Thursday, 25 April 2024
TODAY SPECIAL

วันนี้เมื่อ 62 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ 'กีฬาซีเกมส์' ครั้งแรกของโลก!

ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 3 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2501 องค์กรการกีฬาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ได้ร่วมประชุมเพื่อก่อตั้งองค์กรการกีฬาในระดับภูมิภาค เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อสนับสนุนความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

โดยองค์กรดังกล่าวใช้ชื่อว่า สหพันธ์กีฬาแหลมทอง (SEAP Games Federation) มีประเทศสมาชิกประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา ร่วมกันจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง หรือ SEAP Games (Southeast Asian Peninsular Games) โดยมีกำหนดจัดการแข่งขันขึ้นทุก ๆ 2 ปี 

โดยการแข่งขันครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 12-17 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ซึ่งในขณะนั้นมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า, ลาว, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย (สิงคโปร์มาเข้าร่วมทีหลัง ส่วนกัมพูชาไม่ได้ร่วมแข่งขัน)

กีฬาแหลมทองครั้งแรกมีการแข่งขันทั้งหมด 12 ประเภท คือ กรีฑา, แบดมินตัน, บาสเกตบอล, มวย, จักรยาน, ฟุตบอล, เทนนิส, ยิงปืน, ว่ายน้ำ, ปิงปอง, วอลเลย์บอล และยกน้ำหนัก ประเทศที่ได้เหรียญรางวัลมากที่สุดคือ ประเทศไทย รองลงมาคือ เมียนมา และมาเลเซีย ตามลำดับ
 

รำลึก 23 ปี "เจมส์ เรืองศักดิ์" รอดปาฏิหาริย์เครื่องบินตก โศกนาฏกรรมสายการบินไทย เหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืม!!

โศกนาฏกรรมเครื่องบินสายการบินไทย นำผู้โดยสารบินจากกรุงเทพฯ ไปยัง จ.สุราษฎร์ธานี ตกกระแทกพื้น มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เหตุเกิดวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2541

เที่ยวบินดังกล่าวมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 146 คน ออกจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เวลา 11.40 น. ตามเวลามาตรฐาน เมื่อเครื่องบินเริ่มลดระดับลงสู่ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี สภาพอากาศที่ฝนตกหนักเนื่องจากพายุดีเปรสชั่นจิล ทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี นักบินพยายามนำเครื่องลงจอดถึง 2 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ในครั้งที่ 3 เครื่องยนต์เกิดชะงัก ทำให้เครื่องบินตกกระแทกพื้น เครื่องเสียหลัก หางเครื่องฟาดหอบังคับการบินบางส่วน เครื่องเสียการทรงตัวพุ่งตกลงไปในป่ายาง ห่างออกไป 2 ไมล์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของท่าอากาศยาน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 101 ราย และได้รับบาดเจ็บ 45 คน

‘วันรัฐธรรมนูญ’ เพื่อระลึกถึงโอกาสที่ ‘พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ อันแสดงให้เห็นถึงความขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 ซึ่งจัดร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในระหว่าง พ.ศ. 2557-2560 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทยเชิงการเมืองการปกครอง เมื่อคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการสายทหารบก ทหารเรือ และสายพลเรือน จำนวน 99 คน โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

9 ธันวาคม ของทุกปี ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล’ วันแห่งความตระหนักและร่วมกันต่อต้านการทุจริต

วันต่อต้านการทุจริตสากล หรือ วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 (United Nations Convention against Corruption-UNCAC, 2003) อย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2546 

จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก UN 191 ประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญา ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ด้วยเหตุนี้ UN จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็น 'วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล'

“วันนักศึกษาวิชาทหาร” รำลึกถึง 'ยุวชนทหาร' วีรกรรมเยาวชนไทยที่หาญกล้าต้าน 'กองทัพญี่ปุ่น'

วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ ของเหล่ายุวชนทหาร ที่หลายคนยังคงไม่ลืม ความเสียสละ รักชาติ การร่วมมือกับทหาร และตำรวจเพื่อต่อต้านการรุกราน จากกองทัพญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งวีรกรรมของยุวชนทหาร ที่ทุกคนจดจำได้เป็นอย่างดี และไม่มีวันลืมคือ วีรกรรมการรบ ที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร ซึ่งต่อมาได้มีการนำเหตุการณ์ดังกล่าว ไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ" ในพ.ศ. 2543

ปัจจุบันรัฐบาล ได้กำหนดให้ ทุกวันที่ "8 ธ.ค. เป็น วันนักศึกษาวิชาทหาร" ซึ่งได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ยุวชนทหาร เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร สำหรับเหตุการณ์การสู้รบ ที่ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ อันน่าจดจำของชนชาวไทย ในการต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศ จากการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นอันเกรียงไกร ที่ได้ถาโถมเข้าประเทศไทย ทางหัวเมืองชายทะเล

ลูกหลานไทย ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปจนถึงปัตตานี ต่างจับอาวุธเข้าต่อตีญี่ปุ่นอย่างดุเดือด สามารถหยุดกองทัพญี่ปุ่นไว้กับที่ได้ จนรัฐบาลอนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปทำศึกในพม่าและมลายู การรบจึงยุติลง ซึ่งที่จังหวัดชุมพรนั้น มีการสู้รบอย่างหนักหน่วงที่สะพานท่านางสังข์ และที่วัดท่ายางใต้ ซึ่งอยู่ในตำบลท่ายาง อำเภอเมืองชุมพร เด็กนักเรียนโรงเรียนศรียาภัยจำนวน 8 คนประกอบด้วย มารุต, ประยุทธ, บรรจง, สนั่น, สังวาน, สังเวียน, ประชุม และวัฒนา ทั้งหมดเป็นเด็กหนุ่มในวัยที่เต็มไปด้วยความฝัน และจินตนาการ แต่แล้วสงครามทำให้เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ ต่างพร้อมใจกันอาสาสมัครที่จะไปตายเพื่อชาติ
 

7 ธันวาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประสูติเมื่อ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาต่างพระมารดา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร 

ได้รับพระราชโองการแต่งตั้งเป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษและได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสาธารณกุศลผ่านมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และด้านกฎหมายซึ่งทรงมีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนปฏิบัติพระกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณในการเสด็จแทนพระองค์อยู่โดยเสมอมา เมื่อครั้งที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงร่วมงานฟุตบอลประเพณีจุฬา - ธรรมศาสตร์ และทรงเป็นผู้เชิญธรรมจักร ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย มากไปกว่านั้น ทรงเข้าทำงานที่คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

โดย ‘มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย’ เริ่มต้นจากการดำเนิน โครงการอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งมีขึ้นในขณะที่มีอุทกภัยครั้งร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2538 และมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จนภาคราชการและองค์กรการกุศลที่มีอยู่มิอาจให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง จนเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันระหว่างประชาชนอันเกิดจากความเครียด อันเนื่องมาจากการป้องกันน้ำให้ท่วมในวงจำกัด ผู้ที่เดือดร้อนจึงรู้สึกว่าขาดที่พึ่ง ขาดความเห็นอกเห็นใจ ต้องได้รับความเดือดร้อนเฉพาะชาวพื้นที่ของตนเอง ขณะที่พื้นที่ติดกันได้รับความสะดวกสบายอย่างเป็นปกติ

ในช่วงเช้าของวันที่ 29 ตุลาคม เป็นวันที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงออกปฏิบัติภารกิจในโครงการฯ เป็นครั้งแรก โดยเสด็จออกรับน้ำใจจากผู้ไม่ประสบอุทกภัยที่สถานีบริการน้ำมัน ต่อจากนั้นในช่วงบ่ายได้ทรงพระดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 34 เขตบางกอกน้อย ซอยจรัญสนิทวงศ์ 82, 84 และ 86 เขตบางพลัด การออกปฏิบัติพระกรณียกิจในครั้งนี้ส่งผลให้เหตุการณ์สงบลง จากนั้นมาโครงการฯ ก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 

วันนี้เมื่อ 32 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้น ‘วันริบบิ้นสีขาว’ เพื่อรำลึกและยุติความรุนแรงต่อสตรี จากเหตุฆาตกรรมที่ประเทศแคนาดา มีผู้หญิงเสียชีวิตถึง 14 คน

วันริบสีบิ้นขาว (White Ribbon Day) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อคือ วันชาติแห่งการรำลึกและยุติความรุนแรงต่อสตรี (National Day of Remembrance and Action on Violence against Women) เป็นวันสำคัญในประเทศแคนาดา

เริ่มต้นขึ้นในปี 2534 โดยรัฐสภาแคนาดา เพื่อรำลึกถึงเหตุฆาตกรรมที่วิทยาลัยสารพัดช่าง ในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 14 ราย เป็นเพศหญิงทั้งหมด โดยคนร้ายซึ่งประกาศตัวว่าต่อต้านเรื่องสิทธิสตรี 

หลังจากเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญครั้งนี้ มีกลุ่มที่ทำการรณรงค์ โดยเป็นกลุ่มนักศึกษาชายจำนวน 1 แสนคน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และต้องการยุติปัญหาดังกล่าว จึงได้เรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี 

๕ ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

๕ ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดให้ วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติไทย ดังนี้

๑.) เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ - ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙) เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสู่พระราชสมบัติตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประเทศไทย

๒.) เป็นวันชาติ : เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย เดิมกำหนดให้วันที่ ๒๔ มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันชาติ เนื่องจากเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้เปลี่ยนมาเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทย ตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ และเป็นวันศูนย์รวมจิตใจความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ปัจจุบันจึงตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี

๓.) เป็นวันพ่อแห่งชาติ : วันพ่อแห่งชาติ มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา เป็นผู้ริเริ่มหลักการและเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติ เพราะพ่อเป็นผู้มีพระคุณที่มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกให้ความเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ 

จึงถือเอาวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๙) ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และให้ดอกพุทธรักษาเป็นสัญลักษณ์ของวันพ่อแห่งชาติ

ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๒ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ 

ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และ เอเชีย และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ทุกภาคทรงประจักษ์ในปัญหาของราษฎร ในชนบทที่ดำรงชีวิตด้วยความยากจน ลำเค็ญและด้อยโอกาส ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะหาทางแก้ปัญหาตลอดมาตราบจนปัจจุบัน 
 

กำเนิดฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์’ 2 มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนั้น! ได้ร่วมสร้างสรรค์ประโยชน์ให้ประเทศชาติ

ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ก่อกำเนิดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยแนวความคิดของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ได้หารือกันว่าควรจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบันเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบัน และควรจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้ริเริ่มฝ่ายธรรมศาสตร์มีพล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ยมนาค, บุศย์ สิมะเสถียร และฝ่ายจุฬาฯ มี ประสงค์ ชัยพรรค, ประถม ชาญสันต์ และประยุทธ สวัสดิ์สิงห์ การแข่งขันครั้งแรกนั้นทางฝ่ายธรรมศาสตร์คือ ดร. เดือน บุนนาค เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองสมัยนั้นรับจัดการแข่งขัน และได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน

การแข่งขันทุกปีนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า รายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะมีการมอบการกุศลทุกครั้งโดยในครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ณ สนามหลวง ท้องทุ่งพระสุเมรุ มีการเก็บเงินค่าผ่านประตูบำรุงสมาคมปราบวัณโรค ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดของไทยขณะนั้น หลังจากนั้นก็มีการเก็บเงินบำรุงการกุศลเรื่อยมา เช่น ในช่วงแรก ๆ มีการเก็บ เงินบำรุงทหาร สมทบทุนสร้างเรือนพักคนไข้วัณโรค ช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยบำรุงสภากาชาด บำรุงมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก สมทบทุนอานันทมหิดล สร้างโรงเรียนชาวเขา ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังมีการเก็บเงินเพื่อบำรุงการศึกษาของทั้งสองสถาบัน และตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 34 (พ.ศ. 2521) จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้นำเงินรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

ครบ 34 ปี ‘ศรินทิพย์ ศิริวรรณ’ ดาราที่หายสาบสูญ ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ “อีจู้กู้ปู่ป้า” จนปัจจุบันยังไม่มีการพบตัว!!

ย้อนกลับไปเมื่อ 34 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเคยมีนักแสดงลูกครึ่งผมดำ ที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการบันเทิงไทยในฐานะนักแสดงแถวหน้า การันตีรางวัลตุ๊กตาทองในปี 2525 และรางวัลตลกหญิงยอดเยี่ยมในปี 2529

ชื่อของเธอคือ “ศรินทิพย์ ศิริวรรณ” หรือ ไพลิน คอลลิน สาวมากความสามารถที่ผู้คนรู้จักเธอในฐานะนักร้องของวงดนตรีกรมสรรพสามิต และนักแสดงคู่บุญของ รัตน์ เปสตันยี จากภาพยนตร์เรื่อง “โรงแรมนรก” และ “แพรดำ” ซึ่งต่อมาได้สร้างชื่อและผลักดันให้เธอได้รับบทหม่อมแม่ ในละครบ้านทรายทอง (1979) ซึ่งถือเป็นช่วงขาขึ้นในอาชีพการแสดงของเธอ

การแสดงดี ดนตรีก็ไม่แพ้กัน เพราะในอีกด้าน ศรินทิพย์ก็ยังเป็นนักร้องของวงดนตรีกรมสรรพสามิต และที่นั่น เธอได้พบรักกับ ชาลี อินทรวิจิตร ครูเพลงมากความสามารถที่ช่วยกันฝ่าอุปสรรคในชีวิตต่าง ๆ ด้วยกันตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่ศรินทิพย์ถูก จำเนียร รัศมี สามีเก่า ฟ้องร้องหลังนำเรื่องราวที่คล้ายคลึงกับชีวิตคู่ครั้งก่อนไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ที่หลังจากเหตุการณ์นั้น ชาลี อินทรวิจิตร ได้แต่งเพลงชื่อ “ไม่อยากให้โลกนี้มีความรัก” เพื่อเตือนใจว่า ในโลกของความรักไม่มีทุกข์หรือสุขที่จะอยู่จีรังในความสัมพันธ์ไปตลอด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top