พระบางเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง แต่ชาวอีสานมีความเลื่อมใสมากและมักจะจำลองพระบางมาไว้ที่วัดสำคัญๆ ของท้องถิ่น โดยพระบางเป็นพระพุทธรูปที่เคยอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร ถึง 2 ครั้ง และมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสังคมอีสานอยู่เนืองๆ
พระบาง เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงของอาณาจักรขอม จนเมื่อ พ.ศ. 1902 พระเจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์แห่งล้านช้างซึ่งมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพระราชอาณาจักร จึงได้ทูลขอพระบางเพื่อมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทอง อันเป็นนครหลวงของอาณาจักรล้านช้างในขณะนั้น
แต่เมื่ออัญเชิญพระบางมาได้ถึงเมืองเวียงคำ (บริเวณแถบเมืองเวียงจันทน์ในปัจจุบัน) ก็มีเหตุอัศจรรย์ขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พระบางจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองนี้จนถึง พ.ศ. 2055 อันเป็นสมัยของพระเจ้าวิชุลราช ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองเวียงคำมาก่อน จึงสามารถนำเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุลราชในนครเชียงทอง ทำให้เมืองเชียงทองถูกเรียกว่า หลวงพระบาง นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ในระหว่างปี พ.ศ. 2321-2322 เกิดสงครามระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ชัยชนะแก่พระเจ้าสิริบุญสาร (องค์บุญ) จึงได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตและพระบางเจ้าลงไปถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส หรือ วัดสามปลื้ม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ. 2325 ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านันทเสน อัญเชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองหลวงพระบาง ซึ่งพระบางสถิตอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 ปีเศษ
และความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ประจำพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง ก็ได้ปรากฏขึ้นในกรุงเทพครั้งแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2327 ครั้งนั้นโปรดให้อัญเชิญพระบางอันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองหลวงพระบาง แล้วตกไปเป็นของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ พระองค์ได้ทรงอัญเชิญลงมาพร้อมกับพระแก้วมรกต เข้ามาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม