Thursday, 27 March 2025
TODAY SPECIAL

20 กันยายน ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ น้อมรำลึกวันพระราชสมภพ 2 ยุวกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

วันที่ 20 กันยายน เป็นวันพระราชสมภพของพระเจ้าแผ่นดินถึง 2 พระองค์ และทรงครองราชย์ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ ทางการจึงกำหนดให้เป็น ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’

สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ปีพุทธศักราช 2528 เป็นปีเยาวชนสากล และขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากลภายใต้คำขวัญ "Participation Development and Peace"

สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ โดยถือว่าเป็นวันที่เป็นสิริมงคล อันเนื่องมาจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึงสองพระองค์ คือ

- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396

- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468

นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ยังขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์เหมือนกันอีกด้วย

19 กันยายน พ.ศ. 2542 ‘โรงงานอบลำไย’ ใน อ.สันป่าตอง ระเบิด คร่า 45 ชีวิต บ้านเรือนรัศมี 1 กม. พังราบ 

เหตุการณ์ระทึกขวัญครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปีของภาคเหนือเกิดขึ้นเมื่อโรงงานลำไยอบแห้งในจังหวัดเชียงใหม่เกิดระเบิดเสียงดังกึกก้อง ได้ยินในรัศมีกว่า 5 กิโลเมตร ส่งผลให้คนงานเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

โรงงานลำไยอบแห้ง ของบริษัท หงษ์ไทยเกษตรพัฒนาจำกัด ตั้งอยู่ที่ บ้านทุ่งฟ้าบด ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหูกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาคารโล่งชั้นเดียว ขนาด 30 คูณ 60 เมตร ไม่ก่อผนังเพื่อเปิดทางให้รถขนส่งลำไยเข้า-ออก ที่ดินเป็นของคนไทยรายหนึ่งแต่ได้เช่าให้ชาวไต้หวันเข้ามาทำกิจการโรงงานลำไยอบแห้ง

เวลาประมาณ 10.30 ของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2542 เกิดระเบิดขึ้นดังสนั่นหวั่นไหวขึ้นสองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน สร้างความตื่นตระหนกต่อชาวบ้านโดยรอบ ไม่นานจากนั้นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องเร่งนำรถดับเพลิงกว่า 20 คันมาช่วงฉีดน้ำและโฟมสกัดเพลิงไม่ให้ลุกลามถังน้ำมันดีเซลขนาด 5,000 ลิตร ระหว่างนั้นก็เกิดเสียงระเบิดดังเป็นระยะ ๆ กว่าเพลิงจะสงบก็เวลาประมาณ 12.30 น. ขณะที่ชาวบ้านจำนวนมากแห่มุงดูอยู่รอบที่เกิดเหตุนับพันคน

เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจสภาพความเสียหายของโรงงาน เบื้องต้นพบหลุมระเบิดลึก 3 เมตร กว้าง 28 เมตร โรงงานพังราบ เศษกระเบื้อง เศษปูน กระจายเกลื่อน ไม่เหลือเค้าโรงงานแม้แต่น้อย พบศพคนงานในสภาพร่างแหลกเหลวกระจัดกระจายเพราะแรงระเบิด ซึ่งทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของผู้ใด เบื้องต้นแยกเป็นศพเพศชาย 19 ศพ หญิง 1 ศพ และมีผู้บาดเจ็บสาหัส 40 คน แต่คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยังมีเศษซากศพที่ไม่สามารถระบุได้อีกจำนวนมาก

ไม่เพียงเท่านั้น ผลจากแรงระเบิดทำให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายหากสูดดมเข้าไป และยังส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรอบเนื่องจากผลจากปฏิกิริยาทางเคมีทำให้เกิดสารตกค้างที่ทำให้ดินเป็นกรด ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อชุมชนโดยรอบโรงงาน

ผลการสอบสวนพบว่าเกิดจากอุบัติเหตุซึ่งน่าจะอยู่ในขั้นตอนของการผสมปุ๋ยที่มีการผสมโพแทสเซียมคลอเรทกับกำมะถันลงไปในปุ๋ย เป็นไปได้ว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นในขั้นตอนการผสมปุ๋ย อาจเกิดประกายไฟหรือการกระแทกเสียดสีในเครื่องโม่ จึงก่อให้เกิดระเบิดขึ้นหนึ่งครั้ง จากนั้นเกิด SHOCK WAVE แรงอัดกระตุ้นให้เกิดระเบิดจากสารเคมีโพแทสเซียมคลอเรทที่เก็บไว้กว่า 4 ล้านตัน จึงเกิดระเบิดเป็นครั้งที่สองซึ่งรุนแรงกว่าครั้งแรกมหาศาล

โพแทสเซียมคลอเรทเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น รสชาติคล้ายเกลือ คล้ายดินประสิว ถูกกระแทกหรือเสียดสีอาจทำให้เกิดระเบิดได้ แต่เมื่อนำไปเป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิดอื่นอย่าง กำมะถันหรือถ่าน จะติดไฟ และเร่งปฏิกิริยาระเบิดได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ซึ่งคุณสมบัติของสารตัวนี้สามารถนำมาใช้เร่งปฏิกิริยาให้ลำไยออกดอกนอกฤดู

18 กันยายน พ.ศ. 2505 ประกาศ ‘เขาใหญ่’ เป็นอุทยานแห่งชาติ แห่งแรกของประเทศไทย

วันนี้ เมื่อ 60 ปีก่อน  ในสมัยรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศให้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย 

โดยได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจาก ดร.จอร์จ ซี รูห์เล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุทยานแห่งชาติของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งได้ดำเนินการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณป่าเขาใหญ่ ในท้องที่ ต.ป่าขะ ต.บ้านพร้าว อ.บ้านนา ต.หนองแสง ต.นาหินลาด อ.ปากพลี ต.สาริกา ต.หินตั้ง ต.พรหมมณี อ.เมือง จ.นครนายก ต.ประจันตคาม อ.ประจันตคาม ต.สัมพันตา ต.ทุ่งโพธิ์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ ต.มวกเหล็ก ต.ซำผักแพว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2502 ซึ่ง

พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เล็งเห็นว่าบริเวณเขาใหญ่นี้ มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งมีความสวยงาม เหมาะใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่มีปัญหาคือมีการตัดไม้ทำลายป่า จึงได้ให้มีการสำรวจพื้นที่บริเวณตำบลเขาใหญ่เดิมและบริเวณโดยรอบ โดยได้ตราพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติขึ้นใน พ.ศ. 2504 และมีพระราชกฤษฎีกาตั้งเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยใน พ.ศ. 2505 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79 ตอนที่ 86 ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 รวมเนื้อที่ 1,355,468.75 ไร่ หรือ 2,168.75 ตารางกิโลเมตร

17 กันยายน พ.ศ. 2403 สยาม ประกาศใช้เงินเหรียญบาทวันแรก นับเป็นการปฏิวัติระบบเงินตราครั้งสำคัญ

วันนี้เมื่อ 162 ปีก่อน เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทเป็นครั้งแรกในประเทศสยาม

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกระสาปน์สิทธิการ โรงกษาปณ์แห่งแรกของไทย ภายในพระบรมมหาราชวังบริเวณที่เคยเป็นโรง ทำเงินพดด้วงเดิม ด้านหน้าพระคลังมหาสมบัติ บริเวณมุมถนนใกล้กับทางออกประตูสุวรรณบริบาลด้านทิศตะวันออก และติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ขับเคลื่อนด้วยแรงดันไอน้ำเป็นเครื่องแรก ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 ได้ออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแป โดยให้นำเงินเหรียญอย่างใหม่ซึ่งเป็นเงินแบนที่ผลิตได้จากโรงกระสาปน์สิทธิการ นำออกใช้แทน เงินพดด้วง เหรียญดังกล่าวนั้น ด้านหน้าเป็นรูปพระมหามงกุฎ มีฉัตรกระหนาบทั้ง 2 ข้าง ด้านหลังเป็นรูปช้าง อยู่กลางพระแสงจักร เหรียญเนื้อเงินแท้ ราคา ๑ บาท น้ำหนัก 15.33 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางเหรียญ 31 มิลลิเมตร

16 กันยายน พ.ศ. 2500 ‘จอมพลสฤษดิ์’ ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’

วันนี้เมื่อ 65 ปีก่อน วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างสาเหตุการเลือกตั้ง ที่มีการกล่าวขานว่า เป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุดของประเทศไทย

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม สาเหตุการรัฐประหาร เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ปี 2500 ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุดของประเทศไทย โดยผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก และได้ตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนักจากการเดินประท้วงของประชาชนจำนวนมาก ที่เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 

