Friday, 19 April 2024
TODAY SPECIAL

26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 

โดยจัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 โดยวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับการดำเนินการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น คณะทำงานทุกฝ่ายได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน เป็นต้น 


 

วันนี้เมื่อ 91 ปีที่แล้ว พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชบัณฑิต (หรือแพทยศาสตรบัณฑิตในปัจจุบัน) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ตึกบัญชาการ (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน) 

ในครั้งนั้น ทางมหาวิทยาลัยกราบทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ เรียนเชิญเสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนส่งหนังสือเชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวม 11 แห่ง อาทิ กรมยุทธศึกษาทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารเรือ สภากาชาดสยาม วชิรพยาบาล มหามงกุฎราชวิทยาลัย ราชบัณฑิตยสภา และโรงเรียนกฎหมาย เอกอัครราชทูตนานาประเทศ เป็นต้น มาร่วมพิธีด้วย

วันนี้เมื่อ 118 ปีที่แล้ว กำเนิดบุคคลสำคัญของโลกและศิลปินแห่งชาติ ‘หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล’

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุคคลสำคัญของโลกและศิลปินแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หม่อมหลวงปิ่นเกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2446 ณ บ้านถนนอัษฎางค์ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 6 ใน 13 คน ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี (เสงี่ยม มาลากุล ณ อยุธยา (นามสกุลเดิม วสันตสิงห์)

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญทั้งด้านการศึกษาและด้านวรรณกรรมสื่อสาร โดยท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากมาย ทั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร (พระราชวังสนามจันทร์) รวมถึงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเวลายาวนานถึง 12 ปีเศษ

โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สิริอายุได้ 91 ปี 11 เดือน 11 วัน โดยได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสองบรรจุศพ ตั้งศพไว้ที่ศาลาบัณรสภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระกรุณาเสด็จไปสดับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ 

“วันปิยมหาราช” วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

วันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศไทยหลายด้าน และสิ่งที่โดดเด่นคือ การประกาศเลิกทาส เป็นการหยุดวงจรการเป็นทาส เพราะเมื่อสมัยก่อนหากพ่อแม่เป็นทาส ลูกที่เกิดมาก็ต้องเป็นทาสต่อไปเรื่อย ๆ ทางราชการจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็นหนึ่งในวันระลึกถึงความสำคัญของเหตุการณ์ในชาติ โดยเรียกว่า “วันปิยมหาราช” 

วันปิยมหาราช เป็นวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในทุก ๆ ปีหน่วยงานราชการจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ ที่พระบรมรูปทรงม้าอย่างพร้อมเพรียง เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระปิยมหาราช หรือพระนามเต็มว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 พระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์” เมื่อพระชนม์ 9 พรรษาได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ ต่อมาอีก 4 ปี ได้เลื่อนเป็น “กรมขุนพินิตประชานาถ” บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 มีพระราชกรณียกิจสำคัญมากมายคือ

การเลิกทาส ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า “พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124” (พ.ศ. 2448) เลิกเรื่องลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาส ไม่เป็นทาสอีกต่อไป การซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด

การปฏิรูประเบียบบริหารราชการ ได้ทรงปรับปรุงหน้าที่ของกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แต่เดิมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยรวมกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายเวลานั้นเข้าเป็นกระทรวง กระทรวงหนึ่ง ๆ ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างพอเหมาะสม

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวรวิหาร

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวรวิหาร ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 รวมเป็นเวลา 15 วัน

ก่อนที่จะถึงวันพระราชพิธีทรงผนวช ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชทานกระแสพระราชดำรัสในการที่จะทรงผนวชแก่พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราช ซึ่งเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย แจ้งข้อพระราชดำริที่จะบรรพชาอุปสมบท และขอให้ทุกฝ่ายสมัครสมานกันรักษาประเทศ ทรงขอบใจรัฐบาลที่รับภาระเตรียมการบรรพชาอุปสมบท

ครั้นเสร็จพระราชพิธีภายใน พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยแล้ว จึงเสด็จฯ มายังพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกสีหบัญชร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า...

