Monday, 29 April 2024
TODAY SPECIAL

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดศูนย์หนังสือจุฬาฯ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2526

ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็น "ร้านหนังสือในดวงใจ ของคนไทยทั้งประเทศไทย" ผู้นำความครบถ้วนหลากหลาย หนังสือภาษาไทย - ต่างประเทศ และสื่อการศึกษา ให้ข้อมูลที่เป็นกลางทั้งลูกค้า และสำนักพิมพ์ ดำเนินกิจการในรูปวิสาหกิจที่ต้องเลี้ยงตัวเอง และดำเนินงานคล้ายระบบธุรกิจเอกชน ที่มิได้แสวงหากำไรสูงสุด แต่เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดภายนอกได้ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ อยู่ในฐานะเป็นหน่วยงานบริการของมหาวิทยาลัย ที่มีนโยบาย แน่วแน่ในการสร้างคนไทยให้มีคุณภาพ มีนิสัย ใฝ่รู้ รักการอ่าน รู้จักค้นคว้าหาข้อมูล และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและบ้านเมือง

ปัจจุบันศูนย์หนังสือจุฬาฯ มีพนักงานกว่า 300 ชีวิต ภายใต้การนำของคุณวิมลพรรณ คำประชา ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ศูนย์รวมความก้าวหน้าทางวิชาการ สาระ บันเทิง ทันสมัยครบวงจร แหล่งรวมที่ครบถ้วน ทั้งหนังสือภาษาไทย ภาษาต่างประเทศกว่า 100,000 รายการ วัสดุอุปกรณ์การศึกษา เครื่องใช้สำนักงาน ด้วยราคายุติธรรม และบริการสอบถาม ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ออนไลน์ ค้นหาหนังสือทุกเล่ม สะดวก รวดเร็ว ทันความต้องการ

ความเป็นมาของศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ภายใต้อาคารเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้บริการแก่นิสิต และคณาจารย์ในจุฬาฯ โดยวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2526 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยวเป็นแห่งแรก ด้วยพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร เพื่อให้บริการตำราเรียน หนังสือภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ สื่อสร้างสรรค์ ซีดี-รอม วิดิทัศน์ เครื่องเขียน แผนกบริการตำราและห้องสมุด แผนกขายส่ง จึงถือเป็นการเริ่มต้นอย่างมั่นคงในวงการธุรกิจหนังสือของศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยว ดังจะเห็นได้จากรางวัลที่ได้รับ อาทิ รางวัลร้านค้าดีเด่น ปี 2535 จากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และรางวัลร้านหนังสือพัฒนาดีเด่น ปี 2551 รางวัลร้านหนังสือในดวงใจ ปี 2554 ขนาดกลาง กรุงเทพมหานคร รางวัลร้านหนังสือดีเด่น ประเภทร้านหนังสือทรงคุณค่า ปี 2545 จากชมรมส่งเสริมการจัดจำหน่ายหนังสือ

‘เหตุการณ์มหาวิปโยค’ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การสังหารหมู่นักศึกษา ประชาชน โดยรัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519) หรือ การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการปราบปรามอย่างรุนแรงถึงชีวิตของตำรวจและการลงประชาทัณฑ์ของกำลังกึ่งทหารและคนมุงฝ่ายขวาต่อนักศึกษาและผู้ประท้วงฝ่ายซ้ายในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เป็นการปิดฉากการประท้วง การเดินขบวนและการยึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของนักศึกษา กรรมกรและผู้ประท้วงซึ่งต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2519 

ในวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจใช้อาวุธสงครามปราบปรามการประท้วง ตามด้วยกลุ่มฝ่ายขวาที่ลงประชาทัณฑ์ในลักษณะร่วมมือกับตำรวจ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ สถิติพบผู้เสียชีวิต 46 คนที่มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี และถูกเผา แต่สถิติไม่เป็นทางการจากมูลนิธิป๋วยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน ภายหลังโครงการบันทึก 6 ตุลา พบว่าหนึ่งใน 41 ผู้ประท้วงนั้นเสียชีวิตหลังจากถูกคุมขัง ทำให้จำนวนผู้ประท้วงเสียชีวิตเป็น 40 คน และ ผู้ก่อการเสียชีวิต 5 คน

