20 มีนาคม พ.ศ. 2279 วันพระบรมราชสมภพ ล้นเกล้า รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

วันนี้ เมื่อ 287 ปี เป็นวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ล้นเกล้า รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ด้วง หรือทองด้วง เป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลังในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยก ธิดาเศรษฐีจีน มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

ต่อมาได้ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต จนพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษา ได้ทรงผนวช ณ วัดมหาทลายพรรษาหนึ่ง หลังจากทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมพรรษาได้ 25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี

ใน พ.ศ. 2311 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบก๊กต่าง ๆ จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ

ต่อจากนั้นทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ หลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบให้เป็นพระยายมราช และทรงทำหน้าที่สมุหนายกด้วย 

ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม

ครั้น พ.ศ.  2324 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องยกทัพกลับจากเขมรเพื่อปราบจลาจล และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2325 และทรงสถาปนาพระราชวงศ์จักรีขึ้น 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมทุกด้านโดยมีพระราชประสงค์ให้กรุงรัตนโกสินทร์เจริญรุ่งเรืองเหมือนกับกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณะวัดต่าง ๆ เช่นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และโปรดให้เชิญพระพุทธรูปโบราณตามหัวเมืองต่าง ๆ มาประดิษฐานในพระนครด้วย

นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายโบราณสมัยอยุธยาที่เหลืออยู่ให้เป็นหมวดหมู่และประทับตราสามดวงไว้เป็นฉบับหลวง

ทางด้านศาสนาโปรดให้ชำระพระไตรปิฎกและคัดเป็นฉบับหลวงเพื่อเก็บรักษาไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม ภายในพระบรมมหาราชวัง 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่  7  กันยายน  พ.ศ.  2352 พระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา