Friday, 3 May 2024
TODAY SPECIAL

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศร

เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้เริ่มสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และมีการวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2539 โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศรลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน ก่อนจะขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540 
 

วันนี้เมื่อปี 2545 ‘พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ออกแบบอาคารโดย เฮลมุต ยาห์น (Helmut Jahn) สถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน
 

‘สมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ ทรงกระทำยุทธหัตถี และมีชัยชนะต่อ ‘พระมหาอุปราชา’ ของพม่า

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก ปีเถาะ พ.ศ. 2098 ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอีกด้วย

ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า องค์พระนเรศวรได้ถูกนำเป็นองค์ประกัน ณ เมืองหงสา และได้ร่ำเรียนวิชาความรู้ ความสามารถต่างๆ เพื่อรอวันที่จะได้กลับมากู้ชาติกู้แผ่นดินอีกครั้ง แต่ด้วยความกตัญญูของสมเด็จพระนเรศวร ที่มีต่อพระเจ้าบุเรงนอง ที่ชุบเลี้ยงดูแลจนเติบใหญ่ จึงไม่ทำการขัดขืนใดๆ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยังมีชีวิตอยู่ แต่ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรได้กลับมาปกครองยังพระนครกรุงศรีอยุธยา และด้วยวิชาความรู้และความสามารถของพระองค์ ได้ทำการรบข้าศึกต่างๆ และชนะเรื่อยมา จนเป็นที่เกรงกลัวของข้าศึกเป็นอย่างมาก  
 

189 ปี การค้นพบครั้งสำคัญของไทย เมื่อ ‘รัชกาลที่ 4’ ทรงค้นพบ ‘ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง’ ซึ่งถูกยกย่องให้เป็น ‘มรดกแห่งความทรงจำของโลก’

จารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือ จารึกหลักที่ 1 เป็นศิลาจารึกที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย ศิลาจารึกนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นผู้ทรงค้นพบขณะผนวชอยู่ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม สูง 111 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียด มีจารึกทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

เนื้อหาของจารึกแบ่งได้เป็นสามตอน ตอนที่ 1 บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นการเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ใช้คำว่า "กู" เป็นหลัก ตอนที่ 2 ไม่ใช้คำว่า "กู" แต่ใช้ว่า "พ่อขุนรามคำแหง" เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย และตอนที่ 3 ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย มีตัวหนังสือต่างจากตอนที่ 1 และ 2 จึงน่าจะจารึกขึ้นภายหลัง เป็นการสรรเสริญและยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย

จารึกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยยูเนสโกบรรยายว่า "[จารึกนี้] นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทยซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ 13 ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้นยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ”
 

118 ปี กำเนิด ‘โรงเรียนช่างไหม’ โดยกระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งพัฒนาเป็น 'มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์' ในปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ แรกเริ่มเป็น ‘โรงเรียนช่างไหม’ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2447 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม องค์อธิบดีกรมช่างไหม ในกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้น ณ ท้องที่ตำบล ทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ในบริเวณเดียวกันกับสวนหม่อนและสถานีทดลองเลี้ยงไหม 

โดยจัดการศึกษาหลักสูตร 2 ปี สอนเกี่ยวกับวิชาการ เลี้ยงไหมโดยเฉพาะ ต่อมาใน พ.ศ. 2449 ได้ขยายหลักสูตรเป็น 3 ปี โดยเพิ่มวิชาการเพาะปลูกพืชอื่นๆ เข้าในหลักสูตรตลอดจนได้เริ่มสอนวิชาสัตวแพทย์ด้วยและได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน เป็นโรงเรียนวิชาการเพาะปลูกต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนการเพาะปลูก 

โดยในปี พ.ศ. 2451 กระทรวงเกษตราธิการ ได้รวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด 3 โรงเรียนคือ โรงเรียนแผนที่ โรงเรียนกรมคลอง และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกัน เพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ และย้ายสถานที่ตั้งมารวมกัน ณ พระราชวังสระปทุม พร้อมกับได้ให้เรียบเรียงหลักสูตรใหม่ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาการเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย

พิธีเปิด “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” โดยได้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับพระเทวาภินิมมิต ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยนั้น

15 มกราคม พ.ศ. 2477 พิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ซึ่งข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมาได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของ ย่าโม โดยได้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับพระเทวาภินิมมิต ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยนั้น นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรีคนแรกของประเทศ 

เมื่อท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปีพุทธศักราช 2395 อายุ 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสวามี ได้ฌาปนกิจศพ และสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอยซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเจดีย์ชำรุดลง พลตรีเจ้าพระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) ครั้นเมื่อยังเป็น พระยาประสิทธิศัลการ ข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา

องคมนตรี และรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็ก บรรจุพระอัฐิท้าวสุรนารีขี้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) ต่อมากู่นั้นได้ทรุดโทรมลงมาอีก อีกทั้งยังอยู่ในที่แคบ ไม่สมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยสัมฤทธิ์ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มอบให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปไชย) ประติมากรเลื่องชื่อในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2510 

14 มกราคม “วันทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ” (National forest Conservation Day)

ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชน ช่วยรักษาความสมดุลของภาวะแวดล้อมและป้องกันภัยธรรมชาติซึ่งนำความเสียหายอย่างร้ายแรง แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สาเหตุที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติส่วนหนึ่งมาจากการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่าจนทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพป่าไม้ของชาติ ทำให้เกิดความไม่สมดุลทางภาวะแวดล้อม จนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พระราชกำหนดดังกล่าวได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลง ทั้งแปลงได้ 
 

13 มกราคม ‘วันการบินแห่งชาติ’ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 6 ผู้ก่อกำเนิดการบินของไทย

ปี พ.ศ. 2454 ที่ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ จึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นาย คือ พลอากาศโทพระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส

ในระหว่างที่นายทหารทั้ง 3 นายเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ทางการก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกจากฝรั่งเศส มาจำนวน 7 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง เข้าไว้ประจำการ นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยังได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้ราชการไว้ใช้งานอีก 1 เครื่อง ด้วยเห็นว่าเครื่องบินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการได้ ทำให้ในยุคแรก ประเทศไทยมีเครื่องบินประจำการ จำนวน 8 เครื่อง

หลังสำเร็จการศึกษานายทหาร นักบินทั้ง 3 นาย ได้กลับมาทดลองบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นาย สามารถขับเครื่องบินและร่อนลงจอดได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม เนื่องจากในสมัยนั้น การขึ้นบินบนท้องฟ้าถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ และถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรได้รับการสรรเสริญ

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม เป็นผลให้กิจการการบินไทยได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ จากนั้น ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน โดยมีนายทหารนักบินขึ้นแสดงการบินถวายและโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้ก็มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ และประชาชนมาร่วมเฝ้าเสด็จและชมการแสดงการบินในครั้งนี้ด้วย

ในอดีตกิจการบินของไทยได้เจริญก้าวหน้าถึงขั้นสามารถสร้างอากาศยานใช้ในราชการได้ และหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การบินของไทยก็ได้ช่วยสร้างประโยชน์มากมาย อาทิ เช่น ป้องกันประเทศ (สงครามอินโดจีน ฯลฯ) ช่วยเหลือผู้ป่วย, ช่วยเหลือประชาชนเมื่อประสบภัยพิบัติ (โรคระบาด อุทกภัย ฯลฯ) และช่วยทำให้เศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม การเดินทาง ขนส่งไปรษณีย์ และสินค้าได้รวดเร็วจนพัฒนามาเป็นสายการบินระหว่างประเทศ
 

‘แบทแมน’ ปรากฏตัวครั้งแรกทางโทรทัศน์ ABC เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2509 นำแสดงโดย ‘Adam West’ 

แบทแมน (Batman) เป็นซูเปอร์ฮีโร่สมมติ ปรากฏตัวในหนังสือการ์ตูนอเมริกัน ตีพิมพ์โดยดีซีคอมิกส์ ตัวละครสร้างโดยศิลปิน บ็อบ เคน และนักเขียน บิล ฟิงเกอร์ และปรากฏตัวครั้งแรกใน ดีเทกทิฟคอมิกส์ ฉบับที่ 27 ในปี 1939 แต่เดิมตัวละครมีชื่อว่า เดอะ "แบท-แมน" และถูกเรียกด้วยฉายาต่างๆ ได้แก่ มือปราบใต้ผ้าคลุม (Caped Crusader), อัศวินรัตติกาล (Dark Knight) และ ยอดนักสืบของโลก (World's Greatest Detective)

ตัวตนที่แท้จริงของแบทแมนคือ บรูซ เวย์น เศรษฐีเพลย์บอยชาวอเมริกัน ผู้ใจบุญและเป็นเจ้าของธุรกิจ เวย์น เอ็นเทอร์ไพรส์ แบทแมนมีต้นกำเนิดมาจากอุบัติการณ์ในวันเด็กของบรูซ หลังจากดร.โทมัส และมาร์ธา เวย์น พ่อและแม่ของเขาถูกฆาตกรรมต่อหน้า เขาสาบานว่าจะล้างแค้นกับเหล่าอาชญากร ด้วยกระบวนการยุติธรรม บรูซฝึกฝนตนเองทั้งทางร่างกายและสติปัญญา และสร้างสัญลักษณ์ค้างคาวเพื่อต่อสู้กับเหล่าอาชญากร

58 ปี จุดเริ่มต้นการเตือนภัย ‘อันตรายของบุหรี่’ ส่งผลให้เกิดการต่อต้านการสูบบุหรี่ทั่วโลก

11 มกราคม ค.ศ. 1964 รายงานจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขสหรัฐฯ แถลงรายงานเตือนเรื่องบุหรี่มีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นการเตือนภัยจากบุหรี่อย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน

รายงานนี้มาจากชุดทำงานที่ควบคุมดูแลโดยนายแพทย์ ลูเธอร์ เทอร์รี (Luther Leonidas Terry) แห่งกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา รายงานนี้เตือนพิษภัยจากการสูบบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพว่า ผลจากการสูบบุหรี่เชื่อมโยงกับสาเหตุของโรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพองและโรคร้ายอื่นๆ

การออกแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นอันนำไปสู่ความพยายามต่อต้านการสูบบุหรี่ภายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้เกิดการรณรงค์งดสูบบุหรี่ทั่วโลกในปัจจุบัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top