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) ทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจ บ้านเมืองมีบรรยากาศเสรีภาพ และเกิดการเฟื่องฟูของความคิดฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ตลอดจนการประท้วงของกรรมกรและชาวนาอยู่เนือง ๆ ร่วมกับความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง กลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ ซึ่งรู้สึกกังวลกับชัยของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้วิธีการก่อกวนขบวนการฝ่ายซ้ายจนมีผู้เสียชีวิตอยู่หลายโอกาส ขณะเดียวกัน มีฝ่ายกองทัพอย่างน้อยสองฝ่ายพยายามวางแผนให้เกิดรัฐประหารอีกครั้ง

โดยฝ่ายหนึ่งใช้วิธีการนำตัว "สามทรราช" กลับประเทศเพื่อหวังให้เกิดสถานการณ์บานปลาย วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศ และบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหารโดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จฯ เยี่ยม นักศึกษาปักหลักประท้วงที่สนามหลวง และย้ายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 

ในวันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาจัดการแสดงล้อเหตุฆ่าคนงานฝ่ายซ้ายที่จังหวัดนครปฐม วันที่ 5 ตุลาคม มีการตีพิมพ์ข่าวการแสดงดังกล่าว โดยมีสื่อฝ่ายขวาลงว่าบุคคลที่ถูกแขวนคอนั้นมีใบหน้าคล้ายกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผลให้กำลังกึ่งทหารที่โกรธแค้นมาชุมนุมกันนอกมหาวิทยาลัยในเย็นนั้น ท่ามกลางสื่อฝ่ายขวาที่โหมปลุกความเกลียดชังอยู่ต่อเนื่อง มีผู้ประท้วงอยู่ในมหาวิทยาลัยราว 4,000 คน และมีตำรวจและคนมาล้อมไว้ราว 8,000 คน

5 ตุลาคม ค.ศ. 2011 สูญเสีย ‘สตีฟ จอบส์’ นวัตกรผู้ยิ่งใหญ่ของโลก

‘สตีเวน พอล จอบส์’ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘สตีฟ จอบส์’ เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1955 เขาคือผู้นำธุรกิจและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธาน อดีตประธานบริหารของแอปเปิลคอมพิวเตอร์ และยังเคยเป็นประธานบริหาร พิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ และเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ใน ค.ศ. 2006 หลังดิสนีย์ซื้อกิจการพิกซาร์ ฟรัค

เขาร่วมก่อตั้งแอปเปิลคอมพิวเตอร์กับสตีฟ วอซเนียก ใน ค.ศ. 1976 เป็นผู้มีส่วนช่วยทำให้แนวความคิดเรื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นที่นิยมขึ้นมา ด้วยเครื่อง Apple II ต่อมา เขาเป็นผู้แรกที่มองเห็นศักยภาพทางการค้าของส่วนประสานงานผู้ใช้แบบกราฟิกส์และเมาส์ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในศูนย์วิจัยซีร็อกซ์พาร์ค ของบริษัทซีร็อกซ์ และได้มีการผนวกเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไว้ในเครื่องแมคอินทอช 

หลังพ่ายแพ้ในการแย่งชิงอำนาจกับคณะกรรมการบริหารใน ค.ศ. 1984 จอบส์ลาออกจากแอปเปิลและก่อตั้งเน็กซ์ บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและตลาดธุรกิจ การซื้อกิจการเน็กซ์ของแอปเปิลใน ค.ศ. 1996 ทำให้จอบส์กลับเข้าทำงานในบริษัทแอปเปิลที่เขาร่วมก่อตั้งขึ้นนั้น และเขารับหน้าที่ CEO ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ถึง 2011 

จอบส์ยังเป็นประธานบริหาร และผู้บริหารระดับสูงของพิกซาร์แอนิเมชันสตูดิโอส์ ผู้นำด้านการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ ทั้งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ 50.1% กระทั่งบริษัทวอลต์ดิสนีย์ซื้อกิจการไปใน ค.ศ. 2006 จอบส์เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดของดิสนีย์ที่ 7% และเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของดิสนีย์

251 ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนา ‘กรุงธนบุรี’ เป็นราชธานีแห่งใหม่

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรวบรวมกำลังพลและกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรี ล่องมาตามชายฝั่งจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงต่อสู้โจมตีค่ายโพธิ์สามต้นจนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้และสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากการยึดครองได้ ในเวลาเพียง 7 เดือน จากนั้นโปรดให้อัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศ มาประกอบพิธีโดยสังเขปและพระราชเพลิงพระบรมศพเรียบร้อย

จากนั้นพระองค์ได้เสด็จสำรวจความเสียหายของบ้านเมือง และประทับแรมในพระนคร ณ พระที่นั่งทรงปืน ทรงพระสุบินนิมิตว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา “มาขับไล่ไม่ให้อยู่” พระเจ้าตากสินมหาราชทรงเล่าให้ขุนนางทั้งหลายฟัง แล้วดำรัสว่า

“เราคิดสังเวชเห็นว่าบ้านเมืองจะร้างรกเป็นป่า จะมาช่วยปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงขึ้นให้บริบูรณ์ดีดังเก่า เมื่อเจ้าของเดิม ท่านยังหวงแหนอยู่แล้ว เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด แล้วตรัสสั่งให้เลิกกองทัพกวาดต้อนราษฎร และสมณพราหมณาจารย์ ทั้งปวงกับทั้งโบราณขัตติยวงศ์ซึ่งยังเหลืออยู่นั้น ก็เสด็จกลับลงมาตั้งอยู่ ณ เมืองธนบุรี”

ฝรั่งเศสและสยาม ลงนามใน ‘สนธิสัญญาสงบศึก' ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436

“การรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา” จุดเริ่มต้นของ “วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112″ หรือ “กรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ร.ศ. 112″ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นเมื่อกองทัพฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำ คือ เรือแองกองสตองต์ และ เรือโกแมต์โดยมีเรือสินค้า “เจ. เบ. เซย์” เป็นเรือนำร่อง รุกล้ำฝ่าสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา 

โดยหมู่ปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและหมู่เรือรบซึ่งเป็นแนวป้องกันของไทยได้ยิงสกัดถูกเรือสินค้าเสียหาย เรือรบของฝรั่งเศสจึงยิงตอบโต้ โดนเรือมกุฎราชกุมารของไทยเสียหาย และทหารไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 40 นาย ส่วนทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นายและบาดเจ็บอีก 3 นาย จากนั้นเรือรบฝรั่งเศสทั้งสองก็แล่นฝ่าเข้ามาที่สถานกงสุลฝรั่งเศส ถนนเจริญกรุง 

โดยผลจากการปะทะกันครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้บังคับให้สยามลงนามใน “สนธิสัญญาสันติภาพ” ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ซึ่งเป็นการทำสัญญาสงบศึกระหว่างรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

โดยสาระสำคัญเป็นข้อกำหนดที่ฝรั่งเศสตั้งขึ้นเอง เช่น ให้สยามยอมสละข้ออ้างทั้งปวงว่า มีกรรมสิทธิ์อยู่เหนือดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น ห้ามมิให้มีเรือติดอาวุธไว้ใช้ หรือเดินไปมาในน่านน้ำของทะเลสาบ และของแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำโขง ไม่สร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารไว้ในเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ รวมทั้งบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัศมี 25 กิโลเมตร 

“วันแห่งรอยยิ้มสากล” ร่วมฉลองวันแห่งรอยยิ้ม 2 ตุลาคม โดยไอเดียของ ฮาร์วีย์ บอลล์ ผู้สร้าง “สไมลีย์” เจ้าหน้ายิ้มสีเหลืองอันโด่งดัง เครื่องหมายแทนความปรารถนาดี และกำลังใจแก่โลก

วันแห่งรอยยิ้มสากล เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 โดยไอเดียของ ฮาร์วีย์ บอลล์ ศิลปินนักสร้างสรรค์โฆษณา จากเมืองวอร์เซสเตอร์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้สร้าง สไมลี่ย์ เฟซ (Smiley Face) เจ้าหน้ายิ้มสีเหลืองอันโด่งดัง ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องหมายแทนความปรารถนาดีและกำลังใจแก่โลก

โดยหลังจากที่พบว่าสัญลักษณ์หน้ายิ้มสีเหลืองของเขาเป็นที่นิยมขนาดไหน รวมถึงอยากให้ทุก ๆ คนได้ร่วมกันอุทิศวันหนึ่งในรอบปีเพื่อส่งรอยยิ้มแก่กันไปทั่วโลก ดังนั้นเขาจึงได้ประกาศให้วันศุกร์แรกของเดือนตุลาคม ในแต่ละปี กลายเป็น วันแห่งรอยยิ้มสากล โดยจะมีการจัดงานที่บ้านเกิดของเขาในทุก ๆ ปี เพื่อคืนความสุขให้แก่ชาวบ้านที่เครียดจากงาน

เมื่อฮาร์วีย์จากไปในปี พ.ศ. 2544 ได้มีการก่อตั้งองค์กร Harvey Ball World Smile ขึ้น และเพื่อเป็นการรำลึกถึงเขา ทางองค์กรยังได้นำเอา สไมลี่ย์ เฟซ มาใช้เป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของวันแห่งรอยยิ้มสากล ซึ่งจากวันเฉลิมฉลองประจำเมืองเล็ก ๆ ได้มีความสำคัญมากขึ้นจนกลายมาเป็นวันสำคัญของโลกในปัจจุบัน

