Friday, 3 May 2024
TODAY SPECIAL

วันนี้ในอดีต ‘แดนเนรมิต’ หนึ่งในตำนานสวนสนุกของประเทศไทย ได้เปิดทำการเป็นวันแรก

“แดนเนรมิต” เป็นสวนสนุกกลางแจ้ง บนเนื้อที่ 33 ไร่ เยื้องกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ริมถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2518 มีเครื่องเล่นจากต่างประเทศกว่า 30 ชนิด ต่างจากสวนสนุกแฮปปี้แลนด์ ที่เปิดดำเนินการในช่วงเดียวกัน ซึ่งใช้เครื่องเล่นที่ล้าสมัยกว่า 

แดนเนรมิตมีความโดดเด่นที่ปราสาทเทพนิยาย ซึ่งตั้งอยู่ส่วนหน้าของพื้นที่ สร้างขึ้นตามแบบที่ผสมผสาน จากปราสาทเทพนิยายของสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ กับปราสาทนอยส์ชวานสไตน์ ของเยอรมนี ภายในมีเครื่องเล่นต่าง ๆ อาทิ รถไฟเหาะ เครื่องเล่นรถไฟรางเดี่ยว เรือไวกิ้ง ส่วนจัดแสดงสัตว์โลกล้านปี เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีพาเหรดแฟนตาซี ซึ่งออกเดินไปตามถนนโดยรอบบริเวณ

วันนี้เมื่อปี 2551 “สมัคร สุนทรเวช” ได้คะแนนเสียงจาก ส.ส. ให้ดำรงตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรีคนที่ 25’ ของประเทศไทย

“สมัคร สุนทรเวช“ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน พรรคที่พัฒนามาจากพรรคไทยรักไทยในอดีตที่ถูกยุบพรรคไปเมื่อ พ.ศ. 2549 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และทำให้นายสมัครได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังจากเหตุการณ์การรัฐประหาร พ.ศ. 2549

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีมีขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 ครั้งนั้นมีเรื่องสำคัญที่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์หยิบขึ้นมาพูดคุยกันสองประเด็น คือ หนึ่ง การเสนอให้ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ และสอง การเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากผลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะได้คะแนนเสียงเกือบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงไม่ห่างกันมาก ที่สำคัญคือภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ส.ส.ของแต่ละพรรคไม่จำเป็นต้องทำตามญัตติพรรค ส.ส.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้อิสระตามความคิดของแต่ละคน ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาแข่งกับนายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน

ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ มีการลุกขึ้นชี้แจงของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ส่วนฝ่ายพรรคพลังประชาชนไม่ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ จึงเสียเวลาประชุมหาข้อสรุปกันในเรื่องนี้

ทั้งสองฝ่ายต่างชิงไหวชิงพริบกันในที่ประชุม โดยหลังจากนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ส.ส.พรรคพลังประชาชน (แบบสัดส่วน) เสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจึงมีการประชุมเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ โดยนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (แบบสัดส่วน) มีความเห็นว่า “เพราะนายกเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ วิสัยทัศน์การบริหารประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการจัดสรรบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ผมคิดว่าจะต้องเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถและที่สำคัญคือความซื่อสัตย์”

‘วันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล’ โดยกองทัพแดงของสหภาพโซเวียต ทำการปลดปล่อยค่ายมรณะ ‘Auschwitz-Birkenau’ จากนาซี 

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติกำหนดให้วันที่ 27 มกราคม เป็น ‘วันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล’ (International Holocaust Remembrance Day) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1945 ซึ่งกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตทำการปลดปล่อยค่าย Auschwitz-Birkenau ค่ายกักกันของนาซีที่ใหญ่ที่สุด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เหตุการณ์ฮอโลคอสต์ ถือเป็นความทรงจำที่เลวร้ายที่สุดของชาวยุโรป นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดจากความเกลียดชังในใจมนุษย์จนนำไปสู่การทำลายล้าง และเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่กระตุ้นให้เรารู้จักยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่น
 

‘วันแห่งคอลลาเจน’ ถูกจดสิทธิบัตรอย่างถูกต้อง โดยนักวิจัยชื่อ ‘นิชิฮาระ โทมิโอะ’

วันแห่งคอลลาเจน เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2503 โดยวันที่ 26 มกราคม ของปีดังกล่าว เป็นวันที่คอลลาเจนถูกจดสิทธิบัตรอย่างถูกต้อง โดยนักวิจัยชื่อว่า “นิชิฮาระ โทมิโอะ” 

คอลลาเจน เป็นโปรตีนที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกรดอะมิโนในร่างกายของคนเราและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างต่างๆ ของร่างกาย และยังทำหน้าที่ช่วยปกป้องโครงสร้างของผิวจากการถูกทำร้ายโดยแสงแดด และมลพิษจากสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 


