(2 พ.ย. 67) พบดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าค่าเฉลี่ยแถมมีร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยสูงสุดของประเทศ รักษาราชการแทนผู้ว่าฯชี้ปี 68 มุ่งเป้าป้องกันนักสูบนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มทักษะชีวิต ด้านสื่อมวลชนแฉมีตำรวจเกี่ยวข้องขบวนการขายบุหรี่ฟ้าให้นักศึกษาม.ดังเมืองสองแคว
วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องอุทัยธานี โรงแรมท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนพิษณุโลก โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “ปัญหา เหล้า-บุหรี่เมืองสองแคว...แก้อย่างไรให้ตรงจุด” โดยมี นายทรงพล วิชัยขัทคะ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดการประชุมมีสื่อมวลชน ทุกแขนง ในจังหวัดพิษณุโลกเข้าร่วมประชุม
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)กล่าวต่อที่ประชุมว่าว่าสสส.มีบทบาทในการสานและเสริมพลังบุคคล ชุมชนและองค์กรทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนการมีสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ บุหรี่และแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่เด็กผู้หญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 15 มากกว่าหลายประเทศในเอเชียและล่าสุดบุหรี่ไฟฟ้าได้แพร่กระจายไปสู่เด็กชั้นประถมแล้ว เช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีผลกระทบหลายด้าน การดื่มแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในปี 2565 ถึง 2,390 คน คิดเป็นร้อยละ 14.1 ของการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวน 16,957 คน สสส.จึงทำงานร่วมกับสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาคสร้างการรับรู้และรู้เท่าทันให้กับประชาชน การผลักดันมาตรการ นโยบายและกฎหมายเพื่อป้องกันแก้ไขลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความพยายามของธุรกิจบุหรี่ที่ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย การรุกของธุรกิจแอลกอฮอล์แก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 เพื่อปลดล็อกให้สามารถขายและดื่มได้อย่างเสรีมากขึ้น
นายทรงพล วิชัยขัทคะ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกรักษาราชการแทนผู้ว่าพิษณุโลกกล่าวเปิดการประชุมว่าขอชื่นชมว่าหัวข้อการจัดประชุมดีมากว่าปัญหาเหล้าบุหรี่จะแก้อย่างไรให้ตรงจุด เพราะที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็พยายามร่วมกันแก้ปัญหาแต่อยู่ที่ว่าตรงจุดหรือไม่ ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหสำคัญที่จะต้องช่วยกันแก้ไข แต่เวลาลงมือปฎิบัติจะต้องทำอย่างมีจุดเน้นเช่นควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายไปเลยว่าในปี 2568 เราจะมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันนักสูบนักดื่มหน้าใหม่ แล้วกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องทำอะไร ครูต้องทำอะไร กำกัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ตำรวจจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เห็นผลแล้วปี 2559 ก็กำหนดกลุ่มเป้าหมายใหม่ว่าจะมุ่งไปสู่กลุ่มไหน ตนเองลงพื้นที่ชุมชนยังพบว่าร้านค้าในชุมชนยังคงขายบุหรี่ขายเหล้าอยู่ทั้งๆที่เป็นหมู่บ้านศีล 5 เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังเป็นห่วงเรื่องอิทธิพลของโทรศัพท์มือถือเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองมักจะเลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์มือมือโยนภาระให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในขณะที่พิษภัยของบุหรี่และแอลกอฮอล์แฝงตัวซึมลึกผ่านมือถือ ดังนั้นควรให้ความรู้และเพิ่มทักษาะในชีวิตเพื่อปฏิเสธสิ่งเหล่านี้กับเด็กด้วย
ดร.ไพรัตน์ อ้นอินทร์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่2 กล่าวว่าสถานการณ์ในจังหวัดพิษณุโลก ปี 2564 พบว่า ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการดื่มสุรา ร้อยละ 30.70 อยู่ในอันดับที่ 29 ของประเทศ เป็นกลุ่มนักดื่มประจำ ร้อยละ 52.90 เป็นนักดื่มหนักร้อยละ 40.60 และดื่มแล้วขับ ร้อยละ 43.30 สำหรับกลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปี มีอัตราการดื่มสุราร้อยละ 13.60 อยู่อันดับที่ 16 ของประเทศ ซึ่งถือว่ายังมีอัตราที่สูงกว่าระดับประเทศ ส่วนสภาพปัญหาในพื้นที่ พบว่า มีร้านจำหน่ายสุรารอบมหาวิทยาลัยมากที่สุดในประเทศ มีสถานบันเทิงจำนวนมากในเขตเมือง ทำให้กลุ่มนักศึกษาเข้าถึงได้ง่าย แต่จุดแข็งของ จ.พิษณุโลกคือความร่วมมือของภาครัฐและประชาคมเครือข่ายองค์กรงดเหล้าทั้งการเฝ้าระวังสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย การปรับแนวทางการทำงานมองว่าผู้ประกอบการคือมิตรโดยให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องปกป้องการถูกจับปรับ มีเครือข่ายครูร่วมมือกับภาครัฐ ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ขับเคลื่อนสถานศึกษาปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นางสาวภัทรินทร์ ศิริทรากุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่2 กล่าวว่าจากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรไทย พ.