1 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 4

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์" เสด็จพระราชสมภพวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ณ นิวาสสถานในพระราชนิเวศน์เดิม ด้านใต้ของวัดอรุณราชวราราม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 และเป็นลำดับที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีโสกัณฑ์ จากนั้นทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ 7 เดือน จึงลาผนวชเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงศึกษาเล่าเรียนอักษรสยาม ตั้งแต่เมื่อครั้งประทับ ณ พระราชวังเดิมในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระยะแรกทรงจำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ต่อมาได้เสด็จมาประทับ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ทรงสอบได้ เปรียญ 5 ประโยค ทรงเชี่ยวชาญรอบรู้ในพระไตรปิฎก จากนั้นได้เสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย

ในขณะที่ทรงผนวชอยู่นั้น รัชกาลที่ 2 ได้เสด็จสวรรคต ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้ทูลเชิญ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 3 ทั้ง ๆ ที่พระองค์มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์อย่างพร้อมบูรณ์ ตามโบราณราชประเพณี พระองค์จึงตัดสินพระทัยผนวชเป็นภิกษุในผ้ากาสาวพัสตร์ต่อไป ขณะที่ทรงผนวชอยู่ได้ศึกษาภาษาอังกฤษจนสามารถพูดและเขียนได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกในทวีปเอเชียที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ นอกจากนี้ยังทรงศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมืองและศาสนา ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ด้วยพระองค์เอง ทรงปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้เคร่งครัดขึ้น ทำให้เกิดพระสงฆ์คณะใหม่ขึ้น เรียกว่า ธรรมยุติกนิกาย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เชิญเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ลาผนวช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ วิสุทธสมมติเทพยพงศ์วงษาดิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันบรมมหาจักรพรรดิราชสังกายบรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 47 พรรษา ทรงมีพระนามย่อว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในฝ่ายสมณศักดิ์นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น

วันนี้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว “เพชรา เชาวราษฎร์” ตำนาน "ราชินีจอเงิน" นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง...ได้ปรากฏตัวครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ผ่านโฆษณามิสทีน

อี๊ด เพชรา ชื่อเดิมว่า เอก เชาวราษฎร์ เป็นชาวระยอง ในปี พ.ศ. 2504 เพชรา เชาวราษฎร์คว้าตำแหน่งชนะเลิศ "เทพธิดาเมษาฮาวาย" ซึ่งจัดโดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี ผู้ส่งเธอเข้าประกวดเป็น น้องสาวของพี่เขย และใช้ชื่อในการประกวดว่า "ปัทมา เชาวราษฎร์" จากนั้น ศิริ ศิริจินดาและดอกดิน กัญญามาลย์ทาบทามมาแสดงหนังเรื่องแรกคือ "บันทึกรักพิมพ์ฉวี" (พ.ศ. 2505) คู่กับมิตร ชัยบัญชา ขณะนั้นมิตรมีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์อยู่ก่อนแล้ว โดยดอกดินเป็นคนตั้งชื่อ "เพชรา" ให้กับเธอเพื่อใช้ในวงการภาพยนตร์

ภาพยนตร์ของเพชราเริ่มต้น เมื่อ พ.ศ. 2505 - 2521 หลังจากนั้นเพชราได้ร่วมแสดงกับพระเอกคนอื่น ๆ อีกหลายคน เช่น สมบัติ เมทะนี, ไชยา สุริยัน, ลือชัย นฤนาท, นาท ภูวนัย, กรุง ศรีวิไล, ครรชิต ขวัญประชา, ยอดชาย เมฆสุวรรณ เป็นต้น จนเมื่อปี 2521 ภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย เธอรับบทเป็นแม่ของสรพงศ์ ชาตรีในภาพยนตร์เรื่อง "ไอ้ขุนทอง" และเมื่อใดที่เรากล่าวถึงอมตะหนังไทยและดาราคู่ขวัญ มิตร-เพชรา คือ พระ-นางคู่แรกที่ฉายชัดขึ้นมาทันที

