8 เมษายน พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงร่วมพิธีเปิด ‘สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1’

วันนี้ เมื่อ 29 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงร่วมพิธีเปิด ‘สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1’   สะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก ที่เชื่อมต่ออำเภอเมืองหนองคายกับบ้านท่านาแล้ง สปป.ลาว

สะพานแห่งนี้ถือได้ว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย - ออสเตรเลีย - ลาว  แนวคิดในการสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง 2 ประเทศมีมาตั้งแต่ปี 2499  จนกระทั่ง พ.ศ. 2531  พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้นได้เดินทางไปเยือน สปป. ลาว ผู้นำคณะรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายออกแถลงการณ์ร่วมตกลงในหลักการให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ ต่อมา พ.ศ. 2532 นายโรเบิร์ต ฮอว์ค นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในขณะนั้น เดินทางมาเยือนประเทศไทย และออกแถลงการณ์ในนามรัฐบาลออสเตรเลียที่จะสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าก่อสร้างสะพานผ่านความร่วมมือระหว่างผู้แทนจากไทยและลาว

สะพานแห่งนี้ มีความยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.5 เมตร มีทางเท้า 2 ช่องทาง กว้างช่องละ 1.5 เมตร มีทางรถไฟรางเดี่ยวกว้าง 1 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางสะพาน งบประมาณก่อสร้างกว่า 30,000,000 เหรียญสหรัฐ ระยะเวลาก่อสร้างเกือบ 3 ปี (ตุลาคม 2534 ถึงเมษายน 2537) ก่อสร้างโดยบริษัทออสเตรเลีย John Holland Construction Pty Ltd ร่วมกับบริษัท Kin Sun ประเทศไทย

จากนั้นได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2537 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย นายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว  และนายพอล คีตติง นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในขณะนั้น โดยสะพานมิตรภาพเปิดใช้งานเพื่อการจราจร เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2537 และวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552 ได้มีพิธีเปิดการเดินรถไฟไทย-ลาวบนสะพานมิตรภาพ ช่วยส่งเสริมการคมนาคมระหว่างสองประเทศ

ผ่านมา 29 ปี สะพานแห่งนี้ยังคงทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นตลอดไป นับตั้งแต่เปิดใช้สะพานมิตรภาพแห่งนี้ได้สร้างประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การคมนาคมและขนส่ง สะพานไม่เพียงแต่เชื่อมโยงพื้นที่ของสองประเทศในทางกายภาพ แต่ยังเชื่อมโยงจิตใจและส่งเสริมสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวไทย และลาว 

ปัจจุบัน มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว  4 แห่งแล้ว ในอนาคตอันใกล้ก็จะมีแห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี - สาละวัน) และแห่งที่ 7 (เลย - เวียงจันทน์)