Monday, 24 March 2025
TODAY SPECIAL

17 ตุลาคม ‘วันตํารวจแห่งชาติ’ วันสำคัญของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ รำลึกถึงผู้ยึดมั่นรับใช้ประชาชน

วันตํารวจแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของไทย 

เดิมทีวันตำรวจแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 โดยเป็นวันประกาศรวม 'กรมพลตระเวน' กับ 'กรมตำรวจภูธร' เป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า 'กรมตำรวจ' ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น 'สำนักงานตำรวจแห่งชาติ' กรมตำรวจจึงได้ยึดถือเอาวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันตำรวจ และได้มีการประกอบพิธี วันตำรวจ อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งในขณะนั้น พล.ต.อ. หลวงชาติ ตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจและ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2560 พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้นมีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงวันตำรวจไทย ให้เป็นวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสถาปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (17 ตุลาคม พ.ศ. 2541) เนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม ตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นการแสดงความเคารพเทิดทูนพระองค์

ทั้งนี้ หากย้อนไปที่ประวัติของตำรวจไทย กิจการตำรวจได้กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา และพร้อมกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีกิจการตำรวจขึ้น โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง อันมีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา

สำหรับกิจการตำรวจในขณะนั้น แบ่งออกเป็นตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร ส่วนตำรวจหลวงให้ขึ้นอยู่กับวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ศรีรัตนมณเฑียรบาล เป็นผู้บังคับบัญชา และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราศักดินาของตำรวจไว้เป็นบรรทัดฐานในบทพระอัยการ ระบุตำแหน่งนายพลเรือน เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายอื่น

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารหลายชิ้นที่แสดงว่าบุคคลที่จะเป็นตำรวจได้นั้นต้องคัดเลือกจากผู้ที่มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ได้ทำคุณงามความดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องเป็นบุคคลที่ทรงวางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาตำรวจก็ต้องขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะแต่พระองค์เดียว ทำให้กิจการตำรวจในยุคนี้จะจัดตั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ในวงจำกัด และมิได้ขยายไปยังส่วนการปกครองทั่วประเทศเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น กรมตำรวจจึงได้รับความสนใจที่จะปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้เป็นไปตามแบบอย่างประเทศตะวันตก

โดยในปี พ.ศ. 2405 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญ กล่าวคือ มีการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบอย่างยุโรป เรียกว่า กองโปลิศ โดยจ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเป็นตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเปิล โดยให้มีหน้าที่รักษาการณ์แต่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และขึ้นอยู่กับสังกัดกรมพระนครบาล

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงกองโปลิศ และจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นเป็นทหารโปลิศ ในปี พ.ศ. 2419 เพื่อให้เป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาค และให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วย โดยได้ว่าจ้างนาย G. Schau ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้วางโครงการ

16 ตุลาคม พ.ศ.2336 พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ราชินีแห่งฝรั่งเศส ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) นามเดิมตอนประสูติคือ อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา (Maria Antonia Josepha Johanna)

มารี อ็องตัวแน็ต เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แกรนด์ดยุกแห่งตอสคานา (ราชวงศ์ลอแรน) กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค) พระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 เป็นพระธิดาองค์ที่ 14 ในจำนวน 16 พระองค์ของพระบิดาและพระมารดา

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) องค์หญิงจากออสเตรีย วัย 14 ชันษา ถูกส่งตัวมาฝรั่งเศส จากนั้นอภิเษกสมรสกับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) ในปี ค.ศ. 1770 เป็นการเชื่อมอำนาจระหว่าง ออสเตรีย-ฝรั่งเศส สองผู้ยิ่งใหญ่ในยุโรปแห่งศตวรรษที่ 18 แต่วิถีชีวิตที่อยู่กับความมั่งคั่งจากมรดกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14-15 กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา และลงท้ายด้วยการถูกประชาชนประณาม ถึงการใช้ทรัพย์สินในท้องพระคลัง จนเกือบถึงขั้นล้มละลาย ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างลำบากยากแค้น ปัญหาเศรษฐกิจที่แก้ไม่ออก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวปฏิวัติโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เพื่อสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นมาแทน

15 ตุลาคม พ.ศ.2460 ฝรั่งเศสประหารชีวิต ‘มาตา ฮารี’ นางระบำชาวดัตช์ ข้อหาสายลับสองหน้า

วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน มาตา ฮารี (Mata Hari) นางระบำชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้แฝงตัวเป็นจารชนสองหน้าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกฝรั่งเศสประหารชีวิต 