เมื่อสถานการณ์ลุกลาม จอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบรัฐบาล ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อจอมพลสฤษดิ์ เห็นว่ารัฐบาลจอมพล ป. ขาดความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมืองแล้ว จอมพลสฤษดิ์ จึงประกาศลาออกจากตำแหน่ง รมว.กลาโหม ในรัฐบาลของ จอมพล ป. คงเหลือแต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพียงอย่างเดียว

วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ และคณะทหาร ยื่นคำขาดต่อ จอมพล ป. ให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รับคำตอบจาก จอมพล ป. ว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์นี้ โดยมีประโยค “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

จากนั้นวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2500 ประชาชนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. จึงพากันไปบ้านจอมพลสฤษดิ์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. ก็กำลังเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ในข้อหากบฏ แต่ไม่ทัน 

และในคืนวันที่ 16 กันยายน นั้นเอง จอมพลสฤษดิ์ ได้นำกำลังรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. ส่วน  จอมพล ป. ได้หลบหนีไปยังประเทศกัมพูชา ก่อนจะขอลี้ภัยไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งเสียชีวิต

15 กันยายน ‘วันศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันศิลป์ พีระศรี’  เพื่อรำลึกถึง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อนักเรียนและศิลปะ

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีชื่อเดิมว่า CORRADO FEROCI เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อ นาง Santina Feroci เมื่ออายุ 23 ปี สามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์ จากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)

สำหรับเรื่องการศึกษานั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม เมื่อปี 2441 พอจบหลักสูตร 5 ปี ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี หลังจากนั้นก็ได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ในขณะที่มีอายุ 23 ปี หลังจากนั้นไม่นานก็รับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์ ที่มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญา นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมอีกด้วย

เมื่อปี 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ซึ่งผลการประกวดครั้งนี้เองที่ทำให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เดินทางมารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และในวันที่ 14 มกราคม 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา

จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2484 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมนีกับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไว้เอง ก่อนที่จะให้หลวงวิจิตรวาทการ ดำเนินการเดินเรื่องขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "นายศิลป์ พีระศรี" เพื่อป้องกันมิให้ต้องถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกไปสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี

สำหรับการวางรากฐานการศึกษา ในช่วงแรก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้จัดตั้ง "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง" เมื่อปี 2480 ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม และในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้แยกกรมศิลปากรออกจากกระทรวงศึกษาธิการ และให้มาขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ เพื่อยกฐานะ "โรงเรียนศิลปากร" ขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร" เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2486 

14 กันยายน ‘วันบุรฉัตร’ น้อมรำลึกถึง ‘พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร’ ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็น ‘บิดาแห่งรถไฟไทย’

วันที่ 14 กันยายน ของทุกปี ทางราชการกำหนดให้เป็น ‘วันบุรฉัตร’ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อดีตผู้บัญชาการรถไฟไทย

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาวาด(ในสกุล "กัลยาณมิตร") ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424 ขณะทรงพระเยาว์เริ่มศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

ปี พ.ศ. 2437 เสด็จไปทรงศึกษาต่อด้านโยธาธิการที่ โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ และทรงศึกษาต่อวิชาวิศวกรรมที่ ตรินีตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และวิชาทหารช่างที่ แชทแฮม จากนั้นเสด็จศึกษาเพิ่มเติมในประเทศฝรั่งเศส ทรงศึกษาการทำทำนบและขุดคลอง ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และเสด็จกลับมาทรงงานและศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนได้เป็นสมาชิก M.I.C.E. (Member of the Institution of Civil Engineer) (เทียบเท่า วิศวกรรมสถาน)

พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2447 ทรงรับราชการทหาร เหล่าทหารช่าง กรมยุทธนาธิการทหารบก ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่างพระองค์แรกในปี พ.ศ. 2451 และทรงดำรงตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลา 17 ปี ทรงนำความรู้ในวิชาการทหารแผนใหม่ตามแบบอย่างประเทศตะวันตกมาปรับปรุงกิจการทหารช่าง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารช่างแผนใหม่ และกองทัพ

การดำเนินกิจการรถไฟในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงให้ชาวต่างประเทศเป็นผู้ควบคุมการบริหารกิจการทั้งหมด กระทั่งปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร รักษาการตำแหน่งเจ้ากรมรถไฟสายเหนือ ในปี พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า "กรมรถไฟหลวง" และให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และทรงบุกเบิกพัฒนากิจการต่างๆ ของกรมรถไฟหลวง ขยายเส้นทางเดินรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน สายตะวันออกเฉียงเหนือทรงสร้างทางรถไฟจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี สายตะวันออกจากฉะเชิงเทราถึงอรัญประเทศ และในปี พ.ศ. 2471 พระองค์ยังได้ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซล จำนวน 2 คัน (หมายเลข 21 และ 22) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีกำลัง 180 แรงม้า เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่า รถจักรไอน้ำลากจูงขบวนรถไม่สะดวก และไม่ประหยัด อีกทั้งลูกไฟที่กระจายออกมาเป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร และอาจทำให้เกิดไฟไหม้ไม้หมอนอีกด้วย ซึ่งรถจักรดีเซลทั้งสองคันดังกล่าว เป็นรถจักรดีเซลคันแรกในทวีปเอเชีย และถือว่าประเทศไทยนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้งานเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียด้วย

13 กันยายน พ.ศ.2425 วันประสูติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ผู้นิพนธ์บทเพลงอมตะ ‘ลาวดวงเดือน’

ครบรอบ 140 ปี ประสูติกาล ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชสกุลเพ็ญพัฒน เป็นผู้นิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน

‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระนามเดิม พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ในรัชกาลที่ 5 ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2425 เสด็จไปศึกษาทางด้านเกษตรศาสตร์จากประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2446 ขณะพระชันษา 20 ปี กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ

ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น สอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ ทรงจัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมา วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2446 กระทรวงเกษตราธิการได้รวมกองการผลิต, กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น "กรมช่างไหม" โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก

งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า "โรงเรียนกรมช่างไหม" เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

12 กันยายน พ.ศ. 2565 เปิดตัว ‘ศูนย์สิริกิติ์’ โฉมใหม่ ใหญ่กว่าเดิมกว่า 5 เท่า

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เปิดบริการใหม่อีกครั้งวันที่ 12 กันยายน 2565 หลังปิดปรับปรุงกว่า 3 ปี ใช้งบลงทุนไปกว่า 15,000 ล้านบาท ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ได้ฤกษ์กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังจากปิดปรับปรุงไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 โดย บริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทในเครือของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ใช้งบลงทุนไปกว่า 15,000 ล้านบาทในการพลิกโฉมใหม่ทั้งหมด

โดยศูนย์สิริกิติ์โฉมใหม่ ได้ขยายพื้นที่รวม (Total Space) เพิ่มขึ้น จากเดิม 65,000 ตารางเมตร เป็น 300,000 ตารางเมตร หรือเกือบ 5 เท่า ขยายพื้นที่จัดงาน (Event Space) จากเดิม 25,000 ตารางเมตร เป็น 78,500 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนห้องประชุมจากเดิม 13 ห้อง เป็น 50 ห้อง มีศักยภาพรองรับการจัดงานในทุกรูปแบบ นอกเหนือจากงานประชุมและงานไมซ์
 

11 กันยายน พ.ศ. 2544 ครบรอบ 21 ปี เหตุการณ์ ‘9/11’ เหตุวินาศกรรมที่โลกไม่ลืม

วันนี้ เมื่อ 21 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ช็อกโลก ‘วินาศกรรม 11 กันยายน’ หรือ ‘9/11’ เมื่อผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งชนตึกต่างๆ ในสหรัฐ อเมริกา คร่าชีวิตผู้คนกว่า 3 พันคน

เหตุการณ์วินาศกรรม ‘วินาศกรรม 11 กันยายน’ หรือ ‘9/11’ นับเป็นเหตุการณ์ช็อกโลกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ จากฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ที่ได้จี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ เพื่อก่อเหตุ

- ลำแรกเป็นเครื่องบินพานิชย์ โบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์พุ่งเข้าชนตึก เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 1 ในเวลา 8.45 น. ตามเวลาในท้องถิ่น จากนั้นอีกประมาณ 18 นาทีต่อมา

- ลำที่ 2 คือเครื่องบินโบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ก็พุ่งเข้าชนตึก เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 2 ตึกแฝดที่เป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมและนิวยอร์ก จากนั้นเวลาประมาณ 9.40 น.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top