Friday, 17 May 2024
TODAY SPECIAL

‘วันสิทธิผู้บริโภคสากล’ วันสำคัญที่มีขึ้นเพื่อเตือนให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง

15 มีนาคมของทุกปี เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่มีขึ้นเพื่อเตือนให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคทุกคนอย่างทั่วถึงทั้งโลก ซึ่งต่างเรียกวันนี้ว่า ‘วันสิทธิผู้บริโภคสากล’ หรือ ‘World Consumer Rights Day’

โดยจุดเริ่มต้นของวันสิทธิผู้บริโภคสากล เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1962 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันสำคัญสากลนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อว่า Consumer Right Day โดยได้รับการรับรองจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International)

แม้ว่าการเกิดขึ้นครั้งแรกอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ในวันที่ 15 มีนาคม ปี ค.ศ. 1983 ได้มีการจัดแคมเปญนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรม และเผยแพร่ความสำคัญของวันสิทธิผู้บริโภคสากลตามสื่อต่างๆ เท่าที่จะทำได้ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี จึงกลายเป็น ‘วันสิทธิผู้บริโภคสากล’

ซึ่งในประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญ กับสิทธิผู้บริโภคไม่แพ้กัน โดยเห็นได้จากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2559 ก็ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้ในมาตรา 46 ว่า "สิทธิของผู้บริโภค ย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิร่วมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิร่วมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
 

14 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับวัน ‘White Day’ ของญี่ปุ่น วันมอบของแทนใจจากฝ่ายชายสู่ฝ่ายหญิง

ถ้าพูดถึงเทศกาลสำคัญที่รายล้อมไปด้วยดอกไม้ และช็อกโกแลต เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงต้องนึกถึงวันวาเลนไทน์ แต่ว่าในประเทศญี่ปุ่นเอง กลับมีวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่รายล้อมไปด้วยดอกไม้ และช็อกโกแลต ไม่ต่างไปจากวันวาเลนไทน์ นั่นก็คือวัน ‘White Day’ ของชาวญี่ปุ่น

โดยตามธรรมเนียมญี่ปุ่น ในวันวาเลนไทน์มักเป็นวันที่ฝ่ายหญิงมอบของขวัญให้แก่ฝ่ายชาย ดังนั้น อีก 1 เดือนถัดมา ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ก็จะเป็นวันที่ฝ่ายชายจะได้ให้ของขวัญกลับแก่ฝ่ายหญิง ซึ่งดูเป็นเทศกาลแสดงความรักที่แสนน่ารักอีกเทศกาลหนึ่ง

แต่รู้หรือไม่ว่าเทศกาล ‘White Day’ จริง ๆ แล้วมีที่มา ที่ไปอย่างไร?

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1977 ทางบริษัทขนม อิชิมุระ มันเซโดะ ในจังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการตลาดเพื่อโปรโมทสินค้า ‘มาร์ชเมลโล’ โดยมุ่งเป้าไปที่ ‘กลุ่มเพศชาย’ ซึ่งการตลาดนี้ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นกระแสที่ทำให้เกิด ‘วันมาร์ชเมลโล’ ขึ้น 

วันนี้เมื่อ 240 ปีก่อน ‘วิลเลียม เฮอร์เชล’ นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ค้นพบ ‘ดาวยูเรนัส’ ดาวเคราะห์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

วันนี้เมื่อ 240 ปีก่อน ได้มีการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อนักดนตรีอาชีพ ผู้หลงใหลในดาราศาสตร์ จนทำให้งานอดิเรกของเขา สร้างการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ และกลายเป็นผู้ค้นพบ ‘ดาวยูเรนัส’ ในที่สุด เขาคนนั้น ก็คือ ‘วิลเลียม เฮอร์เชล’ นักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นชาวอังกฤษ เชื้อสายเยอรมัน ได้ค้นพบ ‘ดาวยูเรนัส’ ดาวเคราะห์แก๊สที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 7 ของระบบสุริยะโดยบังเอิญ ในขณะที่เขากำลังส่องกล้องโทรทรรศน์เพื่อสำรวจดาวฤกษ์

