‘พาต้า ปิ่นเกล้า’ความฝันของเด็กยุคสมโภชกรุงฯ ที่จะถูกปรับปรุงใหญ่ในรอบ 40 ปี

หากจะพูดว่า “พาต้า ปิ่นเกล้า คือ ความฝันของเด็กยุคสมโภชกรุงฯ” ก็ไม่น่าผิดจากความเป็นจริงนัก เพราะผมเองคือ หนึ่งในเด็กฝั่งธนฯ ที่เฝ้าฝันถึงวันจะได้มาเยือนห้างสรรพสินค้ามหัศจรรย์ชื่อ ‘พาต้า ปิ่นเกล้า’ อยู่แทบทุกเมื่อเชื่อวัน

เมื่อวันก่อนเห็นข่าวแจ้งจากเพจ ‘สวนสัตว์พาต้า’ (@Patazoo67) จึงอดดีใจลึกๆ กับเขาด้วยว่าคงถึงเวลาของตำนานห้างสรรพสินค้าอันดับหนึ่งของฝั่งธนบุรี ตัดสินใจปรับตัวสู้ศึกในโลกการค้าไร้พรมแดน อีกทั้งยังประกาศหาทีมงานปรับปรุงภาพลักษณ์ ‘พาต้า ปิ่นเกล้า’ พร้อมดัน ‘เสริมศิริมงคล รุ่น 2’ ขึ้นกุมบังเหียนเต็มตัว - ข้อความขึ้นต้นจากผู้บริหารพาต้าจั่วหัวไว้ประมาณนี้

แฟรนไชส์ ‘พาต้า’ เริ่มจากสาขาแรกที่ศูนย์การค้าอินทรา ประตูน้ำ (พ.ศ. 2518) และต่อมากับความสำเร็จจนรู้จักไปทั่วบ้านทั่วเมืองกับสาขาปิ่นเกล้า (พ.ศ. 2525) ต่อเนื่องไปถึงสาขาหัวหมาก (พ.ศ. 2535)

แต่ก็เช่นเดียวกับวัฏจักรโลกทั่วไปที่พาต้าฯ เอง ก็หนีไม่พ้นวงจรนี้ เพราะเมื่อขึ้นสู่จุดสูงสุด ก็จำต้องตกต่ำ ด้วยสภาพความเจริญของบ้านเมืองย่านฝั่งธนฯ ซึ่งดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนเข้ามาอย่างมหาศาล วงการสินค้าปลีกจึงตามมาแย่งชิง จนลูกค้าประจำของ พาต้า ปิ่นเกล้า ต่างหันหน้าไปสู่ห้างฯ อื่น นำมาสู่ความเงียบเหงาท้ายที่สุด

ปี พ.ศ. 2562 เกิดกระแสข่าวลือแชร์ว่อนโลกโซเชียลฯ ถึงการประกาศขายที่ดินของ พาต้า ปิ่นเกล้า แห่งนี้ บนค่าตัวหลักพันล้านบาท และ ‘ปิดกิจการ’ แต่สุดท้ายหนึ่งในคณะผู้บริหารได้ออกมาสยบข่าวลือนั้นว่า ไม่เป็นความจริง จากปากของ ‘วิวรรธน์ เสริมศิริมงคล’ อดีตประธานกรรมการบริหาร บริษัท ห้างสรรพสินค้าปิ่นเกล้า จำกัด เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันไว้ราวสองปีก่อนหน้า

แต่พอเข้าสู่ปี พ.ศ. 2566 หลังจากที่ทีมบริหารได้ปรับปรุงพื้นที่สวนสัตว์พาต้าจนใกล้จะแล้วเสร็จ และกำลังเตรียมเปิดบริการเต็มรูปแบบ คณะผู้บริหารบริษัท ห้างสรรพสินค้าปิ่นเกล้า ได้มีมติเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ พร้อมจะเริ่มต้น ปรับปรุงบ้านหลังนี้ ในรอบ 40 ปี ให้คืนสภาพ กลับมาพร้อมให้การต้อนรับผู้มีอุปการคุณ

ผมไล่อ่านรายละเอียดตามที่เห็นจากเพจฯ ถึงแผนพัฒนาห้างฯ และหัวข้อการปรับปรุงต่าง ๆ ตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อสุดท้ายว่า “...พื้นที่ชั้น 5 (พื้นที่ต่อเนื่องกับสวนสัตว์) ปรับให้เป็นพื้นที่เช่า ในโครงการพิเศษต่าง ๆ เช่น ตลาดนัดสัตว์เลี้ยง หรือตลาดของใช้ทั่วไป งานแสดงสินค้า งานประชุมวิชาการ”

เพียงเท่านั้นก็เหมือนผู้บริหาร ‘พาต้า ยุค 2’ อยากระลึกชาติหวนกลับไปใช้ความชำนาญที่เคยมีมาตั้งแต่รุ่นเปิดดำเนินการคือ ‘Localized Marketing’ ซึ่งเคยสร้างความเฟื่องฟูจนถึงขีดสุดในอดีต

ห้างสรรพสินค้าซึ่งถือฤกษ์งามยามดีเปิดบริการเอาในศักราช สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่ไม่ได้มีดีเพียงแค่อาคารรูป ‘ส.เสือ’ อักษรแรกของชื่อตระกูล น้ำพุสายรุ้งความสูงเท่ากับห้างก็คือตึก 7 ชั้น หลั่งไหลสลับสีพราวพรรณราย หรือแม้แต่ลิฟท์แก้วใสแจ๋วนอกตัวอาคาร ซึ่งน่าประหวั่นพรั่นพรึงแก่เด็กกลัวความสูงอย่างหนักเช่นผม

แต่สุดท้ายก็หลับตาเดินเกาะหูกางพ่อไว้เป็นสรณะจนได้ชื่อว่า 'ขึ้นแล้วนะ'

สวนสัตว์ลอยฟ้าพาต้าคืออีกสิ่งซึ่งอยู่ในความฝัน ความทรงจำของเด็กทั้งมวลของยุคนั้น เพราะลำพังสัตว์ประหลาดสวยงามที่เคยเห็นจากจอทีวี แต่ที่พาต้าเขามีให้ชื่นชมตัวเป็น ๆ เสือขาว หมีขั้วโลก นกเพนกวิน ฯลฯ ทั้งที่เจ้าของห้างตั้งใจแต่แรกเพียงจะทำเป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจของพนักงาน และผู้บริหารเท่านั้น

ก่อน ‘พาต้า ปิ่นเกล้า’ จะปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี เพื่อกลับมาทวงตำแหน่งคืนหรือไม่? อย่างไร? คงไม่ถึงเวลาที่เราจะไปคิด ช่วงนี้เราควรหาเวลาไปเยี่ยม ‘ป้าบัว’ บ้าง อย่างน้อยได้เห็นหน้าค่าตาเพื่อปลอบใจในความเปลี่ยวเหงาของ ‘กอริลล่าสาวเทื้อ’ จากสนธิสัญญาไซเตสฉบับเดียวแท้ ๆ


เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์
ที่มา: https://www.facebook.com/100064128725856/posts/pfbid02npWnuLSM8NUEtMFDMdvs9qvGMx6zaaiU78rNR74uJKsEAfz5EHNgq84tcCcWyXQNl/?app=fbl