู่การเชื่อมต่อในโลกตะวันออก กับโลกตะวันตกได้เป็นอย่างดี  รัฐบาลไทยจึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการขนส่งทางบก การขนส่งทางราง และทางน้ำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และยังพร้อมเพิ่มสนามบินใหม่ ๆ และพัฒนาศักยภาพสนามบินที่มีอยู่เพื่อรองรับทั้งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าต่าง ๆ ทั้งนี้ประเทศไทยขอเชิญชวน ประเทศสมาชิก ACD มาร่วมกันพัฒนาเส้นทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อเชื่อมต่อและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วทั้งเอเชียในฐานะที่เอเชียเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก
 
ปัจจุบันบทบาทของ ACD มีความสำคัญมากขึ้น โดยเป็นกรอบความร่วมมือระดับทวีปแห่งแรกและแห่งเดียวของเอเชีย ซึ่งรวมภูมิภาคต่าง ๆ ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังที่จะสานต่อแนวคิดนี้ในการดำรงตำแหน่งประธาน ACD ในวันที่ 1 มกราคม 2568 นี้โดยเล็งเห็นว่า ACD  จะเป็น 'เวทีหารือของเอเชีย' (converging forum of Asia) และเน้นย้ำว่า ไทยในฐานะผู้เป็นสะพานเชื่อม ACD มุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิก เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ทั้งนี้ ในการเป็นประธาน ACD ของไทยในต้นปีหน้านี้ ประเทศไทยจะขับเคลื่อการทำงานภายใต้การขับเคลื่อนในกรอบ 6 เสาความร่วมมือ (pillar of cooperation ) กันอย่างมียุทธศาสตร์ ผนวกกับความร่วมมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่น ได้แก่ ASEAN GCC (Gulf Cooperation Council: GCC) BRICS CICA และ SCO เพื่อร่วมกันสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลก 

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงความสำคัญของการทบทวน สถาปัตยกรรมทางการเงิน โดยบทเรียนจากประสบการณ์ในอดีตจากวิกฤตการเงิน ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการมีระบบการเงินที่มีความสมดุลและยืดหยุ่น ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสร้าง 'สถาปัตยกรรมการเงินที่สมดุล' ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งภายใต้การเป็นประธาน ACD ในปีหน้า ประเทศไทยจะจัดการประชุมเพื่อพิจารณาการพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการเงิน 

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐกาตาร์ที่เป็นเจ้าภาพการประชุม และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในการทำหน้าที่อย่างแข็งขันในฐานะประธานการประชุมปีนี้ พร้อมแสดงความยินดีที่ได้ร่วมงานกับเลขาธิการ ACD คนใหม่ โดยการประชุมนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของ ACD ที่พร้อมร่วมมือกัน มากกว่าการแข่งขันและความขัดแย้ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศของสมาชิก ACD และยกระดับชีวิตประชาชนหลายล้านคน นำไปสู่การฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นประธานในปีหน้า ไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันวาระของ ACD เพื่อสร้างเอเชียที่แข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น พร้อมกับเน้นความร่วมมือเพื่อทำให้ศตวรรษนี้เป็น 'ศตวรรษแห่งเอเชีย' อย่างแท้จริง โดยมี ACD เป็น 'เวทีหารือแห่งเอเชีย' (Forum of Asia) ที่พร้อมจะร่วมกันผลักดัน 'วาระของเอเชีย' (Asia’s agenda) ต่อไปให้ก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาที่สำคัญของประเทศสมาชิกต่อไปนายจิรายุกล่าว

อนึ่ง กรอบ ACD มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน 6 เสาความร่วมมือ (pillar of cooperation) ได้แก่ (1) ตุรกีและรัสเซีย เป็นประธานร่วมคณะทำงานด้านความเชื่อมโยง (2) อินเดียเป็นประธานคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (3) อิหร่านเป็นประธานคณะทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (4) จีนเป็นประธานคณะทำงานด้านความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ (5) อิหร่านเป็นประธานคณะทำงานด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (6) ไทยเป็นประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมแนวทางไปสู่การพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยประธานของแต่ละคณะทำงานมีภารกิจในการจัดประชุมเพื่อหารือ และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือโดยประธานคณะทำงานดังกล่าวมีวาระ 1 ปี และต้องสรรหาใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนประธาน ACD ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก ACD อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้งเสาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เร่งเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ – อีสาน ในโครงการฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมมูลค่ากว่า 4.4 ล้านบาท พร้อมนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกตรวจรักษาและจ่ายยาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

ระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 4 ตุลาคม 2567 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ พร้อมด้วย นางศิริพร กระจ่างหล้า ผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นายรัชพร ประสงค์ทรัพย์ หัวหน้าแผนกสาธารณภัย ลงพื้นที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ เชียงราย และนายชุมพล บุญภักดี ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกสาธารณภัยลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช และน้ำปลา ให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในโครงการฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด เครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 9,000 ชุด นอกจากนี้ยังได้ มอบเงินสงเคราะห์ค่าฌาปนกิจให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 18 รายๆ ละ 20,000 บาท รวมงบประมาณการช่วยเหลือทั้งสิ้น 4,410,000 บาท (สี่ล้านสี่แสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ทีมงานแผนกบรรเทาสาธารณภัย และแผนกอาสาสมัครมูลนิธิฯ รวมทั้ง อาสาสมัครกิตติมศักดิ์มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางศิริพร โอภาสวงศ์ และ นางศิริวรรณ โอภาสวงศ์ และอาสาสมัครศิลปินมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นางสาวอัญชลี จงคดีกิจ (ปุ๊-อัญชลี) ร่วมลงพื้นที่แจกจ่ายและให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัย ในพื้นที่  รวมถึง มูลนิธิฯ / สมาคมจีนประจำจังหวัดต่างๆ เป็นผู้ประสานงานและร่วมในพิธี

นอกจากนี้  นางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้นำทีมหน่วยแพทย์ฯ และเจ้าหน้าที่กู้ชีพ แผนกบรรเทาสาธารณภัยฯ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ลงพื้นที่ให้บริการประชาชนฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา คัดกรองเบาหวาน ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น บริการตัดผม ฯลฯ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีประชาชนเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก

นับตั้งแต่เกิดอุทกภัยใหญ่ในช่วงเดือนกรกฎาคม2567 เป็นต้นมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคเหนือ - อีสาน ในโครงการฟื้นฟูหลังน้ำลดแล้วทั้งสิ้น 10 จังหวัด รวมงบประมาณการช่วยเหลือไม่ต่ำกว่า 9.5 ล้านบาท

เมื่อเกิดอุทกภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้จัดทีมบรรเทาสาธารณภัย พร้อมเรือท้องแบน และ โรงครัวเคลื่อนที่เพื่อประกอบอาหารกล่อง พร้อมถุงยังชีพ ชุดยาเวชภัณฑ์ และอาหารสุนัขและแมว นำแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย เพื่อการบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ในเบื้องต้น หลังจากนั้น ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ จะดำเนินการประสานหน่วยงานในพื้นที่เพื่อบรรเทาทุกข์ ฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยแจกเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึงมอบเงินค่าฌาปนกิจศพแก่ญาติผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย รายละ 20,000 บาท ทั้งนี้ หากมีผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย ญาติของผู้เสียชีวิตสามารถขอรับเงินช่วยเหลือค่าฌาปนกิจศพ จากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่ สายด่วนป่อเต็กตึ๊ง 1418 ต่อ ฝ่ายสังคมสงเคราะห์

ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการภารกิจในพื้นที่ และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินและเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านต่าง ๆ ต่อไป

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง www.facebook.com/pohtecktungofficial

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง #ช่วยชีวิต #รักษาชีวิต #สร้างชีวิต”
#แอปพลิเคชัน และ #สายด่วน ป่อเต็กตึ๊ง1418
#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน

รมว.กต.เผยนายกฯ เตรียมกล่าวถ้อยแถลงเวทีผู้นำ ACD ครั้งที่ 3 พร้อมหารือทวิภาคีร่วมอิหร่าน-คูเวต-กาตาร์และทาจิกิสถาน - ย้ำยังห่วงคนไทยในตะวันออกกลาง กำชับคอยติดตามข่าวสารทางการ-สอท.

(3 ต.ค. 67) นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งร่วมคณะเดินทางกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมประชุม Asia Cooperation Dialogue หรือ ACD ครั้งที่ 3 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เปิดเผยกำหนดการสำคัญของนายกรัฐมนตรี ในการร่วมประชุมในวันนี้ (3 ต.ค.) ว่า นายกรัฐมนตรี มีกำหนดหารือทวิภาคี หรือ Bilateral ร่วมกับผู้นำอิหร่าน ในฐานะที่เป็นประธาน ACD ปีนี้ รวมถึง ผู้นำคูเวต, กาตาร์ และประเทศทาจิกิสถาน

นอกจากนั้น ในเวลาประมาณ 14.20 น. ตามเวลาประเทศไทย นายกรัฐมนตรี จะขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2559 มาก่อน และในฐานะประธาน ACD ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคมนี้ โดยนายกรัฐมนตรี ต้องการผลักดันให้ ACD เป็นเวทีการหารือระดับนโยบาย เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย ส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นเวทีที่ประเทศสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้วยความเข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายของโลก รวมทั้งความท้าทายจากการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจร่วมกัน 

นายมาริษ ชี้แจงด้วยว่า ACD ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 โดยการริเริ่มของไทย ปัจจุบันมีสมาชิก 35 ประเทศ ซึ่งวัตถุประสงค์ และความสำคัญของ ACD นั้น เป็นเวทีหารือระดับนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปเอเชียที่ประเทศสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ของโลก ส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นเวทีเดียวในเอเชียที่เชื่อมโยงประเทศในทุกพื้นที่ของทวีปเอเชีย
(Pan-Asian Forum) และกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ BRICS, ASEAN และ CICA เป็นต้น

นายมาริษ ยังย้ำอีกว่า นายกรัฐมนตรี ยังคงติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เนื่องจาก มีความห่วงกังวลต่อพลเมือง และสถานการณ์ด้านมนุษยธรรม โดยได้ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุด และยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้สถานการณ์ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย และยังแสดงความห่วงใยต่อความปลอดภัยของคนไทยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงในตะวันออกกลาง จึงกำชับให้คนไทยในพื้นที่ทุกคนติดตาม และปฎิบัติตามคำแนะนำของทางการท้องถิ่น และสถานเอกอัครราชทูตไทยอย่างเคร่งครัด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top