ที่มา : https://www.newtv.co.th/news/10873
 

55 ปี วันก่อตั้ง ‘วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก’ ซึ่งยกฐานะขึ้นเป็น ‘มหาวิทยาลัยนเรศวร’ ในปัจจุบัน

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2510 ตรงกับวันก่อตั้ง ‘วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก’ โดยสาเหตุของการก่อตั้งเกิดจาก วงการการศึกษาได้ประสบปัญหาเข้ามาอีกทั้งภาวะการขาดแคลนครูเป็นอันมากและวุฒิการศึกษาครูสูงที่สุดคือ วุฒิ ป.ม. (ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม) ซึ่งเทียบเท่ากับอนุปริญญาเท่านั้น ทำให้เกิดความล้าหลังในอาชีพครู

อีกทั้งครู ป.ม. บางคนเมื่อศึกษาเพิ่มเติมสูงขึ้นได้ปริญญาทางด้านอื่นแล้วต่างลาออกไปประกอบอาชีพใหม่ที่เข้าใจว่ามีความก้าวหน้ามากกว่า ผู้บริหารในวงการศึกษาจึงได้มีการปรึกษาหารือและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตามลำดับ

โดย 'ดร. สาโรช บัวศรี' ถือเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เข้าชี้แจงให้คณะรัฐบาลเข้าใจถึงเหตุและผลที่จะดำเนินการและสิ่งที่เกิดขึ้น หากให้สามารถเปิดสอนครูถึงระดับปริญญา และสามารถชี้แจงจนเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมจึงได้มีมติยอมรับ และในที่สุดก็ผ่านพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ในปี พ.ศ. 2497

และได้มีการขยายวิทยาเขตไปสู่ภาคต่างๆ ทุกภาค โดยได้เปิดสอนแห่งเดียวในแต่ละภาค คือ ภาคเหนือเปิดที่พิษณุโลก (25 มกราคม พ.ศ. 2510) ภาคใต้ที่สงขลา (1 ตุลาคม พ.ศ. 2511) ภาคตะวันออกที่ชลบุรี (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2498) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาสารคาม และกรุงเทพมหานครที่บางเขน (27 มีนาคม พ.ศ. 2512)

หลังจากนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นการรวมวิทยาลัยเขตทั้งหมด เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโอนสถานะไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลกนั้น จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหารของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับวิทยาลัยวิชาการการศึกษาอื่นๆ อีก 8 แห่ง การจัดการเรียนการสอนในสมัยนั้นเปิดสอนเพียง 5 คณะ คือ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย โดยสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกยังคงใช้สถานที่เดิมของวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก

ย้อนรอยเหตุการณ์สะเทือนขวัญรับ ‘ตรุษจีน’ จากเหตุ ‘พลุ-ดอกไม้ไฟ’ ระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี

เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555 ท่ามกลางงานรื่นเริงรับเทศกาลวันตรุษจีน ได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญขึ้น ณ อุทยานมังกรสวรรค์ พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งในวันนั้นได้มีการจัดงาน ‘ตรุษจีนสุพรรณบุรี ปีทองมังกรสวรรค์’ โดยจัดขึ้นในช่วงวันที่ 23-29 มกราคม พ.ศ. 2555 มี นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี 

โดยเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้เกิดขึ้นในเวลา 19.30 น. ในระหว่างการแสดงพลุดอกไม้ไฟไพโรเทคนิคชุด ‘ปีทองมังกรสวรรค์อวยชัยให้พรตรุษจีน’ ได้เกิดเหตุพลุจำนวนมากระเบิดขึ้นพร้อมกัน จนสามารถเห็นเป็นลำแสงที่พุ่งสู่ท้องฟ้าในยามค่ำคืนและเกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ลูกไฟได้ตกใส่บ้านเรือนของประชาชนที่ตั้งติดกันอยู่กันนับร้อยหลังคาเรือนจนเกิดไฟโหมไหม้กว่า 50 หลัง ทั้งยังมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 75 ราย และเสียชีวิต 4 ราย นอกจากนี้หลังจากเหตุการณ์ได้มีผู้มาแจ้งความเสียหายของบ้านเรือนทั้งหมด 435 หลัง ซึ่งมีกว่า 71 ราย ที่บ้านเสียหายทั้งหลัง อีกทั้งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ก็ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดเช่นกัน 

วันเกิดครบรอบ 71 ปี ‘ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของฉายาในตำนาน ‘จอมยุทธขลุ่ย’

‘ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ หรือที่นิยมเรียกและรู้จักกันดีในชื่อ ‘อาจารย์ ดร.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ เกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2494 ที่ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จบการศึกษาจากวิทยาลัยการศึกษาปทุมวันและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ด้วยความที่เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและวิทยาลัยครูจันทรเกษม จึงถูกเรียกติดปากว่า อาจารย์ธนิสร์ ได้เข้าร่วมวงคาราบาว ในปี พ.ศ. 2526 พร้อมกับ เทียรี่ เมฆวัฒนา และเป้า - อำนาจ ลูกจันทร์ ในการเป็นนักดนตรีแบ็กอัปในห้องอัดของอโซน่า เมื่อคาราบาว โดยแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ได้มาอัดเสียงที่นี่ และชักชวนเข้าร่วมวง

บทบาทของ อ.ธนิสร์ในวงคาราบาวนั้นนับว่าโดดเด่นมาก โดยจะเป็นผู้เล่นในตำแหน่ง คีย์บอร์ด และการประสานเสียง แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และความสามารถเฉพาะก็คือการเป่าขลุ่ย โดยเฉพาะในเพลง เมด อิน ไทยแลนด์ ที่อยู่ในอัลบั้มประวัติศาสตร์ของวงนั้น อ.ธนิสร์ได้เป่าทั้งเพลง รวมทั้งการส่งเสียงแซวในเนื้อเพลงด้วย จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกสีสันประจำตัวเมื่อมักจะแซวสมาชิกในวงคนอื่นๆ โดยเฉพาะแอ๊ดเมื่อเล่นคอนเสิร์ตเสมอๆ ทำให้อ.ธนิสร์เปรียบเสมือนสีสันของวง

อ.ธนิสร์ได้แยกตัวออกจากวง เมื่อปี พ.ศ. 2531 ภายหลังวงคาราบาวออกอัลบั้มชุดที่ 9 คือ ทับหลัง โดยขัดแย้งในความเห็นกับแอ๊ด นับเป็นสมาชิกคนแรกที่แยกตัวออกไป จากนั้นเทียรี่และเป้าก็แยกออกจากวงคาราบาวตามอ.ธนิสร์ไปด้วย หลังจากนั้นทั้งสามคนได้ร่วมกันออกอัลบั้มชุดแรกของพวกเขาในปี พ.ศ. 2532 ชื่อชุด ขอเดี่ยวด้วยคนนะ มีเพลงที่ได้รับความนิยม ซึ่งร้องโดย อ.ธนิสร์และเทียรี่ คือ วันเกิด และ เงินปากผี

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2535 อ.ธนิสร์ก็ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของตนเองชื่อชุด ‘ลมไผ่’ มีเพลงที่เป็นที่จดจำ มีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีความไพเราะมาก คือ ทานตะวัน ที่นำเนื้อร้องมาจากบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งแต่งไว้เมื่อได้รับแรงบันดาลใจจากการชมทุ่งทานตะวัน ที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเดินทางไปพร้อมกับวงคาราบาวในการทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศ ซึ่งเป็นการร้องประสานเสียงพร้อมเสียงขลุ่ย

วันนี้เมื่อปี 2486 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทาย

โดยผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า “สวัสดี” คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) โดยพิจารณามาจากศัพท์ “โสตฺถิ” ในภาษาบาลี หรือ “สวัสติ” ในภาษาสันสกฤต โดยได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรก ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเห็นชอบให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 โดยมอบให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ออกข่าวประกาศในวันนี้

คำว่าสวัสดีนั้น จะทำหน้าที่ทั้งการทักทาย และอวยพรไปในคราวเดียวกัน และเมื่อเรากล่าวคำว่าสวัสดี คนไทยเรายังยกมือขึ้นประนมไหว้ตรงอก มือทั้งสองจะประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม เหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล เพราะชาวไทยใช้ดอกบัวในการสักการะผู้ใหญ่ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้นมาจากใจของผู้ไหว้

วันเกิด "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" ผู้บุกเบิกและก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย บุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล

นายเอื้อ สุนทรสนาน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ครูเอื้อ นักร้อง นักแต่งเพลง และเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี สุนทราภรณ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า "ละออ" ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น "บุญเอื้อ" และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น "เอื้อ" มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่

1.) หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชนามสกุล สุนทรสนาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2.) นางเอื้อน แสงอนันต์
3.) นายเอื้อ สุนทรสนาน

ครูเอื้อ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาเข้ากรุงเทพมหานคร พักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ แล้วจึงมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติ (ภาคเช้า) และวิชาดนตรีทุกประเภท (ภาคบ่าย) ครูเอื้อเลือกเรียนดนตรีฝรั่งตามความถนัดกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และอาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์

หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้หัดไวโอลิน และแซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศร

เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้เริ่มสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และมีการวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2539 โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศรลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน ก่อนจะขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540 
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top