23 มีนาคม พ.ศ. 2369 วีรกรรมหญิงกล้า ‘ท้าวสุรนารี’ วันแห่งชัยชนะเหนือทัพลาว

วันนี้ในอดีต เมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2369 'ท้าวสุรนารี' (คุณหญิงโม) นำทัพต่อสู้ปกป้องเมืองนครราชสีมา กอบกู้อิสรภาพเเละกำชัยเหนือทัพลาวได้สำเร็จ จนเป็นที่มาของ 'วันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี'

ถ้าเอ่ยนาม ท้าวสุรนารี คนไทยจะรู้จักกันดีว่า หมายถึง ย่าโมของชาวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งที่จริงแล้วคนไทยทั้งประเทศก็ให้ความเคารพบูชาและรำลึกถึงในวีรกรรมที่ท่านทรงทำไว้เพื่อชาติบ้านเมืองอยู่เสมอ

วันนี้เมื่อ 197 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2369 คือวันที่ประวัติศาสตร์ไทย ได้จารึกพระนามของท่าน ที่สามารถปกป้องอธิปไตยของชาวไทยไว้ได้อย่างกล้าหาญ เกินกว่าสตรีทั่วไปจะทำได้

ตามประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ ในช่วงปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ตรงกับรัชสมัยของ เจ้าอนุรุทธราช (เจ้าอนุวงศ์) ผู้ครองนครเวียงจันทร์ ได้ขอเกณฑ์ครอบครัวคนลาวที่เมืองสระบุรี ซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ ในคราวสงครามครั้งที่ได้พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ ณ กรุงธนบุรีนั้น กลับนครเวียงจันทร์ แต่ได้รับการปฏิเสธ

เมื่อไม่ได้ดังประสงค์ก็ก่อการกบฏ โดยยกกองทัพจะลงมาตีกรุงเทพมหานคร โดยเดินทัพมาอย่างเงียบๆ ให้กรุงรัตนโกสินทร์ไม่ทราบความเคลื่อนไหว โดยมีกองทัพหน้าเดินทางไปทางทิศตะวันตกตรงไปยังเมืองสระบุรี (ปากเพรียว)

ต่อมาวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2369 เมื่อกองทัพมาถึงเมืองนครราชสีมา ได้ตั้งมั่นฐานทัพอยู่จนถึงวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 จึงได้เข้าโจมตี ซึ่งเป็นช่วงที่พระยาปลัดทองคำ (พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย) สามีของคุณหยิงโม ผู้รักษาเมืองไม่อยู่พอดี ด้วยติดปราบการจลาจลที่เมืองขุขันธ์

กองทหารของเจ้าอนุวงศ์ จึงตีเมืองโคราชได้โดยง่าย แล้วกวาดต้อนกรมการเมือง ตลอดจนพลเมืองทั้งชายหญิงไปเป็นเชลย รวมถึง คุณหญิงโม และราชบริพารไปด้วย โดยมี เพี้ยรามพิชัย เป็นหัวหน้าควบคุม เหล่าเชลยออกเดินทางสู่เมืองเวียงจันทน์โดยผ่านเมืองพิมาย ส่วนเจ้าอนุวงศ์นั้น ยังตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองนครราชสีมา

ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2369 ในระหว่างการเดินทางเป็นเชลยศึกนั้น คุณหญิงโม ได้คิดแผนการกอบกู้อิสรภาพกับกรมการเมือง ซึ่งมีนางสาวบุญเหลือ บุตรีหลวงเจริญกรมการเมืองนครราชสีมา ได้มีส่วนร่วมให้ข้อปรึกษาอย่างใกล้ชิด

คุณหญิงโมได้มอบหมายให้นางสาวบุญเหลือ ซึ่งเสมือนเป็นหลาน เป็นผู้รับแผนการไปปฏิบัติ โดยใช้อุบายให้ชาวบ้านเชื่อฟังทหารผู้ควบคุม แกล้งทำกลัวเกรง และประจบเอาใจจนทหารของเจ้าอนุวงศ์ทั้งหลายหลงตายใจ และพยายามถ่วงเวลาในการเดินทาง กับทั้งยังลอบส่งข่าวถึงเจ้าเมืองนครราชสีมา เจ้าพระยากำแหงสงครามรามภักดี (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) และพระยาปลัดทองคำ อีกด้วย

ที่สุดเมื่อเดินทางมาถึง ทุ่งสัมฤทธิ์แขวงเมืองพิมาย ได้พักตั้งค่ายค้างคืนอยู่ คุณหญิงโมจึงได้ออกอุบายให้ชาวเมืองนำอาหารและสุราไปเลี้ยงดูผู้ควบคุมอย่างเต็มที่ จนทหารต่างก็เมามายไม่ได้สติ หมดความระมัดระวัง

ครั้นถึงเวลาสองยามไปแล้วของวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2369 แผนการทุกอย่างจึงเริ่มเปิดฉากขึ้นโดยชาวนครราชสีมา พากันระดมยื้อแย่งอาวุธจากเหล่าทหารลาว และได้โห่ร้องขึ้นทำให้กองทัพเวียงจันทน์เกิดความโกลาหล

ส่วนนางสาวบุญเหลือขณะนั้นอยู่ใกล้ที่พักของเพี้ยรามพิชัย เมื่อได้ยินเสียงโห่ร้องก็ทราบทันทีว่าแผนการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นแล้ว จึงได้โผตัวเข้าคว้าดาบของเพี้ยรามพิชัย โดยหมายล้างชีวิตให้ได้ แต่พลาดท่า เพี้ยรามพิชัยฉวยดาบคืนได้ไปเสียก่อน นางสาวบุญเหลือจึงวิ่งหนีออกไปยังกองไฟ คว้าฟืนที่มีไฟติดอยู่ วิ่งตรงเข้าหากองเกวียนบรรทุกกระสุนดินดำ ขอฝ่ายข้าศึก

จนเมื่อผู้ไล่ล่าวิ่งตามมาถึง จะเงื้อดาบเข้าฟัน นางจึงตัดสินใจเอาดุ้นฟืนจุดเข้าที่ถุงดินปืนทำให้เกิดระเบิดขึ้น จนทั้งนางสาวบุญเหลือ เพี้ยรามพิชัย และผู้อื่นบริเวณนั้นแหลกสลายกันหมดสิ้น เป็นอันว่าทัพลาวแตกพ่ายกระจัดกระจาย ที่สุดคุณหญิงโม จึงได้รวบรวมชาวเมืองที่เหลืออยู่ช่วยกันใช้ทุ่งสัมฤทธิ์นี้ตั้งมั่นเป็นฐานทัพชั่วคราวอยู่ ณ ที่นั้น

ส่วนทหารลาวที่หนีตายได้รีบนำความไปแจ้ง เจ้าอนุวงศ์ทราบข่าวก็ให้ เจ้าสุทธิสาร (โป้) บุตรคนใหญ่คุมกำลังทหารเดินเท้าประมาณ 3,200 คน และทหารม้าประมาณ 4,000 คน รีบรุดมาทำการปราบปรามทำการต่อสู้รบกันถึงตลุมบอน

แต่คุณหญิงโมก็จัดขบวนทัพ กรมการผู้ใหญ่คุมพลผู้ชาย ตัวคุณหญิงโมคุมพลผู้หญิงออกตี กองทัพพวก เวียงจันทน์แตกยับเยิน พอดีเจ้าอนุวงศ์ ได้ข่าวว่ากองทัพจากกรุงเทพฯ ยกขึ้นมาสนับสนุนช่วยชาวเมืองนครราชสีมา จึงต้องรีบถอนกำลังออกจากเมืองนครราชสีมา เมื่อ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2369

วีรกรรมอันห้าวหาญเด็ดเดี่ยวของคุณหญิงโม ทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมเป็น 'ท้าวสุรนารี' เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 ขณะนั้นคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี และพระราชทานเครื่องยศทองคำประดับเกียรติดังนี้ ถาดทองคำใส่เครื่องเชี่ยนหมาก 1 ใบ, จอกหมากทองคำ 1 คู่, ตลับทองคำ 3 ใบเถา, เต้าปูนทองคำ 1 ใบ, คนโท และขันน้ำทองคำอย่างละ 1 ใบ


ที่มา : komchadluek