มาตา ฮารี มีนามจริงว่า มาร์กาเรเท เกอร์ทรูด เซลเล (Margaretha Geertruida Zelle) เกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2419 ที่เมืองลีวาร์เดน (Leeuwarden) จังหวัดฟรีส์แลนด์ (Friesland) ตอนอายุ 15 ปีมารดาเสียชีวิต บิดากลายเป็นบุคคลล้มละลาย เธอแต่งงานกับทหารเรือตอนอายุ 18 ปี 

ภายหลังต้องย้ายตามสามีไปประจำการที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย และมีลูกด้วยกันสองคน ที่นี่เธอได้ศึกษาการร่ายรำศักดิ์สิทธิ์ของฮินดู จากวัดในเกาะชวา แล้วพัฒนาลีลาเป็นของตนเอง โดยร่ายรำม้วนลำตัวแสดงลักษณะความเป็นหญิง ในลักษณะคล้ายคลึงกับระบำหน้าท้อง เธออธิบายการเต้นรำของตัวเองว่าเป็น 'บทกวีอันศักดิ์สิทธิ์ โดยการเคลื่อนไหวแต่ละลีลาเป็นเสมือนคำที่ขีดเส้นใต้ไว้ด้วยดนตรี'

ปี 2446 เธอกับครอบครัวเดินทางกลับเนเธอร์แลนด์ เธอหย่ากับสามีแล้วย้ายไปยังกรุงปารีส ฝรั่งเศส ทำงานในคณะละครสัตว์ และเป็นนางแบบให้จิตรกรเขียนภาพ 

ปี 2448 เธอเริ่มมีชื่อเสียงจากลีลาการเต้นที่พัฒนาขึ้นมาเอง ซึ่งเรียกว่า 'ระบำแห่งโอเรียนต์' (Oriental-style Dancer) จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเป็น 'มาตา ฮารี' ซึ่งเป็นภาษาอินโดนีเซียแปลว่า 'ดวงตาแห่งวัน' หรือ 'ดวงตาวัน' คืนหนึ่งเธอได้เปิดแสดงที่พิพิธภัณฑ์กุยเมต์ (Guimet Museum) ส่งผลให้เธอโด่งดังในชั่วข้ามคืน ด้วยลีลาการเต้นที่แสนยั่วยวน มีเสน่ห์ ลึกลับ น่าหลงไหล (exotic) 

14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลทหารใช้กำลังสลายการชุมนุม จนนำไปสู่ ‘วันมหาวิปโยค’ ของคนไทย

เหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) หรือ วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์การปราบปรามผู้ประท้วงบริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนินอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

การประท้วงนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุหลายประการ คือ ประเทศไทยได้อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมานานเกือบ 15 ปีตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกอบกับข่าวการฉ้อราษฎร์บังหลวงหลายอย่างในรัฐบาล รวมทั้งรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ข่าวการลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการตีพิมพ์ 'บันทึกลับจากทุ่งใหญ่' ทำให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชน นำไปสู่การเดินแจกใบปลิวของนิสิตนักศึกษาในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกทหารจับกุม 

ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้ชื่อว่า '13 ขบถรัฐธรรมนูญ' ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การเดินประท้วงในถนนราชดำเนิน โดยมีประชาชนทยอยเข้าร่วมหลายแสนคน วันที่ 13 ตุลาคม รัฐบาลจอมพลถนอมประกาศยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนสลายตัว

๑๓ ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สถิตในใจตราบนิจนิรันดร์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประเทศไทย

พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

12 ตุลาคม พ.ศ.2549 ช่วงช่วง - หลินฮุ่ย แพนด้าจากเมืองจีน เดินทางมาถึงสวนสัตว์เชียงใหม่

12 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ช่วงช่วงและหลินฮุ่ย หรือชื่อคำเมืองว่า คำอ้ายและคำเอ้ย แพนด้าทูตสันถวไมตรีจากประเทศจีนเดินทางมาถึงสวนสัตว์เชียงใหม่

ช่วงช่วงและหลินฮุ่ย หรือชื่อคำเมืองว่า คำอ้ายและคำเอ้ย แพนด้าทูตสันถวไมตรีจากประเทศจีนเดินทางมาถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2549 โดยประเทศไทยมีสัญญากับจีนว่าจะทำการทดลองศึกษาวิจัยชีวิตหมีแพนด้าคู่นี้เป็นระยะเวลา 10 ปี หลังจากนั้นจะต้องส่งกลับ รวมถึงลูกที่เกิดจากทั้งคู่ด้วย 