เพชรา เชาวราษฎร์ มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นช่วงปลายของการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "ไทยใหญ่" ปัญหาเรื่องสายตา เริ่มจากอาการแสบตา เนื่องจากเธอต้องอยู่กับไฟที่สว่างจ้าในโรงถ่าย การทำงานของเพชรา เชาวราษฎร์แทบไม่มีเวลาได้พักผ่อน และไม่ได้พบแพทย์เป็นประจำสม่ำเสมอ เนื่องจากงานถ่ายทำภาพยนตร์รัดตัวทั้งวัน ทั้งคืน

เพชรา เชาวราษฏร์ เป็นเจ้าของผลงานแสดงภาพยนตร์ราว 300 เรื่อง และครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ เล่นคู่กับมิตร ชัยบัญชา
- ปี 2508 รางวัลพระสรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) จากภาพยนตร์เรื่อง นกน้อย ปี พ.ศ. 2508
- ปี 2508 รางวัลคู่ขวัญดาราทองจากภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน
- ปี 2544 รางวัลสรรพศาสตร์ศุภกิจ

29 กันยายน พ.ศ. 2548 ‘พต.ท. ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นประธานเปิดทดลองใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก! จากสนามบินอาถรรพ์ สู่ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ชื่อเดิมสนามบินหนองงูเห่า) เป็นสนามบินที่มีแนวคิดจากการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่สองในกรุงเทพมหานคร เริ่มมีขึ้นในปี พ.ศ. 2503 ในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดตั้ง "สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ" ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ให้สัมปทานแก่บริษัทนอร์ททรอปแห่งสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ทันก่อสร้าง ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จนสัมปทานถูกยกเลิก

กระทั่งถึงรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีความคืบหน้าของการก่อสร้างท่าอากาศยานมากที่สุด เพราะการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่งจะสามารถเริ่มขึ้นได้ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 สืบเนื่องมาจากการขาดเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ วิกฤติการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 โดยก่อนหน้านั้น มีการปรับปรุงพื้นที่เป็นเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2540-2544) และต่อมาในปี พ.ศ. 2548 มีการโอนหน้าที่อำนวยการก่อสร้างและการจัดการให้แก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งปิดกิจการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด

เมื่อ 27 กันยายน พ.ศ. 2547 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ยืนยันอีกครั้งว่า การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิจะแล้วเสร็จทันกำหนดแน่นอน โดยคาดว่าจะเปิดให้มีการทดสอบการบินได้ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2548 

โดยสนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ 2548 และในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีโดยสารเที่ยวบินปฐมฤกษ์จากท่าอากาศยานกรุงเทพสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ฝั่งรันเวย์ตะวันออก เที่ยวบินแอร์บัส 340-600 โดยที่ผิวรันเวย์ ระบบสื่อสารจราจรทางอากาศ รวมถึงระบบนำร่องอากาศยานมีความพร้อมสมบูรณ์เต็มที่

วันนี้เมื่อ 104 ปีที่แล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 โดย ทรงพระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์”

ซึ่ง “ธงไตรรงค์” กำเนิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองอุทัยธานี เมื่อ พ.ศ. 2459 ครั้งนั้นราษฎรแสดงความจงรักภักดีและปลื้มปีติในการเสด็จฯ ด้วยการพยายามจะหาธงทิวซึ่งขณะนั้นเป็นธงรูปช้างเผือกอยู่ตรงกลางธงมาประดับประดาเพื่อรับเสด็จ 

แต่ด้วยธงชาติมีราคาแพงและหาได้ยาก จึงได้นำผ้าทอสีแดงขาวมาห้อยหรือจีบเป็นรูปสวยงามประดับอยู่ตามทางเสด็จฯ ผ่านพระราชปรารภนี้เป็นส่วนหนึ่งประกอบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ทรงสะเทือนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากระหว่างเสด็จประพาส ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะธงชาติไทยครั้งสำคัญ 

หลังจากเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครุ่นคิดถึงเรื่องราวและภาพที่ทรงผ่านพบอยู่ตลอดเวลา จึงทรงปรึกษากับเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ในพระราชสำนักถึงการที่จะแก้ไขธงไทยเสียใหม่ โดยทรงใช้หลักการสำคัญคือ คำนึงถึงเศรษฐกิจของราษฎรเป็นข้อแรก 

โดยพระองค์ทรงตระหนักพระทัยว่า ธงช้างนั้นเป็นภาพพิมพ์ที่ต้องส่งมาจากต่างประเทศจึงมีราคาแพง ราษฎรไม่สามารถจะซื้อหามาไว้ใช้ประจำบ้านได้ ข้อต่อไปคือต้องมีความหมายและความสง่างาม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจรวมใจผู้คนให้ยึดมั่นร่วมกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top