ศ. 2564 พบว่าจังหวัดพิษณุโลก อัตราการสูบอยู่ที่ร้อยละ 17.0 สูงเป็นอันดับที่ 3 ของเขตสุขภาพที่ 2 กลยุทธ์ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าที่กลุ่มเยาวชนทำให้การบริโภคยาสูบในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 19 ปีลดลงเพียงเล็กน้อยยกเว้นจังหวัดอุตรดิตถ์ และสุโขทัยที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ภาพรวมการสูบบุหรี่ลดลงแต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลการสำรวจการบริโภคยาสูบของเยาวชนในสถานศึกษา (GYTS) ปี 2565 ในกลุ่มเด็กนักเรียน อายุ 13-15 ปี พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 5.3 เท่า ในระยะเวลา 7 ปี จากร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 17.6 ช่องทางในการซื้อบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 75.7 ซื้อผ่านออนไลน์ ดังนั้นทุกหน่วยงานควรผลักดันให้เกิดนโยบายการป้องกันนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่ให้เกิดผลเชิงประจักษ์
พ.ต.อ.ธัชพงศ์ วงศ์พัฒนานิวาศ ผู้กำกับการตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก กล่าวว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้นโยบายตำรวจทั่วประเทศแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า 4 เรื่องคือ 1.ทำให้โรงเรียนและสถานศึกษาปลอดบุหรี่ไฟฟ้าเน้นกวดขันจับกุมร้านจำหน่ายรอบสถานศึกษา 2.ทุกหน่วยต้องมีผลการจับกุมที่เป็นรูปธรรม 3.ตัดวงจรรายใหญ่ จับกุมการจำหน่ายช่องทางออนไลน์ที่เป็นเครือข่ายระดับประเทศเพื่อตัดวงจรการกระจายสินค้าและ 4.การประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ตำรวจชุมชนสัมพันธ์เข้าไปให้ความรู้แก่ชุมชนและสถานศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมายและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนผลการจับกุมผู้จำหน่วยและครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่สภ.เมืองพิษณุโลกตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ถึงปัจจุบันจับกุมได้ 44 ราย เป็นผู้ครอบครองไว้สูบ 42 ราย เป็นผู้ครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย 2 ราย เช่นวันที่ 30 พ.ค.2567 จับได้ 179 ชิ้น วันที่ 14 มิถุนายน 2567 จับกุมจากการจำหน่ายช่องทางออนไลน์ เป็นหัวpod บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง 516 ชิ้น เครื่องบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง 264 ชิ้น เครื่องบุหรี่ไฟฟ้าแบบเปลี่ยนหัวและหยดสูบ 22 ชิ้น น้ำยาชนิดเติมบุหรี่ไฟฟ้า 26 ขวด
นายประดับ สุริยะ กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมสื่อสารมวลชนพิษณุโลกผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดพิษณุโลกกล่าวว่าได้เข้าไปมีบทบาทในคณะกรรมการระดับจังหวัดทั้งบุหรี่และแอลกอฮอล์มีการบูรณาการการทำงานทั้ง 2 ประเด็นเน้นการเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดปัจจัยเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันนักสูบนักดื่มหน้าใหม่ สร้างชุมชนให้ปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้านนายมังกร จีนด้วง นายกสมาคมสื่อสารมวลชน ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมผ่านผู้กำกับการสภ.เมืองพิษณุโลกว่ามีข่าวซุบซิบกันว่ามีนายตำรวจคนหนึ่งเข้าไปมีส่วนกับขบวนการขายบุหรี่ออนไลน์ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชื่อดังของพิษณุโลกด้วยซึ่งผู้กำกับสภ.เมืองพิษณุโลกรับที่จะไปดูแลเรื่องนี้ ในขณะที่สื่อมวลชนหลายสำนักเสนอว่านอกจากการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชนแล้วตำรวจและฝ่ายปกครองควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นายศักดา แซ่เอียว ประธาน สสสย. เห็นว่ามาตรการร้อยแปดประการที่ทุกภาคส่วนมาร่วมกันระดมสรรพกำลังกันมายาวนาน ซึ่งต้นตอมาจากผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์ สื่อจะมาช่วยกันชะลอภัยพิบัตินี้อย่างไร โดยเฉพาะกับเด็กเยาวชนไม่ใช่ต้องวิ่งไล่ตามแก้ปัญหา เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันให้ตระหนักรู้ ถึงพิษภัยเหล่านี้ โดยใช้เครื่องมือและสื่อสมัยใหม่เพื่อให้เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่
นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)กล่าวปิดการประชุมและขอบคุณรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก วิทยากรและสื่อมวลชนที่ร่วมสะท้อนปัญหาและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยกำหนดจุดเน้นชัดเจนในการปกป้องนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ทั้งการรู้เท่าทัน การสร้างภูมิคุ้มกันและการบังคับใช้กฎหมายและหวังว่าจะมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไป