Sunday, 5 May 2024
LITE

ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

✨ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
✨ประจำวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
 

16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ‘เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด’ ละสังขาร

วันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คือวันที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ แห่งวัดบ้านไร่ ด่านขุนทด ได้ละสังขารจากโลกนี้ไป เหลือไว้แต่คำสอนอมตะ ให้จารึกจดจำและปฏิบัติไปตลอดกาล

พระเทพวิทยาคม นามเดิม คูณ ฉัตร์พลกรัง หรือที่รู้จักในนาม หลวงพ่อคูณ พระเกจิอาจารย์ดัง อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ที่ลูกศิษย์ยกย่องเป็น ‘เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด’

หลวงพ่อคูณ ถือกําเนิดที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. 2466 มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน บิดามารดาของหลวงพ่อคูณเสียชีวิตลงในขณะที่ลูกๆ ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้องๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ได้เรียนหนังสือกับพระที่วัดบ้านไร่ ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ยังได้สั่งสอนวิชาคาถาอาคมให้ด้วย

หลวงพ่อคูณอุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอําเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า 'ปริสุทโธ' หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้วท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สํานักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา หลวงพ่อคูณได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งให้การศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน หลังจากนั้นหลวงพ่อคูณได้ออกธุดงค์ จาริกอยู่ในเขต จ.นครราชสีมา รวมทั้งธุดงค์ไปไกลถึงประเทศลาว และกัมพูชา

หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากกัมพูชากลับมายังประเทศไทย เดินข้ามเขตด้าน จ.สุรินทร์ สู่ จ.นครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดําเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ. 2496 โรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านโดยรอบดีขึ้นด้วย

หลวงพ่อคูณเป็นพระที่มีชื่อเสียงเรื่องการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งท่านได้สร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชได้ 7 พรรษา โดยเริ่มทําวัตถุมงคลซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคํา "ใครขอกูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน" เป็นคํากล่าวของท่าน

เมื่อปี 2556 หลวงพ่อคูณเคยอาพาธด้วยอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และมีอาการหลอดลมอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจนอาการดีขึ้นก่อนจะกลับไปรักษาตัวที่วัดบ้านไร่ โดยมีคณะแพทย์เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณมีทั้งทรงตัวและแย่ลง จนกระทั่งมีอาการหมดสติเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558

ต่อมาวันที่ 16 พ.ค. 2558 เมื่อเวลา 10.00 น. คณะแพทย์รายงานผลว่าการเฝ้าตรวจติดตามอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณ มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดออกในช่องอก ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลว ภาวะหัวใจหยุดเต้น คณะแพทย์ได้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับภาวะไตไม่ทำงานได้ให้การรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขณะนี้อาการโดยรวมทรุดลง จนกระทั่งเวลา 11.45 น. หลวงพ่อคูณ ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

วันนี้ เมื่อ 172 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฏว่า

"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในฝ่ายสมณศักดิ์นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาอภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น

รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่ ทรงแก้ไขธรรมเนียมข้าราชการเข้าเฝ้าให้สวมเสื้อเช่นประเทศตะวันตก ทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการต่างประเทศกับชาติตะวันตก (สนธิสัญญาเบาว์ริง) ทรงนำสยามรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก ทรงสนพระทัยเรียนรู้ภาษาตะวันตกและวิชาการของตะวันตก เช่น วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ จนทรงสามารถทำนายการเกิดสุริยุปราคาที่ ต.หว้ากอ จ. ประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างแม่นยำ จนได้รับการขนานพระนามว่า 'พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย' ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา 18 ปี จึงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411

14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น วันอนุรักษ์ควายไทย ร่วมอนุรักษ์ – ส่งเสริมการเลี้ยงควายไทย

ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันอนุรักษ์ควายไทย’ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และดูแลควายไทย และส่งเสริมการเลี้ยงควาย ให้อยู่คู่คนไทยไปอีกแสนนาน

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทยและผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควายยังเป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากทางภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างเสริมอาชีพ การกำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนไทยถึงความสำคัญของควายและช่วยกันอนุรักษ์ก่อนที่ควายไทยจะสูญพันธุ์ไป

ควาย หรือภาษาทางการเรียกว่า กระบือ ที่เรารู้จักกันนี้ น้อยคนแล้วที่จะได้เคยเห็นตัวจริง ได้รู้จักตัวเป็นๆ ของสัตว์สี่เท้าที่มีกีบเหล่านี้ ควายไทยถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของไทยมาอย่างช้านาน คนไทยเทียมควายไถนามาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ด้วยความที่เป็นสัตว์ที่มีความอดทน ทนแดด ทนร้อน ทนสภาพอากาศแห้งแล้งได้ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือไถนาชั้นดี ก่อนที่จะมีรถไถเกิดขึ้นมา นอกจากนี้แล้วการเดินทางในสมัยก่อนก็ยังใช้ควายเทียมเกวียน เพื่อทุ่นแรงในการเดินทางไกลอีกด้วย แต่ปัจจุบันควายไทยถูกลดความสำคัญลง จนกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น

เหตุที่ต้องกำหนดให้เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม เนื่องมาจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสรับสั่งถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือ เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ควายไทยสืบมา

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ‘เสธ.แดง - พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล’ ถูกลอบยิงขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

วันนี้เมื่อ 13 ปีก่อน ‘เสธ.แดง - พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล’ ถูกลอบยิงขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ท่ามกลางการชุมนุมทางการเมืองที่ตึงเครียด และเสียชีวิต 4 วันต่อมา จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เป็นชาวอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2494 จบโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 11, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 22 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63  และจบปริญญาเอกสาขาบริหารรัฐกิจจาก UNIVERSITY OF NORTHERN PHILIPPINES

เสธ.แดง เข้ารับราชการครั้งแรกในกองพันทหารราบที่ 4 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ในยศร้อยตรี และได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าช่วงปี พ.ศ.2529 ก่อนได้เลื่อนยศเป็นพันเอกพิเศษ เมื่อปี พ.ศ.2536  และได้เลื่อนยศเป็นพลตรี เมื่อปี พ.ศ.2541 และได้เป็นผู้ชำนาญการกองบัญชาการทหารสูงสุด และกลายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกในปีถัดมา

เสธ.แดง เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปก็มาจากคดีความรื้อบาร์เบียร์ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เมื่อ เสธ.แดง ได้กล่าวหา นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งว่าใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือนายชูวิทย์ ทำให้ นายตำรวจคนดังกล่าว ออกมาฟ้องเรียกค่าเสียหาย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ในการชุมนุมใหญ่ของ นปช.( เสื้อแดง) เพื่อขับไล่ ‘รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ และเกิดเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้ง ขณะที่ หลายเหตุการณ์มีชื่อของเสธ.แดง เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

กระทั่งมาถึงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 หลังจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศใช้มาตรการปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่แยกราชประสงค์ โดยการตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า งดบริการขนส่งสาธารณะ และห้ามผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่โดยเด็ดขาด 

ต่อมาเวลาประมาณ 19.20 น. ในขณะที่ เสธ.แดง กำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศบริเวณแยกศาลาแดง ได้มีสไนเปอร์ลอบยิงจากระยะไกล เป็นผลให้ เสธ.แดง ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงจากมุมสูงเข้าที่ศีรษะท้ายทอยด้านขวาและทะลุท้ายทอยด้านซ้าย กลุ่มคนเสื้อแดงได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว หลังจากนั้นทางญาติจึงตัดสินใจย้ายไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลในกลางดึกของวันเดียวกัน อาการของ เสธ.แดง อยู่ในสภาพทรงตัวมาตลอด จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ด้วยวัย 59 ปี

วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล (International Nurses Day) ระลึก ‘ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพพยาบาล

นอกจากวันพยาบาลแห่งชาติ ที่ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีแล้ว สภาพยาบาลระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพพยาบาลระดับโลก ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 

เหตุที่กำหนดให้ 12 พฤษภาคม เป็นวันพยาบาลสากล เพราะเป็นวันเกิดของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ให้กำเนิดวิชาชีพการพยาบาลแผนปัจจุบัน และเป็นผู้มีอุดมการณ์ ตั้งใจบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง จนได้รับการยกย่อง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

วันพยาบาลสากลจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณความดีของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่สร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์อย่างมากมาย รวมทั้งเพื่อยกย่อง ให้เกียรติ และยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายให้พยาบาลทั่วโลก ร่วมมือกันจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางในการให้พยาบาลทั่วโลก ได้รณรงค์แก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอีกด้วย

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) เป็นชาวอังกฤษ แต่เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1820 ครอบครัวของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จัดว่าเป็นชนชั้นสูงที่มีฐานะดี ทำให้เธอได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี เธอมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ จึงขอบิดามารดาเรียนพยาบาล แต่เนื่องจากในยุคนั้น งานพยาบาลถือเป็นงานของชนชั้นแรงงาน และไม่ได้รับความนับถือจากคนในสังคมชั้นสูงนัก ครอบครัวของเธอจึงปฏิเสธ แต่ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ก็ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อผู้ที่เจ็บป่วย และคอยหาโอกาสได้ไปเยี่ยมตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก่อนเข้าศึกษาอบรมวิชาพยาบาลที่ประเทศเยอรมนีสมดังใจ

ต่อมาในปี 1857 เกิดสงครามไครเมียขึ้น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล อาสาไปช่วยดูแลทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม นอกจากเสียสละทรัพย์สินส่วนตัวแล้ว เธอยังขอเรี่ยไรจัดหาเครื่องเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือทหาร และออกเยี่ยมเยียนเพื่อรักษา และให้กำลังใจทหารตั้งแต่เช้าจนค่ำ มักมีคนเห็นฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ถือตะเกียงเล็ก ๆ คอยเดินตรวจอาการของเหล่าทหารกลางดึกอยู่เสมอ จนผู้คนต่างพากันเรียกเธอว่า The Lady with the Lamp

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังเป็นผู้ที่ริเริ่มเสนอแนวคิดเรื่องการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาล เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่มีคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เชื้อโรค มากนัก ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล คือผู้ที่สังเกตเห็นว่า ทหารที่มีบาดแผลสกปรก จนเกิดการอักเสบ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง และเรียกร้องให้มีการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด

หลังสงครามสิ้นสุดลง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ได้พัฒนากิจการพยาบาลให้ก้าวหน้าขึ้น จนได้รับการยอมรับให้เป็นผู้จัดระเบียบด้านสุขภาพในกองทัพประเทศอังกฤษ วางแผนงานด้านสุขาภิบาลในประเทศอินเดีย ก่อนจะก่อตั้งโรงเรียนการพยาบาลที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนพยาบาลทั่วโลก

11 พฤษภาคม ของทุกปี ‘วันปรีดี พนมยงค์’ ผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

11 พฤษภาคม ‘วันปรีดี พนมยงค์’ เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของไทย ผู้สร้างคุณูปการมากมายทั้งด้านการเมือง กฎหมาย การศึกษา จนได้รับยกย่องจากยูเนสโกว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือ อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ บ้านวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับว่าเป็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยเป็นทั้งผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (27 มิถุนายน 2477) และเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย (ในระหว่างปี 2477-2495) ทั้งนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย แต่ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 8 โดยถูกกล่าวหาจากขั้วตรงข้ามทางการเมืองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

และเมื่อครั้งรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ รวมระยะเวลากว่า 30 ปี โดยไม่ได้กลับสู่ประเทศไทย แต่ระหว่างลี้ภัยทางการเมืองนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาท ปรากฏว่าชนะทุกคดี และได้รับการรับรองจากทางราชการตลอดจนเงินบำนาญและหนังสือเดินทางของประเทศไทย กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 บนโต๊ะทำงาน ขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ในบ้านพัก ที่ประเทศฝรั่งเศส สิริรวมอายุ 83 ปี

10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ คร่าชีวิตคนรวม 188 ราย

ครบรอบ 30 ปี โศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรง กับเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ ย่านพุทธมณฑล สาย 4 คร่าชีวิตผู้คนรวม 188 ราย

เหตุเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เวลา 16.00 น. ที่ โรงงานของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ถนนพุทธมณฑล สาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสินค้าของเล่นสำหรับเด็กส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ตุ๊กตา เป็นต้น นับเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีผู้เสียชีวิตรวม 188 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน 

ก่อนหน้านี้ โรงงานของเล่นดังกล่าว เคยเกิดเพลิงไหม้อาคารแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 เพลิงไหม้บริเวณชั้น 3 อาคารได้รับความเสียหายมาก สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมไฟฟ้าลัดวงจร ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2534 เพลิงไหม้ที่โรงเก็บตุ๊กตา และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2536 เกิดเพลิงไหม้อาคารหลังที่ 3 ชั้น 2 และชั้น 3 ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย

จากการสืบสวน พบว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม และไม่มีการซักซ้อมการรับมือกับอัคคีภัยให้แก่พนักงาน ภายหลังเกิดเพลิงไหม้ ประมาณ 15 นาที โรงงานก็ได้ยุบตัวพังทลายลงมา นอกจากนี้ยังพบว่า โรงงานดังกล่าวไม่ได้สร้างบันไดหนีไฟ หรือสำรองเอาไว้ ประตูทางเข้า-ออกมีน้อย และคับแคบเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่มีระบบการเตือนภัยที่สมบูรณ์และได้มาตรฐาน 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ปิดประตูโรงงาน เพราะกลัวคนงานจะขโมยทรัพย์สินในอาคาร เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากคนงานทิ้งก้นบุหรี่ไว้ แล้วเกิดการติดไฟกับผ้าในโรงงาน

สืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540

‘ลิซ่า’ ขึ้นแท่นศิลปินเดี่ยวเค-ป็อปคนแรก ที่มีสถิติกินเนส เวิลด์ เรคคอร์ดมากที่สุด

‘ลิซ่า BlackPink’ สร้างสถิติไม่หยุดหย่อนอีกแล้วในฐานะศิลปินเดี่ยว เพราะล่าสุดทาง กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด ได้ยืนยันสถิติอย่างเป็นทางการว่าเธอคือศิลปินเดี่ยวเค-ป็อปคนแรกที่สร้างสถิติได้มากที่สุด แซงหน้า ‘ไซ’ อดีตรุ่นพี่ร่วมค่าย

หลังจากที่ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BlackPink ได้รับการขนานนามจากสื่อยกเป็น ศิลปินเดี่ยวที่โดดเด่นที่สุดในรอบทศวรรษ, การมีผลงานติดท็อปชาร์ตหลัก ๆ ทั่วโลก, รวมถึงท็อปสูงสุดของทั้ง YouTube, Spotify และ iTunes รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วยผลงานเพียงแค่ 2 เพลง พร้อมทั้งขึ้นรับรางวัลจากสถาบันต่าง ๆ มาอย่างมากมาย และล่าสุด กินเนสฯ ได้บันทึกชื่อของเธอเพิ่มอีก 2 สถิติอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว

โดยเริ่มจากสถิติใหม่อย่าง ศิลปินหญิงเดี่ยวเค-ป็อปที่มียอดสตรีมใน Spotify แตะ พันล้านได้เร็วที่สุดทั้งจากผลงานเพลง LALISA, Money และ SG (ร่วมงานกับ ดีเจสเนค, โอซูนา และ เมแกน ที สตอลเลียน ) ซึ่งถูกบันทึกสถิตินี้ไว้เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2022

ตามมาด้วย กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด ได้ยืนยันว่า อัลบั้ม LALISA ยังเป็นอัลบั้มศิลปินเดี่ยวเค-ป็อป ที่มียอดสตรีมใน Spotify ถึง พันล้าน ซึ่งถูกบันทึกเอาไว้เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2023 นับเป็นเวลา 595 วันหลังจากปล่อยผลงานอัลบั้มแรกออกมา

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามอนุสัญญาโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน

วันนี้ในอดีต เมื่อ 82 ปีก่อน ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกันที่กรุงโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน ผลทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนมาจากฝรั่งเศส 

แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ไทยมีความจำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่า 'ความตกลงวอชิงตัน' มีผลให้อนุสัญญากรุงโตเกียวสิ้นสุดลง โดยไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับประเทศฝรั่งเศสตามเดิม 

‘กระเป๋าย่านลิเภา’ ในสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี งานหัตถศิลป์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระพันปีหลวง

(8 พ.ค. 66) ภายหลังจาก ‘พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’ และ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี’ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

มีอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึง นอกเหนือพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นสิ่งที่หัวข้อสนทนาและถกถามกันในหมู่ชาวต่างชาติ นั่นก็คือ ‘กระเป๋าทรงถือ’ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงเลือกถือ นั่นเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีชาวอังกฤษได้เขียนโพสต์ลงในทวิตเตอร์ระบุว่า "That purse is fabulous. Anyone know who made it?" มีความหมายประมาณว่า ‘กระเป๋าใบนั้นช่างสวยเลิศเหลือเชื่อ ใครก็ได้บอกหน่อยว่าใครทำ’ 

หลังจากนั้นก็มีชาวไทยหลายคนเข้าไปตอบข้อความนั้น โดยสรุปในความรวมได้ว่า ‘กระเป๋าทรงถือ’ ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เป็นงานหัตถกรรมจากย่านลิเภา งานหัตถศิลป์ฝีมือคนไทยจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ต่อมาเพจเฟซบุ๊ก ‘มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ’ ได้โพสต์ข้อความอธิบายเกี่ยวกับ ‘กระเป๋าย่านลิเภา’ โดยระบุว่า…

“กระเป๋าย่านลิเภา คือ เครื่องจักสานชนิดหนึ่งที่สานโดยเส้นย่านลิเภาซึ่งเป็นพืชในสกุลเฟิร์นหรือไม้เถาชนิดหนึ่ง (ไม้เถาเรียกย่านลิเภาในภาษาปักษ์ใต้) ส่วนใหญ่พบในป่าทางภาคใต้ของประเทศไทย เส้นย่านลิเภา มีความเหนียวทนทานเหมาะที่จะทำกระเป๋า

ซึ่งกว่าเราจะได้ผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภาแต่ละชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย เพราะต้องใช้ความอดทนบวกกับทักษะฝีมือ ถือเป็นงานหัตถกรรมที่มีกรรมวิธียุ่งยากซับซ้อนไม่แพ้งานหัตถกรรมชนิดอื่น

#มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ #จักสาน #ย่านลิเภา”

ทางด้านผู้ใช้เพจ ‘ดร ณัชร สยามวาลา Nash Siamwalla, PhD’ ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงประเด็นนี้เช่นกัน โดยระบุว่า...

“😍🙏 เห็นแล้วนึกถึงตอนเด็ก ที่ทันเห็นสมเด็จพระพันปีหลวงทรงพระราชทานคำแนะนำช่วยชาวบ้านนำกระเป๋าย่านลิเภานี้สู่สายตาชาวโลกครับ ตอนนั้นเป็นวันเฉลิมฯ 12 ส.ค. ที่ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทต่อมหาสมาคมที่เข้าไปถวายพระพรที่ตำหนักดุสิตาลัย คุณหญิงย่าเข้าเฝ้าฯ ด้วยจำแม่นเลยเห็นในถ่ายทอดสด พระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรมีมากมายจาระไนไม่หมด เห็นมากับตา สัมผัสมาด้วยตนเอง 😊🙏❤️”

8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทย

วันนี้ เมื่อ 149 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทยขึ้นบริหารประเทศ เรียกการบริหารงานของรัฐมนตรีชุดนี้ว่า สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ 1. สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) (รัฐมนตรีสภา) มีสมาชิกจำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ-ออกกฎหมาย 

2. สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (ที่ปรึกษาในพระองค์) หรือ ปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) มีสมาชิกจำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและดูแลบ้านเมือง-ราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณ

ถือเป็นต้นกำเนิดของคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดิน 

สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย สมาชิกผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาจำนวน 12 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่าง ๆ ในด้านนิติบัญญัติ และเมื่อข้อราชการใดที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีมติเห็นชอบ ก็ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ประชาชนคนไทยรู้จัก ‘พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท’ กันเป็นอย่างดี ซึ่งในวันนี้เมื่อ 147 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ขึ้นอย่างเป็นทางการ

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นท้องพระโรง การณ์นี้ได้มีการว่าจ้าง นายยอน คลูนิช ชาวอังกฤษ เป็นนายช่างหลวงออกแบบพระที่นั่งฯ 

ทั้งนี้เป็นการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย กับสถาปัตยกรรมยุโรป โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ ‘ฝรั่งสวมชฎา’ 

6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ พร้อมด้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ เมื่อ 18 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสระว่ายน้ำสำหรับการรักษาแบบธาราบำบัด ให้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูก และโรคระบบประสาท จำนวน 2 สระ โดยพระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง พร้อมทั้งพระราชทานชื่อสระว่ายน้ำว่า ‘สระสุวรรณชาด’ ตามชื่อของ ‘คุณทองแดง’ โดยเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 ในการสร้างสระนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำในการออกแบบตามหลักวิชาการและได้ใช้สระว่ายน้ำของสุนัขทรงเลี้ยงมาเป็นต้นแบบ ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2548

รู้จัก 'สถานีรถไฟบ้านส้อง' สุราษฎร์ธานี ผ่านมุมคนถิ่น พิกัดเซฟชีวิตคุณยายในเสี้ยววินาที ที่ 'บิ๊กตู่' ต้องขอเยี่ยมเยียน

(5 พ.ค. 66) โด่งดังถึงขั้นที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องถือโอกาสเข้าไปให้กำลังใจ นายฐิติพงศ์ พิริพล นายสถานีรถไฟบ้านส้อง อ.เวียงสระ ด้วยตนเอง หลังจากเจ้าตัวได้เสี่ยงชีวิตเข้าช่วยหญิงสูงอายุพิการทางการได้ยินและเป็นใบ้ ขณะเดินข้ามตัดหน้าขบวนรถไฟล่องใต้ ขบวนที่ 85 กรุงเทพอภิวัฒน์-นครศรีธรรมมราช ที่กำลังแล่นเข้าเทียบชานชาลาสถานีรถไฟบ้านส้อง จนรอดชีวิตจากการถูกชนอย่างหวุดหวิด โดยเป็นการมาให้กำลังใจในระหว่างลงพื้นที่หาเสียงในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สำหรับสถานีรถไฟบ้านส้องถือเป็นอีกสถานีเก่าแก่ที่มีเรื่องราวดี ๆ มากมาย โดยล่าสุด ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Somchaidiy' ได้โพสต์ข้อความน่าประทับใจของสถานีแห่งนี้ ว่า...

ได้ดูข่าวนายสถานีรถไฟ ช่วยชีวิตคุณยายเสี้ยววินาทีก่อนรถไฟจะมาถึง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top