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงได้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริ ที่จะบรรพชาอุปสมบทให้อาณาประชาราษฎร์ทราบทั่วกัน อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจําชาติของเรา ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี ตามศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวของข้าพเจ้าก็ดี เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง มีคําสั่งสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งเพรียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรมอันชอบด้วยเหตุผลน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ข้าพเจ้าเคยคิดอยู่ว่า ถ้าโอกาสอำนวยก็น่ารักได้อุปสมบทในพระศาสนาตาม ประเพณีสักเวลาหนึ่ง ซึ่งมักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมอีกโสดหนึ่งด้วย และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์มากเป็นเวลาช้านานพอสมควรแล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่จะทําตามความตั้งใจไว้นั้นได้แล้วประการหนึ่ง อนึ่ง การที่สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงมีพระคุณูปการในส่วนตัวข้าพเจ้าได้หายประชวรในครั้งหลังนี้ ก่อให้เกิดความปีติยินดีแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก มาคํานึงเห็นว่า ถ้าในการที่ข้าพเจ้าจะอุปสมบทนี้ ได้พระองค์ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยแล้ว ก็จะเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธา เคารพ ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ในพระองค์ท่านได้อย่างเหมาะสมด้วยอีกประการหนึ่ง อาศัยเหตุเหล่านี้จึงได้ตกลงใจจะอุปสมบทในวันที่ 22 เดือนนี้

21 ตุลาคม เนื่องในโอกาสครบ 121 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า”

“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” เป็นหม่อมในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์มีพระนามที่นิยมเรียกกันว่า “สมเด็จย่า” ทั้งนี้พระองค์ยังได้ประกอบพระราชกรณียกิจเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร และได้พระราชทานความช่วยเหลือผ่านทางเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เปรียบเสมือนพระองค์เสด็จมาจากฟากฟ้าช่วยให้พวกเขามีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ชาวไทยภูเขาจึงถวายพระสมัญญานามว่า "แม่ฟ้าหลวง"

วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ รวมทั้งการฟอกพระโลหิตด้วยเครื่องไตเทียมและกรองสารพิษซึ่งเกิดจากภาวะผิดปกติของพระยกนะ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนกระทั่ง เวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระทัยดาราศาสตร์ เมื่อประทับอยู่สหรัฐอเมริกาพระองค์เคยมีหนังสือดาราศาสตร์เบื้องต้น ต่อมาเมื่อพระราชโอรสพระองค์เล็กเรียนดาราศาสตร์ที่โรงเรียนในโลซาน พระองค์จึงซื้อหนังสือเรื่อง Le Ceil (ท้องฟ้า) ของสำนักพิมพ์ Larousse ให้ แต่พระองค์มักจะเปิดอ่านเองหลายครั้งจนหนังสือชำรุด พระองค์มีพระปรีชาสามารถในการถ่ายทอดความหมายของดวงดาวเป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ กลุ่มดาวสำคัญที่แลเห็นง่ายหรือที่โปรด ลงบนโคม ที่เขี่ยบุหรี่ ถ้วยชาม จานกระเบื้อง หรือเซรามิก ซึ่งบางครั้งก็ทรงเขียนรูปดอกไม้แทนกลุ่มดาวแต่ละกลุ่ม มีจำนวนกลีบดอกและสีของดอกไม้แทนความสว่างของดวงดาว ซึ่งทางดาราศาสตร์ เรียกว่า แมกนิจูด 

วันนี้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว เกิด ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ มรสุมเศรษฐกิจลูกใหญ่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดทางการเงิน

วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือเรียกทั่วไปในประเทศไทยว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เป็นช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินซึ่งส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในทวีปเอเชียเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 ก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจทั่วโลกเนื่องจากการแพร่ระบาดทางการเงิน

วิกฤตดังกล่าวเริ่มขึ้นในประเทศไทย เมื่อค่าเงินบาทลดลงอย่างมากอันเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาลไทย ซึ่งมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ลอยตัวค่าเงินบาท ตัดการอิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากความพยายามทั้งหมดที่จะสนับสนุนค่าเงินบาทเมื่อเผชิญกับการแผ่ขยายแบบเกินเลยทางการเงิน (financial overextension) อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนขับเคลื่อนอสังหาริมทรัพย์ ในเวลานั้น ประเทศไทยมีภาระหนี้สาธารณะ และเมื่อวิกฤตดังกล่าวขยายออกนอกประเทศ ค่าเงินของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นก็ได้ทรุดตัวลงเช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงและรวมไปถึงราคาสินทรัพย์อื่น ๆ และทำให้หนี้เอกชนเพิ่มสูงขึ้น
 

วันนี้เมื่อ 49 ปีที่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสาธิตให้ผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์ชมการทดลองฝนหลวง

วันนี้เมื่อ 49 ปีที่แล้ว หรือวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงควบคุมการทดลอง ปฏิบัติการฝนหลวง สาธิตให้ผู้แทนของรัฐบาลสิงคโปร์ชม ณ อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งมีพื้นที่ผิวน้ำเพียง 46.5 ตารางกิโลเมตรหรือ 1,162.5 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมายหวังผลในการปฏิบัติการทำฝนสาธิตครั้งนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยปฏิบัติการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝนหวังผลที่ผ่านมา

โดยในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ณ ศูนย์บัญชาการฯ สันเขื่อนแก่งกระจาน ทรงสามารถบังคับหรือชักนำฝนให้ตกลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานอย่างแม่นยำภายในเวลาประมาณ 5 ชั่วโมงนับจากเริ่มปฏิบัติการ เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาและเป็นที่น่าอัศจรรย์แก่นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ และข้าราชบริพารที่เป็นข้าราชการและข้าราชบริพารระดับสูงที่เฝ้าฯ สังเกตการณ์อยู่ ณ ที่นั้น ต่างประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถ

ทั้งนี้ “โครงการพระราชดำริ ฝนหลวง” เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำ อุปโภค บริโภค และการเกษตร 

จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทาน โครงการพระราชดำริฝนหลวง ให้กับ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลอง ปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ต่อมาปี พ.ศ. 2512 โครงการฝนหลวงประสบความสำเร็จมากขึ้น 

วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

วันที่ 18 ตุลาคม ตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพทางสุริยคติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 ปีชวด

เมื่อพระชนมายุ 9 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีลงสรง ได้เฉลิมพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทววงศ์ พงศ์อิศวรวรกกระษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่ 27 พรรษา จึงทรงลาผนวชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อสันตติวงศ์ เป็นรัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2394 ขณะพระชนมายุ 47 พรรษา

17 ตุลาคม ของทุกปี ตรงกับ ‘วันตำรวจแห่งชาติ’

กิจการตำรวจได้กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา และพร้อมกันนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตำรวจขึ้น โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง อันมีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา

ซึ่งในขณะนั้น แบ่งออกเป็น ตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร ส่วนตำรวจหลวงให้ขึ้นอยู่กับวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิบดีศรีรัตนมณเฑียรบาล เป็นผู้บังคับบัญชา และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราศักดินาของตำรวจไว้เป็นบรรทัดฐานในบทพระอัยการ ระบุตำแหน่งนายพลเรือน เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายอื่น 

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารหลายชิ้นที่แสดงว่าบุคคลที่จะเป็นตำรวจได้นั้นต้องคัดเลือกจาก ผู้ที่มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ได้ทำคุณความดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องเป็นบุคคลที่ทรงวางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาตำรวจก็ต้องขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะแต่พระองค์เดียว ทำให้กิจการตำรวจในยุคนี้จะจัดตั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ในวงจำกัด 

โดยในปี พ.ศ. 2403 ถึง พ.ศ. 2475 เป็นสมัยที่ได้มีการปฏิรูปการปกครองประเทศไทยอย่างขนาดใหญ่ในทุก ๆ ด้าน ตามแบบอย่างอารยประเทศตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญ โดยมีการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบอย่างยุโรป เรียกว่า กองโปลิศหรือกรมกองตระเวน โดยจ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเป็นตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเปิล โดยให้มีหน้าที่รักษาการณ์แต่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และขึ้นอยู่กับสังกัดกรมพระนครบาล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top