สำหรับแพนด้าทั้งสองตัวมาจากศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า เขตอนุรักษ์ วู่หลง เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ทั้งสองตัวถูกเลี้ยงไว้ในห้องกระจกติดแอร์เย็นฉ่ำ ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้างราว 46 ล้านบาท และได้กินใบไผ่ (พันธุ์จีนซึ่งสามารถปลูกได้ในเมืองไทย) วันละ 30 กิโลกรัม ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ได้จัดงานแต่งงานอย่างยิ่งใหญ่ 5 วัน 5 คืนให้แพนด้าทั้งคู่ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2549

11 ตุลาคม พ.ศ.2540 ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็น 'รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน'

วันนี้ เมื่อ 25 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองประเทศไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับที่ 16 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เนื่องจากเป็นฉบับแรกที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุดและมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 

ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ด้วยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 ทั้งนี้คณะปฏิรูปฯได้ออกประกาศคงบทบัญญัติบางหมวดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2549 ไว้ภายหลัง

รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 นี้ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ริเริ่มขึ้นโดยพรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชานายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเข้ามาดำเนินการและได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 99 คน โดย 76 คนเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด และอีก 23 คนมาจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งฉบับเดียวของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ 15 ฉบับมาจากคณะรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งหรือรัฐบาลทหาร รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่าง

10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 วันที่ระลึก พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นพระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาของพระยาอภัยภูเบศร กับเล็ก บุนนาค

ต่อมาได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า สุวัทนา ได้เข้ารับราชการฝ่ายใน ในตำแหน่ง 'เจ้าจอมสุวัทนา' และได้รับการสถาปนาเป็น 'พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี' ตามลำดับ

พระองค์ได้ประสูติพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลคือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี หลังจากประสูติพระราชธิดาได้เพียงหนึ่งวัน พระราชสวามีเสด็จสวรรคต พระองค์และพระราชธิดาจึงได้เสด็จไปประทับยังสหราชอาณาจักร กว่า 20 ปี ภายหลังจึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทยโดยประทับในวังรื่นฤดี เป็นการถาวรตั้งแต่พ.ศ. 2502

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 19.09 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 เนื่องจากพระอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับพระปับผาสะอักเสบ ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชันษา 80 ปี 5 เดือน 25 วัน

9 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย ถึงแก่อสัญกรรม

ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย เป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม หนังสือพิมพ์สยามรัฐ และเป็นนักเขียน 

โดยในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ทางองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นบุคคลสำคัญของโลกใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พ.ศ. 2554

ในบทบาทนักเขียน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้เขียนนวนิยาย สี่แผ่นดิน, ไผ่แดง, กาเหว่าที่บางเพลง, ซูสีไทเฮา, สามก๊กฉบับนายทุน, ราโชมอน, ฮวนนั้ง, โจโฉ, นายกตลอดกาล รวมเรื่องสั้น เช่น มอม, เพื่อนนอน, หลายชีวิต หนังสือสารคดี เช่น ฉากญี่ปุ่น, ยิว, เจ้าโลก, สงครามผิว, คนของโลก, ชมสวน, ธรรมคดี, น้ำพริก, ฝรั่งศักดินา, สรรพสัตว์, สัพเพเหระคดี, ข้อคิดเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย, โครงกระดูกในตู้, พม่าเสียเมือง, ถกเขมร, เก็บเล็กผสมน้อย, เบ้งเฮ็ก ผู้ถูกกลืนทั้งเป็น, เมืองมายา, เรื่องขำขัน, กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้, คนรักหมา, ตลาดนัด, นิกายเซน, บันเทิงเริงรมย์, วัยรุ่น, สงครามเย็น, อโรคยา, สยามเมืองยิ้ม, ห้วงมหรรณพ รวมถึงบทละครเวทีเรื่อง ลูกคุณหลวงและราโชมอน

8 ตุลาคม วันคล้ายวันประสูติ ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์’ ทรงพระเจริญ

ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหารและพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ The States Times

8 ตุลาคม พ.ศ. 2525 วันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับวีระยุทธ ดิษยะศริน เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระภาคิไนยในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระประวัติ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ หรือพระนามลำลองว่า พระองค์หริภา ประสูติเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2525 ณ พระตำหนักใหม่ สวนจิตรลดา เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน มีพระขนิษฐาหนึ่งพระองค์ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top