วันนี้เมื่อ 73 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่กลางกรุงอย่างอุกอาจ เมื่อผู้ถูกลอบสังหารหมู่นั้น เป็นถึง “4 อดีตรัฐมนตรี” ซึ่งประกอบด้วย รองอำมาตย์ตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นนักการเมือง ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรณี “พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว” ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น นักการเมืองผู้ต่อสู้เพื่อชาวอีสานอย่างแท้จริงคนหนึ่ง
นายถวิล อุดล เป็นนักการเมือง หนึ่งใน “สี่เสืออีสาน” ซึ่งประกอบด้วย ตัวนายถวิลเอง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ และนายจำลอง ดาวเรือง
นายถวิล ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด 2 สมัย เป็นหัวหน้าเสรีไทย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเคยเดินทางไปติดต่อขอความร่วมมือจาก ประเทศจีน แนวคิดทางการเมืองที่สำคัญ คือ เงินภาษีที่เก็บจากประชาชน ต้องเป็นประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนทั้งหมด
ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ อดีตรัฐมนตรี และเป็นคณะราษฎร อดีตส.ส.จังหวัดนครนายก และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ
นายจำลอง ดาวเรือง ขุนพลเมืองมหาสารคาม ผู้นำเสรีไทยหน่วยมหาสารคาม เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 อดีตส.ส.ตัวแทนชาวไร่ชาวนาเมื่อปี 2480 อยู่ในกลุ่ม “สี่เสืออีสาน”
โดยเหตุสังหารหมู่อย่างอุกอาจ “4 อดีตรัฐมนตรี” หลายคนเชื่อว่าเป็นจุดจบแบบอำพราง เนื่องจากช่วงค่ำวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2492 ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้ง “4 อดีตรัฐมนตรี” ไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหมายเลขทะเบียน กท. 10371 โดยมี “พ.ต.อ.หลวงพิชิต ธุรการ” เป็นผู้ควบคุม โดยรับ “ดร.ทองเปลว” ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน “นายจำลอง” ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา “นายถวิล” ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และ “นายทองอินทร์” ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน
เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนไม่ต่ำกว่า 10 นัดจนร่างเละ ทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ โดยได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง
ต่อมาตำรวจแถลงว่า ในที่เกิดเหตุกลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย
ว่ากันว่าญาติของผู้ต้องหากว่าจะทราบเรื่องการเสียชีวิต ก็เมื่อได้ไปเยี่ยมที่สถานีตำรวจเดิมที่คุมขังแล้วไม่พบตัว ต้องไปตามหาตามที่ต่างๆ เช่น วังปารุสกวัน ซึ่งในขณะนั้นเป็น “กองบัญชาการตำรวจนครบาล” และได้รับคำบอกต่อให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง จึงได้ทราบเรื่อง
ศพของ “4 อดีตรัฐมนตรี” ตั้งบำเพ็ญกุศลที่ “วัดมกุฎกษัตริยาราม” กระนั้นในงานศพก็ยังมีตำรวจสายสืบและสันติบาลมาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานศพ “4 อดีตรัฐมนตรี” อยู่เสมอ
จากความผิดปกติในครั้งนี้ ทำให้สังคมโดยทั่วไปไม่เชื่อว่าทั้งหมดเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนของโจรมลายูจริง แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตำรวจเอง ภายใต้การบัญชาการของ “พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์” ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏและมีตำแหน่งเป็น “รองอธิบดีกรมตำรวจ” ในเวลานั้น
หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการฆาตกรรมนักการเมืองและบุคคลฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เช่น นายเตียง ศิริขันธ์, นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์, นายอารีย์ ลีวีระ