โดยการค้นพบของเขานั้น เกิดจากการที่เฮอร์เชลนั้นได้มองเห็นดาวดวงหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านไปอย่างช้าๆ ในตอนแรกเขาคิดว่ามันเป็นเพียงดาวหาง แต่เมื่อเฝ้าติดตามสังเกตอยู่หลายสัปดาห์ เฮอร์เชลจึงได้คำนวณวงโคจรของวัตถุที่เขาค้นพบ และพบว่าวัตถุดังกล่าว คือดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ และไกลจากวงโคจรของดาวเสาร์ออกไปถึง 2 เท่า 

11 มีนาคม พ.ศ. 2473 ระลึกถึง ‘อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ’ ผู้ให้กำเนิดแบบเรียน ‘มานะ มานี ปิติ ชูใจ’

หากพูดถึงชั่วโมงเรียนภาษาไทยในวัยประถม หลายคนคงนึกถึงตัวละคร ‘มานะ มานี ปิติ ชูใจ’ แบบเรียนที่เด็กไทยหลายคนต้องเคยได้สัมผัสและในวันที่ 11 มีนาคม ก็นับว่าเป็นวันเกิดของผู้ให้กำเนิดแบบเรียนในความทรงจำ ‘อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ’

โดยแบบเรียน ‘มานะ มานี ปิติ ชูใจ’ เคยใช้เป็นแบบเรียนวิชาภาษาไทย ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศ ตามหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521-2537 แน่นอนว่าสำหรับใครที่อายุเลข 3 ขึ้นไป ต้องเคยได้สัมผัสและเติบโตไปพร้อมกับเรื่องราวของมานะ มานี จนเขียนอ่านได้คล่อง ถึงแม้ว่าอาจารย์รัชนี ได้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่ตัวละครต่างๆ ก็ได้กลายเป็นความทรงจำสีจางให้กับหลายคน

‘อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ’ เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2473 นับได้ว่าท่านเป็นผู้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อการศึกษาไทยในวิชาภาษาไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะรับราชการเป็นศึกษานิเทศก์ครูภาษาไทย ท่านได้รับมอบหมายจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เขียนเรื่องประกอบหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘มานะ มานี ปิติ ชูใจ’ โดยนำมาใช้เป็นแบบเรียนตามหลักสูตรจวบจนถึงปี 2537 และเป็นผลงานที่ทำให้ท่านได้รับการยกย่องมาจวบจนถึงทุกวันนี้ 
 

10 มีนาคม ค.ศ. 1879 กำเนิด ‘นายแพทย์ วู ลีน เทห์’ เชื้อสายจีน ผู้คิดค้น ‘หน้ากากอนามัย’ 

นายแพทย์ วู ลีน เทห์ เกิดในครอบครัวชาวจีน ที่มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งปีนังในขณะนั้นยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร

เมื่อเรียนจบประถมที่โรงเรียนในปีนัง นายแพทย์ วู ลีน เทห์ ก็ได้รับทุนการศึกษาของพระบรมราชินีนาถ สำหรับอาณานิคมอังกฤษ ที่มลายู และสิงคโปร์ เพื่อเข้าศึกษาแพทยศาสตร์ ต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี 1896 

การได้รับทุนการศึกษาของ นายแพทย์ วู ลีน เทน์ ในครั้งนี้นับว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เนื่องจากเขาคือนักเรียนเชื้อสายจีนคนแรกที่คว้าปริญญาสาขาแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1910 นายแพทย์ วู ลีน เทห์ ได้รับการเชื้อเชิญ จากรัฐบาลชิง ในการเป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา “โรคระบาดแมนจูเรีย” ในเมืองฮาร์บิน 

ซึ่งเมื่อนายแพทย์ วู ลีน เทห์ ได้ศึกษาผู้ป่วยและการระบาดอยู่ช่วงหนึ่ง เขาก็พบว่าการระบาดครั้งนี้เกิดจากการติดต่อระหว่างคนสู่คนผ่านฝอยละอองขนาดเล็ก จากการที่ผู้ป่วยไอหรือจาม

เปิดตัว ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’ ตุ๊กตาที่มี ‘ยอดขายมากที่สุดในโลก’ 

เชื่อว่าของเล่นในวัยเด็กของใครหลายๆ คน คงไม่พ้นตุ๊กตา แต่นอกจากนี้ก็ยังมีตุ๊กตาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’ ตุ๊กตาที่จำลองมาจากคนจริงๆ โดยย่อขนาดให้เล็กลงมาถึง 6 เท่า ซึ่งในวันนี้ก็นับว่าเป็นวันคล้ายวันเกิดของบาร์บี้ก็ว่าได้ โดยเราจะพามาย้อนอดีต รู้จักที่มา กว่าจะมาเป็น ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’ กัน 

ตุ๊กตาบาร์บี้ของเล่นในวัยเด็กของผู้หญิงหลายๆ คน สิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นมาจากคนเป็น ‘แม่’ โดยเธอคนนั้นก็คือ ‘แฮนเลอร์’ เธอได้รับแรงบันดาลใจที่จะประดิษฐ์ตุ๊กตาบาร์บี้ หลังจากเธอสังเกตเห็นว่า บาร์บาร่า ลูกสาวของเธอชอบเล่นตุ๊กตากระดาษ และชอบให้ตุ๊กตาเหล่านั้นทำสิ่งต่างๆ เหมือนที่ผู้ใหญ่ทำ เธอจึงเริ่มความคิดที่จะสร้างตุ๊กตาสาวที่มีรูปร่างเป็นผู้ใหญ่ 

ต่อมา เมื่อแฮนเลอร์มีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวในยุโรปในปี 1956 เธอก็ไปสะดุดตากับตุ๊กตา "ไบล์ด ลิลลี" ของเยอรมนี ซึ่งเป็นตุ๊กตารูปหญิงสาววัยทำงานที่วางจำหน่ายครั้งแรกในเยอรมนีปี 1955 โดยเป้าหมายทางการตลาดในตอนแรกต้องการ เจาะกลุ่มผู้ใหญ่ แต่กลับได้รับความนิยมในหมู่เด็กๆ มากกว่า ซึ่งวางขายอยู่ในร้าน ขายของของสวิตเซอร์แลนด์

เธอจึงได้เริ่มการประดิษฐ์ตุ๊กตาขึ้น โดยได้ซื้อกลับบ้านมา 3 ตัว โดยที่ตัวหนึ่งให้ลูกสาว ส่วนที่เหลือนำมาเป็นต้นแบบในการผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ จากนั้น แฮนเลอร์ก็ได้ดัดแปลงเปลี่ยนโฉมตุ๊กตาลิลลีใหม่หมด พร้อมกับตั้ง ชื่อให้ว่า "บาร์บี้" ตามชื่อของลูกสาวเธอ หรือในชื่อเต็มว่า บาร์บี้ มิลลิเซ็น โรเบิร์ท (Barbie Millicent Roberts) ด้วยความช่วยเหลือของแจ๊ค ไรอัน (Jack Ryan) 

8 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับ ‘วันสตรีสากล’ 

ในวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันที่กรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงจากการถูกเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้าง ที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน โดยเริ่มต้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1857 โดยเกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ 

อีก 50 ปีต่อมา ในวันเดียวกัน 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาเรียกร้องสิทธิจากการถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างที่ต่ำ แต่ชั่วโมงการทำงานที่มากถึง 16 - 17 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด หรือประกัน เรื่องนี้ทำให้ "คลาร่า เซทคิน" นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรี ด้วยการนัดหยุดงานในวันนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องการปรับลดเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย และแม้ว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องในครั้งนี้ “ไม่สำเร็จ” แต่ "คลาร่า เซทคิน” เองก็ได้จุดประกายความคิดให้ผู้หญิงตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ในปีถัดมา 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 มีแรงงานหญิงกว่า 1.5 หมื่นคน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก พร้อมกับมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง 

7 มีนาคม พ.ศ. 2563 สิ้น ‘คณากร เพียรชนะ’ ผู้ทวงคืน ‘ความยุติธรรม’ ให้กับ ‘กระบวนการยุติธรรม’ ด้วยปลายกระบอกปืน

‘คณากร เพียรชนะ’ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา เป็นที่รู้จักจากการกระทำ อัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ให้แก่กระบวนการยุติธรรม โดยความพยายามในการปลิดชีพตัวเองของเขานั้น เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 คณากร ยิงตัวเองจนบาดเจ็บสาหัส หลังพิพากษายกฟ้องคดียิงชาวบ้านใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิต 5 ราย ณ ห้องพิจารณา 4 ศาลจังหวัดยะลา

หลังจากนั้นได้มีการเปิดเผยจดหมายของ คณากร จำนวน 25 หน้า บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่สะท้อนถึงความยากลำบากในการทำงาน พร้อมลงท้ายด้วยถ้อยคำว่า “คำแถลงของผม อาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน” และ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรม ให้ประชาชน”

การเปิดเผยจดหมายสร้างความสนใจให้คนในสังคมไม่น้อย หากแต่ว่าความพยายามปลิดชีพ พร้อมจดหมายที่กล่าวถึงความอัดอั้นใจ ในการทำงานในครั้งนี้ ทำให้ คณากร ถูกตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 68 คือเป็นกรณีที่ถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย และมีมติให้นายคณากรไปช่วยทำงานชั่วคราวในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่

6 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับ ‘วันหมอฟัน’ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพช่องปากและบทบาทของทันตแพทย์

ทุกวันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับวัน ‘วันหมอฟัน’ หรือ ‘Dentist’s Day’ โดยจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึง สุขภาพช่องปากแก่ประชาชนทั่วไป 

อีกทั้งเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของสุขภาพช่องปากและสนับสนุนให้ผู้ที่ไม่เคยไปพบทันตแพทย์เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปาก

5 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับ ‘วันนักข่าว’ หรือ ‘วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ’

วันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ตรงกับวันสำคัญวันหนึ่ง นั่นก็คือ ‘วันนักข่าว’ หรือ ‘วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ’ ซึ่งตรงกับวันก่อตั้ง สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่นบุกเบิก จำนวน 15 ท่าน ได้แก่ โชติ มณีน้อย, เท่ห์ จงคดีกิจ, ประจวบ อัมพะเสวต, วิเชียร โรจนวงศานนท์, ถาวร มุ่งการดี, สนิท เอกชัย, เชาว์ รูปเทวินทร์, จรัญ โยบรรยงค์, กุศล ประสาร, ชลอ อาภาสัตย์, อนงค์ เมษประสาท, วิสัย สุวรรณผาติ, นพพร ตุงคะรักษ์, วิภา สุขกิจ และเลิศ อัศเวศน์ 

ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการนัดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมีชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุม

แน่นอนว่าวันสำคัญของวงการสื่อสารมวลชนเช่นนี้ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวันสำคัญของพวกตนเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่มีประเพณีที่ทราบกันดี ระหว่างหนังสือพิมพ์และผู้อ่านว่า ในวันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของบรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย 

แต่แล้วประเพณีนี้ก็ไม่สามารถทำได้นาน เพราะสุดท้ายหนังสือพิมพ์ก็ต้องออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากประชาชนในฐานะผู้อ่านต่างเกิดความตื่นตัว และมีความต้องการที่จะบริโภคข่าวสารที่มากขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป

ดังนั้น สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top